สังคมอินเดียสมัยพุทธกาล

วันที่ 14 เมย. พ.ศ.2560

สังคมอินเดียสมัยพุทธกาล

สังคมอินเดียสมัยพุทธกาล, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, อินเดีย

1. สภาพเศรษฐกิจและการปกครอง
      การที่เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาสิ่งแวดล้อมในถิ่นกำเนิดของพระพุทธศาสนาเสียก่อน ทั้งนี้เพราะสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดท่าที บทบาท ลักษณะ รูปแบบ ขององค์กรพระพุทธศาสนาจะทำให้เราทราบที่มาที่ไปว่า เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่เรียงร้อยกันเป็นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนานั้น เกิดขึ้นเพราะอะไรสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่จะต้องศึกษานอกจากพื้นฐานความเชื่อในสังคมอินเดียแล้ว ในที่นี้จะกล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองในสมัยพุทธกาลด้วย เพราะสิ่งแวดล้อมทั้งสองนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนโดยตรง ซึ่งต้องคำนึงถึงอยู่ทุกวัน


1.1 การเมืองการปกครอง
    ประเทศอินเดียในยุคพุทธกาลสามารถแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนกลางหรือเขตชั้นใน เรียกว่า "มัชฌิมประเทศ" และส่วนรอบนอกหรือหัวเมืองชายแดน เรียกว่า "ปัจจันตประเทศ" มัชฌิมประเทศเป็นเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่มาก มีความเจริญ เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าและการศึกษา มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาก แบ่งการปกครองออกเป็น 16 แคว้นใหญ่ๆ ดังที่ปรากฏในอุโปสถสูตร ฉบับบาลี คือ "อังคะ มคธ กาสี โกสล วัชชี มัลละ เจตี วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะสุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ และกัมโพชะ" และมีแคว้นเล็กอีก 5 แคว้น รวมเป็น 21 แคว้น คือสักกะ โกลิยะ ภัคคะ วิเทหะ และอังคุตตราปะ

      รูปแบบการปกครองของแต่ละแคว้นแตกต่างกันอยู่บ้าง วิรัช ถิรพันธุ์เมธี ได้แบ่งรูปแบบการปกครองในสมัยพุทธกาลไว้ 3 รูปแบบ คือ

     1) แบบจักรวรรดินิยม คือแคว้นที่มีแสนยานุภาพมาก มีอำนาจเหนือแคว้นอื่น ใช้อำนาจยึดครองแคว้นอื่นมาเป็นเมืองขึ้นของตน ประมุขของแคว้นแบบนี้เรียกว่า "มหาราชา" เช่น แคว้นมคธยึดครองแคว้นอังคะ แคว้นโกศลยึดครองแคว้นสักกะและแคว้นกาสี เป็นต้น

    2) แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้แก่ แคว้นที่ให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองบ้านเมืองขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่อาจทรงมอบหมายอำนาจนั้นให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือปุโรหิต ข้าราชบริพารไปปฏิบัติแทนได้ ประมุขของแคว้นเรียกว่า "ราชา" แคว้นต่างๆ โดยมากในสมัยนั้นปกครองด้วยรูปแบบนี้

    3) แบบประชาธิปไตย ได้แก่ แคว้นที่อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองมิได้ขึ้นอยู่กับประมุขแห่งแคว้นแต่เพียงผู้เดียว แต่จะมี "สภา" เป็นผู้กำหนดนโยบายและมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองสภาจะทำหน้าที่เลือกสมาชิกขึ้นมาคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารเรียกว่า "ราชา" ใน มัยโน้นเรียกการปกครองแบบนี้ว่าสามัคคีธรรม เช่น แคว้นมัลละและแคว้นวัชชี

    การปกครองโดยแบ่งเป็นแคว้นและมีพระราชาเป็นผู้ปกครอง ได้สืบต่อกันมาจนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราชในปี พ.ศ.2490 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จึงยกเลิกระบบการปกครองแบบเดิม และรวมทุกแคว้นเข้าด้วยกันเป็นประเทศอินเดีย

ตารางแคว้นต่างๆ ในยุคพุทธกาล

     แคว้นเหล่านี้ต่างก็เป็นอิสระมีอธิปไตยเป็นของตนเอง บางครั้งบางคราวแคว้นที่มีความอ่อนแออาจถูกแคว้นที่มีความเข้มแข็งกว่าเข้ายึดครองทำให้สูญเสียอธิปไตยไปดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แคว้นที่มีความเข้มแข็งทั้งในด้านเศรษฐกิจการเมืองและการทหาร จัดอยู่ในประเภทมหาอำนาจ มีอยู่ 5 แคว้น คือ มคธ โกศล อวันตี วัชชี และวังสะ โดยแคว้นมคธของพระเจ้าพิมพิสารเป็นมหาอำนาจสูงสุด


1.2 สภาพเศรษฐกิจในสมัยพุทธกาล
     สภาพเศรษฐกิจในอินเดียสมัยพุทธกาลตามที่ปรากฏหลักฐานในพระไตรปิฎกและอรรถกถานั้น กล่าวได้ว่า มีเศรษฐกิจดีมาก การผลิตและการค้าเจริญรุ่งเรือง มีกองเกวียนเดินทางขนสินค้าไปขายระหว่างเมืองจำนวนมาก มีมหาเศรษฐีที่มีสมบัติมากมหาศาลหลายท่าน เช่น โชติกเศรษฐี ชฎิลเศรษฐี เมณฑกเศรษฐี อนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นต้น

การประกอบอาชีพ
    อาชีพของคนอินเดียใน มัยพุทธกาลขึ้นอยู่กับวรรณะที่ตนเกิด ผู้ที่เกิดในวรรณะใดก็จะมีอาชีพประจำวรรณะนั้นดังนี้

     1) วรรณะกษัตริย์ เป็นชนชั้นสูงมีหน้าที่ในการปกครองบ้านเมือง ปราบปรามโจรผู้ร้ายและทำการรบพุ่งกับข้าศึกภายนอก ประกอบด้วยพระราชามหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ต่างๆ รวมถึงพวกที่รับราชการในระดับสูง เช่น ปุโรหิต เสนาบดี เป็นต้น

   2) วรรณะพราหมณ์ เป็นผู้ที่มีอาชีพสั่ง อนคนในสังคมและทำพิธีตามลัทธิศาสนามีทั้งที่เป็นนักบวชและคฤหัสถ์ เช่น ครูทั้ง 6 ก็จัดเป็นชนชั้นสูงเช่นกัน

    3) วรรณะแพทย์ เป็นพลเมืองทั่วไป มีอาชีพทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ช่างฝีมือ ค้าขายซึ่งจัดเป็นชนชั้นสามัญ

       4) วรรณะศูทร เป็นพวกกรรมกรหรือคนใช้ซึ่งทำงานหนัก ได้แก่พวกทาส 4 จำพวก คือ ทาสที่เกิดภายในเรือน ทาสที่ซื้อมาด้วยทรัพย์ ผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นทาสเชลยที่เข้าถึงความเป็นทาสพวกนี้จัดเป็นชนชั้นต่ำ มีอาชีพในการรับจ้างด้วยแรง ตลอดถึงทำการงานอื่นๆ ที่ชนชั้นสูงรังเกียจว่าเป็นการงานชั้นต่ำ


 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012984991073608 Mins