พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก ประเทศทิเบต

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก
ประเทศทิเบต

พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ประเทศทิเบต

    ทิเบต (Tibet) ตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัยเป็นที่ราบสูงที่สูงที่สุดในโลกจนได้รับฉายาว่าหลังคาโลก  ปัจจุบันทิเบตเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน หลังจากถูกยึดครองในปี พ.ศ.2494องค์ทะไล ลามะ เท็นซิน กยัตโซ ผู้นำทิเบตจึงเสด็จลี้ภัยไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ ณ ธรรมศาลาทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ในปี พ.ศ.2502 โดยมีชาวทิเบตประมาณ 80,000 คนติดตามไปด้วย

         ในอดีตก่อนการยึดครองของจีน ทิเบตได้รับฉายาว่า "แดนแห่งพระธรรม" (Land of Dharma) ปัจจุบันก็ยังหลงเหลือภาพนี้อยู่ แม้จะมัวหมองไปมากหลังจากเป็นเมืองขึ้นของจีนชาวทิเบตนิยมบวชเป็นพระภิกษุ เฉพาะในลาซา เมืองหลวงของทิเบต มีพระอยู่ถึงครึ่งหนึ่งของพลเมืองทั้งหมด นอกเมืองหลวงก็มีอยู่จำนวนมาก แต่ละวัดมีพระอยู่หลายพันรูป เช่น วัดเซรามี 7,000 รูป วัดไคปุงมี 5,000 รูป วัดกันดันมี 3,000 รูป เป็นต้น ชาวทิเบตถือว่า 3 วัดนี้เป็นประดุจเสาค้ำชาติ 3 ต้น เหตุที่กุลบุตรออกบวชกันจำนวนมาก เพราะทิเบตมีวันธรรมอย่างหนึ่งคือ แต่ละครอบครัวจะต้องอุทิศบุตรชายอย่างน้อย 1 คน ให้บวชเป็นพระตลอดชีวิต

      ศาสนาในทัศนะของชาวทิเบต ไม่ใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ให้คนคอยปฏิบัติตาม แต่ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ดังที่ท่านสังฆรักขิตะกล่าวว่า พระพุทธศาสนาในทิเบตคือวิถีชีวิต ทั้งชีวิตของชาวทิเบตคือพระพุทธศาสนาภาพแวดล้อมคือพระพุทธศาสนา ทุกอณูของพื้นแผ่นดินทิเบต เราจะเห็นเฉพาะภาพพระพุทธศาสนา

      ชาวทิเบตให้ความสำคัญกับการสวดมนต์มาก โดยเฉพาะบทสวดที่ชาวโลกคุ้นเคยกันดี คือ โอม มณี ปัทเท หุม อันเป็นมนต์ หรือมันตระแห่งความกรุณา พวกเขาเชื่อว่าถ้าสวดได้ถึง 600,000 จบ จะทำให้บรรลุพระนิพพาน แต่ละคนจะมีลูกประคำ 108 ลูกประจำตัว เพื่อเป็นอุปกรณ์ช่วยในการสวดมนต์ อิทธิพลของพระพุทธศาสนาทำให้ชาวทิเบตมีนิสัยอ่อนน้อมฉายภาพแห่งความเมตตากรุณาออกมาตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในอดีตชาวทิเบตมีนิสัยโหดร้ายบางครั้งถึงกับกินเนื้อคนเลยทีเดียว

      ในสมัยพุทธกาล ทิเบตเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอินเดีย อยู่ในอาณาเขตแคว้นโกศลป่ามหาวัน ที่อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ มีบริเวณด้านเหนือครอบคลุมถึงภูเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของทิเบตในปัจจุบัน พระพุทธองค์ทรงแสดงมหาสมยสูตรและมธุปิณฑิกสูตร ณ ป่ามหาวันดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเข้าสู่ทิเบตตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ต่อมาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งสมณทูต 9 สายไปประกาศพระศาสนา โดยสายของพระมัชฌิมเถระและคณะได้เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนา ณ บริเวณเทือกเขาหิมาลัยนี้

       ต่อมาปี พ.ศ.976 กษัตริย์ลาโธ โธรี เย็นเซ (พ.ศ.900-1100) ได้รับเครื่องบรรณาการจากตัวแทนอินเดีย อันมีคัมภีร์พระพุทธศาสนาและพระพุทธรูปด้วย พระองค์จึงเป็นกษัตริย์ทิเบตพระองค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา ช่วงนี้พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลายเพราะลัทธิบอน อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวทิเบตยังมีอิทธิพลอยู่มาก

      เมื่อพระเจ้าซองเซน กัมโป ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.11601241) ทรงทำสงครามกับจีนและตีเมืองเสฉวนได้ พระเจ้าถังไท่จง่องเต้จึงปรารถนาจะผูกมิตรกับทิเบตด้วยการยกเจ้าหญิงในราชสกุลองค์หนึ่งพระนามว่า บุ้นเซ้งกงจู้ ให้เป็นมเหสีของพระเจ้าซองเซน กัมโป ต่อมาเมื่อทิเบตรุกรานเนปาล กษัตริย์เนปาลจึงขอผูกไมตรีด้วยการยกพระธิดาชื่อ กฤกุฏีเทวี ให้เป็นมเหสีของพระองค์เช่นกัน ราชธิดาทั้งสองได้อัญเชิญพระพุทธรูปและคัมภีร์พระพุทธศาสนาเข้าไปในทิเบตด้วย ทั้งสองพระองค์ได้ชักจูงให้พระสวามีนับถือพระพุทธศาสนา

       พระเจ้าซองเซน กัมโปทรงส่งที่ปรึกษาราชสำนักคนสำคัญชื่อ ทอนมีสัมโภตะ พร้อมคณะอีก 12 คน ไปศึกษาพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดีย ทอนมีสัมโภตะและคณะได้นำอักษรสันสฤตมาเป็นต้นแบบในการประดิษฐ์อักษรและไวยากรณ์ภาษาทิเบตขึ้น และได้แปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบตด้วย หลังจากนั้นชาวทิเบตจึงได้ศึกษาพระพุทธศาสนากันอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ.1173 พระเจ้าซองเซนกัมโปประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และทรงสร้างพุทธ ถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระราชวังโปตาลา และวัดโจคัง เป็นต้น

       หลังจากรัชสมัยพระเจ้าซองเซน กัมโปแล้ว ลัทธิบอนกลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง ได้ข่มพระพุทธศาสนาโดยอ้างฤทธิ์เดชต่างๆ ของลัทธิตน จนกระทั่งพระเจ้าธริซอง เดทเซน ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.1333-1401) พระองค์ทรงอาราธนาพระคุรุปัทมสัมภวะ แห่งลัทธิมนตรยานผู้รู้เวทมนตร์มากให้มาปราบลัทธิบอน ท่านคุรุปัทมสัมภวะใช้เวลา 1 ปีกว่า จึงปราบได้หมดแล้วตั้งนิกายเนียงม่า (Nyiangma) หรือนิกายหมวกแดง และสร้างวัดสัมเยขึ้นเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

      นอกจากนี้ พระเจ้าธริซอง เดทเซนยังนิมนต์พระนิกายสรวาสติวาทมา 12 รูป แล้วคัดเลือกชาวทิเบตให้มาบรรพชาอุปสมบท 5 คน ต่อมามีชาวทิเบตอีก 300 คน ทั้งชายและหญิงมาบรรพชาอุปสมบทด้วย พระเจ้าธริซอง เดทเซนทรงตรากฎหมายให้มีการสนับสนุนด้านต่างๆ แก่พระภิกษุสามเณร จึงเป็นการวางรากฐานอันมั่นคงให้แก่พระพุทธศาสนา

     พระเจ้าธริ รัลปาเชน (พ.ศ.1409-1444) ครองราชย์เป็นกษัตริย์ทิเบตพระองค์ต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ถึงกับสยายพระเกศารองเป็นอาสนะให้พระสงฆ์นั่งล้อมแสดงธรรมถวายพระองค์ ทรงแต่งตั้งชาวพุทธให้ดำรงตำแหน่งทางราชการเป็นจำนวนมาก และมีการลงโทษผู้ที่ไม่มีเคารพพระสงฆ์ด้วย ทำให้พวกลัทธิบอนหรือผู้ที่เสียผลประโยชน์ไม่พอใจมาก ด้วยเหตุนี้พวกนี้จึงลอบปลงพระชนม์พระองค์เสีย

     พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมายาวนานเพราะได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ทุกพระองค์ที่ผ่านมา แต่เมื่อพระเจ้าลัง ดาร์ม่า (พ.ศ.1444 -1449) ขึ้นครองราชย์ พระองค์นับถือลัทธิบอนจึงพยายามทำลายพระพุทธศาสนา บังคับให้พระสงฆ์ลาสิกขา พระภิกษุต้องหลบออกไปอยู่ในชนบท ภิกษุรูปหนึ่งอดรนทนไม่ไหวจากการกระทำของพระองค์ จึงแต่งตัวด้วยชุดดำ สวมหมวกสีดำเข้าไปปะปนกับชาวเมือง แล้วลอบปลงพระชนม์พระเจ้าลัง ดาร์ม่าเสีย

       ต่อมาในปี พ.ศ.15771581 ทิเบตได้อาราธนาพระทีปังกรศรีชญาณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิกรมศิลาแห่งอินเดีย ให้มาช่วยปฏิรูปพระพุทธศาสนาและก่อตั้งนิกายลามะ(Lamaism) ในทิเบต พุทธศตวรรษที่ 16 นี้มีการส่งคนไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่มหาวิทยาลัยนาลันทามาก มีการแปลคัมภีร์เป็นภาษาทิเบตสร้างวัด และนิมนต์นักปราชญ์อินเดียไปทิเบตหลายท่าน ทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง

      ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ท่านตสองขะปะได้สร้างวัดกันดัน ใกล้กับลาซาและตั้งนิกายเกลุกหรือนิกายหมวกเหลืองขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปฏิบัติวินัยให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น เพราะลามะในนิกายเนียงม่าส่วนมากเลอะเทอะมีลูกมีเมียในวัด แต่นิกายเกลุกห้ามเด็ดขาดนอกจากนี้ท่านยังรวบรวมคัมภีร์ที่ได้แปลเป็นภาษาทิเบตขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 หมวด คือ พุทธพจน์ 100 เล่ม และอรรถกถา 225 เล่ม คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า พระไตรปิฎก หรือคัมภีร์พระพุทธศาสนาฉบับทิเบต ซึ่งได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน ลูกศิษย์ของท่านตสองขะปะได้สร้างวัดใหญ่ขึ้น คือ วัดเซรา วัดไคปุง และวัดตชิลุมโป และที่สำคัญ ท่านตสองขะปะยังเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการสืบทอดอำนาจโดยการกลับชาติมาเกิดด้วย

       กำเนิดองค์ทะไล ลามะ ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 อัลตันข่านแห่งมองโกลบุกยึดทิเบต และมีโอกาสได้พบกับโซนัม กยัตโซ ประมุขสงฆ์นิกายเกลุกองค์ที่ 3 อัลตันข่านเกิดความเลื่อมใสยิ่งนักจึงถวายตำแหน่ง ทะเล ให้แก่ท่าน ชาวทิเบตออกเสียงว่า ทะไล (Dailai) โซนัม กยัตโซได้ถวายตำแหน่งทะไล ลามะ ย้อนหลังขึ้นไปใน สองชาติแรกของท่านด้วย ซึ่งก็คือประมุขสงฆ์นิกายเกลุกองค์ที่ 1 และ 2 นั่นเอง ยุคของทะไล ลามะองค์ที่ 4 นิกายเกลุกก็เจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิม เพราะกองทหารมองโกลหนุนหลังอยู่

      สมัยทะไล ลามะ องค์ที่ 5 โลซัง กยัตโซ (พ.ศ.2158-2223) การเมืองในทิเบตปันป่วน เกิดการแย่งชิงบัลลังก์กันในนครลาซา กุชรีข่าน ผู้นำมองโกลจึงเข้ามาช่วยปราบปราม จากนั้นจึงมอบอำนาจการปกครองทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรให้แก่ท่านโลซัง กยัตโซ ทะไล ลามะ องค์ที่ 5 จึงเป็นจุดเริ่มต้นระบอบการปกครองที่มีพระเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศท่านโลซัง กยัตโซ ทรงทำให้ชาวมองโกลเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งประเทศ และทรงสร้างต่อเติมพระราชวังโปตาลาให้ใหญ่โตกว่าเดิม

       องค์ทะไล ลามะในปัจจุบัน เป็นองค์ที่ 14 พระนามว่า เท็นซิน กยัตโซ พระองค์ทรงจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เนื่องจากทิเบตถูกกองทัพจีนยึดครองในปี พ.ศ.2494 พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยมาอยู่ประเทศอินเดียในปี พ.ศ.2502 เหตุการณ์นี้ทำให้ทิเบตและพระพุทธศาสนาแบบทิเบตเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะชาวตะวันตก ในหรัฐอเมริกามีชาวพุทธทิเบตอยู่ประมาณ 5,000,000 คนส่วนใหญ่เป็นนิกายหมวกเหลืองหรือเกลุก

       องค์ทะไล ลามะ องค์ปัจจุบันได้มาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ.2536 เพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทย ในการนี้รัฐบาลจีนได้เตือนประเทศไทยว่าไม่ควรออกวีซ่าให้องค์ทะไล ลามะ เพราะว่าพระองค์เกี่ยวข้องกับกิจกรรมแบ่งแยกดินแดนจีนตลอดมา แต่รัฐบาลไทยก็ออกวีซ่าให้ โดยมีเหตุผลว่าเป็นเมืองพุทธ ไม่มีเหตุอันควรที่จะกัดกั้นพระที่จะเข้าประเทศ นอกเสียจากมาก่อเหตุร้ายเท่านั้น แต่ด้วยกระแสกดดันจากจีนเมื่อองค์ทะไล ลามะเข้ามาในประเทศไทยแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีวัดไหนกล้าให้ที่พักแก่ท่าน ในครั้งนั้น หลวงพ่อปัญญานันทะ วัดชลประทาน ได้อาสาให้พระองค์พักที่วัดท่าน แต่สุดท้ายวัดบวรนิเวศวิหารก็ได้นิมนต์ให้ท่านไปพักที่นั่นในฐานะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชประมุขสงฆ์ไทย

     ปัจจุบันพระพุทธศาสนามหายานในทิเบตเป็นแบบวัชรยาน หรือตันตระ โดยมีนิกายสำคัญมี 4 นิกาย คือ เนียงม่า กาจูสักยะ และเกลุก

       1. นิกายเนียงม่า ผู้ก่อตั้ง คือ คุรุปัทมสัมภวะ ท่านแบ่งคำสอนในพระพุทธศาสนาเป็นนวยาน พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีแดง

         2. นิกายกาจู อาจารย์ทุงโป ญาลจอร์ และมาร์ปะโชคี โลโด เป็นผู้ก่อตั้งโดยยึดหลักคำสอนสายทั้ง 4 ของตันตระคือ กายมายา การสืบทอดวิญญาณ ความฝัน และแสงสว่างบางครั้งนิกายนี้เรียกว่า นิกายหมวกดำ เพราะเวลาประกอบพิธีพระนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีดำ

        3. นิกายศากยะ ก่อตั้งโดยท่านคอนจ็อก เจลโป มีคำสอนสำคัญคือ ธรรมทอง 13 ข้อและคำสอนลัมเดร (Landre) หลักแห่งมรรคและผล ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างบริสุทธิ์และศูนยตา โดยสาระคือความแยกกันไม่ได้ระหว่างสังสารวัฏและนิพพาน พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกหลายสี

       4. นิกายเกลุก ผู้ก่อตั้งนิกายนี้ คือ อาจารย์ตสองขะปะ นิกายนี้มุ่งในด้านความเคร่งครัดทางวินัย การศึกษาพระสูตรและตันตระจะใช้วิธีการวิเคราะห์โดยผ่านทางตรรกวิภาษ พระในนิกายนี้นิยมสวมหมวกสีเหลือง

       พระราชวังโปตาลา ตอนเริ่มต้นสร้างเป็นเพียงวังเล็กๆ ต่อมามีการก่อสร้างต่อเติมขึ้นเรื่อยๆ นับร้อยปี จนเป็นพระราชวังที่ใหญ่โตมโหฬารมีพื้นที่ครอบภูเขาไว้ทั้งลูก พระราชวังโปตาลาเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณชาวทิเบต หลังคาประดับด้วยกระเบื้องทองคำ และมีพระเจดีย์หุ้มทองคำเรียงรายกันอยู่ชั้นบนสุด มีห้องต่างๆ กว่า 1,000 ห้อง เช่น ห้องประชุมรัฐสภา มีโซนมหาวิทยาลัยสงฆ์ วิทยาลัยการแพทย์ ชาวทิเบตทุกคนที่เดินทางมาเยือนในวินาทีแรกที่เห็นยอดพุทธวิหารทองคำทุกคนจะคุกเข่าลงสวดมนต์
 

พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ประเทศทิเบต

        วัดโจคัง เป็นวัดแรกในทิเบต เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวทิเบตใฝ่ฝันที่จะจาริกไปแสวงบุญให้ได้สักครั้งในชีวิต พระเจ้าซองเซน กัมโปทรงสร้างวัดโจคังขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธานโจโวศากยมุนี พระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดในทิเบต ได้รับการอัญเชิญมาโดยมเหสีชาวเนปาลของพระองค์ ปัจจุบันวัดโจคังเจริญรุ่งเรืองมาก จะมีนักแสวงบุญนับ 1,000 คน กระทำประทักษิณและสวดมนต์ทุกวันทุกเวลา

   ผู้จาริกแสวงบุญ แต่ละปีมีผู้แสวงบุญจำนวนมากไปเยือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในทิเบตโดยเฉพาะพระราชวังโปตาลา และวัดโจคังสำหรับชาวทิเบตแล้วการจาริกแ วงบุญไปยังวัดโจคังถือเป็นความปรารถนาสูงสุดและต้องเดิมพันกันด้วยชีวิตทีเดียว เพราะชาวทิเบตจำนวนมากใช้วิธีเดินทางไปด้วยเท้า และมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องจบชีวิตลงก่อนจะถึงวัดโจคัง เพราะไม่อาจทนต่อสภาพอากาศที่โหดร้ายได้ โดยเฉพาะอากาศอันหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งบางครั้งติดลบถึง 40 องศา

        เส้นทางแห่งการหยั่งรู้ ดันจู เป็นหนึ่งในนักเดินทางแสวงบุญนี้ จุดมุ่งหมายของเขานอกจากสร้างบุญให้กับตนเองแล้ว ดันจูออกจาริกเพื่อไถ่บาปให้พ่อที่ทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่เขายังเด็ก เส้นทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ระหว่างชิงไฮ (Qinghai) บ้านของเขาและวัดโจคังคือสิ่งท้าทายอันยิ่งใหญ่ โจมาและใบมา คือแม่กับน้องสาวผู้คอยดูแลเขาตลอดการเดินทาง ดันจู ท่องบทสวดมนต์ย่างเท้าไปข้างหน้าและนอนกราบเหยียดยาวบนหิน กรวด น้ำแข็ง และหิมะตลอดการเดินทาง มีเพียงศรัทธาเท่านั้นที่ผลักดันเขาไปข้างหน้า ดังจูไม่ได้คิดถึงจุดหมายเลยเขานึกถึงแต่วัตถุประสงค์และความหมายของแต่ละครั้งที่ก้มกราบลงบนถนน อันเปรียบประดุจเส้นทางแห่งการหยั่งรู้ ระดับความสูงกว่า 4,000 เมตร และอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ทำให้ทุกคนอ่อนล้า แต่ในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จหลังจากเดินทางมากว่า 2 ปี โจมาได้แต่นั่งน้ำตาไหลด้วยความปีติเมื่อเห็นยอดพระราชวังโปตาลาแห่งนครลาซา ดันจูใช้เวลาทั้งวันสวดมนต์และกราบพระพุทธรูปทุกองค์ในวัดโจคัง การกราบแต่ละครั้งหมายถึงจุดสิ้นสุดแห่งการเดินทางอันยิ่งใหญ่ หลังจากพวกเขากลับไปถึงหมู่บ้านแล้ว คนทั้งหมู่บ้านออกมาต้อนรับด้วยความปีติ พระผู้ใหญ่แห่งวิหารซีในชิงไรับดันจูเป็นลามะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นความหวังอันสูงสุดในชีวิตเขา

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025141930580139 Mins