พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศพม่า
ประเทศพม่ามีชื่อเป็นทางการว่า สหภาพพม่า (Union of Myanmar) มีเมืองหลวงชื่อเนปีดอ เมืองใหญ่สุดคือ ย่างกุ้ง ปกครองด้วยรัฐบาลทหาร มีประชากรประมาณ 50,519,000 คน (พ.ศ. 2548) นับถือศาสนาพุทธ 90% นับถือศาสนาคริสต์ 4% ศาสนาอิสลาม 3% ศาสนาฮินดู 0.7% นับถือผีไสยศาสตร์ 2.3%
ประวัติศาสตร์ของพม่านั้นมีความยาวนานและซับซ้อน มีคนหลายเผ่าพันธุ์เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ เช่น เผ่ากัปปะลี มอญ พยู ไทยใหญ่ พม่า เป็นต้น ชาวพม่าได้อพยพมาราวพุทธศตวรรษที่ 13 โดยมาจากบริเวณพรมแดนระหว่างจีนและทิเบต เข้าสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี และได้กลายเป็นชนเผ่าส่วนใหญ่ที่ปกครองประเทศในเวลาต่อมา
มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในพม่าราว 11,000 ปีมาแล้ว ชนชาติแรกคือเผ่ากัปปะลีหรือ นิกริโต แต่เผ่าแรกที่สร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้คือมอญ ชาวมอญอพยพเข้ามาราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล ได้สถาปนาอาณาจักรสุวรรณภูมิขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 2 มีเมืองหลวงชื่อ "สะเทิม"ส่วนชนเผ่าเดิมคือกัปปะลีก็เคลื่อนย้ายไปอยู่ตามเกาะบะลู ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเมาะลำไย ชนเผ่านี้ มีหน้าตาน่ากลัว ผมหยิก ผิวดำ มีนิสัยกระด้างจึงถูกมองว่าเป็นพวกยักษ์ และคำว่า บะลู ก็แปลว่า ยักษ์
ศิลาจารึกเจดีย์ชเวดากองบันทึกไว้ว่า พระพุทธศาสนาเข้าสู่พม่าตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวคือพ่อค้าชาวมอญชื่อ ตปุสะ และภัลลิกะ ได้รับพระเกศธาตุจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐาน ณ เจดีย์ชเวดากอง1ส่วนในอรรถกถาบันทึกไว้ว่า พ่อค้าตปุสะ และภัลลิกะเดินทางจากอุกกลชนบท ไปยังมัชฌิมประเทศด้วยเกวียน 500 เล่ม ระหว่างทางได้ถวายสัตตุผงและสัตตุก้อนแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนกลับพระศาสดาทรงประทานเส้นพระเกศธาตุ 8 เส้น ชนทั้งสองได้นำไปสู่นครของตนแล้วบรรจุพระเกศธาตุไว้ที่ประตูอสิตัญชนนคร แต่ทั้งนี้ยังไม่พบหลักฐานว่า อุกกลชนบท และอสิตัญชนนคร อยู่ในพม่าหรือไม
พงศาวดารมอญบันทึกไว้ว่า เมื่อปี 250 ก่อนคริสต์ศักราช (พ.ศ.293) พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเดินทางมาประกาศพระศาสนา ณ ดินแดนสะเทิมแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิแล้ว วดพระปริตรเพื่อขับไล่เหล่ายักษ์น้ำหรือผีเสื้อสมุทรมิให้มาเป็นอันตรายแก่ชาวมอญ จึงสันนิษฐานได้ว่าพวกยักษ์ในตำนานมอญนั้นน่าจะหมายถึงชนเผ่ากัปปะลีนั่นเอง ในอรรถกถาก็กล่าวไว้ว่า เมื่อพระโสณเถระและพระอุตตรเถระไปถึงสุวรรณภูมิ นางรากษสหรือยักษ์ตนหนึ่งพร้อมด้วยบริวารขึ้นมาจากสมุทร มนุษย์เห็นนางรากษสตนนั้นแล้วก็กลัวร้องเสียงดัง พระเถระนิรมิตอัตภาพให้มากกว่าพวกรากษสแล้วขับให้หนีไป
ชาวพยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่น ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เป็นต้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู 18 เมือง ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเด็กๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี
พระพุทธศาสนาเถรวาทเจริญรุ่งเรืองในพม่าในราวพุทธศตวรรษที่ 6 ต่อมามีพระสงฆ์ฝ่ายมหายานซึ่งเป็นศิษย์ของพระวสุพันธุได้นำลัทธิตันตระไปเผยแผ่ จนพระพุทธศาสนาทั้งสองนิกายเจริญรุ่งเรืองเป็นเวลาหลายร้อยปี และรุ่งเรืองมากในพุทธศตวรรษที่ 11
ชาวพม่าเป็นชนเผ่าอพยพมาจากทางตอนเหนือทีละน้อย ได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้เข้ารุกรานพวกมอญ มอญจึงต้องถอยไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่หงสาวดี ในปี พ.ศ.1368 พม่าได้ตั้งอาณาจักรขึ้น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพุกาม (Pagan) ในปี พ.ศ.1392 ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรพยูเสื่อมสลายแล้ว อาณาจักรพุกามแต่แรกนั้นมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กระทั่งในรัชสมัยของพระเจ้าอโนรธา (พ.ศ.1587-1620) พระองค์สามารถรวบรวมแผ่นดินพม่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จ
ในปี พ.ศ.1600 พระเจ้าอโนรธายกทัพตีเมืองสะเทิมของมอญ นำเอาพระไตรปิฎกและประเพณีพระพุทธศาสนามา ทรงทำให้นิกายเถรวาทแพร่หลายด้วยความช่วยเหลือจากพระภิกษุมอญชื่อ ชินอรหันต์ ทรงสร้างเจดีย์ที่สำคัญหลายแห่งโดยเฉพาะมหาเจดีย์ชเวดากองโดยสร้างเสริมเจดีย์องค์เดิม ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบต่อมายาวนานว่า พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์จะต้องทรงทำนุบำรุงพระเจดีย์ ในสมัยพระนางฉิ่นซอปู้ทรงพระราชทานทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองคือ 40 กิโลกรัม เพื่อนำไปตีแผ่หุ้มพระเจดีย์ มัยพระเจ้าธรรมเซดีก็ทรงบริจาคทองคำหนักเป็นสี่เท่าของน้ำหนักพระองค์เอง ในสมัยพระเจ้ามินดงทรงส่งฉัตรฝังเพชรอันใหม่มาถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นธรรมเนียมมาถึงปัจจุบันที่กษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องพระราชทานทองคำเท่าน้ำหนักพระองค์เองไปตีเป็นแผ่นหุ้มองค์พระมหาเจดีย์
เจดีย์ชเวดากอง (Shwedagon Pagoda) เป็นภาษาพม่า ชเว แปลว่า ทอง ดากอง แปลว่า เมืองตะเกิง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง เจดีย์ชเวดากอง จึงแปลว่า พระเจดีย์ทองเมืองตะเกิง ซึ่งเป็นมหาเจดีย์ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง
ตำนานกล่าวว่าสร้างเมื่อ 2,500 ปีที่แล้วโดยพ่อค้าทั้งสอง แต่นักโบราณคดีเชื่อกันว่าสร้างระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 6 ถึง 10 แรกเริ่มสร้างมีความสูงเพียง 27 ฟุต แต่ด้วยแรงศรัทธาของชาวพม่าได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์สิน เงินทอง แล้วก่อสร้างเสริมองค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีความสูงถึง 326 ฟุต กว้าง 1,355 ฟุต ทองคำที่โอบหุ้มเจดีย์ชเวดากองอยู่ มีน้ำหนักถึง 1,100 กิโลกรัม1 ช่างพม่าจะใช้ทองคำแท้ๆ นำมาตีเป็นแผ่นเรียงปิดองค์เจดีย์ไว้ บนยอดของพระเจดีย์ มีเพชรอยู่ 5,448 เม็ด โดยเฉพาะยอดสุดมีเพชรเม็ดใหญ่อยู่ 72 กระรัต และทับทิม 2,317 เม็ด
นอกจากเจดีย์ชเวดากองแล้ว ในอาณาจักรพุกามมีการสร้างเจดีย์อีกมากมาย เพราะชาวพุกามเชื่อว่า การสร้างเจดีย์จะได้อานิสงส์สูงสุด ตลอดที่ราบริมฝังอิรวดีพื้นที่กว้างไกลสุดสายตา ล้วนประดับประดาไปด้วยเจดีย์มากมาย กล่าวกันว่ามีถึง 4,000 องค์ทีเดียว เมืองพุกามจึงได้ชื่อว่า ทะเลเจดีย์ ด้วยเหตุนี้พุกามจึงได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก (World Heritage) จาก UNESCO แต่ทุกวันนี้เหลือเจดีย์อยู่เพียง 2,000 กว่าองค์เท่านั้นส่วนมากเป็นเจดีย์ร้างแต่ด้วยแรงศรัทธาและความเกรงกลัวบาปที่ฝังลึกในจิตใจของชาวพม่า เจดีย์จึงยังยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกทำลาย พระพุทธรูปยังคงประดิษฐานงดงามอยู่ทุกซุ้มเจดีย์ แม้แต่อุณาโลมเพชรทับทิม หรือมรกต ก็ยังไม่มีชาวพม่าคนใดกล้าลักขโมย
หลังจากสมัยพระเจ้าอโนรธาแล้ว พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์เรื่อยมา จนกระทั่งสมัยพระเจ้านรปฏิสิทธุทรงส่งสมณทูตไปฟนฟูพระพุทธศาสนาที่ลังกา ในปี พ.ศ.1733 โดยมีพระอุตราชีวะเป็นประธาน ครั้งนั้นมีเด็กชาวมอญคนหนึ่งชื่อ ฉะบัฏ ได้บวชเป็นสามเณรติดตามไปยังลังกาด้วย และได้อุปสมบทในลัทธิลังกาวงศ์ ภายหลังเดินทางกลับพม่าพร้อมกับพระภิกษุอีก 4 รูป ได้ตั้งนิกายใหม่ในพม่าคือนิกายสิงหล พระภิกษุนิกายนี้ไม่ยอมรับว่า พระนิกายเดิมคือ มะระแหม่ง ได้รับการอุปสมบทอย่างถูกต้อง จึงเกิดการขัดแย้งกันเป็นเวลานานถึง 3 ศตวรรษและในที่สุดนิกายสิงหลก็เป็นฝ่ายชนะ
อาณาจักรพุกามเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ จนกระทั่งรัชสมัยของพระเจ้านรสีหปติในปี พ.ศ.17991830 กองทัพมองโกลบุกเข้าตีพุกามจนแตก ผลของสงครามทำให้พุกามอ่อนแอลงมาก มะกะโท3จึงประกาศเอกราชปลดแอกอาณาจักรมอญ หลังจากเป็นเมืองขึ้นของ พุกามตั้งแต่ปี พ.ศ.1600 และสถาปนาราชวงค์ชานขึ้น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ
เมาะตะมะเป็นเมืองหลวงของมอญจนถึงปี พ.ศ.1912 จึงย้ายไปยังหงสาวดี ในสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ (พ.ศ.20152035) อาณาจักรมอญเจริญสูงสุด ทรงรวมสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมแตกแยกเป็น 6 คณะ ทรงให้คณาจารย์ 6 สำนักมาประชุมกัน ทรงขอร้องให้ไปอุปสมบทใหม่ในลังกาเพื่อให้เกิดความเสมอภาค คณะสงฆ์ก็เห็นชอบด้วยจึงเดินทางไปอุปสมบทใหม่ที่ลังกา โดยมีพระคณาจารย์ 22 รูป พระอนุจรอีก 22 รูป
เมื่อกลับมาสู่เมืองหงสาวดีแล้วพระเจ้าธรรมเจดีย์ก็ประกาศราชโองการให้พระสงฆ์ทั่วแผ่นดินสึกให้หมด แล้วบวชใหม่กับคณะสงฆ์ที่บวชจากลังกา โดยเรียกคณะใหม่ว่า คณะกัลยาณีในครั้งนั้นมีพระบวชในคณะกัลยาณีถึง 15,666 รูป คณะสงฆ์เมืองหงสาวดีจึงเป็นปึกแผ่นอีกครั้งแต่หลังจากพระองค์สวรรคตแล้วสงฆ์ก็แตกแยกกันอีก
ในพุทธศตวรรษที่ 21 นี้ (พ.ศ.2001-2100) ชนชาติโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับประเทศพม่า มีชาวโปรตุเกสคนหนึ่งได้ช่วยพระเจ้ายะไข่ปราบกบฏ จนมีความดีความชอบได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองสีเรียม จึงถือโอกาสเผยแพร่ลัทธิโรมันคาทอลิก และเบียดเบียนพระพุทธศาสนา เช่น ริบทรัพย์สมบัติของวัด ห้ามประชาชนใส่บาตร พระสงฆ์ต้องลี้ภัยไปกรุงอังวะเพื่อร้องทุกข์ ในที่สุดพม่ากับมอญได้ร่วมมือกันกำจัดพวกโปรตุเกสจับตรึงไม้กางเขนตายหลายคน
หลังยุคพระเจ้าธรรมเจดีย์แล้ว ในปี พ.ศ.2094 หงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบงชเวตี้ กษัตริย์พม่า อาณาจักรพม่ารุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยบุเรงนอง ทรงขยายอาณาจักรออกไปกว้างขวางจนได้ชื่อว่าผู้ชนะสิบทิศ มีประเทศราชทั่วสุวรรณภูมิ คือ อังวะ แปร เชียงใหม่ อยุธยายะไข่ ล้านช้าง และหัวเมืองไทยใหญ่ทั้งปวง ทรงครองราชย์อยู่ได้ 30 ปี สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.2124
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตแล้ว พระโอรสขึ้นเสวยราชย์แทน แต่ไม่มีอำนาจเหมือนพระบิดา เมืองขึ้นต่างๆ จึงประกาศตัวเป็นอิสรภาพรวมทั้งไทยด้วย พวกมอญได้นิมนต์พระภิกษุชาวกะเหรี่ยงรูปหนึ่งชื่อว่า พระสะล่า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางเวทมนตร์คาถาเชิญให้สึกออกมาคิดแผนการไล่พม่าจนสำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครหงสาวดีในปี พ.ศ. 2283 มีพระนามว่า พระเจ้าสทิงทอพุทธเกติ ทรงแผ่อิทธิพลตีเมืองตองอูและเมืองแปรได้สำเร็จ แต่เรืองอำนาจอยู่เพียง 7 ปีเท่านั้น ในปี พ.ศ.2300 ก็ได้สูญสิ้นอำนาจให้แก่พม่าอีก และตั้งแต่นั้นมอญก็ไม่มีโอกาสกอบกู้เอกราชอีกเลยตราบกระทั่งปัจจุบัน
ในพุทธศตวรรษที่ 24 อังกฤษทำสงครามกับพม่าและได้ชัยชนะ จากนั้นพยายามตักตวงทรัพยากรต่างๆ โดยที่กษัตริย์พม่าไม่อาจจะแก้ปัญหาได้ พระเจ้ามินดงจึงก่อการปฏิวัติยึดอำนาจจาพระเจ้าปะกันในปี พ.ศ.2396 ในสมัยพระองค์มีการสังคายนาพระไตรปิฎกนิกายเถรวาทครั้งที่ 5 ขึ้น ณ เมืองมัณฑะเลย์ในปี พ.ศ.2414 ได้จารึกพระไตรปิฎกลงในหินอ่อน 729 แผ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะสงฆ์หลายชาติ คือ ศรีลังกา ไทย กัมพูชา และลาว
ต่อมาพระเจ้าธีบอว์พระโอรสของพระเจ้ามินดงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2421 พระองค์ ถูกอังกฤษเนรเทศไปอยู่อินเดีย ในช่วงนี้ศาสนาคริสต์ได้โจมตีพระพุทธศาสนา พระสงฆ์แ ดงธรรมต่อต้านอังกฤษและเดินขบวนอย่างเปิดเผย พระบางรูปถูกจับไปขังคุกก็มี
พม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2492 พระพุทธศาสนาจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง มีการสังคายนาครั้งที่ 6 ขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2497 และเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2499 การทำสังคายนานี้ทำขึ้นในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยเชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี เช่น พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา
*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา