พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย

วันที่ 27 มิย. พ.ศ.2560

พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย

พระไตรปิฎกเบื้องต้น , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , การทำสังคายนา , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย

   ภาษาบาลีเป็นภาษาของชาวมคธทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบนั้น โดยภาษาถิ่นคือมคธ และภาษาบาลีเป็นรูปลักษณ์หนึ่งของภาษาอินโดอารยันสมัยกลางที่อินเดียสืบทอดกันมา และเป็นภาษาเฉพาะกิจที่สร้างขึ้นมา เพื่อบันทึกพุทธพจน์เท่านั้น วรรณคดีบาลีได้เกิดขึ้นตั้งแต่พุทธกาล ที่พระองค์ได้ใช้แสดงธรรม แล้วก็เจริญรุ่งเรืองตามลำดับอันสมควร แม้ครั้งพุทธกาลก็มีพระอานนท์เท่านั้นที่ทรงจำพระพุทธพจน์ได้หมด พระเถระองค์อื่นๆ ก็ทรงจำได้เพียงหนึ่งปิฎก หรือหนึ่งนิกายกับอรรถาธิบาย ซึ่งอยู่กับความสามารถของตน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงจำเป็นต้องมีการอธิบายความที่ทรงจำไว้ เป็นเหตุให้มีอัฏฐกถาอธิบายพระบาลี และฎีกาอธิบายอัฎฐกถา และเรียกพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเอง และพระธรรมที่พระสาวกที่แสดงไวัในพุทธกาล และหลังพุทธกาลว่า พระบาลี

       พระบาลีหรือพระไตรปิฎกที่พิมพ์เป็นอักษรไทยและแปลเป็นภาษาไทย 45 เล่มนั้นท่านได้แบ่งออกเป็น 7 หมวด คือ รส 1, พระธรรมวินัย 2, พจน์ 3, ปิฎก 3, นิกาย 5, องค์ 9, และพระธรรมขันธ์ 84,000

       ไตรปิฎกฉบับภาษามคธ หรือภาษาบาลีนั้น ไม่มีอักษรสำหรับเขียนของตนโดยเฉพาะ แต่ได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ในประเทศที่มิใช่เจ้าของภาษามคธเวลาต่อมาเดิมอักษรภาษามคธแทบจะไม่ได้ใช้บันทึกเป็นพระไตรปิฎกเลย เพราะเป็นภาษาที่ใช้พูด ไม่นิยมใช้เป็นอักษรบันทึก หรืออาจจะเป็นเพราะว่าอุปกรณ์ใช้เขียนในยุคนั้นยังไม่แพร่หลาย หรือพกพาลำบาก การที่ภิกษุจะไปหาวั ดุต่าง ๆ หรือใช้ให้ผู้อื่นไปหาอาจผิดพระวินัย พระสาวกในยุคนั้นมีสติปัญญาทรงจำมุขปาฐะจะสะดวกกว่าการบันทึก พระสงฆ์ยุคแรกมิได้พักอาศัยเป็นการถาวร เนื่องจากต้องจาริกไปเผยแผ่ธรรมะในที่ต่าง ๆ เสมอ ประเทศไทยได้รับพระไตรปิฎก อักษรเขียนพระไตรปิฎก และวิธีเขียนพระไตรปิฎกจากเกาะลังกาประมาณ พ.ศ.1900 โดยพระสงฆ์จากล้านนา จากนั้นก็จารึกลงใบลานโดยอักษรธรรมล้านนาแล้วนั้นก็ได้ใช้อักษรขอมจารึก เนื่องจากอักษรขอมในยุคนั้นเป็นอักษรทางการ ต่อมาได้พิมพ์เป็นหนังสือ ปีพ.ศ.2431 ในรัชกาลที่ 5 โดยการเขียนภาษาบาลีในพระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย โดยมีการปรับปรุงเครื่องหมายต่าง ๆ เช่น นโม ตัส์ส ภควโต  อรหโต สัมมาสัม์พุท์ธั ส์ ปรับปรุงเครื่องหมายดังปรากฏในปัจจุบัน คือ นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

       ดังนั้น คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในไทยที่ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาษาบาลี ใช้อักษร 5 ชนิด คือ

1) อักษรธรรมล้านนา
2) อักษรขอม
3) อักษรธรรมอีสาน
4) อักษรมอญ
5) อักษรไทยปัจจุบัน

     การแปลพระไตรปิฎกสู่พากย์ไทยคงมีการทำอยู่เรื่อยมา ตั้งแต่กรุงสุโขทัย แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่ามีครบชุดหรือไม่ ถึงจะมีครบชุดก็คงกระจัดกระจาย หรือที่ครบชุดคงเป็นของหลวง และในพระอารามหลวงเท่านั้น ที่พระสังฆราชประทับอยู่เท่านั้น จะมาสูญหายไม่มากก็ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ในสมัยสุโขทัยนี้ เราได้คัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกา และเป็นตัวอักษรลังกา จากนั้นก็ได้ปริวรรตเป็นอักษรขอมแทนสำเนียงมคธ

     สาเหตุที่ไม่ใช้อักษรไทยจารึกภาษามคธเนื่องจากประชาชนมีศรัทธาภาษาทางศาสนาในอักษรขอม ซึ่งถือกันว่าทำให้ขลังและศักดิ์สิทธิ์ อิทธิพลของอักษรขอมมีมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลางจึงเสื่อมความนิยมไป

    การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ในเมืองไทยมี 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 กระทำที่เชียงใหม่ พ.ศ. 2020 ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ครั้งที่ 2 กระทำที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2331-2332 ในรัชกาลที่ 1 และครั้งที่ 3 กระทำในปีพ.ศ. 2527 และได้จัดพิมพ์เผยแผ่ในวโรกา พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน พ.ศ.2530 ในประเทศไทย

     พระไตรปิฎกได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2431 แล้วเสร็จมีการฉลองในปี พ.ศ. 2436 พร้อมกับงานรัชดาภิเษก ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์เป็นฉบับที่สมบูรณ์ เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 6 เรียกว่า ฉบับสยามรัฐ มีจำนวนจบละ 45 เล่ม ซึ่งถือตามปีพระพุทธองค์ทรงเผยแผ่พระธรรม เป็นหลักในการจัดแบ่งเล่มพระไตรปิฎกฉบับประเทศไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน

     พระไตรปิฎกมีเนื้อหามากถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ ฉบับพิมพ์อักษรไทยมี 45 เล่ม หรือนับตัวอักษรได้ประมาณ 24,300,000 ตัว แต่ละปิฎกก็มีการจัดหมวดหมู่และวรรคออกไปมากมาย ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงสาระสำคัญของพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย

      พระพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุ และภิกษุณี เรียกว่า พระวินัยปิฎก แบ่งเป็น 5 คัมภีร์ มีทั้งหมด 8 เล่ม คือ

     เล่มที่ 1 มหาวิภังค์ (ภาค 1) ว่าด้วยสิกขาบทในพระปาติโมกข์ของภิกษุ ซึ่งเป็นอาบัติหนัก หรือความผิด ถานหนัก คือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสสและอาบัติอนิยต

     เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ (ภาค 2) ว่าด้วยสิกขาบทในพระปาติโมกข์ของภิกษุที่เหลือเป็นอาบัติเบา คือ อาบัตินิสัคคิยปาจิตตีย์ จนถึงอธิกรณสมถะ ครบ 227 ข้อ

     เล่มที่ 3 ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท 311 ข้อ ของภิกษุณี เริ่มตั้งแต่ปาราชิก 8 สังฆาทิเสส 17 จนครบสิกขาบท 311 ข้อ

     เล่มที่ 4 มหาวรรค (ภาค 1) ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ ตอนต้นมี 4 ขันธกะ คือ เรื่องกำเนิดภิกษุสงฆ์และการอุปสมบท อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา

      เล่มที่ 5 มหาวรรค (ภาค 2) ว่าด้วยสิกขาบทนอกพระปาฏิโมกข์ ตอนต้น (ต่อ) มี 6 ขันธกะ คือ เรื่องหนัง เภสัชกฐิน จีวร นิคคหกรรม การทะเลาะวิวาทและความสามัคคี

      เล่มที่ 6 จุลลวรรค (ภาค 1) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ ตอนปลายมี 4 ขันธกะ คือ เรื่องนิคคหกรรม วุฎฐานวิธี และการระงับอธิกรณ์

     เล่มที่ 7 จุลลวรรค (ภาค 2) ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย (ต่อ) มี 8 ขันธกะ คือ เรื่องข้อบัญญัติปลีกย่อย เรื่องเสนา นะสังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาฏิโมกข์เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ 12

      เล่มที่ 8 ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย


พระสุตตันตปิฎก (ที ม สํ อํ ขุ)
    พระสุตตันตปิฎก คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายหรืออธิบายธรรมต่าง ๆ ที่ตรัสให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนคำประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น 5 นิกาย มี 25 เล่ม


ทีฆนิกาย 3 เล่ม
      เล่มที่ 9 สีลขันธวรรค กล่าวถึงความถึงพร้อมด้วย สีลขันธ์ โดยจำแนกเป็นจุลศีลมัชฌิมศีล และมหาศีล ในเล่มนี้พระสูตรขนาดยาว 13สูตร เริ่มด้วย พรหมชาลสูตร

     เล่มที่ 10 มหาวรรค มีพระสูตรขนาดยาว 10สูตร ซึ่งมีชื่อเริ่มด้วยคำว่า "มหา" เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหา มยสูตร และมหาสติปัฎฐานสูตร เป็นต้น

     เล่มที่ 11 ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว 11สูตร เริ่มต้นด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตรสิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร เป็นต้น


มัชฌิมนิกาย 3 เล่ม
      เล่มที่ 12 มูลปัณณาสก์ มีพระสูตรขนาดกลาง 50สูตร พระสูตรที่คุ้นชื่อ เช่นธรรมทายาทสูตรสัมมาทิฏฐิสูตรสติปัฎฐานสูตร รถวินีตสูตร และวีมังสูตร เป็นต้น

      เล่มที่ 13 มัชฌิมปัณณาสก์ มีพระสูตรขนาดกลาง 50 สูตร

      เล่มที่ 14 อุปริปัณณาสก์ มีพระสูตรขนาดกลาง 52สูตร สังยุตตนิกาย 5 เล่ม

     เล่มที่ 15 คาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่พระพุทธองค์ตรัสแก่บุคคลต่างๆ เช่น เทวดา มาร ภิกษุณี เป็นต้น มี 11 สังยุตต์

     เล่มที่ 16 นิทานวรรค ว่าด้วยเหตุและปัจจัย คือ ปฎิจจสมุปปาท และเรื่องธาตุการบรรลุธรรมสังสารวัฏลาภสักการะ เป็นต้น มี 10สังยุตต์

     เล่มที่ 17 ขันธวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ 5 ในแง่มุมต่าง ๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ด เช่น เรื่องสมาธิ และทิฏฐิต่าง ๆ จัดเป็น 13สังยุตต์

     เล่มที่ 18 ฬายตนวรรค ว่าด้วยอายตนะ 6 พร้อมด้วยเรื่องเบญจศีล ข้อปฎิบัติให้ถึงอสังขตะ และอันตคาหิกทิฎฐิ เป็นต้น จัดเป็น 10 สังยุตต์

    เล่มที่ 19 มหาวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม 37 จนถึงองค์คุณพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น 12สังยุตต์


อังคุตตรนิกาย 5 เล่ม
     เล่มที่ 20 เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยหมวดธรรมตั้งแต่หมวด 1 ถึงหมวด 3 เช่น จิต อัปมาท คนพาล 2 บัณฑิต 2 ความเมา 3 อธิปไตย 3 และสิกขา 3 เป็นต้น

      เล่มที่ 21 จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 4 เช่น อริยธรรม 4 พุทธบริษัท 4 ปธาน 4สังคหวัตถุ 4 เป็นต้น

     เล่มที่ 22 ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 5 เช่น พละ 5, นิวรณ์ 5, และธรรมหมวด 6 เช่นสาราณียธรรม 6, อนุตตริยะ 6, คารวตา 6 เป็นต้น

     เล่มที่ 23 สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 7 เช่น อริยทรัพย์ 7, อนุสัย 7 อปริหานิยธรรม 7,หมวด 8 เช่น โลกุตรธรรม 8, ทาน 8 เป็นต้น และหมวด 9 เช่น อาฆาตวัตถุ 9 อนุปุพพวิหาร 9 เป็นต้น

      เล่มที่ 24 ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด 10 เช่นสังโยชน์ 10,สัญญา 10, และนาถกรณธรรม 10 เป็นต้น และธรรมหมวด 11 เช่น อานิสงส์เมตตา 11 เป็นต้น


ขุททกนิกาย 9 เล่ม
      เล่มที่ 25 คัมภีร์ย่อย 5 คัมภีร์ คือ ขุททกปาฐะ รวมบทสวดย่อยๆ เช่น มงคลสูตร, ธรรมบท บทร้อยกรองหลักธรรมมี 423 คาถา, อุทาน พระสูตรแสดงคาถาพุทธอุทานมีความนำเป็นร้อยแก้ว 80 เรื่อง, 


อิติวุตตกะ พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย เอวมฺเม สุตํ แต่เชื่อมความสู่คาถาด้วยคำว่า อิติวุจฺจติ รวม 112 สูตร และสุตตนิบาต ชุมนุมพระสูตรซึ่งเป็นคาถาล้วน รวม 71สูตร

      เล่มที่ 26 คัมภีร์ย่อย 4 คัมภีร์ เป็นบทประพันธ์ คือ วิมานวัตถุ ว่าด้วยการทำดีของผู้เกิดในสวรรค์มี 85 เรื่อง, เปตวัตถุ ว่าด้วยกรรมชั่วในอดีต 51 เรื่อง, เถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระอรหันตเถระ 264 รูปกล่าวด้วยความรู้สึก งบประณีตในการบรรลุธรรม และเถรีคาถา คาถาพระอรหันตเถรี 73 รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น

      เล่มที่ 27 (ภาค 1) รวมคาถาที่พระพุทธองค์ตรัสเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นบ้าง ตั้งแต่เอกนิบาต-จัตตาฬีสนิบาต รวม 525 เรื่อง

      เล่มที่ 28 (ภาค 2) รวมคาถาตั้งแต่ปัญญาสนิบาต เรื่องมี 50 คาถา จนถึงมหานิบาตเรื่องมีคาถามากมาย 1,000 คาถา และจบด้วยมหาเวสันดรชาดก

      เล่มที่ 29 มหานิเทส ว่าด้วยภาษิตของพระสารีบุตร ซึ่งอธิบายความพระสูตร 16 สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาตให้ชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย

     เล่มที่ 30 จูฬนิเทส ว่าด้วยภาษิตของพระสารีบุตร ซึ่งอธิบายขยายความของพระสูตร 16สูตร ในปรายนวรรคและขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรคแห่งสุตตนิบาต

    เล่มที่ 31 ปฏิสัมภิทาวรรค ว่าด้วยภาษิตของพระสารีบุตร อธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้ง เช่น ญาณ ทิฏฐิ อินทรีย์ เป็นต้น อย่างพิศดาร

      เล่มที่ 32 อปทาน (ภาค 1) คาถาที่แสดงประวัติพระอรหันต์ในอดีตชาติ เริ่มด้วยประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า ประวัติของพระอรหันตเถระ เริ่มจากพระสารีบุตร พระอานนท์ เป็นต้น รวม 420 รูป

     เล่มที่ 33 อปทาน (ภาค 2) คาถาแสดงประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ 540 จากนั้นก็เป็นเถรีอปทานซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี 40 เรื่อง เริ่มต้นด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม 16 รูป จนถึงพระเถรีที่สำคัญและท่านอื่น ๆ อีกจนจบ ตอนท้ายต่อด้วยคัมภีร์พุทธวงศ์ เป็นคาถาแสดงเรื่องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต 24 องค์ รวมพระองค์เองเป็น 25 พระองค์


พระอภิธรรมปิฎก (สํ  วิ ธา ปุ ก ย ป)
     พระอภิธรรมปิฎก คือ ประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นเนื้อหาวิชาการล้วน ๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคล หรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น 7 คัมภีร์ มี 12 เล่ม คือ

    เล่มที่ 34 ธัมมสังคณี แสดงบทสรุปธรรมที่เป็นชุด ๆ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรม, และจัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม และอสังขตธรรม รวมทั้งหมด 164 ชุด หรือมาติกา

   เล่มที่ 35 วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญขึ้นอธิบาย และวินิจฉัยให้เห็นทุกแง่ รวมทั้งหมด 18 เรื่อง และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่าง ๆ

    เล่มที่ 36 ธาตุกถาและปุคคลบัญญัติ ธาตุกถานำข้อธรรมในมาติกาและข้อธรรมอื่น ๆ 125 อย่างมาจัดเข้าในขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 ว่าข้อใดจัดเข้าได้หรือไม่ได้ส่วนบุคคลบัญญัติเป็นการบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่าง ๆ ตามคุณธรรม เช่น พระโสดาบัน เป็นต้น

    เล่มที่ 37 กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติ เถระ ประธานสังคายนาครั้งที่ 3 รจนาขึ้นเพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น เช่น ความเห็นว่าพระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตผลได้ เป็นต้น มีทั้งหมด 219 คาถา

     เล่มที่ 38 ยมก (ภาค 1) คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจนและทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ ๆ เช่น ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงเป็นกุศลมูล เป็นกุศล เป็นต้น หลักธรรมในเล่มนี้มี 7 คือ มูล ขันธ์ อายตนะ ธาตุสัจจะสังขาร และอนุสัย มีทั้งหมด 7 ยมก

     เล่มที่ 39 ยมก (ภาค 2) เป็นการถามตอบ อธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาคแรก 3 เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก และอินทริยยมก รวมเป็น 10 ยมก

     เล่มที่ 40 ปัฎฐาน (ภาค 1) คัมภีร์นี้อธิบายปัจจัย 24 โดยพิสดาร เป็นการปูพื้นความเข้าใจก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน

     เล่มที่ 41 ปัฎฐาน (ภาค 2) อนุโลมติกปัฎฐาน ต่อ คือการอธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด 3 ต่อจากเล่มที่ผ่านมา

     เล่มที่ 42 ปัฏฐาน (ภาค 3) อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด 2 เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม เป็นต้น

      เล่มที่ 43 ปัฏฐาน (ภาค 4) อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อจากเล่มที่แล้ว โดยมีการอธิบายเนื้อหาเช่นเดียวกัน

     เล่มที่ 44 ปัฏฐาน (ภาค 5) อนุโลมปัฏฐาน แต่เป็นการอธิบายความเป็นปัจจัยแก่กัน แห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่าง ๆ ข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วย อนุโลมทุกติกปัฏฐานอนุโลมติกทุกปัฏฐาน อนุโลมติกติกปัฏฐาน และอนุโลมทุกทุกปัฏฐาน

     เล่มที่ 45 ปัฏฐาน (ภาค 6) เป็นปัจจนียปัฏฐาน คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อน ๆ แต่อธิบายในแง่ปฏิเสธ แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรม ธรรมบทที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เป็นต้น


พระไตรปิฎกและอรรถกถา (ตามลำดับคัมภีร์)
    อรรถกถา คือ คำอธิบายและคำตอบที่สำคัญของพระพุทธองค์และคณาจารย์ ซึ่งสาวกรุ่นต่อมาได้ทรงจำ และถ่ายทอดคู่กับหลักธรรมวินัยที่เป็นแม่บท เมื่อสังคายนาพระไตรปิฎกคำอธิบายเหล่านั้นก็ต้องจัดตามลำดับพระไตรปิฎกด้วย เนื่องจากการทรงจำพระไตรปิฎกด้วยมุขปาฐะมาคู่กับการทรงจำอรรถกถา ซึ่งอรรถกถาได้รับมาในภาษาสิงหล ต่อมาพระพุทธโฆษาจารย์ได้เดินทางไปแปลเรียบเรียงกลับมาเป็นภาษามคธอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0042015830675761 Mins