กัณฑ์ที่ ๐๘ พระปรมัตถ์ อกุศลจิต

วันที่ 17 มค. พ.ศ.2561

กัณฑ์ที่ ๐๘
พระปรมัตถ์ อกุศลจิต

มรดกธรรม , พระมงคลเทพมุนี , ประวัติย่อ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี , สด จนฺทสโร , หลวงปู่วัดปากน้ำ , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , สด มีแก้วน้อย , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , วัดปากน้ำ , ธรรมกาย , วัดพระธรรมกาย , สมาธิ , กัณฑ์ , ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด , คำสอนหลวงปู่ , หลวงพ่อสดเทศน์ , เทศนาหลวงพ่อสด , พระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี , พระผู้ปราบมาร , ต้นธาตุต้นธรรม , พระเป็น , อานุภาพหลวงพ่อสด , เทปบันทึกเสียงหลวงพ่อวัดปากน้ำ , พระของขวัญ , พระปรมัตถ์ อกุศลจิต , กัณฑ์ที่ ๐๘ พระปรมัตถ์ อกุศลจิต

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ ( ๓ ครั้ง)
ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา     จตุธา ปรมตฺถโต
           จิตฺตํ เจตสิกํ รูปํ              นิพฺพานมิติ สพฺพถาติ ฯ

                ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักได้แสดงธรรมิกถา แก้ด้วยปรมัตถเทศนา ซึ่งมีมาในพระปรมัตถปิฏก ยกอุเทศในเบื้องต้นขึ้นแสดงก่อน เพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์แนะนำแก่ท่านทั้งหลายสืบไปเป็นลำดับ ๆ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา

                 เริ่มต้นแห่งปรมัตถปิฏกนี้ว่า   ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺมตฺถา ในพระอภิธรรมปิฏกนั้นกล่าวโดยความประสงค์แล้ว ถ้าจะกล่าวโดยอรรถอันลึกซึ้งโดยปรมัตถ์ก็จัดเป็น ๔ ประการ จิต๑ เจตสิก๑  รูป๑ นิพพาน๑ ๔ ประการเท่านี้ พระพุทธศาสนามีปิฏก ๓ คือ วินัยปิฏก สุตตันตปิฏก ปรมัตถปิฏก ที่ท่านทั้งหลายได้เคยสดับตรับฟังแล้วโดยมาก ในพระวินัยบ้าง พระสูติบ้าง ในพระปรมัตถ์ไม่ค่อยจะได้ฟังนัก วันนี้จะแสดงในพระปรมัตถปิฏก เพราะเวลานี้วัดปากน้ำกำลังเล่าเรียนพระปรมัตถปิฏกอยู่ ควรจะฟังพระปรมัตถปิฏกนี้ให้ชำนิชำนาญให้เข้าเนื้อเข้าใจ จะได้จำไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ เป็นธรรมอันพระพุทธเจ้าทรงตรัส

          ในเริ่มแรกเริ่มเบื้องต้นทรงตรัสในดาวดึงส์เทวโลก ได้ทรงตรัสพระปรมัตถปิฏกนี้สนองคุณพระพุทธมารดา และแก่หมู่เทพเจ้าทั้งหลาย ที่พากันมาสดับตรับฟัง ทรงตรัสอยู่ถ้วนไตรมาส ๓ เดือน เมื่อเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงแสดงพุทธนิมิตให้ตรัสพระอภิธรรมปิฏก พระบรมครูทรงไปแสวงอาหารบิณฑบาตในอุตรกุรุทวีป ไปฉันในป่าหิมพานต์ พระสารีบุตรเถรเจ้าไปปฏิบัติสมเด็จพระพุทธเจ้าทุก ๆ วัน แล้วพระองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฏกนั้นแก่พระสารีบุตร พระสารีบุตรก็นำเอาพระอภิธรรมปิฏกนั้นแก่พระสารีบุตร พระสารีบุตรก็นำเอาพระอภิธรรมปิฏกนั้นมาแก่มนุษย์ มนุษย์ทั้งหลายจึงได้สดับฟัง

                  เมื่อพระองค์ทรงตรัสเทศนาจบพระปรมัตถปิฏกแล้ว     เสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกที่เมืองกัสนคร ในคราวนั้นพระองค์ทรงเปิดโลกให้สัตว์นรก เทวดา มนุษย์ เห็นกันและกันพร้อม เห็นปรากฏเป็นมหัศจรรย์ ในครั้งนั้นพระพุทธาภินิหารเป็นมหัศจรรย์ สรรพสัตว์เหล่านั้นตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอยากเป็นพระพุทธเจ้า จนกระทั่งมดดำมดแดงอยากเป็นพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้น อันนี้เป็นความมหัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนั้นที่ท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับในเนื้อความของปรมัตถปิฏก ณ เวลานี้ นัลว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ดังจะแสดงต่อไป

                   ตามวาระพระบาลีที่ได้ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นว่า

ตตฺถ วุตฺตาภิธมฺ มตฺถา        จตุธา  ปรมตฺถโต
จิตฺตํ  เจตสิกํ  รูปํ            นิพฺพานมิติ สพิถาติฯ

                แปลว่า  เนื้อความในพระปรมัตถปิฏกนั้น   ถ้าจะกล่าวโดยเนื้ออันยิ่งใหญ่แล้ว   กล่าวโดยปรมัตถ์ จัดเป็น ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพาน ๔ ประการนี้เท่านั้นเรียกว่าพระปรมัตถปิฏก เป็นเนื้อความของพระปรมัตถปิฏกทีเดียว จำไว้ให้มั่น จิตถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๒๘ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิกถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๕๒ ดวงนี่ส่วนเจตสิก รูปถ้าจำแนกแยกออกไปมีถึง ๒๘ รูป มหาภูตรูป ๔ อุปาทยรูป ๒๕ รวมเป็น ๒๘ นิพพานแยกออกไปเป็น ๓ คือ กิเลสนิพพาน ขันธนิพพาน ธาตุนิพพาน นิพพานแยกเป็น ๓ ดังนี้

                 วันนี้ได้แสดงในเรื่องจิตเป็นลำดับ จิต ๘๙ ดวง หรือจิต ๑๒๑ ดวง ท่านจัดไว้ดังนี้ อกุศลจิต ๒๑ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง กามาวจรจิต ๒๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจิต ๑๒ ดวง และโลกุตรจิต ๘ ดวง นี้เป็นจิต ๘๙ ดวง จำไว้เสียให้มั่นคือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ๑๘ กับ ๑๒ รวมกันเป็น ๓๐ กามาวจร ๒๔ รวมกันเข้าเป็น ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ รวมกันเข้าเป็น ๖๙ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ รวมกันเข้าเป็น ๘๑ ดวง โลกุตรจิต ๘ ดวง รวมเข้าเป็น ๘๙ ดวง ดังนี้

               นี่โดยย่อ ถ้าโดยพิสดารต้องแยกโลกุตรจิตออก ยกฌานขึ้นรับรองจิตทั้ง ๘ ดวงนี้ คงเหลือจิต ๘๑ ดวง จิต ๘๙ ดวงยกเอา ดลกุตรจิต ๘ ดวงออกเสีย ยกฌานทั้ง ๕ ขึ้นเป็นที่ตั้ง จิตเดินในฌานทั้ง ๕ นั้นฌานละ ๘ ดวง คูณกับ ๕ เป็น ๔๐ ดวง จิต ๘๑ ดวงเป็นโลกีย์จิต ยกเอาโลกุตรจิต ๔๐ ดวงมาบวกกันเข้า ก็รวมเป็นจิต ๑๒๑ ดวง ก็จิต ๘๑ ดวงนั่นเอง แต่ว่ายกเอากุตรจิต ๘ ดวงนั้นแยกพิสดารออกไปตามฌานทั้ง ๕ ก็เป็น ๑๒๑ ดวง นี่เรารู้จักแล้วว่าจิตมีเพียงเท่านี้ จะชี้แจงแสดงจิตเป็นลำดับไป ให้จำไว้เป็นหลักเป็นประธาน

               ต่อไปนี้จะแสดงคัมภีร์ปรมัตถ์ที่เป็นหลักเป็นประธานให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว เพราะเป็นเนื้อธรรมจริง ๆ ที่เราได้ยินได้ฟังเข้าเนื้อเข้าใจแล้วนั้นยังไม่ถึงเนื้อธรรม เมื่อถึงจิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงละ จงตั้งอกตั้งใจยากไม่ใช่เป็นของง่ายเป็นของละเอียดด้วยไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย ไม่ใช่อยู่กับคนที่มีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ต้องมีกิเลสบางปัญญาละเอียดทีเดียวจึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าได้ ถ้าจะเทียบละก็ต้องมีเข็มเล็ก ๆ เส้นดาย เล็ก ๆ เย็บตะเข็บผ้าจึงจะลพเอียดได้ถ้าเข็มโตไปด้ายเส้นโตจะเย็บตะเข็บผ้าให้เล็กลงไปไม่ได้ฉันใดก็ดี ปรมัตถปิฏกเป็นของละเอียด ต้องปัญญาละเอียดไปตามกันจึงจะฟังเข้าเนื้อเข้าใจ เหตุนั้นจงตั้งใจฟังให้ดี

                 ในอกุศลจิต ๒๑ ดวงนี้นั้นแบ่งออกเป็น ๓ จำพวก โลภมูลความโลภมี ๘ ดวง โทสมูลความโกรธมี ๒ ดวง โมหมูล ความหลังมี ๒ ดวง ๘ กับ ๔ รวมเป็น ๑๒ ดวง นี้อกุศลจิต อกุศลจิตนี้แหละทั้งสากลโลก ภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ที่จะทำความชั่วร้ายไม่ดีไม่งามก็เพราะอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้แหละ ไม่ใช่ทำด้วยอย่างอื่นเลย ทำด้วยอกุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ทั้งนั้น ทำชั่วนะ เราต้องรู้ตัวเสียให้เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว คำว่าเรียกว่าจิตนั้นมันเป็นดวง ที่จะจัดนี้มีถึง ๑๒ ดวง ดังนี้คือจิตโลภ จัดเป็น ๘ ดวง

                จิตที่เกิดพร้อมด้วยความยินดีมาก   ที่ประกอบด้วยความยินดีมากประกอบด้วยความเห็นผิดและเกิดขึ้นตามลำพังนี่ดวงที่ ๑

               จิตประกกอบด้วยความยินดีมาก  ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้น หรือชักจูงนี้ ดวง๑

                จิตประกอบด้วยความยินดีมาก    ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด    เกิดขึ้นโดยลำพังนี้ ดวง ๑ นี้ดวงที่ ๓

              จิตประกอบด้วยความยินดีมาก    ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด    และเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้น หรือชักจูง นี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๕

             จิตที่เกิดประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ ประกอบด้วยความเห็นผิด  เกิดขึ้นโดยลำพังนี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๕

             จิตที่ประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ    ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูงดวงนี้ ๑ เป็นดวงที่ ๖

              จิตที่ประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ    ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยลำพังนี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๗

              จิตที่ประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ    ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูงนี้ดวง ๑ เป็นดวงที่ ๘

              นี้ชั้นหนึ่ง ๘ ดวงนี้เป็นส่วนโลภะความอยาก  จิตโกรธ จัดเป็น ๒ ดวง  จิตโกรธเกิดขึ้นตามลำพัง ๑ ดวง  จิตโกรธเกิดขึ้น โดยถูกกระตุ้น หรือชักจูง นี้ดวง ๑ จิตหลง ก็มี ๒ ดวง  จิตหลงเกิดขึ้นโดยความสงสัย ดวง ๑ จิตหลงเกิดขึ้น โดยความฟุ้งซ่านดวง ๑  รวมเป็น ๑๒ ดวงด้วยกันนี้เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านี้ ฟังยากไหมล่ะ ยากจริง ๆ ไม่เข้าเนื้อเข้าใจทีเดียว ฟังเหมือนบุรุษคนหนึ่งนั่งกินข้าวอยู่ทีละคำ ๆ มันก็อิ่มเป็นลำดับขึ้นไป บุรุษคนที่หนึ่งนั่งกินลมอยู่เป็นคำ ๆ เข้าไป พอเลิกแล้วไม่อิ่มสักนิด อ้ายกินข้าวกินลมมันลึกซึ้งอย่างนี้จริงไหม นี้ฟังเรื่องปรมัตถ์เหมือนกินลม ไม่มีเนื้อมีหนังเลย ไม่อิ่มไม่ออกเลยทีเดียว เห็นไหมล่ะ  แต่รสชาดอัศจรรย์นักนะ อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจฟัง

           จิตดวงที่ ๑ ประกอบด้วยความยินดีมาก จิตดวงนี้เกิดขึ้นประกอบด้วยความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ต้องอย่างนี้ล่ะจึงจะมีรส ค่อยมีรสหน่อย เราจะต้องพินิจพิจารณา หากว่าจิตของเราเองมันเกิดขึ้นมีความยินดีมาก ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นตามลำพัง เออ อ้ายประกอบด้วยความเห็นผิดน่ะเห็นอย่างไร ? ลักษณะเห็นผิดน่ะเหมือนเรายินดีมากในสิ่งที่ผิด เมื่อเราเห็นทรัพย์เข้าก้อนหนึ่ง ไม่ใช่ของเรามันเป็นของเขา ก็รู้เหมือนว่ามันเป็นของเขาแต่มันอยากได้เหลือทน ทรัพย์ก้อนนั้นมันใหญ่พอประมาณอยู่ ถ้าได้เข้าแล้วมันเลี้ยงชีพได้ตลอดสาย นับเป็นล้าน ๆ หรือนับเป็น แสน ๆ ทีเดียว เมื่อไปเห็นทรัพย์เข้าเช่นนั้นแล้ว เราไม่คิดไว้เลยว่าจะเอาทรัพย์ก้อนนั้น หรือจะขโมยหรือจะลักเขาไม่ได้คิดเลย พอไปเห็นทรัพย์ก้อนนั้นเข้าในที่ที่เขาควรจะได้เจ้าของเผลอพอเห็นทรัพย์เข้าเท่านั้นใจมันปลาบปลื้มยินดีปล่อยชีวิตจิตใจทีเดียวอย่างนี้ ความยินดีมากมันเกิดขึ้นเองแล้ว จิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความเห็นผิดความยินดีมากนั่นแหละ นี่ทรัพย์ก้อนนี้เราหยิบเอาเสีย ธนบัตรสักแสนหนึ่งไม่เท่าไหร่ ถ้าใบละหมื่นก็ ๑๐ ใบเท่านั้น ใบละพันก็ ๑๐๐ ใบเท่านั้น เป็นแสนหนึ่งเสียแล้ว เอ นี่จะเอาหรือไม่เอา นี่ความผิดเกิดขึ้น เอาได้เราก็รวย พอเห็นผิดเกิดขึ้นเช่นนั้นไม่ต้องมีใครชักชวนกระตุ้นก็คว้าเอาทรัพย์ของเขาเข้าทีเดียว คว้าทีเดียวซ่อนทีเดียว ทำสำเร็จความปรารถนาของตัวแล้วเอาไปได้สำเร็จสมเจตนาด้วย และไม่มีใครรู้ใครเห็นด้วย ทำสนิททีเดียว นี่แหละจิตดวงนั้นแหละที่เกิดขึ้นประกอบด้วยความเห็นผิดความยินดีมาก และประกอบด้วยความเห็นผิดด้วย มันเห็นว่าของเขาไม่ใช่ของเรานี่มันลักของเขานี้ไม่ผิดอย่างไรเล่า มันก็ผิดนะซี่ เกิดขึ้นตามลำพังของตัวไม่มีใครกระตุ้น หรือชักจูงไม่ว่าในป่าหรือในที่ลับใด ๆ หรือในที่มืด ใด ๆ ก็ตามเถอะ เอาทรัพย์ของเขามาได้สมเจตนา ไม่แต่เพียงแสนหนึ่งนะ สตางค์หนึ่งก็ดี สองสตางค์ก็ดี ถ้าว่าเป็นของเขาละก็แบบเดียวกันอย่างนี้ทั้งหมด ถ้าว่าจิตเกิดขึ้นโดยความยินดีเช่นนั้น ถือเอาของเขามาเข่นนั้นนี่แหละโลภมูลดวงหนึ่ง นี่เป็นดวงต้น เกิดขึ้นเป็นอกุศลทีเดียว เราต้องไปนรกแน่ต้องไปรับทุกข์แน่ เชื้อจิจดวงนี้ต้องได้รับทุกข์แน่รับบาปแน่ทีเดียว นี่ที่จะทำบาปลงไปชัดๆ มันปรากฏแก่ตนดังนี้ นี่ดวงหนึ่ง

              ดวงที่ ๒ ต่อไป จิตประกอบด้วยความยินดีมาก และเห็นผิดอีกเหมือนกัน คือประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นชักจูง คราวนี้เป็นทองคำเข้าขั้นหนึ่ง หรือไปเห็นสายสร้อยเข้าเส้นหนึ่ง ราคานับแสนทีเดียว โดยเป็นของหลวงด้วย ราคานับแสน ๆ ไม่ใช่ของราษฎร์ แต่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดเอามาซ่อนไว้ไปเห็นเข้า หรือตกหล่นอยู่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามเถอะ ไปเห็นเข้า รู้ทีเดียวนี้ไม่ใช่ของธรรมดา ราคามากทีเดียว เมื่อไปเห็นเข้าเช่นนั้นไม่กล้าเพราะรู้ว่าเป็นของหลวง มันไม่กล้าลักของหลวง กลัวติดคุกติดตารางขึ้นมาเสียแล้ว ก็มากระซิบกับเพื่อนกัน เออ ข้าไปพบของสำคัญไว้ที่นั่นแน่ะข้าไปพบเข้าแล้วจะทำอย่างไร อ้ายเพื่อนก็ว่าทำไมไม่เอาเสียล่ะ เพื่อนกระตุ้นเข้าแล้วว่าทำไมไม่เอาเสียล่ะ พอว่าเท่านั้นแหละก็แผล็บไปเอามาสมความปรารถนา นี่ถูกกระตุ้น หรือชักจูงเข้าแล้ว  ไปเอาของของเขามาแล้วโดนอกุศลเข้าอีกดวงหนึ่ง นี่เป็นอกุศลสำคัญ นี้แหละเป็นโลภมูลเกิดจากความโลภเป็นอกุศลร้ายกาจอย่างหนึ่งนี้หนา นี้ว่าถึงลักขโมย ไม่ใช่ลักไม่ใช่ขโมยอย่างเดียว ที่ชั่วละก็ทั้งนั้นแหละ แบบเดียวกันชักตัวอย่างให้เข้าใจว่าดวงจิตดวงนี้มันเป็นอย่างนั้น ให้รู้จักหลักนี้

                ดวงที่ ๓ จิตประกอบด้วยยินดีมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นตามลำพังยินดีมากเมื่อไปเห็นสิ่งของของคนอื่นที่มีค่าเข้าที่มีค่ามาก จะเป็นเงินเป็นทอง หรือแก้วแหวนชนิดใด ๆ หรือผ้านุ่งผ้าห่มชนิด ๆ ก็ตามเถอะ เป็นวัตถุชนิดหนึ่งชนิดใดใช้ได้จนกระทั่งสตางค์เดียวก็ใช้ได้ ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อไปเห็นเข้าแล้วก็รู้ว่าของนี่เจ้าของพิทักษ์รักษาอยู่เขาดูแลอยู่ เราไปพบทองเข้าหนักขนาดพันบาท นี่ก็มากอยู่นักขนาดพันบาทแต่ว่าทองนี้ถ้าเราเอาไปได้เราก็ใช้ได้นาน ลงทุนลงรอนได้ ถ้าเราเอาไปไม่ได้เราก็จนอยู่แค่นี้ ถ้าเราเอาไปได้ละก็ตั้งเนื้อตั้งตัวได้เชียว ถ้าหากเขาจับเราได้ก็ต้องเข้าคุกเข้าตารางไป ถ้าเขาจับเราไม่ได้ล่ะเราก็ตั้งเนื้อตั้งตัวได้  แต่ว่าไม่มีความเห็นผิดอะไร เห็นว่าถ้าเราเอาไปได้ก็เป็นประโยชน์แก่เรา เราจะไม่เอาไปก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เรา เข้าใจว่าจะหลบหลีกพ้น แต่เราต้องได้รับผลชั่วเพราะเราขโมยเขาจะไปทำอย่างไรได้ ก็มันจนนี่ก็ต้องขอไปทีสิ คว้าทองนั้นเข้าก้อนหนึ่งโดยความอยากจนมาเป็นของตัวแล้วไม่มีใครกระตุ้น หรือชักจูงเลย คิดตกลงในใจของตัวเอง เอาของเขาไปดังนี้ แล้วก็รู้ด้วยว่าเป็นบาปเป็นกรรมเป็นอกุศลเป็นโทษ เห็นก็ไม่ใช่เห็นผิด เห็นถูกนี่แหละเห็นว่าเป็นบาปเป็นโทษแต่ว่ามันจนเต็มที่ มันก็ต้องขอไปที ใจกล้าหน้าด้านเอาทีหนึ่ง มันก็เป็นอกุศลจิตเหมือนกัน อกุศลอีกนั่นแหละลักขโมยเขาไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เห็นถูก นี่เป็นจิตอีกดวงหนึ่งดวงที่ ๓

            ดวงที่ ๔ ก็แบบเดียวกันอย่างนั้นอีก  จิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดความอยากมาก ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด แบบเดียวกับเห็นทองนั้นแหละ เกิดขึ้นโดยถูกกระตุ้นหรือชักจูง ทีนี้เราเห็นเพชรสักเม็ดหนึ่งราคานับล้านแต่ไม่ใช่ของเราแบบเดียวกัน เมื่อไปเห็นเพชรเข้าเช่นนั้นแล้วจะตกลงใจอย่างไรล่ะราคามันมากขนาดนี้เมื่อไหร่จะพบกันล่ะ แต่ยังไม่กล้าที่จะเอาเพชรเม็ดนั้นด้วยกลัวเกรงอันตราย หรือกลัวติดคุกติดตาราง นำเอาเรื่องพวกนั้นไปบอกเพื่อน ๆ พวกเพื่อน ๆ ก็บอกว่าทำไมจึงไม่เอา เอ็งนี่มันโง่เกินโง่อย่างนี้นี่ พอเพื่อนว่าเข้าเท่านั้นก็ไปลักเพชรเม็ดนั้นได้สมความปรารถนา เอาไปเก็บไว้สมเจตนาของตน นี้ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงเป็นจิตดวงที่ ๔ สี่ดวงนี้เป็นโลภมูลทั้งนั้น โลภมูลอีกสี่ดวงต่อมา เป็นแปดดวง

              ดวงที่ ๕ จิตที่เดกิขึ้นประกอบด้วยความยินดีพอประมาณ แต่ว่าประกอบด้วยความเห็นผิด เกิดขึ้นตามลำพัง จิตดวงนี้เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณ ไม่มีความยินดีมากมายใหญ่โตนัก ได้ก็เอาไม่ได้ก็แล้วไป พอสมควรแต่ว่ากิริยาแบบเดียวกัน นี่เป็นจิตดวงที่ ๕

                 ดวงที่ ๖ จิตที่เกิดขึ้นด้วยความยินดีพอประมาณแบบเดียวกัน และประกอบด้วยความเห็นผิดต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูงจึงจะสำเร็จสมความปรารถนา ก็แบบเดียวกันอย่างที่ได้อธิบายมาแล้ว แต่ว่ามันไม่ยินดีมากนัก ดวงก่อนยินดีมาก ดวงหลังยินดีพอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นเพราะความอยากได้พอประมาณเช่นไปเห็นทองหรือเพชรดังกล่าวแล้วแบบเดียวกัน ต้องมีผู้กระตุ้น หรือชักจูง จึงจะสำเร็จความปรารถนานี้เป็นดวงที่ ๖

                ดวงที่ ๗  จิตที่อยากได้พอประมาณ  จิตที่เกิดขึ้นมีความอยากได้พอประมาณแต่ว่า ไม่มีความเห็นผิดเกิดขึ้นโดยลำพัง ก็แบบเดียวกันดังอธิบายมาก่อน นี่เป็นดวงที่ ๗

                   ดวงที่ ๘ จิตที่อยากได้พอประมาณ จิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความอยากได้พอประมาณ ไม่มีความเป็นผิดแต่ต้องมีผู้กระตุ้นหรือชักจูง จึงจะสำเร็จสมความปรารถนาแบบเดียวกันนั่นแหละนี่เป็นดวงที่ ๘

                 จิต ๔ ดวงก่อนกับ ๔ ดวงหลังไม่ได้ต่างจากกัน     สี่ดวงก่อนจิตที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความอยากมากยินดีมากสี่ดวงหลังนี่ยินดีพอประมาณเท่านั้น เมื่อรู้จักจิต ๘ ดวงนี้แล้วมันก็อยู่ในตัวของเรานี่เอง เกิดขึ้นแก่เราเอง เราเคยพบมานี่อ้ายพวกนี้ เคยพบเคยปะอยู่บ้างแต่ว่าเราไม่รู้จักมัน วันนี้เราจะรู้จักมันละ พอมีรสบ้าง แต่ว่ายังมีรสน้อยเต็มที่ กว้างกว่านี้ยังจะมีรสมากกว่านี้อีก แต่ว่าให้รู้จักเสียชั้นหนึ่งก่อนโดยย่อ

                   จิตที่เป็นอกุศลจิตโทสะ มี ๒ ดวง

                 จิตโทสะดวงที่ ๑ เกิดขึ้นโดยลำพัง อ้ายนี่กุศลจิตเกิดขึ้นโดยลำพังมันเป็นอย่างไร อกุศลจิตเกิดขึ้นโดยลำพัง เช่นเราไปสถานที่ใด ๆ ก็ช่าง อยู่ในบ้านก็ช่าง ไม่มีใครชักจูงไม่มีอะไรทั้งหมด ใจมันโกรธจิตดวงนี้เป็นจิตโกรธ มันโกรธขึ้นไม่มีใครทำอะไรเลย อยู่ดี ๆ มันก็จะพลุ่งพล่านโกรธขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครว่าไม่มีใครทำอะไรทั้งหมด โกรธขึ้นมาอย่างมีอาการต่าง ๆ ใครจะพูดกระทบกระเทียบเข้านิด ๆ หน่อยไม่ได้ก็แปลบ ๆ ขึ้นมาทีเดียว นั่นมันเรื่องอะไร ไม่มีใครรู้เรื่องของตัวเลย มันโกรธอยู่ในใจอย่างนั้นแหละ นี่โกรธขึ้นโดยลำพังไม่มีใครชักจูง ไม่มีว่ากล่างกระทบกระเทียบเลย มันเกิดขึ้นมันพลุ่งพล่านอยู่ภายในของตัวเอง อ้ายนี่แหละที่เรียกว่า โทสจริต นี่แหละโทสจริตมันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ เกิดขึ้นโดยลำพัง

               จิตโทสะดวงที่ ๒ มันเกิดขึ้นโดยมีคนชักจูงหรือกระตุ้นกระเตือนมีคนชักจูงหรือกระตุ้นขึ้น อ้ายนั่นมันยั่วให้โกรธนะซี สามียั่วให้ภรรยาโกรธบ้าง หรือชาวบ้านยั่วให้โกรธบ้าง คนโน้นคนนี้ยั่วให้โกรธบ้าง ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพังมีคนยั่วให้โกรธ เอารูปที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอาเสียงที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอากลิ่นที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง เอารสที่ไม่ชอบใจมายั่วบ้าง ยั่วเข้ามันโกรธน่ะซี นั่นแหละมีผู้กระตุ้น หรือชักจูงให้โกรธ

                  จิตหลงนี่ลึกซึ้งนัก จิตหลง มี ๒ ดวง

               จิตหลงดวงที่ ๑  เกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงใจ  อ้ายนี่สำคัญอยู่  จิตหลงเกิดขึ้นโดยสงสัยลังเลไม่ตกลงในใจ จะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่า ในการครองเรือนของตนก็ดีจะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง หรือไม่ได้ครองเรือนก็ดีจะทำอะไรไม่ตกลงสักอย่าง ลังเลไม่ตกลงใจอย่างนั้นแหละร่ำไป อย่างนี่เขาเรียกว่าจิตหลง จะทำอะไรก็ไม่แน่นอนลงไป เข้าทำราชการก็ไม่แน่นอน แต่จะทำหรือไม่ทำก็ไม่แน่นอน ทำส่วนตัวก็ไม่แน่นอน ทำนาทำไร่ก็ไม่แน่นอนทั้งนั้น ไม่ตกลงใจ ถึงทำกิจการอันหนึ่งอันใดก็ไม่ตกลงในใจทั้งนั้นเมื่อสั่งการงานไม่ตกลงในใจอย่างนี้ มันลังเลอยู่เช่นนี้ มันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็หลงงมงายอยู่เช่นนั้น มันก็ทำอะไรไม่ได้ นี่เขาเรียกว่าจิตหลงมันเกิดขึ้น ลังเลไม่ตกลงในใจ สิ่งใดที่ลังเลไม่ตกลงในใจแล้ว พูดออกไปก็ดี ทำลงไปก็ดี มีผิดกับถูกสองอย่างเท่านั้น ถูกก็มีผิดก็มี เพราะมันลังเลไม่ตกลงในใจเสียแล้ว การที่จิตลังเลไม่ตกลงในใจน่ะ เช่น เรารักษาศีลอย่างนี้แหละ ไปเจอทรัพย์เข้าหรือสัตว์เข้าตัวใหญ่ ๆ ที่ชอบอกชอบใจมีค่ามากเราฆ่าลงไปเป็นอาหารของเราได้นาน เราลักเอาไปก็เป็นอาหารได้นาน แต่เราไม่ตกลงในใจ เราจะรักษาศีลดี หรือรักชีวิตดี จะลักเขาดีหรือจะฆ่าเขาดีหรือจะไม่ลักไม่ฆ่าเขาดีถ้าไม่ลักไม่ฆ่าเขาเราก็อดเราก็จนถ้าลักถ้าฆ่าเขาเราได้เราก็เลิกอดเล็กจน ลังเลไม่ตกลงใจแบบนี้ นี่เขาเรียกว่าจิตหลง มันระคนจิตหลงเข้าคละอยู่ด้วย ถ้าทำลงไปด้วยอำนาจจิตหลงอย่างนั้น ถ้าทำผิดมันก็ผิดไป ถ้าทำถูกมันก็ถูกไป แต่ว่าในที่นี้ประสงค์เอาที่ผิดเพราะว่าเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่กุศลจิตประสงค์ที่ผิดฝ่ายเดียวเรียกว่าลังเลไม่ตกลงในใจนี้ก็เป็นจิตหลงดวง ๑

                 จิตหลงดวงที่ ๒ อาการทำโดยฟุ้งซ่านน่ะ อ้ายนี่มันครึ่งบ้าครึ่งดี ลูกเต้าใกล้เคียงเหวี่ยงปึงลงไปให้ก็ตายเลย กำลังมันไม่สบายอกสบายใจ ทำโดยฟุ้งซ่าน ด้วยหลงเหมือนกัน เหมือนคนทำโดยฟุ้งซ่านทำมันแรงเกินไป ไม่ปรารถนาให้ตายหรอกมันไปตายเข้าก็เลยติดคุก นั่นเพราะทำด้วยจิตฟุ้งซ่าน นี้เป็นจิตหลงดวงที่ ๑ จิตหลง ๒ ดวงนี้สำคัญนัก ต้องคอยระแวดระวังสำคัญอยู่ ไม่ให้ไปทางถูก ให้ไปทางร่ำไป

                 นี้จิต ๑๒ ดวงนี้แหละมันควบคุมเราอยู่ ให้เราไปเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เราตกต่ำเลวทรามลงไปด้วยประการใด ๆ ก็เพราะจิต ๑๒ ดวงนี้เองนี่เอง ต้องควบคุมไว้ให้ดี ต้องเล่าเรียนเสียให้ชัดทีเดียว ถ้าว่าเล่าเรียนเสียให้ชัดแล้ว รู้หน้ารู้ตารู้ขอบรู้เขตของมันแล้ว มันจะข่มเหงเราไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมันเสียแล้ว มันก็จะข่มเหงเราตามชอบใจ ในตัวของเรานี้ไม่ใช่ที่อื่น นี่แหละมันเนื้อหนังปรมัตถ์ทีเดียวฝ่ายความชั่วละ เป็นเนื้อหนังของพระอภิธรรมปิฎกทีเดียว จิต ๑๒ ดวงนี้แหละ

                ที่แสดงวันนี้แสดงแต่เพียง ๑๒ ดวง   เวลาไม่เพียงพอแล้วต่อไปจะแสดงเป็นลำดับไป  อเหตุกจิตกามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต พอหมดเรื่องจิตแล้วละก็จะแสดงรูป ๒๘ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๔ หมดรูปแล้วจะแสดงนิพพาน ให้เข้าเนื้อเข้าใจแตกฉานใน ๔ อย่างให้ได้ เพราะวัดปากน้ำเริ่มลงมือเล่าเรียนกันแล้วใน ๔ อย่างนี้ ภิกษุสามเณรเล่าเรียนกันแล้ว ที่แสดงนี้ก็เป็นอุปการะแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่กำลังเล่าเรียนกันอยู่นี้ กำลังศึกษาอยู่ มีครูสอน พระทิพย์ปริญญาเป็นผู้สอนปรมัตถปิฎกนี้ ผู้สอนปรมัตถ์ไม่ใช่เล่นๆ หนา ๆ ต้องมีภูมิพอ ต้องมีการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษาพอละก็ลูกศิษย์สู้ครูถามกันเจ๊งแน่ทีเดียว ไม่ต้องสงสัยละ เพราะเป็นของลึกซึ้งนัก ถามเจ๊งแน่ถามติดแน่ทีเดียว  เพราะฉะนั้นอุบาสก อุบาสิกาควรตั้งอกตั้งใจศึกษาเถิด ปรมัตปิฎกเป็นเนื้อหนังพุทธศาสนาจริง ๆ ส่วนวินัยปิฎก เป็นข้อห้ามข้อปรามไม่ให้ทำชั่วด้วยกายวาจาเท่านั้น ส่วนสุตตันตปิฎก เป็นสายบรรทัด เป็นตัวอย่างว่าคนนั้นทำอย่างนี้เป็นสุขอย่างนี้ คนนั้นทำดังนี้พ้นจากทุกข์พ้นจากไตรวัฏ ไปสู่นิพพานอย่างนี้นั่นเป็นหน้าที่ของสุตตันตปิฎก ไม่ใช่เนื้อหนังของธรรม ส่วนปรมัตปิฎก นี้เป็นเนื้อหนังของธรรมจริงๆ นะ ที่ดับสูญเสียไม่เกิด ในประเทศไทยเรียนกันแต่เปลือก ๆ ผิว ๆ เป็นแต่กระฟี้ ๆ ไป ก็เพราะมารขวาง กีดกันไว้ ให้ศึกษาเผินไปหมด พุทธศาสนาก็ถล่มทลาย เพราะเนื้อธรรมไม่มีใครรู้แน่แท้ลงไป รู้แต่เปลือกแต่ผิวเสียไปหมด เหตุนี้เราทั้งหลายควรตั้งใจเสียให้ดี ทั้งภิกษุสามเณรจงอุตส่าห์เล่าเรียนปรมัตถคัมภีย์อภิธรรมปิฎกนี้ให้แตกฉานชำนาญเถิด ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธสาสนา

               ที่ได้ชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา  ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทาโสตฺถี ภวนนฺตุ เต ของความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแต่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมาภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแด่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมมิกถา โดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00443221728007 Mins