ตอน 2 ความหมายและความสำคัญไม้แก่นจันทน์เป็นไฉน?

วันที่ 28 พค. พ.ศ.2561

 พระพุทธรูป ภาษาบาลีท่านใช้ว่า พุทฺธรูปํ (พุท-ธะ-รู-ปัง) ซึ่งก็หมายถึงรูปของพระพุทธเจ้า และคนไทยนิยมใช้ทับศัพท์ คือพุทธรูป อย่างภาษาบาลีจนคุ้นชิน ส่วนในอรรถกาหลายแห่งเช่นอรรถกถาปรมัตถโชติกาใช้ พุทฺธปฏิมา หรือ ปฏิมา แต่ ในรตนพิมฺพปกรณกถาท่านใช้คำแปลกออกไปหลายคำเช่น พุทฺธพิมฺพ ชินพิมฺพ  หรือ สมฺพุทฺธพิมฺพ (สมฺพุทฺธ + พิมฺพ) แปลว่า รูปเหมือนพระพุทธเจ้า (พระพุทธรูป) เหมือนกัน อย่างพระแก้วมรกต ท่านใช้คำว่า บาลีว่า “รตนพุทฺธพิมฺพ   ส่วนคำว่า พุทธรูปแก่นจันทน์ ใช้คำว่า จนฺทสารมโย พุทฺธพิมฺโพ หรือ จนฺทสารมยพุทฺธพิมฺโพ (จนฺท+สาร+มย+พุทฺธ+พิมฺโพ) แปลว่า จนฺทน ไม้จันทน์ + สาร แก่น + มย สำเร็จหรือประกอบขึ้น + พุทฺธ พระพุทธเจ้า + พิมฺโพ รูปเหมือน รวมแปลว่า รูปเหมือนพระพุทธเจ้าที่สำเร็จด้วยแก่นไม้จันทน์ Sandalwood Buddha หรือ Lord Buddha statue of sandalwood ภาษาจีน  旃檀佛像 (zhan tan fo xiang),  檀香木佛像 (Tan xiang mu fo xiang)
           เมื่อได้ศัพท์และความหมายจากภาษาบาลีแล้วพอสมควรแล้ว หากมีคำถามว่าทำไมต้องเป็นพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ใช้ไม้อย่างอื่นได้มั๊ย ตอบว่าไม้อะไรก็ได้ที่คงทนแข็งแรงถาวร แต่ที่นิยมใช้ไม้จันทน์เพราะถือเป็นไม้มงคลและมีกลิ่นหอม ไม้จันทน์หรือเรียกว่า ไม้จันทน์หอม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Sandalwood ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Mansonia gagei J. R. Drumm. ex Prain เป็นไม้ที่อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae นอกจากนี้ไม้จันทน์หอมยังมีชื่อสามัญว่า Kalamet และยังมีชื่อเรียกไทยอื่นๆ ด้วย เช่น จันทน์ จันทน์ชะมด จันทน์ขาว และจันทน์พม่า ไม้จันทน์หอมจัดเป็นไม้มงคลและมีค่ามาแต่โบราณเป็นหนึ่งในจตุชาติสุคนธ์ หรือ ของหอมธรรมชาติ 4 อย่างคือ ได้แก่ กลิ่นของกฤษณา กะลำพัก จันทน์ และดอกไม้หอม และยังมีคุณสมบัติว่าเป็นยามาเป็นเวลาหลายพันปี (บรรดาไม้ที่มีรากหอมเขายกย่องกฤษณาว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีแก่นหอมเขายกย่องแก่นจันทน์แดงว่าเป็นเลิศ บรรดาไม้ที่มีดอกหอม เขายกย่องดอกมะลิว่าเป็นเลิศ)

 

 

ในปฐมสมันตปาสาทิกาได้กล่าวถึงสมัยหนึ่งมีรัตนะคือแก้ววิเศษ 8 ชนิดเกิดแก่พระเจ้าเทวานัมปิยดิสพระราชาเกาะลังกาหรือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน พระองค์เป็นพระสหายผู้ไม่เคยเห็นหน้ากันของพระเจ้าอโศก แต่ติดต่อกันทางการส่งข่าวสาร เมื่อมีรัตนะวิเศษเกิดขึ้นพระองค์จึงได้ส่งลำไม้ไผ่แก้วมุกดานั้น ๆ กับรัตนะมากมายอย่างอื่นไปถวาย เพื่อเป็นเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าอโศกธรรมราช และพระเจ้าอโศกได้ส่งเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ เศวตฉัตร 1 แส้จามร (วาลวีชนี) 1 พระขรรค์ 1 รัตนะประดับพระเมาลี (คือ พระอุณหิส ติดพระมหาพิชัยมงกุฏ) 1 ฉลองพระบาท 1 และเครื่องบรรณาการอย่างอื่นหลายชนิด เพื่อประโยชน์แก่การอภิเษกและเครื่องบรรณาการไปมอบถวายหนึ่งในนั้นคือ หริจันทนะ คือแก่นจันทน์แดง


        เรื่องไม้จันทน์มีคุณสมบัติเป็นยานั้นปรากฏในพระวินัยปิฎก  มหาวรรค เภสัชชขันธกะความว่า “พวกภิกษุอาพาธมีความต้องการด้วยเครื่องยาที่จะบดผสมกับยาตา จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ๆ ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตไม้จันทน์ กฤษณา กะลัมพัก ใบเฉียง แห้วหมู.” จะเห็นได้ว่าไม้แก่นจันทน์มีสมบัติเป็นเครื่องปรุงยาหยดตาได้ด้วย


       เกี่ยวกับไม้จันทน์สามารถทำเป็นยา เคยมีเรื่องบาตรปุ่มไม้จันทน์ด้วย ในครั้งสมัยพุทธกาลเศรษฐีคนหนึ่งได้ไม้แก่นจันทน์ที่มีค่ามากมา ก็อยากจะทดลองว่าใครคือพระอรหันต์จริงๆ เพราะมีพวกลัทธิต่างๆ มากมายได้โอ้อวดกันว่าตนเป็นพระอรหันต์ จึงนำปุ่มไม้แก่นจันทน์นี้มา “กลึง” เป็นบาตรแล้วนำไปแขวนไว้ที่ปลายไผ่ระดับความสูง 15 วา และประกาศไปทั่วเมืองว่า “ผู้ใดที่สามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทน์ลงมาได้ ผู้นั้นก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เราและเหล่าครอบครัวจะยึดผู้นั้นเป็นสรณะเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต” ต่อมาบรรดาเจ้าลัทธิหรือเดียรถีย์ที่ชื่อเสียงในสมัยนั้นทั้ง 6 คนมีปูรณกัสสะเป็นต้นต่างก็อยากได้บาตรไม้แก่นจันทน์ จึงพากันแสดงตัวและมาขอบาตรแก่นไม้จันทน์กับเศรษฐี แม้จะใช้อุบายต่างๆ เช่นทำเป็นแสร้งว่าตัวเองเหาะได้แต่ลูกศิษย์ห้ามไว้ก็ไม่สำเร็จ แต่เศรษฐีก็ไม่ยอมให้เช่นกัน 7 วันผ่านไปยังไม่มีใครสามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทน์ลงมาได้ ทำให้ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในโลกนี้คงไม่มีพระอรหันต์แล้ว ในขณะเดียวกัน พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑลภารทวาชะ กำลังออกบิณฑบาตรอยู่ได้ฟังชาวเมืองที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีพระอรหันต์ในโลก ทำให้พระมหาโมคคัลลานะคิดว่าชาวเมืองกำลังดูหมิ่นพระพุทธศาสนา จึงต้องการให้ชาวเมืองได้รับรู้ว่า ในโลกนี้มีพระอรหันต์จริง


              สุดท้ายพระปิณโฑลภารทวาชะก็ได้เหาะขึ้นไปบนอากาศพร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น เหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์ ทั้งเศรษฐีและชาวเมืองเห็นเหตุอัศจรรย์นั้นก็เกิดศรัทธาได้ถวายบาตรไม้แก่นจันทน์ท่านไป เรื่องน่าจะจบแค่นี้แต่ไม่จบเพราะชาวเมืองที่ได้เห็นปาฏิหาริย์อยากจะให้ท่านแสดงให้ดูอีก จึงเกิดเสียงอื้ออึงจนไปถึงพระกรรณของพระพุทธองค์ เมื่อทรงทราบเรื่องราวแล้วก็รับสั่งห้ามพระแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อีกและให้นำบาตรไม้แก่นจันทน์มาบดทำเครื่องปรุงยายอดตา

            เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าจะดับขันธปรินิพพานจุณแห่งจันทน์อันเป็นทิพย์ได้ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคตปรากฏในมหาปรินิพพานสูตรความว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสำเร็จสีหไสยาโดยปรัศว์เบื้องขวา ทรงซ้อนพระบาทด้วยพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ สมัยนั้น ไม้สาละทั้งคู่เผล็ดดอกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้เหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชาพระตถาคต แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงจากอากาศ จุณแห่งจันทน์เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคต เพื่อบูชาพระตถาคต ดนตรีอันเป็นทิพย์เล่า ก็ประโคมอยู่ในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ ก็เป็นไปในอากาศ เพื่อบูชาพระตถาคต" ในคราวนั้นแม้จิตกาธานในอรรถกถาท่านกล่าวว่า เป็นจิตกาธานที่ทำด้วยไม้จันทน์ประดับด้วยรัตนะสองพัน



     ไม้จันทน์เป็นของหอมสูงส่งควรค่าแก่เครื่องบรรณาการ มีความหอมที่พิเศษ มีคุณประโยชน์ มีคุณค่าและมีราคา(สมัยก่อนไม้จันทน์ท่อนขนาดยาว 4 นิ้ว ก็ราคาตั้งแสนแล้ว)อย่างนี้ จึงนิยมมาทำเครื่องบูชาพระรัตนตรัยและทำพระพุทธรูปหรือสร้างผอบที่ทำด้วยไม้จันทน์ใส่พระบรมธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ในพระเจดีย์เพื่อเป็นพุทธบูชาด้วยประการฉะนี้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029815284411112 Mins