วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา

วันที่ 18 มิย. พ.ศ.2563

วิธีแก้กดลูกนัยน์ตา

 

 

 

เห็นดวงใสติดแล้ว

กลางกาย

ตรึกนิ่งอย่าให้หาย

ลูกแก้ว

มองต่ออย่างสบาย

อย่าเพ่ง เลยนา

ดวงจักขยายแพร้ว

พร่างพริ้งแพรวพราย

 

                                                                                               ตะวันธรรม

 

                   ตั้งใจหลับตานั่งสมาธิเจริญภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆพอสบาย ๆ แล้วก็เอาใจหยุดนิ่ง ๆ ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗อย่างสบาย ๆ

 

                 ตรึกนึกเป็นภาพ นึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใส ๆหรือตรึกนึกถึงองค์พระใส ๆ ใจหยุดลงไปในกลางองค์พระใส ๆหรือวางใจนิ่ง ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ให้ใจหยุดนิ่ง ค่อย ๆ วางเบา ๆ สบาย           

   

                แต่ถ้าใครเวลาทำความรู้สึกในท้อง อดจะก้มมองไม่ได้ หรือเหลือบตาลงไปมอง แล้วทำให้มึนศีรษะ ปวดกระบอกตา ทำให้ใจไม่ละเอียด เราก็อาจจะเริ่มต้นจากจุดที่เรารู้สึกสบายก่อนนะ 

 

                  ทางเดินของใจมีตั้ง ๗ ฐาน เราจะเริ่มจากฐานที่ ๑ ปากช่องจมูก หญิงซ้าย ชายขวา ก่อนก็ได้ หรือสบายที่ฐานที่ ๒ ที่หัวตาตรงน้ำตาไหล หญิงซ้าย ชายขวา อย่างนั้นก่อนก็ได้ หรือกลางกั๊กศีรษะ ฐานที่ ๓ ระดับเดียวกับหัวตา หรือเพดานปากฐานที่ ๔ ช่องปากที่อาหารสำลัก หรือปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๕

                 

                 เราสังเกตดูว่า เราวางใจตรงไหนแล้วรู้สึกสบาย ก็เริ่มจากตรงนั้นไปก่อนก็ได้ แต่ต้องให้รู้ว่า เป้าหมายของเราอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เรารู้อย่างนี้ หรือหลับตาแล้วเราก็นิ่ง ๆ ไม่กังวลเรื่องฐานอย่างนี้ไปก่อนก็ได้ แต่ตอนสุดท้าย เมื่อนิ่งแล้วก็จะลงมาที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอง   

                

                แต่เวลาเราลืมตาอยู่ในอิริยาบถอื่นก็ควรจะฝึกทำความคุ้นเคยกับศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ คือ นึกมองไปในกลางท้องโดยไม่ต้องเหลือบนัยน์ตาลงไปดู ลูกนัยน์ตาก็ยังอยู่ที่เดิม เมื่อเราลืมตาให้ทำความรู้สึกอย่างนั้นนะ เพื่อให้ใจเราคุ้นเคยกับฐานที่ ๗

 

               มีข้อสังเกตว่า ถ้าระบบประสาทกล้ามเนื้อมันตึง มันเกร็ง มันเครียด ถ้าอย่างนี้แสดงว่าไม่ถูกวิธีการ ไม่ถูกหลักวิชชา เราก็อย่าไปฝืนทำแต่ไม่ใช่เลิกทำ อย่าไปฝืนทำแบบอย่างนั้นต่อไปแต่อย่าถือโอกาสเลิกนั่งไปเลยก็ไม่ใช่ ให้เริ่มต้นใหม่อย่างง่าย ๆ ตั้งแต่ปิดเปลือกตา ปิดเปลือกตาระดับขนาดไหนรู้สึกสบาย แล้วเราก็เริ่มไล่ฐานลงไป จนไปถึงจุดที่เราพึงพอใจ รู้สึกสบาย ก็อยู่ตรงนั้นไปก่อน แต่ตอนสุดท้ายก็ต้องมาลงที่ฐานที่ ๗ นี่คือแบบฝึกหัดของเรานะ

 

              แล้วข้อสังเกต ซึ่งมันไม่หนีหลักว่า ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ถ้าหย่อนมันจะฟุ้งไปเรื่อยเปื่อย หรือไม่ก็เผลอหลับผล็อยไป ถ้าถูกหลักวิชชาแล้วมันจะนิ่ง เบา สบาย นั่งแล้วไม่เบื่อ เวลาจะหมดไปอย่างรวดเร็ว นั่นคือข้อสังเกตว่า เราทำถูกวิธีการแล้ว ก็ให้รักษาใจที่หยุดนิ่ง ๆ เอาไว้ให้สม่ำเสมอ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องเวลา ภารกิจการงาน หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่นอกเหนือจากนี้

 

               เราฝึกหยุดฝึกนิ่งให้ดีนี่คือสูตรสำเร็จ ต้องหยุดกับนิ่งเฉย ๆจึงจะเข้าถึง หลักก็มีอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้น ที่เรายังเข้าไม่ถึง เพราะยังไม่หยุด หรือหยุดแต่มันยังหยาบอยู่ หยุดแบบกด ๆ แต่ถ้าหยุดอย่างสบาย เพลิน มีความสุข สนุกกับการนั่งสมาธิ อย่างนั้นถึงจะถูกวิธีการ ถูกหลักวิชชา ต้องสังเกต และก็ปรับปรุงให้
อยู่ในภาวะที่สบาย นิ่งอย่างสบาย ใจเย็น ๆ

 

             ผู้ที่ทำไม่ได้ก็มี คนตาย คนบ้า คนที่ไม่ได้ทำ คนบ้าเพราะเขาสูญเสียระบบการรับรู้ไปแล้ว ถ้าคนดี ๆ ไม่มีปัญหาระบบประสาทจิตใจอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ต้องเข้าถึงทุกคนเข้า ไม่ถึงเป็นไม่มีต้องทำเป็นทุกคน เพราะพระธรรมกายท่านก็อยู่ในตัวของเรา มีอยู่แล้ว ท่านอยากจะมาให้เราเห็นใจจะขาดถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้าน คือ พร้อมที่จะให้เราเห็นเสมอ พร้อมที่จะผุดผ่านมากลางกายเรา ดวงใส ๆ ก็เช่นเดียวกัน อยากจะให้เราเห็น แต่เราต้องทำให้เป็น ทำให้ถูกหลักวิชชาอย่างที่ได้กล่าวไว้แล้ว คือ ต้องหยุดนิ่งอย่างสบาย

 

             เราลองฝึกกันดูนะ ฝึกหยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย นึกองค์พระได้ เราก็นึก นึกดวงแก้วได้เราก็นึก นึกแล้วมันตึง หรือนึกไม่ได้ก็ไม่ต้องไปนึก นิ่งอย่างเดียว อย่างสบาย ๆ            

 

            แล้วมือที่วางที่หน้าตักของเรานั้นจะต้องวางพอดี ๆ กล้าม เนื้อทุกส่วนต้องผ่อนคลาย ตั้งแต่ศีรษะเรื่อยไปเลย กระบอกตาหน้าผาก คอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสอง ถึงปลายนิ้วมือ ทั้งตัวของเรา ถึงขาทั้งสอง ถึงปลายนิ้วเท้าให้ผ่อนคลาย

 

           แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ว่าง ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆละมุนละไม ให้ใจใส ๆ วางใจเบา ๆ อย่าชำเลือง หรือเหลือบตาลงไปในท้อง อย่ากดลงไป แค่ทำความรู้สึก เหมือนตอนนี้เรานั่งหันหลังให้มหาวิหารพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี พระผู้ปราบมาร เรายังนึกภาพมหาวิหารได้เลยทั้ง ๆเราหันหน้าตรงกันข้าม หรือเรานึกภาพมหาธรรมกายเจดีย์ มีองค์พระสามแสนองค์เต็มไปหมดเลยอยู่ข้างหน้าเรา เรายังนึก
ได้เลย ถ้าจะนึกภาพต้องนึกอย่างนั้นนะ

 

การเห็นทางตากับการเห็นทางใจ          

 

             การเห็นทางใจจะต่างจากการเห็นด้วยลูกนัยน์ตาตอนแรกคือลูกนัยน์ตาพอลืมตาก็มองเห็นเลย แต่ใจจะค่อย ๆ เห็นแล้วแต่ความคุ้นเคยกับสิ่งนั้น คุ้นเคยมากก็เห็นง่าย ไม่ค่อยคุ้นเคยก็นึกไม่ค่อยออกอะไรอย่างนั้น แต่จะอย่างไรก็ตาม หลักวิชชาก็อยู่ที่หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ

 

         อย่าไปคำนึงถึงความมืด แล้วก็อย่าไปเร่งให้สว่างเร็ว ๆมันมีขั้นตอนของมัน อย่าไปลัดขั้นตอน อย่างนี้ยาก แล้วก็อย่า เอาตัวของเราไปเปรียบเทียบกับเพื่อนกัลยาณมิตรบางท่าน ที่แม้มาใหม่ ๆ พอเขาหลับตา เขาก็นึกถึงดวงหรือองค์พระได้ถ้าดูในปัจจุบันเราจะมีความรู้สึกว่า เราเพิ่งพาเขามา เรามาก่อนเขาด้วยซ้ำแต่ทำไมเขาถึงเห็น ปัจจุบันเราเห็นเพียงแค่นี้แต่ถ้าย้อนหลังไป สาวไปเรื่อย ๆ ในอดีต กว่าที่เขาจะง่าย
ในวันนี้ ก็เคยยากมาก่อนในอดีต แต่เขาทำความเพียรอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เมื่อบุญส่งผล วางใจถูกส่วนถูกหลักวิชชามันก็พรึบขึ้นมาได้ เราจะมองแค่สั้น ๆ ไม่ได้ และที่เราช้ากว่าเขาเพราะที่ผ่านมาในอดีตเราทำผลุบ ๆ โผล่ ๆ ไม่ต่อเนื่อง

 

         เพราะฉะนั้น ชาตินี้เราก็ต้องมาแก้ไขใหม่ ปรับปรุงใหม่แต่มันก็ไม่ใช่ยากมาก ยากพอสู้ แต่ก็ไม่ใช่ง่ายมาก มันก็ง่ายพอดี ๆ ถ้าวางใจได้นิ่ง ๆ ถูกหลักวิชชา มันก็ง่าย ก็จะทำได้

 

         ตอนนี้เราฝึกหยุดนิ่งเบา ๆ สบาย วางใจเบา ๆ นิ่ง ๆเดี๋ยวกายก็จะเบาไปเอง ต้องนิ่ง ๆ สบาย ให้ใจใส ๆ แล้วก็ผ่อนคลายระบบประสาทกล้ามเนื้อ ค่อย ๆ ประคับประคองใจอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด คือ นิ่งเฉย ๆ ไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้

         

           พระเทพญาณมหามุนี

วันอาทิตย์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
                                                                                                โดยคุณครูไม่ใหญ่

             

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01952846844991 Mins