หมั่นทบทวนบุญ

วันที่ 06 สค. พ.ศ.2563

หมั่นทบทวนบุญ

 

 

หยุดนิ่งจึ่งมากล้น

บุญญา

หยุดแค่กะพริบตา

เท่านั้น

สร้างโบสถ์กว่าล้านหา

เทียบได้

หยุดนี่แหละเกินขั้น

ล่วงพ้นกามาวจร

ตะวันธรรม

 

               เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คน ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้ายใหนิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา

 

               แล้วทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ

 

              คราวนี้เราก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ

 

หมวดหมู่แห่งบุญ       

 

              คราวนี้เราก็นึกถึงบุญทุกบุญตั้งแต่ภพในอดีตกระทั่งถึง ปัจจุบันนี้ บุญที่เราทำประจำวัน บุญประจำอาทิตย์ บุญประจำเดือน บุญประจำปี บุญพิเศษที่เราทำตามวาระ เรานึกน้อมทุกๆ บุญเอาไว้ในกลางกาย โดยเฉพาะบุญที่ผ่านมา มหากฐินสามัคคีซึ่งเป็นมหากาลทาน หนึ่งปีมีครั้งเดียว ซึ่งเรายังไม่ลืมเลือนภาพในวันนั้นเลย นำมาซึ่งมหาปีติจนถึงวันนี้ นึกเมื่อไรก็ปลื้ม

 

               ความปลื้มนั้นเป็นทางมาแห่งบุญ ซึ่งเราจะเอามาใช้ในการปฏบัติธรรม โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของชีวิต อะไรที่เราทำวามดีแล้วปลื้ม ภาพนั้นจะแรง จะมาฉายให้เราเห็นอยู่คนเดียวแล้วก็จะทำให้ใจเราเบิกบาน ผ่องใส จะมีชีวิตใหม่ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะฉะนั้นให้นึกทุกบุญเลย โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่เพื่อง่ายในการระลึกนึกถึง

 

              บุญประจำวัน เช่น ใส่บาตรพระ รักษาศีล นั่งธรรมะทุกวันทำการบ้าน*ทุกวัน หรือช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ให้วิทยาทาน ให้ธรรมทาน ให้อภัยทาน ให้สิ่งที่ดีงาม ให้ความรักความปรารถนาดีแก่เพื่อนมนุษย์ ให้รอยยิ้ม เป็นต้น

 

              บุญประจำอาทิตย์ อาทิตย์หนึ่งเราก็มานั่งธรรมะร่วมกัน มาถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน มาฟังธรรม แล้วก็มาสร้างมหาทานบารมีร่วมกันทุกวันอาทิตย์

 

              บุญประจำเดือน อาทิตย์ต้นเดือน เราก็มาบูชาข้าวพระกันไม่เคยขาดเลย มีบุญบูชาข้าวพระ บุญถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน บุญฟังธรรม บุญปฏิบัติธรรม บุญถวายปัจจัยไทยธรรม เป็นต้น

 

              บุญประจำปี เช่น ทอดกฐิน ผ้าป่า มาฆบูชา วิสาขบูชา

 

              บุญพิเศษตามวาระ เช่น บุญหนังสือบ้าง บุญไปปฏิบัติธรรมที่พนาวัฒน์บ้าง บุญถวายยารักษาโรค เป็นต้น

 

              เราก็นึกทุกบุญเลย ให้มารวมกันอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ เป็นดวงบุญใสๆ ใสละเอียดเหมือนกับเพชรต้องแสง หรือใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า หรือใสเหมือนน้ำบ้าง แล้วแต่ความละเอียดของใจเรา เป็นดวงกลมรอบตัว เหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ ใส สว่าง เหมือนดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่ง กว่านั้น ใสเกินใส ดวงใสซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่ปุถุชนจนกระทั่งเป็นพระอริยเจ้าให้บังเกิดขึ้นในกลางกายเรา บางท่านอาจจะนึกว่า อยู่ในกลางองค์พระใสๆ ก็ได้ หรือองค์พระอยู่ในกลางดวงบุญใสๆ ก็ได้ ตรงไหนชัด เราถนัดแบบไหน เราก็เอาตรงนั้น

 

              แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้ปลื้มว่า เราเอาชนะความโลภ ความโกรธ ความหลงมาได้ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นกระแสธารแห่งบุญ มารวมตัวเป็นดวงใสๆ ในกลางกายของเราที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ แล้วก็ตรึกไปด้วยใจที่ใสๆ หน้าที่ยิ้มๆ เบิกบาน

 

             จะประคองใจด้วยคำภาวนา สัมมาอะระหัง ก็ได้ หรือจะนึกถึงดวงบุญ องค์พระ เฉยๆ โดยไม่ต้องภาวนาก็ได้ ให้หยุดให้นิ่งๆ

 

            “หยุดเป็นตัวสำร็จ” ๕ คำจำไว้ ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านให้หลักเอาไว้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ หยุดอย่างเดียวไม่ต้องไปทำอะไรที่นอกเหนือจากนี้ จะมืดหรือจะสว่างไม่ต้องไปคำนึงถึง หยุดนิ่งอย่างเดียว

 

             มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเรื่อยๆ ไม่เลือกที่จะดู อย่างสบายๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น หยุดนิ่งเรื่อยไปอย่างสบ๊ายสบาย ทำใจให้เบิกบาน เดี๋ยวทุกคนจะสมหวังดังใจ จะเข้าถึง

 

              เพราะฉะนั้น ทำให้ถูกวิธี ต้องสบายๆ คล้ายๆ กับตอนใกล้จะหลับ ตอนนั้นเราสบายแต่ไม่มีเป้าหมาย แต่นั่งสมาธิเราสบายอย่างมีเป้าหมาย ตรึกถึงดวงใส หยุดอยู่กลางดวงใสซึ่งเป็นดวงบุญที่เราได้ทำเอาไว้ หรือตรึกอยู่ในกลางองค์พระ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเราก็ได้

 

               คืนนี้ก็เช่นเคย ใครเหนื่อย ใครง่วง ใครเพลีย ใครนั่งตั้งใจมากเกินไปแล้วมันตึง ก็ปล่อยให้หลับไปสักพักหนึ่ง พอสดชื่นตื่นขึ้นมาเราก็ทำภาวนาต่อ ทำความเพียรต่อ ใครเมื่อยก็ขยับฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็เริ่มต้นว่ากันใหม่ ปรับยุทธวิธีในการฝึกใจให้หยุดให้นิ่งนะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัย
ในตัวคืนนี้ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ

 

 

หลวงพ่อธัมมชโย

วันอังคารที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013671366373698 Mins