มองญี่ปุ่นเเลดูไทย (ตอนเเรก)

วันที่ 16 ตค. พ.ศ.2563

มองญี่ปุ่นเเลดูไทย (ตอนเเรก)

                ญี่ปุ่นได้รับการยกย่องว่า มีความสามารถในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เป็นชาติในเอเชียเพียงชาติเดียวที่สามารถนำพาประเทศชาติ สู่ความเป็นมหาอำนาจเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจตะวันตกในยุคล่าอาณานิคม

20194-1.jpg

               ประเด็นที่มักมีผู้หยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันอยู่เสมอโดยเฉพาะในหมู่คนไทยก็คือ ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศเพื่อพัฒนาด้านต่าง ๆมาพร้อม ๆ กันคือในสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทยซึ่งตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเมจิของญี่ป่น แต่เหตุใดญี่ปุ่นจึงแซงหน้าไทยไปไกลมาก

                จริงอยู่ที่วิธีการพัฒนาของญี่ปุ่นมีจุดเด่นหลายประการที่ควรศึกษาเป็นแบบอย่าง แต่สิ่งที่คนทั่วไปมักมองข้ามคือ เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศนั้น ญี่ปุ่นและไทยมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน โดยญี่ปุ่นมีความพร้อมกว่าไทยอย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

1. ความเป็นเอกภาพของคนในชาติ

                ญี่ปุ่นมีภูมิประเทศเป็นเกาะ จึงทำให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเชื้อชาติสูง และโชกุนในสมัยเอโดะ ก็สามารถแผ่อำนาจการปกครองครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไว้ได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องกันยาวนานถึง 200 กว่าปี ทำให้คนโดยทั่วไปมีจิตสำนึกร่วมกันว่า ตนคือชนชาติญี่ปุ่นมีสำนึกของความเป็นชาติสูง ดังนั้นในการเปิดประเทศเพื่อจะพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงสามารถดำเนินไปได้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

20194-2.jpg

                 ส่วนประเทศไทยของเรานั้นมีดินแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านรอบทิศ มีการผสมผสานทางเชื้อชาติมาก และดินแดนในส่วนต่าง ๆ ของไทยก็มีอิสระในการปกครองตนเอง บางแห่งมีประวัติศาสตร์ การเป็นประเทศเอกราชมายาวนาน เช่น ดินแดนแถบล้านนา

                 กลุ่มชนที่คิดว่าตนเป็นชาวไทยแท้นั้น มีอยู่บริเวณภาคกลางรายรอบพระนครเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระราชภารกิจสำคัญยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำก่อนคือ การสร้างเอกภาพของคนในชาติ สร้างจิตสำนึกร่วมของความเป็นไทย เพราะถ้ามีต่างชาติมายุยงให้เกิดการแตกแยก

                 ทำให้คนไทยต้องรบกันเองเมื่อไรพวกล่าอาณานิคมย่อมฉวยโอกาสเข้ายึดครอง และนั่นหมายถึงการสูญเสียเอกราช ต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้นอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การพัฒนาประเทศคงไม่มีความหมายอะไร

20194-3.jpg

                    การสร้างเอกภาพของชนในชาติ เป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้เวลา และความละเอียดอ่อนโดยเฉพาะในภาวะที่มีมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมคอยจ้องอยู่รอบทิศ ถือเป็นภารกิจที่ยากยิ่ง แต่ก็สำเร็จลงได้ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยของเราจึงใช้ทรัพยากร ใช้กำลังความคิดสติปัญญาและใช้เวลาไปกับเรื่องนี้อย่างมาก

2.ความหนาแน่นของประชากร

                     ในช่วงปีพุทธศักราช 2410 ประเทศไทยมีพื้นที่มากกว่าประเทศญี่ปุ่นประมาณ 1 เท่าครึ่ง แต่มีประชากรอยู่เพียง 7-8 ล้านคนในขณะที่ญี่ปุ่นมีประชากรกว่า 30 ล้านคน ซึ่งมากกว่าไทยถึง 4 เท่า

                     และถ้าเทียบเป็นอัตราความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่แล้ว จะสูงกว่าไทยถึง 6 เท่าทีเดียว ซึ่งจำนวนประชากรนี้มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในด้านเป็นกำลังงานในการผลิต การขนส่ง และเป็นตลาดรองรับสินค้า

3.เครือข่ายการตลาด และวิญญาณของความเป็นนักการค้า

                     ประเทศไทยในยุคนั้นมีความหนาแน่นของประชากรน้อย แต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จึงมีระบบเศรษฐกิจแบบผลิตเพื่อยังชีพ ชุมชนต่าง ๆ กระจายกันอยู่ห่าง ๆ ทำให้การผลิตพืชผลต่าง ๆ เป็นไปเพื่อการบริโภคแลกเปลี่ยนกันในชุมชนเป็นหลัก

20194-4.jpg

Cr : www.silpa-mag.com

                  แม้แต่ข้าวซึ่งถือเป็นสินค้าหลักของประเทศ หากจะมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศบ้างก็ต้องเป็นข้าวที่มาจากที่ราบลุ่มภาคกลางบริเวณใกล้กับแม่น้ำเท่านั้น เพราะสามารถขนส่งทางน้ำได้สะดวก

                  ขณะที่การคมนาคมทางบกยังไม่สะดวกนัก และมีค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่เหมาะที่จะขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่น พืชผลการเกษตรส่งไปขายไกล ๆ สินค้าที่พอจะส่งไปขายต่างเมืองหรือต่างประเทศได้ ต้องเป็นสินค้าที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับน้ำหนัก จึงจะคุ้มค่ากับการขนส่ง ซึ่งได้แก่ สินค้าจำพวกของป่า เช่น น้ำผึ้ง ครั่ง หนังสัตว์ ไม้แก่นจันทร์ เป็นต้น

                   เมื่อการค้าขายมีอยู่ในวงจำกัด ระบบเครือข่ายการตลาดจึงไม่เกิดการพัฒนา ผู้คนไม่คุ้นเคยกับการค้าขาย นักลงทุนนักธุรกิจจึงมีอยู่น้อย ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยต่าง ๆ สังคมไทยในยุคนั้น จึงมีค่านิยมในศักดินาเป็นกระแสหลักของสังคม ดังภาษิตที่ว่า "สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง"

                    ส่วนประเทศญี่ปุ่นมีประชากรอยู่กันหนาแน่น ทั้งยังมีภัยธรรมชาติรุนแรง บางภูมิภาคก็แห้งแล้งหนาวจัด ปลูกข้าวไม่ได้ผล ต้องผลิตสินค้าอย่างอื่นเพื่อไปซื้อขายแลกเปลี่ยนให้ได้ข้าวมา เส้นทางสัญจรต่าง ๆ จึงได้รับการพัฒนา มีการค้าขายกันอยู่โดยทั่วไปในสมัยนั้น

                    เมืองเอโดะ (มหานครโตเกียวในปัจจุบัน) เพียงเมืองเดียวก็มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าหนึ่งล้านคน จัดเป็นมหานครใหญ่แห่งหนึ่งของโลก การค้าขายเป็นไปอย่างคึกคัก มีระบบธนาคารซึ่งมีสาขาทั่วประเทศให้บริการรับฝากกู้ยืมเงิน และบริการตั๋วแลกเงินเพื่อความปลอดภัยเวลาเดินทาง

                     นักลงทุนนักธุรกิจได้รับการบ่มเพาะให้เติบโตขึ้น เกิดกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจครอบคลุมทั่วประเทศ กระบวนการสะสมทุนได้ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะความมั่นคงทางการเมืองที่ยาวนานกว่า 200 ปี

                     ประกอบกับการที่ผู้คนคุ้นเคยกับการค้าขาย มีวิญญาณของนักการค้าอยู่แล้วจึงส่งผลให้เครือข่ายการตลาดได้กระจายตัวเข้าถึงดินแดนทุกส่วนของประเทศ

                     การเปิดประเทศของญี่ปุ่น จึงหมายถึงการเปิดรับเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ขยายขอบเขตการค้าไปยังต่างประเทศ ในขณะที่ทรัพยากรบุคคลคือ บรรดาพ่อค้านักลงทุน และเครือข่ายการตลาดนั้นญี่ปุ่นมีอยู่พร้อมแล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการต่าง ๆ

20194-5.jpg

                    จึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลเพียงอำนวยความสะดวกให้ เหล่านักธุรกิจเอกชนก็พร้อมเดินไปข้างหน้า นี่คือความแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศไทย

4.ความเข้มแข็งของกลไกลการปกครอง

                   ในยุคสมัยรัชกาลที่ 5 การปกครองของไทยยังไม่ค่อยเป็นปึกแผ่น แต่ละเมืองมีเจ้าผู้ครองเมืองดูแลรับผิดชอบกิจการในบ้านเมืองของตน

                  มีเพียงหัวเมืองชั้นในเท่านั้นที่อยู่ในความดูแลของส่วนกลางอย่างใกล้ชิด ส่วนหัวเมืองชั้นนอกจะมีความเป็นอิสระมากกว่า ยิ่งชนบทที่อยู่ห่างไกลออกไปด้วยแล้วยิ่งมีอิสระมาก บางแห่งอำนาจรัฐบาลกลางเข้าไปไม่ถึงก็มี

                  ส่วนกรณีของญี่ปุ่นอำนาจรัฐสามารถเข้าถึงแทบทุกจุดของประเทศ ระบบการจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างเข้มงวด นโยบายและคำสั่งจากรัฐบาลกลางถูกถ่ายทอดไปยังทุกชุมชน และได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

                 ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง เมื่อกลไกของรัฐมีบทบาทชี้นำสังคมได้อย่างทรงประสิทธิภาพ จึงมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ

                 ที่เห็นได้ชัดคือ ด้านการศึกษา ประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนา ด้านการศึกษานับตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2410 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนข้าราชการพลเรือน

                 จากนั้นได้มีการสร้างโรงเรียนต่าง ๆ ขยายออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2464 ถึงได้เริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติกำหนดให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียนจบการศึกษาภาคบังคับถึงขั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2504 จึงได้ขยายการศึกษาภาคบังคับถึงขั้นประถมศึกษาปีที่ 7 รวมระยะเวลายาวนานเกือบ 100 ปี

                 ส่วนการพัฒนาด้านการศึกษาของญี่ปุ่นนั้นได้เริ่มต้นในรัชสมัยจักรพรรดิเมจิในปีพุทธศักราช 2410 เช่นกัน เวลาผ่านไปเพียง 5 ปี ญี่ปุ่นก็เริ่มประกาศใช้ระบบโรงเรียนมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ

20194-6.jpg

                      จากนั้นก็มีการพัฒนาไปตามลำดับ และสามารถขยายการศึกษาภาคบังดับถึงขั้นประถมศึกษาตอนปลายในปีพุทธศักราช 2450 รวมใช้เวลาเพียง 40 ปี

                      นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันของความเข้มแข็งทางกลไกของรัฐและพื้นฐานต่าง ๆ ระหว่างไทยและญี่ปุ่น

                      อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เปรียบเทียบในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อหาข้ออ้างให้กับตนเองว่า "ที่เขาได้ดีกว่าเรา เพราะเขาได้เปรียบเรา"

                    เพราะความคิดเช่นนั้นคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แต่วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์นี้ ก็เพื่อต้องการให้พวกเรามองสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่มองอย่างมีอคติคิดเข้าข้างตนเอง หรือมองอย่างดูถูกตนเอง

                     แต่ต้องฝึกมองด้วยใจเป็นกลาง มีวิสัยทัศน์ที่กระจ่างชัด พิจารณาสิ่งต่าง ๆ ไปตามความเป็นจริง เข้าใจเหตุและผล เงื่อนไขปัจจัยของเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง

                     สำหรับตอนต่อไป เราจะวิเคราะห์ว่า นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศดังกล่าวแล้ว คนญี่ปุ่นมีคุณสมบัติ ดีและเด่นอย่างไร จึงทำให้พัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้

 

เจริญพร

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021870899200439 Mins