กี่โมงกี่ยาม

วันที่ 24 พค. พ.ศ.2547

กี่โมงกี่ยาม


.....ถ้าจะถามว่า “ เวลา คือ อะไร ” คำตอบที่ได้คงไม่รู้กี่คำตอบ คงเป็นการยากที่จะนึกว่าเวลา คือวิถีทางธรรมชาติที่เก็บทุกสิ่งทุกอย่างในทันทีที่เริ่มเกิดขึ้น หรืออาจหมายถึงอะไรก็ได้ และอีกหลายอย่างในทัศนะที่แตกต่างกันไป เช่น

นักฟิสิกส์ : คือหนึ่งในสองส่วนประกอบพื้นฐานที่อธิบายได้ยากในจักรวาล
ช่างทำนาฬิกา : คือเสียวติ๊ก ต๊อกจากงานที่ประดิษฐ์ขึ้น
นักอ่านนวนิยายวิทยาศาสตร์ : คือมิติที่สี่
นักชีววิทยา : เป็นนาฬิกาภายในที่ทำให้พืชและสัตว์กลมกลืนกันไปกับธรรมชาติ
นักธนาคาร : เวลาเป็นเงินเป็นทอง
พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา : พิจารณาเวลาในแง่ของการหมุนเวียนของธรรมชาติ ที่กลับไปกลับมาเป็นอนิจจัง

 


.....นักจิตวิทยาคิดว่า เด็กอายุ ๒ ขวบ จะรู้สึกถึงการผ่านไปของเวลาน้อยมาก เช่นเดียวกับคนในยุคต้น นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยมีชีวิตโดยไม่มีความรู้สึกถึงอดีต และอนาคต

.....นักวิทยาศาสตร์มองเวลาในอีกมุมหนึ่ง เซอร์ไอแซค นิวตัน ให้ข้อสังเกตว่า เวลาหมุนเวียนไปโดยไม่พึ่งพาอาศัยสิ่งใด แต่ตามทฤษฎีสัมพันธภาพของอัลเบิร์ต ไอสไตน์ เวลากลับเป็นมิติที่มีความสูง ความกว้าง มีความหมายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เก็บทุกสิ่งไว้ในทันทีนับตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไอสไตน์กล่าวว่าความเข้าใจเรื่องเวลาเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น ตามที่มนุษย์ในแต่ละยุคจะสังเกตสิ่งรอบตัวได้

.....ในศตวรรษที่ ๑๑ นักวิชาการชาวจีนชื่อ ชู ชอง ได้ประดิษฐ์เครื่องมือชิ้นใหญ่ นับว่าเป็นนาฬิกาน้ำในยุคแรกๆ มีความสูงถึง ๓๐ ฟุต ใช้พลังน้ำในการขับเคลื่อน หลังจากประดิษฐกรรมชิ้นนี้ ได้มีการพัฒนาต่อมาเป็นนาฬิกาจักรกลในยุโรป เชื่อกันว่า นาฬิกาเรือนแรกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในโบสถ์ประเทศอังกฤษ ไม่มีหน้าปัด ใช้สำหรับเรียกคนเข้าสู่พิธีสวดมนต์ที่เรียกว่า CLOCKS

.....ทุกวันนี้นาฬิกามีจำนวนมากมาย ผลิตขึ้นนับล้านเรือนในแต่ละปี มียอดจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาถึง ๓๐๐,๐๐๐ เรือนต่อวันมีบางคนตั้งคำถามว่า “ เรากลายเป็นทาสนาฬิกาหรือไม่ ?” ผู้คนมากมายต่างให้ความหมายของคำว่า เวลา คือ อะไร กันมาหลายศตวรรษแต่จะดีกว่าไหม ถ้าเรามารู้วิธีว่า ควรใช้เวลาอย่างไร ให้มากกว่ารู้ว่า เวลาคืออะไร ซึ่งอย่างแรกน่าจะมีประโยชน์ต่อชีวิตเรามากกว่า เพราะแท้ที่จริงแล้ว ชีวิตจะมีคุณค่า ต่อเมื่อยังมีเวลาเหลืออยู่เวลาเพียงน้อยนิด สามารถเปลี่ยนเป็นสมบัติมหาศาลได้ แต่สมบัติมหาศาล ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเวลาแม้เพียงน้อยหนึ่งได้ รีบใช้เวลาให้มีคุณค่าเสียตั้งแต่วันนี้…ก่อนที่จะหมดเวลา!


 

อุบลเขียว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0090853850046794 Mins