ม ง ค ล ที่ ๑ ๖   ป ร ะ พ ฤ ติ ธ ร รม

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2565

mongkol-life16.jpg

ม ง ค ล ที่ ๑ ๖   ป ร ะ พ ฤ ติ ธ ร รม

ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรม
เพราะความชอบ ความชัง ความกลัว ความหลง
ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยม เหมือนดวงจันทร์ในวันข้างขึ้น ฉะนั้น

mongkol-life16.1.jpg

๑. สุจริต ทุจริต
     ๑.๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องช่างทำรถ ที่ทำล้อรถข้างหนึ่งกินเวลา ๖ เดือน
หย่อน ๖ วัน แต่ทำล้อรถอีกข้างเสร็จภายใน ๖ วัน
     พระราชาตรัสถามก็ทดลองให้ดู  ล้อรถข้างที่ทำ นานหมุนไปได้ พอหยุดหมุนก็ตั้งอยู่ได้  แต่
ข้างที่ทำเสร็จไวเมื่อหยุดหมุนก็ล้ม เพราะไม้มีความคด พระพุทธองค์จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ความคด โทษทางกาย ทางวาจา ทางใจของผู้ใดผู้หนึ่ง ภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม ละได้แล้ว ย่อมตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยนี้ได้  เหมือนล้อรถที่ทำแล้ว ๖ เดือนหย่อน ๖ วัน ฉะนั้น.

อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๔๓

mongkol-life16.2.jpg
๒. สัจจะ
     ๒.๑ รสเหล่าใดมีอยู่ในแผ่นดิน สัจจะเป็นรสที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสเหล่านั้น เพราะ ว่าสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในสัจจะ ย่อมข้ามพ้นฝั่งแห่งชาติและมรณะได้.

ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๖๒๗


๒.๒ ธรรมดาดาวประกายพรึกเป็นดุจคันชั่ง คือ เที่ยงตรงในโลก พร้อมเทวโลก ไม่ว่าในสมัยฤดูหรือปีก็ตาม ย่อมไม่โคจรหรือเวียนออกนอกวิถีโคจร แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ออกไปนอกทางสัจจะทั้งหลาย ถึงความเป็นสัจจะบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้. 

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๕๕

mongkol-life16.3.jpg
๓. อคติ

     ๓.๑ ผู้ใดประพฤติล่วงธรรมเพราะความรัก ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้น ย่อมเสื่อมเหมือนดวงจันทร์ในข้างแรม ฉะนั้น.

ที.ปา. (อรรถ) มก. ๑๖/๗๙

     ๓.๒ ผู้ใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความชอบ ความชัง ความกลัว ความหลง ยศของผู้นั้นย่อมเต็มเปี่ยมเหมือนดวงจันทร์ในวันข้างขึ้น ฉะนั้น.

ที.ปา. (อรรถ) มก. ๑๐/๗๑๓

     ๓.๓ ราชเสวกอันพระราชามิได้ตรัสใช้ ไม่พึงหวั่นไหวด้วยอำนาจฉันทาคติ เป็นต้น ดังตราชูที่บุคคลประคองให้มีคันเสมอเที่ยงตรง ฉะนั้น.

ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๖๔/๔๑๘

     ๓.๔ ธรรมดาต้นไม้ย่อมให้เงามืดเหมือนกัน และแผ่เงานั้นไปอย่างเสมอกัน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ก็ไม่ควรทำตัวให้ต่างกันในสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้น คือ ควรแผ่เมตตาให้เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นโจรผู้จะฆ่าคน ผู้เป็นข้าศึกของตนเอง 
     ข้อนี้สมกับคำ ของพระสารีบุตรเถรเจ้าว่า พระมุนีคือ พระพุทธเจ้าย่อมเป็นผู้มีพระหฤทัยเสมอกันแก่สัตว์ทั้งปวง เช่น พระเทวทัต โจรองคุลีมาล และพระราหุล เป็นต้น.

มิลิน. ๔๕๗

mongkol-life16.4.jpg
๔. พรหมวิหาร ๔

     ๔.๑ เปรียบเหมือนสระบัวมีน้ำ ใสและจืด เย็น ขาว สะอาด มีท่าเรียบราบ ควรรื่นรมย์  ถ้าว่าบุรุษจะพึงมาแต่ทิศตะวันออก ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้อันความร้อนกระวนกระวายเผาระงมครอบงำ เหน็ดเหนื่อยลำบาก กระหายหิว บุรุษนั้นมาถึงสระนั้นแล้วจะพึงทำความกระหาย น้ำ และความร้อนกระวนกระวายให้เสื่อมสูญได้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ากุลบุตรออกบวชจากตระกูลกษัตริย์ถือเพศเป็นบรรพชิต และภิกษุทั้งหลายนั้นอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ได้ความระงับสงบใจภายในสันดานตน ฉันนั้น.

ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๙/๒๔๑

     ๔.๒ ธรรมดาเมฆ คือ ฝนที่ตกลงมาย่อม ดับความร้อนในแผ่นดิน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร ก็ควรดับความทุกข์ร้อนทางโลกด้วยเมตตาภาวนา ฉันนั้น.

มิลิน. ๔๕๘

     ๔.๓ ธรรมดาน้ำย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวโดยเสมอกัน ชะล้างมลทิน คือ ธุลีออกได้ แม้ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเจริญเมตตาให้สม่ำ เสมอในชนที่เกื้อกูล และไม่เกื้อกูล ท่านถึงความเมตตาบารมีแล้วจักบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้.

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๕๗

     ๔.๔ ธรรมดาเต่าย่อมอยู่ในน้ำ ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรอยู่ด้วยเมตตา ฉันนั้น.

มิลิน. ๔๒๖

     ๔.๕ ธรรมดาน้ำย่อมตั้งอยู่ตามสภาพ คือ ความเย็น ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควร เป็นผู้ทำความเย็นให้แก่ผู้อื่นด้วยขันติ และความไม่เบียดเบียน ด้วยความเมตตา กรุณา ฉันนั้น.

มิลิน. ๔๓๖

     ๔.๖ ธรรมดาสุกรย่อมชอบนอนแช่น้ำ ในฤดูร้อน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ควรกำกับใจที่เร่าร้อนตื่นเต้นด้วยเมตตาภาวนาอันชุ่มเย็นอยู่เสมอ ฉันนั้น.

มิลิน. ๔๔๗

     ๔.๗ ธรรมดาพังพอนเมื่อจะไปสู้กับงู ย่อมอบตัวด้วยยาเสียก่อนจึงเข้าไปใกล้งู ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร เมื่อจะเข้าไปใกล้โลกอันมากไปด้วยปฏิฆะ (ความขัดใจ) ความโกรธ และความอาฆาตอันครอบงำ ด้วยบาดหมาง การทะเลาะเบาะแว้ง ก็ทาด้วยยา คือ เมตตาเสียก่อน จึงจะทำให้โลกดับความเร่าร้อนเสียได้ฉันนั้น.

มิลิน. ๔๔๕

     ๔.๘ บุคคลพึงมีเมตตาในบุตรคนเดียวผู้เป็นที่รัก ฉันใด ภิกษุพึงมีเมตตาในสัตว์ทั้งปวงในทุกที่ทุกสถาน ฉันนั้น.

ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๐/๒๐๓

๔.๙ ธรรมดาแผ่นดินย่อมวางเฉยในของไม่สะอาด และของที่สะอาดที่คนทิ้งลง เว้นจาก
ความโกรธ และความยินดีทั้งสองนั้น ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงเป็นประดุจตาชั่งในสุข
และทุกข์ในกาลทุกเมื่อ ถึงความเป็นอุเบกขาบารมีแล้ว จักบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้.

ขุ.อป. (โพธิ) มก. ๗๐/๕๘

mongkol-life16.5.jpg
๕. ความสามัคคี 

     ๕.๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ยังพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่.

ม.มู. (เถระ) มก. ๑๙/๓

mongkol-life16.6.jpg
๖. สัมมาทิฏฐิ

     ๖.๑ อ้อย ข้าวสาลี หรือองุ่น อันบุคคลเพาะลงแล้วในแผ่นดินที่ชุ่มชื้น ย่อมเข้าไปจับรสดิน
และรสน้ำอันใด รสน้ำทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นรสที่น่ายินดี เป็นรสหวาน เป็นรสอันน่า
ชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชเป็นของดี แม้ฉันใด 

     ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการงานชอบ
มีการเลี้ยงชีพชอบ มีความพยายามชอบ มีความระลึกชอบ มีความตั้งใจชอบ มีความรู้ชอบ มี
ความหลุดพ้นชอบ สมาทานกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้บริบูรณ์ตามความเห็นอย่างไรแล้ว
เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อผล
อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เกื้อกูล เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเป็นของเจริญ
ฉันนั้นเหมือนกันแล.

อัง.ทสก. (พุทธ) มก. ๓๘/๓๔๒

     ๖.๒ เมื่ออาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่จะขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใด
สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อนแห่งการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความจริง คือ สัมมาทิฏฐิ ฉะนั้น
เหมือนกัน.

สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๑/๔๕๖

mongkol-life16.7.jpg
๗. นรก/สวรรค์/โลกหน้า/โอปปาติกะ

     ๗.๑ ในมนุษย์โลกมีผู้ลงโทษด้วยกรรมกรณ์ ฉันใด นายนิรยบาลก็มีอยู่ในนรก ฉันนั้น.

ม.อุ. (อรรถ) มก. ๒๓/๒๐๒

                ๗.๒ ครั้งนั้นแล พวกเทวดาเหล่านั้นก็หายตัวจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส แล้วปรากฏเบื้อง
พระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนบุรุษที่มีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ออก หรือพึงคู้แขนที่
เหยียดออก ฉะนั้น.

ที.ม. (ทั่วไป) มก. ๑๔/๗๓

     ๗.๓ เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึกยิ่งกว่าชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิงปราศจากเปลว
ปราศจากควัน ลำดับนั้น บุรุษผู้มีตัวอันความร้อนแผดเผาครอบงำ เหน็ดเหนื่อย สะทกสะท้าน
หิว กระหาย มุ่งมาสู่หลุมเพลิงนั้นแหละ โดยมรรคสายเดียว บุรุษผู้มีจักษุเห็นเขาแล้วพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น ขึ้นสู่หนทางนั้น จักมาถึงหลุมถ่านเพลิงนี้
ทีเดียว โดยสมัยต่อมา บุรุษผู้มีจักษุนั้น พึงเห็นเขาตกลงในหลุมถ่านเพลิงนั้น เสวยทุกขเวทนาอัน
แรงกล้า เผ็ดร้อนโดยส่วนเดียว แม้ฉันใด 

     ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจ ฉันนั้นเหมือนกันแลว่า
บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก
จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๘/๔๘

     ๗.๔ พระกุมารกัสสปถามพระเจ้าปายาสิว่า ทรงเห็นว่าโลกอื่นไม่มีเป็นต้นนั้น พระจันทร์
พระอาทิตย์เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในโลกนี้หรือโลกอื่น
     พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า พระจันทร์พระอาทิตย์มีอยู่ในโลกอื่นไม่ใช่โลกนี้ เป็นเทวดาไม่ใช่
มนุษย์.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๗๑

     ๗.๕ พระเจ้าปายาสิตรัสเล่าว่า มีมิตรอำมาตย์ญาติโลหิตของพระองค์ที่ประพฤติชั่วมี
ประการต่างๆ เมื่อบุคคลเหล่านั้นเจ็บไข้ซึ่งพระองค์เห็นว่าจะไม่หายแน่ ก็เสด็จไปหา และสั่งว่าถ้า
ไปตกนรก เพราะประพฤติชั่วตามคำของสมณพราหมณ์แล้ว ขอให้กลับมาบอก พวกเหล่านั้นรับคำ
แล้ว ก็ไม่มีใครมาบอกเลย พระองค์จึงไม่เชื่อว่าโลกอื่นมี 

     พระกุมารกัสสปกล่าวว่า เปรียบเหมือนโจรที่ทำผิด ราชบุรุษจับได้ ก็นำตระเวนไปสู่ที่
ประหารชีวิต โจรเหล่านั้นจะขอผัดผ่อนให้ไปบอกพวกพ้องก่อนจะได้หรือไม่ 

     พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า ไม่ได้

     พระเถระจึงกล่าวว่า พวกที่ทำชั่วก็เช่นกัน ถ้าไปตกนรก ก็คงไม่ได้รับอนุญาตจากนายนิรย
บาลให้มาบอก.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๗๒

     ๗.๖ พระเจ้าปายาสิตรัสเล่าว่า พระองค์เคยสั่งคนที่ทำความดีว่า ถ้าตายไปได้สู่สุคติ
โลกสวรรค์ เพราะประพฤติดีตามคำของสมณพราหมณ์แล้ว ขอให้กลับมาบอก พวกนั้นรับคำก็ไม่มี
ใครมาบอกเลย พระองค์จึงไม่เชื่อว่าโลกอื่นมี 

     พระกุมารกัสสปกล่าวว่า เปรียบเหมือนคนตกลงไปในหลุมอุจจาระมิดศีรษะ พระองค์สั่งให้
ราชบุรุษช่วยยกขึ้นจากหลุมนั้น เอาซี่ไม้ไผ่ปาดอุจจาระออกทำ ความสะอาดหมดจดแล้ว นำ 
พวงมาลัยเครื่องลูบไล้ และผ้ามีราคาแพงมาให้นุ่งห่ม พาขึ้นสู่ปราสาทบำเรอด้วยกามคุณ ๕ บุรุษ
นั้นจะอยากลงไปอยู่ในหลุมอุจจาระอีกหรือไม่ 

     พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า ไม่อยาก 

     พระเถระถามว่า เพราะเหตุไร 

     พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า เพราะหลุมอุจจาระไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูล 

     พระเถระทูลว่า มนุษย์ก็เป็นผู้ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ปฏิกูลสำหรับเทวดาทั้งหลาย
พวกทำความดีที่ไปสู่สุคติโลกสวรรค์จะกลับมาบอกอย่างไร.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๗๕

     ๗.๗ พระเจ้าปายาสิตรัสเล่าว่า พระองค์เคยสั่งคนที่ทำความดีว่า สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวว่า ผู้ทำความดีจะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ถึงความเป็นสหายของเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่านทั้ง
หลายไปเกิดเช่นนั้นแล้วขอให้กลับมาบอกด้วย พวกนั้นรับคำแล้วก็ไม่มีใครมาบอกเลย พระองค์จึง
ไม่เชื่อว่าโลกอื่นมี 

     พระกุมารกัสสปทูลว่า ร้อยปีของมนุษย์เป็นคืนหนึ่งกับวันหนึ่งของเทพชั้นดาวดึงส์ ๓๐
ราตรีเป็น ๑ เดือน, ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี, ๑ พันปีเป็นประมาณแห่งอายุของเทพชั้นดาวดึงส์
ผู้ทำความดีที่ไปเกิดในที่นั้นคิดว่า อีกสัก ๒-๓ วัน จะไปบอกพระเจ้าปายาสิจะมาบอกได้หรือไม่ 

     พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า มาไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าคงตายไปนานแล้ว แต่ก็ใครบอกแก่ท่าน
เล่าว่าเทพชั้นดาวดึงส์ มีอายุยืนขนาดนั้น ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลย 

     พระเถระทูลว่า เปรียบเหมือนคนที่เสียจักษุแต่กำเนิด มองไม่เห็นอะไรเลย จึงกล่าวว่า สีดำ 
ขาว เขียว เหลือง แดง แสด ไม่มี คนที่เห็นสีเช่นนั้นก็ไม่มี ดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ ไม่มี
ผู้เห็นดวงดาว พระจันทร์ พระอาทิตย์ ก็ไม่มี เพราะข้าพเจ้าไม่รู้ไม่เห็น สิ่งนั้นจึงไม่มีดังนี้ ผู้นั้น
จะชื่อว่า กล่าวชอบหรือไม่ 

     พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า กล่าวไม่ชอบ 

     พระเถระจึงทูลว่า ที่พระองค์ปฏิเสธเรื่องเทพชั้นดาวดึงส์ก็เป็นเช่นนั้น สมณพราหมณ์บาง
พวกที่เสพเสนาสนะป่าอันสงัด ไม่ประมาท ทำ ความเพียร ชำระทิพยจักษุ มองเห็นโลกนี้โลกอื่น
และสัตว์อุปปาติกะ ด้วยจักษุอันเป็นทิพย์ เหนือจักษุของมนุษย์มีอยู่ เรื่องของปรโลกพึงเห็นอย่างนี้
ไม่พึงเข้าใจว่าจะเห็นได้ด้วยตาเนื้อนี้.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๗๖

     ๗.๘ พระเจ้าปายาสิตรัสเล่าว่า พระองค์เคยเห็นสมณพราหมณ์ที่มีศีลมีธรรมอันงาม ใคร่มี
ชีวิต ไม่อยากตาย ใคร่ความสุข เกลียดทุกข์ จึงทรงคิดว่า ถ้าสมณพราหมณ์ ผู้มีศีล มีธรรมอันงาม
เหล่านี้ รู้ตัวว่าตายไปแล้วจะดีกว่าชาตินี้ ก็ควรจะกินยาพิษ เชือดคอตาย ผูกคอตาย หรือโดดเหว
ตาย แต่เพราะไม่รู้ว่าตายไปแล้วจะดีกว่าชาตินี้จึงรักชีวิต ไม่อยากตาย ใครความสุข เกลียดทุกข์
ข้อนี้เป็นเหตุให้พระองค์ไม่ทรงเชื่อว่าโลกอื่นมี สัตว์อุปปาติกะ (เกิดแล้วเติบโตขึ้นทันที) มีผลแห่ง
กรรมดีกรรมชั่วมี 

     พระกุมารกัสสปทูลเปรียบเทียบถวายว่า พราหมณ์คนหนึ่งมีภริยา ๒ คน คนหนึ่งมีบุตร
อายุ ๑๐ หรือ ๑๒ ปี อีกคนหนึ่งมีครรภ์จวนคลอด พราหมณ์นั้นถึงแก่กรรม มาณพผู้เป็นบุตรจึงพูด
กับมารดาเลี้ยงว่า ทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ตกเป็นของข้าพเจ้าทั้งหมด ของท่านไม่มีเลย ขอท่านจง
มอบความเป็นทายาทของบิดาแก่ข้าพเจ้า นางพราหมณีผู้เป็นมารดาเลี้ยงตอบว่า เจ้าจงรอก่อน
จนกว่าเราจะคลอด ถ้าคลอดเป็นชาย ก็จะได้ส่วนแบ่งส่วนหนึ่ง ถ้าเป็นหญิง แม้น้องหญิงนั้นก็ตก
เป็นของเจ้า แต่มาณพนั้นก็เซ้าซี้อย่างเดิม แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ นางพราหมณีจึงถือมีดเข้าไปใน
ห้อง ผ่าท้องเพื่อจะรู้ว่าเด็กในท้องเป็นชายหรือหญิง เป็นการทำลายตัวเอง ทำลายชีวิต ทำลาย
เด็กในครรภ์ และทำลายทรัพย์สมบัติเพราะเป็นผู้เขลา แสวงหาสมบัติโดยไม่แยบคายจึงถึงความ
พินาศ 

     สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีธรรมอันดีที่เป็นบัณฑิต ย่อมไม่ชิงสุกก่อนสุก ย่อมรอจนกว่าจะสุก
สมณพราหมณ์เหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่นานเพียงใด ผู้อื่นก็ได้ประสบบุญมากเพียงนั้น และท่านก็ปฏิบัติ
เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อ
ความสุข แก่เทวาและมนุษย์ทั้งหลาย.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๗๙

     ๗.๙ พระเจ้าปายาสิตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ใส่ลงไปใน
หม้อทั้งเป็น ปิดฝาแล้วเอาหนังสดรัดเอาดินเหนียวที่เปียกยาให้แน่น ยกขึ้นสู่เตาแล้วจุดไฟเมื่อรู้ว่า
ผู้นั้นตายแล้ว ก็ให้ยกหม้อลง กะเทาะดินที่ยาออก เปิดฝาค่อยๆ มองดู เพื่อจะได้เห็นชีวะของโจร
นั้นออกไปก็ไม่เห็นเลย จึงทำให้ไม่เชื่อว่ามีโลกอื่น 

     พระกุมารกัสสปทูลถามว่า ทรงระลึกได้หรือไม่ เคยบรรทมหลับกลางวัน แล้วทรงฝันเห็น
สวน ป่า ภูมิสถานและสวรรค์อันน่ารื่นรมย์หรือไม่ ตรัสว่าระลึกได้ ถามว่าในสมัยนั้น คนค่อม คน
หรือเด็กๆ เฝ้าพระองค์อยู่หรือไม่ ตรัสตอบว่าเฝ้าอยู่

     พระเถระจึงทูลว่าคนเหล่านั้นเห็นชีวะของพระองค์เข้าออกหรือไม่ ตรัสตอบว่าไม่เห็น
พระเถระจึงทูลว่า คนเหล่านั้น ยังไม่เห็นชีวะของพระองค์ผู้ทรงพระชนม์ชีพอยู่เข้าออก เหตุไฉน
พระองค์จะทรงเห็นชีวะของคนตายเข้าออกเล่า.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๘๑

     ๗.๑๐ พระเจ้าปายาสิ ตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ให้ชั่งน้ำหนักดู
แล้วให้เอาเชือกรัดคอให้ตายแล้วชั่งดูอีก ในขณะมีชีวิตมีน้ำหนักเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดี
กว่าเมื่อตายแล้ว เหตุนี้จึงไม่ทรงเชื่อเรื่องโลกอื่น

     พระเถระทูลถามว่า พึงชั่งก้อนเหล็กที่เผาไฟตลอดวันร้อนลุกโพลงกับก้อนเหล็กที่เย็นเทียบ
กันดูอย่างไหนจะเบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่า 

     พระเถระทูลต่อไปว่า ร่างกายก็เหมือนกัน ประกอบด้วยธาตุไฟ ธาตุลม ร้อนลุกโพลง เบา
กว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่า

     พระเจ้าปายาสิตรัสตอบว่า ก้อนเหล็กที่ประกอบกับธาตุไฟ ธาตุลม ร้อนลุกโพลง เบากว่า
อ่อนกว่า 

     พระเถระทูลต่อไปว่า ร่างกายก็เหมือนกัน ประกอบด้วยอายุ (เครื่องสืบต่อหล่อเลี้ยง)
ประกอบด้วยไออุ่น ประกอบด้วยวิญญาณ ก็เบากว่า อ่อนกว่า ใช้การงานได้ดีกว่า.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๘๒

     ๗.๑๑ พระเจ้าปายาสิตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ ให้ฆ่าโดยไม่กระทบ
กระทั่งผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูชีวะออกไปจากร่าง เมื่อเขาทำอย่างนั้น
และเมื่อโจรนั้นจะตายแน่ก็สั่งจับให้นอนหงาย เพื่อจะดูชีวะออกไป ก็ไม่เห็นชีวะออกไป สั่งให้จับ
นอนตะแคงทีละข้าง ให้ยกขึ้น ให้เอาศีรษะลง ให้ใช้ฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้ ศัสตรา เคาะดู ให้ดึง
เข้า ให้ผลักออก ให้พลิกไปมา เพื่อจะดูชีวะออกไป ก็ไม่เห็นชีวะออกไป โจรนั้นมีตา หู จมูก ลิ้น มี
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็ไม่รู้สึกอายตนะนั้นๆ (ไม่รู้สึก เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส
ถูกโผฏฐัพพะ) 

     พระกุมารกัสสปทูลเปรียบเทียบถวายว่า เปรียบเหมือนคนเป่าสังข์เดินทางไปชนบท
ชายแดนแห่งหนึ่งเป่าสังข์ขึ้น ๓ ครั้ง แล้ววางสังข์ไว้บนดิน ชาวบ้านได้ยินเสียงสังข์ชอบใจก็พากัน
มารุมถามว่าเสียงอะไร เขาตอบว่าเสียงสังข์นั้น ชาวบ้านก็จับสังข์หงาย พร้อมทั้งพูดว่า “สังข์เอ๋ย
จงเปล่งเสียง” แต่สังข์ก็ไม่เปล่งเสียง จึงจับคว่ำ จับตะแคง ยกขึ้น เอาหัวลง เอาฝ่ามือ ก้อนดิน
ท่อนไม้ ศัสตราเคาะ ดึงเข้ามาผลักออกไป จับพลิกไปมา เพื่อจะให้สังข์นั้นเปล่งเสียง สังข์นั้นก็ไม่
เปล่งเสียง 

     คนเป่าสังข์เห็นว่า คนเหล่านั้นเป็นคนบ้านนอก เป็นคนเขลา หาเสียงสังข์โดยไม่แยบคาย
จึงหยิบสังข์ขึ้นมาเป่า ๓ ครั้ง ให้เห็นแล้วก็หลีกไป คนเหล่านั้นจึงรู้ว่าสังข์นี้ประกอบด้วยคน
ประกอบด้วยความพยายาม ประกอบด้วยลม จึงเปล่งเสียงได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุเหล่านั้นก็
เปล่งเสียงไม่ได้ กายก็เช่นเดียวกัน ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น วิญญาณ จึงก้าวเดิน ถอยหลัง ยืน
นั่ง นอนได้ เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมะ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ) ได้
ถ้าไม่ประกอบด้วยสิ่งเหล่านั้นก็ทำอะไรไม่ได้.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๘๓

     ๗.๑๒ พระเจ้าปายาสิตรัสแย้งต่อไปว่า เคยตรัสสั่งให้ลงโทษโจรที่จับได้ โดยให้ตัดผิวหนัง 
ตัดหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก เพื่อจะดูชีวะ ก็ไม่เห็นชีวะ จึงไม่ทรงเชื่อว่าโลกอื่นมีเป็น ต้นเหตุ

     พระเถระทูลเปรียบเทียบถวายว่า ชฎิล (นักบวชเกล้าผมเป็นเชิง) ผู้บูชาไฟรูปหนึ่งอยู่ในกุฏี
มุงด้วยใบไม้ในป่า พวกเดินทางพักแรมชาวชนบทคณะหนึ่ง ออกเดินทางมาพักแรมคืนรอบอาศรม
ของชฎิลผู้บูชาไฟนั้นแล้วจากไป ชฎิลจึงเดินไปในที่ที่เขาพักแรมด้วยหวังว่าจะได้เครื่องใช้อะไรบ้าง
ในที่นั้น (ที่เขาทิ้งแต่อาจเป็นประโยชน์แก่ชฎิลผู้อยู่ป่า) เมื่อเข้าไปก็เห็นเด็กแดงๆ คนหนึ่งเป็นเด็ก
ชายนอนหงายอยู่ จึงนำมาเลี้ยงไว้จนเติบโต มีอายุ ๑๐ ปีหรือ ๑๒ ปีต่อมาชฎิลมีธุระที่จะต้องไป
ในชนบท จึงเรียกเด็กมาสั่งให้บูชาไฟ (คอยเอาฟืนใส่ในกองไฟ) อย่าให้ดับได้ ถ้าไฟดับ มีดอยู่นี่ ไม้
อยู่นี่ ไม้สีไฟอยู่นี่ จงจุดไฟให้ติด บูชาไฟต่อไป เมื่อสั่งเสร็จแล้วจึงไปแล้ว เด็กมัวเล่นเพลินไป ไฟก็
ดับ เด็กคิดถึงคำสั่ง จึงเอามีดถากไม้สีไฟก็ไม่ได้ไฟ จึงผ่าไม้สีไฟออกเป็น ๒ ซีก ๓ ซีก จนถึง ๒๐
ซีก ทำเป็นชิ้นๆ ใส่ครกตำ แล้วเอามาโปรยที่ลมด้วยหวังว่าจะได้ไฟ แต่ก็ไม่ได้ ชฎิลกลับมาเห็น
เช่นนั้น ถามทราบความแล้ว จึงคิดว่าเด็กนี้ยังอ่อน ไม่ฉลาด จะหาไฟโดยวิธีที่ไม่ถูกได้อย่างไร
จึงเอาไม้สีไฟมาสีให้เด็กดูถึงวิธีทำไฟให้ติด
 
     พระองค์ก็เช่นเดียวกัน ทรงหาโลกอื่น โดยวิธีที่ไม่ถูก ในที่สุดได้แนะให้พระเจ้าปายาสิทรง
สละความเห็นผิดนั้นเสีย.

ที.ม. (เถระ) มก. ๑๔/๓๘๖

     ๗.๑๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช้อนฝุ่นเล็กน้อยไว้ที่ปลายพระนขา แล้วตรัสถามภิกษุทั้ง
หลายว่า ฝุ่นที่ปลายเล็บกับมหาปฐพี อย่างไหนมากกว่ากัน

                ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า ฝุ่นในมหาปฐพีมีประมาณมากกว่า ย่อมไม่อาจเทียบเคียงได้

     พระบรมศาสดาตรัสต่อไปว่า สัตว์ที่มาเกิดในโลกมนุษย์มีน้อยกว่าสัตว์ที่ไปเกิดในกำเนิดอื่น
เปรียบเหมือนฝุ่นที่ติดปลายเล็บมีน้อยกว่ามหาปฐพี ทรงแสดงให้ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท.

สัง.นิ. (พุทธ) มก. ๒๖/๗๒๗

     ๗.๑๔ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า ผู้ที่จะไปเกิดใหม่นั้น ไม่ได้ก้าวย่างไป จะ
ปฏิสนธิได้อย่างไร

     พระนาคเสนทูลตอบว่า บุรุษเอาประทีปมาต่อประทีป ประทีปใหม่ไม่ได้ก้าวจากประทีปเก่า
เมื่อผู้เรียนวิชาเลข และศิลปะต่างๆ วิชาเลข และศิลปะต่างๆ ไม่ได้ก้าวย่างจากอาจารย์ ผู้ที่จะไป
เกิดใหม่นั้น ไม่ได้ก้าวย่างไปแต่ปฏิสนธิได้.

มิลิน. ๑๑๐

     ๗.๑๕ พระเจ้ามิลินท์ไม่ทรงเชื่อว่า ก้อนศิลาเท่าปราสาททิ้งจากพรหมโลกถึงโลกมนุษย์ใช้
เวลา ๔ เดือน ภิกษุผู้มีฤทธิ์หายจากชมพูทวีปไปพรหมโลกเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขน 

     พระนาคเสนทูลตอบว่า ท่านเคยนึกถึงถิ่นกำเนิดที่อยู่ห่างไกลออกไปไหม ใช้เวลานิดเดียว.

มิลิน. ๑๓๐

     ๗.๑๖ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า คน ๒ คน คนหนึ่งตายไปเกิดในพรหมโลก
อีกคนหนึ่งไปเกิดที่เมืองกัสสมิระ ใครไปถึงก่อนกัน

     พระนาคเสนทูลตอบว่า มหาบพิตรแลดูอาตมา ดูดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ก็เห็นเร็วเท่ากัน.

มิลิน. ๑๓๑

     ๗.๑๗ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า ผู้ไปสู่โลกอื่นไปด้วยสีอะไร

     พระนาคเสนทูลตอบว่า เสียงอาตมาไปถึงพระกรรณของมหาบพิตรมีสีอะไร.

มิลิน. ๑๓๒

     ๗.๑๘ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า ไฟนรกร้อนจนละลายหินได้แต่ทำไมสัตว์นรก
อยู่ได้

     พระนาคเสนทูลตอบว่า นกยูง ไก่ป่า กินหินกรวดยังย่อยแหลกยับไปได้ แต่ลูกนกยูง ลูกไก่
ป่าอยู่ในท้องไม่ย่อยยับเพราะกรรมคุ้มครองไว้.

มิลิน. ๑๐๓

     ๗.๑๙ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช้อนฝุ่นไว้ในปลายเล็บ แล้วตรัสเรียกภิกษุมาถามว่า ฝุ่นที่
ช้อนไว้ในปลายเล็บกับแผ่นดินใหญ่ อย่างไหนมากกว่ากัน

                ภิกษุตอบว่า ฝุ่นในเล็บเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่ ย่อมไม่ถึงซึ่งการนับเปรียบเทียบ
หรือแม้ส่วนเสี้ยว

     พระพุทธองค์จึงตรัสว่า สัตว์ที่จุติจากพวกมนุษย์แล้วกลับมาเกิดในพวกมนุษย์มีน้อย โดยที่
แท้สัตว์ที่จุติจากมนุษย์ไปแล้วกลับไปเกิดในนรกมีมากกว่า.

สัง.ม. (พุทธ) มก. ๓๑/๕๐๒

mongkol-life16.8.jpg
๘. กฎแห่งกรรม

     ๘.๑ บุรุษทำกรรมใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี
ผู้ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น.

ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๕๗/๓๘๙

     ๘.๒ เปรียบเหมือนพืชทั้งหลายอันไม่ขาด ไม่เน่า ไม่เฉา ให้แก่นได้ มีรากฝังอยู่ดี บุคคล
ปลูกไว้ในแผ่นดินที่ทำไว้ดีแล้ว ในไร่นาที่ดี ฝนก็หลั่งดี เมื่อเป็นเช่นนี้ พืชเหล่านั้นก็ถึงความเจริญ
งอกงามไพบูลย์ ฉันใด กรรมที่บุคคลทำเพราะโลภะ โทสะ โมหะ ฯลฯ เป็นกรรมที่ให้ผลในอัตภาพ
ต่อไป ฉันนั้นก็เหมือนกัน.

อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๑๑๘

     ๘.๓ เปรียบเหมือนพืชทั้งหลายอันไม่ขาด ไม่เน่า ไม่เฉา ให้แก่นได้ มีรากฝังอยู่ดี บุรุษเอาไฟ
เผาพืชเหล่านั้นจนเป็นผุยผงแล้ว พึงโปรยเสียในลมแรง หรือพึงสาดเสียในกระแสอันเชี่ยวในแม่น้ำ 
เมื่อเป็นอย่างนี้ พืชเหล่านั้นก็เป็นรากขาดแล้ว ถูกทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถูกทำให้ไม่มีใน
ภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ฉันใด กรรมมีบุคคลทำ เพราะอโลภะ อโทสะ
อโมหะ ฯลฯ มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน.

อัง.ติก. (พุทธ) มก. ๓๔/๑๑๙

     ๘.๔ การกลับได้วาระแห่งวิบากของทิฎฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในชาติปัจจุบัน)
เหมือนกับลูกศรของนายพรานที่ยิงถูกเนื้อโดยไม่พลาด.

อัง.ติก. อรรถ) มก. ๓๔/๑๒๒

     ๘.๕ ปริยายเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป) ได้โอกาสเมื่อใดในอนาคต เมื่อนั้นจะ
ให้ผล เปรียบเหมือนสุนัขที่นายพรานเนื้อปล่อยไปเพราะเห็นเนื้อ จึงวิ่งตามเข้าไปในที่ใดก็จะกัดเอา
ที่นั้นแหละ ฉันใด กรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.

อัง.ติก. (อรรถ) มก. ๓๔/๑๒๓

     ๘.๖ ครุกรรม (กรรมหนัก) แม้ทั้งอย่างนั้นแหละจะให้ปฏิสนธิ อุปมาเหมือนหนึ่งว่า ก้อน
กรวด หรือก้อนเหล็ก แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดที่โยนลงในห้วงน้ำ ย่อมไม่สามารถลอยน้ำ
ได้ จะจมลงใต้น้ำอย่างเดียว ฉันใด อกุศลกรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน กรรมฝ่ายใดหนักเขาจะถือเอา
กรรมนั้นแหละไป.

อัง.ติก. (อรรถ) มก. ๓๔/๑๒๔

     ๘.๗ เสมือนหนึ่งว่า เมื่อนักมวยปล้ำสองคนขึ้นเวที คนใดมีกำลังมาก คนนั้นจะทำให้อีก
ฝ่ายหนึ่งล้ม (แพ้) ไป ฉันใด พหุกรรม (กรรมที่ทำเป็นประจำ ) นี้นั้นก็ฉันนั้นเหมือนกัน จะทับถม
กรรมที่มีกำลังน้อยไป.

อัง.ติก. (อรรถ) มก. ๓๔/๑๒๔

     ๘.๘ กรรมใดสามารถเมื่อจะให้ระลึกนึกถึงในเวลาใกล้ตายจะให้ผลก่อน เหมือนเมื่อเปิด
ประตูคอกที่มีฝูงโคเต็มคอก โคตัวใดอยู่ใกล้กับประตูออก โดยที่สุดจะเป็นโคแก่ด้อยกำลังก็ตาม
โคตัวนั้นก็ย่อมออกได้ก่อน ฉะนั้น.

อัง.ติก. (อรรถ) มก. ๓๔/๑๒๗

     ๘.๙ กฏัตตาวาปนกรรม (กรรมไม่เจตนา) อำนวยผลได้ในบางครั้ง เหมือนท่อนไม้ที่คนปา
ขว้างไปไม่มีจุดหมาย ฉะนั้น.

อัง.ติก. (อรรถ) มก. ๓๔/๑๒๙

     ๘.๑๐ กรรมที่เกิดปฏิสนธิอย่างเดียว ชื่อว่า ชนกกรรม อุปมาเหมือน มารดาให้กำเนิด
อย่างเดียว.

อัง.ติก. (อรรถ) มก. ๓๔/๑๒๙

     ๘.๑๑ ต้นไม้ กอไม้หรือเถาวัลย์ ที่กำลังเจริญงอกงาม ใครคนใดคนหนึ่งเอาไม้มาทุบ
ศาสตรามาตัด เมื่อเป็นเช่นนั้น ต้นไม้ กอไม้ หรือเถาวัลย์นั้นจะต้องไม่เจริญงอกงาม ฉันใด
กุศลกรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกำลังให้ผล แต่ถูกอกุศลกรรมเบียดเบียนหรือว่า อกุศลกรรม
กำลังให้ผลแต่ถูกกุศลกรรมบีบคั้นจะไม่สามารถให้ผลได้ในสองอย่างนั้น.

ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๓๔/๑๓๐

     ๘.๑๒ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า เหตุใดมนุษย์ทั้งปวงจึงต่างกัน

     พระนาคเสนทูลตอบว่า ต้นไม้ต่างกันเพราะความต่างกันแห่งพืช ฉันใด มนุษย์ก็ต่างกัน
เพราะกรรม ฉันนั้น.
    
มิลิน. ๑๐๐

     ๘.๑๓ พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามพระนาคเสนว่า เพราะเหตุไรมนุษย์ทั้งปวงจึงไม่เสมอกัน
บางพวกอายุสั้น บางพวกอายุยืน บางพวกอาพาธน้อย บางพวกอาพาธมาก บางพวกมีโภคะน้อย
บางพวกมีโภคะมาก

     พระนาคเสนทูลตอบว่า มนุษย์ทั้งหลายไม่เสมอกันเพราะกรรมต่างกัน เหมือนความต่างกัน
แห่งพืช.

มิลิน. ๑๐๐

 

 

๑ ฉันทาคติ  ลำเอียงเพราะรักใคร
๒ สุทธาวาส ที่อยู่ของท่านผู้บริสุทธิ์คือ ที่เกิดของพระอนาคามีได้แก่ พรหม ๕ ชั้นที่สูงสุด ในชั้นรูปาวจร คือ อวิหา  อตัปปา สุทัสสา สุทัสสีอกนิฎฐา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001878281434377 Mins