บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

วันที่ 28 มีค. พ.ศ.2566

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

       ๒. ความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร ซึ่งบริขาร แปลว่า เครื่องแวดล้อม เครื่องอุดหนุนในการดำรงชีวิต ซึ่งหมายถึงปัจจัยสี่ สำหรับพระภิกษุก็คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะคิลานเภสัช ดังนั้นความมีเพศต่างโดยบริขาร จึงหมายถึง การมีปัจจัยสี่และวิธีการใช้ปัจจัยสี่แตกต่างจากคฤหัสถ์

       เมื่อยังเป็นคฤหัสถ์
       อาหาร สามารถเลือกประเภทของอาหารรับประทานได้ตามความชอบและพอใจ ปรุงรสให้อร่อยถูกปาก มีความหลากหลายไม่น่าเบื่อ อยากจะรับประทานเมื่อใดก็ได้ ใช้ภาชนะหรูหราสวยงาม

       เครื่องนุ่งห่ม การแต่งกายต้องเลือกใช้ผ้าดีเนื้อละเอียด มีสีสันและรูปแบบสวยงาม แตกต่างกันไปเรื่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ล้วนแต่ยั่วยวนใจ ซื้อหามาสวมใส่เพื่อให้บุคลิกภาพดี มีเสน่ห์และทันสมัยอยู่เสมอ

       ที่อยู่อาศัย สามารถเลือกขนาดและรูปแบบของบ้านได้สวยงามตามความพอใจ จะมีเฟอร์นิเจอร์สีสันและรูปแบบอย่างไรก็ได้ เช่น โซฟาขนาดใหญ่ เตียงนุ่ม ๆ ส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านก็เลือกได้ตามอัธยาศัย เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนในครอบครัว เช่น ตู้เย็น พัดลม แอร์ ทีวี ฯลฯ

       ยารักษาโรคหรือการรักษาพยาบาล เลือกโรงพยาบาลได้ตามความพอใจ ตามกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคล หากต้องการซื้อยาก็มีให้เลือกมากมาย ทั้งจากคุณสมบัติของยาและชื่อเสียงของผู้ผลิต บางครั้งก็มีการใช้ยาบำรุงร่างกาย ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เช่น ยาเสริมกล้ามเนื้อ ครีมหน้าขาว เป็นต้น

       ปัจจัยสี่เหล่านี้ ขณะที่เป็นคฤหัสถ์สามารถเลือกอุปโภคบริโภคได้ตามความพึงพอใจและกำลังทรัพย์ที่มี
       แต่เมื่อบวชแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ปัจจัยสี่ใหม่ให้สมกับที่เป็นนักบวชผู้มุ่งขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้น ปัจจัยสี่ประการแรกที่แตกต่างจากคฤหัสถ์อย่างชัดเจน คือ การใช้เครื่องนุ่งห่มที่เรียบง่ายอย่างผ้าไตรจีวร

       ๒.๑ การจัดหาผ้าไตรจีวรและการนุ่งห่ม
       ๑) การจัดหาผ้าไตรจีวร ในสมัยพุทธกาลนั้น พระภิกษุต้องแสวงหาผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามกองขยะบ้าง ตามป่าช้าบ้าง ไปชักมาจากซากศพบ้าง เอามาตัดเย็บแล้วนำมาย้อมด้วยน้ำฝาดซึ่งเป็นน้ำจากเปลือกไม้ ดังเหตุการณ์หนึ่งในสมัยพุทธกาล ที่ต่อมาได้กลายเป็นแบบอย่างของประเพณีการทอดผ้าบังสุกุล ผ้าป่า และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีงามสำหรับพระภิกษุ

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

       สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธเถระ จำพรรษาอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ จีวรที่ท่านใช้อยู่นั้นเก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) ตามกองขยะ กองหยากเยื่อ เพื่อมาทําจีวร

       ในครั้งนั้นภรรยาในอดีตชาติของท่านชื่อ ชาลินี ได้เกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็นพระเถระแสวงหาผ้าอยู่เช่นนั้นก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงนำผ้าทิพย์จากสวรรค์ลงมายังโลกมนุษย์และคิดว่า “ถ้าเราจะนำเข้าไปถวายโดยตรง พระเถระก็คงไม่รับแน่” จึงหาอุบายซุกผ้าผืนนั้นไว้ในกองขยะกองหยากเยื่อ ให้ชายผ้าโผล่ออกมาในทางที่พระเถระกำลังเดินมุ่งหน้าไป เพื่อให้พระเถระสังเกตเห็น

       พระเถระเห็นชายผ้าผืนนั้นแล้วดึงออกมาพิจารณาเป็นผ้าบังสุกุลและคิดว่า “ผ้าผืนนี้เป็นผ้าบังสุกุลที่มีคุณค่ายิ่งนัก” แล้วนำกลับไปสู่อารามเพื่อจัดการทำจีวร

       ในการทําจีวรของพระเถระ พระบรมศาสดาทรงนําพระมหาสาวกและพระภิกษุจำนวนมากมาร่วมทำจีวรด้วยพระองค์เองพระองค์ทรงร้อยเข็ม พระมหากัสสปะนั่งอยู่ช่วงต้น พระสารีบุตรนั่งอยู่ตรงกลาง พระอานนท์นั่งอยู่ช่วงปลายสุด ทั้ง ๓ ท่านนี้ช่วยกันเย็บจีวร ส่วนพระภิกษุสงฆ์ที่เหลือก็ช่วยกันกรอด้าย พระมหาโมคคัลลานะคอยช่วยหยิบสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ ส่งให้พระเถระ

      ส่วนนางเทพธิดาซาลินีได้ไปชักชวนอุบาสกและอุบาสิกาในหมู่บ้านผู้เป็นอุปัฏฐากของพระอนุรุทธเถระ ให้นำภัตตาหารมาถวายพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ประมาณ ๕๐๐ รูป ท้าวสักกเทวราชได้ใช้เทวฤทธิ์ทำให้ภัตตาหารในวันนั้นมีปริมาณมากเพียงพอสําหรับพระภิกษุทั้งหมด ต่อมาพุทธบริษัทได้นำลักษณะการทอดผ้าบังสุกุลของนางเทพธิดาชาลินีที่นำผ้าไปวางซุกไว้ในกองขยะ กองหยากเยื่อ มาเป็นแบบอย่างในการทอดผ้าบังสุกุลและทอดผ้าป่าจวบจนปัจจุบัน

       เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดหาผ้าจีวรในสมัยพุทธกาลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย พระภิกษุต้องลำบากตั้งแต่ขั้นตอนการหาผ้า ไปจนกระทั่งตัดเย็บเสร็จ พระพุทธองค์ทรงแสดงให้เป็นตัวอย่างแก่ภิกษุทั้งหลายว่า จีวรเป็นบริขารที่มีความจำเป็นแก่ภิกษุมากหากภิกษุรูปใดมีจีวรเก่า ลำบากในการหาจีวร ให้ช่วยเหลือจัดหาให้กันและกัน จะได้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่สงฆ์ และการที่พระพุทธองค์ทรงนำพระมหาสาวกและพระภิกษุจำนวนมากร่วมกันเย็บจีวร โดยมีผู้ออกแบบผ้าจีวรคือพระอานนทเถระช่วยเย็บอยู่ด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นการแสดงแบบแผนการตัดเย็บจีวรที่ถูกต้องไว้เพื่อเป็นแนวทางแก่พระภิกษุผู้บวชใหม่ในภายหลัง

       อีกเรื่องหนึ่งที่น่าพิจารณา คือ เหตุใดพระพุทธองค์ทรงช่วยพระอนุรุทธเถระเย็บจีวร เนื่องด้วยทรงเป็นพระญาติร่วมสายโลหิตจึงได้ช่วยเหลือกันใช่หรือไม่

       แท้จริงแล้วการกระทำของพระพุทธองค์ทรงมุ่งประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนอยู่เสมอ ซึ่งในเหตุการณ์นี้ได้มีการโจษจันว่าพระอนุรุทธเถระเป็นผู้บอกญาติและอุปัฏฐากให้นำอาหารมาเลี้ยงพระภิกษุจำนวนมาก เพื่อต้องการอวดว่า ตนมีญาติมีอุปัฏฐากมากมายพระพุทธองค์จึงตรัสขึ้นว่า พระอนุรุทธะเป็นผู้หมดกิเลสแล้ว ธรรมดาของพระขีณาสพทั้งหลายจะไม่ทำเช่นนี้ อาหารเหล่านี้เกิดด้วยฤทธิ์ของเทวดา จากนั้นทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุและผู้คนที่มาในวันนั้น ทำให้มีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงหาโอกาสวางแบบแผนการปฏิบัติที่ดีงามแก่หมู่สงฆ์ และปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่มหาชนอยู่เสมอ

       ในเวลาต่อมาหมอชีวกได้เห็นถึงความยากลำบากในการแสวงหาผ้าไตรจีวรของพระภิกษุ จึงขอประทานอนุญาตจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้พระภิกษุสามารถรับจีวรจากผู้มีศรัทธาที่จัดหามาถวายได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระภิกษุจึงสามารถใช้จีวรได้ทั้ง ๒ ประเภท คือ จีวรที่มาจากผ้าบังสุกุล และจีวรที่มีผู้ถวายมาด้วยความศรัทธา

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

       ปัจจุบันมีความสะดวกสบายในการจัดหาจีวรเพิ่มมากขึ้นเพราะมีจำหน่ายอยู่ทั่วไปตามร้านสังฆภัณฑ์ สาธุชนผู้หวังบุญจึงจัดหาผ้าไตรจีวรไปถวายแด่พระภิกษุได้ง่ายกว่าแต่ก่อน เมื่อพระภิกษุได้รับมาแล้ว จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและหมู่สงฆ์มากที่สุด ในเรื่องนี้พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ให้โอวาทไว้ว่า

      เจ้าของผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนานำจีวรมาน้อมถวายพระสงฆ์ ผู้ถวายได้ส่วนที่เป็นเนื้อไปแล้วคือบุญ ส่วนที่เป็นกากนั้นพระภิกษุรับไป ถ้าภิกษุใดไม่ฉลาดก็เอาส่วนกากคือพื้นผ้าจีวรนั้นไปเก็บใส่ตู้ไว้ ทิ้งให้แมลงสาบ หนู กัดแทะเสียหายไป ถ้าฉลาดก็เก็บเอาไว้แจกพระภิกษุสามเณรรูปอื่นก็ได้เนื้อ คือบุญไปอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่าฉลาดสองชั้นสามชั้น ผ้าจีวรเมื่อได้มาควรเก็บไว้นั่งห่มพอสมควรเท่านั้น ถ้าผู้ใดฉลาดรับแล้วก็นำไปแจกหมด ท่านผู้นี้ปรากฏว่าจะเป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาต่อไป

      สรุปความได้ว่า หากพระภิกษุรูปใดได้จีวรมา ควรเก็บไว้ใช้แต่พอดีตามพุทธานุญาต เหลือจากนั้นควรสละออกเพื่อขจัดกิเลสในใจตน และเป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลด้วยการแบ่งปันให้แก่พระภิกษุรูปอื่น หากทำได้อย่างนี้ เรียกว่าเป็นผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา

      ๒) การนุ่งห่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการปกปิดร่างกายให้ดูเรียบร้อย ให้ความอบอุ่น ป้องกันอันตรายจากแมลงต่าง ๆ มีเหลือบ ยุง ริ้น ไร เป็นต้น และนุ่งห่มแบบนี้ไปตลอดชีวิต ไม่วิจิตรเปลี่ยนแปลงไปตามแฟชั่น

      ในช่วงแรก การเปลี่ยนจากกางเกงที่คุ้นเคยมานุ่งสองห่มจีวร ไม่ใช่เรื่องจะทำได้ง่าย เพราะยังไม่คุ้นเคยว่าผ้าชิ้นไหนเรียกว่าอะไร ควรนุ่งห่มอย่างไรบ้าง เช่น ผ้านุ่งปิดท่อนล่าง เรียกว่า ผ้าสบง สายรัดผ้าสบงคล้ายเข็มขัดแต่ทำมาจากผ้าถัก เรียกว่า ประคดเอว หรือรัดประคด

      ผ้าห่มเฉวียงบ่าผืนบาง ๆ อาจมีกระเป๋าด้านข้างและตรงหน้าอก จะมีซิปหรือไม่มีก็ได้ เรียกว่า ผ้าอังสะ ใช้สวมใส่ไว้ด้านในสุด อีกผืนที่ขนาดค่อนข้างใหญ่ใช้ห่มคลุมก็ได้ พับกลับไปกลับมาห่มเฉวียงบ่า เป็นลักษณะห่มดองครองจีวรก็ได้ เรียกว่า อุตราสงค์ และอีกผืนหนึ่งขนาดเท่ากัน นำมาพับทบกันสำหรับพาดบ่า เรียกว่า สังฆาฏิ นอกจากนี้ยังมีผ้าอีกผืนหนึ่งใช้รัดบริเวณหน้าอกเวลาห่มจีวรในลักษณะห่มดอง เรียกว่า ผ้ารัดอก ผ้าห่มผ้านุ่งของพระภิกษุสามเณรปกติก็มีอยู่เพียงเท่านี้

      สำหรับการนุ่งห่มผ้าเหล่านี้ มีวิธีการและลำดับขั้นตอนแตกต่างกันไป ชิ้นแรกเริ่มจากการนุ่งผ้าสบงก่อน ด้วยการคล้องผ้าขึ้นมาในลักษณะคล้ายนุ่งผ้าขาวม้า ให้ชายผ้าสบงด้านล่างอยู่ระดับครึ่งหน้าแข้ง จากนั้นจับปลายผ้าขึงไปข้างหน้าให้สุด แล้วจับจีบใหญ่พอประมาณสัก ๑ คืบ พับซ้าย พับขวา สลับไปมาเข้ามาหาลำตัวจนมาสุดที่บั้นเอว แล้วถือไว้อย่างนั้นก่อน

      แล้วจึงหยิบผ้าประคดเอวมาทาบด้านหน้าตรงจีบที่พับม้วนสายรัดพันไปรอบเอว วกกลับมาแล้วผูกให้แน่นไว้ที่ด้านหน้าท้องเหนือสะดือ จะผูกเงื่อนแบบไหนก็ได้แล้วแต่ถนัดแค่เพียงรัดให้กระชับพอดี อย่าให้หลวม อย่าให้หลุด ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

      ชิ้นที่สอง คือ ผ้าอังสะ ใช้สวมศีรษะลงไปได้เลย ไม่มีพิธีรีตองอะไร บางตัวที่ผ่าด้านข้างมีกระดุมก็ไม่ต้องคล้องศีรษะ ใส่ทางด้านข้างแล้วติดกระดุม เพียงแต่เฉวียงบ่าให้ถูกต้อง เพราะผ้าอังสะนี้จะต้องห่มเฉวียงเปิดบ่าด้านขวา

      การนั่งสบงและสวมอังสะถือได้ว่าเป็นการแต่งกายปกติของพระภิกษุเมื่ออยู่อาศัยภายในวัด ไม่มีกิจที่ต้องพบปะพูดคุยปฏิสันถารกับญาติโยม หรือประกอบพิธีกรรมสงฆ์ใด ๆ แต่ถ้าต้องรับญาติโยม มีพิธีกรรมสงฆ์ หรือเดินทางไปทำสมณกิจนอกวัดก็จะมีการนุ่งห่มแบบอื่นที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เอื้อเฟื้อต่อสมณกิจ ถูกต้องตามพระวินัย และรักษาศรัทธาของญาติโยม

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

      วิธีการห่มดองจะมีขั้นตอนเพิ่มเติมขึ้นมา เนื่องจากก่อนห่มจะต้องมีการพับผ้าเตรียมไว้ โดยมีการพับผ้าในลักษณะจำเพาะซึ่งต้องอาศัยพระสองรูปช่วยกันพับ แต่ถ้าชำนาญแล้วหรือต้องพักอาศัยอยู่เพียงลำพัง พระภิกษุรูปเดียวก็สามารถพับได้ พับเสร็จจึงนำมาพาดที่บ่าซ้าย จากนั้นค่อยๆ ดึงปลายผ้าที่พับไว้อ้อมจากทางด้านหลังในลักษณะเฉวียงบ่า มาคล้องเข้าใต้รักแร้ข้างขวาก่อนแล้วจึงนำไปสอดเข้าใต้ผ้าพับที่พาดไว้ตรงบ่าซ้าย สอดให้พออยู่ไม่หลุดลงมา จากนั้นนำผ้าสังฆาฏิที่พับแล้วมาพาดทับตรงบริเวณบ่าด้านซ้าย โดยให้ความกว้างของผ้าสังฆาฎิทาบทับพอดีกับจีวรตรงส่วนที่พาดบ่าตลอดแนวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ชายผ้าสังฆาฏิทั้งสองด้านควรต้องให้ยาวเสมอกันพอดีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

      จากนั้นใช้ผ้าชิ้นสุดท้าย คือ ผ้ารัดอก พาดจากข้างหลังในระดับอก แล้วจึงดึงอ้อมใต้รักแร้มาผูกระหว่างอก ลักษณะการผูกจะมีวิธีเฉพาะ ซึ่งต้องทำให้ปมที่ผูกดูเป็นระเบียบเรียบร้อย หลังจากนั้นก็จัดระเบียบผ้าส่วนต่าง ๆ ให้ภาพรวมในการห่มดองนี้เรียบร้อยอีกครั้ง

      นอกจากห่มดองแล้ว ยังมีการห่มเฉวียงบ่าหรือบางครั้งเรียกว่า ห่มลดไหล่แบบม้วนลูกบวบ คือการห่มผ้าปิดบ่าซ้ายเปิดบ่าขวาสำหรับการประกอบกิจภายในวัด หากต้องออกไปนอกวัดจะต้องห่มคลุมปิดบ่าทั้งสองข้าง ซึ่งในประเทศไทยมีการห่มคลุม ๒ รูปแบบ คือ แบบมหานิกายและแบบธรรมยุติกนิกาย

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

      การห่มคลุมปิดบ่าแบบมหานิกาย เรียกว่า ห่มมังกรซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมของพระไทย เพราะตรงแขนซ้ายเวลาม้วนจีวรแล้วนํามาพันรอบแขนซ้ายจะคดไปมาเหมือนมังกร ส่วนการห่มแบบธรรมยุติกนิกาย เรียกว่า ห่มคลุมแบบมอญ ม้วนจีวรเป็นลูกบวบม้วนออกเหมือนห่มลดไหล่ ต่างกันเพียงแต่แหวกจีวรที่ลูกบวบด้านล่างให้มือขวาโผล่มาได้

      ส่วนเรื่องของกางเกงชั้นในที่เป็นปัญหาว่านุ่งแล้วผิดพระวินัย ผิดศีลหรือไม่นั้น ไม่แน่ชัดในประเด็นนี้ แม้พระวินัยไม่ได้ระบุโดยตรงว่าห้ามพระภิกษุสามเณรนุ่งกางเกงชั้นใน แต่คงพิจารณาจากเกณฑ์ที่ว่า ห้ามนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ จะต้องอาบัติ และเอื้อต่อการฝึกสติสัมปชัญญะ เกิดความระมัดระวังในอิริยาบถต่าง ๆ จึงเป็นวัตรปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน

      อย่างไรก็ตาม ในอดีตไม่เคยมีกางเกงชั้นในมาก่อน แม้แต่ฆราวาสเองก็ไม่เคยนุ่งกางเกงชั้นใน จวบจนชาติตะวันตกนำเอาวัฒนธรรมการนุ่งกางเกงชั้นในเข้ามา จึงเกิดความนิยมขึ้นในหมู่ฆราวาส จะเป็นด้วยรสนิยมหรือใส่เพื่อป้องกันโรคบางชนิดที่ทางการแพทย์ให้เหตุผลกันก็ตามแต่ หากจะให้พระภิกษุสามเณรเปลี่ยนธรรมเนียมมาปฏิบัติก็ต้องพิจารณากันอีกมาก

      มีประเด็นที่น่าคิดอีกว่า หากยุคนี้บอกว่ากางเกงชั้นในใส่แล้วดีต่อสุขภาพ แล้วบัญญัติเพิ่มเติมว่าพระภิกษุสามเณรควรใส่กางเกงชั้นใน ในอนาคตอาจมีอะไรที่บอกว่าดีต่อสุขภาพขึ้นมาอีก ก็อาจมีการบัญญัติเพิ่มเติมเข้าไป ทำให้เป็นภาระแก่พระภิกษุสามเณรต้องจัดหามาใส่ เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นไปอีก

      ดังนั้น เมื่อพระภิกษุในสมัยพุทธกาลสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข และเป็นอย่างนั้นมาทุกยุคสมัย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ไตรจีวรนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการบำเพ็ญสมณธรรมอีกทั้งกางเกงชั้นในก็เป็นกางเกงชนิดหนึ่งซึ่งเป็นของฆราวาส จึงควรเลี่ยงเสีย

      สรุปว่า ไม่มีความจำเป็นอันใดที่พระภิกษุสามเณรต้องใส่กางเกงชั้นใน นุ่งห่มกันมาอย่างไรแต่เดิม ก็ยึดธรรมเนียมปฏิบัตินั้นให้เคร่งครัดเป็นพอ

      ดังนั้น แค่การนุ่งห่มของพระภิกษุก็ประหยัดค่าใช้จ่ายไปมากมาย ตัดความกังวลที่จะต้องสรรหาผ้า สรรหาชุดแบบต่าง ๆ มาสวมใส่ให้วุ่นวาย มีชุดเพียงแบบเดียวก็เพียงพอไปตลอดชีวิต หรือที่กล่าวกันว่า ชุดนอนชุดเที่ยวชุดเดียวกัน ชุดเที่ยวในที่นี้ไม่ได้มีความหมายว่าใส่ไปท่องเที่ยวแบบฆราวาส แต่หมายถึงการเที่ยวจาริกไปในที่ต่าง ๆ ซึ่งใช้เพียงชุดเดียวนี้ได้ทุกวาระโอกาส เพียงปรับวิธีห่มให้ถูกตามกาลเทศะเท่านั้น

      อย่างไรก็ตามเรื่องจีวรนี้ ต้องยกย่องในความเป็นผู้มีปัญญาของท่านพระอานนทเถระที่ยากจะหานักออกแบบชุดแต่งกายคนใดมาเทียบได้ เพราะเพียงได้ฟังพระพุทธดำรัสเป็นนัยจากพระผู้มีพระภาคเจ้าก็สามารถออกแบบจีวรของพระภิกษุได้ร่วมสมัย ออกแบบครั้งเดียวแล้วใช้นุ่งห่มมาได้อย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

      จะเห็นได้ว่า การนุ่งห่มแค่เพียงเรื่องเดียวก็แสดงถึงความประเสริฐยิ่งของชีวิตสมณะ เพราะมีจุดประสงค์การนุ่งห่มที่เป็นไปเพื่อฝึกฝนอบรมขัดเกลาจิตใจตัวเอง อีกทั้งมีความประหยัดเรียบง่าย ทำให้ไม่มีภาระและตัดกังวลในเรื่องต่าง ๆ ได้ง่าย

      ๒.๒ อาหาร
      การฉัน คือ การรับประทานอาหาร แต่ที่พระท่านเรียกว่า“ฉัน” เพราะวิธีการฉันของพระภิกษุแตกต่างจากคฤหัสถ์ ท่านต้องพิจารณาทั้งก่อนฉัน คือ ตั้งแต่การแสวงหา ขณะฉัน และหลังฉันเสร็จแล้ว หากไม่พิจารณาก็เป็นอาบัติ โทษฐานขาดปัญญาในการฉันฉันอย่างหลงงมงาย ฉันอย่างมัวเมาในรสชาติอาหาร คือ ฉันอย่างไม่รู้ประมาณ ฉันมากเกินความพอดีทั้งปริมาณและคุณภาพของอาหาร ถ้าฉันอย่างนี้ ฉันเท่าไรก็ไม่ฉลาดขึ้น เพราะไม่ได้ไถ่ถอนตนออกจากกิเลส ยิ่งฉันกิเลสยิ่งเพิ่มขึ้น อยากฉันของอร่อย ๆ ของประณีตยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก อย่างนี้ใช้ไม่ได้ การฉันของพระภิกษุจึงประเสริฐกว่า และแตกต่างจากการกินของคฤหัสถ์ตรงนี้

      ถ้าเป็นพระภิกษุแล้วฉันโดยไม่พิจารณาอาหารก็ขาดทุนได้บาปติดตัวไป เพราะญาติโยมเขาถวายมาด้วยความศรัทธา ถ้าพระภิกษุไม่ได้ประพฤติตนควรแก่ความศรัทธานั้นก็เท่ากับปล้นเขากิน หลอกเขากิน

      วิธีการพิจารณา เริ่มจากการออกบิณฑบาตเพื่อแสวงหาอาหาร ภิกษุต้องทำตนให้น่าเลื่อมใสจึงจะได้บิณฑบาตมา ญาติโยมที่ใส่บาตรจะได้ปลื้มใจ ปูหนทางสวรรค์นิพพานให้เขา อย่าให้เขารู้สึกหดหู่ใจเหมือนให้กับขอทาน ขณะรับก็ต้องพิจารณาโดยความเป็นธาตุจะได้ไม่หลงตนเอง และลดทิฏฐิที่ต้องขอชาวบ้านกินถ้าภิกษุรูปใดประพฤติตัวดีก็จะเป็นเนื้อนาบุญให้ญาติโยมได้ เวลาเขาตักบาตรก็ได้บุญมาก ทุกครั้งที่ออกบิณฑบาตก็เหมือนเอาบุญไปให้เขา เกิดความภาคภูมิใจในตน แต่ถ้าประพฤติไม่ดีก็เป็นเรื่องน่าเศร้าสําหรับตนไปเพราะเท่ากับหลอกปล้นเขามากิน

      ขณะที่ฉันภัตตาหารนั้น แม้ว่าเป็นพระภิกษุแล้วจะเลือกอาหารที่รับมาไม่ได้ ญาติโยมถวายมาอย่างไรก็ต้องฉันอย่างนั้นตามใจตนไม่ได้เหมือนสมัยเป็นคฤหัสถ์ แต่เวลาจะฉันก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมแก่สุขภาพของตน ไม่ให้เกิดโทษทางกาย คือ เกิดความแสลงโรคหรือก่อความอึดอัดในภายหลัง และไม่ให้เกิดโทษทางใจ คือ ความฟุ้งซ่าน กามกำเริบ เพราะไม่พิจารณาเลือกฉันหรือมัวเมาในอาหารมากเกินพอดี

      วิธีการฉันที่บางท่านใช้เพื่อกำจัดความมัวเมาในอาหารคือ การนำเอาอาหารที่ได้มาหลายชนิดใส่รวมกัน จะใส่รวมกันในบาตรหรือในจานชามก็ได้ แล้วราดคลุกรวมกัน แต่ต้องเลือกชนิดอาหารที่เข้ากันได้ ฉันไปแล้วไม่ทำให้ท้องเสียหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาศึกษาอย่างมีปัญญาอีกเช่นกัน ไม่ใช่คิดแต่จะเคร่งครัดอย่างเดียวโดยขาดปัญญา ทำให้คุณค่าทางอาหารเสียไปหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างนี้ใช้ไม่ได้ หากฉันไปแล้วร่างกายมีสุขภาพดี จิตใจก็ผ่องใส ถ้าฉันแบบนี้จึงสมควรเรียกว่า “ฉัน” เพราะยิ่งฉันก็ยิ่งได้ปัญญาได้บุญกุศลทุกคำกลืน

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

      ๒.๓ ที่อยู่อาศัย ที่นอน ที่นั่ง

      เรื่องที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของคฤหัสถ์ เพราะถ้าไม่มีก็ต้องร่อนเร่พเนจรไปไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เวลาจัดหาก็ต้องโอ่อ่า มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายตามฐานะ แต่เมื่อบวชเป็นพระภิกษุ ที่อยู่อาศัย ที่นอน หรือเสนาสนะ มีเพียงเพื่ออยู่อาศัย กันแดด กันฝน กันสัตว์ร้าย ก็เป็นอันใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องโอ่อ่าหรูหรา ไม่ยุ่งยากวุ่นวายในการดูแลรักษา เพื่อสงวนเวลาให้กับการขัดเกลาจิตใจ

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

      แม้บางคราวยังไม่มีกุฏิหรือเรือนว่าง ก็อาศัยเพียงกลดผูกอยู่ใต้ชายคา ใต้ต้นไม้ ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา เพียงเท่านี้ก็เพียงพอสำหรับผู้ประพฤติธรรม แต่สำหรับพระภิกษุที่อยู่อาศัยในเสนาสนะที่เขาจัดให้อย่างดี ต้องพิจารณาให้จงหนักว่า จะเข้าจะออก จะนั่งจะนอน เมื่อใช้สอยเสนาสนะนั้นแล้ว ปัญญาเพิ่มหรือกิเลสเพิ่มนี้เป็นพระปัญญาธิคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ทรงสอนให้พระภิกษุใช้เสนาสนะอย่างฉลาด ยิ่งใช้กิเลสต้องยิ่งลดลง

      ๒.๔ ยารักษาโรค
      ลำดับสุดท้ายที่แตกต่างจากคฤหัสถ์ คือ เรื่องการใช้เภสัชสำหรับพระภิกษุยิ่งประหยัดมาก พระพุทธองค์ทรงให้ใช้สิ่งที่ออกจากทวารเบื้องล่างของตน บางโรคก็ใช้แค่ยาดองน้ำมูตรเน่า มูตร คือ ปัสสาวะ และให้ใช้น้ำปัสสาวะของตนเองเท่านั้น บางโรคก็ต้องใช้คูถ (อุจจาระ) ในพระวินัยปิฎกระบุว่า มีพระภิกษุถูกงูกัดก็ให้ใช้“ยามหาวิณัฏ” ซึ่งประกอบด้วยตัวยา ๔ ชนิด คือ คูณ มูตร เถ้า ดิน อนุญาตเฉพาะกาลไม่ต้องรับประเคน หรือถ้าดื่มยาพิษเข้าไปทรงอนุญาตให้ดื่มน้ำเจือคูถ

      พระพุทธองค์ทรงอนุญาตคูถที่ภิกษุหยิบไว้ตอนกำลังถ่ายเป็นอันประเคนแล้วไม่ต้องรับประเคนอีก ที่ว่ามานี้คือ เภสัชสำหรับอาพาธหนัก ถ้าอาพาธอย่างกลางก็ให้ใช้ผลสมอดองด้วยน้ำมูตรโคแก้โรคผอมเหลือง อาพาธอย่างอ่อนก็ใช้สิ่งที่เป็นธรรมชาติพวกสมุนไพรที่พอหาได้สำหรับแก้โรคต่าง ๆ ที่ทรงอนุญาตไว้ในพระวินัย เภสัชชขันธกะ ซึ่งมีทั้งยาฉันและยาทาภายนอก โดยทั่วไปก็ทรงอนุญาตให้ตามที่แพทย์จัดถวาย ให้พิจารณาฉันแค่พอโรคหาย ไม่เป็นโทษต่อการบำเพ็ญเพียร และไม่ฉันเพื่อบำรุงตกแต่งร่างกาย

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

      จากที่กล่าวมานี้จะเห็นว่า การดูแลสรีระและการใช้สอยปัจจัยสี่ของพระภิกษุนั้นแตกต่างจากคฤหัสถ์อยู่มาก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นผู้อยู่ง่าย มักน้อย สันโดษ ไม่แสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาสนองความต้องการของตนดังเช่นตอนเป็นคฤหัสถ์ มีความสงบเสงี่ยมเจียมตน ญาติโยมถวายมาอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น การฝึกตนให้พอใจในสิ่งที่ได้รับอย่างนี้เป็นการข่มกิเลสในใจตนที่ดียิ่ง เมื่อฝึกมากเข้าจะสามารถลดความขัดเคืองใจและความถือตัวลงได้

 

"เพศนักบวชต่างจากคฤหัสถ์
โดยสรีระและบริขาร
ซึ่งความต่างนี้เป็นสัญลักษณ์
ของความเป็นผู้มักน้อย
สันโดษ เป็นอยู่ง่าย ไม่แสวงหาสิ่งต่าง ๆ
เพื่อสนองความต้องการของตน"

บรรพชิต มีเพศต่างจากคฤหัสถ์โดยบริขาร

 

๖ ขุ.ธ.อ. เรื่องพระอนุรุทธเถระ (ไทย.มมร) ๔๑/๓๗๗-๓๗๘
๗ วิ.ม. เภสัชชขันธกะ (ไทย.มมร) ๗/๔๓/๗๓-๗๔
๘ วิ.ม. เภสัชชขันธกะ (ไทย.มมร) ๓/๔๔/๗๔
๙ วิ.ม. เภสัชชขันธกะ (ไทย.มมร) ๓/๒๔-๙๓/๕๘-๑๖๒

 

 

บทความจากหนังสือ บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้
ดาวน์โหลดหนังสือเล่มนี้ (ไฟล์ PDF) ได้ที่นี่

บรรพชิตมหาพิจารณา สำนึกของพระเเท้

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017260511716207 Mins