ศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

วันที่ 07 กค. พ.ศ.2566

10-7-66LBr.jpg

ศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
๑. วัดเวฬุวันวิหาร.... วัดแรกในพระพุทธศาสนา
โปรดพระเจ้าพิมพิสาร

                 ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ตามพระพุทธาภิรมย์แล้วเสด็จจาริกไปสู่พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ล้วนเป็นปุราณชฏิลประทับอยู่ใต้ต้นไทรชื่อ สุประดิษฐ์เจดีย์ ในสวนตาลหนุ่ม เขตพระนครราชคฤห์นั้น

 

                พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทรงสดับข่าวว่า พระสมณโคดมศากยบุตรทรงผนวชจากศากยตระกูล มีพระกิตติศัพท์อันงาม ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ เสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ ใต้ต้นไทรชื่อสุประดิษฐ์เจดีย์ ในสวนตาลหนุ่ม ก็การเห็นพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นความดี


                จากนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราช ทรงแวดล้อมด้วยพราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุต เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า บางพวกถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประคองอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกประกาศนามและโคตรในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง บางพวกนั่งนิ่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง


                ครั้งนั้น พราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๒ นหุตเหล่านั้น มีความสงสัยว่าพระมหาสมณะประพฤติพรหมจรรย์ในท่านอุรุเวลกัสสป หรือว่าท่านอุรุเวลกัสสปประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความดำริในใจของพราหมณ์คหบดีชาวมคธนั้น ด้วยพระทัยของพระองค์ จึงตรัสกับท่านอุรุเวลกัสสปด้วยพระคาถาว่า
               “ดูก่อน ท่านผู้อยู่ในอุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฏิล ท่านเห็นเหตุอะไรจึงยอมละการบูชาเพลิง ท่านละเพลงที่บูชาเสียทำไมเล่า”

                ท่านพระอุรุเวลกัสสปทูลตอบว่า “ยัญทั้งหลายกล่าวยกย่อง รูป เสียง กลิ่น และรสที่น่าปรารถนาและสตรีทั้งหลาย ข้าพระพุทธเจ้าได้รู้ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นมลทินในอุปธิทั้งหลายแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง ในการบูชา”
                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า “ดูก่อนกัสสป ก็ใจของท่านไม่ยินดีแล้วในอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่นและรสเหล่านั้น ดูก่อนกัสสป ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ใจของท่านยินดีในสิ่งไรเล่า ท่านยินดีในเทวโลก หรือมนุษยโลก ท่านจงบอกข้อนั้นแก่เรา”
                ท่านพระอุรุเวลกัสสปทูลตอบว่า "ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นทางอันสงบ ไม่มีอุปธิ ไม่มีกังวล ไม่ติดอยู่ในกามภพ ไม่มีภาวะเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่ธรรมที่ผู้อื่นแนะให้บรรลุ เพราะฉะนั้นจึงไม่ยินดีในการเซ่นสรวง ในการบูชา"
                ลำดับนั้น ท่านพระอุรุเวลกัสสปลุกจากอาสนะ ห่มผ้าอุตราสงค์ เฉวียงบ่าซบเศียรลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก พระพุทธเจ้าข้า


                ขณะนั้น พราหมณ์ คหบดีชาวมคธทั้ง ๑๒ นหุตนั้น มีความเข้าใจว่าท่านอุรุเวลกัสสปประพฤติพรหมจรรย์ในพระมหาสมณะ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของพราหมณ์คหบดีด้วยพระทัยของพระองค์แล้ว ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในความออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิต ผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พราหมณ์ คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต ซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ณ ที่นั่งนั้นแล ดุจผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้นส่วนพราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต ขอแสดงตนเป็นอุบาสก

                ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงเห็นธรรมแล้ว ได้ทรงบรรลุธรรมแล้ว ได้ทรงรู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว ทรงมีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ทรงข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ทรงถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องทรงเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดาได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ครั้งก่อน เมื่อหม่อมฉันยังเป็นราชกุมาร ได้มีความปรารถนา ๕ ประการคือ


ขอหม่อมฉัน ได้รับอภิเษกในราชสมบัติ ๑
ขอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จมาสู่แว่นแคว้นของหม่อมฉัน ๑
ขอหม่อมฉันจึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ๑
ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงแสดงธรรมแก่หม่อมฉัน ๑
ขอหม่อมฉันจึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ๑


                ก็บัดนี้ ความปรารถนาของหม่อมฉัน สำเร็จแล้วทั้ง ๕ ประการ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนักภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายอย่างนี้ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจะเห็นรูป ดังนี้ หม่อมฉันนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์ทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอ พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉันในวันพรุ่งนี้
                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทําประทักษิณ แล้วเสด็จกลับไป

                 พระพุทธองค์ทรงรับสวนเวฬุวันเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา
                 ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวาย พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอังคาสภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขด้วยขาทนียโภชนียาหาร อันประณีตด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ รอจนพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จ ทรงนำหัตถ์ออกจากบาตร ห้ามภัตแล้ว ท้าวเธอได้ทรงพระราชดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนดีหนอ ซึ่งจะเป็นสถานที่ไม่ไกลไม่ใกล้จากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม ควรที่ประชาชนผู้ต้องประสงค์ จะเข้าไปเฝ้าได้กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่กึกก้อง ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย
                ครั้นแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่า สวนเวฬุวันของเรานี้แล ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านนัก สะดวกด้วยการคมนาคม กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนเงียบสงัด เสียงไม่ถูกก้อง เป็นสถานที่ควรแก่ผู้ต้องการความสงัด และควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย ฉะนั้น เราจึงถวายสวนเวฬุวัน แก่ภิกษุสงฆ์อันมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประมุข ลำดับนั้นจึงทรงจับพระสุวรรณภิงคาร ทรงหลั่งน้ำน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยพระราชดำรัสว่า
“หม่อมฉันขอถวายสวนเวฬุวัน แก่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระพุทธเจ้าข้า”


                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับอารามแล้ว ทรงชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นแจ้ง สมาทานอาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วเสด็จลุกจากที่ประทับเสด็จกลับ
                เพราะด้วยเหตุนี้ต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รับสั่งกับภิกษุทั้งหลาย ทรงอนุญาตอารามเวฬุวันจึงเป็นอาราม หรือวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา

 

               ราชคหเศรษฐีสร้างเสนาสนะถวาย
               หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับสวนเวฬุวันไว้แล้ว ท่านราชคหเศรษฐีเศรษฐีประจำนครราชคฤห์ ได้แสดงความประสงค์จะสร้างเสนาสนะถวายภิกษุสงฆ์ เนื่องจากในครั้งนั้น พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติเสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลาย เหล่าภิกษุพากันไปพำนักอยู่โคนไม้บ้าง ภูเขาบ้าง ซอกเขาบ้าง ถ้ำบ้าง ป่าช้าบ้าง ล้อมฟางบ้าง ฯลฯ เศรษฐีกรุงราชคฤห์ไปอัมพวันแต่เช้าตรู่ เห็นภิกษุเหล่านั้นเดินออกจากที่อยู่นั้น ๆ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ มีความเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปเรียนภิกษุเหล่านั้นให้ทูลถามพระพุทธองค์ เพื่อขออนุญาตสร้างเสนาสนะถวาย
              พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด คือ วิหาร ๑ เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น ๑ เรือนโล้น ๑ และถ้ำที่สร้างขึ้น ๑ เพื่อให้ภิกษุมีที่พำนักเป็นการถาวร
              พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเสนาสนะแล้ว ราชคหเศรษฐีให้สร้างวิหาร ๖๐ หลัง โดยวันเดียวเท่านั้น เมื่อสร้างเสร็จ ราชคหเศรษฐีเข้าไปเฝ้ากราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า "ขอพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ให้ทรงรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น”
              ครั้นเวลาเช้ารุ่งขึ้นหลังภัตกิจ ราชคหเศรษฐีกราบทูลพระพุทธองค์ว่า “ข้าพระพุทธเจ้าต้องการบุญ ต้องการสวรรค์ ได้สร้างวิหาร ๖๐ หลังนี้ไว้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไรในวิหารเหล่านั้น พระพุทธเจ้าข้า"
              พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนคหบดี เธอจงถวายวิหารเหล่านั้นแก่สงฆ์ ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ ทั้งที่มาแล้วและยังไม่มา” พระศาสดาทรงอนุโมทนาเสนาสนะของราชคหเศรษฐีด้วยคาถาว่า
“การถวายวิหารแก่สงฆ์เพื่อเร้นอยู่ เพื่อเจริญวิปัสสนา
พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญการถวายเสนาสนะแก่สงฆ์ว่าเป็นทานอันเลิศ”

 

๒. วัดเชตวันวิหาร
              อนาถบิณฑิกเศรษฐีถวายเชตวันวิหาร

              สมัยนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีนำเกวียน ๕๐๐ เล่ม บรรทุกสินค้าจากกรุงสาวัตถี ไปยังเรือนของเศรษฐีผู้เป็นสหายที่รักของตนในกรุงราชคฤห์ ได้สดับว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในกรุงราชคฤห์ เมื่อเวลาใกล้รุ่ง อนาถบิณฑิกคฤหบดีได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดาทางประตูที่เปิดด้วยอานุภาพของเทวดา ฟังธรรมแล้วได้ ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล


             ในวันที่สอง อนาถบิณฑิกคฤหบดีได้ถวายมหาทานแก่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้ขอให้พระศาสดาทรงรับปฏิญญา ที่จะเสด็จไปเมืองสาวัตถี
              ในระหว่างทางในที่ ๔๕ โยชน์ ได้ให้ทรัพย์แสนหนึ่งสร้างวิหารในที่ทุก ๆ หนึ่งโยชน์ แล้วซื้อสวนของเจ้าเซตด้วยเงิน ๑๔ โกฏิ โดยการปูลาดกหาปณะเต็มเนื้อที่ แล้วเริ่มทำการก่อสร้าง ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีนั้น ให้สร้างวิหารอันเป็นที่รื่นรมย์ใจ ในภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ด้วยการบริจาคเงิน ๑๔ โกฏิ ให้สร้างพระคันธกุฎี เพื่อพระทศพลตรงกลางแล้วให้สร้างเสนาสนะที่เหลือ เช่น กุฏิหลังเดียว กุฏิสองหลัง กุฏิทรงกลม ศาลาราย และปะรำ เป็นต้น สร้างสระโบกขรณี ที่จงกรม ที่พักกลางคืน และที่พักกลางวันในอาวาสอันเป็นที่อยู่แห่งหนึ่ง โดยแยกเป็นส่วนบุคคล สำหรับสัดส่วนของพระมหาเถระ ๘๐ เป็นกุฏิรายล้อมพระคันธกุฎีนั้นอยู่


               เมื่อพระเชตวันวิหารสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ได้ส่งทูตไปนิมนต์ให้พระทศพลเสด็จมา พระศาสดาได้ทรงสดับคำของทูตแล้ว มีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ


               ฝ่ายท่านมหาเศรษฐีก็ตระเตรียมการฉลองพระวิหาร ในวันที่พระตถาคตเสด็จเข้าพระเชตวันวิหาร ได้ตกแต่งบุตรด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วส่งไปพร้อมกับกุมาร ๕๐๐ คน ผู้ตกแต่งประดับประดาแล้วเหมือนกัน บุตรของเศรษฐีนั้นพร้อมทั้งบริวารถือธง ๕๐๐ คัน อันเรืองรองด้วยผ้า ๕ สีอยู่ข้างหน้าพระทศพล ธิดาเศรษฐี ๒ คน คือ นางมหาสุภัททาและ นางจุฬสุภัททา พร้อมด้วยกับกุมาริกา ๕๐๐ นาง ถือหม้อเต็มด้วยน้ำ ออกเดินไปข้างหลังของกุมารเหล่านั้น ภรรยาของท่านเศรษฐีประดับด้วยอลังการทั้งปวง พร้อมด้วยมาตุคาม ๕๐๐ นาง ถือถาดมีของเต็ม ออกเดินไปข้างหลังของกุมาริกาเหล่านั้น ท่านมหาเศรษฐีเองนุ่งผ้าใหม่พร้อมกับเศรษฐี ๕๐๐ คน ผู้นุ่งผ้าใหม่เหมือนกัน มุ่งไปเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามไปเบื้องหลังของคนทั้งหมด


               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำอุบาสกบริษัทนี้ไว้เบื้องหน้าอันภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงกระทำระหว่างป่าให้เป็นสีแดงเรื่อ ๆ ดุจราดรดด้วยน้ำทอง ด้วยพระรัศมีจากพระสรีระของพระองค์ เสด็จเข้าสู่พระเชตวันวิหารด้วยพุทธสิริอันหาประมาณมิได้


               ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะปฏิบัติในพระวิหารนี้อย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดี ถ้าอย่างนั้นท่านจงถวายแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ที่มาแล้วและยังไม่มายังวิหารนี้เถิด" ท่านมหาเศรษฐีรับพระพุทธฎีกาแล้วถือเต้าน้าทองคํา หลั่งนํ้าให้ตกลงบนพระหัตถ์ของพระทศพล แล้วกล่าวถวายด้วยค่าว่า
“ข้าพระองค์ขอถวายพระเชตวันวิหารนี้
แก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
ซึ่งอยู่ในทิศทั้ง ๔ ผู้มาแล้ว และที่ยังมิได้มา”

                พระศาสดาทรงรับวิหารแล้ว เมื่อจะทรงการทำอนุโมทนา ได้ตรัสอานิสงส์ของการถวายวิหารว่า
“เสนาสนะย่อมป้องกันความหนาว และความร้อน
แต่นั้น ย่อมป้องกันเนื้อร้าย งู ยุง น้ำค้าง และฝน
แต่นั้น ย่อมป้องกันลม และแดดอันกล้าที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมบรรเทาไป
การถวายวิหารแก่สงฆ์ เพื่อหลีกเร้นอยู่ เพื่อความสุข เพื่อเพ่งพิจารณา
และเพื่อเห็นแจ้ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ”

                เพราะเหตุนั้นแล บุรุษผู้เป็นบัณฑิตเมื่อเล็งเห็นประโยชน์ของตน พึ่งสร้างวิหารอันรื่นรมย์ ถวายให้เป็นที่อยู่ในภิกษุผู้เป็นพหูสูตเถิด
                อนึ่ง จึงถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะแก่ท่านเหล่านั้น ด้วยใจอันเลื่อมใสในท่านผู้ปฏิบัติตรง เพราะท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรม อันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขาผู้ถวายวิหาร เมื่อเขารู้ทั่วถึงแล้ว จะเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพานในโลกนี้
               จำเดิมแต่วันที่สองไป ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเริ่มการฉลองวิหาร ๙ เดือนจึงเสร็จ หมดทรัพย์ไปถึง ๑๘ โกฏิ สำหรับการฉลองวิหาร
               ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ซื้อที่ดินด้วยการปูลาดกหาปณะเต็มเนื้อที่ สิ้นทรัพย์จำนวน ๑๔ โกฏิ สร้างสังฆารามประมาณ ๘ กรีส ลงในพื้นที่นั้น ๑๔ โกฏิ ฉลองพระวิหารอีก ๑๘ โกฏิ เฉพาะพระเชตวันมหาวิหารอย่างเดียว ท่านได้บริจาคทรัพย์นับได้ ๕๔ โกฏิ ได้ยินว่า สถานที่นี้เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทั้งปวงมิได้ทรงละแล้ว


๓. วัดบุพพาราม
               นางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างบุพพาราม

               นางวิสาขาอุบาสิกา เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนาเทวี ในภัททิยนครแคว้นอังคะ ในเวลาที่นางมีอายุ ๗ ขวบ พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยที่พึงแนะนำเพื่อการตรัสรู้พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จไปนครนั้น


                เมณฑกเศรษฐีให้นางวิสาขาไปรับพระศาสดา
                ในสมัยนั้น เมณฑกเศรษฐี ผู้เป็นบิดาของธนัญชัยเศรษฐีได้ทราบความที่พระบรมศาสดาเสด็จมาถึงภัททิยนคร ได้เรียกเด็กหญิงวิสาขาผู้เป็นหลานสาว แล้วกล่าวว่า แม่หนูนับเป็นมงคลทั้งแก่เจ้าทั้งแก่เรา แม่หนูกับพวกเด็กหญิงบริวารของเจ้าทั้ง ๕๐๐ จงขึ้นรถ ๕๐๐ คัน
แวดล้อมด้วยทาสี ๕๐๐ คน จงไปทำการต้อนรับพระศาสดา
                 เพราะความที่นางเป็นผู้ฉลาดในเหตุอันควรและไม่ควร นางจึงไปด้วยยาน เท่าที่หนทางจะไปได้ลงจากยานแล้วก็เดินมุ่งตรงไปเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

 

                 นางวิสาขาได้ โสดาปัตติผลแต่อายุ ๗ ขวบ
                 ครั้งนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรม ด้วยสามารถแห่งบุพจริยาของนาง ในเวลาจบเทศนา เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยเด็กหญิงบริวาร ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
                 นางวิสาขาจึงชื่อว่าได้เป็นอริยบุคคลตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงอายุเพียง ๗ ขวบ ฝ่ายเมณฑกเศรษฐีเข้าเฝ้าพระศาสดาฟังพระธรรมกถานั้น ก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลเช่นกัน จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสวยภัตตาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น ได้อังคาสภิกษุสงฆ์อันมี
พระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีตที่เรือนของตน เมณฑกเศรษฐีได้ถวายมหาทานโดยอุบายนี้แล ตลอดกึ่งเดือนพระศาสดาประทับอยู่ในภัททิยนคร ตามความพอพระหฤทัยแล้วก็เสด็จหลีกไป
                  ในเวลาที่นางวิสาขามีอายุได้ ๑๖ ปี มิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถีได้สู่ขอนางให้แก่ปุณณวัฒนกุมาร ผู้เป็นบุตรของตน เมื่อนางแต่งงานเข้ามาสู่สกุลของมิคารเศรษฐีในกรุงสาวัตถีแล้ว ได้กระทำให้มีการเศรษฐีและภรรยาละจากความเลื่อมใสในพวกสมณะเปลือยมีใจเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วได้ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้บรรลุโสดาปัตติผลทั้งสองคน
                  ท่านมิคารเศรษฐีซาบซึ้งในคุณของนาง ที่ทำให้ตนได้โลกุตตรสมบัติเช่นนั้น จึงได้สถาปนานางวิสาขาไว้ในตำแหน่งมารดาของตน
                  นิเวศน์ของนางวิสาขา ในเวลาเช้าก็มลังเมลือง๑๐ ไปด้วยผ้ากาสาวะ คลาคล่ำไปด้วยนักแสวงบุญ ภายในเรือนก็จัดทานไว้พร้อมสรรพ เหมือนในเรือนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขานั้นในเวลาเช้าก็ทำอามิสสงเคราะห์แก่พระภิกษุสงฆ์ ภายหลังอาหารก็ให้บ่าวไพร่ถือเภสัชและน้ำอัฏฐบาน๑๑ ไปยังวิหาร ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วก็กลับมาเป็นกิจวัตร

                   นางวิสาขาลืมเครื่องประดับไว้ที่วิหาร
                   ก็โดยสมัยนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดา มีบุตรมาก มีหลานมาก มีบุตรหาโรคมิได้ มีหลานหาโรคมิได้ สมมติกันว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งในกรุงสาวัตถี บรรดาบุตรหลานตั้งพันแม้คนหนึ่ง ที่ชื่อว่าจะถึงความตายในระหว่าง มิได้มีในงานมหรสพที่เป็นมงคลชาวกรุงสาวัตถีย่อมเชื้อเชิญนางวิสาขาให้บริโภคก่อน ต่อมาในวันมหรสพวันหลังเมื่อมหาชนแต่งตัวไปวิหารเพื่อฟังธรรม แม้นางวิสาขาเมื่อบริโภคที่เขาเชิญแล้ว ก็แต่งเครื่องมหาลดาปสาธน์ไปวิหารกับด้วยมหาชน ขณะที่เดินไปสู่วิหาร คิดว่าการจะสวมเครื่องประดับนี้เข้าไปสู่วิหารไม่สมควร จึงได้เปลื้องเครื่องประดับนั้นออกห่อไว้ ส่งให้หญิงคนใช้ผู้ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก ผู้เกิดด้วยบุญของตนถือเอาไว้ หญิงคนใช้นั้นย่อมอาจเพื่อรับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นได้
                   ก็นางวิสาขา ครั้นให้ห่อเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นแก่คนใช้แล้ว จึงสวมเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะ เข้าไปเฝ้าพระศาสดา สดับธรรมแล้ว นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ฝ่ายคนใช้นั้นก็ลืมเครื่องประดับนั้นแล้ว
                  ธรรมดาเมื่อบริษัทฟังธรรมหลีกไปแล้ว พระอานนท์เถระย่อมเก็บงำของที่ลืมนั้นไว้ให้ เพราะเหตุดังนี้ ในวันนั้นท่านเห็นเครื่องประดับนั้นแล้ว จึงทูลแก่พระศาสดา ๆ ตรัสว่า “จงเก็บไว้ในที่สุดข้างหนึ่งเถิดอานนท์” พระเถระยกเครื่องประดับนั้นเก็บคล้องไว้ที่ข้างบันได
                 ฝ่ายนางวิสาขาเที่ยวเดินไปภายในวิหารกับนางสุปปิยา ด้วยตั้งใจดูแลภิกษุไข้และภิกษุ สามเณรผู้ประสงค์เภสัช เป็นต้น ในขณะนั้น หญิงคนใช้นั้นรู้ว่าตนลืม จึงบอกแก่นางวิสาขา ๆ กล่าวว่า “ถ้ากระนั้นจงไปนำมา แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์เถระของเรายกเก็บเอาไว้ ในที่อื่นเจ้าอย่าได้ไปเอามา ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้นถวายพระผู้เป็นเจ้านั่นแล


                 นางวิสาขาซื้อที่สร้างวิหารถวายสงฆ์
                 ฝ่ายพระอานนท์เถระ เห็นนางคนใช้มา จึงกล่าวว่า ฉันเก็บมันไว้ที่ข้างบันไดนั้นเจ้าจงเอาไป หญิงคนใช้ตอบว่า “พระผู้เป็นเจ้าห่อภัณฑะที่ท่านเอามือถูกต้องแล้ว แม่เจ้าของดิฉันสั่ง มิให้นำเอาไป ดังนี้แล้วก็มีมือเปล่ากลับไปบอกนาง"

                 นางวิสาขากล่าวว่า “แม่ ฉันจักไม่ประดับเครื่องประดับที่พระผู้เป็นเจ้าของดิฉันถูกต้องแล้ว ฉันบริจาคตั้งแต่พระผู้เป็นเจ้ารักษาไว้” นางคิดว่า ถ้าจำหน่ายเครื่องประดับแล้วนางก็จักน้อมนำสิ่งที่เป็นกัปปิยะไป เมื่อหญิงคนใช้นั้นไปนำเอามาแล้ว นางวิสาขาสั่งให้เรียกพวกช่างทองมาแล้วให้ตีราคา ช่างทองได้ตีราคาว่ามีราคาถึง ๙ โกฏิ ส่วนค่ากำเหน็จต้องถึงแสน นางจึงวางเครื่องประดับไว้บนยานแล้วกล่าวว่า “ถ้ากระนั้นพวกท่านจงขายเครื่องประดับนั้น”
                 ก็แต่ว่าไม่มีใครสักคนจักอาจให้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นได้ เพราะหญิงผู้สมควรที่จะประดับ เครื่องประดับนั้นหาได้ยากแท้ จริงแล้ว มีหญิง ๓ คนเท่านั้นในปฐพีมณฑลนี้ ที่จะได้ประดับมหาลดาปสาธน์ คือ นางวิสาขาอุบาสิกา ๑ นางมัลลิกาภรรยาของพันธุลมัลลเสนาบดี
๑ บุตรสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑
                 เพราะฉะนั้น นางวิสาขาจึงซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเอง แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิหนึ่งแสนขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า “พระเจ้าข้าพระอานนท์เถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉันเอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว จำเดิมแต่กาลที่ท่านถูกต้องแล้วหม่อมฉันไม่อาจประดับได้ แต่หม่อมฉันจักให้ขายเครื่องประดับนั้นด้วยคิดว่าจักจำหน่ายแล้วน้อมนำเอาสิ่งอันเป็นกัปปิยะมาถวาย แต่ไม่เห็นผู้อื่นสามารถรับไว้ใต้ หม่อมฉันจึงรับเสียเอง และบัดนี้ได้นำมาแล้ว หม่อมฉันจะน้อมเข้าไปปัจจัยไหน ในปัจจัย ๔ พระเจ้าข้า”
                พระศาสดาตรัสว่า “วิสาขา เธอควรจะทำที่อยู่เพื่อสงฆ์ ที่ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศเถิด" นางวิสาขาทูลรับว่า “สมควรแล้วพระเจ้าข้า” นางมีใจเบิกบาน จึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิ ไปซื้อเฉพาะที่ดิน นางเริ่มสร้างวิหารด้วยทรัพย์อีก ๙ โกฏิ การสร้างวิหารของนางวิสาขา ๙ เดือนก็แล้วเสร็จ


                สร้างบุพพาราม
                ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยสมบัติของเศรษฐีบุตรนามว่าภัททิยะ ผู้จุติจากเทวโลก แล้วเกิดในตระกูลเศรษฐีในภัททิยะนคร ครั้นทรงทำภัตกิจในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว เสด็จบ่ายพระพักตร์ไป ยังประตูทางด้านทิศอุดร ตามปกติพระศาสดาทรงรับภิกษาไปเรือนของนางวิสาขาแล้ว ก็จะเสด็จออกทางประตูด้านทักษิณ แล้วประทับอยู่ในพระเชตวัน หากวันใดทรงรับภิกษาในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วก็จะเสด็จออกทางประตูด้านปราจีน มาประทับอยู่ในบุพพาราม
                ครั้งนั้น หากชนทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินมุ่งตรงสู่ประตูด้านทิศอุดรแล้ว ย่อมรู้ได้ว่าจักเสด็จไปสู่ที่จารึก จึงทูลว่า “พระเจ้าข้า หม่อมฉันได้บริจาคทรัพย์จำนวนเท่านี้ ให้สร้างวิหารถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับเถิดพระเจ้าข้า” พระศาสดาตรัสว่า “นี้เป็นการไปยังไม่กลับ หากเธอพอใจภิกษุรูปใด ก็จงรับบาตรของภิกษุรูปนั้นเถิดวิสาขา"
                นางวิสาขานั้น แม้นางจะพอใจพระอานนท์เถระก็จริง แต่ก็คิดว่า พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้มีฤทธิ์ การงานของเราจักพลันสำเร็จ ก็เพราะอาศัยพระเถระนั่น ดังนี้แล้วจึงรับบาตรของพระเถระไว้
                พระเถระแลดูพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า “โมคคัลลานะ เธอจงพาภิกษุบริวารของเธอ ๕๐๐ รูปกลับเถิด” พระโมคคัลลานะเถระได้ทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว
                ด้วยอานุภาพของพระเถระนั้น พวกมนุษย์ผู้ไปเพื่อต้องการไม้และเพื่อต้องการหิน ระยะทางแม้ตั้ง ๕๐-๖๐ โยชน์ ก็ขนเอาไม้และหินมากมายมาให้ทันในวันนั้นนั่นเอง แม้ยกไม้และหินใส่ เกวียนก็ไม่ลำบากเลย เพลาเกวียนก็ไม่หัก กาลไม่นานนัก พวกเขาก็สร้างปราสาท
๒ ชั้นเสร็จ ปราสาทนั้น เป็นปราสาทที่ประดับด้วยห้องพันห้อง คือ ชั้นล่าง too ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง นางให้สร้างยอดปราสาทอันจุน้ำได้ ๖๐ หม้อ ด้วยทองคำสีสุกที่บุเป็นแท่ง นั่นแล
                พระศาสดาเสด็จดำเนินจาริกไปโดยเวลา ๙ เดือน แล้วได้เสด็จกลับมากรุง -สาวัตถี นางวิสาขาได้ยินว่า พระทศพลเสด็จมาแล้วยังเชตวันมหาวิหาร จึงไปทำการต้อนรับแล้วนำพระศาสดาไปที่วิหารของตน รับปฏิญญาว่า “พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดพาภิกษุสงฆ์ให้ประทับอยู่ในวิหารนี้แหละตลอด ๔ เดือนนี้ หม่อมฉันจักทำการฉลองปราสาท”พระศาสดาทรงรับแล้ว

 

                นางวิสาขาทำบุญฉลองวิหาร
                จำเดิมแต่กาลนั้น นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในวิหารนั่นแลตลอด ๔ เดือน ในวันสุดท้ายได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวร ที่ภิกษุใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว นางได้ถวายเภสัชเต็มบาตรแก่ภิกษุทุกรูป ในเพราะการบริจาคทานนี้ ทรัพย์ได้หมดไปทั้งสิ้น ๙ โกฏิ
                นางวิสาขาบริจาคทรัพย์ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือในการซื้อพื้นที่แห่งวิหาร ๙ โกฏิ ในการสร้างวิหาร ๙ โกฏิ ในการฉลองวิหาร ๙ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้

 

 

เชิงอรรถ

นหุต หมายถึง จำนวนนับหลักหมี่น

อุปธิหมายถึง สภาพที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง, สภาพที่ถูกอุปทานยึดมั่นไว้เบญจขันธ์๒ กิเลสเป็นเหตุถือ มั่น ความยึดมนถือมั่น คือ อุปทาน

อุตราสงค์หมายถึง ผ้าผืนหนึ่งในจำนวน ๓ ผืนของไตรจีวร ได้แก่ ผืนที่เรียกกันสามัญว่า “จีวร”

ดุษณีภาพ แปลว่า ความเป็นผู้นิ่ง เป็นอากัปกิริยาการตอบรับ ไม่ปฏิเสธ

ขาทนียโภชนียาหาร หมายถึง ของควรเคี้ยว ของขบเคี้ยว

สมณวิสัย หมายถึง ลักษณะที่เป็นอยู่ของผู้สงบ ลักษณะที่เป็นอยู่ของสมณะ

พระสุวรรณภิงคาร หมายถึง หม้อนํ้าที่ทำด้วยทองคำ (รูปคนโท)

ปฏิญญา หมายถึง การให้คำมั่นโดยสุจริตใจ การยืนยัน

พระคันธกุฎีหมายถึง กุฏิอบด้วยกลิ่นหอม เป็นที่ประทับของพระสัมมาส้มพุทธเจ้า (อย่างไรก็ตาม คำเรียก ที่ประทับของ พระพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันว่าคันธกุฎีมีใช้แต่ในคัมภีร์อรรถกถาลงมา ไม่มีในพระไตรปิฎก)

๑๐ มลังเมลือง หมายถึง สุกใส, อร่ามเรือง

๑๑ นํ้าอัฎชิบาน หมายถึง นํ้าที่คั้นจากผลไม้ (นํ้าปานะ) ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต มี ๘ ชนิด คือ นํ้าปานะทำ ด้วยผลมะม่วง ๑ นำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ นํ้าปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ นํ้าปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ด นํ้าปานะทำด้วยผลมะทราง ๑ นํ้าปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ นํ้าปานะทำด้วยเหง้าบัว ๑ นํ้าปานะทำด้วยผลมะปรางหรือ สินจ ๑

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0051789164543152 Mins