ภยญาณ

วันที่ 30 ตค. พ.ศ.2566

30-10-66_4b.png

๖. ภยญาณ


                    ภยญาณ เป็นญาณที่กำหนดรูปนาม โดยความเป็นของน่ากลัว

                เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญภังคานุปัสสนาญาณแก่กล้ามากขึ้น สังขารทั้งหลายจะปรากฏให้เห็นเป็นของน่ากลัวมาก เหมือนคนขี้ขลาดรักชีวิตเห็นสิ่งน่ากลัวต่าง ๆ เช่นสัตว์ร้ายหรืออันตรายร้ายแรงปรากฏอยู่ตรงหน้า เพราะเข้าใจถ่องแท้ว่า สังขารที่เกิดในอดีตก็ดับไปแล้วในปัจจุบันก็กำลังดับ และแม้ที่จะเกิดในอนาคตก็จะต้องดับเช่นเดียวกัน

               สภาพที่น่ากลัว แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด มูลวัตถุ และปริยายวัตถุ

               มูลวัตถุ ได้แก่ที่ตั้งที่เป็นรากเหง้าเค้ามูลแห่งกองทุกข์มี ๕ อย่างคือ
                - การเกิดขึ้นของขันธ์ ๕ ทำให้ทุกข์ติดตามมาทั้งทุกข์ประจำและทุกข์จร
                - ความเป็นไปไม่ขาดสายขาดตอนของรูปนามในภพทั้งสาม
                - ไตรลักษณ์ของรูปนาม อันเป็นสิ่งไร้สาระ ว่างเปล่า ไม่มีแก่นสาร
                - กรรมทำให้ต้องปฏิสนธิสืบต่อไป ต้องมีรูปนามต่อไปอีก
                - เมื่อเกิดอีก ความทุกข์ต่าง ๆ ก็ติดตามมาอีก

              ปริยายวัตถุ ได้แก่ที่ตั้งของทุกข์โดยอ้อม คือ คติ นิพพัตติ อุปปัตติ ชาติชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ อุปายาสะ

                - คติ ได้แก่ทางดำเนินของชีวิต หลังจากตายแล้ว มี ๒ ทาง คือ ทุคติและสุคติ
                - นิพพัตติ ได้แก่ความปรากฏแห่งขันธ์ มี ๓ ได้แก่ขันธ์ที่ปรากฏในอรูปภูมิ ๔ในอสัญญสัตตภูมิ และใน ๒๖ ภูมิที่เหลือ
                - อุปปัตติ ได้แก่ภพที่จะต้องไปเกิด มี กามภพ รูปภพ อรูปภพ
                - ชาติ ได้แก่ปฏิสนธิ คำว่าชาติ นอกจากจะเกิดในอสัญญสัตตภูมิ อรูปภูมิและภูมิที่เหลือ ๒๖ แล้ว ยังหมายความได้อีก ๒ นัย คือสมมติชาติ ได้แก่การเกิดแล้วตายของสรรพสัตว์ สันตติชาติ ได้แก่ ความสืบต่อของรูปนาม ซึ่งมีอยู่ ๔ คือ วยะ (วัย)วัสสะ (ปี เดือน) อุตุ ทิวสะ อิริยาบถ และขณิกชาติ

               วัย แบ่งเป็น ๓ แรกเกิดถึงอายุ ๒๕ เรียกปฐมวัย อายุ ๒๖ ปีถึง ๕๐ เรียกมัชฌิมวัย อายุ ๕๐ ปีจนตายเรียกปัจฉิมวัย
               อุตุ หมายถึงฤดูทั้ง ๓ มีฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว
               ทิวสะ หมายถึงวัน แบ่งออกเป็น ๓ เวลา เช้า เที่ยง เย็น ถ้าแบ่งละเอียดเป็นชั่วโมง นาที วินาที
               อิริยาบถ หมายถึง การยืน เดิน นั่ง นอน
               ขณิกชาติ หมายถึงการเกิดของรูปนามชั่วขณะหนึ่ง ๆ เช่นขณะตาเห็นรูปขณะหูได้ยินเสียง ฯลฯ

                - ชรา ได้แก่ความคร่ำคร่า ความแก่ ความเสื่อมไปของรูปนาม มี ๓ อย่างสัมมติชรา สันตติชรา และขณิกชรา

                    สัมมติชรา เป็นความแก่ที่ชาวโลกรู้จัก มีผมหงอก หนังเหี่ยว เป็นต้น
                    สันตติชรา เป็นการแก่ไปตามลำดับของรูปนาม นับตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งตาย มีความสืบต่อคือสันตติอยู่ตลอดไป
                    ขณิกชรา คือการแก่ชั่วขณะหนึ่ง ๆ มี อุปาทะ (เกิด) ฐิติ (ตั้งอยู่และเป็นชราอยู่ในตัว) ภังคะ (ดังไป)

               - พยาธิ ได้แก่ความเจ็บไข้ทั้งปวง มีทุกขเวทนาเพราะถูกโรค ๔๙ อย่างเบียดเบียน มีโรคดังนี้ โรคในตา หู จมูก ลิ้น กาย ศีรษะ ปาก ฟัน โรคไอ โรคหู โรคหืด (รวมโรคสะอึกด้วย) โรคหวัด โรคร้อนใน (ไข้พิษ) ไข้เชื่อม โรคในท้อง โรคลมจับ โรคบิด จุกเสียด (ตะคิว) โรคลงราก โรคเรื้อน โรคผี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู หิดเปื่อย หิดด้าน คุดทะราด หูด ละลอก อาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน เริ่ม พุพอง ริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน มีลมเป็นสมุฏฐาน ไข้สันนิบาต" ความเจ็บเกิดแต่ฤดูแปรปรวน เกิดแต่การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ เกิดแต่ความเพียรกล้า เกิดแต่วิบากของกรรม เกิดจากความเย็น ร้อน หิวกระหาย เพราะอุจจาระ ปัสสาวะ

              - มรณะ ความตายแบ่งเป็น ๒ ตายตามกาล คือสมควรตายเช่นสิ้นอายุสิ้นกรรม สิ้นทั้งอายุและกรรม ตายยังไม่ถึงเวลา เช่นอุบัติเหตุบางประการ
               หรือจะแบ่งความตายออกเป็น สัมมติมรณะ ขณิกมรณะ และสมุจเฉทมรณะ
                       สัมมติมรณะ ตายโดยสมมุติเช่นที่เรารู้จักกัน
                       ขณิกมรณะ ตายอยู่ทุกขณะ เช่นขณะตาเห็นรูปแล้วดับไป ฯลฯ
                       สมุจเฉทมรณะ ตายชนิดตัดขาดจากวัฏฏสงสาร เช่นการตายของพระอรหันต์

              - โสกะ คือความเศร้าโศก มีลักษณะเร่าร้อนอยู่ภายในมี ๕ ประการ ได้แก่ พยสนะ (ความเสื่อม) เสื่อมญาติ เสื่อมโภคะ เพราะโรคเบียดเบียน เพราะศีลวิบัติ และทิฏฐิวิบัติ

              - ปริเทวะ การร่ำไรบ่นเพ้อ เพราะสาเหตุทั้ง ๕ เช่นเดียวกัน

              - อุปายาสะ ความคับแค้นใจ ได้แก่ความเศร้าโศกอย่างสุดซึ้ง มีสาเหตุ ๕ อย่าง เช่นกัน

              โสกะเหมือนของที่ร้อนจนเดือด
              ปริเทวะเหมือนของที่เดือดนั้นไหลล้นออกมาข้างนอก
              อุปายาสะ เหมือนของที่ล้นถูกความร้อนจัดยิ่งขึ้นจนแห้งไหม้

              มูลวัตถุ ๕ ปริยายวัตถุ ๑๐ เป็นของน่ากลัว เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นความน่ากลัวดังนี้จัดเป็นภยญาณ

              หรือจะพิจารณาให้เห็นถึงความทุกข์ต่าง ๆ เกี่ยวกับ สภาวะทุกข์ ปกิณณกทุกข์นิพัทธทุกข์ พยาธิทุกข์ สันตาปทุกข์ วิปากทุกข์ สหคตทุกข์ อาหารปริเยฏฐิทุกข์ วิวาทพลกทุกข์ ทุกข์ขันธ์

                 สภาวะทุกข์         คือทุกข์ประจำสังขาร ได้แก่ ชรา มรณะ พยาธิ
                                                                   
                ปกิณณกทุกข์       คือทุกข์จรมา เช่นโสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส

                นิพัทธทุกข์          คือทุกข์เนืองนิตย์ ทุกข์ที่เป็นเจ้าเรือน เช่นหนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ

                พยาธิทุกข์           คือทุกขเวทนาที่เกิดจากอวัยวะไม่ทำหน้าที่ตามปกติ เพราะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

                สันตาปทุกข์         คือความรุ่มร้อนแผดเผา

                วิปากทุกข์            คือทุกข์ที่เป็นผลจากเหตุต่าง ๆ

                สหคตทุกข์           คือทุกข์ที่เกิดร่วมกัน กำกับกันไป

                อาหารปริเยฏฐิทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากการหาเลี้ยงชีพ

                วิวาทมูลกทุกข์      ทุกข์ที่เกิดจากการทะเลาะวิวาทกันเป็นมูล

                ทุกขขันธ์              เป็นทุกข์รวมยอด เพราะมีอุปาทานในขันธ์จึงเกิดทุกข์ทั้งปวง
 
                   เพราะมีทุกข์ในรูปทุกข์ในนามดังนี้ จึงเกิดความเดือดร้อน ความทนได้ยากตราบใดที่ยังมีรูปมีนาม ทุกข์ก็ยังต้องเกิดอยู่ตราบนั้น นับเป็นภัยใหญ่ที่น่ากลัว
                   เมื่อเห็นชัดแจ้งว่ารูปนามเป็นภัยดังนี้ จัดเป็นภยญาณเป็นทุกข์รวมยอด เพราะมีอุปาทาน

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012451330820719 Mins