โอวาทวันมาฆบูชา ๒๕๒๖

วันที่ 16 กพ. พ.ศ.2567

160267b01.jpg      
พระธรรมเทศนาพระสุธรรมยานเถร (หลวงพ่อธัมมชโย)

โอวาทวันมาฆบูชา ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖

 

        ในแนวการประพฤติปฏิบัติตามตำรับตำราเป็นของดีทั้งนั้น แต่ว่าวันนี้ ขอได้โปรดยกเอาความรู้ที่เราเคยได้ยินได้ฟัง หรือศึกษา เอาวางไว้บนหิ้งบูชาของเราซะก่อน ทำประหนึ่งว่าตัวของเราไม่มีความรู้อะไรเลย เป็นคนที่ไร้เดียงสา ที่ไม่มีความรู้ ยังไม่มีความรอบรู้อะไร ทำง่าย ๆ สบาย ๆ ความรู้เหล่านั้นจะได้ไม่เป็นสิ่งที่ จะขัดขวางในการนำจิตของเราให้หยุดให้นิ่ง เพราะฉะนั้นเราจะใช้เวลา ๒-๓ นาที ในการที่เราจะขจัดความรู้สึก นึกคิดทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในใจของเรา ให้ปลอดกังวล ให้ไร้กังวล ทำให้เบาสบาย ให้แช่มชื่น ให้เบิกบาน ให้ยิ้มอยู่ในดวงใจของเราน้อย ๆ แห่งนี้ ให้ยิ้มน้อย ๆ สบาย ๆ ทำอย่างนี้ไปซะก่อน ซัก ๒-๓ นาที ให้ใจเราปลอดโปร่งจริง ๆ ไร้เดียงสาจริง ๆ คล้าย ๆ เด็ก ๆ อย่างนั้นแหละที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร 

        เพราะการเข้าถึงสมาธินี่มันไม่ใช่ของยากอะไร ถ้าหากเรารู้วิธีการตามธรรมชาติของใจ เพราะใจเราไม่ชอบบังคับ ไม่ชอบฝืน ไม่ชอบพยายามแต่ก็ต้องประคับประคอง ถ้าเราทราบอย่างนี้แล้ว ไม่ช้าเราจะเข้าถึงสมาธิไม่ยากเลย จะใช้เวลาไม่กี่นาทีทำใจให้ปลอดโปร่ง ให้ว่างนะ ให้ใจสบาย ให้ใจใส ยังไม่ต้องนึก ยังไม่ต้องคิด ยังไม่ต้องภาวนาอะไรทั้งนั้น อะไรก็ไม่ต้องท่อง ทำสบาย ๆ และก่อนที่เราจะฝึกจิต เราควรจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องคำว่าธรรมะซะก่อน คำว่า ธรรมะเนี่ยเราได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ เกิดมาจะแสวงหาธรรมะ เพราะเราทราบว่าธรรมะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเรา เป็นที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่เรา 

        ถ้าเราเคยศึกษาเล่าเรียน ได้อ่านตามตำรับตำรามาน่ะคงได้ยินบ่อย ๆ ได้ยินเกี่ยวกับพุทธพจน์บ่อย ๆ ได้อ่านบ่อย ๆ ธมฺโม สุจิณโณ สุขมาวหาติ บางตอนพระองค์ก็ตรัสอย่างนี้ ว่าธรรมะถ้าประพฤติปฏิบัติกันจริง ๆ แล้วล่ะก็ เอาอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบกระรอกกระแต คือกระรอกกระแต เวลามันวิ่งไปสักพักหนึ่ง ก็หยุดกระดกหาง กระดกหางนิดหนึ่งแล้วก็วิ่งต่อ หรือทำ ๆ หยุด ๆ อย่างนี้เรียกว่าไม่จริง ธมฺโม สุจิณโณ สุขมาวหาติ ว่าถ้าประพฤติธรรมอย่างจริงจังแล้ว ธรรมะย่อมนำความสุขมาให้ หรือบางตอนเราอาจจะไปอ่านเจอ หรือได้ยินได้ฟัง ธมฺโม ทเว รกุขติ ธมฺมจารี ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม 

        ในการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างจริง ๆ จัง ๆ ทำสม่ำเสมอ ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้นั้นให้มีความสุขกาย สบายใจ ให้พ้นจากทุกข์ทั้งหลาย ไม่ใช่ว่าทำวันหนึ่งหยุดไป ๕ วัน หรือทำ ๕ วันหยุดไปเดือนหนึ่งอะไรอย่างนั้น หรือบางตอนเราก็ได้ยิน ธมุโม ทเว รกฺขติ ธมุม จารี บางตอนก็ได้ยิน ธมุม หโว ธมฺม กาโม วังโหติ การปฏิบัติธรรมจริง เราจะต้องเจอของจริง นี่บางตอนท่านตรัสเอาไว้อย่างนี้ หรือ ธมุม จเร สุจริตต์ ให้ควรประพฤติดี ปฏิบัติให้ชอบ และธรรมจะช่วยนำความสุขกาย สบายใจมาให้ บางตอนท่านก็ตรัสว่า ธมุม ปีติ สุขเสติ ปฏิบัติธรรมะบ่อย ๆ สบายกายสบายใจ มันก็เหมือนได้ดื่มกินธรรมะทางใจ นี่บางตอนท่านก็ตรัสไว้อย่างนั้นนะ หรือบางตอนท่านก็ตรัสต่อไป ธมุม รหโส สพฺรสัง ชินาติ รสแห่งธรรม ชนะเลิศกว่ารสทั้งปวง คือก็ดื่มกินธรรมทางใจ รสแห่งธรรมนี้จะทำให้ใจเราอร่อย สดชื่น เบิกบาน ยิ่งกว่ารสอร่อยของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมย์หรืออาหารที่อร่อย ๆ อะไรอย่างนั้น สู้ความอร่อยของธรรมะไม่ได้ 

        แม้แต่เรามาวันนี้ เราก็ตั้งใจที่มาแสวงหาธรรมะ มาประพฤติธรรม ว่าธรรมะตัวจริงนั้นมันคืออะไร บางคนแสวงหาธรรมเกือบตายตลอดชาติ ไม่เจอธรรมะ เพราะว่าไม่รู้จักธรรมะ ได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ ก็ยังเข้าใจว่านั่นธรรม ประพฤติธรรม หรือบางทีก็เข้าใจว่าธรรมะอยู่ตามป่า ตามเขาตามผู้วิเศษ ตามครูบาอาจารย์ ตามต้นไม้ ตามภูเขาเลากาอะไรต่างๆ เหล่านั้น ไปแสวงหากันไปเรื่อย ไปเท่าไหร่ก็ไม่เจอะไม่เจอธรรมะ ก็เพราะว่าไม่รู้จักว่าธรรมะมันอยู่ที่ไหน มันเป็นอย่างไร นักปราชญ์ในทางภาษาท่านเคยค้นคว้าเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ธรรมะในพระไตปิฎก ว่ามีถึงหนึ่งอย่างน้อยตั้งห้าสิบความหมาย อย่างน้อยทั้ง ๕๐ ความหมาย แล้วแต่ว่าเราจะหยิบยกเอาตอนไหนออกมาใช้

        จึงสรุปรวมความได้ว่า บางตอนก็หมายถึงวัตถุ หมายถึงสิ่งของ หมายถึงบุคคล บางตอนก็หมายถึงเหตุการณ์หรือต้นเหตุ บางตอนก็มายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า บางตอนก็หมายถึงความจริง บางตอนก็หมายถึงความดีความชั่ว บางตอนก็หมายถึงการกระทำ มีความหมายของธรรมะมีอยู่มากมายก่ายกอง มีผู้รวบรวมเอาไว้อย่างน้อยตั้ง ๕๐ ความหมายในพระไตรปิฎก แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเข้าใจกัน ว่าธรรมะก็คือกฎทางธรรมชาติ ธรรมะคือเหตุการณ์ชนิดหนึ่ง คือความจริง ธรรมะคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมะก็คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ นี่นักปราชญ์ทั้งหลายท่านรวบรวมกันมาอย่างนั้น 
        
        แต่ตามหลักของภาษาแล้วล่ะก็ ความหมายของคำว่าธรรมะนั้นควรจะมีความสมบูรณ์ คือคำ ๆ เดียวต้องกินความได้หลายอย่างให้มันสมบูรณ์กันหมด ก็มีนักปราชญ์อยู่อีก อีกหลายท่านเป็นชาวต่างประเทศก็ได้ค้นคว้าต่อไป ชาวเยอรมันเขาก็ค้นว่า ธรรมะมันมาจากรากศัพท์ของคำว่า ธา แปลว่า สิ่งที่ส่งรักษา สิ่งที่รักษาสิ่งหนึ่งเอาไว้ รักษาสิ่งอะไรเอาไว้ก็เรียกว่า ธรรมะ นักปราชญ์ชาวอังกฤษ เขาก็ค้นต่อไปอีก เขาก็บอกว่า ธรรมะ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อีกท่านหนึ่งเขาเลยว่ามันเป็นของชนิดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบอยู่ภายในตัวของท่าน อีกท่านหนึ่งไปค้นพบคำว่า ธรรมะในพระไตรปิฎกแล้วแปล ธรรมะ ท่านแปลว่า sphere ภาษาอังกฤษ ขออนุญาตให้ภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า ทรงกลม แปลว่า เขตแดนก็ได้ นี่ความหมายของนักปราชญ์ ที่นี้ถ้าเรารวมกันมาทั้งหมดดังที่กล่าวมาแล้วเนี่ย คำว่าธรรมะที่นักปราชญ์ ท่านรวบรวมมาเป็นชาวต่างประเทศทั้งนั้นรวบรวมกันมา ค้นมาจากในพระไตรปิฎก ซึ่งนักปราชญ์ชาวต่างประเทศนี้เชื่อได้ ไม่มีอคติ เพราะว่าเค้าไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เค้าค้นมาจากสิ่งเหล่านี้มา ต้องการรู้ไปตามความเป็นจริง

        ธรรมะคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบภายในตัวของท่าน ภายในกาย ภายในพระวรกายของพระองค์ท่าน เป็นสิ่งรูปร่างลักษณะทรงกลม กลมรอบตัว เหมือนลูกปิงปองอย่างนั้น ที่ทรงรักษาความดีเอาไว้ รักษาให้จิตใจ กาย วาจาใจให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส นี่คือสิ่งที่นักปราชญ์ ชาวต่างประเทศเค้าค้นพบกันมานะ เขารวบรวมความหมายมาตั้ง ๕๐-๖๐ ความหมายทีนี้ในทางปฏิบัติ หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านก็ค้นต่อไปอีก มันมาบังเอิญพร้องกันเข้า นักปราชญ์ทางตะวันตกของเยอรมันก็ดี อังกฤษก็ดี เขาค้นทางปริยัติก็อย่างที่ได้เรียนไว้เมื่อสักครู่ 

        แต่ในทางปฏิบัติหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านปล่อยชีวิต ทำใจหยุดนิ่งกลับเข้าไปสู่ภายใน แล้วท่านเข้าไปค้นไปเจอ ท่านไม่รู้เรื่องราวที่นักปราชญ์สมัยนี้เค้าค้นกันนะ ท่านไปเจอว่าธรรมะเนื้อหนังธรรมะที่เป็นจริงแล้วน่ะ มันอยู่ภายในตัวของท่านหรือภายในตัวของมนุษย์ทุก ๆ คน อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เป็นรูปร่างทรงกลมเหมือนกัน กลมรอบตัว เป็นดวงใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ เข้าใจว่าทุกท่านคงเคยเห็นฟองไข่แดงของไก่นะ กลมรอบตัว โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ อยู่ที่ศูนย์กลางของกลางมนุษย์เรา ใสยิ่งกว่าเพชรสวยงามมาก กลมรอบตัว มีความสว่างไสว และความรู้ภายในน่ะ ปัญญาภายใน รู้ญาณภายในก็บอกท่านมาเลยว่านี่เรียกว่ามนุษย์ธรรม คือดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ แล้วท่านก็ค้นต่อไปอีกว่า ดวงธรรมดวงนี้ ดวงนี้แหละมีอยู่ทุกคนในโลก อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนในโลก เป็นสิ่งที่จะรักษามนุษย์เนี่ยเอาไว้ให้เป็นอยู่ 

        ถ้ามนุษย์นี้ไม่มีดวงธรรมแล้วล่ะก็ เป็นอยู่ไม่ได้ ถ้าดวงธรรมนี้ดับมนุษย์ก็ต้องแตกดับคือตายไป เพราะฉะนั้นธรรมอันนี้ คือเป็นสิ่งที่ทรงรักษากายมนุษย์เอาไว้ นี่คือสิ่งที่ปริยัตินักปฏิบัติทางภาคทฤษฎีภาคปฏิบัติ เค้ายืนยันกัน นักปราชญ์ทางด้านภาษาเขาค้นคว้าจากพระไตรปิฎกเขาค้นไปเจออย่างนั้น ว่าธรรมะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบภายในตัวของพระองค์ท่าน มีลักษณะดวงกลม ใส รอบตัว มีอยู่ในตัวคนเราทุกคน ทรงรักษาเอาไว้ซึ่งความดี รักษาใจของเราเอาไว้ ไม่ให้ตกไปในสิ่งที่ชั่ว ให้มีแต่ความสุข สมดั่งพุทธฎีกาที่ว่า ธมฺโม ปาเพติ สุขยิ่ง เมื่อใจดีแล้วเข้าถึงธรรมอย่างนี้แล้ว มีแต่ความสุขกาย สบายใจ เนี่ยนะมันยันกันได้หมด เพราะฉะนั้นวันนี้ทุกท่านจะต้องพยายามที่ศึกษาสวงหาธรรมะเข้าไปภายในตัวของเรา อย่าไปพยายามแสวงของนอกกาย ไม่ได้ไปอยู่ตามผู้วิเศษ ตามจ้าวทรงผีสิง ตามภูเขา ตามผู้วิเศษ ตามป่าตามเขา ตามที่ไหนก็ไม่มีทั้งนั้น ธรรมะจริง ๆ อยู่ภายในตัว เข้าถึงเมื่อไหร่ล่ะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด 

        พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ นตฺถิเม สรณํ อญฺญํ ธมฺโม เม สรณํ วรํ ถ้าเข้าถึงธรรมะภายในตัว อย่างนี้แล้วล่ะก็ ได้ชื่อว่าเข้าถึงที่พึ่งที่ระลึก ที่ว่าที่พึ่งก็หมายถึง เวลาที่เรามีความทุกข์ เอาใจหยุดกลับเข้าไปสู่ภายใน เข้าถึงควงสว่างอันนี้ ความทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ในใจ เราก็จะละลายหายสูญไปหมด เหมือนประทีปโคมไฟ คบไฟที่เราถือทวนลม เอาไปจุ่มลงไปในน้ำ ความร้อนมันก็ดับหายไป นี่เป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึกก็หมายถึงเมื่อเรามีความสุขแล้ว เอาใจของเราหยุดกลับเข้าไปสู่ภายใน ก็จะเพิ่มเติมความสุขให้เรายิ่งขึ้น สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะธรรมะภายในตัว มีแต่ความสุขล้วน ๆ ไม่มีความทุกข์เจือ ไม่มีข้อบกพร่องภายในเลย ดังนั้น ถ้าเราจะแสวงหาธรรมะที่เป็นของแท้ของจริงแล้วล่ะก็จะต้องแสวงหาภายในตัวของเรานี่ให้เข้าใจเอาไว้อย่างนี้นะ 

        หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านค้นพบว่าอยู่ภายในตัว แล้วก็อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งต่อจากนี้ไปอีกสักครู่หนึ่ง เราจะได้ฝึกฝนอบรมจิตใจของเราจะให้เข้าถึงธรรมะอันนี้ ฉะนั้นขอให้รู้จักคำว่าธรรมะ อันนี้เป็นเนื้อหนังของธรรมะอย่างแท้จริง นี่ให้เข้าใจให้ดีนะ แต่ธรรมะที่ว่าอันนี้ มันเป็นธรรมะเบื้องต้น เบื้องต้นที่จะเข้าไปถึงธรรมะเบื้องปลาย ธรรมะเบื้องปลายก็ได้แก่เข้าไปถึงธรรมรัตนะ ซึ่งอยู่ในกาย อยู่ในศูนย์กลางกายของธรรมกายที่อยู่ภายในตัว อยู่ภายในตัวของเราน่ะ มันเป็นสิ่งที่น่าศึกษาต่อไปอีก ว่าภายในตัวของเราเนี่ย ถ้าเราเข้าถึงธรรมะอันนี้เป็นเบื้องต้น ไม่ช้าเราจะเข้าถึงธรรมเบื้องปลาย ซึ่งเป็นที่สุดแห่งทุกข์ทั้งหลาย เข้าไปถึงในเบื้องปลายได้ แต่ดวงนี้เป็นเบื้องต้น เบื้องปลายท่านเรียกว่า ธรรมกาย คือกายทั้งก้อนนั่นล่ะเป็นธรรมล้วน ๆ 

        คำว่าธรรมกายก็หมายถึงว่า กายได้เข้าไปเป็นแล้วซึ่งธรรม คือทั้งก้อนกายนั้นเป็นธรรมล้วน ๆ ไม่มือธรรมเจือปนเลย มีแต่ความสุข ความสำเร็จ ความดี ความเต็มเปี่ยม ทุกอย่างหมด ความรอบรู้ไม่มีขอบเขต รวมประชุมอยู่ในคำว่าธรรมกายทั้งนั้น คำว่าธรรมกาย ธรรมกายหรือธรรมภูต สำหรับท่านที่เคยศึกษาเล่าเรียนจะได้ยินคำพร้องกันอยู่มีคำ ธรรมกายก็ดี ธรรมภูติก็ดี หมายเอาเป็นคำๆ เดียวกัน แปลว่า ผู้เข้าไปถึงแล้วซึ่งธรรม คือก้อนกายน่ะไปเป็นหมด เป็นเนื้อเป็นหนัง และนักปราชญ์ก็ยังค้นต่อไปอีกว่าคำว่าธรรมกายเนี่ย บางทีท่านเรียกว่า โพธิกาย คือกายตรัสรู้ธรรม และบอกต่อไปอีกลักษณะกายตรัสรู้ธรรมนั้นน่ะ อยู่ภายในตัว ประกอบไปด้วยมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ นี่ล่ะ 

        ลักษณะมหาบุรุษสวยงามมากอยู่ภายในตัวและบอกต่อไปอีกว่า เป็นสิ่งที่มีชีวิต แต่ว่าเป็นชีวิตที่ประเสริฐ ประเสริฐกว่าชีวิตภายนอก นี่รวมคำว่า ธรรมกายหรือธรรมภูติ เมื่อไหร่เราเห็นธรรมเบื้องต้นเราก็จะเข้าถึงธรรมอันนี้ หนึ่งคือเป้าหมายของชีวิตของทุก ๆ คน ที่เกิดมาในโลกนี้ ต้องการแสวงหาสิ่งที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุข ขจัดความทุกข์ให้หมดสิ้นไป ทำความสุขของเราให้เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างไม่มีขอบเขต ถ้าสรุปย่อ ๆ คือต้องการให้เข้าถึงธรรมกายนั่นเอง ถึงธรรมเบื้องต้นเมื่อไหร่ก็ถึงธรรมกายเบื้องปลายได้เมื่อนั้น จับหลักเอาไว้ให้ดีนะ เอาล่ะ ต่อจากนี้จะได้แนะนำวิธีการที่เราจะเข้าถึงธรรมะภายใน ซึ่งเป็นเบื้องต้นและก็จะเข้าถึงธรรมกายในเบื้องปลาย 

        ขอให้ทุกคนตั้งอกตั้งใจให้ดีนะ ใครปวดใครเมื่อยก็เปลี่ยนอริยาบถ ขยับแข้งขยับขาให้ดี ต่อจากนี้ไปเราจะได้นั่งทำใจให้สงบ ไปสักครู่หนึ่งจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงอาตมาไป สมมติว่าเรามีเส้นเชือกอยู่ ๒ เส้น เรานำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่ง สมมติว่าเราดึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งสมมติว่าเราดึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้ง ๒ จะตัดกันเป็นกากบาทจุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ เล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้เราเรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ อยู่ในกลางตัวของเรา ให้เราสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราเรียกว่าฐานที่ ๗ ตั้งใจกันให้ดีนะจ๊ะ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือเราเรียกว่าฐานที่ ๗ ให้เราเอาใจของเราน่ะ มานึกคิดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ อยู่ในกลางตัวของเราน่ะ

        ประหนึ่งว่าตัวเราเป็นปล่องเป็นช่องเป็นโพรงลงไป อวัยวะภายในไม่มี ตับไตไส้พุงของเราในตัวของเราไม่มี แล้วเราก็เอาใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ เอาใจให้หยุดนิ่งเฉย ให้รู้จักวางใจนิ่ง ๆ ซะก่อน วางเฉย ๆ โดยที่เราไม่ต้องกดลูกนัยน์ตาลงไปวางเฉยๆ โดยไม่เครียด แล้วก็ให้ สร้างมโนภาพขึ้นมาทางใจ เรากำหนดนึกคิดว่าตรงฐานที่ ๗ มีดวงแก้วกลม ๆใส ๆ ใสเหมือนกับเพชร กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงแก้วใส ๆ คล้ายกับเพชร กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อนของเรา ให้กำหนดนึกให้ง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งง่าย ๆ นึกให้อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นึกให้อยู่ที่ตรงนี้นะ 

        กำหนดนึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่างใจเย็น ๆ พร้อมกับภาวนาในใจ ให้เสียงของคำภาวนาดังก้องออกมาจาก ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของบริกรรมนิมิต ให้ภาวนาในใจของเราให้สม่ำเสมอ ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาคำว่า สัมมาอะระหัง ให้ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ อย่าให้ช้านัก และก็อย่าให้เร็วนักค่อย ๆ ประคับประคองไป ควบคู่กันไป ควบคู่กับการตรึกนึกถึงบริกรรมนิมิตอย่างง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่าให้เครียด นึกอย่างใจเย็น ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เบื้องต้นที่เราจะเข้าถึงธรรมภายใน จะต้องอาศัยฝึกใจของเราให้หยุดนิ่งซะก่อน เว้นจากหยุดนิ่งแล้ว เราจะทำวิธีอื่น เราก็จะเข้าถึงธรรมภายในไม่ได้ 

        เพราะฉะนั้น หยุดนิ่งอย่างเดียว จึงจะเป็นหนทางที่เราจะเข้าถึงธรรมภายใน ใจจะหยุดนิ่งได้ก็ต้องอาศัยสติเราไม่เผลอ จากบริกรรมทั้ง ๒ คือบริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหังใจก็ตรึกนึกคิดถึงดวงแก้วใส ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างง่าย ๆ โดยไม่ให้ใช้ความพยายามจนกระทั่งเครียดทำใจภายในของเราให้สม่ำเสมอ ภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาคำว่า สัมมาอะระหัง ให้ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ อย่าให้ช้านัก และก็อย่าให้เร็วนัก ค่อย ๆ ประคับประคองให้ควบคู่กันไป ควบคู่กับการตรึกนึกถึงบริกรรมนิมิตอย่างง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ นึกอย่าให้เครียด นึกอย่างใจเย็น ๆ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ 

    เบื้องต้นที่เราจะเข้าถึงธรรมกายภายใน จะต้องอาศัยฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่งซะก่อน เว้นจากหยุดนิ่งแล้ว เราจะทำวิธีอื่นแล้วเราจะเข้าถึงธรรมภายในไม่ได้ เพราะฉะนั้นหยุดนิ่งอย่างเดียวที่จะเป็นหนทางที่เราจะเข้าถึงธรรมภายใน ใจจะหยุดจะนิ่งได้ก็ต้องอาศัยสติ เราไม่เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ ที่บริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง ใจก็ตรึกนึกคิดถึงดวงแก้วใส ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างง่าย ๆ โดยไม่ใช้ความพยายามจนกระทั่งเครียด ให้ตรึกนึกถึงอย่างง่าย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ภาวนาไปอย่างนี้ สำหรับการตรึกนึกถึงดวงแก้วใส ๆ บางท่านก็นึกง่ายบางท่านก็นึกได้ยาก คนที่ใจเย็นหน่อยก็นึกง่ายหน่อย คนที่ใจร้อนก็นึกได้ยากหน่อย เพราะฉะนั้นเราก็มีวิธีปรับปรับในที่นี้คือ ปรับปรุงใจของเรา คนที่ใจร้อนก็ต้องปรับปรุงใจของเราให้มันเย็น คนที่ใจเย็นดีอยู่แล้วก็ให้เย็นยิ่งขึ้น ทำใจของเราให้อยู่เฉย ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกาย ที่กำหนดได้ชัดเจนก็ให้ชัดยิ่งขึ้นไป 

        ที่กำหนดไม่ชัดเจนหรือมองไม่เห็น นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไร รักษาใจของเราให้เย็นชื้น อยู่กับคำภาวนา สัมมาอะระหัง ให้ต่อเนื่องกันไปอย่างนั้น อย่าไปวิตกกังวลว่าใจเราจะไม่หยุด ใจจะไม่นิ่ง เราจะไม่เห็น เราจะไม่ได้ เราจะทำไม่เป็น เลิกกลัวเลิกวิตกกังวลในสิ่งเหล่านี้ซะ ถ้าทำถูกวิธีอย่างที่ได้แนะนำอย่างนี้ นี่แหละคือหนทางที่เราจะเข้าถึงธรรมภายใน มันเป็นสูตรสำเร็จ ค่อย ๆ รักษาใจของเราให้ได้ดั่งที่เรียนให้ทราบอย่างเนี้ย คือใจเย็น ๆ ในสบาย ๆ ค่อย ๆ ตรึกค่อย ๆ นึก ค่อย ๆ คิด ให้ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเราคิดถึงเรื่องอะไรสักเรื่องหนึ่งที่ง่าย ๆ แต่เรื่องนี้เราเปลี่ยนเรื่องคิดมาเป็นเรื่องที่เรานึกถึงดวงแก้วใส ๆ ให้มันต่อเนื่องกันไป อย่างสม่ำเสมอ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้ภาวนาทำกันไปอย่างนี้นะ ทำกันไปเรื่อย ๆ ใจเย็น ๆ อย่ากลัวปวด อย่ากลัวเมื่อย อย่ากลัวร้อน อย่ากลัวอากาศอบอ้าว ไม่ต้องกลัวอะไรทั้งสิ้น เรานักสร้างบารมี 

        เพราะฉะนั้นให้ตั้งอกตั้งใจทำกันไป ใครปวดใครเมื่อย เราก็เปลี่ยนอริยาบถ แต่อย่าให้สะเทือนคนข้างเคียงเค้านะ แล้วก็อย่าลืมตา หลับตาพอสบาย ๆ อย่าไปบังคับใจมาก ทำใจเฉย ๆ เอาล่ะต่อจากนี้ต่างคนต่างทำกันไปนะ ตอนช่วงเช้าเนี่ยอากาศกำลังดี มันยังไม่ร้อน เพราะฉะนั้นพยายามนั่งธรรมะให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ยิ่งนั่งนานเท่าไร กายวาจาใจเรายิ่งสะอาด ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งผ่องใส ตอนช่วงบ่ายจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลต่อ ๆ ไป สัมมาอะระหัง ๆ ๆ


        ก่อนที่เราจะประกอบพิธีถวายผ้าบังสุกุลจีวร แด่พระภิกษุสงฆ์ เราจะชำระกายวาจาใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศลของเรากันต่อไป ขอเรียนเชิญทุกท่านที่อยู่บนศาลา และก็อยู่ข้างล่าง ให้เต็นท์ ใต้โคนไม้ ได้โปรดกรุณานั่งหลับตาเจริญภาวนา อย่างที่ได้แนะนำเอาไว้เมื่อเช้านี้ สักครู่หนึ่ง เมื่อกายวาจาใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว เราจะได้ประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกันต่อไปเราก็หลับตา หลับตาแค่พอสบาย ๆ แล้วก็เอาใจของเราไปหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ สำหรับบางท่านที่หลงลืมไปว่าฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงไหน ก็ขอได้โปรดกรุณานึกตามไปนะ 

        สมมติว่าเรามีเส้นเชือกสองเส้น เรานำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่ง ซึ่งจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้งสองตัดกับเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้เราเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้เราสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เราเรียกว่าฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นต่อไปเมื่อท่านทั้งหลายได้ยินคำว่าฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงจุดนี้ จุดที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองที่เราสมมติซึ่งจากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นี่เรียกว่าฐานที่ ๗ ตรงนี้จำเอาไว้นะ เป็นฐานที่สำคัญที่สุด เพราะศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางไปของพระพุทธเจ้าของพระอรหันต์ทั้งหลาย 

        พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย แต่เดิมก็เป็นปุถุชน เป็นคนมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ เช่นเดียวกับพวกเราทั้งหลายอย่างนี้แหละ แต่ที่ท่านเปลี่ยนแปลงจากปุถุชน เป็นพระอริยเจ้า ก็เพราะว่าท่านเข้าไปถึงกายธรรมภายใน กายธรรมคือกายตรัสรู้ธรรม หรือบางท่านที่เรียกว่าโพธิกาย คือกายที่ตรัสรู้ อาศัยเส้นทางจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ ท่านทำใจของท่านให้หยุดให้นิ่งจนกระทั่งถูกส่วน พอถูกส่วนเข้า ไม่ช้าก็จะเข้าถึงธรรมเบื้องต้น เรียกว่าดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ โตเท่ากับฟองไข่แดงของไก่ กลมรอบตัว เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่เป็นธรรมเบื้องต้น เมื่อเข้าถึงธรรมอันนี้ ไม่ช้าก็จะเข้าถึงกายธรรมหรือโพธิกาย กายที่ตรัสรู้ธรรม

        เมื่อเช้านี้เราได้เรียนรู้ถึงว่า โพธิกายหรือกายธรรมนั้น หมายถึงกายที่ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการ พร้อมด้วยลักษณะพิเศษน้อยใหญ่อีก ๘๐ ประการ ที่สวยงามที่สุดยิ่งกว่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลาย  เป็นกายที่สมบูรณ์ไปด้วยสติกับปัญญา ไม่มีขอบเขต เป็นกายที่คงที่ เที่ยงแท้ถาวร รู้แจ้งเห็นแจ้งไปตามความเป็นจริงของสังขารทั้งหลายทั้งปวง ทั้งโลกภายนอกภายใน นี่เราได้เรียนรู้เอาไว้เมื่อเช้านี้ว่าอยู่ภายในตัวของเรา แล้วยังได้เรียนรู้ต่อไปอีกว่า เกิดมาก็เพื่อต้องการที่จะแสวงหาหนทางเข้าไปถึงธรรมกายอันนี้นั่นเอง เพราะว่าถ้าเข้าถึงแล้ว ชีวิตเราก็จะมีแต่บรมสุข มีแต่สุขอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์เจือปนเลยแม้แต่นิดเดียว นี่เราได้เรียนรู้เอาไว้เมื่อเช้านี้ 

        แต่การที่เราจะเข้าถึงกายนี้ได้ จะต้องอาศัยศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว  เว้นจากที่อื่นแล้วไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงทางนี้ ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านถึงใช้คำอีกคำหนึ่ง สำหรับแทนศูนย์กลางกายฐานที่ ๒ ว่าเอกายนมรรค เป็นทางเดียว หนทางเดียว เป็นทางเอกสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์หมดจรดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการดับทุกข์โทมนัสของสัตว์โลกทั้งหลาย ดับความยินดียินร้ายของสัตว์โลกทั้งหลาย หมดการเวียนว่ายตายเกิด นี่เรียกว่าเอกายนมรรค หนทางเอกสายเดียวที่จะเข้าถึงกายธรรม คือกายที่ตรัสรู้ธรรม หลุดพ้นจากสรรพกิเลสทั้งหลาย ดังนั้นศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเราทุกท่านจะต้องให้ความเอาใจใส่ จะต้องเอาจริงเอาจัง ทำกันอย่างจริงจังทีเดียว จึงจะเข้าถึงศูนย์กลางกายได้

        เมื่อเช้าเราได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องคำว่าธรรมะ ที่แปลได้หลายอย่าง หมายถึงบุคคล หมายถึงสัตว์ ถึงสิ่งของ ถึงเหตุ ถึงเหตุการณ์ ถึงการกระทำ ถึงความดีความชั่ว หรือหมายเอาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตลอดจนกระทั่ง สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบ หรือหมายเอากฎธรรมชาติ หมายเอาว่าแสงสว่าง แปลว่าแสงสว่างก็ได้ นี้ถ้าหากเรารวบรวมความหมายทั้งหมดมา ในความหมายของคำว่าธรรมะ ที่นักปราชญ์ที่เป็นกลาง ๆ น่ะ ท่านได้รวบรวมเอาไว้ ท่านก็แปลว่า คือธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นเข้าไปพบอยู่ภายใน มีลักษณะเป็นดวงกลม มีดวงกลมใส กลมรอบตัว ใสยิ่งกว่าเพชร สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน และเป็นของที่คงที่ เที่ยงแท้แน่นอน คล้าย ๆ คำว่า อาตมันของพวกไตรเพท ของพราหมณ์เค้าอย่างนั้น 

        เป็นสิ่งที่คงที่ เที่ยงแท้ถาวร และก็อยู่ภายในตัว อยู่ในศูนย์กลางกายของตัวเรา นี่นักปราชญ์ในทางภาษาท่านค้นมาอย่างนี้ และเราก็ได้ทราบต่อไปว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านปล่อยชีวิต ทำใจหยุดนิ่งถูกส่วนเข้าไปถึงธรรมภายในตัวของท่าน และก็ไปรู้ไปเห็นลักษณะเป็นอย่างที่ที่ทางปริยัติว่าไว้อย่างนั้น ทางด้านทฤษฎีว่าเอาไว้อย่างนั้นเหมือนกัน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครได้เคยได้ยินได้ฟังกันมาก่อนในชั่วชีวิตเราที่ผ่านมานี้ เราไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย เราได้ยินแต่เพียงว่า ธรรมะก็คือความถูกความดีความบริสุทธิ์สว่าง สะอาดผ่องใส ความสงบ ความเย็นกายเย็นใจ ความสุขความสุขกายสุขใจ แต่ว่าตัวตนเนื้อหนังที่แท้จริงน่ะ ตัวจริง ๆ ลักษณะจริง ๆ ของคำว่าธรรมะนั่นน่ะ ที่เป็นเหตุให้เกิดสิ่งเหล่านั้น เกิดความสุขกายสบายใจ เย็นกายเย็นใจ หรืออะไรต่าง ๆ เหล่านั้นทั้งหมด 

        เกิดสติเกิดปัญญานั่นน่ะ ไอ้ตัวตนที่เป็นต้นเหตุจริงๆ น่ะลักษณะมันเป็นอย่างไร เนี่ยเราไม่เคยได้ยินได้ฟัง ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น แต่อยากจะพบกัน จึงได้เที่ยวแสวงหากันมาตลอดชีวิต เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านปล่อยชีวิตเข้าไปถึงอย่างนี้แล้ว ท่านจึงพบของจริงในทางพระพุทธศาสนา ที่เราได้มองข้ามผ่านไป และก็ไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจัง ไปแสวงหาธรรมซึ่งเป็นของนอกตัว จึงไม่พบของจริง เมื่อไม่พบของจริง เราจึงมีความทุกข์อยู่ร่ำไป ความสุขที่แท้จริงที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุขของพวกเราทั้งหลาย จึงไม่ประสบ

        เพราะฉะนั้นเมื่อเราทราบอย่างนี้ว่าศูนย์กลางกายเนี่ยะ เป็นที่ตั้งของธรรมะทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งเป็นเส้นทางเอกสายเดียวที่จะเข้าถึงธรรมกาย ซึ่งเป็นกายที่ตรัสรู้ธรรม ที่พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้นะ เราจึงควรตั้งใจที่จะเอาใจของเราน่ะมาหยุดมานั่งอยู่ตรงนี้ให้นานที่สุด เท่าที่จะนานได้ ไม่เฉพาะวันนี้วันเดียว วันมาฆบูชาวันนี้วันเดียวเท่านั้น แต่มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่พวกเราจะต้องทำกันอย่างจริงจัง กันไปทุก ๆ วัน จนตลอด

        ชีวิตของเราน่ะ ทำไม่เกิดเป็นไม่เลิก ทำไม่เป็นเป็นไม่เลิก เข้าไม่ถึงก็เป็นไม่เลิกกัน ปล่อยชีวิตกันเข้าไปอย่างนี้ จึงจะคุ้มค่ากับที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มาพบพระพุทธศาสนา การที่เราให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี หรือที่มาทอดผ้าป่าในวันนี้ก็ดี ตลอดจนกระทั่งสละปัจจัยสร้างธุดงคสถานก็ดี เป้าหมายที่เราต้องการจริง ๆ นั้นน่ะ เราต้องการทำธรรมะอันนี้ให้เกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อเราให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เจริญภาวนาก็ดี เราทำไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจของเราน่ะ ก็คือกิเลสอาสวะต่าง ๆ มันตกตะกอนลงไป ที่เราเรียกว่าบุญนะ 

        บุญเป็นเครื่องชำระกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้มันตกตะกอนลงไป ให้มันหมดสิ้นไป หมดสิ้นจากใจไป จนกระทั่งใจสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส เมื่อบริสุทธิ์ผ่องใสหนักเข้า ความบริสุทธิ์นั้นก็มาปรากฏเกิดขึ้นเป็นดวงสว่าง ซึ่งเป็นต้นเหตุของความสุขและความสำเร็จทั้งหลายน่ะ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั่นแหละคือธรรมะล่ะ เป็นธรรมเบื้องต้น จะให้ทานก็ดี เป้าหมายก็ต้องการให้เข้าถึงธรรมภายใน จะรักษาศีลก็ดี เป้าหมายเราก็ต้องการให้เข้าถึงธรรมภายใน จะเจริญภาวนาก็ดี เป้าหมายเราก็ต้องการให้เข้าถึงธรรมภายใน ซึ่งเป็นเหตุให้เราพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย 

        ดังนั้นจึงมีคำอยู่อีกคำหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นมา ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้ ท่านใช้คำว่าปุญญาภิสันธา ปุญญาภิสันธา หมายถึงว่าเมื่อเราได้ถวายวัตถุทานขาดจากใจไปแล้ว หรือสละสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการกุศล ขาดจากใจไปแล้วเนี่ย ใจนั้นจะตกตะกอน เมื่อใจตกตะกอนนั้นน่ะ ทางมาแห่งบุญนะ ความไหลแห่งบุญ ก็จะมาปรากฏเกิดขึ้นมาที่ศูนย์กลางกาย ตรงฐานที่เจ็ด บุญจะเกิดขึ้นในตอนนี้ มีอาการไหลได้ คล้ายกับฝนตก ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย แล้วมารวมกับถูกส่วนเข้า เป็นดวงสว่างที่ใสเป็นแก้วน่ะ ใสเป็นเพชร เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย

        คำว่าปุญญาภิสันธา นักภาษาศาสตร์ทั้งหลายน่ะ นักปราชญ์ทั้งหลายท่านแปลว่า เป็นอาการไหลของบุญ ที่คล้ายกับฝนตกเกิดขึ้นมา แล้วก็มารวมอยู่ที่ใจ นี่นักปราชญ์ทางตะวันตกท่านแปลกันอย่างนั้นน่ะ ท่านไปศึกษาบาลีสันสกฤต ลังกาที่อินเดีย ซึ่งเป็นต้นแหล่งของภาษาทั้งหลายน่ะ พระพุทธศาสนาถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่นั่น เอาไว้อย่างมั่นคง ท่านแปลเอาไว้อย่างนี้ ทีนี้ในทางปฏิบัติ หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านก็ไปค้นต่อไปอีก ซึ่งท่านก็ไม่รู้เลยว่าปุญญาภิสันธานี้ มันเป็นอย่างไร มันแปลอย่างไร แต่ปัญญาของท่านเกิดขึ้นการเห็นแจ้ง ปัญญาเป็นเครื่องเห็นของท่านเกิดขึ้นมา ความรู้แจ้งก็จึงเกิดขึ้น เหมือนดึงของในที่มืดออกมาสู่ที่แจ้ง ที่สว่างนั้น ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามันคืออะไร ท่านปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงเข้าถึงธรรมกาย แล้วก็สอดส่องด้วยญาณของธรรมกายทีเดียวน่ะ สอดส่องดูว่าบุคคลทั้งหลาย ตลอดตั้งแต่ตัวท่านเอง

         เมื่อให้ทาน เมื่อรักษาศีล เมื่อเจริญภาวนา บุญกุศลเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเวลาถวายวัตถุทาน หรือสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อการกุศลหมดสิ้นจากใจ เห็นได้ด้วยตาธรรมกาย และก็รู้ได้ด้วยญาณของธรรมกาย ว่าสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นมา มันมีอาการ ไหลได้ เป็นสายขาวที่ใสเป็นเพชรทีเดียว ใสเป็นแก้ว คล้ายอาการฝนตกที่ไม่มีลมพายุ ท่านใช้คำนี้ ไม่มีลมพายุพัดผ่านไปที่ไหนเลย เหมือนกับเป็นท่อน้ำ เหมือนเป็นท่อน้ำที่น้ำไหลผ่านท่อที่ไม่มีตะกอน ตะกันอย่างนั้นน่ะ ไหลแล้วก็มารวมลงอยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงฐานที่ ๗ รวมกันเกิดขึ้นเป็นดวงสว่าง ถ้าใครเอาใจนี่มาหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้มาก จะให้ทาน ทานนั้นก็เลิศ จะทอดผ้าป่า ผ้าป่านั้นก็เลิศ จะสร้างธุดงค์สถาน ถวายปัจจัยสร้างธุดงคสถานธุดงคสถานนั้นก็เลิศ จะรักษาอีก ถ้าเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้ ศีลนั้นก็ศีลเลิศ เรียกว่าอธิศีล ถ้าจะเจริญภาวนา จะทำทางมรรคผลนิพพานให้เกิดขึ้น ใจหยุดนิ่งถูกส่วนน่ะ ปุญญาภิสันทา ทางมาแห่งบุญ ที่มีอาการ ไหลคล้ายกับกระแสน้ำ ก็เลิศ ก็จะเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกาย นี่หลักของการบำเพ็ญบุญน่ะมีอยู่อย่างนี้นะ

        ทีนี้เราก็ไปเทียบดูกับไอ้สิ่งที่เราเคยทำผ่านมาในชีวิตที่เราได้บำเพ็ญบุญมาน่ะ แต่ก่อนนั้นเราก็ทำบุญตามเค้าไป เค้าชวนเราก็ทำกันไป ทำกันไปอย่างไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกันไปอย่างนั้น บุญจะเกิดขึ้นอย่างไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน ใจเราควรจะเอาไปตั้งที่ไหนก็ไม่ทราบ เพราะว่าไม่ทราบทางมาแห่งบุญ เมื่อเราไม่ทราบทางมาแห่งบุญ แล้วบุญมันเกิดขึ้นได้อย่างไรน่ะ จึงได้ปล่อยใจเลื่อนลอยกันไปอย่างนั้น บางคนทำบุญแล้วก็ยังเกิดความขุ่นมัว มีความขัดเคือง ยังมีความโกรธ มีความหงุดหงิดอะไรเกิดขึ้น แทนที่จะเอาใจนะมาหยุดมานิ่ง บางคนเวลาจะทำบุญก็ยังพูดยังคุยเพ้อเจ้อกันเรื่อยเปื่อยกันไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นบุญก็จึงไม่เกิดขึ้นมา 

        ดังนั้นเมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ว่าหนทางที่เรากำลังบำเพ็ญอยู่นี้ เป็นไปตามเยี่ยงอย่างของพระอริยเจ้า ที่ว่าเราต้องการทานนั้นให้เป็นทางอันเลิศ ศีลนั้นให้เป็นศีลเลิศ ภาวนานั้นเป็นภาวนาเลิศ เพื่อมรรคผลนิพพานแล้วล่ะก็ จะต้องทำใจของเรานี่ให้หยุด ให้นิ่ง ให้ถูกส่วนอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเรา ถ้าถูกส่วนตรงนี้แล้วละก็ ศูนย์กลางกายนี่แหละ จะเป็นภาชนะอันยิ่งใหญ่ ที่สะอาด ที่บริสุทธิ์ ผ่องใส จะรองรับบุญกุศลเกิดขึ้นมาเป็นอสงไขยอัปมาณัง คือจะนับจะประมาณมิได้ เหมือนกับท้องทะเลมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ไพศาลน่ะ เป็นที่รองรับ จากน้ำบนแผ่นดินที่ไหลมาจากห้วยหนอง คลองบึง ทั้งหลาย นี่ขอให้พวกเราให้เข้าใจกันอย่างนี้นะ

        เมื่อเราเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป ก่อนที่เราจะได้ถวายผ้าบังสุกุลจีวร ถวายปัจจัยเพื่อสร้างธุดงคสถาน เราจะฝึกฝนอบรมใจของเราน่ะให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย เมื่อใจของเราหยุดนิ่งดีแล้ว เราจึงจะได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกองบุญกองกุศลกันต่อไป เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปใครที่เมื่อเช้านั้นยังไม่ได้ตั้งใจทำธรรมะกันเต็มที่ ไม่ได้ตั้งใจฝึกฝน อบรมใจกันเต็มที่ หรือในตอนช่วงนี้ยังไม่ตั้งอกตั้งใจกันเต็มที่ บัดนี้เราจะต้องทำกันอย่างจริงจังแล้ว ขอให้ทุกคนได้ตั้งอกตั้งใจ และก็ทำใจหยุดนิ่งอย่างที่ได้แนะนำเอาไว้เมื่อเช้านี้ โดยพร้อมเพรียงกันนะ 


        เอาล่ะต่อจากนี้เราก็กำหนดใจของเราให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาให้ง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่ง กำหนดเป็นดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พร้อมกับภาวนาในใจของเราเบา ๆ เราภาวนาในใจว่า สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนากันไปอย่างนี้นะ จนกว่าใจจะหยุดจะนิ่ง ไม่ต้องกลัวปาด ไม่ต้องกลัวเมื่อย

      

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011651158332825 Mins