แสวงหาบุญใหญ่

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2567

260267b01.jpg

 

พระธรรมเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
กุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๓๒

แสวงหาบุญใหญ่ 

                        เราได้กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน ขอให้ทุกคนนั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายวางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ทุก ๆ คน หลับตาของเราเบา ๆ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับว่าเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยเพราะว่าเราจะต้องใช้เวลาต่อจากนี้ไปหนึ่งชั่วโมงเต็มสำหรับการหลับตาเจริญสมาธิภาวนาและการบูชาข้าวพระเพราะฉะนั้นท่านั่งของเราทุก ๆ คนจะต้องให้พอเหมาะ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่าน อย่าได้ดูเบาในสิ่งที่หลวงพ่อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเบื้องต้นนี้ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญทีเดียว สำหรับท่านที่จะเริ่มฝึกฝนใจให้หยุดให้นิ่งอยู่ภายใน ท่านั่งที่พอเหมาะจะทำให้เราไม่ปวดไม่เมื่อย เมื่อกายของเราสบายแล้วจะพลอยให้จิตใจเบาสบายตามไปด้วย

 

                            เมื่อเราปรับร่างกายแล้ว ต่อจากนี้ ก็มาปรับจิตใจของเรา ใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระธรรมกายภายในนั้น จะต้องเป็นใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความวิตกกังวลในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องครอบครัว หรือนอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้ ใจนั้นต้องปลอดโปร่งว่างเปล่าจากความคิดทั้งหลาย และก็ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ผ่องใส วันนี้เราจะมาแสวงหาบุญใหญ่ ที่เราเรียกว่าบูชาข้าวพระ คือการนำเครื่องไทยธรรมทั้งหลายอันมีดอกไม้ธูปเทียน อาหารหวานคาว ซึ่งเรานำมาจากบ้านกันคนละเล็กคนละน้อย เป็นของหยาบกลั่นให้เป็นของละเอียด ด้วยพระธรรมกายที่มีอยู่ภายในตัวของเรา จนกระทั่งความละเอียดของเครื่องไทยธรรมนั้นเท่าเทียมกับพระธรรมกาย จึงจะน้อมไปถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่ยังมีพระธรรมกายปรากฏอยู่ในอายตนนิพพาน เราจะได้น้อมนำเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ซึ่งเป็นของละเอียด ไปถวายเป็นพุทธบูชา การทำอย่างนี้เรียกว่าการบูชาข้าวพระ 

 

                            พระพุทธเจ้าเมื่อท่านดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ท่านก็มีพระธรรมกายปรากฏ อยู่ในอายตนนิพพาน มีคำ ๆ หนึ่งที่ใช้แตกต่าง แต่เราได้ยิน กันบ่อย แต่แตกต่างจากมนุษย์ทั่วไป คือคำว่าดับขันธปรินิพพาน มนุษย์ทั่ว ๆ ไปนั้นน่ะ ถ้าชีวิตหาไม่แล้วก็เรียกว่าตาย หรือร่างกายเสียมั่ง ถ้าเป็นพระก็เรียกว่ามรณภาพอะไรอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านใช้คำว่าดับขันธปรินิพพาน คือขันธ์ทั้ง ๕ ที่ตกอยู่ในไตรลักษณ์ นั่นดับหมด ถอดออกหมด เหลือแต่ธรรมขันธ์ของพระพุทธเจ้า ธรรมขันธ์ หรือธรรมกายนั้น เข้าสู่อายตนนิพพาน อย่างนี้เรียกว่าดับขันธปรินิพพาน

 

                            เมื่อถึงวันที่ท่านจะดับขันธปรินิพพานนั้นน่ะ ใจท่านแล่นเข้าไปสู่ภายในด้วยธรรมกาย ใจร่อนจากขันธ์ทั้ง ๕ คือขันธ์ในกายมนุษย์ ในกายทิพย์ ในกายพรหม ในกายอรูปพรหม ซึ่งเป็นเหตุให้ติดอยู่ในภพทั้ง ๓ นี้ ท่านร่อนหมด กระเทาะร่อนหมด ไม่ติดกันเลย ใจท่านจะติดอยู่ในธรรมกายอรหัต ธรรมกายพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่อยู่ภายใน เป็นกายที่หมดจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย หมดสิ้นจากใจ เข้ารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหันต์นั้น เป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน เป็นธรรมกาย เมื่อกายหยาบ ขันธ์ ๕ ของกายหยาบ ต้องแตกกายทำลายขันธ์ เพราะทรงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ กายธรรมนั้นก็ถอด กลั่นตัวเองให้บริสุทธิ์ เท่าอายตนนิพพานแล้วก็ถูกดึงดูด เข้าสู่อายตนนิพพานด้วยธรรมกาย อย่างนี้เรียกว่าดับขันธปรินิพพาน 



                            เพราะฉะนั้นในอายตนนิพพานซึ่งเป็นภพเป็นที่อยู่ของพระธรรมกายนั้น จะมีแต่พระธรรมกายล้วน ๆ สะอาดบริสุทธิ์ สว่างไสวด้วยธรรมรังสีของพระพุทธเจ้า ด้วยธรรมธาตุที่บริสุทธิ์และสะอาด ปราณีต เมื่อท่านเข้าสู่อายตนนิพพานแล้ว กิจอย่างอื่นที่คล้าย ๆ กับมนุษย์เทวดาพรหมหรืออรูปพรหมนั้นไม่มี เพราะฉะนั้นจึงไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการยืน เดิน นอน มีแต่อริยาบถที่นั่งสงบ เข้านิโรธสมาบัติอยู่ในกลางของกลางของพระองค์ท่าน เสวยวิมุตติสุขเสวยสุขที่อยู่ในอายตนนิพพาน ที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ กิจของท่านอย่างงั้นแหละ ตลอดไป

 

                            การที่เราไปบูชาข้าวพระ ก็คือการนำของละเอียดอันนี้นะ ของหยาบที่กลั่นให้ละเอียดด้วยธรรมกายอันนี้ ไปเป็นพุทธบูชา เพื่อเป็นกิริยาบุญของเรา เป็นธรรมบรรณาการ ไม่ได้หมายถึงว่าพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์นั้นน่ะ ท่านจะทรงเสวยอาหารอย่างนี้ เช่นเดียวกับพระสงฆ์ ก็ไม่ได้หมายถึงอย่างนั้น แต่นี่เป็นการเป็นพุทธบูชาเหมือนเอาดอกไม้ไปบูชานี้ที่พระประธานในพระอุโบสถ แต่นั่นเป็นของหยาบถวายต่อพระปฏิมากรซึ่งเป็นตัวแทน ตัวแทนของพระธรรมกายพระพุทธเจ้า แต่นี่เราไปถึงตัวจริงของพระพุทธเจ้า คือตัวจริงของท่านนั้นเป็นกายธรรมที่ละเอียดอยู่ในอายตนนิพพาน ของที่จะไปถึงก็จะต้องละเอียดตามไปด้วย อันนี้เรียกว่าพุทธบูชา เป็นมหากุศลอย่างยิ่ง 

 

                            เพราะฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจ ว่าไม่ได้หมายถึงว่าไปให้พระพุทธเจ้าท่านทรงเสวยเหมือนพระสงฆ์ ที่ท่านขบฉันภัตตาหาร ไม่ใช่อย่างนั้น อันที่จริงอาหารนั้นแปลว่าปรนปรือ ปรนปรือให้ชีวิตหรือให้สิ่งนั้นเป็นอยู่ อย่างเช่นไฟที่เกิดขึ้น ความสว่างไสวของไฟที่เกิดจากฟืน ฟืนนั้นก็เป็นอาหารของไฟคือปรนปรือให้ไฟเป็นอยู่ ไฟที่เกิดจากน้ำมัน น้ำมันนั้นก็เป็นอาหารของไฟ ทำให้ไฟนั้นปรนปรือเป็นอยู่ พระพุทธเจ้าท่านมีธรรมธาตุอันบริสุทธิ์ คือเป็นธาตุธรรมที่บริสุทธิ์ ธาตุดินน้ำลมไฟวิญญาณอากาศธาตุท่านบริสุทธิ์ธรรมซึ่งเป็นเครื่องรองรับธาตุทั้งปวงก็บริสุทธิ์ สิ่งเรานี้ปรนปรือท่านอยู่ตลอดเวลา ด้วยธาตุที่บริสุทธิ์ ธาตุบริสุทธิ์นั้นจึงเต็มเปี่ยมไปด้วยพลานุภาพที่ไม่มีประมาณ 

 

                            ดังนั้นท่านไม่ได้มีความจำเป็นว่าจะต้องเสวยอาหารหยาบแบบมนุษย์ ท่านเป็นอยู่ได้ด้วยธรรมธาตุที่บริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป หรือถ้าประดุจทองก็ขจัดมลทินของทองนั้นให้บริสุทธิ์ เหลือแต่ความสุกปลั่งของทอง ความสุกปลั่งของทองนั้นก็เป็นคุณค่าของทอง ความสุกปลั่งของธรรมธาตุของพระธรรมกายก็เช่นเดียวกัน เมื่อสะอาดบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ก็ปรนปรือหล่อเลี้ยงธรรมขันธ์นั้นไปในตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นที่เราบูชาข้าวพระนี้ เป็นกริยาบุญ แต่แทนที่เราจะทำแบบธรรมดาทั่วไป ซึ่งเราเรียกว่าขอถึง เราเปลี่ยนแปลงไปเป็นเข้าถึง ถึงได้ด้วยธรรมกายของตัวเราซึ่งมีอยู่ในตัวของเราทุก ๆ คน กลั่นเครื่องไทยธรรมนี้จากของหยาบให้เป็นของละเอียด

 

                            ดังนั้นท่านทั้งหลายได้โปรดทำความเข้าใจนี้ให้ดี และที่สำคัญที่สุด เราจะต้องพยายามปฏิบัติให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ พระธรรมกายมีอยู่ในตัวของพวกเราทั้งหลาย เป็นกายที่มีอยู่จริง ๆ ซ้อนอยู่ภายใน เป็นกายที่ละเอียดที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด และก็รอบรู้ที่สุด อยู่ในกลางของกลางตัวของเรานี่แหละ ไม่ได้อยู่ที่ตรงไหน ไม่ได้เป็นของใหม่ที่นำมาแนะนำสั่งสอน เป็นของเก่าที่พวกเราลบเลือนไป จนกระทั่งไม่เข้าใจ ว่ามีอยู่จริง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้สามารถพิสูจน์ได้ สัมผัสได้ ด้วยการเข้าถึงเท่านั้น ดังนั้นเราจะต้องพยายาม ฝึกฝนอบรมใจเนี่ย ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ 

 

                            อีกประการหนึ่งเราเกิดกันมาเนี่ยแต่ละภพแต่ละชาติ สิ่งที่เป็นยอดปรารถนาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่เพียงแต่มนุษย์ ก็คือการแสวงหาความสุข สุขที่ทำให้กายสบาย ใจสบาย แล้วก็สุขที่แท้จริงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่เรากำลังแสวงหาอยู่ ไม่ว่าเราจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ตาม ต้องการแสวงหาอารมณ์นี้ความสุขชนิดนี้ ที่กายก็สบาย ใจก็สบาย ปลอดโปร่งปราศจากความทุกข์ทั้งมวล นี่คือสิ่งที่เราปรารถนา และความสุขชนิดนี้เนี่ยะ มีอยู่ที่เดียวเท่านั้น คือรวมประชุมอยู่ในกลางธรรมกายทั้งหมด ธรรมกายนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของความสุขที่เราปรารถนานี้ ที่เรากำลังแสวงหาอยู่นี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นการแสวงหาพระธรรมกายก็ได้ชื่อว่า แสวงหายอดปรารถนาของเรา คือความสุขที่แท้จริง



                            เมื่อเราได้เข้าถึงความสุขที่แท้จริง คือเข้าถึงธรรมกายแล้ว เราจะได้ความรู้ใหม่ที่เพิ่มขึ้น ความรู้ใหม่นี้ที่เกิดขึ้นนั่นก็คือ เราจะทราบถึงข้อแตกต่างจากสิ่งทั้งหลายที่เราเรียกว่าความสุข ที่เราได้ผ่านมา ว่าสิ่งนั้นเป็นความสุขที่จอมปลอม ไม่ใช่ของแท้จริงเลย อันที่จริงนั้นมันคือแค่ความสนุก แค่ความเพลิน ให้มันหมดกันไปวัน ๆ คือไม่รู้จะทำอะไรก็หาเรื่องให้มัน เอามาทำให้มันหมดวัน ๆ จะได้ลืมเรื่องความทุกข์ ความเซ็ง ความเครียด ความเบื่อ ความกลุ้ม ให้มันเพลิน ๆ ให้มันหมดเวลาไป เพราะว่าไม่รู้ว่าจะทำอะไร แล้วไม่รู้จักว่าอารมณ์ของความสุขที่แท้จริงนั้นน่ะมันเป็นอย่างไร 

 

                            ดังนั้นเมื่อเราเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว ความรู้ใหม่ ๆ นี้ก็จะเกิดขึ้น เหมือนพระพุทธเจ้าของเรา ท่านได้ผ่านอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นมาหมด สมบูรณ์ไปด้วยลาภยศสรรเสริญ รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ธรรมารมณ์อะไรต่าง ๆ แต่แล้วในที่สุดเมื่อท่านได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าถึงหยุดนิ่งในกลางธรรมกาย พบความสงบสุขอยู่ในธรรมกาย พระองค์จึงได้ทรงยืนยัน แล้วก็ยืนยันเหมือนกันหมดทุก ๆ พระองค์ นับอสงไขย์พระองค์ไม่ถ้วน ว่า "นตฺถิ สันติ ปรํสุขัง" ความสุขสุดยอด ที่เป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลายนั้นน่ะ มีสุดยอด ก็คือหยุดกับนิ่งเท่านั้นเอง 

 

                            ทำใจหยุด ทำใจนิ่ง ให้ปราศจากความทะยานอยากทั้งสามกามตัณหา ภวตัณหา หรือวิภวตัณหา อะไรเหล่านั้นน่ะ ความทะยานอยากเหล่านั้นให้มันหมดสิ้นไป จนกระทั่งเข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต คือทุกอย่างบริบูรณ์ จนกระทั่งไม่อยากอะไรเลย ไม่อยากได้นั่นได้นี่ ไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่อยากจะได้อะไรทั้งหมด เพราะว่าเป็นผู้ที่สมบูรณ์ไปหมดแล้ว ถ้าเป็นเศรษฐีก็เป็นมหาเศรษฐี ที่ยิ่งใหญ่ ที่มีมากพอซะจนกระทั่งไม่อยากจะมีอะไรอีก และก็ไม่ต้องการอะไรเลย มีความสุขอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ธรรมกายนี่แหละคือยอดปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลายและของพวกเราทั้งหลาย

 

                            ดังนั้นก่อนที่เราจะบูชาข้าวพระ ซึ่งเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ตั้งอกตั้งใจฝึกฝนใจของเราเนี่ยให้หยุดให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ สำหรับท่านที่มาใหม่ ขอได้โปรดทำความเข้าใจเอาไว้ว่าพระธรรมกายนั้นท่านสิงสถิตย์อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ในกึ่งกลางกายของเรา ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในกึ่งกลางกายของเรา ในพระไตรปิฎกท่านก็ไม่บอกโดยตรง แต่บอกว่า บอกโดยอ้อมสำหรับผู้มีปัญญา บอกกายเหล่านี้น่ะ ต้องเดินหนทางสายกลางที่มีอยู่ภายในตัวของเราน่ะ จึงจะเข้าถึงได้ 

 

                            เพราะฉะนั้นท่านที่มาใหม่ ขอได้โปรดทำความเข้าใจเอาไว้ ว่าพระธรรมกายอยู่ในกลางตัวของเรา ซึ่งกึ่งกลางกายของเราน่ะ ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือสมมติว่าเรามีเส้นเชือกขึงให้ตึงอยู่ ๒ เส้น จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนั้นแหละเป็นที่สิงสถิตของพระธรรมกาย เราจะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ 

 

                            หยุดอยู่ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดเวลา ถ้าหากว่าเราอยากจะได้ธรรมกายเร็ว เข้าถึงได้เร็ว เราก็ทำทั้งวันทั้งวันทั้งคืน คือหยุดอยู่ที่ตรงนี้ จะนั่งก็เอาใจหยุดอยู่ที่ตรงนี้ จะยืนก็เอาใจมาหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ จะเดินก็เอาใจมาหยุดอยู่ตรงนี้ จะนอนก็เอาหยุดอยู่ที่ตรงนี้เนี่ย หลับเป็นสุขก็ตรงนี้ ตื่นมาอย่างเป็นสุขก็ตรงนี้ จะอาบน้ำอาบท่าหรือรับประทานอาหาร หรือจะทำกิจวัตรส่วนตัวอะไรก็ตามก็เอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ นี่สําหรับผู้ที่อยากได้ อยากเข้าถึง ความสุขที่ยิ่งใหญ่ที่เป็นอมตะ ได้รู้จักพระธรรมกาย เป็นอย่างไร มีจริงไม๊ เข้าถึงแล้วจะดีอย่างไร จะต้องเอาใจมาหยุดอยู่ที่ตรงนี้แหละ ตลอดวันตลอดคืน ตลอดเวลา ให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดให้นานที่สุดทีเดียวน่ะ 

 

                            พอถูกส่วนเข้า ไม่ช้าเราจะเห็นหนทางที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย หนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกายนั้นน่ะ จะปรากฏเกิดขึ้นมาในกลางหยุดนิ่ง เป็นจุดสว่าง อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ เล็กเท่ากับปลายเข็มนะ กลมรอบตัวเหมือนดวงดาวในอากาศ ถ้าขยายใหญ่ขึ้นมาหน่อย ขนาดกลางก็เท่ากับพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างโตก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ที่เรามองเห็นได้ด้วยตาเปล่าของเรา ปรากฏเกิดขึ้นมาในกลางหยุดกลางนิ่ง เมื่อใจเราทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างหมดแล้ว นั่นแหละความถูกส่วนก็เกิดขึ้น เป็นดวงใสบริสุทธิ์ นี่คือดวงธรรมเบื้องต้น ที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย เป็นความบริสุทธิ์ในเบื้องต้นที่จะเข้าถึง ให้รักษาดวงนี้เอาไว้ให้ดี ให้ยิ่งกว่าชีวิต ถ้าเราอยากจะได้พระธรรมกายจริง ๆ ให้รักษาเอาไว้ยิ่งกว่าชีวิต 

 

                            ฝึกประคองกันไปเรื่อย ๆ พอถูกส่วน ใจก็จะแล่นเข้าไปสู่ภายใน แล่นเข้าไปเรื่อย ๆ แล่นเข้าไปสู่ในกลางของกลางเข้าไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งผ่านกายต่าง ๆ ชีวิตในระดับต่าง ๆ ที่ซ้อนอยู่ภายใน และในที่สุดก็เข้าถึงพระธรรมกายถึงพระรัตนตรัยน่ะ เข้าถึงพระธรรมกาย ลักษณะที่สวยงามมาก คือได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการงามไม่มีที่ติ มีความสวยสดงดงามมาก นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา เกตุของท่านเป็นเกตุดอกบัวตูม นั่งสงบนิ่งทีเดียว สวยงามมาก นั่นแหละคือธรรมกายที่อยู่ในกลางตัวเรา เป็นธรรมกายเบื้องต้น เพราะฉะนั้นหยุดให้ถูกส่วนอย่างนี้ จึงจะเข้าถึงธรรมกายให้ได้ 

 

                            แต่วิธีฝึกใจที่จะให้หยุดนิ่งนั้น สำหรับท่านที่มาใหม่ ใจมักซัดส่ายไปที่อื่น คิดไปในเรื่องราวอะไรต่าง ๆ มันยังไม่เชื่อง ก็ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ สร้างมโนภาพขึ้นมาว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้น มีดวงแก้วที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้สร้างมโนภาพนะจ๊ะ ว่ามีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้เอาใจของเราตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ แล้วก็หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว ให้ตรึกนึกถึงความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ของดวงแก้ว พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ให้ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ อย่างมีความสุข อย่างมีความเบิกบานน่ะ พร้อมกับตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ ให้ภาวนาอย่างนี้ไปนะจ๊ะทุก ๆ คน 

 

                            เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะได้ตั้งใจหลับตาเจริญภาวนาเพื่อให้ใจหยุดนิ่งกันทุก ๆ คน ให้ตรึกนึกถึงดวงใส ให้ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ ส่วนท่านที่มาเป็นประจำแล้ว เราเข้าถึงสภาวธรรมไหน ก็เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของสภาวธรรมนั้น ๆ นะจ๊ะ เช่นเข้าถึงปฐมมรรคหยุดไปในกลางปฐมมรรค เข้าถึงกายภายในก็หยุดไปที่กลางของกายภายใน เข้าถึงพระธรรมกายก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของพระธรรมกาย ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ 

 

                           เราได้บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ขอเรียนเชิญทุกท่าน นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน ให้นั่งขัดสมาธิ สำหรับท่านที่มาใหม่ ก็ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ ท่านมาแล้วอย่างสม่ำเสมอก็ปฏิบัติไปอย่างที่เราได้เคยปฏิบัติกันมา เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ อย่าไปบีบหัวตา อย่าไปกดลูกนัยน์ตาหลับตาให้สบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนว่าเลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ตั้งกายของเราให้ตรงพอเหมาะ อย่ายืดเกินไป อย่าย่อจนงองุ้ม หรือเอียงซ้ายเอียงขวา ให้พอเหมาะพอดี จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่านั่งสบาย จะนั่งไปนานเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย อึดอัด 

    

                           เพราะความสบายของร่างกาย เป็นต้นทางที่จะเข้าถึงพระธรรมกายภายใน เพราะฉะนั้นเราปรับกายของเราให้สบาย ๆ หลังจากนั้นก็มาปรับจิตใจของเรา ใจที่จะเข้าถึงพระธรรมกายได้นั้น จะต้องปลดต้องปล่อย ต้องวาง ให้ใจว่างจากภารกิจทั้งหลายทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องครอบครัว เรื่องธุรกิจการงาน เรื่องการศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีภารกิจเครื่องกังวลอันใด แล้วก็ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส อย่าให้ความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้ามาครอบงำใจ ในขณะที่เราจะเจริญภาวนา ฝึกใจให้หยุดให้นิ่ง เพราะฉะนั้นการปรับกายและใจให้สบายนี้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ จะต้องพยายามศึกษาให้เข้าใจ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่าดูเบานะจ๊ะ

 

                            เมื่อกายและใจของเราปลอดโปร่ง เบาสบายดีแล้ว ต่อจากนี้ก็ให้นึกถึงดวงแก้ว ดวงแก้วกลมรอบตัว กลมคล้าย ๆ กับดวงแก้วกายสิทธิ์ หรือดวงแก้วมณีโชติรส เรานึกถึงดวงแก้วนะ นึกก็คือการสร้างมโนภาพนั่นเอง คล้าย ๆ กับการนึกถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมาในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติของใจนั้นมันจะต้องนึกต้องคิด การนึกคิดนี่เป็นอาหารทางใจ ใจจะไม่ว่างจากการนึกคิด แล้วเรื่องที่คิดนั้นอาจจะเป็นเรื่องดีเรื่องชั่ว หรือไม่ดีไม่ชั่วอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็มักจะคิดได้ในสิ่งที่เราคุ้น เช่น เรื่องครอบครัว เรื่องงานการ คนที่เรารู้จักอะไรอย่างนั้นเราจะสังเกตุได้ว่าการนึกคิดในสิ่งเหล่านี้เนี่ย ไม่ลำบาก และไม่ยากอะไรเลยสำหรับเรา เพราะว่าเราคุ้น แต่พอเรามานึกถึงภาพดวงแก้ว ซึ่งใหม่ ๆ นี่เราไม่คุ้น อาจจะยากซักนิดนึง 

 

                            เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทำใจสบายแล้วก็นึกสร้างมโนภาพถึงดวงแก้วที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา แก้วตาใครแก้วตามันนะจ๊ะ กลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ ไม่มีขีด ไม่มีข่วน ไม่มีรอยตำหนิ เวลานึกถึงภาพดวงแก้ว ก็ให้นึกง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้น นึกถึงบ้าน นึกถึงคนที่เรารัก ของที่รักอะไรอย่างนั้น ให้ทำใจเบา ๆ สบาย ๆ ในการนึก เช่นเดียวกัน นึกตอนนี้สำคัญนะจ๊ะ ถ้าใครสามารถนึกได้ การเข้าถึงดวงธรรมภายในไม่ยากเลย เพราะดวงธรรมภายในนั้นเป็นของละเอียดที่มีอยู่ภายในตัวของเราอยู่แล้ว เราจะเข้าถึงได้เราจะต้องปรับใจของเราให้ละเอียดเท่ากับดวงธรรมที่อยู่ภายในกาย จึงจะเห็นได้ การวางใจเบา ๆ สบาย ๆ ก็คือการเริ่มต้นทำใจให้ละเอียด 

 

                            การนึกถึงภาพดวงแก้ว จะทำให้ใจเราไม่ซัดส่ายไปที่อื่น เพราะภาพดวงแก้วนั้นน่ะเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด ความบริสุทธิ์ของดวงธรรมภายใน การนึกถึงสิ่งนี้จะทำให้ใจเราละเอียดอ่อน ใจปราณีต และใจสูงขึ้น เพราะฉะนั้นขอให้เรานึกถึงภาพดวงแก้วอย่างสบาย ๆ นะจ๊ะ นึกอย่างธรรมดา ๆ เนี่ยเริ่มต้นอย่างง่าย ๆ อย่างนี้ก่อน ดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา เราจะนึกอยู่ที่ไหนก็ได้ ดวงแก้วดวงนี้จะลอยมาจากที่ใดก็ตาม ให้นึกอย่างสบาย ๆ ลอยมา ให้มาหยุดอยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงให้หยุดอยู่ที่ข้างซ้าย ท่านชายให้หยุดอยู่ที่ปากช่องจมูกข้างขวา หยุดให้นิ่ง ๆ หยุดอยู่ตรงนี้ก่อนนะจ๊ะ ตรงนี้เป็นฐานที่ ๑ หยุดให้ดี สังเกตุอารมณ์สบายไม๊ ใจสบายไม๊ ให้สังเกตุดู เนื่องจากดวงแก้วเป็นภาพที่เราไม่คุ้น ใหม่ ๆ มันอาจจะไม่ชัดเจน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อย่าไปกลุ้มใจ อย่าไปกังวลอย่าไปหงุดหงิด อย่าไปรำคาญ เวลานึกสร้างมโนภาพได้ชัดเจนกี่เปอร์เซ็นต์ หรือแค่ไหนก็แล้วแต่ ก็ช่างมันเช่นอาจจะนึกได้ชัดเจนแค่เป็นวงลาง ๆ ซัก ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐, ๒๐, ๓๐ เปอร์เซ็นต์ก็ช่างมัน 

   

                              เพราะว่านี่คือสิ่งที่เราไม่คุ้นต่อการนึกคิด มันจึงยังไม่ชัดเจน ให้ลอยมาจากที่ไหนก็ได้นะจ๊ะ แล้วมาตั้งไว้ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ทำตามไปช้าๆ นะ สำหรับท่านที่มาใหม่ ทีนี้บางทีเรานึกภาพดวงแก้วไม่ออกจริง ๆ พยายามแล้วพยายามอีก ไม่ออก อาจจะนึกถึงภาพพระพุทธรูปก็ได้ องค์ใดองค์หนึ่งที่เราเคารพกราบไหว้บูชาอยู่ทุก ๆ วัน มองท่านทุกวัน ด้วยความเคารพเลื่อมใส จำท่านได้ติดตาติดใจ เราจะนึกถึงภาพพระพุทธรูปแทนภาพดวงแก้วนี้ก็ได้ พระพุทธรูปองค์นั้นจะทำด้วยวัสดุอะไรก็แล้วแต่ จะเป็นแก้ว เป็นทองเหลือง อะไรก็แล้วแต่ ได้ทั้งนั้น แต่ถ้านึกให้ใสเป็นแก้วได้เป็นดีที่สุด นึกอาราธนาท่านแล้วย่อลงมาให้เล็ก ให้เล็กกว่าช่องปากช่องจมูกของเรา นึกย่อลงมานะจ๊ะ 

 

                            เพราะฉะนั้นใครถนัดดวงแก้วเราก็เอาดวงแก้วเป็นบริกรรมนิมิต ใครถนัดองค์พระก็เอาองค์พระเป็นบริกรรมนิมิต นึกย่อลงมา พอเรานึกย่อ ท่านก็เล็กลงเลย ถ้าให้ดีที่สุดก็นึกให้ท่านใสบริสุทธิ์ ประดุจทำด้วยเพชรอย่างนั้นน่ะ ให้ใส เพราะฉะนั้นตอนนี้ ก็มีดวง ดวงแก้วหรือองค์พระแล้วแต่ใจเราชอบนะจ๊ะ จำให้ดีนะ ปากช่องจมูกเป็นฐานที่ ๑ เมื่อเราจรดอยู่ที่ปากช่องจมูกแล้ว เราก็ภาวนาในใจ ภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง ประคองใจให้สบาย นึกเลื่อนบริกรรมนิมิตเข้าไปในปากช่องจมูก แล้วก็หยุดอยู่ที่หัวตา ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา หัวตานี่เป็นฐานที่ ๒ ให้ประคองใจให้อยู่ที่บริกรรมนิมิตนิ่ง อย่างสบาย ๆ อย่าไปบังคับมัน ใช้คำว่า ประคองอย่างสบาย ๆ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง ก็เลื่อนบริกรรมนิมิตไปที่กลางถูกศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา 

 

                            สมมติว่ากระโหลกศีรษะเรา ไม่มีมันสมอง เป็นที่โล่ง ว่าง ดวงแก้วหรือองค์พระก็จะไปหยุดตรงกึ่งกลางพอดี ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๓ ให้ประคองไว้อย่างสบายๆ ทำใจเย็น ๆ ไม่รีบ ไม่ร้อน ไม่ต้องกลัวเสียเวลา ค่อย ๆ ประคองไป พร้อมกับภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง ก็เลื่อนบริกรรมนิมิตลงมาที่เพดานปาก ตรงช่องปากที่อาหารสำลักตรงนั้น ซึ่งเป็นฐานที่ ๔ ประคองไว้อย่างสบาย ๆ ทำใจเย็น ๆ พร้อมกับภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง ก็เลื่อนบริกรรมนิมิตมาที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ซึ่งเป็นฐานที่ ๕ ประคองอย่างสบาย ๆ ทำใจเย็น ๆ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ สามครั้ง ก็เลื่อนต่อไปอีกเข้าไปในกลางตัวของเรา เลื่อนลงไปอย่างช้า ๆ อย่างสบาย ๆ 

 

                            ตรึกนึกถึงดวงใส หรือพระแก้วใส ๆ เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ เลื่อนบริกรรมนิมิตไปหยุดอยู่ในกลางตัวในระดับเดียวกับสะดือ สมมติว่าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปข้างหลังเส้นหนึ่ง จากขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ให้วางบริกรรมนิมิตไว้ตรงจุดนี้อย่างเบา ๆ สบาย ๆ อย่างละเอียดอ่อน ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาครบสามครั้ง ก็เลื่อนบริกรรมนิมิตยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ อยู่สูงจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ นึกอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ตรงนี้เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 

                            ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นฐานสุดท้าย เป็นที่ตั้งใจของเรา ใจต้องตั้งอยู่ตรงนี้อย่างถาวรทีเดียว ไม่ขยับเขยื้อนเลื่อนไปซ้าย ไปขวา ไปหน้า ไปหลัง ไม่เขยื้อนไปที่ไหน ให้อยู่ที่ตรงนี้เลย ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ หรือตรึกนึกถึงพระแก้วใส ๆ เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของพระแก้วใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อยๆ ตรงนี้ให้ภาวนาไปเรื่อย ๆ จะภาวนาไปกี่สิบ กี่ร้อย กี่พัน กี่หมื่น กี่แสนครั้งก็ตาม ก็ภาวนาไปเรื่อย ๆ ภาวนาไปจนกว่าใจจะหยุดนิ่ง ใจหยุดนิ่งเนี่ยไม่คิดเรื่องอะไรเลย ไม่มีเรื่องอื่นเข้ามาแทรก ใจหยุดนิ่งเฉย คำภาวนาก็จะเลือนหายไปจากใจเอง มันหายไปเอง พอเราภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ พอเวลาใจมันจะหยุด คำภาวนามันจะค่อย ๆ บางเบาลงไปเรื่อย ๆ แล้วในที่สุดก็เลือนหายไปเลย เหลือแต่ใจที่นิ่งสงบ เป็นสุขอยู่ภายใน 



                            เมื่อใจหยุดนิ่งเป็นสุขอย่างนี้ ให้รักษาความสงบต่อไปเรื่อย รักษาใจหยุด รักษาใจนิ่งไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องกลับมาภาวนาสัมมาอะระหังใหม่ เพราะว่าคำภาวนาสัมมาอะระหังนั้นหมดความจำเป็นแล้ว เราภาวนาจนกระทั่งส่งใจมาถึงฝั่ง เข้าถึงความหยุดความนิ่ง ใจหยุดใจนิ่ง เราจะกลับมาภาวนาอีกครั้งเมื่อใจเราฟุ้ง ถึงตอนนั้นถึงจะภาวนาต่อแต่ถ้าใจไม่ฟุ้ง ใจนิ่งเฉย ให้รักษาความนิ่งเฉยนั้น ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ รักษานิ่งเฉย มันจะนิ่งนานไปกี่นาที กี่ชั่วโมงก็แล้วแต่ เราปล่อยเฉย ๆ ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องคิดว่าทำไมมันน่าจะมีอะไรเกิดขึ้น หรือน่าจะเห็นอะไรต่าง ๆ ไม่ต้องคิด อย่าไปคิดนะจ๊ะ และอย่าไปสงสัยว่ามันถูกทางหรือผิดทาง เพราะความจริงน่ะมันถูกทางแล้ว ก็รักษาใจหยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ บางคนใจหยุดนิ่งนั้นกำหนดบริกรรมนิมิตดวงแก้วหรือองค์พระได้ชัดเจน

 

                            บางคนใจหยุดนิ่งนั้นน่ะ ไม่มีบริกรรมนิมิตมาปรากฏในใจ มีแต่ใจนิ่งเฉย ๆ อยู่ตรงนั้นน่ะ อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ถูกต้องแล้ว ถูกต้องทั้งสองอย่าง ให้รักษาใจนิ่งไปเรื่อย ๆ ประคองไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ให้มันต่อเนื่องกันไป มันจะมีอยู่จังหวะหนึ่งที่ใจเราถูกส่วนจะเกิดความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบาสบาย ละเอียดยิ่งกว่าเดิม คล้าย ๆ กายของเรานี่มันขยายออก หรือบรรยากาศรอบข้างมันขยายออกไปรอบตัวทีเดียว ขยายกว้างออกไป ถ้าละเอียดมากก็กว้างออกไปอย่างไม่มีขอบเขต แล้วเหมือนกับตกวูบลงไป คล้าย ๆ กับตกจากที่สูงลงไปที่ต่ำ มันวูบลงไปน่ะ บางคนก็ผงะ บางคนก็สะดุ้ง บางคนก็กลัว เพราะว่าเป็นประสบการณ์ที่เราไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ก็กลัวก็วิตกกังวลกันไป แต่นั่นเป็นอาการของใจที่จะตกศูนย์ พอใจตกวูบลงไป ไม่ช้าจะมีดวงธรรมปรากฏเกิดขึ้นมา 

 

                            เป็นดวงใสบริสุทธิ์เกิดขึ้นมาเอง ชัดเหมือนลืมตาเห็นทีเดียว ใสแจ่มบริสุทธิ์ เหมือนกับเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว มีความสว่างสุกใส ตั้งแต่ใสเหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ หรือเหมือนดวงดาวในอากาศ หรือคล้ายกับพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน จะปรากฏเกิดขึ้นมาในกลางนั้น เรียกว่าปฐมมรรค หรือดวงธรรมเบื้องต้นที่จะเข้าถึงพระธรรมกาย ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน ถ้าฝึกจนกระทั่งใจหยุดนิ่งเห็นดวงธรรมดวงนี้ปรากฏเกิดขึ้นมาแล้ว ให้ปิติให้ดีใจไว้ได้เถิด ว่าเราได้ทำความสำเร็จที่จะเข้าถึงอายตนนิพพานเอาไว้แล้ว ร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เดียว ให้ดีใจเอาไว้ แล้วก็ประคองใจไว้นิ่งเฉย อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ประคองดวงใสไว้ให้ดี พอถูกส่วนเข้า ใจก็จะละเอียดเข้าสู่ในกลางนั้นต่อไปเรื่อย ๆ ดวงนั้นก็ขยายกว้างออกไปเอง และใจก็จะดำเนินกิ่งไปเรื่อย ๆ ในกลางของกลางไป จนกระทั่งเข้าถึงกายภายใน

 

                            กายภายในที่ซ้อนอยู่ในกายภายนอก เป็นชีวิตในระดับลึก ในระดับละเอียดอ่อน จะเข้าไปเรื่อย ๆ เลย เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ เข้าถึงกายรูปพรหม เข้าถึงกายอรูปพรหม เข้าถึงกายธรรมโคตรภู และก็กายธรรมในกายธรรมเข้าไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แหละ ที่ซ้อนกันอยู่ภายใน กายเหล่านี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา เป็นชีวิตในระดับลึก และเป็นของจริงแท้ และยิ่งจริงขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อเข้าถึงกายธรรมซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ พระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ ปรากฏเกิดขึ้น เราก็จะรู้จักว่ากายจริงแท้ ที่เป็นตัวจริงของเราแท้ ๆ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายเป็นอมตะน่ะคือกายธรรม แล้วก็จะรู้จักว่ากายภายนอก หรือตัวที่อาศัยอยู่นี้ ยังไม่ใช่กายแท้ เพราะฉะนั้นท่านใช้คำว่าอนัตตา คือไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นกายที่อาศัยชั่วคราว ขอยืมเค้าสร้างบารมี ส่วนกายจริงแท้ ๆ นั้นน่ะ คือกายธรรม กายที่ใสเป็นแก้วกายที่ยิ่งแก่ยิ่งใส ยิ่งสวย ยิ่งสุกสว่าง กายนั้นเค้าเรียกว่าอัตตา คือตัวจริงตัวตนที่แท้จริง 

 

                            ส่วนข้างนอกเค้าเรียกว่าอนัตตา ตัวปลอม ตัวแทน ที่อาศัยชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็สอนว่า ไม่ควรจะไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนที่แท้จริง เพราะว่ามันไม่ใช่ของจริง ไปยึดว่ามันเป็นจริงเข้า ก็โง่ มันจะเสียเวลา ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น เพราะกายที่ไม่ใช่ของจริงนั้นน่ะ มันมีแต่วันจะเสื่อมลงไป จะแตกสลายลงไป เมื่อไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นของจริงเข้า ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เหมือนคนโง่อย่างงั้นแหละ เข้าใจว่าของไม่จริงว่าเป็นของจริง เพราะฉะนั้นความทุกข์ก็จะเกิดอยู่ตลอดชีวิต จนกว่าจะเข้าใจว่าไอ้ตัวนี้เป็นแค่เครื่องอาศัย เป็นทางผ่านให้เข้าถึงตัวจริงคือธรรมกายภายใน แล้วพยายามฝึกฝน ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ปล่อยละวางไปเรื่อย ๆ ไม่ช้าก็จะเข้าถึงกายธรรมซึ่งเป็นตัวจริง เป็นแก่นของชีวิต เป็นตัวของเราที่แท้จริง เราจะรู้จักว่าตัวจริงของเราว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะสวยงามแค่ไหน มีอารมณ์อย่างไรเนี่ย ก็ต่อเมื่อเราเข้าถึงกายธรรม ถ้าเราเข้าถึงได้แล้วเราถึงจะรู้จักได้ 

 

                            เพราะฉะนั้นของจริงนั้นมีอยู่ อยู่ภายในตัวของเรา ขึ้นอยู่แต่ว่าเราจะตั้งใจจริงไม๊ ถ้าเราตั้งใจจริง ฝึกกันจริง ๆ ก็จะต้องเข้าถึงกันอย่างแน่นอน วันนี้เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน เป็นวันที่พวกเราทั้งหลายมาประชุมรวมกัน พร้อมกันเพื่อจะแสวงบุญใหญ่ เราไม่ปล่อยปละละเลยให้วันคืนผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันที่ตรงกับเทศกาลที่สำคัญของชาวจีน คือการตรุษจีน บางท่านก็ยังเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เข้ามาฝึกฝนเพื่อให้เข้าถึงของจริงในชีวิตของเรา และก็ของจริงในพระพุทธศาสนา ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ที่ท่านได้เข้าถึงแล้วก็มาแนะนำมาสั่งสอนกัน 

 

                            ดังนั้นในวันนี้ ก่อนที่จะบูชาข้าวพระ ขอให้ทุกคนได้ตั้งอกตั้งใจ ฝึกฝนใจให้หยุด ฝึกฝนใจให้นิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายได้แล้ว ความสงสัยทั้งหลายก็ย่อมจะหมดสิ้นไป สงสัยเกี่ยวกับเรื่องภพเรื่องชาติ เรื่องกรรมเรื่องเวรหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ความสงสัยนั้นย่อมหมดสิ้นไป เมื่อเข้าไปถึงของจริงแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านได้ตั้งอกตั้งใจกันให้ดีนะจ๊ะ ทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง ตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ หรือตรึกนึกถึงพระแก้วใส ๆ เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางความใสบริสุทธิ์ของพระแก้ว ที่อยู่กลางตัว ตรึกไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ให้ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ ทุก ๆ คน
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012208501497904 Mins