วิสาขามหาอุบาสิกา ตอนที่ ๖ ต้อนรับขับสู้

วันที่ 15 กค. พ.ศ.2547

วิสาขามหาอุบาสิกา
ตอนที่ ๖ ต้อนรับขับสู้

 


   เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ คน มีความประสงค์จะคล้องพวงมาลัยให้ นางวิสาขามิได้ยอมรับพวงมาลัยในทันที ได้สอบถามความเป็นมาของพราหมณ์เหล่านั้นก่อนว่า พวกท่านมาจากที่ไหน มีความประสงค์อย่างไร พราหมณ์ทั้งหลายแจ้งว่า พวกตนมาจากตระกูลมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถี ได้เที่ยวแสวงหาหญิงงามผู้มีความเหมาะสมกับ ปุณณวัฒนกุมาร บุตรชายของท่านมิคารเศรษฐี ตามขนบประเพณีนิยมอันดีงาม

    เมื่อนางวิสาขาได้ยินชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร บุพเพสันนิวาสที่ได้สร้างบุญร่วมกันมาในกาลก่อน ทำให้เกิดความรู้สึกยินดีพอใจ เมื่อสอบถามความเป็นมาแห่งตระกูล จึงกล่าวรับรองว่า

     “ ตระกูลของเราเสมอกัน เจ้าค่ะ”

   

   ดังนี้แล้ว นางวิสาขาได้รับพวงมาลัยทองคำอันมีค่ามากถึงหนึ่งแสนกหาปณะนั้น มาคล้องคอของตน เท่ากับว่า นางวิสาขายอมรับการสู่ขอตามประเพณีจากผู้แทนญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายแล้ว ทันทีที่ได้คล้องพวงมาลัยทองคำ ความรู้สึกของนางวิสาขาได้เปลี่ยนไป นางมีความรู้สึกว่าบัดนี้เราได้ถูกยกขึ้นสู่ตระกูลอื่นแล้ว จึงเรียกให้บริวารไปบอกความทั้งปวงแก่บิดามารดา แล้วแจ้งความจำนงว่า

     “ ขอคุณพ่อคุณแม่จัดส่งรถให้พวกดิฉันด้วย เจ้าค่ะ ”

 

 ความจริงในเวลาที่นางวิสาขามายังริมฝั่งแม่น้ำ  นางและบริวารได้เดินเท้ามา และไม่มีผ้าคลุมหน้าตามประเพณีนักขัตฤกษ์เปิดเผย แต่จำเดิมที่นางได้รับการคล้องพวงมาลัยทองคำจากพราหมณ์ทั้งหลายแล้ว เท่ากับถูกยกฐานะให้สูงขึ้นจากเดิม เป็นหญิงผู้มียศใหญ่ จะเดินกลับเหมือนครั้งที่มาย่อมไม่เป็นการสมควร ควรจะไปด้วยยาน มีรถ เป็นต้น

   ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐี บิดานางวิสาขาได้ทราบความแล้ว จึงส่งรถไปรับบุตรสาว ๕๐๐ คัน นางวิสาขาได้ไปด้วยยานเอก ประดับตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม ส่วนเด็กหญิงบริวารได้ขึ้นยานธรรมดาไป บุคคลทั้งหลายย่อมกั้นร่ม หรือใบตาลให้ สมกับเกียรติยศของนางวิสาขาผู้เป็นที่นับถือของชาวเมืองดังนี้และพวกพราหมณ์ทั้ง ๘ คน ได้ไปยังบ้านนางวิสาขา พร้อมกับขบวนรถของนางนั่นเอง

  คราวนั้น ธนัญชัยเศรษฐีได้ออกมาต้อนรับพราหมณ์ทั้งหลาย ถามความเป็นไปแห่งบิดามารดาของฝ่ายชาย ชาติตระกูล และทรัพย์สมบัติว่า “ ท่านมิคารเศรษฐีมีทรัพย์อยู่เท่าไหร่ ”

     พวกพราหมณ์ตอบว่า “ ข้าแต่ท่านเศรษฐี ท่านมิคาระมีทรัพย์อยู่ ๔๐ โกฎิ ขอรับ ”

 

     ธนัญชัยเศรษฐีผู้มีสมบัติจักรพรรดิ ได้ฟังคำตอบของพวกพราหมณ์แล้วคิดว่า

    “ ทรัพย์เพียงเท่านี้ เมื่อเทียบกับทรัพย์ของเราแล้ว ก็ค่าเท่ากับกากณึกเดียว แต่เราไม่ต้องการด้วยประโยชน์อย่างอื่น นับแต่กาลที่นางได้เหตุ เพียงการรักษาจากตระกูลที่เสมอกันก็พอแล้ว ”

(กากณึก ใช้เทียบมูลค่าสิ่งของเท่าชิ้นเนื้อที่กาจะพาบินไปได้ เป็นมาตราเงินอย่างต่ำสุด)

 

   ดังนี้จึงรับไว้ และให้การต้อนรับและเครื่องแสดงความนับถือแก่พราหมณ์ทั้ง ๘ คน เป็นอย่างดี เมื่อพวกพราหมณ์ได้พักอยู่ ๒ วัน แล้ว จึงจัดรถม้าส่งเดินทางกลับ

   ฝ่ายมิคารเศรษฐี ได้รอคอยการมาของพวกพราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คน ที่ส่งไปแสวงหาหญิงงามตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยความใจจดใจจ่อ แต่ต้องผิดหวังกลับมาทั้งสิ้น จนกระทั่ง พวกพราหมณ์ทั้ง ๘ คน เดินทางมาถึงกรุงสาวัตถี ได้แจ้งข่าวอันน่ายินดีแก่ท่านมิคารเศรษฐีว่า

     “ พวกข้าพเจ้า ได้พบนางทาริกา ผู้มีลักษณะเบญจกัลยาณีแล้ว จ๊ะ ”

  มิคารเศรษฐีมีความปีติใจยิ่ง ถามถึงตระกูลและทรัพย์สมบัติแห่งนาง ทราบว่านางวิสาขาเป็นบุตรสาวของธนัญชัยเศรษฐี เป็นหลานของเมณฑกเศรษฐี คฤหบดีมหาศาลแห่งแคว้นอังคะ และบิดาเป็นผู้ครองเมืองสาเกตอันเลื่องชื่อ ให้มีความยินดีมากยิ่งขึ้น คิดว่า

    “ เราได้ทาริกาของตระกูลใหญ่แล้ว ควรจะรีบนำมาโดยเร็วทีเดียว ”

   ดังนี้ จึงคิดว่า การไปในครั้งนี้ ควรจะทูลเชิญเสด็จพระราชาไปด้วย ให้สมเกียรติตระกูลใหญ่ของท่านเมณฑกเศรษฐี ฝ่ายจอมกษัตริย์แห่งแคว้นโกศลได้ทราบเรื่องแล้ว มีพระราชประสงค์จะยกย่องธนัญชัยเศรษฐีที่พระองค์เป็นผู้เชิญมา จึงมีพระราชดำรัสตอบตกลง ทำให้ท่านมิคารเศรษฐีดีใจมาก รีบส่งข่าวไปยังท่านธนัญชัยเศรษฐีว่า

   “ เมื่อข้าพเจ้ามา แม้พระราชาก็จะเสด็จมาด้วย หมู่พลของพระราชานั้นมีอยู่มาก ท่านอาจหรือไม่ ที่จะกระทำการต้อนรับพระราชาและบริวารชนจำนวนมากเช่นนั้น ”

    ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐีทราบข่าวนั้นแล้ว จึงตอบไปว่า

    “ ถึงแม้พระราชาจะเสด็จมาสัก ๑๐ พระองค์ ก็ขอจงเสด็จมาเถิด ”
 

    งานมงคลของนางวิสาขาเป็นเรื่องมโหฬารยิ่ง ทั้งนี้เพราะบุญของนางที่ได้สั่งสมมาอย่างดีแล้ว แม้แต่การมาของมิคารเศรษฐีและพระเจ้าปเสนทิโกศลในครั้งนี้ ก็ไม่ได้มาเพียงบริวารชนกลุ่มเล็กๆ แต่เรียกได้ว่ามากันทั้งเมืองเลยทีเดียว แต่ละบ้านเหลือไว้แต่คนเฝ้าเรือนเท่านั้น มองเห็นเป็นขบวนรถม้าและคนเดินเท้ายาวไกลสุดลูกหูลูกตา

   ครั้นคณะของท่านเศรษฐีเดินทางมาใกล้ถึงเมืองสาเกต เหลืออีกเพียงกึ่งโยชน์เท่านั้น จึงหยุดพักแล้วส่งข่าวไปว่า “ บัดนี้ พวกข้าพเจ้ามาถึงแล้ว ” เพื่อให้ท่านธนัญชัยเศรษฐีมีเวลาเตรียมตัวในการต้อนรับ ไม่รีบร้อนจนเกินไปนัก

   ธนัญชัยเศรษฐีทราบข่าวแล้ว ได้ให้บริวารจัดเครื่องบรรณาการไปเป็นจำนวนมาก เพื่อแสดงความเต็มใจในการต้อนรับขับสู้ แล้วเรียกนางวิสาขามาปรึกษาว่า

   “ ได้ยินว่าพ่อผัวของลูกมาพร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล อีกทั้งบริวารชนเป็นอันมาก เราควรจัดเรือนหลังไหนสำหรับพ่อผัวของลูก เรือนหลังไหนสำหรับถวายพระราชา และเรือนหลังไหนสำหรับบุคคลทั้งหลายมีอุปราชเป็นต้น ”

 

  นางวิสาขาเป็นคนฉลาด มีความรู้เฉียบแหลมประดุจยอดเพชร ได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดหนึ่งแสนกัปมาแล้ว รู้ถึงความควรไม่ควรทั้งสิ้น จึงสั่งบริวารให้เตรียมการรับรองผู้มาเยือนอย่างดียิ่ง เหมาะสมกับฐานะแต่ละบุคคล ไม่บกพร่องแม้แต่เรื่องเล็กน้อย แม้สัตว์พาหนะ มีช้างและม้าเป็นต้น ล้วนได้รับการดูแลเป็นอย่างดี นอกจากอาหารการกินอันสมบูรณ์พร้อม นางวิสาขายังได้จัดให้มีงานมหรสพการละเล่นรื่นเริง เพื่อบรรดาสารถีและผู้ติดตามได้เที่ยวชมอย่างสนุกสนาน เพราะคิดว่า

   “ อย่าให้บุคคลทั้งหลายตำหนิได้ว่า เราไปงานมงคลของนางวิสาขาแล้วไม่ได้อะไรเลย มัวแต่ทำงานทำการเหน็ดเหนื่อยอย่างเดียว ไม่มีโอกาสได้ท่องเที่ยวตามสบาย ”

     ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขา ได้เรียกช่างทองมา ๕๐๐ คน แล้วสั่งว่า

   “ พวกท่านจงกระทำเครื่องประดับที่ชื่อ มหาลดาปสาธน์ ให้แก่ธิดาของเรา ”

   แล้วสั่งให้นำทองคำสีสุกปลั่งมาจำนวนพันลิ่ม อีกทั้งเงิน อัญมณีหลากสี อาทิ แก้วมณีสีแดง แก้วมุกดาสีหมอกอ่อน แก้วประฬารสีแดงอ่อนอันเกิดจากหินปะการังใต้ทะเล และเพชรน้ำงาม เป็นต้น อันพอเหมาะพอสมกับทองคำนั้น

   เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลพักอยู่ที่เรือนเศรษฐีได้ ๒ วัน เห็นการต้อนรับอย่างดีทั้งกลางวันกลางคืน มีเจ้าหน้าที่จัดดอกไม้ ของหอม และเครื่องนุ่งห่ม นำไปให้แด่ชนทั้งปวง มีพระราชา เป็นต้น ให้นึกเป็นห่วงกังวลว่าท่านเศรษฐีจะเสียทรัพย์จากการเลี้ยงดูคนทั้งเมืองมากเกินไป จึงปรารภว่า

     “ ขอท่านเศรษฐีจงกำหนดระยะเวลา ในการส่งตัวธิดาของท่านเถิด ”

     ฝ่ายธนัญชัยเศรษฐีทราบความวิตกของพระราชา จึงกราบทูลว่า

   “ เวลานี้เป็นฤดูฝนแล้ว ใครๆ ไม่อาจเที่ยวไปไหนได้ตลอด ๔ เดือน การที่หมู่พลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะประสงค์สิ่งใดทั้งหมด สิ่งนั้นล้วนเป็นภาระของข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์จงทรงพระเกษมสำราญเถิด และเสด็จไปในเวลาที่ข้าพระพุทธเจ้าส่งเสด็จ พระเจ้าข้า ”

    จำเดิมแต่กาลนั้น เมืองสาเกตเป็นราวกับเมืองสวรรค์ ที่มีงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงอยู่เป็นนิตย์

 

……………( จบตอนที่ ๖ )……………

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015484174092611 Mins