ฐานที่ ๗ หนทางสู่อายตนนิพพาน

วันที่ 02 มีค. พ.ศ.2567


020367bb01.jpg

 พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม

ฐานที่ ๗ หนทางสู่อายตนนิพพาน

โดย...

 พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

 

                บูชาพระรัตนตรัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ขอให้ทุกคนตั้งใจทำภาวนากัน ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่าไปกดลูกนัยน์ตา ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย เพราะว่าเราจะใช้เวลาต่อจากนี้ไป ๑ ชั่วโมงเต็ม สำหรับการทำภาวนาและการบูชาข้าวพระเพราะฉะนั้นให้ขยับเนื้อขยับตัวให้ดี ให้ทุกส่วนของร่างกายของเราผ่อนคลายให้หมด อย่าให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งตึงเครียด และก็ให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่างให้หมดสิ้นจากใจ ภารกิจเครื่องกังวลอะไรที่มีอยู่ในใจของเรา ให้ปลดให้ปล่อยให้วาง ตลอดระยะเวลาที่เราจะได้ทำภาวนา ให้ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลก ไม่เคยมีภารกิจอะไร แล้วก็ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ใสสะอาดให้บริสุทธิ์ให้ผ่องใส ตั้งใจที่จะทำภาวนา เพราะฉะนั้นตั้งใจกันให้ดีนะ 

 


                เมื่อจิตใจของเราเบิกบานสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสดีแล้ว ต่อจากนี้ก็นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะ ฐานที่ตั้งของใจเรานั้นมีทั้งหมด ๗ ฐาน คือฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตา ตรงตำแหน่งที่น้ำตาไหล ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ที่กลางท้อง ที่กลางกายในระดับเดียวกับสะดือของเรา สมมติเราหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ติดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลาง วางซ้อนกันแล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ทั้งหมด ๗ ฐานนี้ ที่สำคัญที่สุดคือฐานที่ ๗ เป็นที่สุดท้ายที่เราจะต้องเอาใจของเรามาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้ 

 


                เพราะว่าเป็นศูนย์ที่ตั้งของใจเรา เป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเสด็จเข้าสู่ทางสายกลางภายในตัวของท่าน ที่ตรงนี้ คือเมื่อท่านเอาใจของท่านมาหยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้ถูกส่วน พอใจหยุดได้ถูกส่วนเข้า ก็จะเข้าถึงปฐมมรรค จะเห็นหนทางไปสู่อายตนนิพพาน ปฐมมรรคซึ่งเป็นปากต้นทางของอายตนนิพพานนั้น มีลักษณะใสบริสุทธิ์ กลมรอบตัว เป็นจุดใส ๆ สว่าง อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน บังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อใจหยุดได้ถูกส่วนแล้ว ต่อจากนั้นก็ดำเนินจิตเข้าไปสู่ภายใน เข้ากลางปฐมมรรคนี้ไป ผ่านไปก็จะไปพบดวงธรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วภายใน ในเส้นทางสายกลางซึ่งเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน จะพบดวงธรรมต่าง ๆ คือดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และก็วิมุตติญาณทัสสนะพอสุดดวงธรรมเหล่านี้ท่านก็จะพบกายภายใน 

 


                พบกายภายในที่ซ้อน ๆ กันอยู่ เป็นชีวิตที่ละเอียดที่ปราณีตขึ้นไป เป็นสิ่งที่ท่านไม่เคยพบปะ เจอะเจอมาก่อน คือเข้าไปพบกายมนุษย์ละเอียด ลักษณะเหมือนกับตัวของเราเองเหมือนกับตัวของแต่ละท่าน ท่านหญิงก็เหมือนท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกะท่านชาย กายที่พบกายแรกเรียกว่ากายมนุษย์ละเอียด หรือกายฝัน หรือกายไปเกิดมาเกิด พบอยู่ภายใน และก็พบกายภายในซ้อน ๆ กันเข้าไปอย่างนั้น พบกายทิพย์อยู่กลางกายมนุษย์ละเอียด พบกายรูปพรหมอยู่ในกลางกายทิพย์ พบกายอรูปพรหมอยู่ในกลางกายรูปพรหม พบกายธรรมโคตร อยู่กลางกายอรูปพรหม พบกายธรรมพระโสดาบันอยู่ในกลางกายธรรมโคตรภู พบกายธรรมพระสกิทาคามีอยู่ในกลางกายธรรมพระโสดาบัน พบกายธรรมพระอนาคามีอยู่ในกลางกายพระสกิทาคามี พบกายธรรมพระอรหัตอยู่ในกลางกายธรรมพระอนาคามี เป็นกายที่ละเอียดซ้อน ๆ กันอยู่กายที่ละเอียดกว่าก็ซ้อนอยู่ในกลางกายที่หยาบกว่า ซ้อนกันเข้าไป ไปตามลำดับ กายที่สำคัญที่สุดคือกายธรรมอรหัต เป็นกายที่สุดซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางของชีวิต

 


                เมื่อท่านเหล่านั้นได้เข้าถึงก็เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านไปตามลำดับขั้นตอน ตั้งแต่เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม อรูปพรหม ท่านก็ได้ชื่อเป็นฌานลาภีบุคคล คือบุคคลที่เข้าถึงฌานสมาบัติ เมื่อเข้าถึงกายธรรมโคตรภู ท่านก็เป็นโคตรภูบุคคล คือพ้นภาวะของความเป็นปุถุชน เข้าสู่กระแสของพระนิพพาน เข้าถึงกายธรรมโคตรภู พบกายตรัสรู้ธรรมเป็นกายแรก ที่ได้ลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ คล้าย ๆ พระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นแก้ว เมื่อท่านขจัดกิเลสอาสวะ ตัดสังโยชน์ได้ ตั้งแต่เบื้องต้น ท่านก็เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระโสดาบัน เรื่อยไปเลย พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหัต เป็นพระอริยเจ้า พระอริยบุคคล เรื่อยไปตามลำดับและที่สำคัญที่สุดคือกายธรรมอรหัต เมื่อกิเลสอาสวะหมดสิ้นไปแล้ว สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ แล้วก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต เป็นพระอรหันต์เสวยวิมุตติสุข สุขที่เกิดจากการหลุดพ้น เสวยเอกันตบรมสุข สุขอย่างเดียว เป็นสุขด้วยทั้งเนื้อทั้งตัว สุขด้วยตัวของตัวเอง เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต 

 


                นี่คือที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเข้าถึง ท่านรู้จัก ท่านค้นพบและก็แนะนำสืบต่อกันมาคำสอนของพระพุทธเจ้า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ สอนเพื่อให้เข้าถึงกายธรรมอรหัตนั่นเอง ให้ไปเป็นพระอรหันต์ เป็นไปตามขั้นตอนของชีวิต อินทรีย์อ่อนหน่อยก็สอนให้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ด้วยกายมนุษย์หยาบอย่างมีความสุข ให้มีความสุข ในขณะเดียวกันที่ปัญหาก็ยังมีเท่าเดิม แต่พบความสุขภายในในระดับของขั้นตอนของปุถุชน มีโลกส่วนตัวอยู่ภายใน เป็นที่พักพิงใจตั้งแต่กายมนุษย์หยาบเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์พรหม อรูปพรหม ในขั้นตอนของชีวิตเป็นอย่างนี้ ท่านก็สอนไปตามขั้นตอน ปัญหาจะมีมากน้อยเท่าไหร่ก็ตามเถอะ แต่มีความสุขอยู่ภายใน ในโลกส่วนตัวของตัวเอง เมื่อบารมีแก่กล้าหนักเข้าก็สอนให้เข้าถึงกายที่ละเอียดขึ้นไป มีความรู้กว้างขวางขึ้นไป จนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคล เมื่อบารมีแก่ที่สุดก็สอนให้เป็นพระอรหันต์ไปเลย แต่ทั้งหมดนี้คือจุดหมายปลายทางของชีวิตทุก ๆ คน

 


                เพราะฉะนั้นจะต้องศึกษาให้เข้าใจว่าชีวิตเราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต วันนี้เราได้เข้าใจแล้วว่าเป้าหมายชีวิตของเรานั้นคือการเดินทางไปสู่พระนิพพาน ไปเป็นพระอรหันต์หมดกิเลส หมดอาสวะหมดต้นเหตุที่จะทำให้เราเกิดความทุกข์ทรมาน ทุกข์กาย ทุกข์ใจ ทุกข์ในสังสารวัฏฏ ทุกข์ในอบายภูมิหรือทุกข์ต่าง ๆ ที่เราเจอะเจอมา นั่นคือเป้าหมายของชีวิตของตัวของเราเอง เราจะเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็ตามเป้าหมายชีวิตนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่บางครั้งเราไม่รู้จักเป้าหมายของชีวิตนี้ เพราะว่าไม่มีใครแนะนำสั่งสอน เราขาดกัลยาณมิตร จึงไม่พบหนทางของชีวิต ไม่เข้าใจว่าเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร เพราะฉะนั้นต้องจำเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ ว่าเป้าหมายของเราอยู่ที่ตรงนั้น เราจะต้องทำให้มีให้เป็นให้ได้ 

 

                เมื่อเราทราบว่าเป้าหมายมันเป็นอย่างนี้ ขณะนี้เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เรามีเวลาเหลืออีกไม่กี่ปีในโลกนี้ เราก็จะหมดชาตินี้ไปแล้ว บางคนก็เหลืออยู่ไม่ถึง ๑๐ ปี บางคนก็เหลืออยู่ไม่ถึง ๒๐ ปี บางคนก็เหลืออยู่ไม่ถึง ๓๐ ปี ถ้าหากว่าไม่มีอะไรมาขัดมาขวางเราเนี่ย ให้ตายซะก่อนละก็ เวลาเราเหลืออยู่แค่นี้ แต่ตามความเป็นจริงของชีวิตในแต่ละชาติ แม้กระทั่งชาตินี้นะ เราอาจจะหมดอายุซะวันนี้ก็ได้ พรุ่งนี้ก็ได้ หรือเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น ดังนั้นจะต้องพยายามศึกษาฝึกฝนให้เข้าถึงหนทางของพระอริยเจ้า หนทางพระนิพพานให้ได้ หนทางเหล่านี้อยู่ในตัวของเรานี่แหละ อย่างที่ได้สอนเอาไว้ตั้งแต่เบื้องต้น อยู่ในกลางตัวไม่ได้อยู่ที่ไหน ของมันมีอยู่แล้ว ขอให้เข้ากลางให้ถูกเถอะ ในกลางตัวของเรา วางใจของเราให้หยุดให้นิ่งให้ถูกส่วน แล้วเราก็จะเข้าถึงไปตามลำดับขั้นตอนของสภาวธรรม เข้าถึงกายในกายต่าง ๆ

 

                เข้าถึงแล้วเรายังมีสิ่งที่เราจะเรียนรู้อีกมากมายก่ายกองทีเดียว ที่จะศึกษายิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้นเมื่อเราอยู่ที่บ้านอย่าสูญเสียเวลาไปมากมายกับสิ่งที่ เป็นประโยชน์ไม่เต็มที่ต่อชีวิต ให้พยายามเจียดเวลาให้กับตัวเองเพื่อที่ จะเข้าถึงหนทางสายกลางของพระอริยเจ้า หนทางสายกลางที่จะไปสู่พระนิพพาน เมื่อเราวางใจเข้ากลางนี้ได้อย่างสม่ำเสมอทุก ๆ วัน เข้าไปถึงกายภายใน เราจะค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าใจได้เพิ่มขึ้น เข้าใจได้เพิ่มขึ้นว่าสรรพสัตว์และสรรพสิ่งตั้งแต่ตัวเรานี่แหละ มันไม่ใช่ของเรา มันไม่เป็นตัวตนที่แท้จริง เราจะเริ่มค่อย ๆ เข้าใจ แต่ตอนนี้เราดูเหมือนจะเข้าใจ เมื่อไหร่เราฝึกเข้าไปถึงกายภายในเข้าไปเรื่อย ๆ เราจะเข้าใจเพิ่มขึ้น ยอมรับมากเข้าว่าร่างกายนี้เราอาศัยแค่ชั่วคราว ชั่วคราวจริง ๆ 

 

        สรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลายก็พึ่งพิงกันชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ช้าก็แยกย้ายกันไป นี่เราจะค่อย ๆ เพิ่มความเข้าใจ มันเป็นเรื่องที่แปลกทีเดียวว่าสิ่งเหล่านี้ เราเคยได้ยินได้ฟังบ่อย ได้ฟังมานานว่าสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลายเนี่ยเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ได้ยินได้ฟังบ่อยแต่การยอมรับหรือความเข้าใจนั้นน่ะ มันไม่ค่อยจะมี มันดูเหมือนจะเข้าใจ สิ่งเหล่านี้เราจะเข้าใจเพิ่มขึ้น หรือเข้าใจได้โดยไม่ยากเลยน่ะ ต่อเมื่อเราได้เริ่มฝึกฝนประพฤติปฏิบัติกัน เอาจริงเอาจังกันทุก ๆ วัน พอใจเราหยุดถูกส่วนแค่เข้าถึงปฐมมรรคเท่านั้นน่ะ ความสว่างเกิดขึ้น ความบริสุทธิ์ของจิตเกิดขึ้น สติปัญญาของเราเกิดขึ้น ความเข้าใจเราจะแจ่มแจ้งขึ้น ยอมรับมากเข้า 

 

        เมื่อใจยอมรับใจก็จะเริ่มเบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านั้น พอเบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด พอคลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น จิตก็หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านั้น มันค่อย ๆ หลุด พอหลุดพ้นจิตที่บริสุทธิ์ พอบริสุทธิ์เข้าก็เข้าเส้นทางสายกลางเลย จิตจะเข้ากลางของกลางความทุกข์ทั้งหลายมันก็จะไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่ความทุกข์เกิดขึ้นจากการไปยึดมั่นถือมั่นในคน ในสัตว์ ในสิ่งของ แล้วก็ไปห่วงไปกังวลมัน ไปกังวลมันมากไปห่วงมันมาก แล้วบางทีก็คาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตว่ามันคงจะต้องเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ด้นเดากันไป ขยายความทุกข์กันไป เพราะใจเราไปติดในสิ่งเหล่านั้น

 


                เมื่อเรานำใจของเรากลับเข้ามาสู่ที่ตั้ง ที่ศูนย์กลางกาย พอใจหยุดถูกส่วน สติปัญญาก็ขยายกว้างขึ้น กว้างออกไปเท่าไหร่ ความรู้เราก็กว้างขวางขึ้น ความเข้าใจเราก็กว้างขึ้น กว้างขวางขึ้น เมื่อความเข้าใจเรากว้างขวางขึ้น การยอมรับก็เกิดขึ้น เมื่อการยอมรับเกิดขึ้น การปฏิบัติที่จะปลดปล่อยวางก็เกิดขึ้นไปตามลำดับของขั้นตอน เพราะฉะนั้นการฝึกใจให้หยุดให้นิ่งอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ วัน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตของทุก ๆ คนทุกระดับอย่างมากทีเดียว ขอให้ทำความเข้าใจอย่างนี้นะจ๊ะ เมื่อเราเข้าใจดีแล้ว เราจะได้พร้อมใจกัน ทำใจให้บริสุทธิ์ ให้หยุดให้นิ่ง เพื่อใจจะได้สะอาดผ่องใส ให้ท่านที่มาใหม่ นึกสร้างมโนภาพขึ้น ที่เราเรียกว่า กำหนดบริกรรมนิมิต สมมติว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้น ฐานที่ ๗ ที่เหนือจุดตัดขึ้นมา ๒ นิ้วมือ คงจำได้นะจ๊ะ

 

                สำหรับท่านที่มาใหม่นะ ให้เอาใจไปหยุดอยู่ที่ตรงนั้น สมมติสร้างมโนภาพว่าตรงนี้มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตาของเรา สมมติเอา สร้างมโนภาพว่าตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา กำหนดเป็นดวงใส ๆ นะจ๊ะ ใสเหมือนกับเพชร เพชรลูกที่เราเคยเห็นน่ะ ถ้าใครไม่เคยเห็นก็นึกว่าใสเหมือนกระจกส่องเงาหน้าอย่างนั้นก็ได้ หรือใสเหมือนน้ำแข็งอย่างงั้นน่ะ กำหนดความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต ให้นึกอย่างเบา ๆ นึกธรรมดา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงภาพดอกบัว ดอกกุหลาบหรือของที่เรารัก คนที่เราถูกใจน่ะ ให้นึกง่าย ๆ อย่างนั้นนะ 



                นึกถึงดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้นึกอย่างเบา ๆ นึกอย่างสบาย ๆ นึกไม่ได้ก็ไม่เป็นไร วางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เฉย ๆ ก็ได้ แต่ถ้านึกได้ก็ให้นึกอย่างสบาย ๆ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ เมื่อเราภาวนาสัมมาอะระหัง เราก็นึกถึงภาพบริกรรมนิมิตดวงแก้วไปด้วย นึกควบคู่กันไป ใจเราจะได้ไม่ไปนึกเรื่องอื่นไม่ซัดส่ายไปเรื่องอื่น ไม่ซัดส่ายไปในเรื่องที่เราคุ้นเคย เนี่ยต้องสมมติเอาดวงแก้วขึ้นมาให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา เพื่อใจของเราจะได้หยุด ใจของเราจะได้นิ่ง นึกถึงดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมวโตเท่ากับแก้วตาของเรา ให้ใจเราตรึกนึกถึงดวงใส หยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจไปเรื่อย ๆ สัมมาอะระหัง ไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ 

 

                อย่าไปตั้งใจมาก จนกระทั่งเกร็งหรือเครียด ถ้าหากว่ามันเกร็งหรือเครียด แสดงว่าเราตั้งใจมากเกินไป ก็ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายความตั้งใจ จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่าสบาย ๆ เราก็รักษาอารมณ์สบาย ๆ ให้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดตอน เช่นนึกถึงดวงแก้ว ก็ดวงแก้ว ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ มีภาพดวงแก้วต่อเนื่อง ตั้งแต่ยังไม่ชัดเจน ลัว ๆ ลาง ๆ จนกระทั่งค่อย ๆ ชัดขึ้น ความชัดเพิ่มขึ้น ๆ กระทั่งในที่สุดคล้าย ๆ กับเราลืมตาเห็น เหมือนลืมตาเห็นเลย เหมือนเราจำลองภาพดวงแก้วไปไว้ภายใน จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่ามีวัตถุภายใน เป็นดวงแก้วอยู่ในกลางท้องเนี่ย ขั้นตอนมันก็จะเป็นอย่างนี้นะ ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจจะหยุดใจนิ่งนะจ๊ะ ให้ตั้งใจให้ดี ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ นะจ๊ะ  

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011407534281413 Mins