การไปเกิดมาเกิด

วันที่ 26 เมย. พ.ศ.2567

260467b01.jpg
การไปเกิดมาเกิด
๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

                ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ ส่วนท่านที่เครื่องนุ่งห่มไม่สะดวก นั่งขัดสมาธิไม่ถนัด จะนั่งพับเพียบก็ได้นะจ๊ะ สําหรับคนที่สะดวกก็ทำตามเสียงหลวงพ่อไปนะ ที่ไม่สะดวกก็นั่งพับเพียบเอา หรือจะนั่งเก้าอี้ห้อยเท้าก็ตามสะดวก สำหรับท่านที่ถนัดก็ให้เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ วางพอสบาย ๆ นะจ๊ะ หลับตาของเราเบา ๆ พอสบาย ๆ หลับตาพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา แบบคนทำตาหยีอย่างนั้นไม่เอานะจ๊ะ หลับแค่พอสบาย ๆ เอาหลับตาให้เป็นก่อนนะจ๊ะ ถ้าหลับตาเป็นเดี๋ยวจะเห็นภาพภายในตัวของเรา ถ้าหลับไม่เป็นละก็ เดี๋ยวไม่เห็นภาพภายใน เพราะฉะนั้นหลับพอสบาย ๆ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวกเราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ขยับเนื้อขยับตัวให้ดีนะ กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวกจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย ทำใจให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส แล้วก็แผ่เมตตาจิตไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ

 


                แผ่เมตตาก็คือการตั้งความปรารถนาดี ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราแผ่ไปเลย แต่วัตถุประสงค์ต้องการมุ่งตรงไปยังสิ่งที่มีชีวิตจิตใจ ตั้งแต่สัตว์ ๒ เท้า ๔ เท้า สัตว์มีเท้ามากเท้าน้อย สัตว์ไม่มีเท้า จะเป็นมนุษย์ก็ดี จะเป็นผู้ที่มีกายเป็นทิพย์ก็ดี ภุมมเทวา รุกขเทวา อากาศเทวา ชาวสวรรค์ต่าง ๆ พรหม อรูปพรหม ตลอดแสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล นับกันไม่ไหว ที่มีสรรพสัตว์ทั้งหลายเนี่ยะ เราจะแผ่กระแสแห่งความปรารถนาดีในวันนี้ ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุข ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุข ที่มีทุกข์แล้วก็ให้พ้นจากทุกข์ ที่มีสุขแล้วก็ให้มีสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไปตามลำดับ วันนี้เราจะไม่ขุ่นมัว เราจะมีใจผ่องใส ปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเลย แล้วก็ทำใจให้ชุ่มให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น นี่แผ่กันไปอย่างนี้เลยนะจ๊ะ ถ้าแผ่เมตตาจิต ถ้าจะให้เห็นชัดหน่อยละก็นึกตั้งแต่สิ่งที่ใกล้ตัวเราก่อน เอาตัวเราก่อน แผ่ให้ร่างกายของเรานี้ ร่างกายจิตใจเรานี้มีความผาสุก มีความเบิกบาน นั่งหน้ายิ้ม ๆ อิ่มเอิบเบิกบาน ให้เพื่อนสหธรรมิก ที่อยู่ในสภาธรรมกายนี้นี่ มีความสุข มีความเบิกบาน มีดวงตาเห็นธรรม ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเนี่ยทั่วอำเภอคลองหลวง ซึ่งเป็นที่ตั้งวัดพระธรรมกายนี้เนี่ยะ สรรพสัตว์ สรรพสิ่งที่อยู่ในบริเวณนี้ จะมีกายหยาบ ละเอียดก็ตาม ให้มีความสุข ให้มีความเบิกบาน ให้พ้นจากทุกข์โศกโรคภัย นี่แผ่กระแสใจไปอย่างนี้นะจ๊ะ 

 


                สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั่วทั้งจังหวัดปทุม ก็ให้มีความสุขในทำนองเดียวกัน จังหวัดข้างเคียง ให้กระแสใจเราแผ่ซ่านไปเลยน่ะ ให้ครอบคลุมจังหวัดข้างเคียงไปทั่วประเทศไทย เราจะนึกถึงแผนที่ประเทศไทยก็ได้ ให้ทั่วไปหมดเลยเนี่ยะ ครอบคลุมด้วยกระแสแห่งเมตตาธรรมของเรา ความปรารถนาดีของเราในตอนนี้เนี่ยะแผ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ครอบคลุมโลกทั้งโลกใบนี้หมด ให้กระแสแห่งเมตตาธรรมครอบคลุมไปหมด ขยายกว้างออกไปเลย ไปในบรรยากาศ ครอบไปหมดเลย ทั้งถึงดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศ ในทวีปทั้ง ๔ ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป อัปรโคญาณ บุปพวิเทหทวีป แผ่กว้างออกไปให้หมดเลย ทั่วจักรวาลเลย และกว้างกระจายออกไปเนี่ยะ ถ้าเราเข้าถึงธรรมกายนะจ๊ะ สิ่งที่หลวงพ่อพูดเราจะเห็นเป็นกระแสสว่างจ้าออกจากศูนย์กลางกายของเรา เป็นปริมณฑลกลมไปรอบตัวเลย ขยายไปทุกทิศทุกทางจากศูนย์กลางกายครอบคลุมหมดเลย ทั้งถึงหมดเลยนะ สรรพสัตว์ สรรพสิ่งทั้งหลาย แล้วใจเราจะเย็นฉ่ำมีความสุขภายใน 

 


                เมื่อใจของเรามีความสุขอย่างนี้แล้ว มีความเบิกบาน ไม่มีเวร ไม่มีภัยกระใครทั้งสิ้น ใจเป็นสุขแล้วต่อจากนี้ไปจะได้แนะวิธีการปฏิบัติธรรม สำหรับผู้ที่มาใหม่นะจ๊ะ เราก็อาศัยใจที่ชุ่มฉ่ำ แผ่เมตตาธรรมเนี่ย กระแสนี้ไปทั่วถึงดีแล้วเนี่ย เอาใจที่มีความรู้สึกที่ดีงามนี้เนี่ยะ ให้หยุดนิ่งในจุดที่เรามีความรู้สึกที่สบายก่อนเราสบายตรงไหนก็หยุดอยู่ที่ตรงนั้นก่อน สบายตรงไหนหยุดตรงนั้นก่อนนะจ๊ะ ให้สบาย ๆ ให้ใจฉ่ำนิ่ง สำหรับท่านที่มาใหม่ให้ทำความเข้าใจนะ เกี่ยวกับเรื่องทางเดินของใจสักหน่อยหนึ่ง หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญเนี่ยะ ที่ท่านค้นพบว่าทางเดินของใจน่ะ หรือตำแหน่งที่ตั้งของใจนั้นน่ะ มีทั้งหมด ๗ ฐานที่ตั้ง ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงอยู่ที่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ที่ข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตา ตรงตำแหน่งที่น้ำตาไหล ท่านหญิงอยู่ข้างซ้ายท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะ ในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางกายของเรา กลางกายคือกลางท้องของเรา สมมติว่าเราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ให้ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือคือการสมมติให้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ ของที่ฐานที่ ๖ นั้นนะ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นเมื่อหลวงพ่อพูดถึงฐานที่ ๗ ต่อไปนะจ๊ะ ก็หมายเอาตรงนี้นะ เอาตรงที่เหนือจุดตัดของเส้นด้าย ทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ พูดง่าย ๆ ก็อยู่ในกลางท้องของเราที่เหนือฐานที่ ๖ ขึ้นมานะจ๊ะ อยู่กลางท้องอยู่ตรงนั้นน่ะ ๗ ฐานนี้ต้องรู้จักเอาไว้นะจ๊ะ 

 


                เพราะว่าเป็นทางไปเกิดมาเกิดของสัตว์โลกทั้งหลาย เวลาจะมาเกิดไม่ว่าจะมาจากภพภูมิใดก็ตาม ก็จะต้องเข้าที่ กายละเอียดจะต้องมาเข้าที่ฐานที่ ๑ คือปากช่องจมูก แล้วก็มาตามฐานเรื่อยมาเลย แล้วก็มาหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้เนี่ยะ โดยเข้าปากช่องจมูกของพ่อก่อน เข้าอยู่ตรงนั้นนะ แล้วก็ไปหยุดอยู่ที่ฐานที่ ๗ ของพ่อคงจำได้นะจ๊ะ ฐานที่ ๗ อยู่ที่กลางท้องนะ กลางท้องเหนือฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ จะไปหยุดอยู่ที่ตรงนั้น บังคับให้พ่อไปหาแม่เพื่อประกอบธาตุธรรม ถ่ายธาตุธรรมหยาบของพ่อไปสู่แม่ เมื่อประกอบธาตุธรรมกันถูกส่วน กายละเอียดก็ออกไปตามฐานต่าง ๆ แล้วก็ไปเข้าที่ปากช่องจมูกของแม่ แล้วก็ไปหยุดที่ฐานที่ ๗ หยุดตรงนั้นพอดีกัน ไม่ก่อนไม่หลังกันเลย ประกอบธาตุหยาบเสร็จ กายละเอียดต้องอยู่ อยู่ตรงนั้นแล้วก็หล่อเลี้ยงด้วยธาตุหยาบของมารดาจะได้เจริญเติบโตกันต่อมาเนี่ย เป็นอย่างนี้ จะต้องเข้ากันมาอย่างนี้นะจ๊ะ ที่เข้าไปอยู่ในบิดาก็ต้องการบังคับให้ถ่ายเชื้อ พูดง่าย ๆ คือต้องการถ่ายเชื้อของพ่อไปสู่แม่เนี่ยะ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นแบบไหน สมัยนี้ก็เช่นเดียวกันนะที่เค้ามีเด็กหลอดแก้วเนี่ยะ ผสมเชื้อข้างนอกก็จริง แต่มีชีวิตยังไม่มีจิตใจเนี่ยะ กายปฏิสนธิ วิญญาณยังไม่เกิด จะมาเกิดต่อเมื่อมาฝังอยู่ในครรภ์มารดา จะเป็นมารดาคนไหนก็ตามพอมาฝังไว้นี้ พอถูกส่วนกายละเอียดนี้ ก็วูบเข้าไปเลย เข้าไปอยู่ตรงนั้นน่ะจะดูดดึงดูดกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก่อหล่อเลี้ยงกันด้วยธาตุหยาบของมารดา เกิดขึ้นอย่างนี้ ดังนั้น ๗ ฐานนี้จำไว้ให้ดีนะจ๊ะ เป็นทางไปเกิดมาเกิด 

 


                เวลาไปเกิดคือตายน่ะ ใจก็จะมาหยุดอยู่ตรงฐานที่ ๗ พอถูกส่วนเข้าหัวต่อกายมนุษย์ กายทิพย์ก็ถอดออกจากกันนะ ถึงตอนนี้เนี่ยะ ตาเหลือกค้างขึ้นไปแล้ว พอตาเหลือกค้างขึ้นใจก็หยุดนิ่งตกลงไปสู่ฐานที่ ๖ แล้วก็ถอยออกไปสู่ฐานที่ ๑ ไปเกิด มาเกิดเข้าจากปากช่องจมูกไปถึงฐานที่ ๗ ไปเกิดจากฐานที่ ๗ ออกปากช่องจมูกไปฐานที่ ๑ สวนทางกันอย่างนี้นะจ๊ะ ที่นี้มีทางที่ ๓ คือทางไม่เกิด เมื่อกี้มีมาเกิดแล้วก็ไปเกิด ส่วนทางที่ ๓ คือทางไม่เกิดนั้นน่ะมีอยู่ทางเดียวคือตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้สำคัญทีเดียว เป็นทางไม่เกิด ไม่มาเวียนว่ายตายเกิดในมนุษย์โลก พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเอาใจของท่านหยุดอยู่ที่ตรงนี้แหละ ตรงฐานที่ ๗ หยุดให้สนิททีเดียว หยุดนิ่งพอถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงต้นทางแห่งพระนิพพานน่ะ จะเห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์อยู่กลางกาย เป็นดวงกลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ ตอนเที่ยงวันขึ้นไปนะ อยู่ตรงนั้นนะ ท่านก็จะเห็นตรงนั้นเลยเนี่ยะ ดวงธรรมดวงนี้เป็นดวงธรรมดวงแรก เป็นความบริสุทธิ์ขั้นต้น เบื้องต้น ทีเดียวอยู่ในกลางกายนะ ถ้าไม่เกิดก็จะต้องเอาใจหยุดต่อไป และดวงธรรมดวงนี้มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่เราไปทำขึ้นมามีอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นของละเอียด เป็นของบริสุทธิ์ของละเอียด จะเข้าถึงได้ใจจะต้องละเอียดเท่ากับดวงธรรมดวงนี้ พอหยุดถูกส่วนเข้า ก็จะดูดเข้าหากัน เพราะฉะนั้นเนี่ยะเราจะรู้สึกดึงดูดเข้าไปข้างใน 

 


                สำหรับผู้ที่มีประสบการณ์จะทราบดี และเข้าถึงตรงนี้ พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็หยุดต่อไปอีกในกลางนี้ ไปตามลำดับ ในที่สุดท่านก็จะพบดวงธรรมดวงต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่แล้วภายใน เป็นแผนผังของชีวิตอยู่ข้างในละเอียดซ้อนกันเข้าไปเนี่ยะ ก็จะเห็นดวงธรรมต่าง ๆ ผุดเกิดขึ้นมา ทีละดวง ทีละดวง ทีเดียว ผุดเกิดขึ้นมาอยู่ในกลางนั้นน่ะ กลมรอบตัว ใส บริสุทธิ์ กลมเหมือนดวงแก้ว แต่ใสบริสุทธิ์ โปร่งเบากว่า ละเอียดกว่า ท่านหยุดเข้าไปอย่างนี้แหละ จนกระทั่งในที่สุดเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เห็นตัวเองอยู่ข้างใน นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเรา พอเห็นกายนี้เข้าก็เกิดความรู้ทีเดียวว่าแต่เดิมเข้าใจว่ามีกายหยาบกายเดียว ชีวิตไปสิ้นสุดที่เชิงตะกอน แต่จริง ๆ แล้วมาถึงตอนนี้แล้วไม่ใช่ ยังมีอีกกายหนึ่งเป็นชีวิตระดับภายในที่ละเอียดกว่าซ้อนอยู่ข้างในนี้ เมื่อเข้าไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียดแล้วเนี่ยะ ก็จะเกิดการรู้แจ้งขึ้นมาว่ากายมนุษย์หยาบที่เราเข้าใจว่าเป็นตัวเป็นตนน่ะ ที่จริงแค่เป็นตัวอาศัยชั่วคราว เป็นกายที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้นนะ เหมือนเสื้อผ้าที่อาศัยชั่วคราว ยังไม่ใช่ของจริงเนี่ยะ แต่เดิมคิดว่าเป็นตัวเป็นตนที่แท้จริง แต่พอเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว รู้แจ้งขึ้นมา มีความรู้อีกระดับหนึ่งขึ้นมาทีเดียว ว่าอันที่จริงแล้วไม่ใช่ แต่กายนี้ยังไม่หมดกิเลส เป็นแต่เพียงดีกว่ากายเดิม 

 


                เพราะฉะนั้นท่านก็หยุดต่อไปอีกไม่ยึดมั่นถือมั่น ท่านหยุดต่อไปอีก ทำใจหยุดใจนิ่ง อยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด พอถูกส่วนเข้าก็พบดวงธรรมต่าง ๆ น่ะซ้อนกันอยู่ภายใน ในทำนองเดียวกันมีดวงธรรมต่าง ๆ ผุดเกิดขึ้นมา ดวงกลมรอบตัว เหมือนดวงแก้วเนี่ยะ ใส บริสุทธิ์ ซ้อน ๆ ๆ กัน ซ้อนกันอยู่ ๖ ดวงนะ ซ้อนกันอยู่ในนั้นนะ ดวงที่ ๑ เรียกว่า ดวงธัมมานุสปัสสนาสติปัฏฐาน ในกลางดวงนั้นเรียกว่าดวงศีล กลางดวงศีลเรียกว่าดวงสมาธิ กลางดวงสมาธิเรียกว่าดวงปัญญา กลางดวงปัญญาเรียกว่าดวงวิมุตติ กลางดวงวิมุตติเรียกว่าดวงวิมุตติญาณทัศนะ ๖ ดวงเป็นอย่างนี้นะจ๊ะ แต่เราจำง่าย ๆ เราก็มองดูว่ามันมี ๖ ดวงซ้อนกันอยู่ ละเอียดเข้าไปตามลำดับ นี่ของเหล่านี้ก็มีอยู่แล้วภายในนะจ๊ะ ไม่ใช่ไปสร้างภาพขึ้นมา มีอยู่แล้วเป็นแต่เพียงเราเข้าไปถึง เหมือนจังหวัด ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ มีอยู่แล้วนะ เป็นแต่เพียงเรานั่งยวดยาน พาหนะไปถึง ไปถึงลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ อย่างนั้นน่ะ นี้มีอยู่แล้ว 

 


                เมื่อใจหยุดต่อไปอีก พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านหยุดต่อไปอีก ก็เข้าถึงกายทิพย์ กายทิพย์มีอีกชีวิตหนึ่งแล้ว แต่เดิมก็เข้าใจว่ากายมนุษย์ละเอียดนั้นเป็นกายที่แท้จริง เพราะว่าพอเข้าไปถึงแล้วมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่พอเราถึงกายทิพย์แล้ว เราก็พบอีกว่า แม้กายมนุษย์ละเอียดก็ยังแค่เป็นเปลือกอาศัยอยู่ชั่วคราว จะรู้แจ้งขึ้นมาอย่างนี้ทันทีเลย เพราะว่าเห็นแจ้งเห็นกายทิพย์แจ้งขึ้นมาเลยน่ะ มีความรู้สึกอย่างนี้ แต่กายทิพย์นี้ก็ยังไปหมดกิเลส ยังมีกิเลสหุ้มอยู่ เป็นแต่เพียงบางลงไปอีก ท่านก็หยุดต่อไปอีก หยุด ในทำนองเดียวกันที่ศูนย์กลางกายของกายทิพย์ พอถูกส่วนเข้าก็พบดวงธรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วภายใน หกดวงซ้อนกันอยู่มีชื่อเรียกชื่อเดียวกัน แต่ว่าละเอียดกว่า แล้วก็พบอีกกายหนึ่งที่สวยงามหนักขึ้น ปราณีตขึ้น ละเอียดขึ้น คือกายรูปพรหม โตใหญ่หนักขึ้นไปอีก ใจก็เป็นสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ สุขกว่าเดิมเข้าไปอีก ก็ค้นพบในทำนองเดียวกันว่า แต่เดิมที่เข้าใจว่ากายทิพย์นี้นี่ เป็นกายที่เที่ยงแท้ถาวรเป็นตัวจริง แต่พอเข้าถึงกายรูปพรหม ซึ่งปราณีตกว่า ดีกว่าก็เข้าใจว่ากายทิพย์นั้นก็เป็นแค่เครื่องอาศัยชั่วคราวเหมือนกัน กายพรหมพอเข้าถึงกายพรหม แล้วใจจะสุข เป็นสุขมากทีเดียวเนี่ยะ เป็นสุขที่ละเอียด ที่ปราณีตทีเดียว 

 


                พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านหยุดต่อไปอีก เพราะท่านทราบดีว่ากายนี้ก็ยังไม่หมดกิเลส แต่เป็นแต่เพียงกิเลสนั้นมันเบาบางลงไปนะ พอถูกส่วนเข้าก็พบดวงธรรมต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ภายใน ในทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นดวงธรรมที่มีอยู่แล้วเนี่ยะ แต่ละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ และในที่สุดก็เข้าถึง หลวงพ่อใช้คำว่าเข้าถึงนะจ๊ะ เข้าถึงกายอรูปพรหม การเข้าถึงแสดงว่าสิ่งนั้นมีอยู่แล้วนะ พอเราละเอียดเท่ากับสิ่งนั้นก็เข้าถึงสิ่งนี้ ก็ค้นพบในทำนองเดียวกัน ว่ากายอรูปพรหมนั้นปราณีตกว่า กายรูปพรหม กายรูปพรหมนั้นยังไม่ใช่กายเดิมแท้ของเราน่ะ เพราะฉะนั้นใจท่านก็เป็นสุขอยู่ในกายอรูปพรหม แต่พอสุขไปได้สักพักหนึ่งท่านก็ทราบว่า กายอรูปพรหมนั้นก็ยังไม่หมดกิเลส เพราะฉะนั้นท่านหยุดต่อไปอีกในกลางกายอรูปพรหม พอถูกส่วนเข้าก็เข้าถึงกายที่สำคัญทีเดียวซึ่งเป็นกายหลักในทางพระพุทธศาสนา คือเข้าถึงกายธรรมภายใน ถึงพระธรรมกาย ลักษณะสวยงามกว่ากายที่ผ่านมาทั้งหมดเลย นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวเราเลย เกตุดอกบัวตูมใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ เป็นพุทธรัตนะ เพราะกายท่านใสเป็นแก้ว โตใหญ่หนักยิ่งขึ้น หย่อนกว่า ๕ วานิดหน่อย เป็นสุขทีเดียว สุขอยู่ในกลางกายธรรม 

 


                พอเข้าถึงกายธรรม ท่านก็มีความรู้สึกว่าพ้นจากภาวะของความเป็นปุถุชน แต่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ยังอยู่ครึ่งทาง ท่านก็หยุดของท่านต่อไปอีกในกลางกายธรรมนั้นถูกส่วนก็พบดวงธรรมต่าง ๆ เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วภายใน และในที่สุดก็เข้าถึงกายธรรมพระโสดา หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา มีอยู่แล้วภายใน นั่งขัดสมาธิหันหน้าออกไปทางเดียวกันกับตัวของเรา พอเข้าถึงกายธรรมพระโสดาได้เนี่ยะ ใจก็เป็นสุขเพิ่มขึ้น กิเลสก็เบาบางลงไปตามลำดับ แต่ท่านก็มีความรู้สึกว่ายังไม่หมด เพราะฉะนั้นหยุดต่อไปอีกตรงกลางกายธรรมพระโสดาบันนั้นนะ หน้าตัก ๕ วานั้นนะ พอถูกส่วนเข้าก็พบดวงธรรมต่าง ๆ ซ้อนกันอยู่ภายใน ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เข้าไป ๖ ดวง ในที่สุดก็เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี ซึ่งเป็นกายที่มีอยู่แล้วภายใน ในทำนองเดียวกัน ความสุขของท่านก็ปราณีตเพิ่มขึ้นหนักเข้าไปอีก ใจก็ขยายเพิ่มเข้าไปอีก แต่ท่านก็มีความรู้สึกว่ากิเลส มันก็ยังไม่หมดเป็นแต่เพียงเบาบางที่เกือบจะหมดแล้วเนี่ย ท่านก็หยุดต่อไปอีกในกลางกายธรรมพระสกิทาคามีเนี่ย พอถูกส่วนก็เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ ในทำนองเดียวกัน แล้วก็เข้าถึงกายอีกกายหนึ่ง คือกายธรรมพระอนาคามีหน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา ตอนนี้ความรู้สึกว่ากิเลสของท่านมันเบาบางมากทีเดียวเลยเนี่ยะ จนกระทั่งเกือบหมดสิ้น แต่ว่ามันยังไม่หมด เพราะฉะนั้นท่านหยุดต่อไปอีกอยู่ในกลางนั้นนะ

 

                พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นนะก็เข้าถึงกายธรรมต่าง ๆ เอ้ย! ก็เข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ ในทำนองเดียวกัน ๖ ดวงและกายสุดท้ายก็เข้าถึงกายธรรมอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา พอถึงตรงนี้เท่านั้นนะ กิเลสทั้งหลายก็หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษทีเดียวนะ เป็นสุขอยู่ในกายธรรมอรหัต ทั้งวันทั้งคืน ตลอดเวลาเป็นกายธรรมนั้นเลย ใจก็ร่อนออกจากกายต่าง ๆ ทั้งหมด ร่อนออกจากกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม โคตรภู โสดา พระสกิทาคา พระอนาคา ร่อนหมดติดอยู่ที่กลางกายธรรมอรหัต เป็นอันหนึ่งอันเดียวเลย เป็นธรรมกายอรหัต กายธรรมอรหัตก็เป็นท่าน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย แยกกันไม่ออกเลย นี่คือแผนผังชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย กายธรรมอรหัต คือเป้าหมายปลายทางของชีวิตทุก ๆ คน ไม่ว่าจะเกิดมาอยู่ที่ตรงไหนก็ตาม จะชาติไหน ภาษาไหน หรือจะมีความเชื่อชนิดไหนก็ตาม ความรู้ที่สมบูรณ์นั้นจะทำให้เราเข้าถึง เป้าหมายปลายทางได้คือ กายธรรมอรหัตนี้ ดังนั้นวันนี้ที่เราจะปฏิบัติธรรม เป้าหมายของเรานั้นมุ่งที่จะให้เข้าถึงกายธรรมอรหัต ที่มีอยู่แล้วภายในตัวของเรา ซึ่งเราทราบในเบื้องต้นว่ากายธรรมอรหัตนี้ เป็นกายที่ละเอียด และซ้อนอยู่กลางกายต่าง ๆ ไปตามลำดับกันเข้าไป จะเข้าถึงได้จะต้องอาศัยทำใจให้หยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ที่เดียว เป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน เป็นทางที่ว่าไม่เกิด แตกต่างจากสองทางดังกล่าว คือทางไปเกิดและมาเกิด เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อยากจะเกิดต่อไปในอนาคต ให้ทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ แล้วก็หยุดไปเรื่อย ๆ เลยนะจ๊ะ หยุดไปอย่างไม่ถอนถอยเลยเนี่ย จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมอรหัต 


        
                เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปเราจะได้เจริญสมาธิภาวนากัน ทำใจให้หยุดให้นิ่ง ให้ท่านที่มาใหม่ทำใจให้หยุดให้นิ่งที่ศูนย์กลางกาย ตรงฐานที่ ๗ นะจ๊ะ ตรงที่ศูนย์กลางกายที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้เนี่ย หยุดนิ่งให้สนิทเลย ให้ใจเราหยุดในหยุด หยุดในหยุด หยุดนิ่ง ถ้านึกฐานที่ ๗ ไม่ออก ก็ให้นึกสมมติกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมวนะ โตเท่ากับแก้วตาของเรานะ กำหนดคือสร้างมโนภาพขึ้นตรงที่ฐานที่ ๗ พร้อมกับภาวนา สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง เรื่อยไปจนกว่าใจจะหยุดกันนะจ๊ะ ทุก ๆ คน ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกันนะจ๊ะ เมื่อเราปรับร่างกายจนกระทั่งมีความรู้สึกว่า เราจะนั่งอยู่ในท่านี้นานเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่าย ต่อจากนี้ก็มา ปรับที่จิตใจ ใจที่เหมาะสม ในการที่จะเข้าถึงธรรมนั้นนะ ต้องเป็นใจที่สบาย ปลอดโปร่ง ปลอดกังวลจากภารกิจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม จะเป็นเรื่องครอบครัว ธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เราต้องปลดต้องปล่อย ต้องวาง แต่การที่ทุกท่านได้มานั่งประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้เนี่ย อันที่จริงแล้วเนี่ย เราได้ปลด ปล่อย วาง สิ่งเหล่านี้ไปหมดแล้วเนี่ย จะเหลืออยู่สิ่งหนึ่งซึ่งมักจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง ก็คือความตั้งใจมากตั้งใจมากเกินไป พลอยทำให้ใจเราไม่สบายนะ ไม่สงบนะ กระสับกระส่าย ทุรนทุราย ตึง เครียด มักจะมาอยู่ที่ตรงนี้เนี่ย ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกันอย่างนี้เนี่ย 

 


                เพราะฉะนั้นในตอนนี้เราถือโอกาสนี้กันเลยนะจ๊ะ ทำใจให้สบาย ทำใจให้ปลอดโปร่งจาก ภารกิจเครื่องกังวลทั้งหลาย รวมทั้งความอยากที่จะได้เห็น ได้รู้ ความอยากที่จะให้ใจสงบ อย่างรวดเร็วทันใจนั้นนะมากเกินไป ต้องให้ปลอดกังวลกับความคิดชนิดนี้ด้วยนะจ๊ะ สรุปง่าย ๆ ก็คือ ทำใจของเราให้ว่างเปล่า ปราศจากความคิดการปรุงแต่งอะไรทั้งหลายทั้งหมด ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ถ้าสภาพใจเป็นอย่างนี้ พร้อมทั้งร่างกายที่ผ่อนคลายทั้งสองอย่างนี้ จะเป็นอุปการะซึ่งกันและกัน ที่จะทำให้เราเข้าถึงธรรมได้ คือกายสบาย ใจเบิกบาน สบายทั้งกายและใจ เมื่อเราปรับได้อย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป ก็จะเป็นเรื่องที่เราจะทำใจของเราให้หยุด ให้นิ่ง ใจที่จะเข้าถึงธรรมภายในนั้น ต้องหยุดนิ่ง เพราะว่าธรรมะภายในเนี่ยน่ะมันมีอยู่แล้ว ไม่ใช่เราไปทำให้มี แต่ว่าธรรมนั้นเป็นของละเอียด บริสุทธิ์ อยู่ภายใน ตั้งอยู่ที่กลางกายของเรา มีลักษณะกลมรอบตัว เหมือนดวงแก้วใสบริสุทธิ์ ขนาดอย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งกว่านั้นนะ มีอยู่แล้วภายในตัวของเรา ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราปรุงแต่งขึ้นมา แต่ว่าเป็นของละเอียดบริสุทธิ์ เราจะเข้าถึงได้นั้นน่ะ เราก็จะต้องทำใจของเราให้บริสุทธิ์ ให้ละเอียด เท่ากับดวงธรรมที่มีอยู่แล้วภายใน

 


                เมื่อความละเอียด บริสุทธิ์เท่าเทียมทันกัน ดวงธรรมนั้นก็จะดึงดูดใจของเราที่ละเอียดนั้น เข้ารวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว ภาพที่เกิดขึ้นในตอนนั้นก็คือ ความสว่างภายใน พร้อมกับดวงธรรมที่ผุดเกิดขึ้น ซึ่งเราจะเห็นได้ชัด ได้ใสแจ่ม เหมือนเราลืมตาเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือดวงดาวในอากาศอย่างนั้น เป็นแต่เพียงความรู้สึกจะแตกต่างกันหน่อย ที่เราเห็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศนั้นนะ สภาพใจเรานั้นยังเบิกบานไม่เต็มที่ บางคนเห็นก็ธรรมดา ๆ แต่การเห็นดวงธรรมภายในนั้นนะ มันมาพร้อมกับความบันเทิงของใจ ความปิติ ความปราโมทย์ใจ ความโล่ง โปร่ง เบาสบาย เป็นความสุขเบื้องต้นที่เราจะได้รับ มันเป็นความสุขที่จะแตกต่างจากความสุขที่เราเคยเจอะเจอกันมา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราก็คือ ทำใจของเราให้ละเอียดให้บริสุทธิ์ เท่ากับดวงธรรมซึ่งมีอยู่แล้วภายใน ใจจะละเอียดและบริสุทธิ์ได้นั้นน่ะ ไม่ใช่อยู่ที่เราสวดอ้อนวอน หรืออธิษฐานว่าขอให้ใจของข้าพเจ้า ให้บริสุทธิ์ให้ละเอียด และจะปรารถนาถึงความบริสุทธิ์และละเอียดแค่ไหนก็ตาม จะท่องไปเท่าไหร่ก็ตาม มันก็ไม่บริสุทธิ์มันก็จะไม่ละเอียด แต่ความบริสุทธิ์และความละเอียดของใจนะ จะเกิดขึ้นได้มีวิธีเดียวเท่านั้น ก็คือการทำใจให้หยุด ให้นิ่ง ถ้าใจเราหยุดนิ่งได้ถูกส่วนแล้ว ความบริสุทธิ์ ความละเอียดก็จะมาเอง ถ้าใจไม่หยุดนิ่ง จะอธิษฐานเท่าไหร่มันก็ไม่มา 

 


                เพราะฉะนั้น หลักการก็มีอยู่ที่ตรงนี้นะจ๊ะ คือเราจะต้องทำใจของเรานี้ ให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งใจถูกส่วนไปเอง แต่ในระหว่างนี้เราก็ต้องประคับประคองใจให้ดี มันยากตรงที่จะประคองใจให้หยุดนิ่งมันยากอยู่ตรงนี้นิดหนึ่ง แต่ไม่มากนัก คือใจมันมักจะตึงเกินไป บางทีก็จะหย่อนเกินไป ซึ่งเกินไปนี้จะเป็นส่วนใหญ่ ความตึงนั้นเกิดจากความตั้งใจมาก อยากมากเกินไปก็เลยไปบังคับใจแทนที่จะประคองใจ บังคับมากใจก็ดึงใจก็หยาบ พลอยทำให้กายไม่สงบด้วย เมื่อใจหยาบกายไม่สงบ เพราะฉะนั้นความเครียดก็เกิดขึ้น ใจก็ไม่หยุดนิ่งนั่งเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล พลอยทำให้เราเบื่อหน่าย เกียจคร้านต่อการปฏิบัติ ส่วนใจที่หย่อนไปนั้นน่ะมักจะนั่งไปอย่างนั้นเองไม่ได้มีเป้าหมาย นั่งไปแบบไม่มีเป้าหมาย ปล่อยใจให้เลื่อนลอยสะเปะสะปะเรื่อยไป ขาดสติ เพราะฉะนั้นใจก็ไปเรื่อยเปื่อยไปเรื่องนั้นเรื่องนี้มั่ง บางทีก็เคลิบเคลิ้มหลับไปเลย ดังนั้นความยากมันอยู่ที่ เราจะต้องประคองใจของเรานี่ให้หยุดให้นิ่ง ประคองอย่างนี้ไปตลอด จนกระทั่งใจหยุดนิ่ง แต่พอพูดถึงคำว่าประคองนี้ ฟังง่าย แต่ในแง่ของการปฏิบัติอดจะบังคับไม่ได้ เรามักจะแยกไม่ค่อยออก ระหว่างการประคองใจเนี่ย กับการบังคับใจเราแยกกันไม่ค่อยออก เพราะฉะนั้นหลวงพ่อก็พยายามจะหาคำใหม่จากที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ ที่จะประคองให้ใจนี้หยุดนิ่งได้อย่างสนิท ก็คือต้องมีสติกับสบาย อันนี้เป็นหลักนะจ๊ะ 

 


                ถ้ามีสติและก็มีความสบาย ๒ สอ นี้ไปด้วยกันเมื่อไหร่ใจจะหยุดนิ่งเอง สติก็คือเรามีเป้าหมายของเราที่จะให้ใจหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ ซึ่งท่านมาใหม่ อาจจะยังไม่ทราบ แต่ท่านที่มาสม่ำเสมอแล้วทราบดี อยู่ในกลางกายของเราตำแหน่งที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนั้น ถ้าเรามีสติคือทำความรู้สึกนิดเดียว อยู่ที่ตรงนั้น ตรงกลางกายของเรา นิดเดียวนะจ๊ะ แล้วก็ทําอย่างสบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ ซึ่งท่านที่มาสม่ำเสมอแล้วเนี่ย จะได้ยินหลวงพ่อได้แนะนำตามคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำว่า ให้กำหนดบริกรรมนิมิต กับบริกรรมภาวนาควบคู่กันไปนะ อย่าได้เผลอ บริกรรมนิมิตให้กำหนดเป็นเครื่องหมายที่ใสสะอาด บริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขีด ไม่มีข่วน ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตา โตเท่ากับแก้วตาของเรา แล้วก็ภาวนา สัมมาอะระหัง เรื่อย ๆ ไป การที่เรานึกอย่างนี้เนี่ย เรียกว่ามีสติ สติกับสัมปชัญญะจะไปคู่กัน เรามีความรู้นิดเดียว มีความรู้สึกนิดเดียว อย่างเช่น ถ้าหากเรากำหนดเป็นดวงใส ๆ เครื่องหมายใสสะอาด เราก็จะนึกอย่างนั้นน่ะ ให้ต่อเนื่องกันไปให้อารมณ์สม่ำเสมออย่าให้ใจหลุดไปคิดเรื่องอื่น อย่างนี้ก็เรียกว่ามีสติแต่เป็นสติเบื้องต้นที่ยัง ที่อ่อนอยู่ สัมปชัญญะคือทำให้มันต่อเนื่องกันไป แล้วก็สบาย ๆ เพราะฉะนั้นถ้าหากเราทำกันอย่างสบาย ๆ เนี่ย เราจะมีความรู้สึกว่าเราเพลินกับการภาวนา และอย่าไปคาดหวังว่า เราจะต้องทำให้ได้เดี๋ยวนี้ เป็นเดี๋ยวนี้ ต้องได้ ต้องเห็น ต้องเป็นอะไรอย่างนั้น ถ้าเราไม่คาดหวังมากเกินไป ใจก็จะสบาย ๆ

 


                โดยเรามีความคิดว่า เราจะมีสติกับสบาย ประคองบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนา ควบคู่กันไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แค่นี้เท่านั้น ทำอย่างนี้แค่นี้เท่านั้น แม้มันจะยังไม่เห็นอะไรก็ชั่งมันอย่าไปกังวลกับการเห็นมากเกินไป และอย่ากังวลกับฐานที่ตั้งของใจมากเกินไป อย่างที่หลวงพ่อบอกเมื่อสักครู่ว่า ให้มีความรู้ตัวนิดเดียว อย่างสม่ำเสมอ และก็อย่างสบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ ใจเย็น ๆ มองไม่เห็นก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เรานึกได้ นึกภาพได้ว่าเป็นอย่างงั้นอย่างนี้ เช่นภาพ ดวงแก้วกลม ๆ ใส ๆ ที่เป็นบริกรรมนิมิตนั้นนะ ไม่เห็นไม่เป็นไร แต่ขอให้เรานึกได้ว่ามันกลมอย่างนี้น่ะ กลมใส ๆ อย่างนี้ กลมรอบตัวเหมือนลูกปิงปอง กลม และใสเหมือนน้ำแข็ง เหมือนเพชรอะไรอย่างนั้นนะจ๊ะ ให้เรานึกได้แม้ไม่เห็นก็ไม่เป็นไร พยายามนึกให้ต่อเนื่อง ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เลย พร้อมกับบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ไปเรื่อย อย่างสบาย ๆ อย่าเร่งรีบ อย่าเร่งร้อน อย่าหวังผลเร็วเกินไปน่ะ ทำให้มันสม่ำเสมอ การที่เราทำอย่างนี้เนี่ย ดูจะไม่ค่อยทันอกทันใจ สำหรับผู้ที่อยากจะได้เร็ว ๆ เนี่ย พอถึงตอนนี้เนี่ย มักจะมีความคิดชนิดหนึ่งเกิดขึ้นคือกลัวว่ามันจะช้า ได้ช้า กลัวว่ามันจะไม่ทันใช้ เพราะกลัวว่าจะได้ช้าเท่านั้นเอง ความตั้งใจมากก็จะมาตอนนี้เลย ดังนั้นสติกับสบายนี่มีความสำคัญนะจ๊ะ เราจะต้องใช้ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เลย ประคองใจไป จนกระทั่งหยุดนิ่งภายในเอง หยุดไปเองเลย พอหยุดถูกส่วนดวงธรรมก็เกิดขึ้น เราจะเห็นชัดเลย 

 


                ใหม่ ๆ มันก็ชัดน้อยก่อน สลัว ๆ สาง ๆ แล้วค่อย ๆ แจ้งขึ้นมา ๆ ทีละนิด ๆ เรื่อยไปเลยตามลำดับ และในที่สุดพอใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วน หยุดสนิทจริง ๆ น่ะ ไม่มีความคิดอื่นเข้ามาแทรกเลย และก็ไม่มีอารมณ์ที่จะไปคิดอะไรเนี่ย คำภาวนา สัมมาอะระหัง ก็หายไป เหลือแต่ใจหยุดนิ่ง โล่ง โปร่ง เบา สบายตอนนี้ดวงธรรมก็จะผุดเกิดขึ้นมาเลยเนี่ย เกิดขึ้นมาเห็นชัดเหมือนลืมตาเห็นวัตถุภายนอก เหมือนมีวัตถุอยู่ภายในร่างกายตอนนี้ก็จะหายไปเลยนะ เหลือแต่เรากับดวงธรรมเท่านั้นเอง ใจเรากะดวงธรรมก็จะ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไปเลยเชียว ความสุขทั้งหลายก็จะทะลักพรั่งพรูกันมาตอนนี้เลยเนี่ย แล้วก็จะขยายออกไปอย่างไม่มีขอบเขต ขยายไปทุกทิศ ทุกทางอย่างเบิกบาน สบายทีเดียวตอนช่วงนี้นะจ๊ะ และหลังจากนี้ไปเนี่ย ใจก็จะหยุดเข้าไปเรื่อย ๆ หยุดไปตามลำดับ ไปเลยเนี่ยหยุดไปตรงกลางของดวงธรรมที่เห็นมันหยุดไปเอง หยุดไปดวงธรรมก็ขยายกว้างออกไป พอขยายกว้างออกไป เราไม่เอาใจใส่ ไม่สนใจเรื่องอื่นนะ หยุดไปเรื่อย ๆ ก็จะถูกดูดเข้าไปเรื่อย ๆ ถึงดวงธรรมที่ถัด ๆ ไปน่ะ ดวงธรรมที่ถัด ๆ ไปที่ละเอียดลุ่มลึก ไปตามลำดับถ้าหากเราเฉย ๆ ทำสบาย ๆ 

 


                มีสติกับสบายต่อไปอีก ซึ่งในตอนช่วงนี้เนี่ย สติสบายจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่เป็นสติสบายที่เรานึกสร้างขึ้นมาเหมือนตอนแรก ๆ มันจะกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกะใจที่หยุดนิ่ง ตอนนี้ก็จะเข้าถึงกายในกายล่ะ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหมจนกระทั่งถึงกายธรรมไปเองเลย เข้าถึงไปเอง กายเหล่านี้ดวงธรรมเหล่านี้มีอยู่แล้วนะจ๊ะ อยู่ภายในร่างกายของเรายาว วา หนาคืบ กว้างศอก นี่แหละ หลวงพ่อพูดบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ท่านที่มาเก่าคงจะได้ยินบ่อย ๆ แต่ท่านที่มาใหม่เนี่ยะขอให้รับทราบไว้ว่า ร่างกายที่เราเห็นด้วยตาเนื้อนี้ มันไม่ได้มีอยู่แค่เนี่ยะ ชีวิตไม่ตื้น ๆ ขนาดนั้น มันจะมีสิ่งที่ลึกซึ้งซ้อน ๆ กันเข้าไปอีก อีกเยอะแยะ แต่เราไม่เคยให้โอกาสกับตัวเอง ในการที่จะศึกษาฝึกฝนทำใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งเข้าถึงแล้วก็เรียนรู้ภายในนะไม่เคยให้โอกาสตัวของเราเองเลยทั้ง ๆ ที่ชีวิตที่เราเกิดมาในโลกนี้นี่นะ จำเป็นจะต้องมีที่พึ่ง และต้องเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ที่พึ่งได้จริง ๆ เนื่องจากชีวิตที่อยู่ในโลกใบนี้เนี่ย เป็นชีวิตที่มีพื้นเพพื้นฐานของชีวิตเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราจะต้องประสบกับโลกธรรม ๔ ประการนะ มีลาภ แล้วก็เสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มีคนสรรเสริญ เดี๋ยวก็มีคนนินทา มีสุข มีทุกข์ สลับกันไปอย่างนี้ ทุกชีวิตทุก ๆ คนจะต้องเจออย่างนี้ 

 


                เพราะฉะนั้นเรามีความจำเป็นจะต้องแสวงหาที่พึ่ง ถ้าไม่มีที่พึ่งแล้ว ชีวิตก็มีแต่ความทุกข์ไปเลยมีทุกข์ไปเรื่อย ๆ ที่พึ่งที่แท้จริงนั้นน่ะจะต้องมีสภาพที่พึ่งได้จริง ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยมีความสุขล้วน ๆ สว่างไสว อุดมไปด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยภูมิธรรมต่าง ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาชีวิตของเราได้ รวมทั้งมีพลังที่บริสุทธิ์ที่จะขจัดพลังที่ไม่บริสุทธิ์หมดไปได้ และจะต้องมั่นคง และที่พึ่งชนิดนี้เนี่ย เรียกเมื่อไหร่ก็ต้องมาได้เมื่อนั้น อยากพึ่งตอนไหนก็พึ่งได้ตอนนั้น ไม่ใช่ว่าอยากพึ่งตอนนี้แล้วก็ไม่ยอมมาพอมาก็มาอีกตอนหนึ่งนะ เหมือนช่วยตัวเองเสียก่อนแล้วก็คอยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยทีหลัง อย่างนี้ไม่ใช่นะจ๊ะ ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ ต้องเป็นสิ่งที่เข้าถึงง่าย อยู่กับตัวของเรา และก็คงที่ตลอดเวลา มีพลังแห่งความบริสุทธิ์ขจัดพลังไม่บริสุทธิ์ มีพลังแห่งความสุข ขจัดพลังความทุกข์ มีพลังแห่งปัญญาขจัดความโง่เขลา และต้องอยู่กับตัวเราตลอดไปอย่างนั้น จึงจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ต้องเข้าถึงได้ สัมผัสได้ ถูกต้องได้ อย่างนี้นะจ๊ะ ต้องมีสภาพอย่างนี้ ถ้าพูดภาษาพระก็คือต้องเป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา ต้องเป็นนิจจัง ต้องเป็นสุขขัง ต้องเป็นอัตตา คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอมตะสุขล้วน ๆ จนกระทั่งเป็นบรมสุข เป็นอัตตา เป็นตัว เป็นตนที่แท้จริงเนี่ย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับตัวของเราได้ อย่างนี้จึงจะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง

 


               เพราะฉะนั้นมนุษย์จะต้องแสวงหาที่พึ่งนะจ๊ะ ทีนี้ถ้าหากปัญญาของเรามันยังไม่สมบูรณ์เหมือนคนว่ายน้ำอยู่ในทะเลเนี่ย ซากศพลอยมาเราก็เกาะ กระบอกไม้ลอยมาเราก็เกาะ แพลอยมาก็เกาะ เรือลอยมาเราก็เกาะเพื่อให้พ้นจากทุกข์ภัยในตอนนั้นน่ะ ใจของใครที่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยสติ ด้วยปัญญา ก็จะพบแต่ที่พึ่งอย่างนั้นนะ เจอต้นไม้ก็กราบต้นไม้ เจอจอมปลวกกราบจอมปลวก เจอสัตว์เดรัจฉานที่พิกลพิการก็ไปกราบกัน เจออารามศักดิ์สิทธิ์ เจอภูเขากราบหมด หรือใครแนะนำว่าคนนั้นเป็นผู้วิเศษก็เข้าไปกราบไปไหว้ของเป็นที่พึ่ง ที่พึ่งเหล่านั้นยังเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เสื่อมสลายควบคุมก็ไม่ได้ อารมณ์เดี๋ยวก็แปรปรวน อย่างนั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐ ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริงเพราะฉะนั้นที่พึ่งที่แท้จริงนี้ไม่ได้อยู่ที่ไหนนะจ๊ะ พระผู้มีพระภาคเจ้าน่ะได้สั่งสอน อบรมเรื่อยมาเลยว่าอยู่ในตัวของเรานี้แหละ ที่พึ่งที่ระลึกอยู่ในตัวของเรานี้แหละ และท่านบอกมาเลยว่าที่พึ่งที่สำคัญคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ สิ่งอื่นที่จะเป็นที่พึ่งยิ่งกว่านี้หรือเสมอเท่านี้ก็ไม่มีอีกแล้ว 

 


                นี้เป็นสิ่งที่พวกเราจะต้องทำความเข้าใจให้ดี แล้วทุ่มตัวทีเดียวนะจ๊ะ ฝึกฝนตัวให้เข้าถึงที่พึ่งชนิดนี้ที่มีอยู่ในตัวของเราเนี่ย ทุกต้นเดือนนี่หลวงพ่อมักจะย้ำอย่างนี้บ่อย ๆ อย่าเพิ่งเบื่อหน่ายกันนะจ๊ะ เดี๋ยวฟังดูแล้วก็จะเหมือนไม่มีอะไรใหม่ ๆ แต่ตรงนี้นะยังทำกันไม่ได้เลย ละก็เดี๋ยวมักจะลืมกันไปดังนั้นหลวงพ่อก็จึงย้ำบ่อย ๆ ว่าที่พึ่งที่สำคัญ ที่พระพุทธเจ้าท่านค้นพบสั่งสอนก็คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ แล้วก็อยู่ภายในตัวของเรานี้เนี่ยอาศัยตัวเป็นที่พึ่งของตัวเรานี่นะ ปฏิบัติเข้าไป ไม่ใช่ไปกราบไปอ้อนวอน ขอถึงอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ถึงต้องพึ่งตัวของเราเอง ปฏิบัติด้วยตัวของเราเอง จึงจะถึงที่พึ่งภายในเวลาถึงแล้วนั้นเป็นอย่างไง พอเข้าถึงพุทธรัตนะ เห็นธรรมกาย ใส แจ่ม เกตุดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิอยู่บนฌาณสมาบัติ ใสแจ่มทีเดียว พอถึงตรงนั้นใจหยุดสนิทนิ่ง เรากับท่านจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ธมฺมกาโย อะหัง อิติปิ ทีเดียว คือเรากะธรรมกายกลืนกันเป็นอันเดียวกัน เราจะเป็นท่านท่านก็จะเป็นตัวเรา เรากะท่านแยกจากกันไม่ได้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเลย ตอนนี้ความรู้สึกของเราจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนจากทุกข์มาเป็นความสุข เปลี่ยนจากความคับแคบมาขยายออก เปลี่ยนจากผู้ไม่รู้ก็มาเป็นผู้รู้ มีความสุข มีความเบิกบานทีเดียว 

 


                เมื่อถึงตอนนี้แล้วเนี่ย เราจะเรียนรู้ชีวิตของเรานะ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็จะรู้แจ้งได้อย่างง่ายทีเดียว ไปนรกก็ได้ ไปสวรรค์ก็ได้ หมู่ญาติละโลกไปแล้วนะ ภพภูมิไหนล่ะไปตรวจตราได้ทั่วถึงหมด ไปนรกก็ไปช่วยได้ หมู่ญาติไปสวรรค์แล้วก็เอาบุญไปให้ได้ ไปนรก สวรรค์ นิพพานไปได้หมดเลย แล้วติดกับตัวเราอยู่ตลอดเวลา จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะอยู่ตามป่าตามเขา จะอยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เป็นที่พึ่งให้กะเราได้อย่างแท้จริงที่พึ่งที่ระลึกมีแค่นี้นะจ๊ะ อย่าเข้าใจว่ามีนอกเหนือจากนี้ และต้องจำไว้ด้วยว่าต้องอยู่ในตัวของเรา จะเข้าถึงนะไปสวดมนต์อ้อนวอนผู้วิเศษต่าง ๆ นะ จะให้เสกให้เป่า จะให้เข้าถึงนะมันไม่ได้ ต้องปฏิบัติด้วยตัวของเราเองนะจ๊ะ หลวงพ่ออยากให้ทุกท่าน ทั้งเก่าทั้งใหม่ทั้งในและนอกประเทศ จับหลักของชีวิตตรงนี้ให้ได้นะจ๊ะ เมื่อเราจับหลักชีวิตตรงนี้ให้ได้แล้ว ชีวิตต่อไปจะได้มีความสุข จะอยู่ตรงไหนก็ได้ อยู่เมืองไทยก็มีความสุข อยู่ต่างประเทศก็มีความสุข อยู่ในเมืองก็มีความสุข ในป่าในเขาก็มีความสุขทั้งนั้นนะ เพราะฉะนั้นต้องเข้าถึงรัตนะทั้งสาม ตรงนี้ให้ได้นะจ๊ะ 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011682510375977 Mins