หลักและวิธีการเทศน์

วันที่ 29 มิย. พ.ศ.2567

670629_b53.jpg

 

เรื่อง หลักและวิธีการเทศน์
พระมหาโพธิวงศาจารย์
(ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)

ภาคที่ ๑
หลักการเทศน์

ความนำ

                 เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปแล้วว่า “การเทศน์” นั้นหมายถึงการแสดงธรรม การชี้แจงธรรม การเปิดเผย ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งธรรม และมิได้จำกัดวิธีการเทศน์โดยเพียงการแสดงธรรมบนธรรมาสน์อันเป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปเท่านั้น หากยังหมายรวมไปถึงการแสดง การชี้แจง การเปิดเผย ทำให้แจ่มแจ้งซึ่งธรรมในรูปแบบอื่น เช่น การปาฐกถา การบรรยาย การอภิปรายการสนทนาธรรม และครอบคลุมไปถึงการเขียนบทความธรรมการแต่งหนังสืออธิบายข้อธรรมนั้นๆ ด้วย วิธีการต่างๆ เหล่านี้รวมอยู่ในกรอบของคำว่าการเทศน์หรือการแสดงธรรมทั้งสิ้นและเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการเทศน์นั้นเป็นวิธีการเผยแผ่ธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาด้วยพระองค์เองจนตลอดพระชนม์ ซึ่งเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี

                 ทำให้ทรงสามารถประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้มั่นคงอย่างรวดเร็ว แม้พระสาวกในสมัยพุทธกาลที่ดำเนินตามพระพุทธปฏิปทานั้น ทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายขยายตัวไปทั่วชมพูทวีปสมัยนั้นและในสมัยต่อมาอีกนานนับพันปี พระสงฆ์สาวกผู้รับภาระพระพุทธศาสนาที่ให้ความสำคัญกับการเทศน์มาโดยตลอด โดยเห็นว่าการเทศน์เป็นพุทธประเพณี เป็นวิธีการเผยแผ่ศาสนาที่สำคัญ ศักดิ์สิทธิ์ และมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการอื่น มิเช่นนั้นพระพุทธองค์คงไม่ทรงถือปฏิบัติด้วยพระองค์เองนับแต่เริ่มประกาศพระศาสนาอันที่จริง การเทศน์นั้นเป็นการถ่ายทอดข้อธรรมที่ศึกษาเล่าเรียนมาหรือที่ปฏิบัติเห็นผลประจักษ์ด้วยตนเองไปสู่ผู้ฟังและผู้ใฝ่รู้ทั้งหลาย และการถ่ายทอดนั้นหากจะให้มีประสิทธิภาพและมีผลประจักษ์ตามที่ต้องการย่อมต้องอาศัยหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสม งดงาม

                 ดังนั้นย่อมจัดได้ว่าการเทศน์เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเรียกเต็มว่า “ศิลปะการเทศน์” เพราะขึ้นชื่อว่าศิลปะแล้วเป็นเรื่องของฝีมือ เป็นเรื่องการแสดงออกที่งดงามสละสลวย นำมาซึ่งความพอใจ ให้อารมณ์ และสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้คนให้คล้อยตามได้การเทศน์ก็เป็นเรื่องของศิลปะ เป็นเรื่องของฝีมือหรือความสามารถของผู้เทศน์ ที่จะสามารถแสดงชี้แจงข้อธรรมได้ถูกต้องงดงาม ไพเราะ สละสวย น่าประทับใจ และจับใจผู้ฟังและผู้ใฝ่รู้ได้การศึกษาเรียนรู้ การปฏิบัติที่ได้ผลเป็นความชำนาญช่ำชองเป็นเรื่องของพาหุสัจจะ คือเป็นความรู้และความชำนาญเฉพาะตัวมีอยู่ในตัวของแต่ละบุคคล เมื่อต้องการจะถ่ายทอดความรู้ความชำนาญของตนไปยังผู้อื่นเพื่อให้เขารู้ตามด้วย ก็จำต้องอาศัยศิลปะเข้ามาเป็นผู้ช่วย ถ้าถ่ายทอดโดยไร้ศิลปะก็ไม่อาจสัมฤทธิผล

ตามที่ต้องการได้ ศิลปะในการถ่ายทอดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้ และในการถ่ายทอดนั้นเล่าก็ต้องอาศัยหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง เป็นระเบียบ เป็นไปตามหลักตามเกณฑ์ มิใช่ถ่ายทอดไปตามชอบใจหรือตามอารมณ์แห่งตน ซึ่งจะทำให้ออกนอกลู่นอกทางหรือไร้ทิศทางได้ การเรียนรู้ การถ่ายทอด และหลักเกณฑ์ในการถ่ายทอด จึงต้องมีและเป็นไปพร้อมๆ กันทั้ง ๓ กระบวนการด้วยเหตุดังนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงความเกี่ยวเนื่องกันของ ๓ กระบวนการนี้ไว้ในมงคลสูตรหมวดหนึ่ง คือ พาหุสัจจะ สิปปะ และ วินัย

                พาหุสัจจะ เป็นเรื่องของการศึกษาเรียนรู้ เข้าใจ และรู้แจ้งเป็นการนำเข้าสู่ตัว สิปปะ เป็นการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจและความรู้แจ้งไปสู่ผู้อื่น วินัย เป็นระบบการถ่ายทอดที่เป็นระเบียบ มีหลักมีเกณฑ์ รวมถึงระเบียบปฏิบัติของผู้ถ่ายทอดด้วยผู้ใดสามารถทำตาม ๓ ประการนี้ได้ ท่านว่าย่อมได้รับสิ่งที่เป็นมงคล ได้รับความสำเร็จ ความเจริญ ความก้าวหน้า เป็นต้นผู้เทศน์ที่จะนับได้ว่าเป็นนักเทศน์ที่ได้รับความสำเร็จโดยเฉพาะนักเทศน์บนธรรมาสน์นั้น จำต้องขวนขวายแสวงหาและปฏิบัติตามมงคล ๓ ประการนี้ให้ครบถ้วนหลักการและวิธีการเทศน์ที่โบราณาจารย์ได้ถือปฏิบัติกันมานั้นล้วนเป็นศาสตร์และเป็นศิลป์ที่ครอบคลุมมงคลหลัก ๓ ประการนี้อย่างครบถ้วนและชาญฉลาด จึงสามารถดำรงรักษาพระศาสนาเข้าไว้ได้

               หากมองอย่างผิวเผินอาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นไป เช่นมองว่าที่พระศาสนาดำรงอยู่ได้นั้นเพราะยังมีการศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรมกันอยู่ ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ก็ข้ามไประดับหนึ่งคือการถ่ายทอดธรรมที่ศึกษาเล่าเรียนมา หากไม่มีการถ่ายทอดอย่างมีระบบระเบียบแล้วไซร้ จะปฏิบัติธรรมได้ถูกต้องได้อย่างไร อย่างดีก็ปฏิบัติด้วยตัวเองเท่านั้น เหมือนเช่นถ้าพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วหรือพระสาวกได้บรรลุธรรมด้วยตนเองแล้วแต่ไม่สอน ไม่แนะนำไม่เปิดเผยข้อธรรมข้อปฏิบัติให้คนอื่นรู้ ใครเขาจะรู้ตามและปฏิบัติตามได้เล่า ดังนั้นการเทศน์ที่เป็นไปตามหลักการและวิธีการที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้กระบวนการศึกษาเรียนรู้หลักธรรม กล่าวคือการเทศน์ที่ดีสมบูรณ์แบบนั้นจำต้องเป็นไปตามกระบวนการที่ถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ

                ความตระหนักในการเทศน์ชาวพุทธโดยทั่วไป ทั้งคฤหัสถ์ชาวบ้านและพระสงฆ์ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยต่างก็ให้ความสำคัญแก่การเทศน์ที่เป็นพิธีการคือการเทศน์บนธรรมาสน์ ซึ่งเมื่อจะมีการเทศน์ในงานต่างๆ จะจัดเตรียมเป็นพิเศษเฉพาะ เช่นจัดธรรมาสน์ จัดที่บูชาธรรม จัดเครื่องกัณฑ์เทศน์ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมีความรู้สึกและศรัทธาว่าเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า พระผู้เทศน์เป็นผู้แทนของพระพุทธเจ้า โดยนำธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดงให้ฟัง และในขณะฟังก็ตั้งใจฟัง ฟังด้วยความเคารพ ด้วยอาการสงบ สำรวมกายวาจาเหมือนได้ฟังต่อพระพักตร์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยเหตุนี้ การเทศน์จึงมิใช่กิจที่พึ่งทำเพียงเป็นประเพณีนิยมหรือทำให้ผ่านๆไปพอเป็นพิธีเท่านั้น แต่หากพึงตระหนักในความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์แห่งพิธีการที่เดียว เพราะเหมือนกับจำลองหรือเลียนแบบว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมด้วยพระองค์เอง

               หากทั้งผู้จัดงาน ผู้เทศน์ และผู้ฟังต่างตระหนักในการเทศน์ว่าสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว แล้วปฏิบัติจัดทำ แสดงธรรมและฟังธรรมด้วยความเคารพ ด้วยศรัทธา มุ่งบุญกุศลและมุ่งถวายเป็นพุทธบูชาเป็นหลัก ทุกอย่างก็จะออกมาดี เรียบร้อยประทับใจ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความวัฒนาสถาพรแห่งพระพุทธศาสนาที่เดียว ตรงกันข้าม หากจัดทำและแสดงธรรมเพียงมิให้เสียพิธีแบบสุกเอาเผากิน ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมถอยและความเลื่อนหายไปแห่งวิธีการสำคัญที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือปฏิบัติมาในการเผยแผ่ศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นแน่แท้ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้จัดให้มีเทศน์หรือผู้แสดงธรรมมิได้พิถีพิถันหรือให้ความใส่ใจอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว ผู้ฟังก็ย่อมมองไม่เห็นความสำคัญของการฟังธรรมและย่อมไม่ใส่ใจที่จะฟังด้วยเช่นกัน

               ความเสื่อมถอยไปแห่งประเพณีการฟังธรรมก็ดี ความอันตรธานไปแห่งการเทศน์ที่ดีย่อมเกิดขึ้นแน่นอนเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นแล้วแก่วัดต่างๆในปัจจุบัน โดยบางวัดไม่อาจจัดให้มีเทศน์ได้ หรือมีเทศน์ตามธรรมเนียมเช่นในงานศพเหมือนกันแต่ขาดผู้มาฟัง มีแต่เจ้าภาพหรือผู้สูงวัยไม่กี่คนมาฟังกันตามธรรมเนียม เช่นนี้ย่อมมีสาเหตุมาจากความไม่ตระหนักในการเทศน์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนวัดที่ยังสามารถจัดให้มีเทศน์ได้ เมื่อจัดแล้วก็มีคนสนใจมาฟังกันมากผู้คนยังไม่ละเลยในการฟังเทศน์กัน เช่นนี้แสดงว่าวัดนั้นได้ตระหนักในเรื่องนี้และปฏิบัติจัดทำอย่างที่น่าประทับใจจึงยังคงรักษาธรรมเนียมการเทศน์ไว้ได้ และยังสามารถเรียกความสนใจจากผู้ใฝ่ธรรมได้เป็นอย่างดี

หลักการเทศน์

                ดังกล่าวมาแล้วว่าการเทศน์นั้นเป็นศิลปะ ต้องประกอบด้วยศิลปะ จึงจะนับว่าเป็นเทศน์ดี ก่อให้เกิดความสนใจใคร่จะฟัง และสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้คนให้นำข้อธรรมไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตน อันเทศน์นั้นคือเทศน์ที่ประกอบด้วยหลักการและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นที่นิยมของบัณฑิตชนมาแต่โบราณแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป แม้ผู้คน สังคม เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม ความขลัง ความสำคัญ และความศักดิ์สิทธิ์ของการเทศน์นั้นหาได้เปลี่ยนไปไม่ เพราะยังไม่มีการเปลี่ยนหลักการและวิธีการซึ่งถือปฏิบัติสืบๆกันมา และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยเพียงแค่ปรับกระบวนการให้เหมาะสมกับกาลเวลา ผู้คน และสังคมเท่านั้น ทั้งนี้เพราะการเทศน์นั้นท่านวางหลักการและวิธีการไว้แยบคายและเหมาะสมดีแล้วด้วยประการทั้งปวง

               เพียงรักษารูปแบบของท่านไว้ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่จะดำรงรักษาและเผยแผ่พระศาสนาให้แพร่หลายขยายตัวออกไปได้ตราบนานเท่านานอันหลักการเทศน์นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน มีขั้นตอนมีระเบียบปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ไม่ผ่านเลยหรือมองข้ามบางขั้นตอนบางอย่างไป เพราะบางครั้งขั้นตอนที่ผ่านเลยนั้นอาจเป็นขั้นตอนที่สำคัญหรือเป็นหัวใจของการเทศน์ก็ได้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติตามขั้นตอนหรือปฏิบัติตามหลักแห่งการเทศน์จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ท่านแนะนำกันมาว่า คนเราจะทำอะไรต้องมีหลัก ต้องอาศัยหลัก และต้องปฏิบัติไปตามหลัก จึงจะชื่อว่าเป็นนักทำงานที่ดีท่านว่าคนเช่นนั้นเป็นคนมีหลัก เป็นคนยึดหลัก หรือเป็นคนไม่ทิ้งหลัก หากทำอะไรโดยไม่มีหลักหรือไม่ยึดหลัก ท่านว่าเป็นคนหลักลอย

               คนหลักลอยเป็นคนอย่างไรเห็นจะไม่ต้องขยายความเพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่าเป็นอย่างไร เสียหายอย่างไร เอาดีไม่ได้อย่างไร แม้การเทศน์ก็เช่นกันท่านมีหลักอยู่ ผู้เทศน์ที่ดีย่อมรู้หลัก ย่อมยึดถือหลัก และเป็นไปตามหลัก แม้จะพลิกแพลงแสดงธรรมตามถนัดของตนบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ทิ้งหลักเดิมเสียทีเดี่ยว เป็นแต่นำไปปรับเปลี่ยนหรือเสริมแต่งให้มีศิลปะ ให้เข้ากันได้กับยุคสมัย หรือให้เหมาะแก่บุคคลเท่านั้น ซึ่งอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นพรพิเศษหรือเป็นความสามารถเฉพาะตัว กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไป ความพิเศษเช่นนี้หาทำได้เหมือนกันทุกรูปทุกนามไม่

                 หลักการเทศน์ที่จะเป็นเหตุนำไปสู่การเทศน์เป็นจนถึงความเป็นเลิศทางการเทศน์นั้นมีหลายประการ ในที่นี้จักยกแสดงเป็นประเด็นหัวข้อรวม ๔ หลักด้วยกันคือ
๑. หลักเทศน์
๒. หลักธรรม
๓. หลักฐาน
๔. หลักวิชา

               หลักทั้งสี่นี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญแห่งการเทศน์ เปรียบเหมือนมือและเท้าเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่จะสามารถนำพาร่างกายให้ดำรงอยู่และเป็นไปได้ฉะนั้น เพราะหลักเหล่านี้จะสามารถขับเคลื่อนการเทศน์ให้ลื่นไหล ไม่ติดขัด มีความสมบูรณ์ถูกต้องนำมาซึ่งความเพลิดเพลินเจริญใจและสติปัญญาแก่ผู้ฟัง เพิ่มพูนศรัทธาให้แข็งแกร่งขึ้น และสามารถโน้มน้าวจิตใจให้ใคร่ต่อการฟังธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเพราะฉะนั้น จึงจักได้สำแดงหลัก ๔ หลักนี้โดยละเอียดต่อไป

หลักเทศน์ คืออะไร

                 หลักเทศน์ คือ ระเบียบวิธีการเทศน์หรือศาสนพิธีในการเทศน์ ซึ่งเป็นรูปแบบและระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้เทศน์โดยเฉพาะซึ่งโบราณาจารย์ท่านถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมา ระเบียบปฏิบัติบางอย่างเป็นรูปแบบสมัยพุทธกาลเสียด้วยซ้ำไป ผู้เทศน์ในฐานะเป็นผู้แทนพระพุทธองค์ในการแสดงธรรมจำต้องใฝ่ใจศึกษารูปแบบและระเบียบปฏิบัติเหล่านี้อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เคารพระเบียบปฏิบัติแล้วยังชื่อว่าเคารพพระพุทธองค์และโบราณาจารย์ทั้งหลายด้วย ผู้มีคารวธรรมเช่นนี้ย่อมมีแต่ความเจริญ หาความเสื่อมถอยมิได้ ท่านว่าไว้อย่างนี้อันศาสนพิธีหรือระเบียบวิธีการเทศน์นั้น เริ่มต้นตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่สถานที่แสดงธรรมหรือมณฑลพิธีแห่งงานเรื่อยไปตามลำดับ คือ การขึ้นอาสน์สงฆ์ การกราบพระ การขึ้นธรรมาสน์การตั้งพัด การให้ศีล การคลี่คัมภีร์ การถือคัมภีร์ การประนมมือการให้พร การลงจากธรรมาสน์ การรับประเคนเครื่องกัณฑ์ ตลอดถึงท่วงทีลีลาในการใช้เสียง การใช้ภาษา

                 การให้จังหวะวรรคตอนขั้นตอนเหล่านี้ชอบที่นักเทศน์จะพึงกำหนดจดจำแล้วปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามลำดับ เพื่อรักษาของเก่าไว้และเพื่อได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์ทีดีอนึ่ง หลักเทศน์เหล่านี้จัดเป็นอลังการคือเป็นเครื่องประดับเป็นองค์ประกอบที่ทำให้การเทศน์แต่ละครั้งมีความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ดูดี มีชีวิตชีวา และน่าประทับใจ นำมาซึ่งศรัทธาปสาทะแก่ผู้เห็นและผู้ฟัง เหมือนเครื่องประดับและลีลาอันอ่อนช้อยงดงามถูกต้องตามศิลปะของนักแสดงเป็นเครื่องดึงดูดตาและนำมาซึ่งความประทับใจแก่ผู้ชมฉะนั้นผู้เทศน์ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญระดับเป็นนักเทศน์นั้นย่อมสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ติดขัด ไม่เคอะเขิน ไม่เสียจังหวะ ทำต่อเนื่องลื่นไหลไปตามลำดับ เห็นแล้วสบายตา น่าเลื่อมใส พาจิตใจให้แช่มชื่น บังเกิดศรัทธาสนใจที่จะฟังธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปแต่สำหรับผู้ไม่ชำนาญหรือไม่ผู้ไม่ตระหนักในการเทศน์มักกำหนดจดจำขึ้นตอนเหล่านี้ไม่แม่น จึงมักจะตัดลัดหรือสับลำดับขั้นตอน ทำให้ดูเคอะๆ เขินๆ ไม่เป็นจังหวะ ดูแล้วน่าอึดอัดแทน ผู้รู้ทั้งหลายย่อมมองออกได้ว่าผู้เทศน์รูปนั้นมีความชำนาญหรือได้ฝึกปรือเรื่องการเทศน์มาหรือไม่อย่างไร เพราะผู้ฟังเทศน์ส่วนใหญ่จะผ่านผู้เทศน์มามาก ได้รู้ได้เห็นมามาก จึงสามารถกำหนดจดจำขั้นตอนและสามารถมองออกได้ว่าอย่างไรดี อย่างไรไม่ดี หรืออย่างไรถูกอย่างไรผิด

                 การจะสามารถกำหนดจดจำและทำได้อย่างชำนาญนั้นต้องอาศัยการเรียนรู้ การดูตัวอย่าง การฝึกฝน และการได้ปฏิบัติจริงบ่อยๆ จะอาศัยเพียงแค่ศึกษาเรียนรู้ตามตำราหรือตามตัวหนังสือที่ท่านชี้แนะไว้ให้อย่างเดียวหาเพียงพอไม่ เพราะเมื่อถึงคราวปฏิบัติจริงเข้ามักจะเงอะๆงะๆ หรือสั่นเป็นเจ้าเข้า หรือลืมทำนั่นทำนี่ด้วยกันทั้งนั้น แม้จิตใจจะเข้มแข็งว่าไม่กลัว แม้จะมั่นใจเต็มที่แต่พอขึ้นสู่เวทีจริงก็ไม่วายจะเป็นอย่างนั้น นี่เป็นปกติธรรมดาขั้นตอนแห่งหลักเทศน์หรือวิธีการเทศน์นั้นจักได้ขยายความโดยละเอียดเพื่อเป็นแนวปฏิบัติในตอนที่ว่าด้วยวิธีการเทศน์โดยเฉพาะ ในเบื้องต้นเกริ่นไว้เพื่อให้รู้ว่าขั้นตอนเหล่านี้เป็นหลักเทศน์

หลักธรรม คืออะไร
              หลักธรรม คือ หัวข้อที่จะเทศน์หรือเรื่องที่จะเทศน์ ซึ่งก็ได้แก่ธรรมะนั่นเอง หลักธรรมนี้จัดเป็นหัวใจของการเทศน์ เป็นแกนหรือเป็นสาระสำคัญ และเป็นจุดมุ่งหมายหลักของการเทศน์เพราะการเทศน์แต่ละครั้งนั้นต้องยึดหลักธรรมเป็นสำคัญกว่าหลักอื่นใด หากแม้ในการแสดงธรรมจะปฏิบัติได้ถูกหลักเทศน์และมีศิลปะลีลาในการแสดงยอดเยี่ยมอย่างไร แต่เมื่อขาดหลักธรรมหรือไม่เป็นไปตามหลักธรรมเสียแล้ว การแสดงธรรมนั้นก็ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่อาจโน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังให้เกิดศรัทธาปสาทะใคร่จะปฏิบัติตามได้ อย่างดีก็แค่ทำให้ฟังเพลินๆ หรือสนุกสนานคลายอารมณ์ได้เท่านั้น ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ และความประทับใจย่อมเกิดได้ยากอันหลักธรรมซึ่งเป็นแกนสำคัญนั้นได้แก่พระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า “พุทธภาษิต”รองลงมาก็คือหลักธรรมของพระอริยสาวกในอดีต ทั้งของพระเถระและพระเถรี ซึ่งเรียกว่า “เถรภาษิต” และ “เถรีภาษิต”รองลงมาจากนั้นก็คือ “เทวดาภาษิต” เป็นต้น

              ภาษิตเหล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎก และยังหมายรวมไปถึงหัวข้อธรรมที่เป็นภาษิตของพระเถระในยุคหลังและไม่มีในพระไตรปิฎกซึ่งนิยมเรียกว่า“ธรรมภาษิต” หลักธรรมทั้งหมดอันเป็นภาษิตทั้งที่มีและไม่มีในพระไตรปิฎกเหล่านี้ เรียกรวมว่า “พุทธศาสนสุภาษิต” เป็นหลักธรรมที่นิยมยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเทศน์ และหลักธรรมระดับต้นที่นิยมยกขึ้นเป็นหัวข้อเทศน์นั้นคือพุทธภาษิต ถือเป็นหลักฐานปฐมภูมิที่มีน้ำหนักที่สุด แต่หากต้องการแสดงหลักธรรมอันเป็นภาษิตของพระอริยสาวกหรือของผู้อื่นเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเทศน์ก็สามารถยกมาเป็นหัวข้อเทศน์ได้ ซึ่งก็เป็นที่นิยมเช่นเดียวกันแต่ที่ไม่นิยมกันคือแต่งหัวข้อธรรมเป็นภาษาบาลีขึ้นเองเพราะมีความสามารถแล้วอธิบายไปตามอัตโนมัติ อย่างนี้เรียกว่า“บาลีมุต” ซึ่งแปลว่า “นอกพระบาลี” และเรียกล้อโดยเลียนเสียงว่า “บาลีมุด” ซึ่งคงหมายถึงอ้างบาลีแบบมุดดินมา หัวข้อธรรมเช่นนี้นอกจากจะไม่นิยมกันแล้วยังไม่เหมาะไม่ควรจะทำด้วยแม้จะมีความรู้ความสามารถทำได้แต่งได้ก็ตามและที่ไม่สมควรอย่างยิ่งก็คือเมื่อแต่งเป็นบาลีเองแล้วมาอ้างว่าเป็นพุทธศาสนสุภาษิตหรือเป็นพุทธภาษิต อย่างนี้เรียกว่า“จับใส่พระโอษฐ์” ท่านถือว่านอกครู เป็นบาปหนักทีเดียว

                    หลักธรรมนั้นแม้จะเป็นสิ่งวิเศษ เป็นผลผลิตจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือเป็นปัญญาเป็นทัศนะของพระอริยสาวก เป็นหัวข้อธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด มีอรรถ มีพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงก็จริง แต่มิใช่จะให้ประโยชน์หรือบรรลุตามเป้าหมายทุกครั้งที่นำมาแสดงหรือนำมาเทศน์ไม่ เพราะแต่ละหัวข้อธรรมยังมีเงื่อนไขอีก คือต้องแสดงหรือเทศน์ให้ถูกกาลเทศะและถูกบุคคลด้วย ดังนั้น การเลือกเฟ้นหัวข้อธรรมมาเทศน์จึงจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง หากไม่เลือกเฟ้นหรือเลือกแล้วแต่ไม่ถูก การเทศน์ครั้งนั้นก็จะเป็นเพียงได้เทศน์ และผู้ฟังหรือเจ้าภาพก็จะมิได้ประทับใจ มิได้เกิดความรู้สึกศรัทธาแต่อย่างใด ดังนั้น การใช้หลักธรรมจำต้องเลือกเฟ้นและนำมาใช้ให้ถูกด้วยที่ว่านำมาใช้ให้ถูกนั้นคือถูกอย่างไรมีคำตอบว่า ต้องถูก ๒ อย่างคือ ถูกต้อง กับ ถูกใจ“ถูกต้อง” คือถูกหลักถูกธรรม เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นพระพุทธพจน์ เป็นพุทธศาสนสุภาษิต

                    มีหลักฐานที่มาที่ไป อ้างอิงได้ และในการอธิบายขยายความให้รายละเอียดนั้นก็มีเหตุมีผลถูกต้องตามกระบวนการการอธิบายธรรม ไม่นอกลู่นอกทาง ไม่จับใส่พระโอษฐ์ มีความชัดเจน ประจักษ์แจ่มแจ้ง เห็นตามได้อย่างที่ท่านอุปมาไว้ว่าเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง และส่องประทีปในที่มืด“ถูกใจ” คือถูกกับความต้องการ ความชอบ ความนิยมของผู้ฟังหรือเจ้าภาพที่มีความสนใจใฝ่ทางธรรมเป็นทุน หรือของบัณฑิตชนผู้รู้ทั้งหลาย บุคคลเช่นนี้เมื่อได้ฟังธรรมจากผู้เทศน์ผู้ช่ำชองชำนาญ มีท่วงทีลีลา มีหลักในการแสดงธรรม ทั้งแสดงธรรมได้ถูกต้อง ก็จะเกิดความถูกใจ เมื่อถูกใจแล้วก็จะยกย่องสรรเสริญผู้เทศน์ว่าเป็นนักเทศน์มีอันดับ และจะติดตามผลงานเรื่อยไปด้วยถูกอัธยาศัยแห่งตน

                 ความถูกที่พึงตระหนักสิ่งที่ผู้เทศน์จำต้องตระหนักและพิถีพิถันในการเทศน์ทุกครั้งทุกกัณฑ์เพื่อให้เกิดความถูกต้องและถูกใจนั้นคือความถูก ๗ ถูกได้แก่

ถูกเรื่อง
ถูกหัวข้อ
ถูกงาน
ถูกบุคคล
ถูกกาละ
ถูกเทสะ
ถูกเป้าหมาย

ถูกเรื่อง คือในการอธิบายขยายความหรือการให้รายละเอียดนั้นต้องถูกต้องตรงกันกับเรื่องหรือข้อธรรมที่นำมาเทศน์หรือที่ยกขึ้นมาเป็นอุเทศบท กล่าวคือทั้งหัวข้อและคำอธิบายต้องลงกันสมกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มิใช่ยกหัวข้อธรรมขึ้นตั้งไว้อย่างหนึ่ง แต่ไปอธิบายความข้อธรรมอีกอย่างหนึ่ง เช่นยกหัวข้อเทศน์ไว้ว่าขันติ แต่เวลาอธิบายกลับไปอธิบายเรื่องความพากเพียร ความพยายาม ซึ่งเป็นเรื่องของวิริยะ อย่างนี้เป็นผิดเรื่อง หรืออธิบายขยายความเลื่อนเปื้อนยืดยาวจนจับประเด็นหลักไม่ได้ว่าขันตินั้นเป็นอย่างไร จะมีขันติได้อย่างไร มีขันติแล้วได้ประโยชน์อย่างไร เป็นต้น อย่างนี้ท่านว่าเป็น “ธรรมกถึกย่านไทร”ในการเทศน์ทุกครั้ง

                 เมื่อยกธรรมข้อใดขึ้นไว้เป็นหลักหรือเป็นอุเทศบท ก็ต้องจับหลักนั้นไว้ให้มั่น อธิบายวนเวียนอยู่กับหลักนั้น แม้จะขยายความออกไปบ้างก็อย่าให้ไกลหลักมากนักพอให้เห็นประจักษ์ก็พอ แล้ววกกลับมาหาหลักใหม่ เหมือนการแต่งกระทู้ธรรม กล่าวคือข้อธรรมที่ตั้งไว้เป็นกระทู้หรือเป็นหลักนั้นเป็นแกนใหญ่ เวลาแต่งอธิบายความก็ต้องยึดธรรมอันเป็นกระทู้นั้นไว้ตลอด อธิบายวนเวียนอยู่กับกระทู้นั้น จนกระทั่งแจ่มแจ้งชัดเจนทุกแง่มุมจึงสรุปจบ ฉันใด การเทศน์ที่มีลักษณะเช่นนั้นความจริงการเทศน์นั้นก็คือการแต่งกระทู้นั่นเอง ถ้าเป็นการเทศน์ปฏิภาณหรือเทศน์ปากเปล่าก็เท่ากับแต่งกระทู้สดนั่นเองอนึ่ง ในบางงานเขากำหนดเรื่องให้เทศน์ เช่นเทศน์เรื่อง

                สังคายนา เทศน์เรื่องอานิสงส์กฐิน เทศน์เรื่องมฆมาณพ ผู้เทศน์ก็จำต้องเทศน์ไปตามเรื่องนั้น จับประเด็น ขยายประเด็นให้ชัดเจนแม้จะมีเรื่องอื่นเข้ามาแทรกในระหว่างเพื่อเพิ่มอรรถรส แต่ก็ต้องให้มีความสัมพันธ์กับเรื่องเดิมที่กำหนดไว้และต้องชักเข้าหาเรื่องเดิมนั้นทุกครั้งไป มิใช่อธิบายเรื่องแทรกออกไปเรื่อยๆ ปล่อยให้เรื่องเดิมค้างเติ่งอยู่อย่างนั้นเมื่อสามารถเทศน์อธิบายข้อธรรมได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ได้ประเด็นตรงกับข้อธรรมที่ยกขึ้นมาแสดง ไม่ลักลั่นผิดฝาผิดตัวทำให้ผู้ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ และเห็นชัดเจน อย่างนี้แหละที่เรียกว่า“ถูกเรื่อง” อันนำมาซึ่งความถูกต้องและความถูกใจได้ประการหนึ่งถูกหัวข้อนั้นคือถูกหัวข้อย่อยหรือประเด็นย่อยที่แยกแยะออกจากประเด็นใหญ่หรือข้อธรรมที่ต้องการเทศน์ เพราะตามปกติในอุเทศบทนั้นมักจะมีหัวข้อธรรมหลายหัวข้อให้อธิบาย หรือแม้จะมีเพียงหัวข้อเดียวแต่ผู้เทศน์ได้ตั้งประเด็นอธิบายไว้หลายประเด็นเมื่อเป็นดังนี้

                 ในการอธิบายขยายความให้รายละเอียดนั้นจำต้องเก็บหัวข้อธรรมที่มีหรือประเด็นที่ตั้งไว้ทั้งหมดมาอธิบายไปตามลำดับ โดยอธิบายให้ถูกต้องตรงกับหัวข้อนั้น และไม่นิยมตั้งประเด็นหรือตั้งหัวข้อย่อยซ้อนขึ้นมาขยายความเพิ่มเติมอีกโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องเพิ่มเพื่อความแจ่มแจ้งแห่งประเด็นหลักก็ไม่ควรให้มากนัก เพราะจะทำให้ต้องเสียเวลาอธิบายความประเด็นย่อยนั้นอีกยาว ซึ่งอาจทำให้เนื้อหรือปิดบังประเด็นหลัก ทำให้ประเด็นหลักไม่ชัดเจน แต่ไปชัดเจนที่ประเด็นย่อยก็ได้ ลักษณะนี้ท่านว่าเหมือน “ขี่ม้าเลียบค่าย” มัวแต่วนเวียนอยู่รอบๆค่ายข้าศึก ไม่เข้าโจมตีให้ตรงจุดสักทีในทางปฏิบัตินั้น การอธิบายประเด็นย่อยเป็นประเด็นรองเพื่อเสริมความให้ประเด็นหลักชัดเจนและเข้าใจง่ายก็เป็นที่นิยมกันอยู่ แต่ต้องตระหนักคำนึงตลอดเวลาว่าส่วนใหนเป็นประเด็นหลักส่วนใหนประเด็นย่อยหรือประเด็นรอง จะได้ไม่เผลอให้น้ำหนักอธิบายประเด็นรองจนลืมประเด็นหลักไป ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังสับสนได้ว่าผู้เทศน์กำลังอธิบายหัวข้อใดกันแน่ผู้เทศน์ที่สามารถประคองลำดับการอธิบายไปตามหัวข้อหรือประเด็นที่กำหนดไว้ได้ และสามารถอธิบายได้ชัดเจนทุกหัวข้อทุกประเด็น ไม่ติดค้าง ไม่เผลอลืมอธิบายบางหัวข้อบางประเด็นย่อมทำให้เทศน์กัณฑ์นั้นมีคุณค่า มีความสมบูรณ์ เป็นเทศน์ที่ถูกหัวข้อ นำมาซึ่งความถูกต้องและความถูกใจได้เช่นกัน

ถูกงาน นั้นคือเทศน์ถูกกับงาน โดยกำหนดเรื่องและอธิบายข้อธรรมให้ตรงกับงานที่จัดให้มีเทศน์ ให้สอดคล้องกับงานที่ไปเทศน์เช่นในงานศพ นิยมเทศน์เรื่องความตาย เรื่องความไม่ประมาทเรื่องชีวิต เรื่องความกตัญญู เรื่องความสามัคคี เป็นต้น ในงานทำบุญอายุ นิยมเทศน์เรื่องชีวิต เรื่องความไม่ประมาท เรื่องการทำบุญ เป็นต้น หรือในงานฉลองต่างๆ นิยมเทศน์เรื่องอานิสงส์การสร้างสิ่งที่ฉลองนั้น อย่างนี้เรียกว่าเทศน์ถูกงานในกรณีที่เจ้าภาพหรือเจ้าของงานกำหนดหัวข้อเรื่องไว้ให้แม้เรื่องจะไม่ตรงกับงานโดยตรง แต่เป็นความประสงค์ของเจ้าภาพ
อย่างนี้ย่อมเป็นความสะดวกแก่ผู้เทศน์ เพราะไม่ต้องคิดหัวข้อเรื่องที่จะเทศน์ เพียงแต่คิดหัวข้อธรรม เนื้อหาสาระอันเป็นประเด็นหลัก ตีความหัวข้อเรื่องให้แตกแล้วอธิบายขยายความไปตามหลักเกณฑ์แห่งการเทศน์เป็นพอ

                 แต่ในบางงานเขาไม่กำหนดเรื่องไว้ เป็นการให้โอกาสแก่ผู้เทศน์จะเห็นเหมาะสมว่าควรเทศน์เรื่องอะไร เช่นนี้ย่อมเป็นภาระของผู้เทศน์เองซึ่งจะต้องกำหนดเรื่องเพื่อให้ถูกกับงานหรือให้เหมาะสมกับงาน กรณีเช่นนี้เป็นการวัดความสามารถและความเป็นนักเทศน์ของผู้เทศน์ เป็นการทดสอบว่าผู้เทศน์มีประสบการณ์และความชำนาญเช่นไร ผู้เทศน์ที่มีประสบการณ์ระดับนักเทศน์จะสามารถกำหนดเรื่องเทศน์ได้เองอย่างเหมาะสมกับงาน ทั้งนี้เพราะเคยผ่านมาแล้วบ่อยครั้งจนชำนาญที่กำหนดและหาข้อธรรมมาอธิบายขยายความให้ตรงกับงานเช่นนั้นการกำหนดเรื่องเพื่อให้เหมาะสมกับงานก็ดี การอธิบายขยายความเพื่อให้ได้ประเด็นตรงกับงานก็ดีเป็นหัวใจของการเทศน์อีกประการหนึ่ง หากกำหนดได้เหมาะสม อธิบายได้ตรงประเด็น ก็จะทำให้เป็นที่ถูกใจเกิดปีติยินดีแก่เจ้าของงานและผู้ฟังด้วยได้สาระนำพาให้ผู้เทศน์เป็นที่ติดอกติดใจ นิยมชมชอบ มีผู้คอยติดตามฟังติดตามผลงานไม่งานขาดสาย ทำให้มีชื่อเสียงเลื่องลือและติดอันดับนักเทศน์ที่มีระดับดังนักเทศน์มีระดับทั่วไป

                 การที่จะเทศน์ให้ถูกงานได้นั้น ผู้เทศน์จะต้องขวนขวายไต่ถามรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับงานที่ไปเทศน์ เช่นเป็นงานมงคลหรืองานอวมงคล งานฉลอง งานทำบุญอายุ งานศพ หรือเป็นงานอะไร เจ้าภาพเป็นใคร ปรารภอะไรจึงมีเทศน์ เป็นต้น และหากจะรู้ไปถึงว่าเจ้าภาพต้องการฟังเทศน์เรื่องอะไรด้วยแล้วยิ่งเป็นการดีทั้งนี้เพื่อกำหนดเรื่องที่จะเทศน์และประเด็นที่จะอธิบายได้ถูกต้องและถูกใจเจ้าภาพหากไม่สนใจเกี่ยวกับงาน มุ่งแต่คิดว่าต้องการให้ธรรมะต้องการแสดงธรรมะ เมื่อเป็นธรรมะแล้วย่อมดีทั้งนั้นและดีทุกงานจึงกำหนดเรื่อง กำหนดหัวข้อประเด็นที่จะเทศน์ตามที่ตัวเองถนัดโดยไม่คำนึงว่าเป็นงานอะไร ผู้เทศน์เช่นนี้ แม้จะมีวาทะสำนวนเพราะหู มีลีลาน่าประทับใจ มีประเด็นธรรมน่าสนใจและ

ถูกต้อง แต่ก็จะไม่เป็นที่ถูกใจเจ้าภาพและผู้ฟังนัก เพราะบางครั้งแสดงผิดงานเหมือนลิเกหลงโรง เช่นเทศน์ในงานทำบุญอายุ มีความ
ปรารถนาดีต้องการเตือนใจเจ้าภาพมิให้ประมาทในชีวิต จึงกำหนดเทศน์เรื่องมรณกถาว่าด้วยความตาย พรรณนาถึงความตายพรรณนาถึงความไม่ประมาท ให้รีบเร่งทำความดีไว้ให้มากก่อนตายดังนี้เป็นต้น เช่นนี้ย่อมทำให้เจ้าภาพเกิดอาการใจฟุบมากกว่าใจฟูและลูกหลาน เจ้าภาพก็อาจพลอยใจเสียไปด้วย คิดเตลิดไปว่าพระมาแช่งให้พ่อแม่ของตนอายุสั้นหรือเทศน์เป็นลางร้ายก็เป็นได้ทั้งผู้รู้อาจค่อนขอดเอาได้ว่า เรื่องที่จะเทศน์ในงานเช่นนี้มีถมไป ไม่นำมาเทศน์ กลับนำเรื่องตายมาเทศน์ กลายเป็นติดลบไปเพราะเทศน์ไม่ถูกงานแท้ๆถูกบุคคล นั้นคือถูกชั้นของบุคคล เพราะคนฟังเทศน์นั้นมีหลายชั้นหลายระดับ มีพื้นความรู้ต่างกัน มีอัธยาศัยทางธรรมต่างกัน มีอาชีพต่างกัน มีเพศต่างกัน มีอายุต่างกัน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ ดังในสมัยพุทธกาล ท่านแบ่งบุคคลไว้เป็น ๔ ประเภท คือประเภทที่สามารถรู้ธรรมได้ฉับไวเมื่อฟังธรรมเพียงครั้งเดียว ๑ ประเภทที่สามารถรู้ธรรมได้ก็ต่อเมื่อได้รับการขยายความให้พิสดารออกไปอีกเล็กน้อย ๑ ประเภทที่ต้องฟังธรรมบ่อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ต้องให้รายละเอียดมากจึงรู้ธรรมได้ ๑ประเภทไม่สามารถรู้ธรรมได้ด้วยประการทั้งปวง จำได้เพียงบทสองบทเท่านั้น อย่างอื่นไม่อาจจำไม่อาจเข้าใจได้ ๑ แม้ผู้คนในปัจจุบันนี้ก็ยังเข้าข่ายอยู่ใน ๔ ประเภทนี้ประเภทใดประเภทหนึ่ง

                 เพราะบุคคลมีหลากหลายประเภทดังนี้ จึงจำต้องเลือกแสดงธรรมเพื่อให้เหมาะแก่บุคคลแต่ละประเภทซึ่งเรียกในยุคนี้ว่า“กลุ่มเป้าหมาย” แม้ว่าในที่ฟังธรรมนั้นจะมีบุคคลมากมายหลายระดับหลายชั้นก็จริง แต่ก็พอจะกำหนดกว้างๆ ได้ว่า เป็นชาวนาเป็นชาวสวน เป็นพ่อค้า เป็นข้าราชการ เป็นคนในเมือง เป็นคนในชนบท เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นชาย เป็นหญิง บุคคลเหล่านี้ย่อมมีอัธยาศัย มีความต้องการ มีความคิดเป็นต้นที่ต่างกันอยู่แต่ก็มีความเหมือนกันอยู่ในหลายๆอย่าง เช่นความต้องการรู้ธรรมะต้องการรู้วิธีการดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักธรรม ต้องการรู้ทางแก้ความทุกข์ที่ตนประสบอยู่ ต้องการรู้วิธีทำบุญ วิธีการทำความดี ต้องการรู้ประโยชน์หรืออานิสงส์แห่งการทำความดีนั้นๆ
เป็นต้น เมื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายกว้างๆได้อย่างนี้แล้ว

                ต่อไปก็กำหนดว่าจะแสดงธรรมเน้นไปที่กลุ่มไหน อาจจะมีจำนวนมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่คนกลุ่มนั้นจะได้รับโดยตรงเป็นสำคัญ แต่กลุ่มอื่นก็อาจได้ประโยชน์ด้วยเมื่อกำหนดแสดงธรรมมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเช่นนี้ ย่อมจะได้ผลดีกว่าการสุ่มแสดงหรือแสดงไปตามสบาย เพราะกลุ่มเป้าหมายจะได้รับประโยชน์โดยตรง แม้พระพุทธองค์ก็ทรงปฏิบัติเช่นนี้บ่อยครั้ง คือทรงแสดงธรรมมุ่งเฉพาะให้บุคคลนี้รู้และเข้าใจเพียงคนเดียว ทั้งที่ในที่นั้นมีผู้ฟังจำนวนมาก เพราะทรงทราบอัธยาศัยของผู้นั้นว่าเมื่อฟังธรรมเช่นนี้แล้วจะรู้ตามได้ที่เทศน์กันแล้วคนฟังไม่นำไปปฏิบัติกันหรือยังไม่เข้าถึงธรรมกันได้ อาจเป็นเพราะเทศน์ยังไม่ถูกบุคคลก็อาจเป็นได้

ถูกกาละ นั้นคือเทศน์ถูกกับเวลา เทศน์รักษาเวลา ใช้เวลาเทศน์เหมาะสม ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป เหมาะกับงานเช่นงานเผาศพซึ่งมีเวลาจำกัด ควรเทศน์แต่พอควร พอให้เขามีเวลาไปทำกิจอย่างอื่น หรือเทศน์อานิสงส์ตอนเช้าในงานซึ่งยังมีสวดมนต์ฉันเพลต่อ ก็ต้องรักษาเวลาให้พอเหมาะสำหรับจะสวดมนต์ได้เต็มสูตรก่อนเพลด้วย ดังนี้เป็นต้นเหมาะพอดีกับเวลา มีช่องให้เจ้าภาพหรือเจ้าของงานไปทำอย่าง
อื่นได้ย่อมเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่หากไม่รักษาเวลา เทศน์ไปตามใจชอบ แม้จะหวังดีต้องการอธิบายข้อธรรมให้แจ่มแจ้งชัดเจนซึ่งต้องใช้เวลา แม้จะเทศน์ได้เนื้อหาสาระดีไม่มีที่ติ แต่ก็ทำให้เกิดความอึดอัดแก่เจ้าภาพหรือเจ้าของงานได้ เพราะเขามีกิจที่จะต้องทำต่อไปอีก เมื่อเทศน์เกินเวลาไป ก็ไปกินเวลาของกิจอื่น ทำให้สะดุดไปเรื่อยๆ หรือแม้ว่าจะไม่มีงานอื่นต่อไปอีก ก็ควรเทศน์ให้พอเหมาะพอดีแก่เวลา พอให้ผู้ฟังยังสนใจที่จะฟังอยู่ แต่ถ้าเทศน์นานเกินไป ความสนใจก็จะหมดลงและเกิดความอึดอัดจึงหาทางออกด้วยการส่งเสียงคุยกันแข่งกับพระเทศน์ไป หรือไม่ก็ลุกออกจากที่นั้นไปเฉยๆ

ถูกเทสะ นั้นคือถูกสถานที่ เหมาะสมกับถิ่นหรือภูมิประเทศที่ไปเทศน์ เพราะคนฟังในแต่ละถิ่นมีภูมิปัญญา มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความสามารถที่จะเข้าใจข้อธรรมต่างกัน เช่นคนในตัวเมืองกับคนในชนบท คนในกรุงกับนอกนอกกรุง ย่อมเข้าใจภาษาพูด เข้าใจเรื่องและประเด็นความได้ต่างกัน เช่นคนที่อยู่ตามคอยตามเขากับคนที่อยู่ชายทะเล ย่อมมีความเข้าใจเรื่องบางอย่างต่างกัน พระเทศน์จำต้องคำนึงถึงถิ่นที่ที่ไปเทศน์เช่นนี้ด้วยประโยชน์ของการเทศน์ถูกเทสะ ย่อมทำให้บทเทศน์น่าสนใจและทำให้คนฟังเข้าใจง่ายด้วย เช่นเทศน์เรื่องความขยันหมั่นเพียรในการทำเกษตรกรรมแก่ชาวนาชาวสวน เขาย่อมเข้าใจได้ทันทีแต่หากไปเทศน์ให้ชาวประมงฟัง เขาย่อมไม่เข้าใจชัดเจนก็ได้
เพราะมิใช่อาชีพของเขาหากเทศน์โดยไม่ถูกเทสะ นอกจากจะไม่ได้ประโยชน์อะไรแก่ผู้ฟังแล้วยังอาจสร้างความไม่พอใจให้เขาก็ได้ เช่นไปเทศน์เรื่องปาณาติบาตว่าเป็นบาปเป็นกรรมไม่พึงกระทำในถิ่นที่มีชาวประมงอาศัยอยู่มากหรือในถิ่นที่เขาทำผ้าไหมกัน โดยไม่ขยายความให้ดี
ย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ฟังได้แนวปฏิบัติคือ จะไปเทศน์ที่ใด เทศน์ในวัด เทศน์ในบ้านเทศน์ในชนบท เทศน์ในเมือง จำต้องคิดวางแผนล่วงหน้าว่าจะเทศน์อย่างไรในที่นั้นๆ ตั้งแต่เรื่องที่จะเทศน์ สำนวนภาษาที่จะใช้ประเด็นที่จะอธิบาย รวมถึงตัวอย่างเป็นต้นที่จะนำมาเสริม เพื่อให้ตรงกับภูมิปัญญา ความคิด ประเพณีของแต่ละถิ่นแต่ละที่ซึ่งไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของการแสดงธรรม

ถูกเป้าหมาย นั้นคือถูกวัตถุประสงค์ของงานหรือของผู้เป็นเจ้าภาพ กล่าวคือในกรณีที่เจ้าภาพกำหนดเรื่องให้เทศน์ก็ตาม มิได้กำหนดไว้ก็ตาม นอกจากผู้เทศน์จะต้องขวนขวายหาข้อมูลรายละเอียดของงานแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงต่อไปคือเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของงานหรือของเจ้าภาพ เช่นเทศน์ในงานศพของบิดาซึ่งมีมารดาและบุตรธิดาเป็นเจ้าภาพ ผู้เทศน์กำหนดแต่เพียงว่าควรเทศน์เรื่องความตาย เรื่องความไม่ประมาทเป็นต้นอันเป็นเรื่องพื้นๆ แต่ที่ลึกจริงๆ เจ้าภาพใหญ่ในงานนั้นคือมารดาต้องการให้พระกล่าวถึงความกตัญญู ความสามัคคี
เพื่อแนะนำหรือเตือนสติบุตรธิดาของตนซึ่งขาดความกตัญญูและความสามัคคีกัน เป็นต้น เมื่อผู้เทศน์ผู้ฉลาดในการเทศน์สามารถนำประเด็นข้อธรรมลักษณะนี้มาเทศน์ด้วยลีลาและโวหารที่นุ่มนวลไม่ทำให้บุตรธิดาของเจ้าภาพเกิดความรู้สึกว่าถูกต่อว่าหรือถูกสั่งสอนบนธรรมาสน์ แต่เกิดความรู้สึกว่าเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่พวกตนปฏิบัติไม่ค่อยถูกต้อง และได้สติกันขึ้นมา เช่นนี้ชื่อว่าเทศน์ได้ถูกเป้าหมาย ย่อมเป็นที่ถูกใจของเจ้าภาพที่เดียวที่ถูกใจเพราะโดนใจหรือกระทบเข้าไปถึงใจของเจ้าภาพเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ลึกๆ เช่นนี้มิใช่จะรู้ได้ง่ายๆ และ
มิใช่จะเทศน์ได้ง่ายๆ ต้องอาศัยความฉลาดไหวพริบของผู้เทศน์ที่จะขวนขวายไต่ถามจากเจ้าภาพเองบ้าง จากคนใกล้เคียงเจ้าภาพบ้าง จากคนอื่นบ้าง แล้วขบคิดประเด็นสาระเพื่อกำหนดเรื่องและหัวข้อธรรมเพื่ออธิบายให้ตรงกับวัตถุประสงค์ ผู้เทศน์ที่สามารถกำหนดและเทศน์ได้ถึงระดับนี้นับได้ว่าเป็นนักเทศน์ชั้นครูแท้อย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นพระบรมศาสดานั้นก็เพราะทรงแสดงธรรมหรือทรงสั่งสอนธรรม“โดนใจ” ผู้ฟังนั่นเอง โดยทรงหยั่งรู้ว่าผู้นี้มีอุปนิสัย มีพื้นเพจิตใจมีความต้องการ และมีสติปัญญาตื้นลึกอย่างไร ก็ทรงแนะนำสั่งสอนไปตามนั้น ทำให้ผู้ฟังถูกใจและเกิดศรัทธาปสาทะแรงกล้า และหันมานับถือพระองค์ ยกย่องว่าทรงเป็นบรมครูของตนเมื่อผู้เทศน์ตระหนักและพิถีพิถันในการเทศน์ทุกครั้งทุกกัณฑ์โดยเทศน์ถูกเรื่อง ถูกหัวข้อ ถูกงาน เป็นต้นดังกล่าวมา ย่อมได้ชื่อว่าเทศน์ถูกต้องและถูกใจ เมื่อถูกต้องและถูกใจแล้ว ย่อมเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้รู้และผู้ฟังทั่วไป ย่อมนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติคุณมากมาย

หลักฐาน คืออะไร
                หลักฐาน คือ เครื่องแสดงประกอบเพื่อยืนยัน เพื่ออ้างอิงเพื่อใช้พิสูจน์ความถูกต้อง ในที่นี้หมายถึงแหล่งที่มาหรือพื้นเพเดิมของหลักธรรม ข้อธรรม และประเด็นความที่ถูกยกขึ้นมาอ้างมาอธิบายขยายความ ว่าหลักธรรมและประเด็นข้อนี้มาจากไหนมีปรากฏที่ไหน เป็นคำหรือเป็นข้อเขียนของผู้ใด เป็นต้น อีกอย่างหนึ่งหลักฐานอาจหมายถึงข้อธรรมหรือข้อความที่ถูกยกขึ้นมาเทศน์โดยตรงก็ได้ เพราะบางครั้งเมื่อพูดถึงหลักฐาน ผู้ฟังก็มักคิดไปถึงพระพุทธพจน์หรือคำหรือข้อเขียนผู้นั้นผู้นี้เลยทีเดียวเมื่อกล่าวดังนี้ หลักฐานย่อมมีความหมายเป็น ๒ นัยคือ หมายถึงแหล่งที่มาของหลักธรรมก็ได้ หมายถึงตัวหลักธรรมเองก็ได้ แต่ในที่นี้จักแสดงเฉพาะในความหมายแรก ส่วนความหมายที่ ๒ นั้นได้แสดงไว้แล้วในตอนที่ว่าด้วยหลักธรรมหลักฐานนั้นเป็นองค์ประกอบหลักของบทเทศน์หรือหลักธรรมที่นำมาแสดงอย่างหนึ่ง เพราะบทเทศน์ซึ่งมีหลักฐานแน่นอนและเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ ย่อมเป็นบทเทศน์ที่ทำให้เกิดศรัทธาน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดมั่นใจว่าถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยน และไม่เป็นอสัทธรรมคือเป็นของปลอมหรือเป็นข้อที่อ้างขึ้นมาลอยๆ อย่างเช่นกรณีจับใส่พระโอษฐ์ที่อ้างว่าเป็นพระพุทธดำรัส

                 แต่ข้อเท็จจริงพระพุทธเจ้ามิได้ตรัสเช่นนั้นไว้เลย ดังนี้เป็นต้นหลักธรรมที่ถูกนำมาเป็นหัวข้อเทศน์ก็ดี นำมาประกอบในการอธิบายขยายความตามประเด็นก็ดี นิยมอ้างหลักฐานที่มาด้วยว่าเป็นธรรมของใคร มีปรากฏอยู่ที่ไหน มิใช่เอ่ยหรืออ้างขึ้นมาลอยๆ จะกลายเป็นว่าแต่งเองหรือเป็นหลักธรรมเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือไป และหลักธรรมที่นิยมยกมาอ้างเป็นหลักฐานก็คือพระพุทธพจน์ที่เรียกว่า “พุทธภาษิต” รองลงมาคือ เถรภาษิต เถรภาษิต เทวดาภาษิต ซึ่งทั้งหมดรวมเรียกว่า “พุทธศาสนสุภาษิต”และทั้งหมดนี้จะมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ดังนั้นพระไตรปิฎกจึงถือว่ากันเป็นหลักฐาน เป็นหลักอ้างอิง เป็นแหล่งที่มาของหลักธรรมทั้งหมด และจัดว่าเป็นหลักฐานอ้างอิงระดับสำคัญคืออยู่ในระดับ “ปฐมภูมิ” ซึ่งเป็นหลักฐานสากล ใช้อ้างอิงกันทั่วไปแต่มิใช่มีเฉพาะข้อธรรมจากพระไตรปิฎกเท่านั้นที่นิยมนำมาเป็นหลักฐานอ้างอิง ยังมีข้อความที่นิยมนำมาอ้างอิงประกอบการอธิบายข้อธรรมอีกหลายประเภท เช่น อุปมา สาธกคืออุทาหรณ์หรือตัวอย่าง คำสุภาษิต คำคม คำพังเพย คำประพันธ์ ข้อความเหล่านี้ก็มีหลักฐานที่มาที่ไปเช่นเดียวกับหลักธรรม ทั้งข้อความที่เป็นคำคม คำพังเพย คำประพันธ์

                  บางข้อบางคำเป็นที่นิยมติดปากถูกนำมาพูดมาเขียนหรือนำมาอ้างอิงประกอบกันเสมอๆ เพราะเหมาะสมและทำให้เห็นจริงเห็นจังในเนื้อหาถึงแม้ว่าข้อความที่เป็นอุปมา สาธก คำสุภาษิต คำคมคำพังเพย คำประพันธ์เหล่านี้จะมีหลักฐานที่มาที่ไปและสามารถนำมาเป็นข้ออ้างอิงได้ก็จริง แต่ก็ไม่ควรให้น้ำหนักหรือยกมาเป็นหลักในการอธิบายข้อธรรม หลักฐานอ้างอิงเหล่านี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบ เป็นหลักฐานรอง มิใช่หลักฐานหลัก และการเทศน์นั้นเป็นการแสดงธรรม มิใช่เป็นการแสดงคำภาษิตหรือคำพังเพยข้อสำคัญคือ หลักฐานรองเหล่านี้ย่อมไม่มีน้ำหนักในตัวเองเพราะอาจยังมีข้อให้โต้แย้งเพราะยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนบ้าง ขาดผู้กล่าวหรือผู้แต่งไว้บ้าง เป็นแต่เพียงรู้กันว่าเป็นคำเก่า คำโบราณหรือเป็นของเก่าเท่านั้น ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือไปได้เหมือนกันหรือหากจะมีตัวตนผู้กล่าวหรือผู้แต่งไว้ แต่ผู้นั้นเองเป็นผู้ที่ผู้คนทั่วไปไม่นิยมยกย่องหรือไม่มีผู้คนรู้จักเป็นต้น ก็ทำให้น้ำหนักของหลักฐานเช่นนั้นด้อยลงไป

                 แต่ก็มีคำสุภาษิต คำคม คำพังเพย คำประพันธ์ไม่น้อยที่เป็นที่ยอมรับกันว่าจริง ถูกต้อง ตรงกับหลักธรรม แม้จะไม่ปรากฏคนกล่าวหรือคนแต่ง ที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ และแม้จะเป็นหลักฐานไม่ได้ถึงขั้นพุทธศาสนสุภาษิต ก็ยังนิยมนำมาอ้างอิงโดยเป็นหลักฐานรองกันสำหรับคำอุปมาและสาธกคือตัวอย่างนั้นเป็นองค์ประกอบแห่งบทเทศน์ที่ดีเยี่ยม เพียงแต่ให้นำมาเสริมให้เหมาะสมและตรงกับเรื่องที่กำลังอธิบาย ให้เข้ากันให้ลงกันเป็นเนื้อเดียวกันเท่านั้นเป็นใช้ได้เลยเพื่อให้บทเทศน์มีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์จึงนิยมนำพุทธศาสนสุภาษิตที่เป็นพุทธพจน์มาเป็นหลักในการเทศน์ โดยยกขึ้นเป็นหัวข้อหรือนิกเขปบทแห่งบทเทศน์กัน รองลงมือคือพุทธศาสนสุภาษิตที่เหลือ สำหรับคำสุภาษิต คำคม คำพังเพย คำประพันธ์นั้นนิยมนำมาเป็นองค์ประกอบ ไม่นิยมนำมาเป็นนิกเขปบท จึงถือว่าเป็นหลักฐานรอง อันเป็นเครื่องประดับทำให้บทเทศน์มีความชัดเจนขึ้น มองเห็นได้ง่าย รู้ตามได้ง่าย และมีความสมบูรณ์ขึ้นด้วยว่าลำพังจะอธิบายข้อธรรมให้กระจ่างชัดด้วยเนื้อหาสาระล้วนนั้นย่อมทำให้ยาก ผู้ฟังก็เข้าใจได้ยาก หากมีเครื่องประดับคือคำคมคำพังเพยเป็นต้นซึ่งผู้คนทั่วไปเข้าใจชัดเจนกันอยู่แล้วมาเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งก็จะเป็นเครื่องช่วยให้ผู้ฟังรู้ตามเห็นตามได้เร็วขึ้น

                 ประเด็นหลักในเรื่องหลักฐานนี้ก็คือ เมื่อจะยกธรรมข้อใดจะอธิบายประเด็นสำคัญอะไร จะต้องมีหลักฐานแหล่งที่มาที่ชัดเจนแน่ใจว่าถูกต้อง และสามารถนำไปสู่การค้นหาหรือพิสูจน์ได้จริงมิใช่เพียงอ้างตามกันมาลอยๆ ประเภทจับใส่พระโอษฐ์ดังกล่าวทั้งนี้ก็เกิดจากการที่ผู้เทศน์มีความรอบคอบ พิถีพิถัน ศึกษาค้นคว้าถึงหลักฐานที่มาที่ไปด้วยตนเอง หาไม่แล้วจะทำให้อ้างหลักฐานผิดพลาดได้ อย่างเช่นอ้างภาษิตที่เป็นบาลีบางบทซึ่งเป็นธรรมภาษิตว่าเป็นพุทธภาษิต หรือบางครั้งก็อ้างหน้าตาเฉยว่า “สมด้วยพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า...”ทั้งนี้เพราะเข้าใจผิดหรือเพราะมิได้ตรวจสอบดูให้ถ่องแท้เห็นว่าเป็นคำบาลีก็นึกว่าเป็นพุทธพจน์ไปทั้งหมด เช่นนี้แม้จะเป็นความเข้าใจผิด เมื่ออ้างเข้าก็จัดเป็นผิดและจัดเป็นการจับใส่พระโอษฐ์ทั้งสิ้นบทบาลีที่นิยมอ้างกันว่าเป็นพระพุทธพจน์ ทั้งที่มิใช่ด้วยประการทั้งปวงนั้น ได้แก่บทบาลเหล่านี้คือ

- นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา
ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี


-สพฺเพสํ สงฺฆภูตานํ สามคฺคี วุฑฺฒิสาธิกา
ความสามัคคีของหมู่ทั้งหมด ยังความเจริญให้สำเร็จ


-โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา
เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก


-รกฺเขยฺย อตฺตโน สาธุํ ลวณํ โลณตํ ยถา
พึงรักษาความดีของตนไว้ดังเกลือรักษาความเค็ม


-กาลานุรูปํ ว ธุรํ นิยุญฺเช
พึงประกอบธุรกิจให้เหมาะสมแก่กาลทีเดียว


- ขนฺติ หิตสุขาวหา
ความอดทนนำมาซึ่งประโยชน์สุข


-มตฺตญฺญุตา สทา สาธุ
ความรู้จักประมาณยังประโยชน์ให้สำเร็จทุกเมื่อ


               ข้อเท็จจริงบทบาลเหล่านี้มิใช่พระพุทธพจน์ แต่เป็นภาษิตของพระมหาเถระผู้เป็นปราชญ์ของไทยสมัยรัตนโกสินทร์บ้างปรากฏอยู่ในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงบ้าง ซึ่งท่านนำมาพิมพ์ไว้รวมกับพุทธภาษิต เถรภาษิต เป็นต้นในหนังสือ “พุทธศาสนสุภาษิต”แต่บอกหลักฐานที่มากำกับไว้แล้ว หากไม่สังเกตหรือไม่ละเอียดจึงอาจเข้าใจผิดว่าเป็นพระพุทธพจน์ไปได้ ดังนั้นเมื่อจะนำบทบาประเภทนี้มาอ้างเป็นหลักฐานในการเทศน์นิยมอ้างว่าเป็น “ธรรมภาษิต” หากจะระบุให้ชัดเจนลงไปว่าเป็นธรรมภาษิตของท่านผู้นั้นผู้นี้ก็ชอบด้วยประการทั้งปวงเมื่ออ้างหลักฐานถูกต้อง ข้อธรรมที่ดี คำเทศน์ก็ดี ย่อมมีน้ำหนักที่เชื่อถือได้ และไม่เป็นที่ตำหนิดแคลนของผู้รู้ หากอ้างไม่ถูกต้อง นอกจากข้อธรรมและคำเทศน์จะขาดน้ำหนักแล้ว ยังจะเป็นที่ตำหนิและดูแคลนของผู้รู้ได้ ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือไปอย่างน่าเสียดายอย่างไม่ควรเป็นการบอกที่มาที่ไปของข้อธรรมและคำเทศน์ซึ่งเรียกว่าหลักฐานนั้นมีความสำคัญอย่างนี้ แต่ก็ต้องเป็นหลักฐานที่ถูกต้องและอ้างอิงได้ ทั้งมีน้ำหนัก มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะที่นิยมกันก็คือพระพุทธพจน์และภาษิตของพระอริยสาวกทั้งหลาย

หลักวิชา คืออะไร
               หลักวิชา คือ วิชาการเทศน์ที่เป็นหลักและเป็นระบบ ซึ่งได้แก่ความรู้เรื่องการเทศน์ กระบวนการเทศน์อย่างถูกต้อง รายละเอียดที่เกี่ยวกับการเทศน์ การถ่ายทอดหลักธรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีขั้นมีตอนสำหรับปฏิบัติ เป็นวิชาการ สามารถใช้ได้และเป็นหลักที่ท่านถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณอันหลักวิชาการเทศน์นั้นเป็นหัวใจของการเทศน์อย่างหนึ่งทีเดียว เพราะเป็นกระบวนการที่นำหลักธรรมออกมาอธิบายขยายความได้ชัดเจน แจ่มแจ้ง สามารถเข้าใจ เข้าถึง และเห็นแจ้งตามได้ ผู้เทศน์แม้จะชำนาญในหลักเทศน์ ฉลาดในหลักธรรมและอ้างหลักฐานได้ถูกต้อง แต่ขาดหลักวิชา โดยไม่สนใจกระบวนการเทศน์ อธิบายความไปตามใจชอบ จับประเด็นไม่ถูกตรงประเด็นบ้างไม่ตรงบ้าง ได้เนื้อหาสาระบ้างไม่ได้บ้าง ตลอดจนถึงใช้สำนวนภาษาไม่ถูกต้อง เมื่อเป็นดังนี้ การเทศน์นั้นก็จะไม่ได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ผู้ฟังไม่อาจเข้าใจเนื้อหาสาระได้ย่อมไม่ได้ปัญญาความรู้อะไรจากการฟัง จึงมีแต่ข้อเสีย ไม่มีข้อดีอะไรเลยหากการเทศน์นั้นปราศจากหลักวิชาเรื่องของหลักวิชาการเทศน์มีข้อปลีกย่อยรายละเอียดมากแต่ก็มีประเด็นที่น่าทำความเข้าใจอยู่หลายประเด็น ซึ่งได้แก่ประเด็นเหล่านี้คือ
- การตีความหลักธรรม
- การอธิบายความหลักธรรม
- ภาษาที่ใช้ในการเทศน์
- สำนวนที่ใช้ในการเทศน์
จักได้แสดงหลักวิชาตามประเด็นเหล่านี้ไปตามลำดับ

การตีความหลักธรรม

การตีความหลักธรรม คือ การชี้หรือกำหนดความหมาการให้ความหมายหลักธรรมที่ยกขึ้นมาเป็นหัวข้อหรือเรื่องที่จะเทศน์ ด้วยการแยกแยะประเด็นสำคัญสำหรับอธิบายขยายความต่อไปด้วยเหตุผลที่ว่าหลักธรรมที่ยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเรื่องที่จะเทศน์ซึ่งเป็นพระพุทธพจน์บ้าง เป็นภาษิตของพระอริยสาวกบ้างนั้นเป็นภาษามคธหรือภาษาบาลี จึงนอกจากสำนวนโวหารจะเก่าแก่ผ่านกาลเวลามานับพันปีแล้ว ประเด็นความยังลึกซึ้งยากแก่การทำความเข้าใจและยากแก่การศึกษาเรียนรู้ตาม การตีความเท่านั้นจึงจะช่วยให้สามารถเข้าใจและเรียนรู้หลักธรรมเหล่านั้นได้ แม้ว่าอาจจะรู้ไม่ลึกถึงเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของพระบาลีหรือบาลีข้อนั้นๆก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าการปล่อยไปเลยตามเลยทั้งที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่รู้เรื่องเมื่อได้อ่านหรือได้ฟังหลักธรรมข้อนั้นๆ เหมือนอย่างที่แล้วๆมาการตีความหลักธรรมจึงมีความสำคัญยิ่งยวดโดยเฉพาะในเรื่องการเทศน์ เพราะวัตถุประสงค์หลักของการเทศน์ก็คือการยกหลักธรรมขึ้นมาเพื่ออธิบายขยายความให้ผู้ฟังรู้แจ้งเห็นจริงและนำไปปฏิบัติให้ได้ผลจริง การอธิบายขยายความนั้นแหละที่ต้องอาศัยการตีความซึ่งได้กำหนดกรอบหรือประเด็นความหมายแห่งหลักธรรมข้อนั้นๆไว้เป็นเบื้องต้นแล้ว หากอธิบายขยายความข้อธรรมโดยขาดการตีความก่อน ก็จะอธิบายไปแบบอัตโนมัติ ว่าไปตามใจชอบหรือที่คิดว่าจะเป็น ขาดความรอบคอบถี่ถ้วน และเสี่ยงที่จะผิดพลาดไม่ตรงประเด็นโดยง่ายการตีความเป็นหลักวิชา เป็นวิชาการ เป็นเทคนิค เป็นเรื่องของความรอบคอบถี่ถ้วน พินิจด้วยสติปัญญา พื้นความรู้ประสบการณ์ หากไม่มีเทคนิคและพื้นความรู้เป็นต้นก็จะไม่อาจตีความได้ถูกต้องและครบถ้วน ยิ่งเป็นการตีความหลักธรรมด้วยแล้วยิ่งต้องอาศัยหลักวิชาชั้นสูงทีเดียว มิเช่นนั้นจะไม่อาจตีความข้อธรรมได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้านได้เลยเหตุผลหลักที่ต้องตีความหลักธรรมก็คือ


(๑) เพื่อให้เข้าถึงประเด็นสำคัญที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นสาระของเรื่องหรือข้อธรรม ซึ่งจัดเป็นเหตุผลหลักของการตีความทั่วไป


(๒) เพื่อเข้าใจตรงกันและป้องกันความขัดแย้งหรือวิวาทะอันอาจเกิดขึ้น กล่าวคือในบางกรณีเรื่องหรือข้อธรรมเดียวกันอาจก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้นได้ จึงมีการตีความหรืออธิบายขยายความไว้เป็นบรรทัดฐานเพื่อความเข้าใจไปในแนวเดียวกันในเรื่องหรือข้อธรรมนั้นๆ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลามาตีความด้วยตัวเอง ซึ่งอาจตีความผิดพลาดไปก็ได้ และเมื่อมีการอธิบายความเป็นบรรทัดฐานไว้ล่วงหน้าแล้ว ก็เท่ากับมีกำแพงป้องกันความขัดแย้งหรือวิวาทะอันอาจเกิดขึ้นได้จากการตีความที่เป็นแบบอัตโนมัติ


(๓) เพื่อขจัดความขัดแย้งหรือวิวาทะที่เกิดขึ้น กล่าวคือในการอธิบายขยายความเรื่องหรือข้อธรรมบางประการของผู้รู้ทั้งหลายอาจตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ต่างแนวกันบ้าง ตามแต่ภูมิปัญญาและภูมิธรรมแห่งตน ทำให้เกิดข้อขัดแย้งหรือลุกลามถึงวิวาทะโต้ตอบกันไปมา โดยต่างก็ยืนยันว่าของตนถูกต้อง กระบวนการตีความย่อมมีบทบาทสำคัญที่จะหาข้อยุติในเรื่องนี้เหมือนในทางโลก ผลแห่งการตีความที่ประจักษ์ชัดเจน เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ผู้คงแก่เรียนหรือในหมู่นักปฏิบัติทั้งหลายย่อมเป็นเครื่องตัดสินชี้ขาด ช่วยขจัดข้อขัดแย้งและวิวาทะทั้งหลายในกรณีนั้นให้ยุติหมดสิ้นไปได้


(๔) เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม กล่าวคือการตีความนั้นมิใช่มุ่งเพื่อให้เข้าถึงประเด็นสำคัญของเรื่องหรือข้อธรรมในเชิงวิชาการหรือในเชิงปริยัติเท่านั้น หากในบางเรื่องในบางข้อธรรมจำเป็นต้องมีการอธิบายขยายความอย่างละเอียดแสดงวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามแนวตามขั้นตอนได้จริงและเห็นผลจริงในชีวิตประจำวัน

                 อาจกล่าวสรุปได้ว่าการตีความนั้นเป็นทั้งศาสตร์และเป็นทั้งศิลป์ ที่ว่า การตีความเป็นศาสตร์ นั้นเพราะเรื่องนี้เป็นระบบวิชาความรู้ มีระเบียบวิธีเกี่ยวกับการรวบรวมความรู้และรายละเอียดต่างๆ ซึ่งมีลักษณะซับซ้อนให้เข้าลำดับประสานกันเป็นอันเดียวตามหลักเหตุผลทางวิชาการ และที่ว่า การตีความเป็นศิลป์ นั้นเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของฝีมือ เป็นเรื่องของความรู้ความฉลาดเป็นเรื่องของการแสดงออกให้ปรากฏประจักษ์ชัดเป็นรูปธรรม จนสามารถโน้มน้าวใจผู้อื่นให้ชื่นชมยินดี ยอมรับ และคล้อยตามจนคิดจะนำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันของตนวิธีการตีความหลักธรรมโดยละเอียดนั้นได้แสดงไว้แล้วในหนังสือ “การตีความพุทธศาสนสุภาษิต” ผู้สนใจจึงค้นคว้าได้จากหนังสือเล่มนั้น จักเข้าใจเรื่องการตีความได้อย่างแจ่มแจ้งและสามารถตีความได้ด้วยตนเองการตีความจึงถือว่าเป็นหลักวิชาการเทศน์ประการหนึ่ง

การอธิบายความหลักธรรม
                 ขั้นตอนแห่งการเทศน์ต่อจากการตีความก็คือการอธิบายความหลักธรรมตามที่ได้ตีความไว้แล้ว กล่าวคือการตีความเป็นการกำหนดความหมาย ประเด็นสาระของข้อธรรมที่ต้องการเทศน์เมื่อกำหนดความหมายและประเด็นไว้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคืออธิบายขยายความความหมายและประเด็นเหล่านั้นไปตามลำดับ ให้เชื่อมประสานรับกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดประเด็นในการเทศน์แต่ละกัณฑ์ท่านกำหนดความนิยมไว้ว่า บทเทศน์นั้นจะต้องประกอบด้วยส่วนอันเป็นหลักใหญ่ๆ ๓ ส่วน คือ
 

(๑) อุเทศ คือส่วนที่เป็นเบื้องต้น ได้แก่นิกเขปบท บทบาลีที่ยกขึ้นมาเพื่อขยายความ ข้อความที่เกริ่นนำ ตลอดไปถึงอารัมภกถา
การกำหนดความหมายและแยกแยะประเด็นสาระซึ่งเป็นส่วนของการตีความเบื้องต้น

 

(๒) นิเทศ คือส่วนที่อธิบายขยายความบทบาลีที่มีความไว้แล้วในส่วนอุเทศ โดยแยกเป็นหัวข้อ เป็นประเภท แสดงเหตุผลรองรับ มีอุปมา มีสาธกยกมาเป็นอุทาหรณ์ เป็นต้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ทำให้เกิดความแจ่มแจ้งชัดเจนในข้อธรรม รายละเอียดแห่งเนื้อหาและสาระแห่งธรรมที่เป็นนิกเขปบทที่ดี ลีลา โวหารและสำนวนภาษาที่ดี ย่อมปรากฏอยู่ในส่วนนี้
 

(๓) ปฏินิเทศ คือส่วนที่เก็บประเด็นสาระแห่งธรรมที่นิเทศหรืออธิบายมานั้นสรุปให้สั้น กะทัดรัด ให้เข้าใจและจดจำได้ง่ายให้สามารถนำไปปฏิบัติตามได้บทเทศน์ที่มีส่วนอันเป็นองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง ๓ ประการนี้ จัดเป็นบทเทศน์ที่สมบูรณ์ งดงาม น่าฟัง เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา
ปสาทะ บทเทศน์หรือพระพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ได้รับการยกย่องจากผู้ฟังทั่วไปในยุคนั้น โดยที่สุดแม้จากนักบวชต่างศาสนาว่างาม
ในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ถึงพร้อมด้วยอรรถะและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงนั้น ก็เพราะสมบูรณ์ด้วยองค์

 

ประกอบหลักเหล่านี้เอง คือ
- งามในเบื้องต้น ด้วยอุเทศ
- งามในท่ามกลาง ด้วยนิเทศ
- งามในที่สุด ด้วยปฏินิเทศ

 

การอธิบายความหลักธรรมนั้นอยู่ในขั้นตอนของนิเทศ ซึ่งในการอธิบายนั้นจำต้องอาศัยหลักแห่งการตีความอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากการกำหนดความหมายเบื้องต้น กล่าวคือในการอธิบายขยายความข้อธรรมนั้นควรให้อยู่ในกรอบหรือประเด็นหลัก ๖ ประการคือ
 

(๑) อัสสาทะ คือแสดงข้อดี ด้านดี คุณลักษณะ ส่วนที่เป็นคุณคือสุขโสมนัสของข้อธรรมนั้นที่ยกขึ้นแสดง เช่น เทศน์เรื่องศีล ก็แสดงความหมายของศีล แสดงลักษณะของศีลแยกแยะศีลให้เห็นชัด แสดงถึงประโยชน์ของศีล
 

(๒) อาทีนวะ คือแสดงข้อเสีย ด้านเสีย ส่วนที่เป็นโทษคือทุกข์โทมนัสของข้อธรรมที่ยกขึ้นแสดง เช่น เทศน์เรื่องบาป ก็แสดงความหมายของบาป ลักษณะของบาป แยกแยะบาป โทษของบาป
 

(๓) นิสสรณะ แสดงข้อธรรมที่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์หรือธรรมที่หลุดพ้นจากอัสสาทะและอาทีนวะแล้ว ซึ่งได้แก่อริยมรรคและนิพพาน
 

(๔) ผละ คือแสดงอานิสงส์ ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติตามข้อธรรมที่กำลังแสดง ซึ่งเป็นอานิสงส์ที่พึงได้ทั้งในปัจจุบันและในภพชาติต่อๆไป เช่น เทศน์เรื่องศีล ก็แสดงถึงอานิสงส์ของการรักษาศีลให้ชัดเจน
 

(๕) อุปายะ คือแสดงวิธีหรือแนวปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิสสรณะหรือผละ เช่นเทศน์เรื่องศีล ก็แสดงวิธีรักษาศีล วิธีปฏิบัติตนในขณะที่รักษาศีล
 

(๖) อาณัตติ คือแนะนำ ชักชวน โน้มน้าวใจให้คล้อยตามตลอดถึงตักเตือน ให้สติสำนึก เพื่อให้ได้รับประโยชน์คือนิสสรณะหรือผละตามควร

                การนิเทศหรือการอธิบายหลักธรรมที่จะนับได้ว่าบริบูรณ์นั้นต้องอยู่ในกรอบหรือประเด็น ๖ ประการนี้ เพราะทั้งหมดนี้เป็นกรอบที่ท่านวางเป็นหลักไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีชื่อเรียกในตำราว่า “เทสนาหาระ” คือหลักการหรือวิธีการอธิบายขยายความเทศนาหรือพระพุทธพจน์ เพื่อกำจัดความไม่รู้ ความสงสัย ความเข้าใจผิดในเทศนานั้น โดยวิธีแยกแยะอธิบายทั้งโดยพยัญชนะคือตามอักษรศัพท์ที่ปรากฏและโดยอรรถคือชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาสาระสำคัญของเทศนานั้นโดยภาพรวมทั้งหมดวิธีการตีความตามกรอบ ๖ ประการนี้ได้อธิบายไว้แล้วใน“การตีความพุทธศาสนสุภาษิต” เช่นเดียวกัน จึงขอแสดงไว้ในที่นี้พอเห็นทาง

ภาษาที่ใช้ในการเทศน์
              เนื่องด้วยการเทศน์เป็นการถ่ายทอดหลักธรรมไปสู่ผู้ฟัง โดยต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดคือภาษา การที่จะให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจข้อธรรมที่แสดงอย่างถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์ของการฟังก็อยู่ที่วิธีการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นภาษาร่วมสมัย เป็นที่เข้าใจได้ไม่ยาก ทั้งประกอบด้วยลักษณะสำคัญ ๒ ประการคือ ได้ความ กับ ได้คำที่ว่า ได้ความ นั้นตรงกับภาษาพระว่า สาตฺถํ คือเป็นภาษาที่ได้ความหมายตรงประเด็น ตรงกับเรื่อง ได้ความสมบูรณ์สามารถสื่อสารให้รู้และเข้าใจเรื่องได้ที่ว่า ได้คำ นั้นตรงกับภาษาพระว่า สพฺยญชนํ คือเป็นภาษาที่ดี มีลักษณะเป็นคำที่ไม่มีโทษ เป็นภาษาไพเราะเสนาะหูสละสลวย เป็นภาษาที่ชาวเมืองใช้พูดกันดังนั้น ภาษาที่ใช้ในการเทศน์จึงต้องเป็นภาษาพิเศษ และต้องใช้ภาษาที่พิเศษไปกว่าภาษาที่ใช้สื่อสารหรือถ่ายทอดเนื้อความกันตามปกติ ทั้งนี้เพราะภาษาเทศน์มิใช่เพียงสื่อสารให้รู้และเข้าใจได้เท่านั้น หากต้องไพเราะ สละสลวย มีศิลปะ ดึงดูดหูให้น่าฟังและดึงดูดใจให้น่าเชื่อถือด้วย

               ด้วยเหตุนี้ การใช้ภาษาไทยได้ดีและถูกต้องในการเทศน์ย่อมเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใช้ภาษาได้ดีและถูกต้องก็สามารถถ่ายทอดข้อธรรมและสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน ตรงตามที่ประสงค์แต่การใช้ภาษานั้นเป็นเรื่องของหลักวิชา มีกฎมีเกณฑ์การใช้อยู่ การศึกษาเรื่องการใช้ภาษาในการเทศน์จึงเป็นความจำเป็นมิเช่นนั้นจะไม่อาจถ่ายทอดข้อธรรมได้ตรงประเด็นเพราะใช้ภาษาผิดไป ในเรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ มีนักเทศน์ไม่น้อยที่มีความรู้ทางธรรมดี มีวุฒิทางธรรมสูง ทั้งเข้าใจข้อธรรมได้อย่างลึกซึ้งแต่เมื่อถึงคราวเทศน์กลับไม่สามารถถ่ายทอดหรือสื่อสารความรู้ความเข้าใจของตนนั้นออกให้เป็นที่เข้าใจของผู้ฟังได้ ทั้งนี้เพราะไม่ฉลาดในการใช้ภาษา ใช้ภาษาไม่ค่อยถูก ใช้คำใช้ประโยคไม่ชัดเจนปะติดปะต่อใจความไม่ค่อยได้ นัยตรงกันข้าม มีนักเทศน์ส่วนหนึ่งที่ความรู้ทางธรรมไม่สูงนัก แต่ฉลาดในการใช้ภาษาในการถ่ายทอดใช้ภาษาสละสลวย ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เรียงลำดับใจความเชื่อมต่อกันได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง มีสำนวนโวหารดี จึงเป็นที่นิยมยกย่องของคนฟังทั่วไปหลักการใช้ภาษาในการเทศน์นั้นมีรายละเอียดมาก แต่พอสรุปได้ดังนี้


(๑) ใช้ภาษาที่ดี เว้นภาษาที่ไม่ดี คือใช้ภาษาที่เป็นวาจาสุภาษิต เป็นภาษาที่ไม่มีโทษ เป็นภาษาที่ฟังแล้วสบายหู ได้อารมณ์สร้างสรรค์ เว้นใช้ภาษาที่เป็นถ้อยคำชั้นต่ำ คำหยาบคาย คำด่าคำรุนแรง เป็นคำตลาด หยาบโลน ไม่ใช่คำของผู้ดี และหลีกเลี่ยงคำที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์


(๒) ใช้ภาษาเขียน ไม่ใช้ภาษาพูด คือใช้คำที่สุภาพ เป็นภาษาเขียน หลีกเลี่ยงคำที่เป็นภาษาพูด แม้ว่าจะสามารถสื่อได้ดีกว่าภาษาเขียนและคนชอบฟังมากกว่า แต่เมื่อเป็นคำที่ไม่สุภาพไม่เหมาะสม ไม่อาจใช้ในการแสดงธรรมได้ ก็จำต้องเว้นเสีย

(๓) ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษาที่เข้าใจยาก คือคำที่ใช้ในการเทศน์อธิบายธรรมนั้นต้องง่ายต่อการเข้าใจ ต้องให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่อได้ฟัง ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีก โดยเว้นคำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการ เป็นภาษาเฉพาะ เป็นต้น ยกเว้นคำที่เป็นสุภาษิต คำพังเพย หรือคำคม ที่ได้ยินได้อ่านกันอยู่บ่อยๆจนเป็นที่รู้กันส่วนใหญ่แล้วว่าหมายถึงอะไร คำเหล่านี้ย่อมนำมาประกอบในการเทศน์ได้

(๔) ใช้สำนวนภาษาและประโยคที่กระชับ คือในการอธิบายขยายความข้อธรรม ต้องใช้สำนวนถ้อยคำและข้อความประโยคที่กระชับ ไม่ยาวเกินไป ไม่วกวนสับสนจนจับความไม่ทันหรือจับประเด็นไม่ได้ทันที ตัดถ้อยคำที่ไม่จำเป็นหรือทำให้เยิ่นเย้อออกเสียเหลือไว้เฉพาะที่พอสื่อให้รู้ได้ชัดเจนก็พอ

(๕) เลือกใช้คำร่วมสมัยให้เหมาะสม คือในปัจจุบันมีคำหรือศัพท์เกิดขึ้นเรื่อยๆในภาษาไทย ถือว่าเป็นภาษาสมัยใหม่ เป็นที่นิยมใช้กันใแวดวงวิชาการ วงการสื่อ แต่ยังเป็นคำที่อยู่ในวงจำกัด คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึง หรือยังเป็นที่เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป เช่นคำว่า โลกทัศน์ วิสัยทัศน์ บริบท กายภาพ จิตวิญญาณ ข้อมูล นวัตกรรม บูรณาการ ปฐมบท องค์ความรู้เป็นคำที่นิยมพูดนิยมเขียนกันจนดูเหมือนว่าเป็นคำที่รู้กันดีแล้วแต่โดยข้อเท็จจริง ยังมีคนจำนวนมากโดยเฉพาะชาวบ้านที่มิใช่นักวิชาการและไม่ชอบอ่านหนังสือยังเข้าไม่ถึงความหมายแท้จริงของคำเหล่านี้กัน ดังนั้นในการเทศน์ทั่วไปจึงยังไม่นิยมใช้คำเหล่านี้ในบทเทศน์ แต่ถ้าต้องการใช้ด้วยเห็นว่าจะทำให้บทเทศน์เด่นขึ้นตรงประเด็นขึ้น ก็จึงเลือกใช้ให้เหมาะสมทั้งแก่บุคคล หัวข้อเรื่องและสถานการณ์

(๖) หลีกเลี่ยงคำเฉพาะ คือพยายามไม่ใช้คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการที่เป็นภาษาเฉพาะ โดยเฉพาะที่เป็นภาษาบาลี ยกเว้นคำที่เป็นชื่อธรรมะหรือเป็นหัวข้อธรรมะ เพราะคำเช่นนั้นไม่คุ้นหูหรือไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับผู้คนทั่วไป แต่ผู้เทศน์ที่ชำนาญช่ำชองจะหลีกเลี่ยงคำเหล่านี้เสีย หากเมื่อต้องการสื่อให้เข้าใจเนื้อหาสาระทำนองนั้น ก็จะใช้คำแปลหรือคำขยายความมาแสดงเลยทีเดียวทำให้เข้าใจง่าย ฟังไม่เบื่อ และเกิดความรู้สึกว่าธรรมะไม่ใช่ยาขมไม่ใช่ของยากจนไม่อาจกลืนลงได้ เมื่อฟังเมื่ออ่านต่อไปเรื่อยๆไม่สะดุดก็รู้และเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

(๗) ขยายความคำเฉพาะให้แจ่มแจ้ง คือในกรณีที่จำเป็นต้องใช้คำเฉพาะ เช่น ศัพท์ธรรมะ ศัพท์วิชาการ คำสุภาษิต คำพังเพย คำสมัยใหม่เช่นคำที่กล่าวถึงข้างต้น ต้องแปลหรืออธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งชัดเจนต่อเนื่องกันไปทันทีด้วยภาษาที่ง่ายๆจะอธิบายสั้นหรือยาวก็แล้วแต่คำเฉพาะนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ฟังผู้อ่านต้องมาเสียเวลาตีความหรือคิดหาคำอธิบายเอง จะเป็นเหตุให้สะดุดและไม่ให้ความสนใจต่อไปดังกล่าวแล้วข้างต้น

(๘) รักษาถ้อยคำสำนวนภาษาการเทศน์ไว้ คือบทเทศนานั้นประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วนคือ อุเทศ นิเทศ และปฏินิเทศ ในส่วนอุเทศหรือส่วนเริ่มต้นนั้นจะเป็นเรื่องของอารัมภบทบอกงาน บอกเหตุผลของการมีเทศน์ เป็นต้น และส่วนปฏินิเทศจะเป็นข้อสรุปเนื้อหาและบทส่งท้าย ในสองส่วนนี้จะมีถ้อยคำสำนวนที่ใช้โดยเฉพาะเป็นต้นแบบอยู่ จึงนิยมรักษาถ้อยคำสำนวนนั้นไว้

(๙) ใช้ภาษาให้ถูกต้อง คือการใช้ภาษาในการเทศน์นั้นนอกจากจะใช้ภาษาที่ดี ใช้ภาษาเขียน ใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่สำคัญที่สุดยิ่งไปกว่านั้นคือต้องใช้ให้ถูกด้วย มิใช่ว่าเป็นภาษาที่ดีแต่ไม่ถูกต้อง เช่นนี้ก็ถือว่าใช้ภาษาไม่ถูก และเมื่อใช้ไม่ถูกแล้วอาจทำให้เข้าใจความหมายผิดไปก็ได้ อาจถูกตำหนิว่าไม่รู้จักใช้ภาษาก็ได้ ทำให้เสียหายเสียภูมิได้เหมือนกัน การใช้ภาษาที่ถูกต้องนั้นคือการใช้คำหรือศัพท์ที่ถูกหลักเกณฑ์ของภาษา ถูกกับความหมาย ถูกกับเรื่อง ถูกกับบุคคล เป็นต้น เพราะมีคำหรือศัพท์จำนวนไม่น้อยในภาษาไทยที่มีกฎเกณฑ์การใช้และมีความหมายเฉพาะ ไม่ใช้ทั่วไปในทุกเรื่อง เช่นศัพท์ธรรมะ ราชาศัพท์ ศัพท์ที่ใช้สำหรับพระสงฆ์ เป็นต้น

(๑๐) ใช้คำเต็ม ไม่ใช้คำย่อ คือคำบางคำนิยมใช้คำย่อที่เรียกว่าภาษาปากในการพูดสนทนา แต่เมื่อนำมาใช้ในการเทศน์ต้องใช้คำเต็ม มิใช่คำย่อแบบใช้ในการพูด เช่น โบสถ์ เณรลงโบสถ์ บรรลุโสดา เป็นพระอนาคา ฯลฯ คำเต็มต้องใช้ว่าอุโบสถ สามเณร ลงอุโบสถ บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอนาคามีคำประเภทนี้มีจำนวนมาก หากใช้คำย่อที่อยู่ในเกณฑ์ใช้ภาษาไม่ถูกเช่นกัน

                การใช้ภาษาในการเทศน์นั้นได้แสดงไว้แล้วโดยพิสดารในหนังสือ “ภาษาเทศน์ ภาษาไทย” ในหนังสือนั้นนอกจากจะได้แสดงหลักการใช้ภาษาในการเทศน์แล้ว ยังได้แสดงเรื่องการอ่านกับการเทศน์ การเขียนกับการเทศน์ การใช้ราชาศัพท์ในการเทศน์และการใช้คำพังเพย คำสุภาษิตไว้ด้วย ผู้สนใจสามารถใช้ศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ของตนได้

สํานวนที่ใช้ในการเทศน์
สำนวน คือ ถ้อยคำที่เรียบเรียงไว้อย่างมีระบบ อย่างมีชั้นเชิง เข้าใจง่าย ได้ความหมายชัดเจน อาจเป็นถ้อยคำที่เป็นประโยคเต็มรูปหรือเป็นเพียงข้อความส่วนหนึ่งของประโยคที่เรียกว่า วลี คำว่า สำนวน นี้จะเรียกว่า โวหาร ก็ได้ หรือเรียกรวมกัน ว่า สำนวนโวหาร ก็มี นั่นหมายความว่าสำนวนกับโวหารมีความหมายอย่างเดียวกันในการเทศน์นั้น มิใช่เฉพาะภาษาเท่านั้นที่ต้องเป็นภาษาพิเศษและต้องใช้ภาษาที่พิเศษไปกว่าภาษาสื่อสารข้อความตามปกติ แม้สำนวนโวหารก็ต้องเป็นพิเศษกว่าธรรมดาด้วย กล่าวคือสำนวนจะต้องเป็นสำนวนเทศน์โดยเฉพาะ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า เทศนาโวหาร เทศนาโวหาร ก็คือสำนวนเทศน์นั่นเองอันที่จริงสำนวนนั้นมี ๒ อย่างคือ สำนวนพูด กับ สํานวนเขียน

สำนวนพูด คือถ้อยคำที่ใช้พูดกันตามปกติ เพื่อสื่อให้เข้าใจความตรงกัน ภาษาพูดนี้จะไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องหลักเกณฑ์ของภาษานัก เป็นประโยคก็ได้ไม่เป็นก็ได้ อาจเป็นคำห้วนๆ เป็นคำกร่อน เป็นคำแสลง เป็นคำตลาด เป็นคำต่างประเทศก็ได้ ขอให้ผู้ฟังเข้าใจตรงตามที่ต้องการเป็นใช้ได้ ทั้งเวลาพูดจะมีท่วงทีลีลาหรือไม่ก็ได้ จะเพราะหรือไม่เพราะก็ได้

สำนวนเทศน์ คือถ้อยคำที่เป็นภาษาเขียนหรือภาษาหนังสือสละสลวย มีความสมบูรณ์ของประโยค มีสัมพันธภาพแห่งถ้อยคำคือมีเนื้อความเชื่อมโยงติดต่อกัน และถูกต้องตามกฎเกณฑ์แห่งภาษา เป็นถ้อยคำที่ปราศจากโทษแห่งภาษาคือคำหยาบคายคำกร่อน คำแสลง คำตลาด เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นถ้อยคำที่ไม่สุภาพ อารยชนคนดีทั้งหลายไม่พูดไม่ใช้เขียนกันสำนวนเทศน์ที่คุ้นเคยกันดีก็คือสำนวนเรียงความแก้กระทู้ธรรมหรือที่เรียกกันในวงการพระว่า “แต่งกระทู้” เพราะในการแต่งกระทู้นั้นท่านกำหนดให้แต่งเป็นสำนวนเทศนาโวหาร ดังนั้นหากจะกล่าวให้ตรงประเด็นก็ได้ว่าสำนวนเทศน์นั้นก็คือสำนวนแต่งกระทู้นั่นเอง

สำนวนโวหาร ที่ใช้ในการเทศน์นั้นนิยมเป็นไปตามองค์ประกอบของบทเทศนา ๓ ส่วน คือ อุเทศ นิเทศ ปฏินิเทศ ดังกล่าวแล้วในส่วนของอุเทศและปฏินิเทศนั้นจะมีสำนวนโวหารที่ใช้โดยเฉพาะเป็นต้นแบบอยู่ เช่นงานมงคลมีสำนวนความอย่างนี้ งานอวมงคลมีสำนวนความอย่างนี้จึงนิยมรักษาถ้อยคำสำนวนโวหารเช่นนั้นไว้แม้จะพลิกแพลงยักเยื้องไปบ้างตามความเหมาะสม แต่ก็ยังคงรักษาถ้อยคำสำนวนที่เป็นหลักเป็นแกนเข้าไว้ แม้ว่าถ้อยคำภาษาที่ใช้จะเป็นคำเฉพาะ เป็นคำที่ผู้ฟังอาจไม่เข้าใจชัดเจนนัก แต่ก็อนุโลมให้ใช้ได้เพื่อรักษธรรมเนียมเก่าไว้

ตัวอย่างสำนวนอุเทศเบื้องต้น

               “บัดนี้ จักได้แสดงพระธรรมเทศนาในบุญนิธิกถา ฉลองศรัทธาเพิ่มพูนปัญญาบารมี อนุโมทนาในกุศลปุพพเปตพลีที่มูลนิธิมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย อันประกอบด้วยคณะกรรมการมูลนิธิทั้งที่เป็นคณะกรรมการดำเนินการและคณะกรรมการกำกับมูลนิธิ ตลอดทั้งเจ้าหน้าที่มูลนิธิและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ได้บำเพ็ญให้เป็นไปเพื่ออุทิศแต่เจ้าของทุนและผู้มีอุปการคุณที่วายชนม์ไปแล้ว ดังที่เคยปฏิบัติมาเป็นนิพัทธกิจประจำปี ทั้งนี้ก็ด้วยกุศลจิตกอปรด้วยกตัญญูกตเวทิตาธรรมอันมั่นคงเสมอมา นับเป็นบุญกิริยาที่น่ายกย่องและน่าถือเป็นแบบอย่างในทางปฏิบัติเพื่อจัดเพื่อทำขึ้นโดยทั่วไป”ตัวอย่างสำนวนปฏินิเทศท้ายกัณฑ์“ด้วยอำนาจพระราชกุศลทักษิณานุปทานกิจที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงบำเพ็ญอุทิศให้เป็นไปแต่ต้นแล้วทั้งปวงนี้ จงเป็นบุญนิธิมีผลสัมฤทธิ์ผลิตวิปากมนุญผลอันเป็นทิพยสุขทิพยสมบัติโอฬารยิ่งขึ้นไปพร้อมเสร็จ แต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สมเด็จพระปิยโสทรเชษฐภคินีพระองค์นั้นตลอดจิรัฐติกาล สมตามพระราชปณิธานอุทิศโดยฐานะนิยมทุกประการ รับพระราชทานถวายวิสัชนาพระธรรมเทศนาในสาธุกัมมกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี ยุติลงด้วยประการฉะนี้ ฯ ขอถวายพระพร ฯ”

                 สำหรับในส่วนของนิเทศคือส่วนที่อธิบายขยายความนั้นนิยมเป็นสำนวนที่เรียกว่าเทศนาโวหาร โดยเป็นถ้อยคำและข้อความที่
กระชับ ไม่ยาวเกินไป ไม่วกวนสับสนจนจับความไม่ทันหรือจับประเด็นไม่ได้ทันที ตัดถ้อยคำที่ไม่จำเป็นหรือทำให้เยิ่นเย้อออกเสียเหลือไว้เฉพาะที่พอสื่อให้รู้ได้ชัดเจน หรือหาถ้อยคำที่ชัดเจนสั้นๆมาแทนถ้อยคำที่เยิ่นเย้อหรือที่ยาวเกินไปนั้น เช่นสำนวนว่า“ในการทำบุญทำกุศลความดีนั้นย่อมสามารถจะกระทำได้ด้วยวิธีการต่างๆมากมาย เช่นการเสียสละบริจาคให้ทาน อันเป็นการเกื้อหนุนจุนเจือกันด้วยน้ำใจที่บริสุทธิ์ใสสะอาดปราศจากมลทินคือความตระหนี่ถี่เหนียวด้วยเสียดายของ”สำนวนเช่นนี้แม้จะฟังดูไพเราะไม่ขัดหู แต่เมื่อพิจารณาดูเนื้อหาก็มีไม่มาก อาจตัดทอนให้กะทัดรัดก็ได้ว่า“การทำบุญนั้นย่อมทำได้หลายวิธี เช่นเสียสละให้ทาน เป็นการจุนเจือกันด้วยใจที่สะอาดปราศจากความตระหนี่เสียดาย”สำนวนที่นิยมกันในสมัยก่อนแบบหนึ่งคือแบบสัมผัสคำ คือข้อความในวรรคข้างหน้าลงท้ายด้วยคำที่เป็นเสียงใด วรรคต่อไปก็ใช้คำที่มีเสียงคล้องจองกับคำนั้น โดยจะอยู่ในส่วนใดของประโยคก็ได้ เช่นในสำนวนเทศน์ดังต่อไปนี้“อัตตสัมมาปณิธินั้น ได้แก่ความตั้งตนไว้ชอบ อันคนเกิดมาในโลกก็ชื่อว่าท่องเที่ยวอยู่ในโอฆะคือวัฏสงสาร จำต้องประพฤติตนให้เหมาะแก่ภูมิฐานของตน เพื่อจะได้หลีกพ้นอุปสรรคข้อขัดข้องและนำชีวิตไปโดยสะดวกดี ไม่เช่นนี้ชีวิตก็จะไม่มีสุขเป็นผล เหมือนคนไปเรือน้อย จำต้องคอยวาดคัด เพื่อให้เรือไม่ติดขัดเดินไปได้
โดยสะดวกฉะนั้น...”

  
                  “ในการรับคนเข้าทำเป็นบรรพชิตบริษัทกล่าวคือรับกุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะบวชให้ได้บรรพชาอุปสมบท ครั้งแรกพระบรมสุคตก็ทรงรับด้วยพระองค์เองด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ครั้นต่อมามีพระสาวกตรัสรู้ธรรมตามเสด็จขึ้นหลายรูปพอจะเป็นกำลังในการแพร่ศาสนาได้ จึงทรงส่งท่านเหล่านั้นให้แยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา เมื่อมีกุลบุตรศรัทธาจะบวช ท่านเหล่านั้นก็นำมาเฝ้ากราบทูลขอบรรพชา บางที่พากันมาแต่ถิ่นไกลกันดารต้องลำบากบอบช้ำทั้งอาจารย์แลศิษย์ที่มีเนื่องๆ...”(สองสำนวนนี้ จากมงคลวิเสสกถา ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจริญ ญาณวรเถร วัดเทพศิรินทราวาส) คำที่ขีดเส้นใต้ทั้งหมดนั้นถือว่าเป็นสำนวนที่รับสัมผัสกันไปมาเป็นเจตนาของผู้เทศน์เพื่อให้เกิดความไพเราะเหมาะสม เป็นการแสดงคารมเทศนาให้ปรากฎ ทั้งหมดจดด้วยเนื้อหาไม่บกพร่องทั้งสอดคล้องกับสมัยนิยม และเวลาออกเสียงนั้นก็นิยมอ่านให้ไปหยุดที่คำรับสัมผัสกับคำแรกนิดหนึ่งแล้วค่อยอ่านต่อไป เมื่ออ่านได้ดังนี้ก็จะทำให้เกิดความไพเราะได้อารมณ์กวี ซึ่งเป็นที่ชมชอบของผู้ฟังยิ่งนัก

                    แม้สมัยปัจจุบันจะไม่ค่อยนิยมกันแล้วก็ตาม แต่หากนักเทศน์ท่านใดสามารถแต่งเทศน์และออกท่าลีลาได้เหมือนอย่างโบราณ ก็ย่อมได้รับเอ่ยขานยกย่องไม่แพ้กันอนึ่ง ในเวลาเทศน์นั้นนิยมเทศน์กันเป็น ๒ รูปแบบคือใช้สำนวนพูดกับใช้สำนวนเทศน์สำนวนพูด คือเทศน์แบบพูดปกติธรรมดา ไม่มีท่วงทีลีลาเป็นพิเศษ ไม่คำนึงถึงจังหวะเสียงและไม่พิถีพิถันเรื่องการใช้ภาษามากนัก แสดงไปเรื่อยๆ มุ่งเนื้อหาสาระมากกว่า ผู้เทศน์ที่ “เทศน์ปากเปล่า” หรือ “เทศน์สด” นั้นส่วนใหญ่จะใช้สำนวนพูดมากกว่าสำนวนเทศน์ เพราะเทศน์ไปคิดไป อาจเร็วบ้างช้าบ้าง สะดุดบ้างเสียงไม่สม่ำเสมอบ้างสำนวนเทศน์ คือเทศน์แบบมีท่วงทีลีลาซึ่งเป็นของเก่า นิยมกันในหมู่นักเทศน์ผู้มีชื่อเสียง เป็นผู้ใหญ่ เทศน์เป็นการเป็นงานในงานสำคัญ เช่นเทศน์ในงานพระราชพิธีเทศน์ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เป็นต้น

                   การเทศน์แบบนี้นิยมเทศน์แบบอ่านคัมภีร์ จึงไม่ต้องเทศน์ไปคิดไปเพราะแต่งหรือเรียบเรียงมาดีแล้ว ทดลองอ่านมาคล่องแล้ว เวลาเทศน์จริงก็ประคองสติระวังผิดพลาดตลอดเวลา เสียงที่เทศน์จึงมีความสม่ำเสมอ ได้จังหวะ ตอนไหนควรอ่านติดกันไป ตอนไหนควรหยุดเว้นวรรค ตอนไหนควรทอดเสียงเพื่อให้สอดรับกับถ้อยคำต่อไป ก็ระวังมิให้ผิดพลาดเทศน์ในลักษณะนี้จะออกมาดี มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีการ มีความพิถีพิถัน ไม่สุกเอาเผากิน จึงเหมาะสำหรับใช้ในงานสำคัญสำนวนเทศน์เป็นหลักวิชาเพราะต้องอาศัยความรู้เรื่องภาษาในหลายๆด้าน เช่น การเลือกใช้คำ การให้ความหมายคำ การเรียบเรียงคำเป็นประโยค ตลอดถึงการเชื่อมความระหว่างประโยคต่อประโยค ซึ่งความรู้เหล่านี้จะเป็นอุปการะต่อการเลือกเฟ้นคำที่เหมาะสมมาประกอบกันเป็นสำนวนโวหารที่ได้ความหมายสมบูรณ์ไพเราะน่าฟัง ไม่ขัดหู ดังนั้น ผู้ที่รู้ภาษาในหลายๆด้านย่อมใช้สำนวนเทศน์ได้ดี กะทัดรัด แต่ได้ใจความอันเป็นเนื้อหาสาระสมบูรณ์ ตรงกันข้าม ผู้ขาดความรู้ด้านภาษาย่อมจะอธิบายขยายความได้ไม่สนิท ใช้ภาษาบกพร่อง ฟังดูติดขัด แม้ผู้ใช้เองก็อึดอัดเพราะไม่อาจสรรหาถ้อยคำมาอธิบายข้อธรรมให้กระจ่างได้อย่างที่ต้องการ
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.021311736106873 Mins