แนวการตีความในการเทศนา

วันที่ 24 กค. พ.ศ.2567

แนวการตีความในการเทศนา

670724_b103.jpg


                  การเทศนาหรือเทศน์เป็นเรื่องของการตีความโดยเฉพาะเพราะต้องยกพระพุทธพจน์หรือพุทธศาสนสุภาษิตบทใดบทหนึ่งขึ้นมาเป็นบททั้งที่เรียกว่าบทอุเทศหรือนิกเขปบท แล้วตีความไปโดยรูปแบบต่าง ๆ คือแบบจำกัดความ แบบขยายความ แบบอธิบายความแบบวินิจฉัยความ แต่การตีความจะแบบใดก็ตามจำต้องมีกรอบให้อยู่ในกรอบ และจำต้องมีหลักมีแนว มิใช่ว่าไปตามใจชอบหรือตามอัตโนมัติ มิเช่นนั้นจะทำให้ผู้ฟังจับหลักจับประเด็นความแห่งธรรมที่แสดงไม่ได้หรือไม่ถูก แม้หากจะได้ความรู้ความเข้าใจหรือจับประเด็นได้ก็จริงแต่เป็นไปแบบคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เทศน์เป็นส่วนใหญ่มิใช่ข้อเท็จจริงหรือเนื้อหาสาระแห่งพระพุทธพจน์จริง หรืออาจนำพาให้เข้าใจผิดในข้อธรรมนั้นๆ ไปก็ได้ กลายเป็นการจับใส่พระโอษฐ์ไปก็ได้ ซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย
 

                 ทางที่ดีที่สุดคือผู้เทศน์จำต้องศึกษาเรียนรู้หลักสำหรับเรื่องนี้และถือเป็นแนวทางไว้เป็นเบื้องต้นย่อมจะเป็นการดี เมื่อรู้หลักรู้แนวอย่างใดอย่างหนึ่งดีแล้ว ต่อไปหากมีความเชี่ยวชาญชำนาญหรือแตกฉานดีแล้ว ย่อมจะสามารถตีความพลิกแพลงไปอย่างไรก็ได้ แต่ยังยึดหลักไว้ ไม่ทิ้งหลักไปไหน เหมือนคนขับรถที่ยังไม่เจนทางย่อมถือทางหลักแล้วขับรถไปทางหลักก่อน ต่อเจนทางหลักและรู้ทางรองทางเลี่ยงเพิ่มขึ้นในภายหลัง ก็สามารถจะลงจากทางหลักไปใช้ทางรองทางเลี่ยงก่อนแล้วเข้าทางหลักอีกได้ ฉันใดก็ฉันนั้น การเทศน์โดยทิ้งหลักไปเลยนั้นอาจทำให้หลงทาง หาทางกลับทางเก่าไม่ได้กลายเป็นนักเทศน์ย่านไทรไป
 

                 อันหลักหรือแนววิธีเพื่อการเทศนานั้นสามารถยึดเนตติปกรณ์ที่ว่าด้วยเรื่องเทสนาหาระเป็นแบบได้ กล่าวคือในการเทศนา ไม่ว่าจะจำกัดความหรืออธิบายขยายความ พึงพยายามให้ได้ใจความอันเป็นประเด็นสาระครบทั้ง ๒ ประการแห่งเทศนาหาระ คือ

 

๑.ให้ได้เนื้อหาสาระที่เป็นอัสสาทะ คือแสดงข้อดี ส่วนที่ส่วนที่น่ายินดีพอใจแห่งข้อธรรมที่เป็นกุศลที่ยกขึ้นแสดง โดยชี้ให้เห็นว่าข้อธรรมนั้นดีอย่างไร ทำให้เกิดสุขโสมนัสอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร มีความจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างไร ทำให้เกิดความพึงพอใจอย่างไร เป็นต้น
 

๒. ให้ได้เนื้อหาสาระที่เป็นอาทีนวะ คือแสดงข้อเสียทำให้ด้านเสีย ด้านที่ไม่น่ายินดีพอใจในกรณีที่ข้อธรรมนั้นเป็นข้อธรรมที่เป็นอกุศล โดยชี้ให้เห็นว่าข้อธรรมนั้นนำให้เกิดทุกข์เกิดโทษเกิดความโทมนัสใจ นำความเสียหายความวิบัติมาให้อย่างไรควรระวังควรป้องกันอย่างไร เป็นต้น หากเป็นข้อธรรมที่เป็นกุศล ไม่มีโทษอยู่ในตัว ย่อมแสดงอาทีนวะได้โดยอ้อม กล่าวคือแสดงให้เห็นโทษของการไม่มีไม่ประพฤติธรรมข้อนั้น หรือโทษของการประพฤติก้าวล่วงธรรมข้อนั้น

 

๓.ให้ได้เนื้อหาสาระที่เป็นนิสสรณะ คือในกรณีที่ยกข้อธรรมเรื่องอริยมรรค โพธิปักขิยธรรม สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นธรรมสำหรับนำออกจากทุกข์ขึ้นมาแสดง ก็แสดงให้เห็นว่าข้อธรรมนั้นเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์คือให้บรรลุมรรค ผล นิพพานได้อย่างไร เป็นต้น


๔. ให้ได้เนื้อหาสาระที่เป็นผละ คือแสดงผลอานิสงส์แห่งการทำความดี การทำบุญต่างๆ เช่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาหรือละชั่ว ทำดีทำใจให้ผ่องใสหมดจดจากกิเลสคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น อันเป็นผลที่เกิดในปัจจุบันและผลในภพหน้าชาติหน้าให้เห็นชัดเจน มีตัวอย่างประกอบ มีเหตุมีผลพอที่จะดึงดูดใจให้ใครที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้ได้ผลเช่นนั้น มิใช่กล่าวลอยๆ โดยปราศจากเหตุผลหรือหลักฐานที่พอเห็นตามได้
 

๕. ให้ได้เนื้อหาสาระที่เป็นอุปายะ คือแสดงแนววิธีหรือแนวปฏิบัติเพื่อให้ได้นิสสรณะคือออกจากทุกข์หรือนิพพานสมบัติหรือให้ได้ผละคือมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ โดยแสดงข้อธรรมว่าด้วยศีล สมาธิ ปัญญา หรือข้อว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุ เป็นต้น
 

๖. ให้ได้เนื้อหาสาระที่เป็นอาณัตติ คือมีการชี้นำ เชิญชวนจูงใจ โน้มน้าวใจให้ใครที่จะปฏิบัติตามแนววิธีหรือแนวปฏิบัติที่ได้ยินได้ฟังมาข้างต้น

 

               เทศนาที่ประกอบด้วยเนื้อหาสาระครบ ๖ ประการนี้ จัดว่าเป็นเทศนาที่สมบูรณ์แบบ ย่อมได้ถอยกระทงความครบถ้วน ได้ทั้งเนื้อหา ได้ทั้งสาระ และได้ทั้งศรัทธาปสาทะจากผู้ฟัง และทำให้ผู้ฟังได้รับอานิสงส์แห่งการฟังธรรมอย่างเต็มที่แต่ข้อเท็จจริง หัวข้อธรรมที่ยกขึ้นแสดงนั้นหาได้มีเนื้อหาสาระที่บ่งบอกความที่ชัดเจนและตรงประเด็นได้ครบ ๖ ประการนั้นไม่ บางข้อธรรมบ่งบอกเพียงประการเดี่ยวบ้าง สองประการบ้างสามประการบ้าง จึงเป็นหน้าที่ของผู้เทศน์เองที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความแตกฉาน ประสบการณ์ เป็นต้น

 

               ที่มีอยู่พินิจพิจารณาตีความให้ได้ประเด็นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยอาศัยแนวทาง วิธีเทคนิค หรือตัวอย่างของบุรพาจารย์ท่านทำให้ดูเป็นตัวอย่างไว้ในปกรณ์หรือหนังสือต่างๆ เช่น อรรถกถา ฎีกา เป็นต้น เช่น จะเทศนาเรื่องการพึ่งตน ก็ชี้ให้เห็นว่าตนคืออะไร พึ่งตนนั้นดีอย่างไร (อัสสาทะ) พึ่งตนไม่ได้จะเสียหายอย่างไร (อาทีนวะ) พึ่งตนแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร (นิสสรณะ, ผละ) วิธีพึ่งตนนั้นทำอย่างไร (อุปายะ) สุดท้ายก็ชักชวนให้พึ่งตนกัน (อาณัตติ) หากไม่สามารถถึงขั้นนั้นหรือข้อธรรมบางข้อไม่อาจอธิบายได้ครบถ้วนอย่างนั้นได้ผู้เทศน์จำต้องคิดที่ความเพิ่มประเด็นที่สำคัญๆเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์

 

                ประเด็นที่เพิ่มเข้ามานั้นอย่างน้อยก็ควรให้ได้สัก ๒ - ๓ ประเด็น แต่ข้อสำคัญคือแต่ละประเด็นต้องชัดเจนและเกี่ยวเนื่องกันตลอดสาย หากไม่เกี่ยวเนื่องกันก็จะขาดความสมบูรณ์ เช่น แสดงธรรมเรื่องบุญ ได้แต่ชี้แจงว่าบุญคืออะไร บุญดีอย่างไร วิธีทำบุญมีเท่านั้นเท่านี้อย่าง แต่มิได้แสดงว่าเมื่อทำแล้วจะและไม่ได้โน้มน้าวชักชวนให้ทำบุญ ทำให้ผู้ฟังธรรมไม่เกิดศรัทธาที่จะทำบุญเพราะไม่รู้จะทำไปทำไม ทำแล้วได้ผลอย่างไรหรือผู้ฟังไม่ทราบเหตุผลหรือเจตนาของผู้เทศน์ว่าที่แสดงเรื่องบุญได้ผลอย่างไรมานั้นต้องการให้เขาทำอะไร แม้จะพอเดาได้ว่าต้องการสอนอะไรบอกอะไรและต้องการให้ทำอะไรอย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องที่ผู้ฟังคิดเองน้ำหนักย่อมสู้การได้ฟังคำชักชวนชี้นำจากผู้แสดงธรรมไม่ได้แน่นอนเพราะชัดเจนและหนักแน่นกว่า

 

                 และในทางปฏิบัติการที่จะเทศนาให้ได้เนื้อหาสาระครบถ้วนดังกล่าวนั้นมิใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่พึงตระหนักและให้น้ำหนักในเรื่องนี้เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับการเทศนาโดยตรง และเกี่ยวโยงกับความดำรงมั่นคงอยู่แห่งพระพุทธพจน์หากไม่ตระหนักและไม่ให้น้ำหนักในเรื่องนี้ ก็จะเทศนาไปตามใจชอบแบบมักง่าย แบบสุกเอาเผากิน แบบให้ผ่านไปที่ หรือเทศนาไปเพียงมีให้เสียธรรมเนียมผลเสียผลร้ายก็จะตกแก่พระพุทธพจน์และพระพุทธศาสนาไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพราะผู้ฟังธรรมจะลดน้อยลง จะเบื่อหน่ายต่อการฟังธรรม หรือฟังไปตามธรรมเนียม หรือฟังแบบเสียไม่ได้เพราะเป็นเจ้าภาพเป็นเจ้าของงานไม่อาจเลี่ยงได้ จึงฟังแบบฟังไปอึดอัดไป
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0063730994860331 Mins