บทส่งท้าย เรื่อง วิธีเทศนา

วันที่ 30 กค. พ.ศ.2567

670730_b111.jpg

บทส่งท้าย


                 จากการที่ได้ศึกษาเรื่องการตีความทั่วไปและการตีความพุทธศาสนสุภาษิตซึ่งมีพระพุทธพจน์เป็นหลักมาถึงบทนี้แล้วนั้น ทำให้ได้รู้คุณค่า ความสำคัญ และประโยชน์ของการตีความว่าเป็นอย่างไร ได้รู้หลักการและแนววิธีการตีความของพระสาวกและบูรพาจารย์ที่ท่านแสดงไว้เป็นแบบอย่าง และได้ความมั่นใจพร้อมทั้งเกิดความพร้อมที่จะตีความพุทธศาสนสุภาษิตด้วยตนเอง โดยยึดหลักการและแนววิธีที่เรียนรู้มาแล้วเป็นเครื่องนำทาง สิ่งที่ได้รับเหล่านี้ล้วนเป็นอุปการะต่อการตีความทั้งเพื่อการแสดงธรรม เพื่อการบรรบายธรรมเพื่อการเขียนเรื่องธรรม เป็นต้นทั้งสิ้นย่อมเป็นที่เข้าใจและยอมรับกันแล้วว่าการตีความพระพุทธพจน์และพุทธศาสนสุภาษิตเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะต้องเสี่ยงต่อความผิดพลาดจากวัตถุประสงค์เดิมและความไม่สมบูรณ์ทางด้านเนื้อหาสาระ แต่ว่าถ้าไม่ตีความก็ไม่อาจทำให้เกิดความกระจ่างแก่ผู้สนใจใฝ่รู้พุทธธรรมได้ ทำให้พุทธธรรมอยู่ในวงจำกัด ศึกษาเรียนรู้กันในวงแคบ มีผลกระทบต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในภาพรวม

 

                อันอาจส่งผลถึงความเสื่อมถอยแห่งพระพุทธศาสนาก็เป็นได้ ฉะนั้นการตีความพระพุทธพจน์จึงยังต้องดำเนินต่อไป เพียงแต่ว่าต้องดำเนินไปอย่างมีหลักมีเกณฑ์ในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งบรรดาท่านบุรพาจารย์ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างอยู่แล้วการตีความหรือการอธิบายขยายความเพื่อไขความพระพุทธพจน์ให้เปิดเผยกระจ่างชัดมิใช่เรื่องที่พึงทำแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แบบมักง่าย แบบสุกเอาเผากิน หรือแบบพอให้ผ่านไป โดยเฉพาะในการตีความเพื่อการเทศนา จำต้องพิถีพิถัน รอบคอบ คิดพิเคราะห์จนถี่ถ้วนก่อนเปิดเผยแสดงออกมา และจำต้องตั้งเจตนาให้บริสุทธิ์ในการเทศน์ หวังเผยแผ่ธรรมและการแพร่หลายขยายตัวออกไปแห่งพุทธธรรมเป็นหลัก แม้ในการตีความเพื่อการอื่น เช่น เพื่อการเขียนเรื่องธรรมที่ดี เพื่อการบรรยายธรรมที่ดี โดยที่สุดแม้ในการโต้ตอบข้อซักถามข้อธรรมซึ่งต้องใช้โวหารปฏิภาณไหวพริบก็ดี ก็จำต้องให้เป็นไปอย่างพิถีพิถันรอบคอบเช่นกันซึ่งการทั้งปวงต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความรู้ด้านธรรมะและความรู้ด้านหลักการและแนววิธีการตีความเป็นอย่างดี มิเช่นนั้น แม้จะพิถีพิถันรอบคอบตีความอย่างไร ก็ย่อมจะเกิดความผิดพลาดบกพร่อง ถึงกับตีความผิดเพี้ยนไปเป็นแน่นอน

 

                เริ่มแรกทีเดียว เมื่อจะตีความพระพุทธพจน์หรือพุทธศาสนสุภาษิตบทใดบทหนึ่ง ควรคำนึงถึงแนววิธีแห่งเทศนาหาระในเนตติปกรณ์ โดยยึดถือเป็นแบบอย่างสำหรับตีความ คือพยายามอธิบายขยายความให้อยู่ในกรอบเทสนาหาระ ๖ ประการให้ได้ เมื่อไม่อาจให้เต็มครบทั้งหมดได้ อย่างน้อยก็ควรให้ได้สัก ๓-๔ ประการ คืออัสสาทะ (คุณ) อาทีนวะ (โทษ) ผละ (ผล) และอุปายะ (วิธี) แม้ว่าข้อธรรมจะไม่บ่งชัดถึงประเด็นความเหล่านี้ ก็พึ่งตีความนำให้เข้าประเด็นเหล่านี้ให้ได้ มิเช่นนั้น เนื้อหาสาระจะขาดความสมบูรณ์ไปอีกประการหนึ่ง แม้อาณัตติ (จูงใจ) ก็สำคัญไม่น้อย เป็นการชี้นำให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของการเทศน์ การบรรยาย และการเขียนเรื่องนี้ว่าต้องการให้ผู้ฟังผู้อ่านทำอะไร เป็นการเติมเต็มให้การตีความความสมบูรณ์ จบลงด้วยการนำไปปฏิบัติ มิใช่เพียงได้ความรู้ความเข้าใจในธรรมเป็นอย่างดี แต่ไม่มีศรัทธาหรือแรงจูงใจเพื่อจะนำไปปฏิบัติตาม ดังบทเทศนาและข้อเขียนส่วนใหญ่มักจะขาดเรื่องอาณัตตินี้ไปอย่างน่าเสียดาย

 

                  อนึ่งเรื่องการตีความตามที่ได้แสดงมาทั้งหมดนั้นหาได้สมบูรณ์แบบเสียทีเดียวไม่ หากแต่แสดงพอเป็นแนวให้รู้เรื่องนี้เป็นเบื้องต้นเท่านั้น แม้วิธีการตีความตามเนตติปกรณ์เล่าก็นำมาแสดงเฉพาะส่วนที่เป็นเทสนาหาระเท่านั้น ส่วนที่เป็นหาระอื่นยังมีอีก และส่วนที่เป็นนัยและสาสนปัฏฐานหรือมูลบทที่มิได้นำมาแสดงไว้ เพราะมิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องการเรียนรู้เนตติปกรณ์ไป แสดงไว้เฉพาะส่วนที่จะเป็นอุปการะโดยตรงต่อการตีความเพื่อการเทศนาเป็นหลัก แม้ส่วนอื่นจะเป็นอุปการะได้เช่นกัน ถึงกระนั้นก็เกรงว่าจะเผื่อและเกินกำลังจึงงดเสียมิได้แสดงไว้ แต่หากผู้สนใจในการตีความแบบครบวงจร ก็พึงศึกษาหาความรู้ได้จากคัมภีร์เนตติปกรณ์ ฉบับสมบูรณ์เถิดนอกจากนั้น แม้คัมภีร์อื่น เช่นอรรถกถา ฎีกา จนถึงวิสุทธิมรรคธรรมบท มงคลทีปนี เป็นต้น ก็เป็นอุปการะเป็นแบบอย่างแห่งการตีความได้เป็นอย่างดีเช่นกัน และมีรูปแบบหลากหลายให้ศึกษาขอย้ำว่าหัวใจของการตีความที่แท้จริงคือ เจตนาที่บริสุทธิ์ความรู้ และความรอบคอบ ปราศจาก ๓ ประการนี้แล้ว แม้จะรู้หลักและแนววิธีการตีความอย่างไร ก็ย่อมเป็นไปแบบอัตโนมัติ แสดงลีลาโวหารไปตามใจชอบ แม้จะฟังไพเราะนิ่มนวล สำนวนภาษาดี และน่าเชื่อถือ แต่อาจแฝงไว้ด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ หรือห่างไกลจากประเด็นแห่งธรรมเพราะปราศจากความรู้ความเข้าใจข้อธรรมอย่างถ่องแท้ หรือขาดความรัดกุมในการอธิบายขยายความ ว่าไปตามสะดวก ไม่คำนึงถึงความควรไม่ควรเหมาะไม่เหมาะแห่งคำเพราะปราศจากการไตร่ตรอง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นโทษในการตีความ ในการเทศนา ในการบรรยาย หรือในการเขียนอธิบายข้อธรรมทั้งสิ้น

 

                ข้อสำคัญที่สุดแห่งการตีความเพื่อการเทศนา คือในการอธิบายขยายความในเวลาแสดงธรรมนั้น ผู้แสดงควรนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ชัดเจนที่สุดแก่ผู้ฟัง นั่นก็คือ ในการแสดงธรรมแต่ละครั้งต้องให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์หรืออานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ ประการดังกล่าวแล้วข้างต้นให้มากที่สุด จึงจะนับว่าดีและบรรลุถึงวัตถุประสงค์แห่งการแสดงธรรม กล่าวคือพึ่งให้เขาได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ด้วยการเฟ้นหาหัวข้อธรรมที่แปลกใหม่มานำเสนอ อธิบายขยายความด้วยถ้อยคำที่แปลกใหม่แต่ตรงประเด็นและได้สาระให้ผู้ฟังได้ฟัง แม้ข้อธรรมที่ได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำ ก็พึงหาประเด็นความใหม่ๆ มาเพิ่มเติม เช่นมีอุปมาเปรียบเทียบ มีตัวอย่างให้เห็นหรือมีคำคม คำสุภาษิต เพิ่มเติมเข้าไป จะทำให้ได้อรรถรสและธรรมรสมากขึ้น เหมือนอาหารที่มีการยักเยื้องปรุงรสแปลกใหม่เรื่อยๆ ย่อมทำให้ไม่เบื่อที่จะรับประทาน นี่ข้อหนึ่งอีกข้อหนึ่งพึงให้เขาได้เข้าใจชัดเจนในสิ่งที่เขาเคยได้ฟังมาแล้วแต่ยังไม่เข้าใจชัด ด้วยการอธิบายขยายความให้แจ่มแจ้งไม่คลุมเครือ อ้างเหตุอ้างผลประกอบ คำอุปมาก็ดี ตัวอย่างก็ดีล้วนสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้อีกข้อหนึ่งจึงแก้ข้อสงสัยของผู้ฟังให้ได้เพราะส่วนใหญ่ผู้ฟังธรรมมักมีความสงสัยคล้ายๆ กัน คือสงสัยว่าที่ตนทำบุญไปนั้นจะได้ผลจริงหรือไม่ คนตายจะได้รับจริงหรือไม่นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่ กรรมดีกรรมชั่วให้ผลจริงหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น

                  ผู้เทศน์จำต้องแสดงเหตุผลให้น่าเชื่อให้น่าคล้อยตาม สลัดความสงสัยของเขาให้ได้ อีกข้อหนึ่งจึงทำความเห็นของเขาให้ถูกต้อง กล่าวคือกำจัดความเห็นผิดของผู้ฟังซึ่งอาจมี เช่นความไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มีจริง ไม่เชื่อว่าบุญบาปมีจริง ไม่เชื่อว่าการทำบุญให้ทานมีผลจริงด้วยการอ้างเหตุผลและหลักฐานที่เป็นรูปธรรมมาประกอบด้วยโวหารที่คมคาย เช่นอย่างพระนาคเสนโต้ตอบกับพระยามิลินท์ฉะนั้นและอีกข้อหนึ่งพึงทำจิตของผู้ฟังให้ผ่องใสแช่มชื่นด้วยการแสดงอานิสงส์แห่งการทำบุญทำความดี หรือด้วยการอนุโมทนายกย่องชมเชยในความดีที่เขาทำ ตลอดถึงการปฏิบัติตัวให้อยู่ในสมณสารูป เรียบร้อยงดงามสมเป็นผู้แทนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมนำให้เกิดศรัทธาปสาทะได้อย่างดียิ่ง

 

                 การตีความพระพุทธพจน์และพุทธศาสนสุภาษิตจะด้วยวัตถุประสงค์อะไรก็ตาม หากเป็นไปอย่างที่แสดงมาแล้ว นอกจากจะไม่ต้องเสี่ยงต่ออบายแล้ว ยังจะเป็นบุญกุศลเป็นมงคลแก่ตัวเสียด้วยซ้ำไปเพราะเป็นการนำพุทธธรรมที่ลึกซึ้งออกมาเปิดเผยให้กระจ่างจนทำให้ผู้ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านได้เรียนรู้เกิดสติปัญญา เกิดศรัทธาปสาทะ หรือเกิดวิริยะอุตสาหะที่จะนำไปปฏิบัติตามให้เกิดผลแก่ตนตามหลักคำสอนนั้นๆ เท่ากับว่าได้รักษาและเผยแผ่พุทธธรรมให้แพร่หลายขยายตัวออกไป เป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงอยู่ตราบนานเท่านาน จึงนับเป็นบุญกุศลที่มีอานิสงส์มหาศาลหาที่สุดมิได้ ผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนเรื่องการตีความพึงตระหนักอย่างนี้เถิดจิตใจจะได้แช่มชื่นเกิดโสมนัสยินดีที่มีโอกาสอันวิเศษหาได้ยากเช่นนี้เพราะเหตุที่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดพระพุทธพจน์ได้ในระดับหนึ่งคือระดับความหมายและพุทธประสงค์ แม้จะไม่ถึงขั้นโดยตรงคือบรรลุมรรคผลนิพพานก็ตาม แต่ก็ย่อมเป็นอุปนิสัยปัจจัยในภพชาติต่อไปแน่นอน


 จิรํ ทิปฺปตุ สทฺธมฺโม              สมฺพุทฺธสฺส มเหสิโน
สตฺตานํ ชีวโลกสฺมึ                หิตาย จ สุขาย จ ฯ

ขอพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงเจริญรุ่งเรือง

สถิตสถาพรอยู่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เหล่าสัตวโลกไปตลอดกาลนาน.

 

 

หนังสืออ้างอิง

  • พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับสังคายนา เล่มที่ ๒๙-๓๐. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา,๒๕๓๐.มหากัจจายนเถระ, พระ. เนตฺติ-เปฏโกปเทสปกรณํ. กรุงเทพฯ :โรงพิมพ์วิญญาณ, ๒๕๔๐.
  • สิริมังคลาจารย์, พระ. มงฺคลตฺถทีปนี ภาค ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๐๒.
  • ญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช, สมเด็จพระ. พระมงคลวิเสสกถาและพระธรรมเทศนาในการพระราชกุศล, กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์ กรุงเทพฯ (๑๙๘๔) จำกัด, ๒๕๓๖
  • พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : บริษัท อักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด, ๒๕๓๘
  • พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร. (พิมพ์ในงานออกเมรุพระศพสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกวัดเบญจมบพิตร), ๒๕๐๕
  • พระมงคลวิเสสกถา (รวมเทศนา วัดปากน้ำ ภาษีเจริญจัดพิมพ์),กรุงเทพฯ : หสน.อาทรการพิมพ์, ๒๕๔๖.
  • สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (คณะสงฆ์วัดสามพระยาพิมพ์เป็นที่ระลึกวันครบรอบ ๑๐ ปีแห่งการมรณภาพ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
  • (ฟื้น ชุตินธรมหาเถร), ๒๕๔๙.
  • พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๒๖.
  • ธรรมกิตติวงศ์, พระ. ภาษาธรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง๒๕๔๔.
  • คันธสาราภิวงศ์, พระ. เนตติปกรณ์. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยรายวันการพิมพ์. ๒๕๕๐.
  • คุณารักษ์ นพคุณ. เนตติปกรณ์แปล และ เนตติสารัตถทีปนี.กรุงเทพฯ : หจก.ทิพยวิสุทธิ์, ๒๕๔๔.
  • จำรูญ ธรรมดา. เนตติฏิปปนี้. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยรายวันการพิมพ์, ๒๕๔๖.
  • ปรุตม์ บุญศรีตัน. หลักการตีความตามนัยเนตติปกรณ์, บทความทางวิชาการ ตีพิมพ์ในวารสาร ปณิธาน ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๒ (ฉบับพิเศษ) พฤศจิกายน ๒๕๔๙.
     
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026396751403809 Mins