มองคนละมุม

วันที่ 03 สค. พ.ศ.2567


มองคนละมุม

670803_b121.jpg


                    มีอัศวินสองคนสวมเสื้อเกราะถือทวนควบม้ามาจากทิศตะวันออกคนหนึ่ง มาจากทิศตะวันตกคนหนึ่ง มาพบกันโดยบังเอิญที่ใต้ต้นไม้ใหญ่ริมทาง ต่างก็เข้าไปเอนหลังพักผ่อนคนละด้านของต้นไม้ ขณะนั้นอัศวินที่มาจากทิศตะวันออกมองขึ้นไปเห็นโล่แขวนอยู่บนคาคบไม้จึงเปรยขึ้นดังๆ ว่า “ใครหนอเอาโล่ทองมาแขวนไว้บนต้นไม้” อัศวินอีกคนหนึ่งจึงแหงนดู แต่เห็นโล่นั้นเป็นสีเงิน มิได้เป็นทองอย่างที่อัศวินคนนั้นพูด จึงเปรยดังๆ เช่นกันว่า “น่าขำจัง โล่เงินแท้ๆ ทำไมบางคนจึงเห็นเป็นโล่ทองไปได้”
 

อัศวินคนแรกจึงลุกขึ้นแล้วตะโกนใส่หน้าอีกคนหนึ่งว่าโล่ทอง
 

อัศวินคนนั้นเมื่อถูกตะโกนใส่ก็ลุกขึ้นตะโกนใส่เหมือนกันว่าโล่เงิน
 

                   ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกันเพราะถือว่าสิ่งที่ตัวเองเห็นนั้นไม่ผิดจึงไม่ยอมกันง่ายๆ เพื่อให้รู้ผลจึงท้าดวลกันที่ลานโล่ง ต่างขี่ม้ารำทวนเข้าต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่ฝีมือสูสีกันจึงต่อสู้กันเป็นนานจนเมื่อยล้าด้วยกันทั้งคู่ ได้ตกลงพักรบเพื่อพักผ่อนกันก่อนแล้วค่อยสู้กันใหม่ ตอนเข้าไปพักนั้นอัศวินที่มาจากตะวันออกไปพักด้านตะวันตก ที่มาจากตะวันตกไปพักด้านตะวันออก อัศวินคนแรกที่เห็นเป็นโล่ทองได้มองโล่อีกครั้งหนึ่งกลับเห็นเป็นโล่เงิน อีกคนหนึ่งที่เห็นครั้งแรกเป็นโล่เงินกลับเห็นเป็นโล่ทอง 


“เอ๊ะ นี่มันโล่เงินนี่” คนแรกที่เคยเห็นเป็นโล่ทองพูด


“อ้าว นี่มันโล่ทองนี้ ไม่ใช่โล่เงิน” อีกคนที่เห็นครั้งแรกเป็นโล่เงินพูด
 

ด้วยความสงสัยอัศวินคนแรกจึงปีนขึ้นไปเอาโล่ลงมา เมื่อมองเห็นโล่ใกล้ๆ ทั้งสองก็แทบจะลมจับ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏประจักษ์ โล่อันนั้นเขากะไหล่ด้วยทองด้านหนึ่ง กะไหล่ด้วยเงินด้านหนึ่ง จึงเห็นเป็นสองอย่าง
 

“โธ่พวกเราแทบจะฆ่ากันตายเพราะมองคนละมุมแท้ๆ เสียเชิงหมด”
 

ต่างบ่นกันพึมพำ เมื่อพักหายเหนื่อยแล้วก็โบกมืออำลาแยกย้ายกันไป
 

เรื่องนี้สื่อความให้เห็นว่า

                  ทิฐิมานะความคิดเห็นด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าตนถูกนั้นทำให้คนเราตาบอดก็ได้ ทำให้เห็นผิดก็ได้ ทำให้ทะเลาะกันก็ได้ ทำให้แตกกันก็ได้ ทั้งนี้เพราะทิฐิมานะทำให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริง ด้วยมองเห็นได้เพียงด้านเดียวคือด้านที่ตัวเองเห็นหรือรู้สึกนึกคิด ไม่ได้มองอีกด้านหนึ่งซึ่งอาจตรงกันข้ามกับที่คิดก็ได้ อย่างที่นักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคมมองเห็นดาวอยู่พราวพราย” ที่ถูกนั้นเมื่อจะมองอะไรควรมองด้วยปัญญาอีกชั้นหนึ่ง คือควรไตร่ตรองพินิจพิจารณาให้ถี่ถ้วน มองให้ครบทุกด้าน ทั้งด้านดีด้านเสีย ด้านบวกด้านลบ จึงจะเห็นของจริง แล้วค่อยตัดสินวินิจฉัยว่าถูกหรือไม่ถูก ควรหรือไม่ควร วิสัยนักปราชญ์เขาปฏิบัติกันเช่นนี้ ถ้ามองเพียงด้านเดียวแล้วด่วนตัดสินไปตามที่เห็น ย่อมมีโอกาสสูงที่จะผิดพลาด อันจะทำให้คิดผิด พูดผิด และทำผิดตามมา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.052933367093404 Mins