บทที่ ๑ วัดดี พระดี สังคมดี

วันที่ 01 ตค. พ.ศ.2567

 

2567_10_01_b.jpg

 

บทที่ ๑

วัดดี พระดี สังคมดี

 

2567_10_1.jpg



เป้าหมายการบวชในพระพุทธศาสนา

     คำปฏิญาณในวันบวชที่เรากล่าวต่อหน้าพระประธานในโบสถ์ พระอุปัชฌาย์ และคณะสงฆ์ว่า



         สัพพะทุกขะ นิสสะระณะ
         นิพพานะ สัจฉิกะระณัตถายะ
         อิมัง กาสาวัง คะเหตวา
         ปัพพาเชถะ มัง ภันเต
         อะนุกัมปัง อุปาทายะ.

 

       แปลว่า ข้าแต่พระอุปัชฌาย์ผู้เจริญขอท่านจงรับเอาผ้ากาสาวะ แล้วบวชให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด เพื่อข้าพเจ้าจะได้ประพฤติปฏิบัติ กำจัดทุกข์ทั้งปวงให้สิ้นไป และกระทำพระนิพพานให้แจ้ง

         จากคำปฏิญาณนี้ ทำให้พระภิกษุต้องมีหน้าที่ ๒ อย่าง คือ

         ๑. คันถะธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนในพระพุทธศาสนา

         ๒. วิปัสสนาธุระ คือ การปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์โศก

   
   นี่คือ คำปฏิญาณเมื่อทุกคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะบวชสั้นแค่ ๑ พรรษา หรือ บวชยาวไปตลอดชีวิตเขามีหน้าที่จะต้องทำตามคำปฏิญาณนั้นให้ได้ เป้าหมายที่แท้จริง คือ "การกำจัดทุกข์" ไม่ใช่บวชเพื่อเล่น ไม่ใช่บวชเพื่อเอาสนุก หรือ บวชตามประเพณีแต่บวชแล้วต้องเอาจริง เอาจัง มุ่งไป "พระนิพพาน" ด้วยการฝึกฝนอบรมตนเอง ตามธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

        แต่การจะไปให้ถึงเป้าหมาย
"พระนิพพาน" นั้น ไม่ใช่ไปกันได้ง่ายๆ และไม่ใช่จะไปกันได้ในชาติเดียว จำเป็นจะต้องสั่งสมบุญบารมี กันอย่างยิ่งยวด จำเป็นจะต้องศึกษาและปฏิบัติจาก "ผู้รู้" โดยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมคอยเอื้ออำนวย ซึ่งในที่นี้เราจึงควรศึกษากันว่า วัดเพื่อการบรรลุธรรม ควรมีลักษณะอย่างไร? โดยมีพระสูตรกล่าวไว้ใน "เสนาสนสูตร"


หน้าที่พระภิกษุต่อสังคม

        แต่ก่อนที่จะไปศึกษาเสนาสนสูตรในรายละเอียดนั้น ขอย้อนถามก่อนว่า พระมีหน้าที่อะไรในสังคม ?

        เราทราบกันดีว่าพระต้องมีหน้าที่ศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม ให้หลุดพ้น ให้มีกิเลสน้อยเบาบาง อันนี้เป็นกิจหลักที่พระจะต้องทำเพื่อตัวท่านเอง

        เพราะว่าเมื่อ ท่านได้
ฝึกฝนอบรมตัวท่านดีแล้ว ก็จะเป็นต้นแบบที่ดีและทำหน้าที่เป็นครูศีลธรรมให้กับชาวโลกเป็นที่ปรึกษาคอยแนะนำให้กำลังใจให้กับญาติโยม ให้กับครูและนักเรียนให้กับสังคมรอบข้างที่ท่านอยู่อาศัย

        ทุกวันนี้ ชาวโลกกำลังรอคอย ผู้ชี้แนวทางสว่าง ในการดำเนินชีวิต ขาดผู้ที่มีความเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตหรือ ที่เรา เรียกว่า 
"สัมมาทิฏฐิ" ทำให้ผู้คนในสังคมไม่เชื่อ เรื่อง บุญบาป ไม่เชื่อ เรื่อง นรก สวรรค์ ไม่เชื่อ เรื่อง โลกนี้ โลกหน้า ไม่เชื่อ ว่ามีชีวิตหลังความตาย เป็นเหตุให้ทุกคน มุ่งแต่จะแสวงหาทรัพย์ แสวงหาความสะดวกสบาย แสวงหาผลประโยชน์ เอารัดเอาเปรียบกัน โดยไม่คำนึงถึงเรื่องศีลธรรมและรุนแรงถึงขั้นสามารถกระทำผิดศีลได้ทุกข้อ

 

           ยกตัวอย่างเช่น

       เพราะไม่เชื่อว่าบุญบาปมีจริง เมื่อเกิด โลภะ โทสะ โมหะ คือ เกิดความคิดร้าย ก็คิดทำลาย คิดเบียดเบียน ถึงขั้นประทุษร้ายกัน ฆ่ากัน โดยไม่เกรงกลัวบาป เมื่อมีทำร้ายกันฆ่ากัน ก็มีการฆ่ากันตอบ เมื่อเกิดการทำปาณาติบาตมากขึ้นจึงกลายเป็นปัญหาอาชญากรรมในสังคม

       เพราะไม่เชื่อว่าบุญบาปมีจริง เมื่อเกิด โลภะ โทสะ โมหะ ความคิดแสวงหาทรัพย์ในทางมิชอบการลักทรัพย์จึงได้เกิดขึ้นจึงกลายเป็นปัญหา ขบวนการโจรกรรม หรือ กลุ่มมิจฉาชีพ

        เพราะไม่เชื่อเรื่องบุญบาปมีจริง จึงมีจิตคิดประพฤติผิดทางเพศเกิดขึ้น เมื่อทำเป็นขบวนการใหญ่ จึงกลายเป็นปัญหาธุรกิจขายบริการหรือปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ

   
     เพราะไม่เชื่อว่าบุญบาปมีจริง เมื่อมีความอยากได้ มีความโลภเกิดขึ้น หรือต้องการปกปิดความผิด ก็โกหกเอาตัวรอด ใส่ความ พูดไม่จริง ก่อให้เกิดความหวาดระแวง จึงกลายเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรมขึ้น

       
  เพราะไม่เชื่อเรื่องบุญบาป จึงมีการผลิตสุรา สิ่งเสพติดมอมเมาเยาวชนทั่วไป โดยไม่สนใจต่อผลกระทบที่ตามมาไม่สนใจผลกระทบต่อสังคมทำให้เกิดปัญหาแหล่งอบายมุขขึ้นมากมายและปัญหาขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ

   
       สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปัญหาสังคม เป็นเรื่องของคนในสังคมขาดศีลธรรมประจำใจ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาเสื่อมศีลธรรมแล้วถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาเสื่อมศีลธรรมในบ้านเมือง ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ?

ปัญหาศีลธรรมแก้ที่ไหนก่อน

           ถ้ามีคนตอบว่าปัญหานี้แก้ยาก แต่ถ้าจะแก้ไขต้องเริ่มจากครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดก่อน ซึ่งมีพ่อ แม่ ลูกเป็นส่วนประกอบหลัก

          แต่เมื่อถามต่อไปว่าพ่อ แม่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ สั่งสอนอบรมลูกจะไปเอาความรู้ทางด้านศีลธรรมมาจากไหน? ก็ต้องตอบว่าเอาความรู้มาจาก พ่อ แม่ของตัวเอง หรือจากครูของตัวเอง แล้วถ้าถามย้อนไปว่าแล้วครูไปเอาความรู้มาจากไหน? ก็คงต้องตอบว่าเอาความรู้มาจากพระ แล้วก็คงต้องถามต่อไปอีกว่า

            แล้วพระจะเอาความรู้มาจากไหน? ก็ต้องตอบว่า มาจากอุปัชฌาย์อาจารย์

         แล้วพระอุปัชฌาย์ท่านได้ความรู้มาจากไหน? ท้ายที่สุดก็ต้องได้มาจากความรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


แนวทางแก้ไขปัญหาศีลธรรม

           การแก้ไขปัญหาศีลธรรมนี้ ถ้าเราได้ส่งเสริมบุคลากรในด้านศีลธรรม หรือพระภิกษุให้มีความพร้อมต่อการเป็นครูสอนศีลธรรม สร้างวัดที่มีความเหมาะสมในการผลิตพระต้นแบบที่ดี สร้างวัดที่มีบรรยากาที่ดี เอื้อต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมเสมือนเป็นห้องฝึกอบรมจิตใจที่เหมาะสมก็จะเป็นทางแก้การขาดครูต้นแบบ ศีลธรรมที่ง่ายและประหยัดที่สุด โดยศึกษาจากแม่บทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ไว้แล้ว นั่นคือ "เสนาสนสูตร"



คุณสมบัติของบุคคลที่เหมาะแก่การบวช

           จากการศึกษาหลักการคัดคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาใน "เสนาสนสูตร" ปรากฏข้อความสำคัญ ดังนี้

 


"เสนาสนสูตร"

ว่าด้วยองค์ประกอบของเสนาสนะ

 



             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ ไม่นานนักก็จะทำให้แจ้ง เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน



              ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร

              คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

         ๑. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระผู้มีพระภาค”

           ๒. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัดไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร

       
  ๓. เป็นผู้ไม่โอ้อวดไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงในศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย

       
  ๔. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากปั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่

       
  ๕. เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับเป็นอริยะชำแรก กิเลศให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างนี้แล

 

 

คุณสมบัติของวัดที่เหมาะแก่การบรรลุธรรม

              เมื่อเราคัดบุคคลที่ควรบวชได้แล้ว สิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ วัดนั้นต้องมีคุณสมบัติของสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการบรรลุธรรม ๕ ประการ โดยพระองค์ทรงกำหนดรายละเอียดไว้ในเสนาสนสูตรว่า

              เสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นอย่างไร

              คือ เสนาสนะในธรรมวินัยนี้

             ๑. อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก มีทางไปมาสะดวกกลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานกระทบน้อย
 

              ๒. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้น มีจีวร บิณฑบาตเสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชชบริขารที่เกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองเลย

            
๓. ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกาอยู่ในเสนาสนะนั้น
             ๔. ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ในเวลาที่สมควรแล้ว จึงสอบถามไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร”

          ๕. ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่ภิกษุนั้น

        จากการศึกษาคำตรัสของพระองค์ทั้งสองส่วน จะเห็นได้ว่า พระสูตรนี้กล่าวถึงปัจจัยภายใน คือ คุณสมบัติประจำตัว ๕ ประการ ของภิกษุผู้เหมาะแก่การบรรลุธรรมและปัจจัยภายนอก คือ คุณสมบัติของสิ่งแวดล้อมอีก ๕ ประการหากในที่ใดมีองค์ประกอบครบทั้ง ๒ ส่วนนี้ และเมื่อพระภิกษุได้อยู่ในสถานที่นี้ ก็จะส่งผลให้บรรลุธรรมได้ในเวลาไม่นานนัก

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.017097016175588 Mins