พฤติกรรมเสีย แต่มาตรฐานสังคมต้องคงอยู่

วันที่ 15 ตค. พ.ศ.2548

เหตุผลที่มีการกล่าวอ้างของผู้ประกอบการธุรกิจน้ำเมาและฝ่ายการเงินประการหนึ่ง คือ แม้จะเข้าหรือไม่เข้าตลาดหุ้น แต่เหล้าเบียร์ก็ขายได้มาก เพราะคนกินมากอยู่แล้ว จึงไม่เห็นว่าจะทำให้เกิดผลเสียเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ประเด็นนี้ น่าสนใจว่า แม้ภาวการณ์ดื่มจะมากและปัญหาสังคมเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า สังคมไทย หรือคนไทยทุกคนจะยอมจำนนต่อปัญหา และปล่อยปละละเลยให้มันเลวร้ายหนักไปอีก แต่ควรช่วยกันหยุดภาวการณ์เช่นนั้น ฉุดรั้งสังคมไม่ให้จ่มจ่อมอยู่ในสังคมของน้ำเมาและอบายมุขอื่นๆ ภาคประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ต้องออกมามีบทบาทมากขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแต่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งนี้ประเด็นที่น่าหยิบยกขึ้นมาพูดกัน คือ

๑. การทำลายกฎเกณฑ์และรากฐานของสังคม เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีการผลิตเหล้า และคนกินเหล้าเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่เป็นเพียงพฤติกรรมของคนในสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีเท่านั้น แต่กฎเกณฑ์และรากฐานที่ดีงามยังคงอยู่ ยังไม่ได้เสียไป

สรุป คือ พฤติกรรมของสังคมเสีย แต่มาตรฐานของสังคมยังดีอยู่ ทำให้พอมีทางที่จะ แก้ไขให้สังคมกลับดีขึ้นมาได้

ถ้าเรายอมให้ธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็จะเป็นการทำลายกฎเกณฑ์และรากฐานที่ดีทางสังคมให้สูญสิ้นไป จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

เพราะ เมื่อเราวางกฎเกณฑ์ไว้ในทิศทางใด กระแสสังคมก็จะไหลไปในทิศทางนั้น เราทุกคนยอมรับว่าเหล้าเบียร์มีในสังคมมานาน แต่ไม่ควรยอมรับให้สิ่งนี้กลายเป็นมาตรฐานของสังคมมิใช่หรือ ? เรายอมรับ แต่เราไม่ควรยอมแพ้ และต้องไม่ยอมจำนน

ถ้าปล่อยให้สิ่งนี้เป็นความถูกต้องและชอบธรรม การยอมรับสภาพของความเลวร้ายในสังคมก็จะเกิดขึ้น กำลังใจและความกระตือรือร้นที่จะพลิกฟื้นสังคม ให้กลับไปในทางที่ดีก็จะพลอยสูญสลายไปด้วย

๒. การสั่นคลอนสถาบันทางศาสนา เมื่อรับธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ กฎเกณฑ์ทางสังคมจะสวนทางกับหลักคำสอนของศาสนาทุกศาสนา หมายความว่ากฎเกณฑ์ทางสังคมกำลังปฏิเสธคำสอนของศาสนาว่าไม่ถูกต้อง ล้าสมัย ไม่น่าเชื่อถือ มีผลชี้นำให้คนในสังคมเสื่อมศรัทธา และความเชื่อมั่นในคำสอนที่ดีงามของศาสนา เป็นการสั่นคลอนสถาบันทางศาสนาโดยตรง และจะส่งผลให้การอบรมปลูกฝัง คุณธรรมความดีให้กับคนในชาติด้วยหลักธรรมคำสั่งสอน พลอยล้มเหลวตามไปด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม พระภิกษุสงฆ์ รวมทั้งผู้นำองค์กรทางศาสนาทุกศาสนา จึงได้รวมตัวกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้าน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อนเลย ตั้งแต่สร้างชาติมา

๓. การสร้างหายนะให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ เมื่อกฎเกณฑ์ในสังคมตั้งไว้ในทิศทางที่ไม่ดี สถาบันศาสนาถูกทำให้เสื่อมถอย หายนะจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ เพราะ

กฎเกณฑ์ทางสังคม เป็น แม่บทของการตัดสินใจ

คุณความดีในจิตใจ ได้รับอิทธิพล จากหลักศาสนา

การแยกแยะผิดชอบชั่วดี อะไรผิด อะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร ของคนในสังคม ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจาก กฎเกณฑ์ทางสังคมและหลักศาสนา ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกทำให้วิปริตผิดเพี้ยนไป ประชาชนจะขาดหลักเกณฑ์ตัดสินใจที่ถูกต้อง และจะถูกชักนำไปทางที่ผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาด้านต่าง ๆ ในสังคมอันเกิดจากการคิด การพูด และการกระทำของคนในสังคมเอง ก็จะสะสมพอกพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด ถึงจุดที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ นั่นคือหายนะของประเทศชาติ

“หายนะ” หรือ “วัฒนะ” ไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว หรือปีเดียว ย่อมอาศัยกลไก และเงื่อนไขของกาลเวลา

ถ้าเดิมพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมเข้มแข็ง การเกิดหายนะก็ใช้เวลานาน แต่ถ้าอ่อนแอก็จะส่งผลเร็วขึ้น ช้าหรือเร็วย่อมต้องปรากฏผลแน่นอน

ดังนั้น การพิจารณาในเรื่องนี้ ต้องพึงระลึกเสมอว่าถ้าจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์และรากฐานทางสังคม จำเป็นต้องใช้วิสัยทัศน์และความรับผิดชอบที่ยาวไกล มากกว่า เพื่อให้พ้นความรับผิดชอบในปัจจุบัน

 

กำพล นุ่มนวล

ฝ่ายวิชาการ ๑๗๒ องค์กรเครือข่ายงดเหล้า

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013055165608724 Mins