จบแล้วจ้า

วันที่ 04 เมย. พ.ศ.2568

4-4-68-1-b.jpg

เรื่องของโอโม กล่องที่ 31 : จบแล้วจ้า

                  ในการเรียนเคมี นอกจากสายหลักที่มีอินทรีย์(Organic) อนินทรีย์(Inorganic) การวิเคราะห์(Analysis) ยังมีที่ไปร่วมกับวิชาอื่นสมัยนี้เรียกว่าไป X (เอกซ์)กัน เช่นไป X กับชีววิทยาเป็นชีวเคมี(Biochemistry) ไป X กับฟิสิกส์เป็น Physical chemistry เป็นต้น วิชาทั้งหลายที่ไป X นี่แหละที่ทำให้เส้นทางการเรียนต้องยาวไกล

 

                   มีหลายวิชาช่วงท้ายๆ ที่ต้องลงมากกว่า 1 ครั้ง แต่ที่เรียนยาวนานที่สุดมี 7 ครั้ง 5 ครั้ง ข้อสอบส่วนใหญ่ก็จะเป็นอัตนัยซึ่งมีไม่กี่ข้อ วันสอบเราจะรู้ได้เลยว่าเราจะต้องลงใหม่ไหม คือถ้าเห็นข้อสอบแล้วเขียนไม่ได้ก็เดินออกกลับไปบ้านได้เลย ปฏิกิริยาเคมีแต่ละอันเขียนกันเป็นหน้าๆ

 

                   วิชาหนึ่งที่ ติดอยู่ 7 เทอม ถ้าเทียบเป็นปีการศึกษาก็ 2 ปีกว่า ครั้งสุดท้ายที่ผ่านต้องเข้าใจจริงๆ บางข้อเขียนปฏิกิริยาเป็น 3 หน้ากระดาษ

 

                  วิชาสุดท้ายที่ทุกรหัสชั้นปีจะมากองรวมกัน ผมได้ลง 5 ครั้ง คือ Physical chemistry ตัวสุดท้ายเรียนเกี่ยวกับควอนตัม(Quantum) เพราะมีคณิตศาสตร์มาปนด้วย Differential กับ Integrate ธรรมดาก็มึนแล้ว นี่ยังมีสัญลักษณ์ยึกยือๆซ้อนๆกันอีกมากมาย

 

                  วันสุดท้ายที่ไปลุ้นผลสอบหน้าห้องพักอาจารย์ แล้วผลออกมาว่า ผ่าน วันนั้นทำให้เข้าใจคำว่า "ยกภูเขาออกจากอก" มันโปร่ง โล่ง เบา สบาย สดชื่น นี่ถ้าไม่เกรงใจใครๆ นั่งสมาธิซะตรงนั้นคงเข้าถึงธรรมแน่ๆ

 

                    ผมจบเป็นบัณฑิตของรามคำแหงรุ่นที่ 13 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่สวนอัมพร ในภาคเช้าของวันจันทร์ ที่ 11 มกราคม พ.ศ.2531

 

                     แม้ว่าวิชาเคมีจะทยอยถวายคืนพ่อขุนรามคำแหงไปแล้วเกือบหมดสิ้น มานั่งนึกทบทวนว่าเราได้อะไรจากการเรียนเคมี เอามาใช้บ้าง สรุปได้ประมาณว่า

 

1.ได้ความอดทน สังเกต ใจเย็น การทดลองบางทีทำเป็นวันเพื่อผลการทดลองได้สารตกผลึกมีน้ำหนักเป็นทศนิยมสามตำแหน่งของกรัม ต้องชั่งด้วยเครื่องชั่งไฟฟ้าที่มีกระจกรอบด้าน การทดลองต้องสังเกต ต้องรอคอยผลที่จะเกิดขึ้น อย่างใจเย็น

 

2.การทำงานทุกอย่างไม่ใช่จะมีวิธีเดียว เหมือนการทดลองต้องหาวิธีหลายๆทาง

 

3.การทำงานต้องรู้เป้าหมาย จุดเริ่มต้น เส้นเดินระหว่างทาง เหมือนการทดลองต้องมี direction lab หรือต้องมี flow chart

 

4.การเตรียมงานต้องมองให้เห็นเป็นภาพ เหมือนเราจะเตรียมงานสัมมนา เราจะมองเป็นภาพแต่ละส่วนงาน จุดลงทะเบียนภาพเป็นเช่นไร ต้องเตรียมอะไร จุดโต๊ะวิทยากรเป็นเช่นไร เราเห็นโต๊ะ เก้าอี้ ผ้าคลุมโต๊ะ ไมค์ ขาตั้งไมค์ นาฬิกาตั้งโต๊ะ แก้วน้ำ ปากกา กระดาษเปล่า การเตรียมงานเราก็จะไม่ตกหล่นหรือตกหล่นก็น้อยสุด การเตรียมการทดลองก็เช่นกัน

 

5.การเตรียมของ มีของตัวจริง ของสำรอง และ สำรองในสำรอง เหมือนการเตรียมการทดลอง ทำอย่างไรให้ของพอ แล้วทดลองสำเร็จ ไม่โดนตัดแต้ม

 

6.สะอาด เป็นระเบียบ การทดลองก็ต้องมีความสะอาด จัดการสิ่งต่างๆให้เป็นระเบียบ บางครั้งความสะอาดไม่พอผลการทดลองก็ผิดได้

 

7.การหาข้อมูล การเอามาอธิบายประกอบให้ง่าย ชัดเจน เหมือนการทดลองต้องหาทฤษฎีจากหลายๆแหล่งมาประกอบตอนเขียนรายงาน

 

                    ทั้งหลายทั้งปวงนิสัยที่ดี ย่อมมีค่ากว่าความรู้ นิสัยที่ดีสามารถดำเนินชีวิตได้ถูกต้องมีความสุข กลับกันถ้ามีความรู้แต่นิสัยไม่ดี ก็มีแต่จะนำชีวิตสู่ความทุกข์ได้  จบแล้วจ้า

 

4-4-68-2-b.jpg

 

4-4-68-3-b.jpg

 

4-4-68-4-b.jpg

 

4-4-68-5-b.jpg

 

4-4-68-6-b.jpg

 

4-4-68-7-b.jpg

 

4-4-68-8-b.jpg

 

4-4-68-9-b.jpg

 

4-4-68-10-b.jpg

 

4-4-68-11-b.jpg

 

4-4-68-12-b.jpg

 

4-4-68-13-b.jpg

 

4-4-68-14-b.jpg

 

 

 

4-4-68-15-b.jpg

 

4-4-68-16-b.jpg

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.054206848144531 Mins