สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับพระพุทธศาสนา

วันที่ 12 สค. พ.ศ.2547

 

 

 

.....วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งในปีนี้ได้เวียนมาบรรจบครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษาตลอดเวลา ๕๔ ปีที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินี พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเป็นอเนกประการ สุดจะนับจะประมาณได้

โดยเฉพาะในฐานะของพุทธศาสนิกชน ทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ด้วยทรงมีพื้นฐานจากครอบครัวของพระองค์ปลูกฝังให้ทรงเคารพนอบน้อมในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ทรงบำเพ็ญกุศลทาน เช่น ทรงบาตรในยามเช้า ทรงจัดดอกไม้บูชาพระด้วยพระองค์เองในเวลาเย็นทุกวัน ครั้นกลางคืนก็ทรงสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยมิได้ขาด ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชหฤหัยใฝ่ในการพระศาสนามากมายนานัปการ ปรากฏเป็นที่สรรเสริญและเจริญรอยตามของทวยราษฎร์ตามแหล่งข้อมูลต่างๆ พอสังเขป ดังนี้

 

ทรงศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรม

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงศึกษาธรรมทางพระพุทธศาสนาใน ๓ ลักษณะ คือ

๑. ทรงศึกษาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงยกย่องเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นผู้พระราชทานความรู้แก่พระองค์ทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพระบวรพุทธศาสนา

๒. ทรงศึกษาโดยการสดับพระธรรม เทปธรรมะ และการสนทนาธรรมกับพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ อาทิ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสนทนาธรรมกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และโปรดเกล้าให้สร้างตำหนักถวายสมเด็จพระสังฆราชขึ้นในบริเวณป่า ไม่ห่างจากพระตำหนักที่ทรงแปรพระราชฐาน เช่นที่ภูพิงคราชนิเวศน์ และที่ภูพานราชนิเวศน์ และเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาธรรมะด้วย ส่วนสถานที่ที่ทรงโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประจำทุกปี คือพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์วัน ทั้งได้ทรงจัดดอกไม้บูชาด้วยพระองค์เอง

๓. ทรงศึกษาจากหนังสือธรรมะ หนังสือธรรมะที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ คือหนังสือพระพุทธประวัติ ประวัติพระพุทธศาสนา ประวัติพระอริยสงฆ์ หนังสือชาดก หนังสือเรื่องกองทัพธรรม รวมทั้งหนังสือสวดมนต์ต่างๆ

จากการศึกษาธรรมะทั้ง ๓ ลักษณะ จึงยังผลให้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเข้าพระทัยหลักธรรมสำคัญๆ ในพระบวรพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง และได้ทรงน้อมนำพระธรรมเหล่านั้นมาทรงปฏิบัติ ส่งผลเป็นพระมหากรุณาธิคุณปกแผ่ไปทั้งมวลหมู่พสกนิกรทั้งในประเทศและประชาชนในประเทศใกล้เคียง ตลอดถึงประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศด้วย

 

ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบุญกิริยาวัตถุ และเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในหลากหลายรูปแบบ อาทิ

๑. ทรงบริจาคทาน ในหลากหลายลักษณะ ดังนี้

๑.๑ พระราชทานสังฆทาน ปกติทุกวันจันทร์ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถวายสังฆทานพระสงฆ์จำนวน ๑๕ รูป บนพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในแต่ละครั้งจะทรงนิมนต์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธานด้วยเสมอ นอกนั้นก็โปรดฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นๆ หมุนเวียนกันไป และ ทุกวันศุกร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถวายสังฆทานแห้งแด่พระสงฆ์สามเณรทั้งวัดที่ทรงเห็นว่าขาดแคลนมาก พร้อมทั้งพระราชทานปัจจัยเพื่อซื้ออาหารเพิ่มเติม

๑.๒ พระราชทานพระราชทรัพย์แก่โรงพยาบาลสงฆ์ เดือนละ ๒ หมื่นบาท เป็นค่ายา ค่าโลหิต ถวายพระสงฆ์อาพาธ และพระราชทานพระราชทรัพย์ไปยังโรงพยาบาลอื่นด้วย เช่น โรงพยาบาลโรคทรวงอก รวมทั้งบำรุงพระภิกษุอาพาธ และภิกษุบางรูปก็ทรงรับอยู่ในพระราชานุเคราะห์ด้วย

๑.๓ พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นกองทุนเพื่อทำนุบำรุงวัดต่างๆ เช่นวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี วัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งเป็น เปเป็นค่าน้ำค่าไฟ หรือ รถขนน้ำ แก่วัดที่อัตคัดขันสน และค่าบูรณปฏิสังขรณ์วัดทรุดโทรมอยู่เสมอ

๒. ทรงพระราชทานธรรมทาน แก่บรรดาข้าหลวงและผู้รับใช้ใกล้ชิด ให้ยึดมั่นในพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตรัสสอนว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้นประเสริฐนัก เพราะมนุษย์สามารถสร้างบุญสร้างกุศลได้ทุกวันเมื่อตื่นขึ้นมาให้มีสติอยู่กับตัว และให้คิดทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น ให้สร้างแต่กรรมดี ละเว้นกรรมชั่ว และยังทรงบันทึกเทปพระสุรเสียงของพระองค์เอง โดยทรงอ่านหนังสือเรื่องพระอานนท์พุทธอนุชา แล้วพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร แก่ผู้ที่อยู่ในความทุกข์ ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ที่สูญเสียผู้ใกล้ชิด ฯลฯ และทรงมีพระราชดำริให้การทำเครื่องปั้นดินเผาในโครงการศิลปาชีพ ให้นำเรื่องจากนิทานชาดกมาเขียนภาพบนเครื่องปั้นดินเผา โดยทรงอธิบายให้ผู้ทำทราบด้วยว่าภาพนั้นมาจากเรื่องอะไร หมายถึงอะไร และมีความหมายอะไร ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงเข้าพระทัยหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้งถึงขั้นพหูสูตทีเดียว

 

ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพระราชพิธี

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามโบราณขัตติยาราชประเพณีอย่างสม่ำเสมอ เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินและพระกฐินต้น แม้วัดบางแห่งจะอยู่ในท้องที่ทุรกันดารก็ตาม ทั้งในโอกาสทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแทนพระองค์ และโอกาสเสด็จพระราชดำเนินเป็นส่วนพระองค์ อนึ่งในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันฉัตรมงคล วันสงกรานต์ วันปิยมหาราชและวันสำคัญอื่นๆ ก็ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานตามโบราณขัตติยราชประเพณีในวันนั้นๆ ด้วยพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา

ทรงอุปถัมภ์สถาบันเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสงเคราะห์นี้เอง ที่เป็นเหตุได้รับการสดุดีพระเกียรติคุณและทูลเกล้าฯถวายรางวัลมากมาย อาทิ เหรียญเซเรส โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ รางวัลด้านมนุษยธรรม โดยสมาคมเอเชีย รางวัลมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยกลุ่มสนับสนุนพิพิธภัณฑ์เด็กแห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มหาวิทยาลัยทัฟท์ แห่งมลรัฐแมสซาชูเสท สหรัฐอเมริกา ได้ทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรม ฯลฯ

ส่วนงานด้านศาสนสงเคราะห์นั้น ได้ทรงบำเพ็ญควบคู่กับงานด้านสังคมสงเคราะห์ตลอดมา ที่สำคัญยิ่ง คือ

๑. ทรงรับ “ สถาบันแม่ชีไทย” ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์

๒. ทรงรับ “ มูลนิธิส่งเสริมพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์” ของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ฯลฯ

ด้วยพระราชกรณียกิจนานัปการ ที่ทรงบำเพ็ญธรรม ทรงธรรม และทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างของกัลยาณมิตรที่ดีให้ประชาชนชาวไทย ขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัย โปรดอภิบาลรักษาให้ทรงพระเจริญ มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน ทรงพระเกษมสำราญ พรั่งพร้อมไพบูลย์ด้วยจตุรพิธพรชัยทุกทิวาราตรีกาล เทอญ

 

 

วุฑฒิวงศ์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0058527986208598 Mins