ชีวิตในสังสารวัฏมีภัยมาก
ปรับกาย
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ
ให้นั่งขัดสมาธิโดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ
หลับตาของเราเบาๆ หลับตาพอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับพอสบายๆ
ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี ให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวกจะได้ไม่ปวด ไม่เมื่อย ขยับเนื้อขยับตัวให้ดี อย่าให้เกร็ง ทำตัวให้สบายๆ คล้ายๆ กับเราอยู่ที่บ้าน
ปรับใจ
ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ ว่างเปล่าจากอารมณ์เหล่านั้น จากความผูกพันในคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่อง ครอบครัวการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น ทุกเรื่องเลย ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วางทำประหนึ่งว่า เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีเครื่องกังวลใจอะไรเลย
ทุกสรรพสิ่งล้วนไปสู่จุดสลาย
เรามาเกิดในโลกนี้ชั่วครั้งชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าวก็จะหมดเวลากันไปแล้ว สังขารร่างกายของเราเสื่อมไปเรื่อยๆ ทุกวันอย่างที่เราไม่รู้สึกตัวกันเลย มารู้สึกตัวอีกทีต่อเมื่อความเสื่อมนั้นมันชัดเจนแล้ว
ร่างกายก็ต้องผุ ต้องพัง เสื้อผ้าที่ห่อหุ้มร่างกายเรา แว่นตาปากกา แหวนเพชร ก็ต้องผุพังไปสู่จุดสลายทั้งนั้น บ้านเรือนที่เราอาศัยก็ต้องผุพังกันไป รถที่เราอาศัยขับไปทำงานไปทำธุรกิจต่างๆก็ต้องพัง อย่าว่าแต่รถเลย ถนนหนทางที่เราใช้มันก็พัง บ้านเรือนผู้คนพังหมด ไปสู่จุดสลายหมด ภูเขาเลากาเขาก็ไปขุดไปทำลายกันมันก็พัง แม้กระทั่งโลกที่เราอยู่นี้ สักวันก็ต้องไปถึงกับวินาศด้วยดิน ด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องผุต้องพังกันไปทั้งหมด
ชีวิตในสังสารวัฏเป็นทุกข์
เรามาอยู่ในโลกนี้ชั่วคราวเท่านั้น ร่างกายที่เราอาศัยอยู่ก็ชั่วคราว คน สัตว์ สิ่งของที่เกี่ยวข้องกันก็ชั่วคราว เพราะฉะนั้นเราต้องหวนกลับมานึกว่า เรามาเกิดทำไม อะไรคือวัตถุประสงค์ของชีวิต
จากการศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านเป็นผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง ท่านได้สรุปชีวิตในสังสารวัฏเอาไว้ว่า ชีวิตในสังสารวัฏนี้มีแต่ภัยล้วนๆ ไม่มีความสุขเลย มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย แล้วการจะดำรงชีวิตให้ปลอดภัยจากอบาย ภัยในสังสารวัฏ หรือภัยใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่าย
ชีวิตในสังสารวัฏมีภัย เพราะทุกคนตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ที่นอกเหนือจากกฎของไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่เป็นอิสระ ความไม่เป็นตัวของเราเอง ยังตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม นอกเหนือจากกฎเกณฑ์ของทางบ้านเมืองกฎหมายอะไรต่างๆ สารพัด
กฎแห่งกรรม คือ กฎแห่งการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ว่าดีหรือชั่วล้วนมีผลทั้งสิ้น ทำดีทางกายวาจาใจ ย่อมได้รับผลดี ผลดีที่ทันตาเห็นก็มี ผลดีที่หลังจากละโลกไปแล้วก็มี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ทั้งทันตาเห็นและหลังจากตายแล้วก็มี ผลดีไม่มีปัญหา แต่ถึงจะดีอย่างไรก็ชั่วคราว ถ้าหากว่ายังขจัดกิเลสอาสวะซึ่งเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ไม่หมดไป มันก็ดีชั่วคราว
แต่ผลทุกข์นี่สิ มีอบายรองรับ ทุกข์ในเมืองมนุษย์มันประเดี๋ยวประด๋าวไม่กี่สิบปี เดี๋ยวก็หมดไปแล้วพร้อมกับกายมนุษย์ แต่ทุกข์ในอบายนั้น ในกำเนิดของสัตว์เดรัจฉาน เปรตอสุรกาย สัตว์นรกนั้นยาวนาน โดยเฉพาะในมหานรกตั้ง ๘ ขุมขุมบริวารและยมโลกรวมแล้ว ๔๕๖ ขุม นานเสียจนเรานึกไม่ถึงคือ นานไม่ใช่เป็นแค่หมื่นปี แสนปี ล้านปีเท่านั้น แต่หลายๆ พันล้านปีมนุษย์ หรือหลายๆ หมื่นล้านล้านปีมนุษย์ ยิ่งขุมลึกๆ ลงไปเท่าไร ก็ยิ่งนาน ไม่มีเวลาว่างเว้นจากความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสเลย นี่คือกฎเกณฑ์ที่เขาบังคับกันอยู่
เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงสอนให้รู้จักเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตอย่างนี้ แล้วก็หาทางหลุดพ้นจากวัฏฏะให้ได้หรืออย่างน้อยถ้าจะอยู่ในวัฏฏะก็ต้องอยู่ในระดับที่มีทุกข์น้อย สุขมาก ต้องมีสรณะ มีที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั่นแหละชีวิตจึงจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้นเราต้องรู้จักเสียก่อน
ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง
ทีนี้จะรู้ว่า อะไรแท้จริงหรือไม่แท้จริง เราจะต้องรู้จักสิ่งที่ไม่แท้จริงด้วย
สิ่งที่ไม่ใช่พระรัตนตรัย สิ่งนั้นไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม สิ่งที่เป็นพระรัตนตรัยเท่านั้นจึงจะเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ซึ่งมีอยู่ ๒ ระดับ คือ พระรัตนตรัยภายนอกกับพระรัตนตรัยภายใน
พระรัตนตรัยภายนอกเรารู้จักดี มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคำสอนของพระองค์ และพระสงฆ์ที่ทรงจำคำสอนเอาไว้ แต่แม้แต่พระสงฆ์ก็ยังต้องหาพระรัตนตรัยในตัวเป็นที่พึ่ง
ทีนี้พระรัตนตรัยที่จะเป็นที่พึ่งที่สมบูรณ์จริงๆ แล้ว นอกเหนือจากภายนอก ก็คือ พระรัตนตรัยในตัว
พระรัตนตรัยในตัว ตรงนี้ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ทั้งๆ ที่มีอยู่ในตัว และมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก แต่ไม่ได้นำมาศึกษากันไม่ได้นำมาฝึกฝน แล้วก็ไม่ได้นำมาสั่งสอน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นสิ่งที่เราต้องรู้จัก ต้องเข้าถึงให้ได้ ชีวิตจึงจะปลอดภัยอย่างแท้จริง
พระรัตนตรัยภายในนี้ มีอยู่ในตัวของมวลมนุษยชาติทุกคน ไม่ว่าจะเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใด มีอยู่ในตัวพระ ในตัวเณร ในตัวญาติโยม อุบาสก อุบาสิกา สาธุชนมีอยู่ในตัวของเรานี่แหละ เป็นกายที่สวยงามมาก
กายของพุทธรัตนะ ซึ่งเป็นแก้ว เป็นเพชร แต่ความจริงใสกว่านั้น ที่ต้องเทียบกับแก้วกับเพชร เพราะมนุษย์รู้จักเพียงเท่านั้นแต่ความเป็นจริงแล้ว ท่านใสเกินใส ใสกว่านั้น งามไม่มีที่ติ เพราะประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษครบถ้วนทุกประการ
จะรู้จักลักษณะมหาบุรุษต้องเข้าไปถึงท่านนั่นแหละ ท่านมีเกตุดอกบัวตูมเหมือนดอกบัวสัตตบงกชตั้งอยู่บนจอมกระหม่อมไม่ใหญ่ไม่เล็ก กำลังสวย เป็นลักษณะพิเศษของมหาบุรุษ บนพระเศียรมีเส้นพระศก (เส้นผม) เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ขดเวียนเป็นทักษิณาวรรต หมุนขวาตามเข็มนาฬิกา อยู่บนพระวรกายของท่านที่สวยงาม ในอิริยาบถเดียว คือ อิริยาบถนั่งขัดสมาธิเจริญสมาธิภาวนา
นี่คือ พุทธรัตนะ เป็นกายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว คือ พอเราเข้าไปถึงท่านแล้ว ก็รู้ว่าท่านผู้นี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง แล้วก็รู้ว่ามีวิญญาณของพระบรมครู บรมศาสดา พร้อมที่จะนำความรู้ที่เป็นเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต เป็นสาระแก่นสารมาเปิดเผย เป็นผู้ตื่น ตื่นตัวตลอด เป็นผู้เบิกบาน มีชีวิตชีวา เบิกบานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กายนี้แหละที่เรียกว่า พุทธรัตนะ
ธรรมรัตนะ อยู่ในกลางพุทธรัตนะ เป็นดวงใสๆ เป็นคลังแห่งความรู้ ๘๔,000 พระธรรมขันธ์
สังฆรัตนะ คือ พระธรรมกายที่ละเอียด ซึ่งอยู่ในกลางธรรมรัตนะที่เป็นดวงใสๆ กายสังฆรัตนะก็เหมือนธรรมกาย แต่ละเอียดกว่า โตเท่ากัน
๓ อย่างนี้ เป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง เพราะว่าท่านพ้นจากกฎของไตรลักษณ์และกฎแห่งกรรม รวมทั้งกฎเกณฑ์ทั้งปวง เป็นตัวของตัวเอง เป็นนิรันดร เป็นอิสระ เป็นแหล่งกำเนิดแห่งความสุขที่แท้จริงทั้งหมดเลย และมีธัมมจักขุ มองเห็นได้รอบตัวทุกทิศทุกทางในเวลาเดียวกัน มีญาณทัสสนะ มีจักขุ มีญาณ มีปัญญาวิชชา และแสงสว่าง จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญาอุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ สรุปคือ จักขุ ญาณปัญญา วิชชา แสงสว่าง รวมประชุมอยู่ในท่าน
ทั้งหมดนี้มีอยู่ในกายของเราและชาวโลก มีหมดในมวลมนุษยชาติขึ้นชื่อว่ามีมนุษย์อยู่ที่ไหน มีพระรัตนตรัยอยู่ตรงนั้นอยู่ในกลางตัว นี่แหละคือที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง สิ่งอื่นไม่ใช่ เข้าไปถึงแล้วจะมีความสุขอย่างไม่มีประมาณแบบพูดไม่ออกบอกไม่ถูกจะมีความรู้แจ้ง เห็นแจ้งแทงตลอด จะมีกำาลังใจ พลังใจไม่มีที่สิ้นสุดในการอยากจะสร้างความดี และจะเอาชนะสิ่งไม่ดีได้
ถ้าเราเข้าถึงได้แล้ววิชชาจะเกิดขึ้น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ รู้การเกิดขึ้นและดับไปของสรรพสัตว์ทั้งหลาย หรือรู้เรื่องราวเกี่ยวกับกฎแห่งกรรมได้ อาสวักขยญาณทำอาสวกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ หรือความไม่รู้อะไรต่างๆ นั้นให้หมดสิ้นไปได้
๓ อย่างนี้มีอยู่ในตัวของเรา ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมืออยู่ในกลางท้องของเราตรงนี้
ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้
พระพุทธเจ้าเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวในวันเพ็ญ เดือน 5ขึ้น ๑๕ คํา พระองค์ประทับนั่งอยู่ใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้ที่ใต้ต้นไม้นี้ พระพุทธองค์ไม่ได้ทำอะไรเลยนอกจากทำใจให้หยุดให้นิ่ง ปล่อยวางทั้งหมด นิ่งเฉยอย่างเดียว
เมื่อถูกส่วนก็จะตกศูนย์เข้าไป เห็นดวงธรรมใสบริสุทธิ์ลอยขึ้นมาเป็นดวงกลม กลมเหมือนดวงแก้วที่เจียระไนแล้ว ใสอย่างน้อยก็เหมือนน้ำใสๆ หรือเหมือนกระจกคันฉ่องที่ส่องเงาหน้าใสๆหรือเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว หรือใสเกินใส เกินกว่าความใสใดๆ ในโลก
กลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ยามเที่ยงวันหรือเกินไปกว่านั้น แล้วแต่บารมีของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน จะปรากฏชัด ใส แจ่ม เมื่อใจเราหยุดนิ่งถูกส่วน ตกศูนย์ลงไปแล้วกายเราแวบหายไป เป็นความรู้สึกที่ร่างกายหายไป จะมีแต่ดวงใส ๆ ปรากฏขึ้นมา
ธรรมดวงนี้ พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สดจนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัส-สนาสติปัฏฐาน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า ดวงปฐมมรรค นี่คือจุดเริ่มต้นในการเดินทางไปสู่อายตนนิพพาน ในการเข้าไปถึงพระรัตนตรัยในตัว เพื่อให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะดังกล่าว และไปสู่อายตนนิพพานได้
ดวงปฐมมรรคนี้ที่จะทำให้เราเดินทางไปสู่อายตนนิพพานได้ถูกต้อง และปลอดภัย แถมมีชัยชนะด้วย
ธรรมดวงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใจเราหยุดนิ่ง แล้วก็จะเห็นไปตามลําดับ เห็นกายในกายเห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เห็นไปตามลำดับ ซึ่งซ้อนๆ กันอยู่ภายใน ซ้อนกันอยู่ภายในกาย เวทนา จิต ธรรม มีกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดาบันกายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต ก็จะเข้าถึงพระธรรมกายได้ จะเห็นไปตามลำดับอย่างนี้
วิธีปฏิบัติธรรม
เบื้องต้นที่สําคัญที่สุด คือ การฝึกใจให้หยุด ให้นิ่ง ใจจะหยุดนิ่งได้ก็ต่อเมื่อทิ้งเรื่องราวภายนอก และเครื่องกังวลต่างๆ แล้วมาหยุดนิ่งๆ ใจมีหลักยึดติดอยู่ภายใน คือในกลางกายของเราหรือในกลางท้องของเรา ในระดับเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดนิ่ง ก็แค่ทำใจให้หยุดเฉยๆ เอามาอยู่ภายใน แล้วผูกใจไว้กับบริกรรมนิมิต กับบริกรรมภาวนา
บริกรรมนิมิต คือ กําหนดสมมติสร้างภาพขึ้นมาในใจ เป็นดวงใสๆ หรือเป็นพระแก้วใสๆ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เราคุ้นเคยเราถนัดอย่างไหนก็เอาอย่างนั้น ขนาดใหญ่หรือเล็กก็แล้วแต่ใจเราชอบ แต่ต้องนึกอย่างสบายๆ อย่าให้ตึง อย่าให้เกร็ง อย่าไปเพ่ง อย่าไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้อง แค่ค่อยๆ นึกอย่างธรรมดาเหมือนเรานึกถึงขันล้างหน้า นึกถึงดอกกุหลาบ ดอกบัว คนที่เรารัก ของที่เรารัก ที่เราคุ้นเคยอะไรอย่างนั้น ให้นึกธรรมดาอย่างนั้น
นึกเป็นดวงใสๆ หรือพระแก้วใสๆ ในกลางท้อง นึกอย่างใดอย่างหนึ่ง เอาอย่างเดียว นึกอย่างสบายให้ต่อเนื่องกันไป อย่าเผลอเอาลูกนัยน์ตากดลงไปดู หรือเผลอไปคิดเรื่องอื่น ให้นึกไปเรื่อยๆไม่ชัดก็ไม่เป็นไร หรือชดเป็นบางส่วนก็ไม่เป็นไร ให้ดูไปเรื่อยๆ นึกไม่ออกก็ไม่เป็นไรอีกเหมือนกัน เอาใจหยุดนิ่งๆ เบาๆ เฉยๆ
บริกรรมภาวนา พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนาในใจว่าสัมมาอะระหัง ภาวนาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ กี่ครั้งก็ได้ จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนา อยากจะหยุดนิ่งเฉยๆ เมื่อเกิดความรู้สึกอย่างนี้ไม่ต้องย้อนกลับมาภาวนาใหม่ ให้รักษาใจหยุดนิ่งต่อไปเรื่อยๆท้าอย่างนี้ แค่นี้เท่านั้น ไม่ช้าเราจะเห็นไปตามลำาดับ กระทั่งเข้าถึงพระรัตนตรัยที่อยู่ในตัว ถึงพระธรรมกายในตัว