มูลรากแห่งธรรม

วันที่ 30 สค. พ.ศ.2547

 


.....
รอยเท้าของสัตว์ทั้งหมดทั้งสากลจะเป็นสี่เท้าสองเท้าไม่เข้าใจต้องประชุมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้างน่ะเป็นของใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์อื่นหมดทั้งสิ้น ฉันใดก็ดี ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศลที่ดีน่ะ หมดทั้งสกลพุทธศาสนา หมดทั้งพระไตรปิฎกทั้งหลายที่เป็นกุศลนั่น ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูลรากนั่นแน่ อปปมาทมูลกา มีความไม่ประมาทเป็นต้นเค้า มีความไม่ประมาทเป็นมูลราก อปปมาทสโมสรณา ประชุมลงในความไม่ประมาทเหมือนรอยเท้าสัตว์อื่นประชุมลงในรอยเท้าช้าง

ธรรมที่เป็นกุศลทั้งหมดประชุมอยู่ในความไม่ประมาททั้งนั้น นี้หลักพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ ไม่ให้ประมาท เมื่อไม่ประมาท ความดีมีเท่าไหร่ในพระพุทธศาสนา ในธาตุในธรรม ย่อมประชุมลงในความไม่ประมาท คนไม่ประมาท ผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทแล้ว คนมีธรรมควรไหว้ควรเคารพควรนับถือทีเดียว คนมีธรรมคนตั้งอยู่ในธรรมนี้ แลความไม่ประมาทนี้นักปราชญ์สรรเสริญนัก อปปมาโท เตสํ อคคมกขายติ ว่าเลิศประเสริฐกว่าธรรมทั้งหลาย แล้วกล่าวไว้อีกหลายนัย อปปมาทรโต วิโรจติ ผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทย่อมรุ่งโรจน์ทีเดียว เป็นของไม่ใช่พอดีพอร้าย เพราะฉะนั้นความประมาทและความไม่ประมาทนี้ นักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญความไม่ประมาทว่าเป็นธรรมของนักปราชญ์บัณฑิตชาติทั้งหลาย ดำเนินอยู่เนืองนิตย์ อัตราความประมาทนักปราชญ์ทั้งหลายติเตียนว่า เป็นทางไปของคนเมา ของคนไม่มีสติ ของคนพลั้งเผลอ ของคนพาล ไม่ใช่ทางไปของบัณฑิต ความไม่ประมาทเป็นทางไปของบัณฑิตแท้ๆ

ใครเป็นคนไม่ประมาทในสากลโลก เมื่อครั้งพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ พระบรมศาสดาเป็นผู้ไม่ประมาท พระอรหันต์ทั้งหลายที่ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วเป็นผู้ไม่ประมาท ก็ได้แก่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์น่ะซิ เป็นผู้ไม่ประมาทนั่นอย่างสูง อย่างเด็ดขาดไม่ประมาทแท้ๆ ถ้าจะลดส่วนกว่านั้นลงไป

พระอนาคาก็ไม่ประมาทตามส่วนของท่าน ทั้งมรรค ทั้งผล พระสกทาคาก็ไม่ประมาทตามส่วนของท่าน ทั้งมรรค ทั้งผล พระโสดาก็ไม่ประมาทตามส่วนของท่าน ทั้งมรรคทั้งผล โคตรภูบุคคลที่มีธรรมกายแล้วก็ไม่ประมาทเหมือนกัน มีความประมาทน้อย ความไม่ประมาทมีมาก ถ้าปุถุชนแท้ๆ ละก็น้อยคนจึงจะมีความไม่ประมาทมาก มีความประมาทมากโดยมาก มีความประมาทน้อยโดยน้อย นี้ความจริงเป็นเช่นนี้

เมื่อรู้จักความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ดีที่หายาก ถ้าว่าเราตั้งอยู่ได้ในความไม่ประมาทคอยนึกถึงความเสื่อมไป มีอารมณ์อยู่ไม่ใช่ไม่มีอารมณ์ ว่าตั้งใจว่าเรานึกถึงความเสื่อมนี้ ว่าตั้งแต่นี้ไป เมื่อรู้เมื่อเข้าใจแล้ว จะนึกถึงความเสื่อมในสกลร่างกายนี้ไม่ขาดอยู่ จะเอาใจจรดอยู่ที่ความเสื่อมนั่นแหละ เราจะนึกถึงความเสื่อมของตนนึกถึงความเสื่อมบุคคลผู้อื่น เมื่อลืมตาขึ้นเห็นภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา แน่ะ ความเสื่อมมันแสดงให้ดู นั่นแปรผันไปถึงแค่นั้น แล้วนั่นก็แปรผันไปถึงแค่นั้น ประเดี๋ยวก็ตายให้ดู แน่ะ ทำให้ดูแล้ว ได้ยินเสียงพระสวดก็ดี เห็นโลงก็ดี แน่ะเป็นอย่างนี้แหละ หมดทั้งสากลโลกเราก็เป็นอย่างนี้

เพราะเหตุฉะนั้นเมื่อบุคคลไม่เผลอในความเสื่อมเช่นนี้ ไม่พลั้งไม่เผลอละก็ นั่นแหละผู้นั้นแหละได้ชื่อว่า ได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พระจอมปราชญ์สรรเสริญนัก ถ้าว่าแม้จะเป็นพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ทั้งหญิงชาย คฤหัสถ์ บรรพชิต ทุกถ้วนหน้า ถ้าผู้มีใจจรดอยู่ในความเสื่อมไม่พลั้งเผลอละก็ เป็นเจอซึ่งสมบัติทั้งภพนี้ต่อไปภายหน้า สมบัติในภพนี้ก็เป็นคนมั่งมีทีเดียว สมบัติในภายหน้าก็จะไม่เลินเล่อเผลอตัวทีเดียว เหมือนอย่างกับเราท่านทั้งหลายเป็นนักบวชเหล่านี้ เป็นอุบาสกอุบาสิกาเหล่านี้ นี่ก็เพราะอาศัยเราเห็นว่ามีความเสื่อม เห็นมีความเสื่อมอย่างไร ก็เราเห็นนี่ เราเกิดมาถึงแค่นี้แล้วเราก็ต้องตายแน่ นั่นแน่มันไปเห็นอ้ายต้องตายแน่นั้น นั่นไปเห็นความเสื่อมแล้วนี่ นี้จึงได้แสวงหาธรรมในพุทธศาสนา แสวงหาบุญกุศลน่ะ รู้จะต้องละโลกนี้แล้วไปสู่ปรโลกเบื้องหน้า แสวงหาสิ่งที่เป็นที่พึ่งของตน นี่เพราะเห็นความเสื่อมเข้าแล้วนี่ ถ้าไม่เห็นความเสื่อมมันจะอย่างนี้อย่างไรเล่า เพราะมันเห็นความเสื่อมเข้าแล้ว ความเสื่อมอันนี้แหละ เมื่อเช่นนั้นแล้วให้อุตส่าห์มั่นคงอยู่ในอธิศีล ให้อุตส่าห์มั่นคงอยู่ในอธิจิต ให้อุตส่าห์มั่นคงอยู่ในอธิปัญญา

อธิศีล เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน นี่ตรงนี้เราต้องเข้าใจ วัดปากน้ำทั้งหญิงและชาย ทั้งภิกษุสามเณร ทั้งอุบาสกอุบาสิกาเขาเข้าถึงอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาเป็นพื้นเชียวมีมากนัก ตั้ง ๑๐๐ ที่เราบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจาน่ะ นั่นเป็นแค่ศีลนะ ศีลบริสุทธิ์ เป็นแต่ศีลบริสุทธิ์ เราบริสุทธิ์เจตนานั่นก็เป็นแต่เจตนาศีลน่ะ เราบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา ก็เป็นสังวรศีลสำรวมระวังไว้ เราบริสุทธิ์เจตนาคิดอ่านทางใจมั่น เป็นเจตนาศีลนะ ไม่ใช่อธิศีลหรอก ยังไม่ถึงอธิศีล ถ้าถึงอธิศีลแล้วละก็เห็นเป็นดวงกลมใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์นั่น อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า เท่าดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์กลม อยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่นแหละ ถ้าเห็นศีลดวงนั้นเข้าแล้วละก็ นั่นแหละเขาเรียกว่า อธิศีล

เมื่อไปรู้จักอธิศีลแล้วละก็ อธิจิตก็อยู่ในกลางดวงอธิศีลนั่นแหละ ดวงเท่าๆ กับอธิศีล ที่กายวาจาเราสงบก็ดี เพราะอาศัยจากใจของเราเจตนาสงบดี นั่นเป็นสมาธิ เป็นสมาธิแต่ภายนอก ไม่ใช่สมาธิสำคัญ

เมื่อเข้าถึงอธิจิตอยู่ในกลางดวงของศีลนั่นดวงเท่าๆ กัน ดวงเท่ากับดวงศีลอยู่ในกลางดวงของศีลนั่น เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ถ้าเข้าถึงอธิจิตเช่นนั้นละก็ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มั่นคงละ ไม่โยกไม่คลอนไปตามใครละ เข้าถึงอธิจิตเสียแล้ว

 

……………………………………( จบตอน )…………………………………


ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014996488889058 Mins