ประเพณีทอดกฐิน (ตอนที่ 2)

วันที่ 04 พย. พ.ศ.2548

                                                  

        การทอดกฐินในประเทศไทยเรา ซึ่งนิยมปฏิบัติกันอยู่ ในขณะนี้ มีอยู่ 2 อย่าง คือ พระอารามใดเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จราชดำเนินไปพระราชทานผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เองบ้าง ได้พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ไปถวายผ้ากฐินแทนพระองค์บ้าง ได้พระราชทานให้กระทรวงทบวงกรมกองต่าง ๆ ไปทอดบ้าง ซึ่งเรียกว่า “กฐินพระราชทาน” หรือ “กฐินหลวง” ถ้าเป็นวัดราษฎร์ชาวบ้านก็จัด การทอดกันเอง หรือบางทีก็ร่วมกันทอด ซึ่งเรียกว่า “กฐินสามัคคี” และก่อนที่จะทอกกฐินนั้นก็ได้ปิดป้ายไว้หน้าวัด หรือที่ศาลาการเปรียญ ซึ่งเรียกว่า “จองกฐิน” ป้ายปิดประกาศนี้ มักจะปิดไว้ตั้งแต่ในพรรษา เพื่อจะให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้พบเห็น แล้วจะได้มาเข้าร่วมทำบุญด้วย อำนาจบุญกุศลที่ได้ถวายผ้ากฐินนี้ เป็นกุศลผลบุญที่ใหญ่หลวงผู้ถวายจะปรารถนา ซึ่งอิฏฐวิบูลยผลใด ๆ ในสัมปรายภพ ก็จะให้สำเร็จได้ดังมโนรถความปรารถนา หรือถ้าจะปรารถนาพุทธภูมิก็ดี ปัจเจกภูมิก็ดี สาวิกาภูมิก็ดี เมื่อมีวาสนาบารมีแก่กล้าแล้วก็จะได้สำเร็จดังมโนปณิธาน ความปรารถนา เหมือนดังพระเจ้าจิตรราชบรมโพธิสัตว์ เจ้าที่ได้ถวายผ้ากฐินทาน แก่พระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ตั้งพระปณิธานความปรารถนาขอให้ได้พุทธภูมิ ก็ได้สำเร็จดังพระราชประสงค์ทุกประการ คือ เมื่อพระบารมีแก่กล้าแล้ว พระเจ้าจิตรราชนั้นก็ได้มาตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ได้เป็นองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ ซึ่งมีมานานแล้วใน “อติเทวราชชาดก” ที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงพระปรารภบุพจริยาของพระองค์ให้เป็นต้นเหตุแล้วพระองค์ให้ทรงนำมาตรัสเทศนา ให้แก่ภิกษุทั้งหลายที่ได้ประชุมสนทนากันอยู่ในธรรมสภาด้วย เรื่องที่พระนารทเถรเจ้านั้นได้ทราบว่า การถวายผ้ากฐินมีอานิสงส์ผลมาก ดังแสดงมาแล้วนี้ จึงไปชักชวนหมู่ญาติทั้งหลายให้พร้อมเพรียงกันจัดผ้ามาถวายเป็นผ้ากฐินทานแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์ก็ได้ทำกฐินนัตถารกิจ มีเย็บ กราน และทรงกระทำอนุโมทนา เป็นต้น ภิกษุที่ประชุมสนทนากันอยู่ที่ธรรมสภาได้กล่าวกันว่า เป็นเหตุที่น่าอัศจรรย์

     ในชาดกนั้นมีเนื้อความตามวาระพระบาลีว่า “อตีเต ภิกฺขเว สารกปฺเป รมฺมวตี นคเร กณฺฑญฺโญ นาม ภควา โลเก อุทปาทิ” ดังนี้เป็นต้น มีเนื้อความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลล่วงมาแล้ว ในครั้งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโกณฑัญญะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นในเมืองรัมมมวดี ในสารกัลป์ พระโกณฑัญญะพุทธเจ้านั้น มีพระพุทธบิดาทรงพระนามว่า “อานันราช” มีพระพุทธมารดาทรงนามว่า “สุชาดา” มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า “สุบินเทวี” พระโกณฑัญญะพุทธเจ้านั้น ได้เป็นฆราวาสครองราชสมบัติอยู่หมื่นปี ได้เสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ด้วยยานพาหนะ ทรงกระทำความเพียร 10 เดือน แล้วพระองค์ก็ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณที่โคนต้นไม้ “ขานาง” เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฎขึ้นในโลก มีพระภิกษุสงฆ์ประมาณแสนโกฎิเป็นพุทธบริวาร ได้เสด็จโปรดเวไนยสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นอันดับมา จนเสด็จบรรลุถึงเมือง “อรัญญวดี” ที่เมือง “อรัญญวดี” นั้น พระบรมโพธิสัตว์ ผู้เป็นพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ ได้กำเนิดเป็นพระบรมจักรพรรดิราช ทรงพระนามว่า “จิตรราช” มีอำนาจแผ่ไปในทวีปใหญ่ทั้ง 4 และมีทวีปน้อยอีก 2 พัน เป็นบริวาร เมื่อพระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดิ์นั้น ได้ทรงทราบว่า พระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาถึงพระนครของพระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงมีพระราชหฤทัย ประกอบไปด้วยพระปีติโสมนัสยิ่งนักหนา พระองค์จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับ พร้อมด้วยราชบริพารเป็นอันมาก เมื่อถึงแล้วจึงได้ถวายอภิวาทวันทนาด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ได้เชิญเสด็จพระเจ้าจิตรราชนั้นพร้อมด้วยราชบริพารก็ได้ถวายมหาทานต่าง ๆ เมื่อเสร็จจากภัตตกิจแล้ว พระองค์จึงทรงถือเอาพระเต้าทอง หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงที่เหนือ่พระหัตถ์ เมื่อพระโกญฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เสด็จเข้าสู่พระราชนิเวศน์ ของพระองค์เสร็จแล้ว ได้ทรงให้ตัดถางอัญชนอุทยาน ซึ่ง เป็นราชอุทยานของพระองค์ถวายเป็นพุทธานิวาสของพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ พระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็ได้เสด็จจำพรรษาอยู่ในอัญชนราชอุทยานนั้น พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์แสนโกฏิที่เป็นพุทธบริวาร พระเจ้าจิตรราชจักรพรรดิ์นั้น ก็ได้ทรงถวายมหาทานเป็นนิตย์มิได้ขาด ครั้นถึงกำหนด ครบไตรมาสแล้ว พระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์พุทธบริวารก็ได้ทรงทำปวารณาพรรษาแล้ว พระเจ้าจิตรราชมีพระราชประสงค์จะทรงบริจาคมหาทานอันยิ่งใหญ่ จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ป่าวร้องประชาชนชาวชมพูทวีปทั้งสิ้น แต่บรรดาที่มีอยู่ในทวีปใหญ่ทั้ง 4 ให้ประดับตกแต่งพระนครของพระองค์ ด้วยอลังการอันวิจิตรต่างๆ ให้ประดับตกแต่งหนทางที่จะไปยังเทวราชอุทยานอัญชนะนั้นด้วยธงชัย ธงแผ่นผ้า ให้ปลูกต้นกล้วย ต้นอ้อยไว้ตามข้างทั้งสองของมรรคา จนตราบเท่าถึงอัญชนราชอุทยาน และตลอดถึงพระราชนิเวศน์ของพระองค์ ให้เสร็จเรียบร้อยทุกประการ ครั้นเวลารุ่งเช้า สมเด็จพระเจ้าจิตรราชบรมจักรพรรดิราช ก็เสด็จสระสรงสนานเสร็จแล้ว ทรงประดับประดาพระองค์ด้วยเครื่องอลังการวิภูษิต แล้วทรงวางผ้าคู่ลงในพานทอง แล้วทูนด้วยพระเศียรของพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปโดยมรรคานั้น แล้วให้ได้ราชบริพารทั้งหลาย ถือเอาคู่ผ้าคนละคู่ ๆ และถือเอาเครื่องสักการะคนละสำรับ ได้เสด็จไปตามมรรคาที่พระองค์ได้ให้ตกแต่งไว้นั้น ครั้นถึงอารามอันชื่อว่าอัญชนอุยานแล้ว ก็ได้ทรงถวายคู่แห่งผ้าเพื่อกฐินแก่พระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระโกณฑัญญพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วทรงเปล่งวจีเภทขึ้นว่า “ข้าพเจ้าขอถวายผ้ากฐินแด่ พระภิกษุสงฆ์” ดังนี้ เมื่อเสร็จจากพิธีถวายผ้ากฐินแล้ว ก็ทรงประทับอยู่ ณ บนราชอาสน์อันสมควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วจึงทรงอังคาสพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระโกณฑัญญพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยภัตตาหารมีรสเลิศต่าง ๆ มีข้าวยาคู เป็นต้น ในลำดับนั้น สมเด็จพระโกณฑัญญสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เสด็จประทับ ณ ท่ามกลางแห่งพระภิกษุสงฆ์ ฝ่ายพระเถรเจ้าผู้เป็นธรรมเสนาบดีชื่อว่า พระภัททานิกรรมก็ได้กรานกฐินนั้น ครั้นเสร็จจากการกรานกฐินแล้ว พระโกณฑัญญพุทธเจ้าก็เสด็จประทับในท่ามกลางพุทธบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา (ติดตามต่อฉบับหน้า)

คัดจากหนังสือประเพณีไทยฉบับพระมหาราชครู

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0087217489878337 Mins