รับเบียร์เข้าตลาดหุ้น ขัดยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่ 07 ตค. พ.ศ.2548

               

+

                         

                                                                            
                                                                                          

         กรณี บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “เบียร์ช้าง” จะเข้าตลาดหุ้นนั้น ตอนนี้เห็นชัดว่ามีทั้งฝ่ายค้านและสนับสนุน โดยมีสื่อมวลชนทำตัวเป็นกลางพยายามเสนอแง่มุมทั้ง 2 ฝ่าย   ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่า เป็นการช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ด้วยการนำธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยต้องมุ่งเน้นเฉพาะพันธกิจที่ตลาดหลักทรัพย์รับผิดชอบในวงจำกัด คือ ระบบเศรษฐกิจ การเงินการคลังของประเทศ   ในขณะที่คุณจำลองและเครือข่ายงดเหล้า มองว่า แม้อาจทำให้ ตัวเลขมูลค่ารวมของตลาดหุ้นไทย (Market Cap.) สูงขึ้น คนมีรายได้มากขึ้น แต่นั่นเป็นเพียงกลุ่มผู้ที่ซื้อขายหุ้น ซึ่งเป็นเพียงร้อยละ ๑ ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่รัฐบาลกำลังเร่งแก้ปัญหา และยังไม่รวมถึงปัญหาสังคมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

 

        ขัดยุทธศาสตร์ที่ ๑ ขจัดความยากจน

        ถ้าพิจารณาในระยะยาวจะพบว่า เป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ซึ่งขัดกับยุทธศาสตร์ที่๑ คือ การขจัดความยากจน   เพราะเมื่อเข้าตลาดหุ้นได้ มีเงินทุนผลิตมากขึ้น ก็ย่อมปรับปรุงระบบการผลิตให้มีกำลังมากขึ้น มีต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำลง และสามารถขยายตลาดให้กว้างขึ้น กลุ่มตลาดที่ใหญ่ขึ้นย่อมขยายกว้างไปถึงคนทุกระดับรวมทั้งในระดับรากหญ้าด้วยอย่างแน่นอน และประชาชนจะถูกกลไกทางการตลาดชักจูงให้ใช้จ่ายเงินไปกับสินค้าประเภทนี้ด้วยอัตราส่วนที่มากขึ้น

         ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ประชากรในประเทศเสียเงินเพื่อบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึง ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งหมายถึง เงินจำนวนมหาศาลนี้สูญเสียไปกับอบายมุขที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีอันใดต่อเศรษฐกิจของบุคคลและครัวเรือน แทนการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น การลงทุนหรือการออม ถ้ามีการกระตุ้นการขายมากขึ้น แต่ไม่มีการสร้างแนวป้องกันการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเช่นนี้แล้ว รัฐบาลจะขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างไร?

 

        ขัดยุทธศาสตร์ ๒ การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ

        รายงานขององค์การอนามัยโลกประจำปี ค.ศ.๒๐๐๒ ระบุว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างภาระทางสุขภาพมากกว่าสารเสพติดซึ่งผิดกฎหมายถึง ๕ เท่า การดื่มน้ำเมาเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สร้างภาระโรคเป็นอันดับที่ ๕ โดยเป็นสาเหตุของโรคร้ายกว่า ๕๐ ชนิด เช่น ตับอ่อนอักเสบ ตับแข็ง ตับวาย มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งปาก และสมองถูกทำลายแบบเฉียบพลัน เป็นต้น รวมทั้งเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า โรคจิต โรคประสาท และการฆ่าตัวตาย

        สถิติจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าร้อยละ ๗๒.๗ ของอุบัติเหตุรถยนต์เกิดขึ้นหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตปีละหลายหมื่นคน ซึ่งแม้ผู้ที่ไม่ได้ดื่มก็ตกเป็นเหยื่อของคนที่เมาแล้วขับ และยังเป็นสาเหตุให้ครอบครัวจำนวนมากต้องแตกร้าว เหตุการณ์ที่สามีเมาสุราอาละวาดทุบตีทำร้ายภรรยาและลูกเกิดขึ้นทุกวัน ผู้หญิงและเด็กวันละนับล้านคนต้องประสบกับความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจโดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุ

        ข้อมูลจากคดีอาญาศาลจังหวัดพบว่า การดื่มมีความเกี่ยวข้องกับคดีในฐานความผิดต่างๆ ประกอบด้วย ทำให้เสียทรัพย์ร้อยละ ๕๙.๑ ความผิดเกี่ยวกับเพศร้อยละ ๓๔.๘ ความผิดต่อร่างกายร้อยละ ๒๐.๘ ความผิดฐานบุกรุกร้อยละ ๑๖.๑ และความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราร้อยละ ๑๐.๕   ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นบ่อเกิดของปัญหาสุขภาพ ครอบครัว และสังคมต่อประชาชนโดยรวม และเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดการพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ ธุรกิจน้ำเมาจึงไม่เข้าข่ายธรรมาภิบาล ตามหลักธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่เน้นกำไรอย่างเดียว แต่ต้องมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงบุคคลและสังคมที่มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

 

        ขัด ๖ ยุทธศาสตร์ของประเทศ

        ว่ากันตามจริงเรื่องนี้เห็นได้ชัดว่า ขัดกับยุทธศาสตร์ของประเทศ และเป็นอุปสรรคในดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายสำคัญของประเทศที่รัฐบาลที่ตั้งไว้ทั้ง ๖ ประการ คือ ๑.เศรษฐกิจฐานรากดี ประชาชนหายจน ๒.สังคมมีคุณธรรม ๓.การพัฒนาสู่การเป็นสังคมฐานความรู้ ๔.มีโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงอาชีพ ๕.ประชาชนมีสุขภาพเข้มแข็ง และ ๖.สังคมมีความสันติสุข เพราะเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาคุณธรรมและความรู้ให้แก่ผู้ขาดสติเพราะดื่มของมึนเมาได้ และตามปกติผู้ติดสุราก็ไม่มีพลังผลักดันตนเองให้ขยันทำมาหากินเพื่อดำรงชีพ ส่วนในเรื่องที่จะสร้างสังคมให้มีสันติสุขในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนขี้เมาก็คงไม่ต้องหวังเช่นกัน

         ดังนั้น ในฐานะที่ ทั้ง กลต. และ ตลท. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่ง คุณทนง พิทยะ กุมบังเหียนอยู่ในขณะนี้ จึงสมควรแล้วที่ต้องพิจารณาทบทวนกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะมีความเป็นไปได้มากที่เป้าหมายทั้ง ๖ ประการที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ อาจจะต้องล้มเหลวอย่างแน่นอน ถ้าภาครัฐส่งเสริมให้ธุรกิจเหล้าเบียร์เติบโตไปเรื่อยๆ เช่นนี้ !!!

 

- ปรัชญา ประกาศชัย -

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0062152504920959 Mins