วันมาฆบูชา

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2550

วันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า เป็นวันของพระธรรม ถือว่าเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศหลักธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ เพื่อให้พระอรหันต์ทั้งหลาย ที่มาประชุมกันในวันนั้น นำไปเผยแผ่
เป็นวันบูชาพิเศษที่ต้องทำในวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือในวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ( ซึ่งโดยปกติทำกันในกลางเดือน ๓ แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด ก็เลื่อนไปกลางเดือน ๔ ) ถือกันว่าเป็นวันสำคัญ เพราะวันนี้ เป็นวันคล้ายกับ วันประชุมกันเป็นพิเศษ แห่งพระอรหันตสาวก โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งได้มีขึ้น ณ บริเวณเวฬุวันมหาวิหาร หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลานับได้ ๙ เดือน

จากตอนเย็นของวันเพ็ญเดือน ๓ นี้ พระพุทธองค์ ได้เสด็จลงจากยอดเขาคิชฌกูฏ มายังวัดเชตวัน ปรากฏว่ามีพระอรหันต์มาประชุมกัน ณ วัดเวฬุวัน อยู่แล้ว มีจำนวน ๑,๒๕๐ องค์ เป็นจำนวนพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระอุรุเวลกัสสปเถระ พระนทีกัสสปเถระ และพระ คยากัสสปเถระ รวม ๑,๐๐๐ องค์ กับพระอรหันต์ซึ่งอยู่ในคณะของพระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ ๒๕๐ พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการที่จะทรงแสดงคำสอนที่เป็นหลัก หรือเรียกว่า “โอวาทปาติโมกข์” (โอวาท=คำสอน โอวาท ปาติโมกข์ หรือปาฏิโมกข์ = หลัก ประธาน) เพื่อให้ภิกษุสาวกได้ยึดเป็นหลักแห่งพระพุทธศาสนา เพราะยังถือว่าเป็นช่วงเวลาแรกแห่งการขยายฐานการประดิษฐานพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประกาศพระศาสนาในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนี้ ซึ่งถือว่ามีความพร้อมหลายส่วน เช่น เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรมาก มีเจ้าลัทธิอื่นๆ มาก และต้องถือว่าเป็นโอกาสพิเศษ เพราะมีองค์ประกอบถึง ๔ ประการ เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔

ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล คือ

๑. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ และได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
๔. วันที่มาประชุม ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน ๓) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ :ซึ่งถือว่าเป็นข้อธรรมย่ออันเป็นหลักคำสอนหรือหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ๓ ประการ กล่าวถึง จุดหมาย หลักการ และวิธีการ ของพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วน ประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ ดังนี้
หลักการ ๓
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละเลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางแห่งความชั่ว มีสิบประการ อันเป็น
ความชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติ ผิดในกาม
ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ
ความชั่วทางใจ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่างซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี ๑๐ อย่าง อันเป็นความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ
ความดีทางกาย ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น มีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม

การทำความดีทางวาจาได้แก่ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริง พูดคำอ่อนหวาน พูดคำให้เกิดความสามัคคี และพูดถูกกาลเทศะ
การทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของของผู้อื่นมีแต่คิดเสียสละ การไม่ผูกอาฆาตพยาบาทมีแต่คิดเมตตาและ ปรารถนาดีและมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๓. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี ๕ ประการ ได้แก่
๑. ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
๒. ความอาฆาตพยาบาท (พยาบาท)
๓. ความหดหู่ท้อแท้ ง่วงเหงาหาวนอน (ถีนะมิทธะ)
๔. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ) และ

๕. ความลังเลสงสัย (วิจิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดีความชั่ว ว่ามีผลจริงหรือไม่ วิธีการทำจิตให้ปฏิบัติสมถะผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวง ด้วยการถือศีลและบำเพ็ญกุศล ให้ถึงพร้อม และวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

อุดมการณ์ ๔
๑. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
๒. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
๓. ความสงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จาการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ ๘
วิธีการ ๖
๑. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
๒. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎกติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
๔. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีคุณภาพและประสิทธิภาพ

โอวาทปาติโมกข์ เป็นหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ เป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา อันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น มุ่งสู่จุดหมายปลายทางอันเป็นความสุข ความสงบ ในพระพุทธศาสนาได้ในที่สุด

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013636827468872 Mins