วันปิยมหาราช

วันที่ 23 ตค. พ.ศ.2547

 

 

จอมไทยจักรีเจ้า จุฬาลง-กรณ์เอย

พระเกียรติจารบรรจง จบหล้า

คนธรรพ์จับพิณปลง โปรยรส จำเรียงฤา

คึกประโคมผ่านฟ้า ฝากไว้ วรถวิล

 

คำว่า “ทาส” เคยเป็นคำคุ้นหูของชาวสยามประเทศอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ลองคิดดูเถิด ความทุกข์ของผู้ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ จะทรมานสักปานไหน และมีใครรู้ตัวเองบ้างว่า…ต้นตระกูลของตนมิเคยตกเป็นทาสใคร ?

หากมิใช่พระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ขององค์พระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวงของไทยแล้ว จะมีอีกสักกี่ครอบครัว หรืออาจจะเป็นตัวเราเองก็ได้ ที่จะต้องตกอยู่ในสภาพชีวิตที่แสนจะลำเค็ญเช่นนั้น เพราะหากตกเป็นทาสเสียคนหนึ่ง ลูก หลาน เหลนที่ถือกำเนิดต่อมา ย่อมหมดสิทธิ์ที่จะมีความเป็นเป็นไทในชีวิตไปอีกนาน

แต่เพราะพระปรีชาญาณขององค์พระมหากษัตริย์ไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในอนาคต ย่อมเป็นไปได้ยากหากสังคมไทยยังคงมีระบบ “ทาส” ที่คอยปิดกั้นความคิดและศักยภาพของมนุษย์ การมองเห็นปัญหานับว่ายากแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงนับว่ายากยิ่งกว่า

แต่เพราะความรักในพสกนิกรและแผ่นดินมาตุภูมิยิ่งด้วยพระชนม์ชีพ ทำให้พระองค์มีพระวิริยะอุตสาหะในการพัฒนาประเทศอย่างไม่ท้อถอย จนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด แม้จะใช้เวลายาวนานถึง ๓๐ ปี

ดังนั้น เมื่อถึงวันที่๒๓ ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันปิยมหาราช ปวงชนชาวไทยทั้งประเทศร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงนำความรุ่งเรืองอย่างยิ่งมาสู่ดินแดนสยาม การได้ศึกษาพระราชกรณียกิจ และพระจริยวัตรของพระองค์ ทำให้รู้ซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพอันน่าอัศจรรย์ ซึ่งควรค่าแก่การศึกษาและจดจารึกให้อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยสืบไป

 

พระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามเดิมว่า “ เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์” คำว่า จุฬาลงกรณ์ นั้น แปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง “ พระเกี้ยว” ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา พระองค์ทรงมีพระนามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถเรียกขานโดยเฉพาะว่า “ พ่อใหญ่”

พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก ตรงกับวันที่ ๒๐ กันยายน พ. ศ. ๒๓๙๖ เป็นพระราชโอรส แห่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ( พระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์) ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงทรงรักมาก โปรดพาเสด็จไปด้วยทุกครั้งมิได้ขาด เจ้าฟ้าชายจึงได้เรียนรู้การบริหารราชการแผ่นดิน และจริยวัตรแห่งพระมหากษัตริย์ไทยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สอง ผู้เป็นพระราชปิตุลาทรงพระประชวรหนัก ได้ทรงโปรดให้เรียกหาใกล้ชิด ยกพระหัตถ์ลูบพระเศียรแล้วตรัสว่า “ เจ้าใหญ่นี่แหละ จะได้เป็นที่พึ่งของหมู่ญาติ”

 

ขึ้นครองราชย์

เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ. ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถได้ทรงคำนวณว่า จะมีพระสุริยุปราคาชนิดดวงอาทิตย์มืดมิดดวง เวลา ๔ โมงเช้า ๓ บาท ซึ่งจะเห็นชัดที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครั้งนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทางเรือไปในป่าทึบ สุริยุปราคาได้เกิดขึ้นตามเวลาที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ

แต่พอวันรุ่งขึ้น สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงประชวรเป็นไข้ป่าอย่างรุนแรง และสมเด็จเจ้าฟ้าฯได้ทรงอยู่ประทับเฝ้าอาการไข้ไม่ยอมห่าง ถึงหนึ่งคืนกับหนึ่งวันเต็มๆ ทั้งๆที่พระองค์เองก็ประชวรหนักเป็นไข้ป่าเช่นเดียวกัน ซึ่งไม่นานสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จสวรรคต สมเด็จเจ้าฟ้าชายฯได้หายประชวรต่อมา สิ้นระยะเวลา ๑ เดือนเศษ

พระบรมวงศานุวงศ์ได้ประชุมพร้อมกันถวายราชสมบัติแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันติวงศ์ แห่งพระบรมจักรีวงศ์ ในวันที่ ๑ ตุลาคม พ. ศ ๒๔๑๑ด้วยพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษาเท่านั้น

 

พระราชกรณียกิจสำคัญ

แม้พระชนมายุยังน้อย แต่พระปรีชาญาณอันกว้างไกล ด้วยความปรารถนาสำคัญประการหนึ่งหลังจากพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วนี้ คือเรื่อง “ ทาส ”

ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดคิดในเรื่องนี้มาก่อน เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยากยิ่ง ปัญหาใดที่ยากเสียแล้วคงไม่มีใครอยากไปแก้ให้เสียเวลา แต่ปัญหาเรื่องทาสนี้เป็นความเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้ า ที่พระองค์ทรงปรารถนาจะยกเลิกให้สำเร็จ

การเลิกทาสนั้นมิใช่จะรวบรัดในทีเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงใช้วิธีผ่อนปรนไปทีละน้อย ทรงโปรดให้ซื้อทาสด้วยทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเท่ากับ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ในปีที่ ๒๔ ซึ่งเป็นปีที่สิบแห่งรัชกาล พ. ศ. ๒๔๒๐

จากนั้น มีการออกกฎหมายกำหนดค่าตัวลูกทาส ให้มีค่าตัวลดลงทุกปี ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะและอดทนอย่างมาก จนทาสทุกคนหลุดพ้นเป็นไทได้จนหมดประเทศ เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ. ศ ๒๔๔๘ รวมระยะเวลากว่า ๓๐ ปี

 

เหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์

นอกเหนือไปจากการเลิกทาส ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกจารีตนครบาล เพราะเห็นว่าการสอบสวนทวนความของตุลาการตามวิธีเก่านั้น เป็นสิ่งที่ชวนให้สยดสยอง และป่าเถื่อนอย่างเหลือสติกำลัง การขู่เข็ญผู้ต้องหาที่ไม่ยอมสารภาพ จารีตนครบาลให้ลงทัณฑ์ด้วยการ บีบขมับ ตอกเล็บ ฯลฯ จึงได้สิ้นสุดลงในรัชกาลของพระองค์

เมื่อแผ่นดินสยามถูกรุกรานจากฝรั่งเศส จนกระทั่งต้องเสียดินแดนใน ร. ศ. ๑๑๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเสียพระทัยอย่างสุดซึ้ง แต่ไม่สามารถดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ดีไปกว่าผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ จึงจำใจยอมเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสไปส่วนหนึ่ง

จากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ พระองค์ทรงตระหนักด้วยพระวิจารณญาณว่า การติดต่อสมาคมกับต่างประเทศนั้น มีส่วนช่วยให้ประเทศมหาอำนาจที่จ้องจะล่าอาณานิคมรู้จักเกรงอกเกรงใจเสียบ้าง จึงทรงดำริเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก ซึ่งก่อให้เกิดผลดีอย่างใหญ่หลวงตามมาหลายประการ

ในรัชสมัยของพระองค์ เป็นกาลที่พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชสมบัติออกผนวชเป็นสามเณรและพระภิกษุถึงสองครั้ง

เมื่อ พ. ศ. ๒๔๓๑ พระองค์ทรงโปรดให้ชำระพระไตรปิฎก และพิมพ์เป็นอักษรไทยครั้งแรก โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ถึง ๑, ๐๐๐ ชั่ง พิมพ์พระไตรปิฎก ๑, ๐๐๐ จบ และโปรดเกล้าแจกจ่ายไปทั่วพระราชอาณาจักร อีกทั้งนี้ยังทรงโปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดจำนวนมาก

 

เพชรล้ำค่าแห่งดินแดนสยาม

ความเป็นอัจฉริยภาพในด้านอื่นๆ ของพระองค์ท่าน ล้วนเป็นสิ่งที่น่าศึกษาไม่น้อย ข้าราชภารใกล้ชิดต่างยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเป็นผู้ที่เขียนจดหมายมากที่สุดในโลกพระองค์หนึ่ง และพระราชหัตเลขาของพระองค์ทรงเป็นประโยชน์ต่อประวัติศาสตร์และต่อการศึกษาไทยอย่างมาก

ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง “ ไกลบ้าน” รวมเรื่องสาระสำคัญของการเสด็จประภาสยุโรป ได้ทรงมีจดหมายเหตุของการเดินทางมาอย่างละเอียด แสดงถึงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ในจำนวนพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งโปรดการปลอมแปลงพระองค์ เสด็จปะปนไ ปในหมู่ประชาชนพลเมืองด้วยกันนั้น คงจะไม่มีพระองค์ใดปฏิบัติเช่นนี้มากครั้งเท่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้จากการเสด็จ “ ประภาสต้น ” ที่มักจะทรงปิดบังไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ เพื่อจะทรงทราบถึงภาวะทุกข์สุขของพสกนิกรของพระองค์ อีกทั้งยังทรงแก้ไขปัญหา ขจัดความทุกข์ร้อนได้หมดสิ้นได้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

.. ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จสวรรคตไปแล้วนานกว่า ๗๑ ปีแล้ว แต่อนุสาวรีย์อันสง่างามที่ยืนตระหง่านเงื้อมอยู่นั้น ย่อมจะน้อมใจชาวไทยทั้งชาติ ให้รำลึกในพระเกียรติคุณของพระองค์ตราบชั่วกาลนาน

 

โดย อุบลเขียว

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.003785765171051 Mins