นักดื่มปีใหม่ กับอาการ ‘Hang Over’

วันที่ 10 มค. พ.ศ.2549

        ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวไม่ว่าจะเป็นของไทย จีน ฝรั่ง พี่ไทยอย่างเราๆท่านๆก็มักตั้งวงสรวลเสเฮฮากันได้ทั้งนั้น และวงที่ว่านั้นก็มักมีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ จัดว่าเป็นศึกหนักของผู้นิยมการเฮฮา ทั้งๆที่เราต่างก็รู้ถึงพิษภัยของการดื่มสุราเป็นอย่างดี

       เมื่อเหล้าเข้าสู่ร่างกาย เอทิลแอลกอฮอล์ จะถูกดูดซึมและกระจายไปได้ทุกส่วนของร่างกาย มีผลทำให้เกิดพิษต่อระบบต่างๆ ซึ่งอาการจะแสดงออกอย่างชัดเจนที่สุดคือ อาการเมา อาการเมาเกิดขึ้นได้ จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จนทำให้เสียดุลของฮอร์โมน เกิดการเปลี่ยนแปลงของสารส่งผ่านประสาท และสารทางชีวภาพอื่นๆ ภายในร่างกาย ตับขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายไม่ทัน ทำให้ร่างกายแสดงออกด้วยอาการเมา เพราะมีแอลกอฮอล์อยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป เมื่อใดที่เราอาเจียน ก็คือสัญญาณบอกว่าร่างกายรับพิษไม่ไหว ทำให้ต้องขับพิษออกด้วยการอาเจียนภายหลังจากงานเลี้ยงเลิกรา พิษของการดื่มหนักยังตามมาทำร้ายด้วยอาการต่างๆ เรียกว่า อาการเมาค้าง หรือแฮง โอเวอร์-Hang Over คนเมาค้างจะปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องร่วง เบื่ออาหาร ปวดกระเพาะ มือสั่น เหนื่อย อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบายต่างๆ นานา

        การเมาค้างยังมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพราะแอลกอฮอล์เพิ่มการสูบฉีดในกระแสเลือด ทำให้การทำงานของหัวใจเพิ่มขึ้น ซึ่งมักพบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจ มีอัตราการตายเพิ่มขึ้นจากการเมาค้าง แม้ว่าคุณจะหายเมาแล้ว แต่ผลจากการเมาก็จะยังส่งผลเสียต่อระบบประสาท โดยทำให้การแพร่ของคลื่นสมอง ช้ากว่าปกติเป็นเวลาหลายชั่วโมง หลังจากร่างกายขจัดแอลกอฮอล์ออกไปแล้ว การทำงานของกล้ามเนื้อร่วมประสาทบกพร่องเป็นเวลานาน แม้ว่าจะไม่พบแอลกอฮอล์ในเลือดแล้วก็ตามส่วนพิษของแอลกอฮอล์นั้น แบ่งเป็นหลายระดับด้วยกัน ถ้ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดอาการครึกครื้นสนุกสนานร่าเริง ถ้ามี 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะไม่สามารถควบคุม การเคลื่อนไหวได้ดีเท่าภาวะปกติ

       หากมี 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการเมา เดินไม่ตรงทาง ถ้ามี 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดอาการสับสน มี 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะมีอาการง่วงงง ซึม แต่ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 400 เปอร์เซ็นต์ จะสลบและตายได้ส่วนพิษที่ไม่แสดงออกทันทีก็มีหลายแบบด้วยกัน เช่น พิษต่อสมอง ทำให้เกิดโรคสมองพิการ เซลล์สมองเสื่อม จากผลการวิจัยพบว่าผู้ติดเหล้าจะมีอาการสมองฝ่อลีบ เช่น ขาดความรับผิดชอบ ความจำเสื่อม หากเป็นมากจะเกิดอาการประสาทหลอน หูแว่ว หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง และยังมีฤทธิ์กดประสาท เช่น กดศูนย์ประสาทด้านการหายใจและศูนย์ควบคุมการไหลเวียนของโลหิตในสมองทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

     

 นอกจากนั้นยังมีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร กระเพาะ ลำไส้ พิษต่อตับอ่อน พิษต่อตับ ทำให้เกิดไขมันในตับและเซลล์ของตับจะตาย ถ้าเป็นเรื้อรังจะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด ยังมีอาการพิษต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ต่อระบบเผาผลาญและต่อมไร้ท่อ และพิษต่อทารกในครรภ์ หากมารดาดื่มเหล้าในระยะตั้งครรภ์หากมองถึงพิษภัยแล้ว การดื่มเหล้านั้น ไม่มีประโยชน์ แถมอันตรายต่อร่างกายรอบด้าน แต่เมื่อไม่สามารถหักห้ามใจให้ไม่ดื่มเหล้าได้ เช่น การทานอาหารในระหว่างปาร์ตี้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการดื่มเหล้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ทานอาหารจะทำให้ขาดสารอาหาร กล้ามเนื้อลีบ แต่หากกินแต่อาหารจำพวกไขมัน จะทำให้เกิดการสะสมเป็นไขมันส่วนเกิน เป็นขอบชีสรอบเอว กลเม็ด ดับอาการเมาค้างนั้น มีหลายวิธีด้วยกัน โดยหลักๆ คือ ต้องอาศัยเวลาในการดับอาการเมา ดื่มน้ำปริมาณมากๆเพื่อดับอาการของพิษ และยังมีกลเม็ดที่เป็นทั้งความเชื่อและหลักวิชาการอีกมากมายในการดับความทรมาน เช่นการดื่มนมอุ่นๆ ทีเดียวให้หมดแก้ว ดื่มกาแฟดำร้อนๆ ดื่มชาแก่ๆ อุ่นๆ ดื่มน้ำผลไม้สด ผลไม้สดแช่เย็นฉ่ำ เช่น แตงโมแช่เย็นเจี๊ยบ ส่วนทางการแพทย์แผนไทย มีผลวิจัยพบว่า รางจืด ช่วยไม่ให้เมา โดยอมรางจืดไว้ในปากขณะดื่มเหล้าจะทำให้เมาน้อยลง และยังช่วยแก้อาการเมาค้างได้ โดยชงรางจืดดื่มร้อนๆ จะช่วยทำให้อาการเมาค้างหายเร็วขึ้น น.พ.ศรีวงศ์ หะวานนห์ จากเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ให้คำตอบถึงความเชื่อว่า กินเหล้านิดหน่อย เป็นการบำรุงหัวใจ ว่าเหล้าไม่ได้บำรุงหัวใจ แต่เหล้าจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดออกจากหัวใจและกลับสู่หัวใจเร็วและแรงขึ้น ซึ่งในระยะแรกเหล้าจะกดสมองบางส่วน ทำให้คนกินคิดว่าบำรุงหัวใจ เพราะหัวใจเต้นเร็ว แรงและคึกคัก

        ปัจจุบัน มีผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ระบุชัดว่าการดื่มแอลกอฮอล์อาจจะไม่เป็นผลดีต่อหัวใจ ผู้สูงอายุ ผู้มีอาการเจ็บป่วย จึงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะในกรณีใดๆขึ้นปีใหม่สิ่งที่เราน่าจะตระหนักว่าสำคัญกว่าความสนุกจากแอลกอฮอล์ น่าจะเป็นสุขภาพที่ดีพร้อมแต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรรู้จักวิธีป้องกันและแก้ไขไว้แต่เนิ่นๆ คุณจะได้มีสุขภาพที่ดีฉลองปีใหม่หรือเทศกาลอื่นๆอีกยาวนาน ที่สำคัญ ไม่ควรเมาแล้วขับจะดีที่สุด และที่ดีกว่านั้นคือ เลิกดื่มตลอดชีวิต

         ข้อมูลได้รับความเอื้อเฟื้อจาก เครือข่ายองค์กรงดเหล้า , ชมรมเมาไม่ขับ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

        จากสถานการณ์อุบัติเหตุยานยนต์ของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปี พ.ศ.2536 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุยานยนต์

เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน หากไม่มีมาตราการรองรับคาดว่าในปี พ.ศ. 2545 จะมีคนเสียชีวิติเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงละ 3 คนและปัญหาอุบัติเหตุ ที่กล่าวมาข้างต้น

มากกว่าร้อยละ 50 เกิดจากพฤติกรรมการขับขี่ขณะเมาสุรา กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้เป็นแกนนำในการรณรงค์ “เมาไม่ขับ”

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนไทยมีความตระหนักว่า เมื่อดื่มเครื่องดื่มที่เป็นแอลกอฮอล์แล้วไม่ควรขับรถ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0041761517524719 Mins