ธุรกิจสุรากับตลาดหลักทรัพย์ เหตุผลที่ไม่ควรนำบริษัทสุรา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตอนที่ ๓)

วันที่ 31 กค. พ.ศ.2548

 

 

 

 

.... 6) แค่ถูกกฎหมายไม่พอ
 
ตลาดหลักทรัพย์อ้างว่า ไม่รับจดทะเบียนธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ธุรกิจสุราถูกกฎหมายสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนได้
 
แนวคิดนี้ขัดกับแนวคิดของผู้ใหญ่หลายคนในประเทศ ได้แก่ คำกล่าวของนายก พ . ต . ท . ทักษิณ ชินวัตร ที่ปราศัยไว้ครั้งหนึ่งว่า จะไม่ยอมรับธุรกิจ Exploit เด็กไม่ยอมให้ธุรกิจมอมเมาเด็ก จะไม่ยอมธุรกิจเอาเปรียบเด็กแค่ถูกกฎหมายไม่พอ เป็น Zero Sum Game คือ ฝ่ายหนึ่งอยู่อีกฝ่ายหนึ่งต้องไป , คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในงานธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กล่าวว่า เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัท เป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่เน้นกำไรอย่างเดียว แต่ต้องมีความรับผิดชอบ คำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและคำกล่าวของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( ตลท .) ที่ว่ากิจการที่สังคมไม่ให้การยอมรับไม่ควรเข้าระดมในตลาดหลักทรัพย์ แม้เกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของตลาดจะไม่มีข้อจำกัดก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
 

 
นอกจากจะขัดกับแนวคิดของผู้ใหญ่หลายคนแล้วอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญที่ประเด็นถูกกฎหมาย ไม่ควรเป็นเหตุอ้างให้นำบริษัทสุราเข้าตลาดหลักทรัพย์ คือ ธุรกิจที่ถูกกฎหมายแต่ไม่ดีเช่นธุรกิจสุรานี้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและสังคม มากกว่าปัญหายาเสพติดซึ่งผิดก
 
ฎหมาย ดังข้อมูลขององค์กรการอนามัยโลกในรายงานประจำปี ค . ศ . 2002 ระบุถึงการบริโภคบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 4 ของ 20 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาระโรคสูงสุด โดยที่การบริโภคบุหรี่ สร้างภาระโรคมากกว่า 4% เล็กน้อย ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 5 ของ 20 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาระโรคสูงสุด โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างภาระโรคสูงสุด คิดเป็น 4 % ของภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น 5 เท่าของภาระโรคที่เกิดจากการเสพสารเสพติดชนิดต่าง ๆ ซึ่งจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาระโรคสูงสุดอันดับที่ 17 โดยสร้างภาระโรคประมาณ 0.7-0.8% ของภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด
 
จะเห็นได้ว่าธุรกิจถูกกฎหมาย เช่น สุราและบุหรี่ สร้างภาระทางสุขภาพให้มากกว่าธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น สารเสพติดทั้งหลายเสียอีก จึงไม่ควรพิจารณานำธุรกิจสุราเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยอ้างเพียงการถูกกฎหมายแต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งเป็นการฉีกหน้า ผู้ใหญ่ของประเทศหลายคนอีกด้วย
 
7. กรณีศึกษาประเทศที่มีนโยบายควบคุมการบริโภคสุราที่เข้มงวด และไม่มีบริษัทสุราในตลาดหลักทรัพย์ ประชากรจะดื่มน้อยและมีผลกระทบน้อย
 
ปัญหาผลกระทบจากการดื่มสุราจะมากหรือน้อยแปรตามความจริงจังของนโยบายของการบริการประเทศนั้น ๆ ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้มีการนำธุรกิจสุราเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย เช่น เมื่อเปรียบเทียบข้อมูล ของประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมัน ซึ่งมีปริมาณการดื่มเฉลี่ยต่อหัว มากกว่าประเทศสวีเดน ( ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ฝรั่งเศส 10.86 เยอรมัน 10.98 และสวีเดน 5.72 ลิตร / คน / ปี ) พบว่าประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมันเกิดผลกระทบด้านลบจากการบริโภคสุรามากกว่า เช่น มีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการป่วยด้วยโรคตับเรื้อรังและโรคตับแข็งมากกว่า (13.36,16.99 และ 5.35 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ) และมีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจราจรจากยานยนตร์มากกว่า (11.99,7.86 และ 5.87 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ) และมีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจราจรบนถนนที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์มากกว่า ( ฝรั่งเศสไม่มีข้อมูล , เยอรมัน 30.9 และสวีเดน 11.34 ต่อแสนประชากรตามลำดับ ) และพบว่ามีข้อมูลที่น่าสในใจ คือ ประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมัน ซึ่งมีธุรกิจสุราอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหลายบริษัทนั้น ( ฝรั่งเศสประมาณ 15 บริษัท เยอรมันประมาณ 40 บริษัท ) มีการดำเนินนโยบายควบคุมปัญหาการไม่ควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่าที่ควร การกำหนดอายุขั้นต่ำของเยาวชนที่จะซื้อสุราได้ไว้เพียง 16-18 ปี การจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพียงบางส่วน หรือการปล่อยให้มีการขายปลีกอย่างเสรีโดยไม่ต้องขออนุญาตจากภาครัฐ ส่วนประเทศสวีเดน ซึ่งไม่มีบริษัทสุราในตลาดหลักทรัพย์เลย ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายควบคุมปัญหาการบริโภคสุราในภาพรวมของประเทศ อาทิเช่น การจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบหรือทุกวิถีทาง การกำหนดอายุขั้นต่ำของเยาวชนที่จะซื้อสุราได้ไว้สูงถึงอายุ 18-20 ปี การจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิง หรือการผูกขาดการขายปลีกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรัฐ เป็นต้น ดังรายละเอียดในภาคผนวก
 
จะเห็นได้ว่าความไม่จริงจังกับนโยบายการควบคุมปัญหาการบริโภคสุรา สอดคล้องไปกับการที่ประเทศนั้น ๆ อนุญาตให้บริษัทสุราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย เช่น ปริมาณการดื่มของประชากร ปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพมากกว่า ประเทศที่จริงจังกับนโยบายการควบคุมปัญหาการบริโภคสุรา ซึ่งรวมถึงการไม่อนุญาตให้นำบริษัทสุราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศด้วย
 
8. การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ควรขัดแย้งกับนโยบายของรัฐเอง
 
การที่ประชาชนไว้วางใจในนโยบายที่พรรค “ ไทยรักไทย” ให้หาเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนได้รับคะแนนเสียงจากประชนชนคนไทยอย่างท่วมท้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ . ศ . 2548 ที่ผ่านมา และสามารถที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้นั้น แนวนโยบายต่าง ๆ ที่ได้ประกาศออกไปตอนหาเสียงกับประชาชนเพื่อขอโอกาสอีกครั้ง ถือเป็นสัญญาประชาคมที่จะต้องยึดถือปฏิบัติและทำให้บรรลุผล ซึ่งได้แก่ แนวนโยบายทางด้านเด็กและเยาวชนของพรรคไทยรักไทยที่เน้นการสร้างสังคมปลอดภัย โดยการผลักดันกฎหมายต่อต้านอบายมุข เช่น สถานบริการ เหล้า บุหรี่ ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจังผลักดันให้มีการควบคุมสิ่งที่ยั่วยุอย่างจริงจังและต่อเนื่องผลักดันกฎหมาย เพื่อขจัดความรุนแรงในครอบครัว และโซนนิ่งรอบสถานศึกษาไม่ให้มีแหล่งอบายมุข สร้างความเข้มแข็งและอบอุ่นในครอบครัว โดยการรณรงค์และสนับสนุนให้ทุกวันอาทิตย์เป็น “ วันครอบครัว” สร้างโอกาสให้เยาวชนปลอดอบายมุข จะเห็นว่านโยบายเหล่านี้ล้วนเป็นทิศทางใหญ่ที่สำคัญในการที่รัฐบาลจะตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้สอดคล้องกับการนำเอาเยาวชนเป็นตัวตั้งในการพัฒนาประเทศชาติซึ่งรัฐบาลสามารถพิสูจน์ภาวะการนำ โดยการแสดงผลที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่งด้วยการไม่นำธุรกิจสุราและธุรกิจอบายมุขต่าง ๆ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อประกาศเป็นนโยบายของประเทศไทยว่า เป็นการค้าเสรีแบบปลอดอบายมุขเพื่อประเทศไทยแข็งแรงคนไทยแข็งแรง (Healthy Thailand)



 

ข้อมูล “ธุรกิจสุรากับตลาดหลักทรัพย์”
เรียบเรียงข้อมูล: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)
นำเสนอเวทีวิชาการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ 17 มีนาคม 2548)

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022000948588053 Mins