พระวิสุทธิวงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ)

วันที่ 25 ธค. พ.ศ.2549

 

     เมื่อเอ่ยถึงวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พุทธศาสนิกชนย่อมระลึกนึกถึงพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมหาเถระยุครัตนโกสินทร์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาปูชนียาจารย์ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ซึ่งเป็นธรรมะดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายหลังได้สูญหายไปหลังพุทธปรินิพพานนานกว่า ๕๐๐ ปี

 

นับตั้งแต่พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙ วัดปากน้ำมีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด มีพระภิกษุสามเณร อุบาสิกาหรือแม่ชี ตลอดจนเหล่าศิษยานุศิษย์มากมาย ทั้งภายในและต่างประเทศ การปกครองดูแลวัด และงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงเป็นภาระรับผิดชอบอันใหญ่หลวง จำเป็นต้องอาศัยพระภิกษุผู้นำ ที่มีศีลาจารวัตรอันเพียบพร้อม งดงามด้วยความรู้ คุณธรรม และความสามารถในการบริหารสืบมา

 

พระวิสุทธิ์วงศาจารย์ (วิเชียร อโนมคุโณ) หนึ่งในคณะพระผู้บริหารงานในปัจจุบันของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร สิริรวมอายุ ๖๙ พรรษา ๔๙ นับเป็นต้นแบบต้นบุญแก่เหล่าพุทธศาสนิชน ควรแก่การเคารพยกย่อง เนื่องด้วยคุณูปการที่ท่านได้สร้างไว้ก่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่บวรพุทธศาสนา สมเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม คุณธรรม งดงามด้วยศีลาจารวัตร เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทุกระดับชั้น

 

พระวิสุทธิ์วงศาจารย์ นามเดิมว่า วิเชียร เรืองขจร เป็นบุตรชายของนายนาค และนางฟื้น แห่งสกุล “เรืองขจร” เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๐ ณ บ้านเลขที่ ๕๓ หมู่ ๒ ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดท่าจัด ตำบลบางพลับ ครั้นเมื่ออายุ ๑๔ ปี จึงเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดดงตาล ตำบลบางพลับ โดยมีพระครูอุภัยภาดารักษ์ วัดสองพี่น้อง ตำบาลต้นตาล เป็นพระอุปัชฌาย์

 

นับแต่นั้นเป็นต้นมา จึงเป็นนิมิตหมายอันประเสริฐของพระพุทธศาสนาที่บังเกิดกุลบุตร ผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ได้ยกฐานะขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย ที่จะจรรโลงสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอีกยาวนาน จากนั้นท่านได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดท่าจัด ตำบลบางพลับเป็นเวลา ๑ พรรษา จึงได้ย้ายไปศึกษาพระปริยัติและปฏิบัติที่วัดสองพี่น้อง เป็นเวลา ๔ พรรษา หลังจากสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้ว จึงย้ายมาจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

 

จนเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ณ พัทธสีมาวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ มีพระธีรสารมุนี วัดอัปสรสวรรค์ แขวงปากคลองภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูปัญญาภิรัต วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระพิพัฒน์ธรรมคณี วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 

หลังจากอุปสมบทท่านได้มุ่งศึกษาพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง จนสามารถสอบได้ความรู้ด้านพระปรัยัติขั้นสูงสุด คือ เปรียญธรรม ๙ ประโยค และได้รับเป็นธุระด้านการศึกษาพระบาลีของสำนักเรียนวัดปากน้ำ โดยเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และดำรงตำแหน่งครูใหญ่สำนักเรียนวัดปากน้ำเรื่อยมา

 

ด้วยจริยาวัตรอันน่าศรัทธาเลื่อมใส ด้วยอัจฉริยภาพแห่งภูมิปัญญา อันเป็นที่กล่าวขานกันว่า ท่านเป็นผู้มีความทรงจำเป็นเยี่ยม และด้วยความชาญฉลาดในการบริหารงานคณะสงฆ์ พระมหาเถระผู้เป็นประดุจรัตนมณีแห่งสังฆมณฑลอันล้ำค่ารูปนี้ จึงได้ประกอบศาสนกิจอันก่อให้เกิดคุณประโยชน์นานัปการตลอดมา ทั้งภายในและต่างประเทศ อาทิเช่น

 

ดำรงตำแหน่งรองแม่กองบาลีสนามหลวง, หัวหน้าพระธรรมทูตสาย ๔, เจ้าคณะภาค ๗ และเป็นหัวหน้าฝึกอบรมพระธรรมทูต และในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับมอบหมายจากสมัชชามหาคณิสสร ให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการฝึกอบรม และการสอบความรู้พระอุปัชฌาย์ส่วนกลาง คณะสงฆ์มหานิกายแทนเจ้าคณะทั้ง ๑๘ ภาค

 

การบริหารงานคณะสงฆ์ทุกด้าน ท่านยึดมั่นหลักอิทธิบาทธรรม สังคหวัตถุธรรม และอปริหานิยธรรม มีความละเอียดรอบคอบ ฉับไว เข้มแข็งและอดทน ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า “บุคคลใดไม่คำนึงถึงหนาวร้อน อดทนได้เหมือนหญ้า กระทำกิจที่ควรทำด้วยเรี่ยวแรงของลูกผู้ชาย บุคคลนั้นย่อมไม่เสื่อมจากสุข” และได้ยังได้เมตตาอบรมบ่มนิสัยศิษยานุศิษย์ ด้วยวิธีประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ตามพระพุทธพจน์ที่ว่า “พูดเช่นใด ทำเช่นนั้น”

 

นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้แตกฉานและทรงภูมิในพระไตรปิฎก เป็นที่ยกย่องในบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ทำให้ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รับหน้าที่สำคัญ ในการเป็นกรรมการพิจารณาตรวจต้นฉบับและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับภาษาบาลีและภาษาไทย เนื่องในปีมหามงคลสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๔๙

 

ในด้านการแสดงพระธรรมเทศนานั้น ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระธรรมกถึกที่มีปฏิภาณโวหารเป็นเยี่ยม ด้วยกระแสธรรมที่หนักแน่น จริงใจ และอรรถาธิบายที่แจ่มแจ้งลึกซึ้ง

 

ท่านได้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาธรรมะทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ซึ่งก่อให้เกิดความสนใจแก่บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ผู้ใฝ่รู้ทั้งหลาย ประดุจเป็นสื่อนำแสงสว่างแห่งพระสัทธรรมให้ขจรขจายไปทั่วโลก ตลอดจนให้การอุปถัมป์บำรุงศาสนสถาน สาธารณประโยชน์ และสาธารณสงเคราะห์ แก่บุคคลผู้ยากไร้ในทุกระดับชั้น

 

ดังนั้น ในวโรกาส พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จ ในราชทินนามที่ พระวิสุทธิวงศาจารย์ สร้างความปลาบปลื้มแก่เหล่าศิษยานุศิษย์วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตลอดถึงพุทธบริษัท เป็นอย่างยิ่ง

 

พระวิสุทธิวงศาจารย์ พระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ สมเป็นเนื้อนาบุญอันเลิศแก่ชาวโลก เป็นผู้ควรแก่การน้อมสักการบูชาด้วยเศียรเกล้า ประดุจรัตนมณีอันเจิดจ้า ที่ทอแสงแห่งธรรมเจิดจรัส อวดสายตานานาอารยประเทศ นำสันติสุขมาสู่มหาชนทั้งหลายโดยทั่วหน้า

 

ภาพ หรือตัวอักษรของหน้ากระดาษ คงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในล้านแห่งพระคุณ ที่ไม่อาจถ้อยพรรณนาเป็นภาษาใดได้ครบถ้วน เหล่าศิษยานุศิษย์และขอนอบน้อมบูชา แสดงมุทิตาสักการะด้วยเศียรเกล้า หลอมรวมดวงใจของเหล่าพุทธบริษัท ๔ ร้อยเข้าด้วยกันต่างพวงบุปผามาลา และธูปเทียนบูชา แด่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จงโปรดคุ้มครองประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความเจริญรุ่งเรืองในธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตราบกาลนานเทอญ.

 

โดย..อุบลเขียว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013516028722127 Mins