มุทิตา สมเด็จพระพุฒาจารย์

วันที่ 15 มค. พ.ศ.2551

      สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร พระมหาเถระผู้ได้รับการสักการะบูชา ปรากฏยกย่องเป็นพระเถระผู้เจริญในสมณคุณ ผู้ยินดีในเนกขัมมปฏิบัติ ผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร รัตตัญญูมหาเถรกรณธรรม มั่นคงตลอดมาช้านาน ได้ประกอบกรณียกิจเป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล มีอุปการะยิ่งแก่การพระศาสนา

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย นามฉายา อุปเสโณ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พุทธศักราช 2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 6 คน ของนายฮุ้ยเลี้ยน แซ่โหย้ และนางยี แซ่โหย้

สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ณ โรงเรียนประจำหมู่บ้าน เมื่ออายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้เจตนาจะบวชเพียงแค่ 7 วัน แต่ด้วยปุพเพกตปุญญตา ทำให้ยังคงมั่นในสมณเพศ โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับท่านพระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย เป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา มีวิริยะ อุตสาหะ จนหลวงพ่อพริ้งเห็นอุปนิสัยได้นำไปฝากไว้กับพระครูปลัดเทียบ (พระธรรมเจดีย์) ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร

ต่อมา พ.ศ. 2492 เมื่อมีอายุครบได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ โดยมี เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ จนถึงปี พ.ศ. 2597 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับการกล่าวถึงความเป็นผู้มอบกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนามีอจลศรัทธาไม่หวั่นไหว และสมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร เป็นพระมหาเถระผู้รัตตัญญู มีเมตตาธรรมเป็นประจำ มีกรุณาต่อชนทั่วไป มีอัธยาศัยละมุนละไม เป็นบุคคลที่ใคร ๆ เข้าหาได้ง่าย ไม่ถือตัว ปฏิบัติศาสนกิจและสังฆกรรมต่าง ๆ สม่ำเสมอมิได้ขาด เป็นผู้มีเมตตากรุณา สงเคราะห์พระภิกษุสามเณร และให้ความร่วมมือสนับสนุนกิจการของทางราชการ และสาธารณประโยชน์ทั่วไปเสมอมา

ผลงานทางวิชาการและมีความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ศาสตร์ทางศาสนาและสังคมเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคม ท่านได้รับการศึกษาอบรมด้านพระปริยัติธรรมจนสำเร็จนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ซึ่งเป็นการศึกษาระดับสูงสุดของคณะสงฆ์ และเป็นผู้สนใจศึกษาค้นคว้าจนมีความรู้ แตกฉานในพระไตรปิฎกและมองเห็นคุณค่าของการศึกษา จึงได้รับหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาพระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก แก่นิสิตระดับปริญญาตรี แห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และรับหน้าที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้นอยู่หลายปี งานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ผลงานด้านวิชาการและการบริหารการปกครองคณะสงฆ์มีอยู่เป็นอันมาก นอกจากนี้ได้นิพนธ์เอกสารวิชาการทาพระพุทธศาสนาไว้จำนวนมาก ทั้งในลักษณะของบทความ คำขวัญ คติธรรม และหนังสือ ซึ่งได้ลงพิมพ์เผยแผ่ในวารสารต่างๆ
ผลงานด้านฝึกอบรมพัฒนาจิตใจและคุณธรรม ในด้านการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อปลูกฝังคุณธรรมแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตลอดจนพระภิกษุสามเณร มุ่งมั่นทำงานในด้านนี้อย่างจริงจัง ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าการจะพัฒนาคนหรือสังคมให้ประสบสันติสุข หรือเจริญก้าวหน้าได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนาจิตใจปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยอุบายวิธีทางพุทธศาสนา ได้ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ดังนี้

1) ในฐานะเจ้าอาวาส นอกจากการแสดงธรรมให้โอวาทแก่พระภิกษุ สามเณร ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและบาลีแล้ว ยังได้แนะนำให้เจริญสมาธิภาวนา และให้โอกาสแก่ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาและปฏิบัติด้วย

2) ในขณะเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้วางระเบียบให้

พระนิสิตได้ปฏิบัติสมาธิภาวนา โดยได้ร่วมเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอนและจัดส่งไปฝึกปฏิบัติ ณ สำนักปฏิบัติต่าง ๆ เช่น ที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่สำนักปฏิบัติธรรมแคมป์สน จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยังดำเนินการมาถึงปัจจุบัน

3) ส่งเสริมและอุปถัมภ์การปฏิบัติพัฒนาจิตตามแนววิชาธรรมกาย พระมงคลเทพมุนี วัดปากน้ำ โดยให้โอกาสแก่ผู้สนใจมาดำเนินการปฏิบัติที่วัดสระเกศ และสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา และปฏิบัติตามแนววิชาธรรมกาย ที่วัดพระธรรมกาย ปทุมธานี ซึ่งมีผู้เลื่อมใสเข้าศึกษาและปฏิบัติจำนวนมาก ทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร และนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป

4) เป็นประธานจัดฝึกอบรมพระธรรมทูต โดยเฉพาะการฝึกปฏิบัติวิปัสสนกรรมมัฏฐาน และจัดส่งพระธรรมทูตที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วไปปฏิบัติงานเผยแผ่พุทธศาสนาในต่างประเทศ ทั้งในทวีปยุโรปและอเมริกา

ผลงานด้านการเผยแผ่พุทธศาสนา

1) แสดงพระธรรมเทศนา ภายในพระอุโบสถวัดสระเกศ ในพรรษา และวันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นประจำ

2) แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ 919 ในรายการ “ของดีจากใบลาน” ต่อเนื่องเป็นประจำ

3) เป็นองค์อุปถัมภ์วัดไทยในต่างประเทศหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดน เดนมาร์ก เบลเยี่ยม เยอรมัน ฟินแลนด์ และนอรเวย์ เป็นต้น

4) เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม

5) เป็นประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และพิจารณาพระภิกษุไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตยังต่างประเทศ

6) เป็นกรรมการจัดส่งพระธรรมจาริกในความรับผิดชอบของกรมประชาสงเคราะห์ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวไทยภูเขา

เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

ในปัจจุบันเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เจริญด้วย วัยวุฒิ คุณวุฒิ และสมณศักดิ์ ได้รับผิดชอบกิจการของคณะสงฆ์อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และพระศาสนาอยู่หลายตำแหน่ง เฉพาะที่สำคัญ คือ

1. เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

2. เป็นประธานคณะกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศ สำหรับพระภิกษุสามเณร (ศ.ต.ภ.)

3. เป็นประธานคณะกรรมการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ และพิจารณา

ส่งพระภิกษุไปปฏิบัติศาสนกิจเป็นพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

4. เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกปกครองคณะสงฆ์ใน 23 จังหวัด(จังหวัดภาคตะวันออก
เฉียงเหนือทั้งหมด และภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก และสระแก้ว)

5. เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคม

6. เป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ และอุบัติภัย

7.เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดของไทย
8. เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตามประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนา

แห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน

ผลงานด้านสาธารณูปการอีกมากมาย อาทิ

1. ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะ พระอุโบสถ พระวิหาร และ

พระเจดีย์บรมบรรพต รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ในวัดสระเกศให้ดูเรียบร้อยสวยงาม

2. เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา จัดพิมพ์แถลงการณ์คณะสงฆ์ รวบรวม

กิจการต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงานคณะสงฆ์ ตลอดทั้งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ กฎกระทรวง กฎมหาเถรสมาคม ระเบียบ คำสั่งมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์และการพระศาสนาออกเป็นรายเดือนทุกวันที่ 25 ของเดือน และหนังสือธรรมะอื่น ๆ จำหน่ายในราคาที่ถูก

3. บริจาคเงินสร้างตึกสงฆ์อาพาธในท้องถิ่นชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญหลายแห่งในนาม “อาคารผู้มีพระคุณ” เพื่อพยาบาลพระภิกษุ สามเณร ผู้อาพาธ และสาธุชนทั่วไป เป็นผู้ดำรงตนอยู่ในคุณธรรม ศีลธรรม จารีต ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม รักษาสมณวัตร ระเบียบปฏิบัติได้เรียบร้อยเป็นอย่างดียิ่ง มีอุตสาหวิริยะในการประกอบพุทธศาสนกิจจนเป็นหลักอยู่ในคณะสงฆ์ ปกครองดูแลพระสงฆ์และสามเณรให้ปฏิบัติชอบด้วยธรรมวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณีและกฎหมายบ้านเมือง เป็นที่ปรากฏแก่มวลพุทธบริษัทและทางราชการ เป็นที่เคารพสักการะแห่งพุทธมามกชนทั่วไป

สมณศักดิ์ ด้วยประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาเป็นอเนกประการดังกล่าว และประกอบด้วย เป็นพระมหาเถระรัตตัญญู ทรงธรรมทรงวินัยเคร่งครัดมีวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จึงมีความดีความชอบได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อน และสถาปนาสมณศักดิ์ โดยลำดับ ดังนี้

พ.ศ. 2501 เป็นราชาคณะชั้นสามัญที่ พระเมธีสุทธิพงศ์

พ.ศ. 2505 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวิสุทธิเมธี

พ.ศ. 2507 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพคุณาภรณ์

พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมคุณาภรณ์

พ.ศ. 2516 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมคุณาภรณ์

พ.ศ. 2533 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระรัตตัญญูเจริญด้วยพรรษายุกาล มั่นคงอยู่ในพรหมจรรย์ เป็นผู้ทรงศีลธรรม ดำรงสถานะเป็นผู้บริหารหลักอยู่ในคณะสงฆ์ไทย ได้บำเพ็ญสรรพกรณียกิจอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชนเป็นอเนกประการ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ภาคภูมิใจ ให้ความชื่อถือ เป็นที่เคารพรักที่ตั้งแห่งศรัทธาเป็นที่ยิ่ง ของสาธุชนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง เป็นพระมหาเถระผู้เปี่ยมไปด้วยขันติธรรม มากด้วยเมตตาคุณ และบริสุทธิคุณเป็นอย่างยิ่ง พระผู้สถิตเป็นธงธรรมแห่งพุทธศาสนิกชนยิ่งนาน.

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2549 เช่น เป็นประธานในพิธีวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี พ.ศ. 2548 โดยมีผู้นำศาสนาพุทธจาก 41 ประเทศเข้าร่วม และกล่าวเปิดประชุมโดยการประกาศให้ผู้นำศาสนาพุทธทั่วโลกร่วมกันยกย่ององค์พระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรงเป็นองค์พุทธมามกะประเสริฐยิ่งในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา พร้อมแนะให้ใช้หลักแห่งพุทธะดับความร้อนรุ่มของโลกผู้จัดการออนไลน์ 18, [http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000065740 เปิดวิสาขบูชาโลก "สมเด็จเกี่ยว" แนะใช้พุทธศาสนาดับความร้อนรุ่มของโลก], 18 พฤษภาคม 2548

 

และปัจจุบันเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013460516929626 Mins