บทความวันจักรี 6 เมษายน 2557 โดยรัตนวลี

วันที่ 04 เมย. พ.ศ.2557

 

วันจักรี

“ตั้งใจจะอุปภัมภก  ยอยกพระพุทธศาสนา ป้องกันขอบขันธสีมา  รักษาประชาชนและมนตรี”

     พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ซึ่งเสด็จปราบดาภิเษก  ขึ้นครองราชย์เป็นพระปฐมบรมกษัตริย์  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  เมื่อวันที่  6  เมษายน  พ.ศ. 2325  ทรงสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นมา  คือ  กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์  ที่มีความหมายลึกซึ้งว่า  เมืองที่งดงามปานสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีท้าวโกสินทร์หรือพระอินปกครอง  ประชาชนพลเมืองล้วนมีคุณธรรมหิริโอตตับปะ  ความละอายเกรงกลัวบาป  ซึ่งเป็นเทวธรรมของเหล่าเทพเทวาและนางฟ้า      

 

     เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงครองสิริราชย์สมบัติระยะหนึ่งว่างเว้นจากสงครามการศึกกับพม่าแล้วพระองค์มีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่งคือ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก รวบรวมพระไตรปิฎกจากหัวเมืองต่างๆ  ทั้งที่กรุงศรีอยุธยาอดีตราชธานีมาชำระตรวจสอบใหม่โดยพระสงฆ์เถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้น  เพราะเกรงว่าบางส่วนอาจตกหล่นสูญหาย  หรือตกไปอยู่ตามหัวเมืองเคลื่อนย้ายหนีภัยสงครามไปบ้าง  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ชำระตรวจสอบให้เหมือนเดิม         

  

     ในพระราชพงศาวดาร  กรุงรัตนโกสินท์กล่าวไว้ว่าตลอดระยะเวลา  3  เดือน  ที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฏก  ณ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ได้เสด็จใปทรงอุปถัมภ์บำรุงพระเถระ  ผู้ทำการสังคายนาพระไตรปิฏกวันละ  2  เวลา  ทรงถวายน้ำปานะด้วยพระองค์เองทุกวันมิได้ขาดเลยด้วยพระราชหฤทัยแน่วแน่ว่าจะยอยกพระพุทธศาสนาไว้เป็นศาสนาประจำชาติบำรุงขวัญจิตใจประชาชน             

 

     ต่อมาในสมัยรัชกาลที่  6  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมรูปหล่อ  ขององค์พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงค์  ทั้ง  5  พระองค์มาประดิษฐานไว้  ณ  ปราสาทเทพบิดร  ลุล่วงในเดือนเมษายน  พ.ศ. 2461  จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปในวันที่  6  เมษายน  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่องให้เรียกวันที่  6  เมษายนว่า  “วันจักรี”       

    

     เมื่อถึงวันที่  6  เมษายน  ซึ่งเป็นวันจักรีของทุกปีควรที่คนไทยทุกหมู่เหล่าควรได้ตั้งอยู่ในสามัคคีธรรมหลอมรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน  น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบูรพมหากษัตริย์ไทย  ที่ได้เสียสละกำลังพระวรกายกำลังพระทัยอันมหาศาลเพื่อปกป้องรักษาพระนครไว้ไม่ให้ตกเป็นเมืองขึ้นของชาติใด  ควรหรือที่คนไทยต้องมาแตกแยกรบกันเอง  เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง  แต่บ้านเมืองกลับพ่ายแพ้ถอยหลัง  เศรษฐกิจชะงักงันตกต่ำ  เพราะฝีมือคนไทยที่รักชาติกันที่ปาก  ไม่ได้รักชาติที่จิตใจเหมือนบรรพบุรุษแต่กาลก่อน         

  

     เมื่อถึงวันจักรี  ควรที่คนไทยต้องตั้งสติมองดูตัวเองว่า  เราได้ทำตนเป็นพลเมืองฟ้า  สมกับที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงหรือเปล่า  คือเป็นพลเมืองที่มีเทวธรรมหรือหิริโอตตัปปะ  ความละอายเกรงกลัวบาปประจำจิตใจ  ขึ้นชื่อว่าความชั่วบาปกรรมทั้งหลาย  แม้ไม่มีใครรู้เห็นก็ไม่ทำโดยเด็ดขาด  เพียงมีเทวธรรรมประจำใจ  ย่อมนำพาตัวเราและชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าได้อย่าอัศจรรย์เทวธรรมหรือหิริโอตตตับปะ  ย่อมทำให้มนุษย์กลายเป็นเทวดาเดินดิน  เพราะการบริหารปกครองประเทศทั้งหมดในที่สุดต้องจบลงที่ปกครองโดยธรรม  ดังพระราชกวีนิพนธ์ในรัชกาลที่  6  ที่ว่า  “เมืองใดไร้ธรรมอำไพ  เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย”

 

บทสารคดี  รัตนวนาลี

1/4/2557

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012632330258687 Mins