หญิงชราผู้สอนตนให้พ้นชาติ ชรา มรณะ

วันที่ 07 พค. พ.ศ.2557

 

 

หญิงชราผู้สอนตนให้พ้นชาติ ชรา มรณะ

 

        ความเพียรใดเป็นไปเพื่อพระนิพพาน ความเพียรนั้นเป็นยอดของความเพียร เพราะเป็นสิ่งประเสริฐ
ที่นักปราชญ์บัณฑิตทั้งหลาย ต่างก็สรรเสริญ ผู้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรที่ดี ต้องให้ความสำคัญกับการทำ
ความเพียรเป็นชีวิตจิตใจ เป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจก็ว่าได้ จะปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสโลกนั้นไม่ได้ต้องให้ชาวโลกเอาเราเป็นเยี่ยงอย่าง คิดที่จะฝึกฝนต
นเองทุกรูปแบบ เหมือนการเดินทางไกล ในขณะที่คนอื่นกำลังหลับใหล เราจะตื่นขึ้นจากความหลับ ในขณะที่เขาลุก เราจงเดินก้าวต่อไป เมื่อมีผู้ก้าวตามมา พวกเราก็ถึงจุดหมายเรียบร้อยแล้ว อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า เป็นผู้นำบุญยอดกัลยาณมิตรผู้จะนำความสว่างไสวมาให้แก่โลก

        ส่วนความเพียรในการประกอบอาชีพ ทำธุรกิจการงาน หรือการศึกษาเล่าเรียนนั้น เป็นเพียง
การช่วยเหลือตัวเอง ให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสะดวกสบายเท่านั้น เป็นภารกิจที่ยังติดข้องอยู่ใน
เบญจกามคุณ ยังเกี่ยวข้องอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ บางครั้งเนื่องจากว่า บางท่านยังมีสติปัญญาไม่สมบูรณ์ ความเพียรพยายามที่ทุ่มเทให้กับสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร กลับนำความทุกข์ระทมมาให้ตัวเอง

        แต่การมุ่งขจัดกิเลส อาสวะออกจากใจ ด้วยการหมั่นฝึกฝนใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์หยุดนิ่งนั้น เราจะ
ไม่มีคำว่าผิดหวัง เพราะเราไม่ได้หวังผิด เพียงแต่บางครั้งจำเป็นต้องใช้เวลา และให้โอกาสกับใจของเรา เพราะ ใจดวงนี้เคยฟุ้งซ่าน ล่องลอยไปในเรื่องภายนอกมาเป็นเวลายาวนาน ถึงคราวจะฝึกให้หยุดนิ่ง จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป เหมือนการโผล่พ้นจาก
ขอบฟ้าของดวงอาทิตย์ในยามเช้า เราจะไปบังคับให้รีบขึ้นหรือขึ้นช้าๆ ก็ไม่ได้ทุกสิ่งทุกอย่างจะมีความพอดีอยู่ในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นผลแห่งการทำความเพียรเพื่อเผาผลาญอาสวกิเลส จะมีสุขเป็นอานิสงส์เสมอ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงสรรเสริญ ว่าเป็นผู้มีชีวิตไม่ว่างเปล่าจากความดี เหมือนนางพหุปุตติกาเถรี ผู้ไม่ประมาทในชีวิต เร่งรีบทำความเพียร จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

       ดังเรื่องที่ได้เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลความว่า1 พระเถรีท่านนี้ เคยเป็นเศรษฐินีมาก่อน มีลูกชาย
7 คน ลูกสาวอีก 7 คน เมื่อลูกๆ เติบโตขึ้นก็ได้แต่งงานมีครอบครัว ต่อมาสามีของนางได้เสียชีวิตลง นางถูกลูกๆรบเร้าให้แบ่งสมบัติ เศรษฐินีท่านนี้จึงได้แบ่งทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมด ให้กับลูกๆ คนละเท่าๆ กัน โดยที่ไม่ได้เหลือไว้ให้กับตัวเองเลย เพราะคิดว่า แม้ไม่มีสมบัติติดตัวสักชิ้น ลูกๆ ก็คงช่วยกันอุปัฏฐากดูแลยามแก่ชรา

       เนื่องจากนางไม่เคยสอนให้ลูกๆ ไปวัดฟังธรรม หรือสนใจในพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา
ไม่ได้สอนให้ลูกรู้จักความกตัญูต่อบิดามารดาสมัยแรกๆ ลูกแต่ละคนก็ช่วยกันรับหน้าที่ดูแลแม่คนละ
เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง แต่พออยู่นานๆ ไป ลูกแต่ละคนมัวยุ่งกับการทำธุรกิจการงาน
ไม่มีเวลาดูแลแม่อย่างเต็มที่ บางครั้งก็พูดจากระทบกระเทียบว่า ทำไมแม่ไม่ไปอยู่บ้านหลังอื่นบ้าง เพราะทรัพย์สมบัติที่แม่มอบให้ ก็ให้เท่าๆ กันมิใช่หรือ แม่ได้ฟังเช่นนั้น ก็รู้สึกขัดเคืองใจ ไม่พอใจที่ลูกว่ากล่าวทำนองไม่
อยากจะดูแลเลี้ยงดู นางจึงต้องไปอาศัยอยู่กับลูกชายคนรอง

      เมื่อไปอยู่บ้านอีกหลังหนึ่งสมัยแรกๆ ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี แต่พอนานวันเข้า ลูกสะใภ้ก็ดี
ลูกเขยก็ดี มักจะพูดจาไม่ไพเราะ มีเจตนาจะให้นางไม่สบายใจ ทั้งไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร เมื่อทนไม่ไหวก็อำลาลูกๆ คนนี้ ไปอยู่บ้านหลังอื่น แ
ม้ว่านางจะไปอาศัยกับลูกคนไหนก็ตาม ก็จะได้รับคำพูดที่แทงใจเสมอๆว่า

      "คุณแม่แบ่งสมบัติให้ลูกแต่ละคนเท่าๆ กัน ก็ควรจะไปอยู่บ้านหลังอื่นบ้าง เพราะฉันเองก็มีภาระ
หน้าที่ต้องรับผิดชอบมากมาย"

      เศรษฐินีท่านนี้ เห็นว่าไม่มีลูกคนไหนที่พอจะพึ่งพิงได้ หรือแม้อยู่ด้วย ก็อยู่เหมือนเป็นภาระของลูกๆเมื่อลูกแต่ละคนไม่ได้เต็มใจที่จะปรนนิบัติดูแลแม่ นางจึงนึกถึงพระบรมศาสดา เพราะทราบว่า พระพุทธองค์
เป็นผู้มีมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ เป็นเหมือนที่พึ่งของคนยาก จึงตัดสินใจไปขอบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

       เมื่อได้รับอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี นางได้มองดูภาพประวัติชีวิตที่ผ่านมา ว่าได้ทำความดีอะไรเอาไว้เพื่อให้ตัวเองได้ปลื้มอกปลื้มใจบ้าง ก็ไม่ได้เห็นอะไรที่นำความปลื้มปีติมาให้เลย ตัวเองสามารถเลี้ยงลูกตั้ง14 คน จนเติบโตมีครอบครัวกันหมด แต่ลูกทั้งหมดไม่มีใครสามารถเลี้ยงแม่คนเดียวได้ซักคน จึงคิดสอนตนว่า

ในปัจฉิมวัยที่ได้มาพบแสงสว่างแห่งชีวิต คือได้มีโอกาสอันเลิศ ได้บวชในบวรพระพุทธศาสนานี้ นางจะไม่ประมาท เร่งรีบทำความเพียรให้เต็มที่ จะได้ไม่ถูกตำหนิว่า บวชในยามแก่ บวชมาเพื่อขอพึ่งวัด พึ่งพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุมรรคผลเร็วที่สุด

        เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้ว หลังจากปัดกวาด ทำความสะอาดเสนาสนะ และทำวัตรปฏิบัติดูแลภิกษุณีผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว จึงตั้งใจทำสมาธิภาวนาไม่ได้ขาดเลยแม้แต่วันเดียว นางสลัดเรื่องราวทางโลกทั้งหมดมุ่ง
รักษาใจให้กลับมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายภายใน ใจไม่วอกแวกกันเลยทีเดียว มีอยู่คืนหนึ่ง นางตั้งใจว่าจะทำสมณธรรมตลอดคืนยันรุ่ง คือตัดสินใจว่า คืนนี้จะไม่นอนกันหละ บังเอิญว่า คืนนั้นเป็นคืนเดือนมืด นางมองไม่เห็นอะไรเลย จะเดินจงกรมก็ลำบากเหลือเกิน คืนนั้น นางจึงใช้มือจับเสาไม้ต้นหนึ่ง เดินเวียนเสาไม้ทำ
สมณธรรม

       ขณะเดินจงกรมแก้ง่วง ก็เอามือจับเสาไม้ไปด้วย เพราะเกรงว่าศีรษะจะกระทบกับต้นไม้หรือสะดุด
หกล้ม เพราะนางเป็นคนแก่ชรา จะเดินเหินเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไปก็ไม่ได้แล้ว เดินจงกรมไป ใจก็ตรึก
ระลึกนึกถึงคำสอนของพระบรมศาสดาไปด้วย แล้วก็พยายามประคับประคองใจให้หยุดนิ่ง คือ ข้างนอกเคลื่อนไหว ภายในก็หยุดนิ่ง ในขณะที่ใจของนางกำลังหยุดนิ่งอยู่ พระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ในพระคันธกุฏีได้เห็นความตั้งใจจริงของนาง จึงแผ่พระรัศมีออกไป เหมือนประทับนั่งอยู่ต่อหน้า แล้วตรัสพระธรรมเทศนาว่าผู้ใดไม่เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม พึงเป็นอยู่ 100 ปี ความเป็นอยู่วันเดียวของผู้เห็นธรรมอันยอดเยี่ยม
ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น

       นางได้ปล่อยใจตามกระแสพระธรรมเทศนา พิจารณาธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง แล้วดำเนินจิต
เข้าสู่กลางของกลางภายในเข้าไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดสิ้นความอาลัยในโลกทั้งปวง เป็นผู้ถึงฝังแห่งใจหยุดนิ่ง มีพระนิพพานเป็นอารมณ์อย่างเดียว

 

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 101 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022035896778107 Mins