หลักการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยวาจา

วันที่ 24 มีค. พ.ศ.2558

 

หลักการทำหน้าที่กัลยาณมิตรด้วยวาจา

     ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่นักพูดที่มีความชำนาญหรือเป็นนักบรรยายที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ เราจะต้องรู้จักวิธีการพูดและวิธีการสื่อสาร เพื่อนำเอาสิ่งที่ดีและความปรารถนาดีภายในจิตใจของเรา ให้ผู้ที่เราไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้น รับทราบและเข้าใจในวัตถุประสงค์ของเราซึ่งการจะฝึกฝนตนเองให้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามให้กับบุคคลทั้งหลายได้ทราบและนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดคุณค่ากับชีวิตนั้น เราจะต้องเข้าใจถึงวิธีการพูดที่เหมาะสมดังที่ได้ศึกษามาแล้วว่าผู้ที่ไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรนั้นมีหน้าที่สำคัญ ประดุจนักการทูตคือเป็นบุคคลที่จะเป็นสื่อนำความปรารถนาดีไปมอบให้กับบุคคลทั้งหลายซึ่งลักษณะของ

       นักการทูตที่ดีนั้น มีดังนี้

1.ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ

2.เมื่อถึงคราวพูดก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง

3.รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด

4.จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด

5.เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง

6.ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้

7.ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

8.ไม่พูดชวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท

     จากลักษณะทั้ง 8 ประการดังกล่าว สามารถนำมาเป็นหลักการเพื่อจะได้ศึกษาเปรียบเทียบจากเรื่องราวในพระไตรปิฎกซึ่งกล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับอสูรตนหนึ่ง ซึ่งจะพบว่าพระพุทธองค์ทรงมีกุศลวิธีในการอธิบายและยกอุปมาอุปมัย นอกจากจะมีความงาม ความไพเราะแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่มีการหักล้างหรือมีลักษณะกล่าวขัดแย้งกับผู้ที่พระองค์ร่วมสนทนาแต่อย่างใดดังตัวอย่างที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับอสูรชื่อ “ ปหาราทะ” ดังปรากฏอยู่ใน “ ปหาราทสูตร” ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย ดังที่สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ควงไม้สะเดาที่เนฬรุยักษ์สิงสถิตใกล้กรุงเวรัญชาครั้งนั้น ท้าวปหาราทะจอมอสูรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับปหาราทะจอมอสูร พระพุทธองค์ทรงมีกุศลวิธรในการอธิบายเปรียบเทียบความคิดความเห็นของอสูรกับธรรมะในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการเทียบโดยมิได้มีการแสดงความขัดแย้งความเห็นกันเลย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาพร้อมด้วยความมีมิตรภาพระหว่างคู่สนทนาถึงแม้จะยังมีความคิดความเห็นที่ยังไม่เหมือนกันขณะเดียว กันแม้พระพุทธธรรมคำสอนนั้นจะมีความประเสริฐเลิศกว่าคำสอนใดแต่พระพุทธองค์ก็มิได้กล่าวข่มให้จอมอสูรเกิดความด้อยค่าลง

     เรื่องราวดังกล่าวนี้สามารถนำมาเปรียบกับลักษณะของ การพูดแบบนักการทูตคือฟังความคิดของผู้อื่น ไม่ด่วนขัดแย้งแม้คราวได้โอกาสอธิบายก็อธิบายได้อย่างน่าฟัง เนื้อหาตรงประเด็นกะทัดรัดฉลาดในการพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์และไม่ชวนให้เกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาททั้งนี้ผู้ที่จะไปทำหน้าที่กัลยาณมิตรสามารถนำเอามาเป็นแบบอย่างได้เป็นอย่างดี พระพุทธองค์ทรงอธิบายได้อย่างชัดเจนมีเนื้อหาที่สามารถเทียบเคียงกับสิ่งที่จอมอสูรปหาราทะ ซึ่งการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเราจะต้องมีความรู้และมีข้อมูลในการที่จะสนทนาในเรื่องใดเป็นอย่างดี

 

จากหนังสือ DOU
วิชา DF 202 ทักษะการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0066336313883464 Mins