สมาธิ (2)

วันที่ 02 กย. พ.ศ.2549

phramongkol1.jpg

       ทุติยฌานเล่า วิตกฺกวิจารานํ วูปสมาย สงบวิตก วิจาร เสียได้ ความตรึก ความตรอง ตรวจตราไม่มี สงบวิตกวิจารเสียได้ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เข้าถึงซึ่งทุติยฌาน ความเพ่งที่สอง ระคนด้วยองค์ ๓ ประการ คือ ปีติ สุข เกิดแต่วิเวกเหมือนกัน นี่เข้าถึงทุติยฌาน

ปีติยา จ วิราคา อุเปกฺขโก จ วิหรติ ปราศไปจากความปีติไม่มีปิติ เข้าถึงซึ่งตติยฌาน ความเพ่งที่สาม ระคนด้วยองค์ ๒ ประการ คือ สุข เกิดแต่วิเวก หรือ “สุข” “เอกัคตา” อย่างนี้ก็ได้ เพราะเกิดแต่วิเวก

ระงับสุข สุขสฺส จ ปหานา ทุกฺขสฺส จ ปหานา ละสุขละทุกข์เสียได้ หรือดับความดีใจเสียใจอันมีในก่อนเสียได้ เข้าถึงจตุตถฌาน ความเพ่งที่สี่ ระคนด้วยองค์ ๒ ประการ มีสติบริสุทธิ์ เฉย อยู่สองประการเท่านั้น ที่จับตามวาระพระบาลี ได้ความอย่างนี้ นี่เป็นปริยัติแท้ ๆ ยังไม่เข้าถึงทางปฏิบัติ

ส่วน สมาธิในทางปฏิบัติ เป็นไฉน ในทางปฏิบัติละก็มีรสมีชาติดีนัก สมาธิในทางปฏิบัติว่าโดยปริยายเบื้องต่ำเบื้องสูงแบบเดียวกัน

อริยสาวกในธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้านี้ นี่สมาธิในทางปฏิบัติกระทำอารมณ์ทั้ง ๖ รูปารมณ์ สัททารมณ์ รสารมณ์ คันธารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ธรรมารมณ์ ไม่ให้ติดกับจิต หลุดจากจิตทีเดียว เหลือแต่จิตล้วนๆ ไม่มีอารมณ์เข้าไปแตะทีเดียว เหมือนอะไร เหมือนคนที่เวลานอนจะใกล้หลับ เมื่อยังไม่หลับมีอารมณ์เข้าไปติดอยู่ รูปารมณ์บ้าง นึกถึงอดีตบ้าง ปัจจุบันบ้าง อนาคตบ้าง สัททารมณ์บ้าง ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต คันธารมณ์บ้างที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต รสารมณ์บ้าง ที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต โผฏฐัพพารมณ์บ้าง ที่เป็นของเก่าของใหม่ ของปัจจุบัน หรือธรรมารมณ์บ้าง ที่เกิดอยู่ในเดี๋ยวนั้น ที่ล่วงไปแล้ว และที่จะเกิดต่อไป อารมณ์เหล่านี้แหละวุ่นอยู่กับใจ ติดอยู่กับใจ เปลื้องจากกันไม่ได้ ไม่หลับนอน ตลอดคืนยันรุ่งก็ไม่หลับเพราะอารมณ์มันเข้าไปติดกับใจ มันไปเกี่ยวข้องกับใจ มันไปบังคับใจเสียนอนไม่หลับ มันไม่หลุด เมื่อไม่หลุดเช่นนี้ละก็เรียกว่าสละอารมณ์ไม่ได้

เมื่อสละอารมณ์ได้ในทางปฏิบัติ ไม่เกี่ยวด้วยอารมณ์เลย ใจหลุดจากอารมณ์เหมือนอะไร เหมือนไข่แดงกับไข่ขาวอยู่ด้วยกันจริงๆ แต่ว่าไม่เกี่ยวกันไข่แดงมีเยื่อหุ้มอยู่นิดหนึ่ง บางๆ ไม่เกี่ยวกับไข่ขาวด้วย ไข่ขาวหุ้มอยู่ข้างนอกไม่ติดกัน รสชาติของไข่แดงก็รสหนึ่ง รสชาติของไข่ขาวก็รสหนึ่ง ไม่เข้ากัน อยู่คนละทางเห็นปรากฏทีเดียว เห็นที่ไหนอยู่ที่ไหนจึงเป็นทางปฏิบัติ เห็นปรากฏชัดอยู่ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลางกายมนุษย์นี่ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ก็ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่นั่นแหละ ไม่ใช่จิตดวงเดียว ในกลางดวงจิตมีวิญญาณ แต่ดวงจิตอยู่ในกลางดวงจำ ดวงจำอยู่ในกลางดวงเห็น แต่ว่าพูดถึงจิตดวงเดียวแล้วก็ จิตไม่เกี่ยวด้วยอารมณ์ ทีเดียว อารมณ์ไม่เข้าไปแตะทีเดียว นิ่งหยุดดิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ แล้วผู้ปฏิบัติของตัวเห็น ใครเห็น นี้เป็นทางปฏิบัติ กายมนุษย์ละเอียดมันเห็น ไม่ใช่กายมนุษย์คนหยาบนี่ กายมนุษย์ละเอียดที่มันฝันออกไป กายมนุษย์คนนั้นแหละมันเห็น มันอยู่ในกลางดวงนั่นแหละ มันเห็นดวงจิตบริสุทธิ์สนิทหลุดจากอารมณ์ดังนี้ ไม่มีอารมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องเลยทีเดียว เป็นดวงจิตใสเหน่งอยู่นั่นแหละ เหมือนไข่แดง แต่ว่ามันไม่ใสอย่างไข่แดงหรอก ใสเหมือนกระจกส่องเงาหน้า ใสเหน่งทีเดียว ตากายมนุษย์ละเอียดมันเห็น เพราะว่ามันก็รู้ว่าดวงจิตของมนุษย์เวลานี้ไม่เกี่ยวด้วยอารมณ์ทั้ง ๖ เลย อารมณ์ทั้ง ๖ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวเลย หลุดจากกันหมด เห็นอย่างนี้เรียกว่า โวสฺสคฺคารมฺมณํ กริตฺวา ลภติ สมาธิ มันก็นิ่ง นิ่งแน่นอนอยู่กับดวงจิตมั่นไม่คลาดเคลื่อน ดวงจิตนั่นก็ซ้อนอยู่กับดวงจำ ดวงเห็น ดวงวิญญาณ ก็ซ้อนกันอยู่ในกลางดวงจิตนั่นแหละ ทั้ง ๔ อย่างนี้ซ้อนไม่คลาดเคลื่อนกันเป็นจุดเดียวกันนั่นแหละ ไม่ลั่นลอดจากกัน เป็นก้อนเดียวชิ้นเดียวอันเดียวทีเดียว เห็นชัดๆอย่างนี้เรียกว่า สมาธิในทางปฏิบัติแท้ๆ อย่างนี้เรียกว่าได้สมาธิ จิตฺตสฺเสกคฺคตํ ได้ถึง เอกคฺคตา ได้ถึงซึ่งความเป็นหนึ่ง จิตดวงนั้นแหละถึงซึ่งความเป็นหนึ่งทีเดียว ไม่มีสอง ไม่มีเขยื้อน แน่นแน่วเหมือนอย่างกับน้ำที่ใส่ไว้ในแก้วตั้งไว้ที่มั่น ไม่มีลมพัดมาถูกต้องเลย ไม่เขยื้อนเลยทีเดียว อยู่ทีเดียว หยุดอยู่กับที่ทีเดียว นั้นได้ชื่อว่า จิตฺตสฺเสกคฺคตํ ถึงซึ่งความเป็นหนึ่งทีเดียว จิตถึงซึ่งความเป็นหนึ่งขนาดนั้น นั่นได้สมาธิอย่างนี้เรียกว่าได้สมาธิแล้ว แต่ว่า สมาธิโดยปริยายเบื้องต่ำ อย่างนี้สมาธิโดยปริยายเบื้องต่ำ ไม่ใช่สมาธิโดยปริยายเบื้องสูง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010879993438721 Mins