อิทธิบาท4 (วิริยะ) ความเพียร

วันที่ 02 พค. พ.ศ.2558

อิทธิบาท4

 

 

อิทธิบาท4 (วิริยะ) ความเพียร

 

 

    วิริยะ7) โดยคำศัพท์แล้วมาจากคำว่า วีระ แปลว่า กล้า ก็คือ มีความกล้าที่จะผจญกับอุปสรรค ทุกชนิด เห็นอุปสรรคแล้วมีความรู้สึกเหมือนทารกเห็นขนม หรือเห็นอุปสรรคต่างๆ แล้วมีความรู้สึกเหมือนทารกเห็นไอศกรีม เห็นช็อคโกแลต เห็นแล้วก็อยากจะกิน อยากจะลิ้มลอง อยากจะพิสูจน์ วิริยะเมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้วจะทำให้มีความขยันหมั่นเพียรและความพากเพียรบากบั่นในการทำงานนั้นๆไม่ยอมแพ้ต่อความเกียจคร้านความขี้เกียจ ความเฉื่อยชา ซึมเซา คือบางทีขี้เกียจ อยากจะพัก อยากจะนอน อยากจะเล่น แต่ก็ไม่ยอมแพ้ต่อความอยากเหล่านั้น ไม่ขี้เกียจแข็งใจสู้ ต้องทำไปไม่ยอมแพ้ นี่คือ วิริยะ

  วิริยะมีความสำคัญต่อการทำงานทางใจ คือ จะให้สำเร็จได้ต้องมีวิริยะความพากเพียร นั่งนึก อย่างเดียวไม่สำเร็จ ต้องลงมือทำถึงจะสำเร็จ ถ้าคิดแล้วไม่ทำก็เป็นการสร้างวิมานในอากาศ คิดแล้วต้องทำงานทางใจ ถึงจะสำเร็จได้ถ้าเรามีวิริยะความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นอย่างเราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

 

 

    วิริยะในการปฏิบัติสมาธิ

 

  วิริยะ ในการทำสมาธินั้น พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีท่านให้คำจำกัด ความไว้ว่า8)  “ บากบั่น” ท่านได้ขยายความไว้ว่า “ ต้องบากบั่นพากเพียรเอาจริงเอาจัง”

 

    พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้ขยายความวิริยะไว้ว่า9)

“ ขยันนั่งขยันทำใจหยุดนิ่งไม่ว่ามีเวลาซัก 1 หรือ 2 นาทีก็ฝึกไปเรื่อยทำยังไงจะปล้ำใจ

    มันหยุดนิ่งอยู่ภายในไม่ว่าจะมีเวลา 1 นาที 2 นาที 5 นาที 10 นาที ในรถในเรือที่ไหน ก็แล้วแต่ บนเครื่องบิน ห้องน้ำห้องท่า ทำหมดฝึกไปเรื่อยๆ ฝึกตั้งแต่ยังคุ่มๆ ค่ำๆ นึกอะไรไม่ออกใจยังฟุ้งซ่านอยู่ก็จะค่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ นี่ความขยันมาแล้ว พอความขยันมาใจก็จรดจ่อ ขบวนที่ 3 ก็ตามมา”

  
    วิริยะ 3 ระดับ 

 

  เราสามารถจัดแบ่งวิริยะได้เป็น 3 ระดับดังนี้ คือ

 

    วิริยะระดับเบื้องต้น

 

 คือการเริ่มต้นทำสมาธิตั้งแต่เริ่มนั่งบ้างไม่นั่งบ้างแต่ก็เริ่มต้นด้วยการกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการนั่งทีละน้อยและกล้าที่จะทำให้ตัวเองก้าวหน้าในการทำความดีด้วยการทำสมาธิ
 

 

    วิริยะระดับกลาง 

 

 เป็นการนั่งสมาธิทุกวันไม่ขาดนั่งเรื่อยๆแต่จะเข้าถึงเมื่อไหร่นั้นก็เป็นเรื่องของใจแต่ความมีเพียรทำอย่างสม่ำเสมอเป็นความกล้าที่เพิ่มขึ้นในการทำจะทำความดีอย่างต่อเนื่องและจริงจังผู้ที่ทำได้อย่างนี้ไม่วันใดก็วันหนึ่งต้องได้บรรลุแน่นอน

 

    วิริยะระดับสูง

 

    คือ การทำสมาธิอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตั้งมั่นว่าเมื่อนั่งลงไปแล้วไม่ได้ยอมตายกันทีเดียว ในทางพระพุทธศาสนาจัดว่าเป็นปรมัตถบารมี   ถ้าไม่ได้ยอมตายเป็นการนั่งทำความเพียรแบบเด็ดขาด เรียกว่าไม่ได้ตายเถิด การนั่งแบบนี้จะขึ้นอยู่กับบารมี บางคนก็ตายจริง บางคนก็ไม่ตาย แต่ถึงแม้จะตายแต่ยังทำไม่ได้ในภพนี้ก็จะไปได้ในชาติหน้า

    ตัวอย่างของบุคคลผู้มีความเพียรอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ในพระไตรปิฎกก็มีกล่าวไว้ในที่นี้จะขอยกกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ดังต่อไปนี้

 

   เรื่องของภิกษุ 7 รูป

 

   ในอดีตเล่ากันมาว่า ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว พระองค์ทรงยังศาสนธรรมให้รุ่งโรจน์ ข่มขี่เดียรถีย์ผู้หลอกลวง ทรงแนะนำเวไนยสัตว์ แล้วเสด็จปรินิพพานพร้อมทั้งพระสาวก ครั้นเมื่อพระโลกนาถพร้อมทั้งพระสาวกปรินิพพานแล้วเมื่อศาสนธรรมกำลังจะสูญสิ้นอันตรธาน ทวยเทพและมนุษย์พากันสลดใจ สยายผม มีหน้าเศร้าคร่ำครวญว่า ดวงตา คือ พระธรรมจะดับแล้ว เราจะไม่ได้เห็นท่านผู้มีวัตรดีงามทั้งหลาย เราจะไม่ได้ฟังพระสัทธรรม โอหนอ พวกเราเป็นคนมีบุญน้อย ครั้งนั้น พื้นปฐพีทั้งหมดนี้ ทั้งใหญ่ทั้งหนา ได้ไหวสั่นสะเทือน สาครสมุทร ดุจเหือดแห้ง แม่น้ำครวญครางน่าสงสาร อมนุษย์ตีกลองดังทั่ว 4 ทิศ อสนีบาตอันน่ากลัว ตกลงโดยรอบ อุกกาบาตตกจากท้องฟ้า ดาวหางปรากฏ เกลียวแห่งเปลวไฟ มีควันพวยพุ่ง หมู่สัตว์ร้องครวญคราง อย่างน่าสงสาร

    ในขณะนั้นมีภิกษุ 7 รูป เห็นเหตุการณ์เหล่านั้น เกิดความสลดใจ คิดว่าความอันตรธานแห่งพระศาสนายังไม่มีเพียงใดพวกเราจะกระทำที่พึ่งแก่ตนเพียงนั้นไหว้พระเจดีย์ทองคำแล้ว เข้าไปสู่ป่า เห็นภูเขาลูกหนึ่ง จึงกล่าวว่า “ ผู้มีอาลัยในชีวิตจงกลับไป ผู้ไม่มีอาลัยจงขึ้นภูเขาลูกนี้” พาดบันไดแล้วแม้ทั้งหมดขึ้นสู่ภูเขานั้นผลักบันไดทิ้งแล้วกระทำสมณธรรม 

  บรรดาภิกษุเหล่านั้น พระสังฆเถระบรรลุพระอรหัตโดยล่วงไปราตรีเดียวเท่านั้นพระเถระนั้นเคี้ยวไม้ชำระฟันชื่อนาคลดาในสระอโนดาตนำบิณฑบาตมาแต่อุตตรกุรุทวีป แล้วกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นว่า “ ผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านเคี้ยวไม้ชำระฟันนี้ บ้วนปากแล้ว จงฉันบิณฑบาตนี้” 

   ภิกษุ ท่านผู้เจริญก็พวกเราทำกติกากันไว้อย่างนี้ว่า “ ภิกษุใดบรรลุพระอรหัตก่อน ภิกษุทั้งหลาย ที่เหลือ จะฉันบิณฑบาตที่ภิกษุนั้นนำมาหรือ”

   พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ “ ข้อนั้นไม่มีเลย”

   ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า “ ถ้าเช่นนั้น แม้พวกเราจะยังคุณวิเศษให้เกิดเหมือนท่าน แล้วจะนำอาหารมาบริโภคเอง” ดังนี้แล้วก็ไม่รับ

   ในวันที่ 2 พระเถระองค์ที่ 2 บรรลุอนาคามิผล พระเถระนั้นนำบิณฑบาตมาแล้วก็นิมนต์ภิกษุรูปอื่นให้ฉันอย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้ว่า “ ท่านผู้เจริญ ก็พวกเราทำกติกากันไว้อย่างนี้ว่าพวกเราจะไม่บริโภคบิณฑบาตที่พระมหาเถระนำมาแต่จะบริโภคบิณฑบาตที่พระอนุเถระนำมาหรือ”

    พระเถระองค์ที่ 2 กล่าวว่า “ ผู้มีอายุ ข้อนั้นไม่มีเลย”

    ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า “ เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้พวกเรายังคุณวิเศษให้เกิดเหมือนท่านแล้วอาจเพื่อบริโภคด้วยความเพียรแห่งบุรุษของตนได้จึงจะบริโภค” ดังนี้แล้วก็ไม่รับ      

    บรรดาภิกษุเหล่านั้นภิกษุผู้บรรลุพระอรหัตปรินิพพานแล้วภิกษุผู้เป็นอนาคามีบังเกิดในพรหมโลกภิกษุอีก 5 รูปไม่อาจยังคุณวิเศษให้บังเกิดได้ ผ่ายผอมแล้วมรณภาพในวันที่ 7 บังเกิดในเทวโลกในสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ จุติ (ตาย) แปลว่า เคลื่อนจากเทวโลกนั้นแล้ว เกิดในตระกูลต่างๆ 

    เมื่อได้มาเกิดในภพสุดท้าย ภิกษุรูปหนึ่งได้เป็นพระราชา พระนามว่า ปุกกุสาติ ฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยการพบกันครั้งแรกก็ได้เป็นพระอนาคามี มรณภาพ แล้วได้ไปสู่พรหมโลก

   ท่านที่เหลือ ได้เกิดมาเป็นพระกุมารกัสสปะ พระทารุจีริยะ พระทัพพมัลลบุตร พระสภิยะ ทั้ง 4 องค์ ได้เป็นพระอรหันต์ โดยการฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

    จากข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า การทำความเพียรแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้น ได้ผลเร็วเห็นทันตา แต่ต้องใช้ความเพียรอย่างสูงจึงจะทำได้ ดังนั้นในประวัติศาสตร์จึงมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำได้ในยุคของเราก็มีพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีที่เป็นตัวอย่างแก่เรา

 

วิธีการสร้างให้มีความวิริยะ

 

   เราจะต้องป้องกันศัตรูตัวร้ายที่มาทำร้ายวิริยะ คือ อบายมุข ทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า การเที่ยวเตร่เฮฮา ความเจ้าชู้ คบคนไม่ดี ความเกียจคร้านต่างๆ ใครเคยดื่มเหล้าหัวราน้ำ ต้องเพลา ต้องเลิกต้องงด ฯลฯ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เสียสุขภาพ เมื่อสุขภาพไม่ดีพอถึงคราวจะทำงาน ก็ไม่อยากทำดื่มเหล้าเมามาตื่นเช้าก็ยังมึนอยู่ยังไม่สร่างทำให้ขยันไม่ออกเพราะสภาพร่างกายไม่พร้อมพักผ่อนไม่พอร่างกายไม่แข็งแรงต้องเว้นอบายมุขเสียก่อน เมื่อสุขภาพดี จึงจะทำการงานได้

   ในการคิดจะทำสมาธิ ต้องลงมือทำทันที ส่วนใหญ่เสียเวลาตรงตั้งท่าเยอะ พอคิด ใช้เวลาตั้งท่า หลายวัน พอเริ่มจะทำก็เหนื่อยเสียก่อน คิดจนเหนื่อย มีลูกเล่นมาก ทำได้หน่อยเดียวเลยเลิก พอคิดปั๊บ ต้องทำเลย จะรู้สึกสนุกและอยากจะทำต่อ เหมือนเด็กเรียนหนังสือเด็กที่ขยันเรียนหนังสือ เรียนเสร็จ กลับมาบ้านทบทวนแบบฝึกหัดทบทวนแบบเรียน การบ้านมีทำ พอถึงคราวไปเรียนใหม่จะอยากเรียนต่อ เพราะความรู้เก่าก็แน่น ความรู้ใหม่ก็ดูมาล่วงหน้า อยาก จะเรียน ถึงคราวเรียนสบตาครูอย่างเดียว กลัวครูจะไม่ถาม อยากให้ถามพร้อมจะตอบ คนที่ทำสมาธิบ่อยๆ จะรู้สึกมีความสุขกับการทำสมาธิ และอยากนั่งให้ ยิ่งๆ ขึ้นไป เช่นนี้

**************************************************************************

7)  พระภาวนาวิริยคุณ, พระธรรมเทศนา, 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541.

8)  มรดกธรรม กัณฑ์ที่ 2 หน้า 64.

9)  พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 3 ตุลาคม 2536.    

 ************************************************************************

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4 

 

เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012602170308431 Mins