สละชีวิตเป็นเดิมพัน

วันที่ 28 กย. พ.ศ.2549

 

ถาม..การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ ที่ยอมสละชีวิตเป็นเดิมพัน ต่างจากการฆ่าตัวตายอย่างไรเจ้าคะ ?

 

ตอบ..ต่างกันอย่างยิ่งทีเดียวคุณโยม แต่เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า " สร้างบารมี " กันก่อนดีกว่า

 

.....คำว่า " บารมี " มีความหมายอยู่ ๒ อย่าง คือ

 

๑. บารมี หมายถึง บุญที่มีคุณภาพดีเยี่ยม คือ เวลาทำความดี ก็จะเกิดเป็นบุญขึ้นมา และบุญนี้จะถูกเก็บเอาไว้ในใจ 

 

.....เหมือนอย่างกับกระแสไฟฟ้าที่ชาร์ตเก็บเอาไว้ในแบตเตอรี่ กระแสไฟฟ้าเก็บเอาไว้ในแบตเตอรี่ได้ ฉันใด บุญก็เก็บเอาไว้ในใจได้ ฉันนั้น นอกจากเก็บเอาไว้ในใจแล้ว บุญยังกลั่นใจให้ใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชร อีกด้วย

.....บุญที่เกิดขึ้นมาจากการทำความดีแต่ละอย่าง จะมีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไป คือ ถ้าตั้งใจทำความดีแบบปกติธรรมดา ก็จะเกิดเป็นบุญที่มีคุณภาพอย่างหนึ่ง แต่ถ้าตั้งใจทำความดีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ก็จะเกิดเป็นบุญที่มีคุณภาพพิเศษขึ้นมา

.....บุญที่มีคุณภาพพิเศษ อันเกิดจากการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดีนี้ ท่านเรียกว่า " สร้างบารมี " หรือเรียกสั้นๆ ว่า " บารมี " ก็ได้

 

๒. บารมี หมายถึง นิสัยดีๆ เมื่อทำความดีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันเป็นประจำ ครั้งแล้วครั้งเล่า ปีแล้วปีเล่า ชาติแล้วชาติเล่า ในที่สุดก็เกิดเป็นนิสัยดีๆ ขึ้นมา คือนิสัยชอบเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการสร้างความดีนั่นเอง

.....ผู้ใดตั้งใจสร้างบารมีมาอย่างดี ใจของเขาจะผ่องใสเป็นปกติ ทำให้นอกจากจะฉลาดแล้ว ยังมีสติสัมปชัญญะ ไม่เผลอไผล ไปคิด ไปพูด ไปทำ ในสิ่งที่ไม่ดีอีกด้วย นี่คือหลักการของการสร้างบารมี

.....มนุษย์ทุกคน หรือแม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ก็ต้องสร้างบารมีด้วยกันทั้งนั้น เพราะว่าทันทีที่คลอดจากครรภ์มารดา ร่างกายของคนเราจะมีเชื้อมีโรคบางอย่างติดมาด้วย ก็เลยต้องมีการฉีดวัคซีน ต้องมาปลูกฝีอะไรกันนั่นแหละ

.....ยังไม่พอ แม้ใจของเราก็มีเชื้อร้ายฝังอยู่ ทำนองเดียวกันกับเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกเชื้อร้ายที่เข้ามาเพาะ เข้ามาฝังอยู่ในใจของมนุษย์ว่า " กิเลส "

.....เจ้ากิเลสนี้ นอกจากคอยกัดกร่อนบ่อนทำลาย ให้ใจของเราอ่อนล้าลงไปแล้ว ยังคอยบีบคั้นให้ใจของเราคิดร้ายๆ อีกด้วย คือ คิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง คิดอิจฉาตาร้อนสารพัด ถ้าเรายอมทำตามที่กิเลสบีบคั้น ก็จะต้องพบกับความเดือดร้อน เพราะกรรมร้ายที่เราทำไปนั้น

.....ผู้ที่ฉลาด ผู้ที่มีปัญญา ท่านมองออกว่า ถ้าอย่างนั้นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องสร้างภูมิต่อต้าน การบีบคั้นของกิเลส ให้กับใจขึ้นมาให้ได้ ด้วยการสร้างบารมี วัคซีนป้องกันเชื้อโรคได้ ฉันใด บารมีที่แก่กล้าก็ฆ่ากิเลสที่อยู่ในใจได้ ฉันนั้น

.....การสร้างบารมีจึงเป็นเรื่องของคนที่มีใจผ่องใสเป็นปกติ มีความเฉลียวฉลาดเป็นปกติ มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์เป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องของความเผลอไผล หรือว่าขาดสติ

.....เพราะฉะนั้น จึงต่างกับการฆ่าตัวตายของมนุษย์ทั้งหลายอย่างยิ่ง เพราะมนุษย์ที่ฆ่าตัวตาย ไม่ใช่แค่เกิดจากการเผลอสติเท่านั้น แต่ว่าเกิดจากการขาดสติทีเดียว

.....ขณะที่ขาดสติ ใจของเขาจะมืดตื้อยิ่งกว่าเข้าถ้ำ จะขุ่นคลั่กยิ่งกว่าโคลน หรือยิ่งกว่าเอาใจไปจุ่มในน้ำหมึกที่มีสีดำเสียอีก ใจจึงเต็มไปด้วยความโง่เขลา

.....เมื่อมีใจที่เต็มไปด้วยความโง่เขลา จึงทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของร่างกายมนุษย์ ที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อว่า ร่างกายที่เหมาะที่สุดในการทำความดีทุกรูปแบบนี้ กว่าจะได้มานั้นแสนยาก ต้องสร้างบุญมาไม่รู้กี่โกฏิ กี่กัป

.....ได้มาแล้วแทนที่จะเอาไปทำความดี กลับอาศัยความน้อยอกน้อยใจบ้าง ความอึดอัดขัดข้องบ้าง ทั้งที่เรื่องเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ แต่ด้วยความที่ขาดสติสัมปชัญญะ มองไม่เห็นคุณค่าของร่างกาย ไม่เห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ ก็เลยฆ่าตัวตาย

.....ส่วนนักสร้างบารมี ที่สร้างความดีมาอย่างยิ่งยวด สร้างความดีชนิด ยอมสละชีวิตเป็นเดิมพัน ถ้าตายตอนนั้น ใจของท่านก็ใส ก็สว่าง จึงต่างกันอย่างนี้แหละลูกเอ๊ย

.....เพราะฉะนั้น ขอให้ตั้งใจสร้างบารมีกันทุกคน ยิ่งสร้างบารมีมากเท่าไหร่ ใจของเราก็ผ่องใส มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายขาว ส่วนการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องของฝ่ายดำเขา

 

.....สำหรับการสร้างความดีชนิด ยอมสละชีวิตเป็นเดิมพันนี้ หลวงพ่ออยากจะให้พวกเราไปศึกษาบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ทรงสร้างเอาไว้ ตั้งแต่

๑. ทานบารมี คือ ตั้งใจให้ทานแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อที่จะป้องกันและแก้ไข ไม่ให้ใจของเราย้อนกลับไปโลภ ไปอยากได้ของใครอีก ในใจคิดแต่จะให้ ไม่คิดกอบโกยอะไรเข้ามาอีกเลย

๒. ศีลบารมี คือ รักษาศีลของเราให้ดี เพื่อจะได้กำจัดความโกรธ ที่ติดตัวข้ามภพข้ามชาติมา

๓. เนกขัมมบารมี คือ สละเรื่องเพศ เรื่องกาม ตัดออกจากใจเสียให้ได้ แล้วจะได้ไม่ต้องไปเลี้ยงลูก เลี้ยงสามี หรือเลี้ยงภรรยา กับใครเขาอีก เหมือนอย่างกับหลวงพ่อที่มาบวชอยู่อย่างนี้ สบายจริงๆ

๔. ปัญญาบารมี คือ หมั่นศึกษาธรรมะให้เยอะๆ เพื่อจะได้มีความรอบรู้ หยั่งรู้เหตุผล เข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนกลายเป็นความฉลาดติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

๕. วิริยบารมี คือ ไม่กลัวอุปสรรค มีความพยายามที่จะข้ามอุปสรรค และสิ่งใดที่เป็นความดี พอรู้แล้วก็เดินหน้าสร้างความดีนั้นเรื่อยไป

๖. ขันติบารมี คือ สร้างความอดทน ความทนทาน ให้แก่ร่างกายและจิตใจ เพราะบุคคลเมื่อมีความทนทานแล้ว ก็จะสามารถใช้ปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในเหตุผล และแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติชอบ ไม่ยอมทำอะไรโดยตกอยู่ในอำนาจของกิเลสเลย

๗. สัจจบารมี คือ พูดจริง ทำจริง มีความจริงใจในทุกสิ่งทุกอย่าง กับทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย พูดง่ายๆ ต้องจริงแสนจริง เราถึงจะสลัดความโลเลทิ้งได้

๘. อธิษฐานบารมี คือ ความตั้งมั่น ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว เมื่อวางจุดหมายแห่งการทำความดี ของตนไว้แน่นอนแล้ว จะไม่ยอมลดระดับเป้าหมายลงเป็นอันขาด

๙. เมตตาบารมี คือ มีความรัก มีความปรารถนาดี มีไมตรีจิต คิดเกื้อกูลต่อผู้อื่น อยากให้เพื่อนร่วมโลกทั้งปวง มีความสุข ความเจริญ โดยถ้วนหน้ากัน

๑๐. อุเบกขาบารมี คือ วางใจเป็นกลาง วางใจสงบราบเรียบ สม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงโอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้าย หรือด้วยความชอบความชัง

บารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ มีตำรับตำราอยู่ในบ้านในเมืองมากมาย ไปค้นคว้าศึกษากันให้ดี แล้วชาตินี้อย่าได้โง่ไปฆ่าตัวตายกับใครเขาทีเดียว เพราะคนที่ฆ่าตัวตายนั้น เป็นคนที่โง่ข้ามชาติเลยล่ะลูกเอ๊ย

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.040058533350627 Mins