โฆษณาเหล้า-เบียร์ เพิ่มนักดื่มหน้าใหม่

วันที่ 29 กย. พ.ศ.2549

     จากผลงานการวิจัยของนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดเผยถึงเรื่อง “พฤติกรรมผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย” และระบุถึงผลการวิจัยที่ว่า การโฆษณาไม่มีผลต่อการบริโภค แต่อาจมีการเลียนแบบพรีเซนต์เตอร์

ทำให้ ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา แย้งไม่เห็นด้วยกับผลงานวิจัยข้างต้น โดยยกสถิติขององค์การอนามัยโลกที่พบว่าประเทศที่ควบคุมการโฆษณาสุราและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ลดลงได้ร้อยละ 16 อีกทั้งยังสามารถลดอุบัติเหตุได้ด้วย รวมทั้งมีงานวิจัยที่ยืนยันชัดว่าเด็กและเยาวชนอยากบริโภคสุราและเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เนื่องจากอยากลองถึงร้อยละ 84 และตามเพื่อน ร้อยละ 74 ซึ่งผลมาจากการรับรู้ผ่านทางการโฆษณาทั้งสิ้น และงบประมาณในการโฆษณาของธุรกิจเหล้าก็เพิ่มขึ้นจากปี 2542 จำนวน 1.9 พันล้านบาท เป็น 2.4 พันล้านบาทในปี 2548

และในผลสำรวจล่าสุดของสำนักวิจัยเอแบคโพล ยังยืนยันได้ว่า การโฆษณามีผลต่อการสร้างทัศนคติของวัยรุ่น เช่น การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมาที่บริษัทเบียร์เป็นเจ้าภาพ ทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกขอบคุณ และยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนเบียร์ตอบแทนถึงร้อยละ 71.4

“ปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้วัยรุ่นกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นคือการโฆษณา โดยงานวิจัยในประเทศสหรัฐ ยืนยันว่าเยาวชนอายุ 15-16 ปี ที่เห็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 โฆษณาต่อเดือน จะทำให้พวกเขาดื่มเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 1 และเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการโฆษณาเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ จะดื่มแบบเมาหัวราน้ำร้อยละ 33 มากเป็น 2 เท่าของกลุ่มที่เห็นโฆษณาเครื่องดื่มฯ น้อย ซึ่งงบโฆษณาที่เพิ่มขึ้นทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะเพิ่มปริมาณการดื่มได้ถึงร้อยละ 3 การโฆษณาจึงมีผลต่อการดื่มอย่างชัดเจน”

จากสถิติคนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 16.2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.7 ของประขากรไทยวัย 15 ปีขึ้นไป ปริมาณการดื่มเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในเวลา 14 ปี หากคิดเฉพาะการดื่มเบียร์เพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว การสำรวจล่าสุดในปี 2547 พบว่าวัยรุ่นดื่มเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจถึงร้อยละ 21 ของวัยรุ่นชาย หรือ 1 ล้านคนที่ดื่ม และวัยรุ่นหญิงดื่มเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในเวลา 7 ปี จากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 5.6 มีงานวิจัยยืนยันอีกว่าเด็กที่เริ่มดื่มตั้งแต่อายุยิ่งน้อย ยิ่งมีปัญหาจากการดื่มยิ่งมาก เมื่อเทียบกับคนที่เริ่มดื่มเมื่ออายุมากกว่า

การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือการทำร้ายเยาวชน ที่มุ่งเป้าดึงดูดให้เด็กซึมซับยอมรับว่าการดื่มคือเรื่องเท่ ความสนุกสนานหรูหรามีระดับ สร้างทัศนคติให้เห็นว่าคือสิ่งดี จากนั้นจึงอยากดื่ม อยากรู้ อยากลอง และนำมาซึ่งการขาดสติ ดังตัวอย่างเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ

การเปิดเผยของหัวหน้าฝ่ายแผนงานและงบประมาณ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ว่า ..ที่น่าตกใจคือมีถึง ร้อยละ 50.2 ผู้ทำผิดยอมรับว่ากระทำผิดเพราะต้องการเงินไปใช้หนี้ แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายของเด็กยุคนี้เป็นไปตามกระแสบริโภคนิยม ใช้จ่ายเกินตัว และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้นให้พวกเขาขาดสติ ตกเป็นเหยื่อของสังคม และเป็นอันตรายต่อผู้อื่น โดยร้อยละ 84.4 เริ่มดื่มเพราะอยากลอง และสื่อที่มีอิทธิพลต่อการดื่มมากที่สุดคือการโฆษณาผ่านโทรทัศน์

จากเครื่องดื่มที่เด็กดื่มมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ 1.เบียร์ 2.วิสกี้/บรั่นดี 3. เหล้าขาว/ยาดอง การดื่มแต่ละครั้งส่วนใหญ่เกิน 5 แก้ว หรือมากกว่า ซึ่งปริมาณขนาดนี้จะกระทบแบบเฉียบพลันต่อระบบประสาท ผู้ดื่ม จะมีปัญหาในการควบคุมตนเอง ขาดสติยั้งคิด เพิ่มโอกาสในการตัดสินใจไม่ถูกต้อง มีเยาวชนร้อยละ 33.8 ใช้เวลาในการดื่มแต่ละครั้งมากกว่า 5 ชั่วโมง สถานที่ที่ซื้อพบว่า ร้อยละ 61 ซื้อจากร้านโซห่วย ร้านค้าในตลาด ตามมาด้วยร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมกันร้อยละ 39 จึงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย หากจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี”

ในการแถลงผลสำรวจภาวะสังคมไตรมาสที่สองของปี 2549 จาก สศช.(สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า คนไทยยังมีแนวโน้มการดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในแต่ละปีจะมีอัตราเพิ่มอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้หญิงคือกลุ่มลูกค้ารายใหม่ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเพิ่มจากร้อยละ 9.8 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 10.3 ในปี 2547 โดยในช่วงเดียวกันนี้ ผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ดื่มสุราเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.6 เป็นร้อยละ 23.5

และจากสถิติในปี 2540-2542 อุตสาหกรรมทุกชนิดหดตัวและลดกำลังการผลิต มีเพียงอุตสาหกรรมผลิตเบียร์เท่านั้นที่ลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้องละ 40

จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้น มีประเด็นที่น่าสนใจ ที่มาให้เกิดปัญหาน่าห่วง ในระดับสังคมโดยรวม ที่ต้องรีบเร่งค้นหาสาเหตุที่แท้จริง อันจะนำมาซึ่งมาตรการปกป้องและแก้ไขได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพเข้มแข็งต่อเนื่อง

และยังคงต้องสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บังคับใช้กฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในทุกสื่อ ต่อไป

 

ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่ตื่นตัว และพยายามระดมมาตรการต่าง ๆ นำออกมาใช้ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะจะเป็น การโฆษณาเชิญชวน กิจกรรมชี้นำ หรือการสร้างแรงจูงใจอื่น ๆ ทั้งนี้โดยต้องพยายามติดตามและไม่ลืมทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา เพื่อมุ่งกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ๆ เพื่อต่อต้านน้ำเมา รักษาและคืนสุขภาพที่ดีสู่ประชาชนในสังคมด้วยกันเอง เน้นย้ำถึงทุกข์โทษภัยต่าง ๆ ให้ชัดเจนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายขจัดปัญหาการบริโภคแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย และประโยชน์สู่สังคมที่ดียิ่ง ๆ ขึ้น.

 

โดย..เตชนา.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016117493311564 Mins