ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมมีผลต่อการเดินทางสู่ปรโลก

วันที่ 29 มิย. พ.ศ.2558

 

 

ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมมีผลต่อการเดินทางสู่ปรโลก

            กฎแห่งกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีการเกิดใหม่หรือการเวียนว่ายตายเกิด หรือที่เรียกว่าสังสารวัฏ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ปัญหาเรื่องคนดีที่มีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมาน และคนชั่วบางคนมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญ หรือปัญหาความแตกต่างของมนุษย์แต่ละคน ยังคงเป็นปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ในมนุษย์ทุกหมู่เหล่า แม้วิทยาศาสตร์จะเจริญก้าวหน้าเพียงใด มีเครื่องมือที่ทันสมัย ก็ยังไม่สามารถค้นหาคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่ในทางพุทธศาสตร์นั้นมีคำตอบมายาวนาน 2,000 กว่าปีแล้ว โดยการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำมาตรัสแสดงให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายได้รับทราบว่า ความแตกต่างของสรรพสัตว์นั้น เกิดจาก กฎแห่งกรรม

 

            การที่บุคคลไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมนั้น มีผลเนื่องมาจาก ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า กฎแห่งกรรม เป็นสิ่งจำแนกความแตกต่างระหว่างมนุษย์ เพราะช่วงชีวิตของบุคคลหนึ่งนั้น สั้นเกินไป ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ผลของกรรมที่บุคคลทำไว้ได้

ในหัวข้อนี้จะแสดงให้เห็นว่า คนที่เชื่อกฎแห่งกรรมและไม่เชื่อกฎแห่งกรรมมีผลต่อการนำไปสู่ปรโลกทั้งฝ่ายสุคติ และฝ่ายทุคติ ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ 10 ประการ คือ เชื่อว่ากฎแห่งกรรมมีจริง

 

            คำว่า กรรม เป็นคำกลางที่ไม่ได้บอกลักษณะว่า ดีหรือชั่ว ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง การกระทำโดยเจตนา คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่ว่าดีหรือชั่ว ที่เกิดจากความตั้งใจของผู้กระทำ ถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น

            กรรมดี หมายถึง การกระทำที่ดีงามเหมาะสม ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่มีโทษ เช่น การทำทาน การสงเคราะห์หมู่ญาติ ส่วน กรรมชั่ว หมายถึง การกระทำที่ผิดศีล ผิดธรรม มีโทษ เช่น การฆ่าสัตว์ การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น

 

             การเกิดผลของกรรมทั้งดีและชั่วเรียกว่า วิบาก ซึ่งมีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว ท่านจึงเรียกเกณฑ์แห่งวิบากกรรมว่า กฎแห่งกรรม กฎนี้เป็นกฎเหล็กที่เที่ยงธรรมที่สุดในโลก ไม่ต้องมีการตีความใดๆ เป็นกฎที่ว่าด้วยเรื่องเหตุเรื่องผล ถ้าใครเชื่อเหตุผล คนนั้นจะต้องเชื่อกฎแห่งกรรม สาระสำคัญของกฎแห่งกรรม คือ ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว ดังธรรมภาษิตใน จุลลนันทิยชาดก5) ที่ว่า

“    บุรุษทำกรรมเหล่าใดไว้ เขาย่อมเห็นกรรมเหล่านั้นในตน ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”

เนื่องจากการกระทำของคนทั่วไป มีทั้งกรรมดีและกรรมชั่วปะปนกันไปในแต่ละวัน ทำให้การออก ผลของกรรมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จึงทำให้ดูเหมือนว่า การให้ผลของกรรม ไม่สอดคล้องกับพุทธภาษิต ดังกล่าว เพราะเหตุนี้จึงทำให้มีผู้สงสัยเรื่องกฎแห่งกรรมอยู่เสมอ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสยืนยันว่า กรรมที่บุคคลทำแล้ว ย่อมส่งผลแก่บุคคลนั้นอย่างแน่นอน ดังพุทธภาษิตใน ปาปวรรค6) ที่ว่าบุคคลทำกรรมชั่วย่อมหนีกรรมชั่วไปไม่ได้

 

“    บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีเข้าไปสู่ซอกภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ (เพราะ) เขาอยู่แล้วในประเทศแห่งแผ่นดินใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ประเทศแห่งแผ่นดินนั้น หามีอยู่ไม่”

จากที่กล่าวแสดงเรื่องกฎแห่งกรรมมาตามลำดับนั้น คงทำให้นักศึกษาได้เห็นภาพกฎแห่งกรรมชัดเจนขึ้น และสามารถสรุปได้ว่า กฎแห่งกรรม หรือกฎเหล็กนี้ ย่อมส่งผลต่อผู้กระทำ และมีผลต่อปรโลกของบุคคลนั้นอย่างแน่นอน ดังพุทธภาษิตใน ปาปวรรค7) ว่า

“    ชนทั้งหลายบางพวก ย่อมเข้าถึงครรภ์ผู้มีธรรมลามก ย่อมเข้าถึงนรก ผู้มีกรรมเป็นเหตุแห่งสุคติ ย่อมไปสวรรค์ ผู้ไม่มีอาสวะย่อมปรินิพพาน”

 

            จากพุทธภาษิตนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า หากไม่มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมแล้ว ย่อมปล่อยปละละเลยต่อการทำความดี ยินดีต่อการทำบาปอกุศล ทั้งกาย วาจา ใจ เมื่อละโลกแล้ว ย่อมตกไปสู่ปรโลกฝ่ายทุคติ คืออบายภูมิอย่างแน่นอน แต่หากมีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ย่อมกลัวต่อการทำบาปอกุศล หมั่นสั่งสมกุศล ปรโลกหลังจากความตายของผู้นั้นย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้อย่างแน่นอน

            ดังนั้น โลกมนุษย์จึงเป็นศูนย์กลางของการสร้างบุญและบาป ใครทำกรรมดีชั่วไว้มากน้อย เบาบาง หรือรุนแรงเพียงใด เขาย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น เพราะฉะนั้นความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่ง ควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน ถ้าคนทั้งหลายเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมแล้ว เขาจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีความสุขใจ และเป็นสิ่งที่ทำให้คนทั้งหลายต่างขวนขวายทำแต่กรรมดี โดยหวังผลที่ดีให้เกิดในภายภาคหน้า โลกนี้ก็ย่อมเกิดสันติสุขได้อย่างแน่นอน

 

--------------------------------------------------------------------------

5) จุลลนันทิยชาดก, ขุททกนิกาย, มก. เล่ม 57 ข้อ 294 หน้า 389.
6) ปาปวรรค, ขุททกนิกาย ธรรมบท, มก. เล่ม 42 ข้อ 11 หน้า 3.
7) ปาปวรรค, ขุททกนิกาย ธรรมบท, มก. เล่ม 42 ข้อ 10 หน้า 3.

 

 
จากหนังสือ DOU GL 102 ปรโลกวิทยา
 องค์รวมแห่งปรโลก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018750250339508 Mins