ความเป็นมาของกสิณ

วันที่ 22 กค. พ.ศ.2558

 

ความเป็นมาของกสิณ

            กสิณถือเป็นหลักปฏิบัติดั้งเดิมที่พบในพระพุทธศาสนา เป็นวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ได้ฌาน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนให้พระภิกษุได้ปฏิบัติเพื่อให้ภิกษุได้เป็นเนื้อนาบุญ คือ เป็นบุญเขตที่ทายกทายิกาได้ทำบุญแล้ว จะได้อานิสงส์มาก ดังที่พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า 

” ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญปฐวีกสิณแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือไซร้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่าก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้กระทำให้มากซึ่งปฐวีกสิณนั้นเล่า แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือไซร้ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของ พระศาสดาปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า จะป่วยกล่าวไปไยถึง ผู้กระทำให้มาก ซึ่งปัญญาพละอันสหรคตด้วยอุเบกขาเล่า”1)

 

            ในพระไตรปิฎกยังได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการสอนสมาธิของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่พุทธสาวกทั้งหลาย ด้วยการให้เจริญกสิณ โดยพระองค์ทรงแนะนำดังนี้ว่า

“    ดูก่อนอุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลาย ของเราปฏิบัติตามแล้วย่อมเจริญกสิณายตนะ 10 คือ

1.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งปฐวีกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

2.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งอาโปกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

3.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งเตโชกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

4.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งวาโยกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

5.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งนีลกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

6.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งปีตกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

7.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งโลหิตกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

8.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งโอทาตกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

9.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งอากาสกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมาณมิได้

10.ผู้หนึ่งย่อมรู้ชัดซึ่งวิญญาณกสิณทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวางในทิศน้อยทิศใหญ่ หาประมาณมิได้

 

            ก็เพราะสาวกทั้งหลายปฏิบัติตามปฏิปทาที่เราบอกแล้วเจริญกสิณายตนะ 10 นั้นแล สาวกของเราเป็นอันมากจึงได้บรรลุบารมีเป็นที่สุดแห่งอภิญญาอยู่”2)

            การเจริญกสิณที่พระองค์ได้ทรงแนะนำนี้ ย่อมทำให้พระสาวกของพระองค์ได้บรรลุธรรม และได้บรรลุอภิญญา อันเป็นคุณวิเศษแห่งพระสาวกของพระองค์

 

            แม้ว่าการเจริญกสิณจะเป็นวิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้สอนพระสาวกของพระองค์แล้ว เรายังพบอีกว่า การฝึกสมาธิด้วยการใช้กสิณยังเป็นวิธีการปฏิบัติสมาธิที่มีปรากฏนอกพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่ใช้ในหมู่ฤาษีชีไพร ตลอดจนนักบวชกลุ่มต่างๆ มีหลักฐานในพระไตรปิฎกที่อ้างอิงถึงในอังคุตตรนิกายว่า มีอุบาสิกาชื่อกาลี ได้ถามพระกัจจานะ เถระว่า เพราะเหตุใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระองค์เป็นผู้เดียวเท่านั้นจึงถือว่าเป็น ผู้บำเพ็ญฌานอันหาผู้อื่นเปรียบมิได้ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในคัมภีร์กุมารปัญหา ดังต่อไปนี้

“    การบรรลุประโยชน์ เป็นความสงบแห่งหทัย เราชำนะเสนา คือ กิเลสอันมีรูปเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจแล้ว เป็นผู้เดียวเพ่งอยู่ ได้รู้โดยลำดับซึ่งความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความเป็นเพื่อน กับด้วยชน ความเป็นเพื่อนกับด้วยใครๆ ย่อมไม่ถึงพร้อมแก่เรา”3)

 

            พระกัจจานะเถระตอบนางกาสีว่า “    ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยังประโยชน์ทั้งหลาย อันมีปฐวีกสิณสมาบัติเป็นอย่างยิ่งให้เกิดเฉพาะแล้ว ความที่ประโยชน์มีปฐวีกสิณสมาบัติเป็นอย่างยิ่ง มีประมาณเท่าใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้แล้วซึ่งความที่ประโยชน์มีปฐวีกสิณสมาบัติเป็นอย่างยิ่งนั้น ครั้นทรงรู้แล้ว ได้ทรงเห็นเบื้องต้น 1 ได้ทรงเห็นโทษ 2 ได้ทรงเห็นธรรมเครื่องสลัดออก 3 ได้ทรงเห็นญาณทัสสนะว่าเป็นทางและมิใช่ทาง 4 การบรรลุประโยชน์ เพราะเหตุทรงเห็นเบื้องต้น เพราะเหตุทรงเห็นโทษ เพราะเหตุทรงเห็นธรรมเครื่องสลัดออก เพราะเหตุทรงเห็นญาณทัสสนะว่าเป็นทางและมิใช่ทาง แห่งความที่ประโยชน์มีปฐวีกสิณสมาบัติเป็นอย่างยิ่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบแล้วว่า เป็นความสงบแห่งหทัย.

 

            ดูก่อนน้องหญิง สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ยังประโยชน์ทั้งหลายอันมีอาโปกสิณสมาบัติเป็นอย่างยิ่งให้เกิดเฉพาะแล้ว…”4)

            คำตอบของพระกัจจานะเถระชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าสมณพราหมณ์บางคนบรรลุความสุขจนถึงขั้นฌานจากการเพ่งกสิณทั้ง 10 และคิดว่าความสุขนั้นเป็นขั้นสุดยอด แต่พระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงทราบ ว่าเป็นความสุขที่ไม่สมบูรณ์ จะต้องปลดเปลื้องความสุขระดับนี้ และทรงรู้แจ้งแทงตลอดทางที่ถูกและทางที่ผิด

 

ในปัญจัตตยสูตร ซึ่งอธิบายถึงความเห็นผิดแบบต่างๆ ของสมณพราหมณ์บางพวก ท่านได้กล่าวถึงวิญญาณกสิณไว้ว่า

“    แต่ยังมีอีกพวกหนึ่ง กล่าวยืนยันวิญญาณกสิณของอัตตามีสัญญาชนิดใดชนิดหนึ่ง เหล่านี้ ที่เป็นไปล่วงชนิดทั้ง 7 ว่า หาประมาณมิได้”5)

            ข้อความเช่นนี้ทำให้ทราบว่า การปฏิบัติกสิณเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นหลักปฏิบัติของนักบวชในยุคแรก แม้ก่อนที่จะมีพระพุทธศาสนา และเป็นทางไปสู่การบรรลุอิทธิฤทธิ์และอภิญญา รวมทั้งการถือกำเนิดในพรหมโลก แต่การปฏิบัติเช่นนี้ แตกต่างจากการปฏิบัติในพระพุทธ-ศาสนาเพราะพระองค์ก็ทรงเห็นว่าเป็นหลักที่ควรปฏิบัติ แต่ยังไม่ทำให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายอันสูงสุด คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน

 

------------------------------------------------------------------------

1) อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต, มก. เล่มที่ 33 ข้อ 224 หน้า 219.
2) มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 20 ข้อ 342 หน้า 567-568.
3) , 4) กาลีสูตร, อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต, มก. เล่ม 38 ข้อ 26 หน้า 87.
5) ปัญจัตตยสูตร, มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่ม 22 ข้อ 30 หน้า 39.

จากหนังสือ DOUMD 306 สมาธิ 6

 สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011049151420593 Mins