การบริหารเวลา

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2558

 

การบริหารเวลา


             เวลาเป็นสิ่งมีค่า จะปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ได้อย่างไร การบริหารเวลาที่ดีจะต้องรู้จักจัดสรรแบ่งเวลาให้กับสิ่งต่างๆ ที่เราต้องทำอย่างเหมาะสมทันการณ์ ฉะนั้นจึงต้องรู้ว่าอะไรคืองานสำคัญเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน อะไรคืองานสำคัญแต่ยังไม่เร่งด่วน ก็จัดเวลาทำเป็นลำดับไป อย่าปล่อยให้งานคั่งค้างจนกลายเป็นงานเร่งด่วนไปอีก เพราะถ้างานที่เร่งด่วนต่างประดังเข้ามาพร้อมกันเมื่อไร งานเหล่านั้นก็จะกลายเป็นงานที่เร่งร้อนไปหมด พลอยทำให้ผลงานขาดตกบกพร่อง แต่ถ้าหากเราสามารถจัดลำดับความสำคัญของงาน และความเร่งด่วนของงานได้ เราจะไม่เผลใช้เวลาไปทำเรื่องไร้สาระ จนพลาดงานที่สำคัญ
              แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่างานไหนสำคัญงานไหนไม่สำคัญ เพราะในชีวิตเราดูเหมือนมีภาระกิจมากมายที่เราต้องทำ อีกทั้งแต่ละคนก็มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป มีหน้าที่การงานความชอบความสนใจแตกต่างกันไป เราควรจะใช้หลักเกณฑ์ใด มาตัดสินชี้ว่างานไหนสำคัญ ขอให้เราดูการตัดสินใจของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระองค์ยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มีพระชนมายุได้ 29 พรรษา พระชายาคือ พระนางพิมพา เพิ่งมีพระประสูติการพระโอรสคือ ราหุลราชกุมาร ครั้งนั้นเจ้าชายสิทธัตถะทรงอุทานว่า “ ราหุลัง ชาตัง พันธนัง ชาตัง ” แปลว่าบ่วงเกิดแล้ว พันธนาการเกิดขึ้นแล้วพระองค์ทรงมองดูใบหน้าพระโอรส แล้วก็ทรงหักห้ามพระทัยไม่สัมผัสแตะต้องพระโอรส เพราะทรงเกรงว่าความรักความผูกพันจะยิ่งพันธนาการพระองค์ แล้วในคืนนั้นเอง ที่พระองค์ตัดสินพระทัยออกบวชแสวงหาโมกขธรรม


            ถ้ามองอย่างชาวโลกทั่วไปคงยากที่จะเข้าใจได้ว่าเหตุใดพระองค์จึงยอมสละครอบครัว ยอมสละความเป็นรัชทายาท ยอมสละราชสมบัติเพื่อออกบวชแสวงหาโมกขธรรม แต่เป็นเพราะพระองค์ทรงเห็นว่าการตรัสรู้ธรรมนั้นสำคัญกว่า และมีความเร่งด่วนมากกว่า ทรงรู้ว่าหนทางนี้จะนำความสว่างไสวมาสู้ทั้งพระองค์เอง ครอบครัว หมู่ญาติและชาวโลกทั้งหลายได้จริงซึ่งที่สุดแล้วเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้ธรรม ก็ทรงย้อนกลับมาโปรดราหุลราชกุมาร และพระนางพิมพา อีกทั้งพระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระราชบิดาจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด และยังได้โปรดหมู่ญาติตลอดจนชาวโลกทั้งหลายอีกมากมาย
           กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงผ่านอุปสรรค ปัญหามากมาย รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนจากชาวโลก ผู้ไม่รู้ว่าเป้าหมายของพระองค์มีคุณค่าเพียงใด จึงไม่รู้ถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวด ของงานสร้างบารมีของพระองค์ ดังนั้นการที่จะรู้ว่าสิ่งใดสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราวางเป้าหมายไว้ตรงไหนและต้องตระหนักว่าการตัดสินใจบางอย่างของผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างขวางย่อมเป็นไปได้ ว่าอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนทั่วไปแต่ถึงอย่างไร อุปสรรคใดก็ไม่อาจขัดขวางบุคคลผู้มีความมุ่งมั่นชัดเจนในเป้าหมายของตนอย่างแท้จริง
            พวกเราทั้งหลายที่เข้าวัดปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทุ่มเทชีวิตให้กับการสร้างบุญ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเป้าหมายชีวิตเป็นอย่างดีแล้วนั้น เมื่อมีคนรอบข้างวิพากษ์วิจารณ์ เราก็จะไม่รู้สึกหวั่นไหว เพราะทราบแน่ชัดแล้วว่าเป้าหมายปลายทางชีวิตของเราอยู่ที่ไหน เราจึงตอกย้ำกับตนเองเสมอว่าการสร้างบุญสร้างบารมี ทั้งให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนา และทำหน้าที่กัลยาณมิตร คืองานสำคัญเร่งด่วนของชีวิต เพราะไม่มีใครรู้ว่าชีวิตจะยืนยาวแค่ไหน ความตายจะมาเมื่อไร การมีความคิดเช่นนี้คือ การดำเนินตามแบบอย่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะใช้เป้าหมายชีวิตเป็นหลักในการตัดสินว่า งานใดสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมิใช่เรื่องง่าย งานสำคัญดังกล่าว อาจจะมาในรูปแบบเนื้องานที่แตกต่างหลากหลาย และบางครั้งงานที่สำคัญอย่างมากกลับอยู่ในรูปแบบงานชิ้นเล็กๆ ที่ดูไม่น่าสนใจ หรืออาจดูไม่คุ้มค่ากับเวลาที่ต้องเสียไป ฉะนั้นความสามารถในการวิเคราะห์ว่าสิ่งใดสำคัญ ยังต้องขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์อีกด้วย


            ในงานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีบางครั้งที่พระองค์ ได้เดินทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร เพื่อไปโปรดคนเพียงคนเดียวที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญเลย เช่นครั้งที่พระองค์เสด็จไปโปรดนางทาส ซึ่งกำลังจะผูกคอตายเพราะได้รับความทุกข์ทรมานจากการลงโทษของเจ้านาย ทั้งที่เวลาของพระพุทธองค์มีค่ามาก และมีอยู่จำกัดแต่พระองค์กลับยอมสละเวลา และมีพระอุตสาหะเดินทางไกลเพื่อไปโปรดนางทาสเพียงคนเดียว ขณะที่เป้าหมายของพระองค์คือ การสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับพระพุทธศาสนา การโปรดบุคคลสำคัญหรือชาวเมืองครั้งละมากๆ น่าจะสำคัญกว่า แต่ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา คือคำตอบที่ดีที่สุด ที่ยืนยันวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงทราบว่าการโปรดนางรัชชุมาลา คืองานสำคัญและเร่งด่วนเพราะพระพุทธองค์ไม่เพียงได้ช่วยชีวิตนางเท่านั้น แต่ยังเทศน์โปรดนางจนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และการบรรลุธรรมของนางยังมีผลต่อการเผยแผ่พระศาสนาอย่างมาก เพราะนางได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรโปรดพราหมณ์ผู้เป็นนาย และขยายผลสู่ชาวเมืองอีกเป็นจำนวนมาก
            ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่แสดงถึงวิสัยทัศน์อันแจ่มชัดและกว้างไกลของพระพุทธองค์ ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมท่ามกลางพุทธบริษัทมากมาย นับตั้งแต่พระราชาผู้ยิ่งใหญ่ คือพระเจ้าปเสนทิโกศลไปจนถึงมหาทุคตะผู้ยากจนที่สุดในเมืองนั้น โดยปกติพระพุทธองค์จะทรงแสดงธรรมโดยใช้เวลาไม่นานนัก แต่เพราะทรงมีเป้าหมายจะให้มหาทุคตะเกิดศรัทธาเต็มเปี่ยม จนกระทั่งสามารถเอาชนะความตระหนี่ ยอมสละผ้าห่มคลุมกายที่เขามีเพียงผืนเดียวนั้นนำออกถวาย ครั้งนั้นพระพุทธองค์แสดงธรรมตั้งแต่หัวค่ำและกินเวลายาวไปถึงจนใกล้สว่างแม้จะทรงเทศน์เจาะจงไปที่มหาทุคตะ แต่ก็ไม่ทรงเปิดโอกาสให้พระราชาลากลับ เมื่อพระราชายังนั่งอยู่ ชาวเมืองก็ต้องนั่งอยู่จนกว่ามหาทุคตะจะยอมสละผ้า ในที่สุดเมื่อมหาทุคตะเอาชนะความตระหนี่ได้นำผ้าห่มคลุมกายออกถวายพระพุทธองค์ งานสำคัญก็ได้เสร็จสิ้นลง


            การถวายทานของมหาทุคตะในครั้งนั้นได้ส่งผลสั่นสะเทือนต่อวิถีความคิด และวิถีชีวิตของชาวพุทธทั่วโลกมาตลอด 2,500 กว่าปี ก่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องของการทำทาน อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้คนมากมาย ในการเอาชนะใจตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว ในคืนที่ทรงแสดงพระธรรมเทศนานั้น
              ความสามารถในการวิเคราะห์ว่างานใดสำคัญ จึงเป็นคุณสมบัติของผู้นำ ดังเช่นมหาตมะ คานธี ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของอินเดีย ท่านเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในฐานะผู้นำในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียคืนจากอังกฤษด้วยสันติวิธี จนสามารถนำเอาเอกราชกลับคืนสู่อินเดียได้ คานธีเชื่อในการพึ่งพาตนเอง ท่านใช้ชีวิตสมถะ และทำสิ่งต่างๆด้วยตนเองเสมอ เช่น ทอเสื้อผ้าใช้เอง ทั้งยังรณรงค์ให้ชาวอินเดีย พึ่งพาตนเองเช่นเดียวกับท่าน วันเวลาในชีวิตของคานธีจึงใช้ไปกับสิ่งเหล่านี้อยู่ไม่น้อย ครั้งหนึ่งท่านไปช่วยคนยากจนคนหนึ่งสร้างบ้านโดยใช้เวลาขลุกอยู่กับงานนั้นนับเดือนผู้ติดตามของท่านก็พยายามทักท้วงว่า ท่านเป็นบุคคลสำคัญ มีคนรอรับความช่วยเหลือจากท่านอยู่อีกมากมาย น่าจะเอาเวลาไปทำงานที่สำคัญกว่านี้แต่คานธีก็ยังคงให้ความสำคัญกับงานเหล่านั้นตลอดมา ทว่าสิ่งที่คนใกล้ชิดมองว่าไม่สำคัญนั้น แท้จริงแล้วคือ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วิถีทางของคานธีทรงพลังอย่างยิ่ง สามารถหลอมรวมใจชาวอินเดียให้ภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีแห่งตนเพื่อเอาชนะอิทธิพลของชาวตะวันตกให้ได้ ดังนั้นสำหรับคานธีแล้ว ไม่ว่างานทอผ้าด้วยมือของตน หรืองานช่วยคนจนสร้างบ้านล้วนเป็นงานสำคัญที่เชื่อมโยงถึงอิสรภาพของคนในชาติทีเดียว


            การที่จะตัดสินใจว่าสิ่งใดสำคัญหรือไม่สำคัญจึงไม่ใช่เรื่องง่ายต้องอาศัยทั้งเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ในส่วนของเป้าหมายต้องมีภาพที่แจ่มชัดว่าเป้าหมายนั้นคืออะไร สำคัญหรือมีคุณค่าเพียงไร เหตุใดจึงต้องไปให้ถึงจุดนั้น เมื่อเหตุผลเหล่านี้ชัดเจน เป้าหมายนั้นจึงจะเป็นหลักให้กับเราในการตัดสินเรื่องต่างๆได้ ส่วนวิสัยทัศน์นั้น ต้องอาศัยทั้งข้อมูลและประสบการณ์ จึงจะมองการณ์ได้กว้างไกล เห็นถึงกลไกการเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ เมื่อมองภาพรวมของงานได้ทะลุปรุโปร่งก็ย่อมเลือกได้ว่าสิ่งไหนคืองานที่สำคัญ
             เมื่อเข้าใจเรื่อง “ ความสำคัญ ” แล้ว เรายังต้องรู้จัก “ การจัดลำดับการทำงาน ” รวมทั้งการทำงานให้ถูกจังหวะอีกด้วย การจัดลำดับการทำงาน คือการพิจารณาว่า งานไหนควรทำก่อน งานไหนควรทำทีหลังตามลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของงาน นอกจากนี้ยังต้องรู้อีกด้วยว่า ในงานแต่ละงานนั้นขั้นตอนไหนควรมาก่อน ขั้นตอนไหนมาทีหลัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าใครเคยต้อมถั่วเขียวจะรู้ดีว่า เวลาต้มถั่วเขียวจะต้องเอาถั่วเขียวใส่น้ำ แล้วก็ต้มจนกระทั่งเมล็ดถั่วเขียวแตกก่อนแล้วจึงค่อยใส่น้ำตาล เราก็จะได้ถั่วเขียวอร่อยๆ น่ารับประทาน แต่ถ้าหากใครต้มถั่วเขียวโดยใส่น้ำตาลก่อนแล้วค่อยใส่ถั่วเขียวทีหลังหรือใส่น้ำตาลโดยที่เมล็ดถั่วเขียวยังไม่แตก ผลคือต้มเท่าไรๆเมล็ดถั่วเขียวจะไม่ยอมแตกออกไม่ยอมเปื่อยเลย จะเป็นเมล็ดแข็งๆอยู่อย่างนั้นเรียกว่าเสียของไปเลย เพราะทำผิดขั้นตอน ในเรื่องอื่นๆก็เช่นกัน การทำงานผิดลำดับขั้นตอนอาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมาอย่างมากมาย


            ในการบริหารเวลาที่ดียังต้องมี Timing คือ ต้องการทำงานให้ถูกจังหวะด้วย ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยเกิดภาวะฟองสบู่แตก เมื่อปี พ.ศ. 2540 ประเทศญี่ปุ่นซึ่งได้มีการลงทุนไว้ในประเทศไทยสูงมาก พลอยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงเตรียมตั้งกองทุนเป็นเงินหนึ่งแสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อมาสนับสนุนสภาพคล่องให้กับไทยและประเทศต่างๆ ที่ประสบวิกฤติในครั้งนั้นแต่แล้วโครงการนี้กลับต้องถูกยกเลิกไป เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่เห็นด้วย โดยอ้างเหตุผลว่าประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือด้วยวิธีการดังกล่าวจะขาดวินัยทางการเงิน หากต้องการให้ความช่วยเหลือ ให้ช่วยผ่านทาง IMF เท่านั้น ผลที่ตามมาก็คือ เศรษฐกิจไทยต้องล้มระเนระนาดจากภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง ซึ่งถ้ามีการใส่เม็ดเงินเข้ามาช่วยเหลือได้ทัน สถานการณ์ต่างๆคงจะไม่วิกฤติถึงขั้นนี้
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศจีนในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองขึ้นมา ก็มีความสนใจที่จะทำสัญญาเขตการค้าเสรีอาเซียน แต่ยังหาจังหวะไม่ได้เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้มีเขตการค้าเสรีในย่านนี้โดยที่ตนไม่มีส่วนร่วม ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับอัฟกานิสถาน ตามด้วยสงครามในอิรัก สหรัฐอเมริกาจึงต้องพึ่งพาจีนในการต่อต้านการก่อการร้าย จีนจึงอาศัยจังหวะนี้เสนอการทำสัญญาเขตในการค้าเสรีกับอาเซียน โดยให้ข้อเสนอที่ดีมากคือ ทั้งอาเซียนและจีนต่างก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นไม่กล้าออกมาคัดค้าน เพราะยังต้องขอความช่วยเหลือจากจีนอยู่ ข้อเสนอดีๆที่นำเสนอถูกจังหวะ ถูกเวลาเช่นนี้การทำสัญญาเขตการค้าเสรี จึงสำเร็จได้ไม่ยากเย็น
               การทำงานให้ถูกจังหวะเวลา จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องอาศัยการวิเคราะห์สถานการณ์อย่างแม่นยำ แม้งานของเราจะเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์แต่ถ้านำเสนอผิดจังหวะ ก็ยากที่จะสำเร็จ ตรงกันข้าม ถ้าทำถูกจังหวะเมื่อไร ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


            ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่จะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เนื้องานครบถ้วนไม่ตกหล่น นั่นคือเราจะต้องรู้จัก การจัดสรรเวลาอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยแบ่งเวลาออกเป็นส่วนๆ แล้วกำหนดว่าในแต่ละวันแต่ละเวลาเราต้องทำอะไรบ้างบุคคลที่จัดสรรเวลาได้เป็นระเบียบแบบแผนงดงามยิ่งก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแบ่งเวลาในการทำพุทธกิจในแต่ละวันคือ เวลาใกล้รุ่งพระองค์จะทรงทำสมาธิแล้วสอดข่ายพระญาณตรวจดูว่า วันนี้ใครคือผู้ที่เหมาะสมที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด เวลาเช้าพระองค์จะเสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์โลก แล้วแสดงพระธรรมเทศนาหรืออื่นๆ ช่วงเวลาเย็นพระองค์จะทรงแสดงธรรมให้กับมหาชนจำนวนมาก ส่วนช่วงเวลาค่ำก็จะทรงประทานโอวาทแก่พระภิกษุ ส่วนเวลาเที่ยงคืนเป็นเวลาที่พระองค์ทรงพยากรณ์ปัญหาให้กับเทวดา
           นี่คือวิถีชีวิตของพระพุทธองค์ ที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยจัดแบ่งเวลาอย่างเป็นระบบระเบียบ ดังนั้นถ้าต้องการทำงานให้ได้เนื้องานมากๆ ก็ต้องจัดสรรเวลาในแต่ละวันให้เป็นระบบระเบียบสม่ำเสมอ ตรงข้าม ถ้าเราขาดวินัยในสิ่งเหล่านี้ ความสับสนวุ่นวายก็จะตามมา งานขาดตกบกพร่อง กระทบกันไปหมด ถึงคราวนี้จะทำอะไรแต่ละอย่างจะต้องใช้กำลังใจมาก ไหนจะต้องเอาชนะความขี้เกียจ แล้วยังต้องเอาชนะความสับสนวุ่นวาย ต้องฝืนใจทำงาน จนอาจกลายเป็นคนเบื่อหน่ายการงานไปเลย


วันนี้หากเราต้องการบริหารเวลาให้ดี ลองสำรวจความพร้อมของเราในสิ่งเหล่านี้ คือ 


1.    ความรู้ความเข้าใจว่า งานไหนสำคัญ โดยอาศัยเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน ประกอบกับการมีวิสัยทัศน์ เป็นหลักในการตัดสินว่าสิ่งใดสำคัญ
2.    ความรู้ความเข้าใจใน การจัดลำดับการทำงาน และการทำงานให้ถูกจังหวะ รู้ว่างานไหนเร่งด่วนงานไหนรอได้ ขั้นตอนไหนมาก่อน ขั้นตอนไหนมาทีหลัง อีกทั้งรู้ว่าจังหวะเวลาใดถูกต้องสอดคล้องกับงาน
3.    ความรู้ความเข้าใจใน การจัดสรรเวลาอย่างเป็นระบบระเบียบ และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ จนเป็นวิถีชีวิตเหมือนกับพุทธกิจของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


ถ้าทำได้ครบทั้ง 3 ประการนี้ เราจะเป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้บริหารเวลาได้อย่างยอดเยี่ยม

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 4  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013431827227275 Mins