พรหมวิหารธรรมนำความสำเร็จ

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2558

Modern_580911_04.jpg

พรหมวิหารธรรมนำความสำเร็จ

 

            ทุกๆองค์กรต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้วยหลักสูตรการอบรมรูปแบบต่างๆ มากมาย เพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ แต่เชื่อหรือไม่ว่า หลักสูตรธรรมะแต่ละหลักสูตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ล้วนแล้วแต่สามารถนำพาให้ทุกองค์กร ทุกชีวิตประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น แม้แต่หลักสูตรธรรมะที่เน้นในเรื่องความบริสุทธิ์ของจิตใจ ดังเช่นพรหมวิหารธรรม

 

พรหมวิหารธรรมคือ ธรรมะของผู้มีใจประเสริฐ บริสุทธิ์ประกอบด้วย

  • เมตตาคือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข
  • กรุณา คือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
  • มุทิตา คือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
  • อุเบกขา คือ ความมีใจเป็นกลาง

 

พรหมวิหารธรรมทั้ง 4 ประการนี้สามารถอำนวยความสุขและความสำเร็จมาสู่ชีวิตได้

  • เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข ชีวิตของเราจะต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตโดยทั่วไปหรือในเรื่องหน้าที่การงาน เราจึงควรตระหนักถึงความจริงที่ว่า ทุกชีวิตนั้นล้วนเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ต้องเดินทางร่วมกันไป และในเมื่อเราเองก็ปรารถนาความสุขเช่นกัน เมื่อเราขยายใจของเราให้กว้างปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขด้วย เราเองก็จะสุขยิ่งๆขึ้นไป

โลกนี้ไม่มีใครเป็นศัตรูถาวรของใคร เราอย่าได้คิดผูกอาฆาตเป็นคู่แค้นของใคร ใครล่วงเกินเราไว้ก็อโหสิให้เขาเถิด เพราะทุกๆคนต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย และบางเรื่องถ้าลองทบทวนให้ดีจะพบว่า การที่เรารู้สึกว่าเขาทำอะไรไม่ถูกไม่ควรนั้นเป็นเพราะเราไม่ชอบเขาต่างหาก วิธีที่ดีคือต้องปรับใจของเรา มองหาข้อดีในตัวของเขา หากพิจารณาอย่างเป็นธรรมแล้วก็ยังพบว่าเขามีพฤติกรรมไม่ดีที่ยากจะแก้ไขได้จริงๆ เราก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ไปเกี่ยวข้องกับเขา ส่วนตัวของเราเองนั้น ให้ตั้งใจทำหน้าที่ของเราให้ดี ถ้าต้องอำนวยความสะดวกให้ใคร ก็ทำเต็มที่ ให้มีใจอยากให้ทุกคนสบาย ถ้าเราคิดอย่างนี้ คนที่มีความสุขก่อนคือตัวของเราเอง

ถ้าเราผูกโกรธ ใจก็จะไม่เป็นสุขใจก็จะขุ่นมัว แล้วถ้าผูกโกรธมากๆ จะเกิดอาการที่เรียกว่า หนามแทงตา คือเห็นเขาทีไรจะรู้สึกเจ็บแปลบ เหมือนถูกหนามทิ่งแทงดวงตา จึงมองเขาตรงๆไม่ได้ จะมองแต่ละครั้งต้องแอบชำเลืองมอง บางคนที่โกรธกันมากๆก็รู้สึกเจ็บแปลบหัวใจทุรนทุราย เกิดอาการผิดปกติขึ้นมาทันที ดังนั้นการผูกโกรธอาฆาตพยาบาท จึงมีโทษอย่างยิ่ง

ขยายใจเราให้กว้างดีกว่า เราจะเป็นสุข ใจโปร่งสบายและจะทำให้ศักยภาพของเราถูกนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ วิธีสำรวจตัวเราเองว่าเรามีความเมตตาหรือไม่ ให้พิจารณาว่าตัวเรายังผูกโกรธใครอยู่บ้างไหม หรือยังหมั่นไส้ใคร ยังสมน้ำหน้าใครเวลาที่เขาประสบโชคร้าย ถ้ายังเป็นเช่นนั้นอยู่แสดงว่าเราขาดเมตตาจิต ดำเนินชีวิตผิดหลักธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ต้องรีบปรับใจให้มีเมตตาโดยเร็ว

 

  • กรุณาคือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เมื่อเห็นใครลำบากก็คิดอยากจะช่วยเขาพ้นจากความลำบาก ผู้ใหญ่ที่เห็นผู้น้อยลำบากเดือดร้อนในเรื่องต่างๆ ก็ควรให้ความช่วยเหลือ แม้สถานภาพเสมอกันก็ช่วยกันได้ และแม้เป็นผู้น้อยก็สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ใหญ่ได้ เมื่อเห็นผู้ใหญ่เดือดร้อนลำบากอยู่ ให้พิจารณาดูว่ามีสิ่งใดที่เป็นการแบ่งเบาภาระช่วยแก้ปัญหาให้ท่านได้ จงพยายามทำ บางเรื่องท่านอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภัยกำลังจะมาถึงตัว แต่เรามองเห็นต้องหาวิธีการ หรือกุศโลบายในการช่วยเหลือท่านโดยไม่ทำให้ท่านเสียหน้าหรือเข้าใจผิด การมีความกรุณาจึงต้องใช้ทั้งสติปัญญาและความพยายาม อันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในตัวบุคคลได้

อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ การที่เราให้ความช่วยเหลือใคร ควรมาจากความตั้งใจจริง ที่อยากเห็นเขาพ้นจากความทุกข์ แม้ว่าการให้ความช่วยเหลือนั้น เราจะต้องลงทุนลงแรง ใช้สติปัญญาหาหนทางช่วย จนเหน็ดเหนื่อยก็ไม่เป็นไร เพราะการที่เขาสามารถผ่านวิกฤติผ่านอุปสรรคไปได้นั้น คือความสุขใจของเรา อย่าไปคิดว่าเขาต้องยกย่อง สรรเสริญ ระลึกถึงบุญคุณ หรือต้องแทนคุณเรา ถ้าคิดอย่างนี้จะผิดหวัง เสียใจ เมื่อเขาไม่เห็นความดีของเราเท่าที่ควร

ดังนั้น จงช่วยเพราะเราอยากช่วย เพราะมีความสุขใจ สบายใจที่ได้ช่วย แม้ไม่มีใครมากล่าวสรรเสริญ ยกย่องความดีเราก็มีความภาคภูมิใจ ชื่นใจกับการที่เราได้ช่วยเหลือทุกๆคน แม้แต่กับคนที่เคยกลั่นแกล้งเรา เคยไม่ชอบหน้ากันยามที่เขาเดือดร้อน เราก็เข้าไปช่วยเหลือ เขาจะเปลี่ยนมาเป็นมิตรกับเรา เมื่อเราไม่ผูกโกรธใคร ไม่หมั่นไส้ใคร ไม่หงุดหงิดใคร ไม่ถือใครเป็นศัตรู ผลที่สะท้อนกลับมาก็คือเขาจะคิดเช่นนั้นกับเรา คนที่ฉลาดในการดำเนินชีวิต จะต้องวางจิตตัวเองอยู่ที่เมตตากรุณา ให้ได้

 

  • มุทิตา คือมีความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คนเราบางครั้งก็แปลก เห็นคนอื่นลำบาก ก็สงสารอยากช่วยเหลือ แต่พอเขาดีขึ้นเจริญขึ้น กลับรู้สึกหมั่นไส้หรืออิจฉาที่เขาได้ดีเกินหน้าเกินตา ตรงนี้เป็นตัวบั่นทอนศักยภาพในตัวบุคคล จนถึงศักยภาพขององค์กรหรือสังคมอย่างมาก ดังนั้นหากใครหรือองค์กรณ์ใด ปรารถนาความเจริญก้าวหน้า จะต้องพัฒนาจิตใจให้มีมุทิตาจิตซึ่งกันและกัน เมื่อมีผู้ประสบความสำเร็จไม่ว้าในเรื่องใด ก็ควรที่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญ นำเรื่องราวความสำเร็จของเขา มาเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองต่อไป

เมื่อเห็นใครได้ดีจึงควรมีจิตยินดี ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นเพื่อน เป็นเจ้านายหรือลูกน้อง นอกจากนี้ถ้าเห็นใครมีความสามารถ ก็ควรส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้า แม้เขาจะมีข้อเสียบ้าง แต่ถ้าโดยภาพรวมเขามีข้อดีที่เป็นประโยชน์ต่องานต่อส่วนรวม ก็ควรสนับสนุน องค์กรของเราก็จะเติบโตพัฒนายิ่งๆขึ้นไป การที่มัวแต่คิดระแวงว่า เมื่อเขาก้าวหน้าแล้วจะมาข่มเรา หรือมองข้ามหัวเรา ความคิดเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดเลย

การทำงานด้วยความสบายใจดำเนินชีวิตด้วยความสุขใจ ใจก็จะผ่องแผ้ว มีประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้ที่มีพื้นฐานจิตใจเช่นนี้ ย่อมเป็นบุคคลที่มีคุณค่าสำหรับทุกหน่วยงาน จะได้รับการยอมรับชื่นชม ยกย่อง โดยไม่ต้องเรียกร้องเลย

คนเราอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ใครเป็นคนอย่างไร นิสัยใจคอเป็นอย่างไรก็พอดูกันออก บุคคลที่ดำเนินชีวิตด้วยความมีเมตตา กรุณา รวมทั้งมุทิตาจิต เท่ากับได้สั่งสมการยอมรับนับถือยิ่งๆขึ้นไป เป็นการยอมรับในคุณธรรมความดี ยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งที่สุดแล้วจะนำมาซึ่งความสุข ความสำเร็จทั้งในส่วนตนและส่วนรวม

 

  • อุเบกขา คือความมีใจเป็นกลาง มีความเที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดๆ เช่น ผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชา หัวหน้างาน ที่มีลูกน้องทำผิด เกิดความเสียหายก็ต้องว่าไปตามความผิด ตามกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีความรักใคร่นับถือกันก็ให้เป็นเรื่องส่วนตัว ที่มีอะไรพอช่วยเหลือได้ก็ช่วยกันตามความเหมาะสม แต่ในเรื่องส่วนรวมต้องให้เป็นไปตามกรอบกติกา

ในการให้ความเมตตา กรุณา ให้ความใกล้ชิดสนิทสนม จึงต้องระวังไม่ให้เสียหลักการ เสียความยุติธรรม เช่นเห็นเขากำลังลำบาก มีปัญหาการเงินอย่างหนัก เกิดสงสารเขา จนแม้เขาทุจริตก็ไม่ลงโทษ เท่ากับส่งเสริมให้เขาทำความผิด ผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องมีอุเบกขาจิตเป็นตัวรั้ง ให้ความเมตตา กรุณา มุทิตา ตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมด้วย ผู้ที่ปรารถนาความก้าวหน้าในชีวิต ในหน้าที่การงาน ก็ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีอุเบกขามีความเที่ยงธรรมในใจ จึงจะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเป็นหลักให้ส่วนรวมยึดถือได้

 

พรหมวิหารทั้ง 4 ประการคือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เป็นธรรมะของผู้ใหญ่ และธรรมะของทุกๆคนที่จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข และความสำเร็จ ดังนั้นหากองค์กรใดได้พัฒนาบุคลากรให้มีพรหมวิหารธรรม องค์กรนั้นย่อมเป็นองค์กรที่มีความสุขและสามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 4  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0046880682309469 Mins