เรื่องของนายจุนทกัมมารบุตร

วันที่ 14 กย. พ.ศ.2558

 

เรื่องของนายจุนทกัมมารบุตร

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในหมู่บ้านภัณฑคามแล้ว ก็ได้เสด็จไปที่โภคนคร โดยเสด็จผ่านหมู่บ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม ตามลำดับ จนถึงโภคนคร ได้ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ ทรงแสดง มหาปเทส 4 ประการ5) เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยพระธรรมวินัย นอกจากนั้น ยังทรงแสดงธรรมอื่นๆ อีกเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายตามสมควร

จากนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังเมืองปาวา ประทับอยู่ที่อัมพวัน คือสวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร เมื่อนายจุนทะได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้า กราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น

 

ในเวลาเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังบ้านของนายจุนทะ นายจุนทะ ได้นำสุกรมัททวะ มาถวาย พระพุทธองค์ก็ตรัสสั่งให้เอาสุกรมัททวะ6)มาถวายเฉพาะพระองค์ ส่วนที่เหลือให้เอาไปฝังทิ้งเสีย เพราะนอกจากพระองค์แล้ว ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถบริโภคแล้วย่อยได้ แล้วทรงรับสั่งให้อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารอย่างอื่น

 

 

หลังจากพระพุทธองค์เสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว เกิดอาพาธอย่างแรงกล้าด้วยโลหิตปักขันทิกาพาธ7) มีเวทนาหนักใกล้ปรินิพพาน แต่ทรงมีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นทุกขเวทนาเหล่านั้นไว้ รับสั่งพระอานนท์ว่า

 

“    อานนท์ เราจักไปกรุงกุสินารา”

 

ระหว่างทางเสด็จทรงแวะพักที่โคนไม้ข้างทาง และรับสั่งให้พระอานนท์ไปหาน้ำมา พระอานนท์กราบทูลว่า น้ำยังขุ่นอยู่ เพราะเกวียน 500 เล่มเพิ่งข้ามผ่านไป แล้วทูลเชิญพระองค์เสด็จไปที่แม่น้ำ กกุธานที ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนี้ แต่พระพุทธองค์ก็ยังตรัสเช่นเดิมอีก ในครั้งที่ 3 พระอานนท์จึงทำตาม ปรากฏว่าน้ำกลับใสสะอาด จึงตักน้ำไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสวยน้ำนั้นแล้ว ครั้งนั้น ปุกกุสมัลลบุตร สาวกของอาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางจากเมืองกุสินาราจะไปเมืองปาวา เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้ จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคม และเมื่อได้ฟังสันติวิหารธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และได้น้อมนำผ้าเนื้อเกลี้ยง มีสีดังทองสิงคีที่เรียกว่า ผ้าสิงคิวรรณ จำนวน 2 ผืน เข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับเพียงผืนเดียว อีกผืนหนึ่งตรัสสั่งให้ถวายพระอานนท์

เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้ว พระอานนท์ได้น้อมผ้าสิงคิวรรณเข้าไปสู่พระวรกายของพระพุทธองค์ ผ้านั้นปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ผิวกายของพระองค์เปล่งประกายงามบริสุทธิ์ผุดผ่อง เมื่อพระอานนท์เห็นเช่นนั้นจึงทูลสรรเสริญ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า

 

“    อานนท์ ในกาลทั้ง 2 กายของตถาคตย่อมบริสทุธิ์ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่ง คือ ในเวลาราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และในเวลาราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน”

“    อานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้ ตถาคตจักปรินิพพาน ในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา มาเถิด อานนท์ เราจักไปยังแม่น้ำกกุธานที”

เมื่อเสด็จไปถึงแม่น้ำกกุธานที ทรงสรง ทรงดื่มแล้ว เสด็จไปยังอัมพวันตรัสสั่งให้พระจุนทกะปูลาดผ้าสังฆาฏิในบริเวณนั้นแล้ว ทรงพระบรรทมอุฏฐานสัญญามนสิการ8) โดยมีพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์

เมื่อพระพุทธองค์ทรงพักบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยแล้ว จึงตรัสสั่งกับพระอานนท์ว่า

“    อานนท์ ต่อไปภายหน้า หากมีใครทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า “    ที่พระพุทธเจ้าต้องเสด็จปรินิพพาน ก็เป็นเพราะบริโภคอาหารของท่าน” อานนท์ เธอจงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจุนทกัมมารบุตร โดยชี้แจงแก่เขาว่า บิณฑบาตที่มีผลเสมอกัน มีอานิสงส์เสมอกัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ นั้นมีอยู่ 2 คราว คือ บิณฑบาตที่บริโภคแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หมายถึง บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายในวันตรัสรู้ และบิณฑบาตที่บริโภคแล้วเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง บิณฑบาตที่นายจุนทะถวายในวันปรินิพพาน”

 

ประเด็นนี้เป็นที่สงสัยกันอย่างมากในเหล่าพุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปที่ได้ทราบ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นห่วงนายจุนทะเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสกับพระอานนท์แล้ว มีพุทธดำรัสปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ก็ยังมีบุคคลที่ไม่เข้าใจหรือสงสัยในประเด็นนี้อยู่ จึงจะได้ชี้แจงประเด็นนี้ตามที่ได้ศึกษามาต่อไป

การที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานในวันนั้น ก็เป็นไปตามพระพุทธกำหนด เมื่อทรงปลงอายุสังขารแล้ว คือ ทรงมีพระประสงค์ที่จะปรินิพพานในวันนั้นอยู่แล้ว วัน เวลา สถานที่ ที่จะเสด็จปรินิพพานนั้น พระองค์ได้ทรงประกาศล่วงหน้าไว้แล้วถึง 3 เดือน และก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จมาถึงบ้านของนายจุนทะ แล้วได้บริโภคสุกรมัทวะนั้น พระองค์ก็ทรงประชวรมาก่อนแล้ว แม้ในขณะที่บริโภคอาหารของนายจุนทะก็อยู่ในระหว่างประชวร นอกจากนี้ ยังมีพยานการรู้เห็นการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระอนุรุทธะ ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านตาทิพย์ ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป

ดังนั้น ไม่ว่าจะทรงเสวยอะไรก็ตาม ก็จะต้องเสด็จดับขันธ์ในวันนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงปรินิพพานเพราะเสวยสุกรมัททวะ ที่ถูกควรจะพูดเสียใหม่ว่า พระพุทธเจ้าเสวยสุกรมัททวะในวันปรินิพพาน

-------------------------------------------------------------------

5) มหาปเทส 4 ประการ คือ 1. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือวินัย ที่ได้รับฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระศาสดาโดยตรง พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 2. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือวินัย ที่ได้รับฟังมาจากเหล่าสงฆ์ ต่อหน้าพระเถระ พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 3. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือพระวินัย ที่ได้รับฟังมาจากพระเถระหลายรูป ผู้เป็นพหูสูต พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 4. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือพระวินัย ที่ได้รับฟังมาจากพระเถระรูปหนึ่ง ผู้เป็นพหูสูต พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
6) สุกรมัททวะ (อ่านว่า สุกะระมัดทะวะ) บางแห่งเรียกว่า สูกรมัทวะ (อ่านว่า สูกะระมัดทะวะ) คืออาหารประเภทใดนั้นยังไม่มีข้อยุติ เพราะยังมีข้อแย้งกันอยู่ แต่พอจับประเด็นความตามที่พระอรรถกถาจารย์ให้ความเห็นไว้ สรุปได้ 5 อย่าง คือ 1.เนื้อสุกรวัยแรกรุ่น ไม่อ่อนนัก ไม่แก่นัก เนื้อสุกรเช่นนี้อ่อนนุ่มและสนิทแน่น ทำให้สุกแล้ว 2.ข้าวสุกหุงอ่อนๆ ปรุงกับน้ำนมโคหรือเบญจโครสและถั่ว 3.อาหารที่ปรุงตามหลักรสสายนศาสตร์ของพราหมณ์ ทำเฉพาะในเทศกาลสำคัญ ไม่มีเนื้อสัตว์ปนในอาหาร 4.หน่อไม้ไผ่ที่สุกรแทะดุน 5.เห็ดที่เกิดในที่สุกรแทะดุน
7) โลหิตปักขันทิกาพาธ คือ อาการที่พระพุทธองค์ทรงประชวรลงพระโลหิต คือ ทรงอาเจียนออกมาเป็นเลือด และถ่ายพระอุทรพระโลหิตก็ปนออกมาด้วย
8) อุฏฐานสัญญามนสิการ คือ การนอนพักชั่วครู่แล้วจะเสด็จเดินทางต่อไป

GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011150483290354 Mins