ธุดงค์ธรรมชัย 2-25 มกราคม 2555

วันที่ 28 กย. พ.ศ.2558

พระของขวัญ

พระของขวัญธุดงค์ธรรมชัย ๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๕

พระของขวัญธุดงค์ธรรมชัย ๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๕

ธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์

         “ธุดงค์ธรรมชัย” ต้อนรับปีพุทธศักราชใหม่ ๒๕๕๕ เพื่อฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขจัดปัดเป่าผองภัย และสร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒-๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยคณะพระธุดงค์ธรรมชัยกว่า ๑,๑๒๗ รูป เดินธุดงค์ สวดมนต์ เจริญจิตตภาวนา และอธิษฐานจิตแผ่เมตตา ในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ๖ จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร รวมระยะทาง ๓๖๕ กิโลเมตร

 

พระของขวัญธุดงค์ธรรมชัย ๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๕

 

พระของขวัญธุดงค์ธรรมชัย ๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๕

พระของขวัญที่ระลึก

เนื่องในโอกาสต้อนรับคณะพระธุดงค์ ทั่วประเทศ

โครงการธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์

 

พระของขวัญธุดงค์ธรรมชัย ๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๕

รุ่งเรือง ร่ำรวย ราบรื่น สดชื่น เสมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ

          พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองและยั่งยืนมาได้กว่า ๒,๕๐๐ ปี จนถึงปัจจุบันนี้ ย่อมเกิดจากความเข้มแข็งและความพร้อมเพรียงกันของพุทธบริษัท ซึ่งได้แก่ พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยเฉพาะในยุคแห่งความเจริญก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยี และการสื่อสารนี้ เหล่าสาธุชนคนรุ่นใหม่ เช่น เด็กดี วีสตาร์ กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยกันสืบสานจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญก้าวหน้าสู่โลก อนาคตต่อไปได้ ดังนั้น การเดินธุดงค์ธรรมชัย เพื่อ สถาปนาเส้นทางมหาปูนียาจารย์ครั้งนี้ จึงต้องมีเหล่า อุบาสก อุบาสิกา เด็กดีวีสตาร์ และผู้ใจบุญทั้งหลาย เข้ามามีส่วนสร้างเสริมและเติมเต็มให้งานครั้งนี้สำเร็จ สมบูรณ์ อันจะกลายเป็นความปลาบปลื้มปีติร่วมกัน ของทุกคนทุกฝ่าย ด้วยเหตุนี้ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) จึงมีดำริเชิญชวนบุคลลสำคัญดังกล่าว ให้มาร่วมมีส่วนทั้งในด้านเสบียง ภัตตาหาร น้ำปานะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มาร่วมกันโปรยกลีบ ดอกกุหลาบบนเส้นทางเดินของพระธุดงค์ ตลอดเส้นทางความยาว ๓๖๕ กิโลเมตร จะปูลาดด้วย กลีบดอกกุหลาบสีแดงอันหอมสดชื่น ให้เป็นทางเดิน ของพระธุดงค์ซึ่งมีจำนวนถึง ๑,๑๒๗ รูป ทั้งนี้ พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้เคยกล่าวไว้เมื่อครั้งมีการเดินธุดงค์รอบมหาธรรมกายเจดีย์ก่อนหน้านี้ว่า

          ในวันนี้ ลูก ๆ ผู้มีบุญทั้งหลายทั้งชายและหญิงก็จะทำหน้าที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา ผู้เข้าไปนั่งใกล้พระรัตนตรัย ผู้ส่งเสริมสนับสนุนการตรัสรู้ธรรมของพุทธบุตรสายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะเริ่มต้นสถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ร่วมกัน ด้วยการวางผังชีวิตใหม่ที่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ซึ่งได้อธิษฐานจิตกันเอาไว้อย่างดีแล้ว

          วันนี้เป็นวาระสำคัญ ลูก ๆ ทุกคน ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตจะต้องรักษากาย วาจา ใจ ของเราให้ ใส ๆ ให้หยุดนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ภายใน ให้ความสำคัญกับภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้เป็นปฐมเริ่ม ก่อนที่เรา จะไปสถาปนาในวันที่ ๒ มกราคม ตลอดเส้นทาง ของมหาปูชนียาจารย์ เป็นระยะทาง ๓๖๕ กิโลเมตร ในทุกหนทุกแห่งที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ได้เดินทางมาก่อน จะได้เดินตามรอยเท้าของท่านต่อไป...Ž


นอกจากนี้ พระเทพญาณมหามุนี ยังได้กล่าว อีกว่า

          วันนี้ต้องให้ใจใส ๆ แล้วนึกน้อมเอากุหลาบ ทุกดอก ทุกกลีบ ที่เราเตรียมมาจากที่บ้านก็ดี หรือ ที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมเอาไว้ก็ดี น้อมไว้ในกลางกายด้วยจิตที่เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในมหาปูชนียาจารย์ เพราะทุกดอกทุกกลีบเป็นทางมา แห่งบุญของเรา ทางมาแห่งบารมี ๑๐ ทัศ และเป็น ต้นบุญต้นแบบของผู้ที่จะมาภายหลังต่อไปในอนาคต ให้น้อมไว้ในกลางกายด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ในมหาปูชนียาจารย์ แล้วดอกกุหลาบ ทุกดอกนี้ก็จะเป็นทางมาแห่งบุญบารมี ๑๐ ทัศ ของ เรา ที่จะทำให้ชีวิตของเราต่อจากนี้ไป จะรุ่งเรือง จะร่ำรวย จะราบรื่น มีชีวิตที่รื่นรมย์สดชื่นเหมือนโรย ด้วยกลีบกุหลาบ ตลอดเส้นทางแห่งการสร้างบารมี ไปสู่ที่สุดแห่งธรรมŽ
 

พระของขวัญธุดงค์ธรรมชัย ๒-๒๕ มกราคม ๒๕๕๕

เส้นทางมหาปูชนียาจารย์

          คือ เส้นทางของสถานที่สำคัญ ๖ แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร และสถานที่สำคัญแต่ละแห่งบนเส้นทางมหาปูชนียาจารย์นี้ จะเป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งบรรดาศิษยานุศิษย์ ได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนของท่าน ด้วยทองคำบริสุทธิ์ เพื่อแสดงถึงความรัก ความเคารพ และความกตัญญูต่อพระคุณอันไม่มีประมาณของท่านเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ มีสถานที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

 

๑. สถานที่เกิดรูปกายเนื้อ : อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี

          สถานที่เกิดรูปกายเนื้อของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) คือ แผ่นดินรูปทรงดอกบัว มีน้ำล้อมรอบ มีพื้นที่ประมาณ ๒๐ ไร่ ตั้งอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี คณะศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้าง “มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี” รูปทรงภูเขาทองแปดเหลี่ยม ภายในบันทึกประวัติการสร้างบารมีของท่านตั้งแต่ปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย บริเวณกลางวิหารประดิษฐานรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เพื่อให้สาธุชนได้กราบไหว้ นำแบบอย่างคุณธรรมของท่านมาเป็นกำลังใจ และเป็นแบบแผนในการสร้างบารมีต่อไป

          พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินกลางน้ำ รูปทรงดอกบัว ริมคลองสองพี่น้อง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับวัดสองพี่น้อง ในท้องที่ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้เรียนหนังสือเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ ๙ ปี ที่วัดสองพี่น้อง ซึ่งน้าชายของท่านได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดแห่งนี้ ต่อมา พระน้าชายของท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหัวโพธิ์ พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจึงติดตามไปเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระภิกษุ จากนั้น ท่านได้ย้ายจากวัดหัวโพธิ์ไปเรียนหนังสือที่สำนักของพระอาจารย์ทรัพย์ เจ้าอาวาสวัดบางปลา

 

๒. สถานที่เกิดในเพศสมณะ : วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

         วัดสองพี่น้องเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างในปี พ.ศ.๒๒๑๒ (ในรัชสมัยของสมเด็จพระนาราย์มหาราช) ปัจจุบันเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในพื้นที่ ที่มาของชื่อ “สองพี่น้อง” เล่าสืบกันมาว่า มีช้างสองเชือก เข้าใจว่าเป็นพี่น้องกัน เดินมาจากพุม่วง หรือป่าต้น ในอำเภออู่ทอง ซึ่งเป็นที่อาศัยของช้างของพระมหากษัตริย์ ในหน้าแล้งมักจะมาหากินแถวนี้ ทางดินที่ช้างเดินย่ำเป็นที่ลุ่ม จนกลายเป็นคลอง จึงเรียกว่า “คลองสองพี่น้อง” พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) อุปสมบทเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีอายุย่างเข้า ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า “จนฺทสโร” พระอาจารย์ดี วัดประตูสาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสองพี่น้อง เป็นเวลา ๑ พรรษา หลังจากปวารณาพรรษาแล้ว ท่านได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม


๓. สถานที่เกิดรูปกายธรรม (ธรรมกาย) หรือสถานที่บรรลุธรรม : วัดโบสถ์บน บางคูเวียง

          วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก บริเวณหมู่ ๔ ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย วัดแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์โบราณสถานไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาและศิลปะอันงดงามล้ำค่าของบรรพบุรุษไทย ประวัติความเป็นมาของวัด และผู้สร้างวัด ไม่ปรากฏแน่ชัด แต่มีเรื่องเล่าในหนังสือวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒ (พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖) ความว่า

         “…พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยเสด็จมาประทับอยู่บริเวณที่ตั้งวัดแห่งนี้ ภายหลังทรงยกที่ดินให้สร้างเป็นวัด โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างถาวรวัตถุที่เป็นศิลปกรรมแบบอยุธยา มีเอกลักษณ์ คือ พระอุโบสถเป็นรูปทรงเรือสำเภา อันหมายถึงการเดินทางสัญจรและการค้าในอดีต วัดโบสถ์บน บางคูเวียง สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๐” ในพรรษาที่ ๑๑ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพนุนี (สด จนฺทสโร) ได้ไปจำพรรษา ณ วัดโบสถ์บน บางคูเวียง ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พ.ศ.๒๔๖๐ ท่านตั้งใจที่จะกระทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ตั้งแต่เช้าตรู่ เนื่องจากท่านดำริว่า “เราบวชมาจวนจะครบ ๑๒ พรรษาแล้ว วิชชาของพระพุทธเจ้า เรายังไม่ได้บรรลุเลย ทั้งๆที่การศึกษาของเราก็ไม่เคยขาดเลยสักวัน ทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะรีบกระทำความเพียรให้รู้เห็นของจริงในพระพุทธศาสนาเสียที” เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ท่านก็รีบจัดการภารกิจต่างๆ ให้เรียบร้อยเพื่อจะได้ไม่มีเรื่องกังวลใจ

          จากนั้นจึงได้เจริญภาวนาในพระอุโบสถ โดยตั้งใจว่าหากไม่ได้ยินเสียงกลองเพล จะไม่ยอมลุกจากที่ เมื่อตั้งใจแล้วก็หลับตาภาวนา “สัมมา อะระหัง” เรื่อยไป จนกระทั่งความปวดเมื่อยเริ่มทวีขึ้นเป็นลำดับ อาการกระสับกระส่ายเริ่มติดตามมา จิตก็ซัดส่ายกระวนกระวายจนเกือบจะหมดความอดทน แต่เมื่อได้ตั้งสัจจะไว้แล้ว ท่านจึงทนนั่งต่อไป เมื่อไม่สนใจความปวดเมื่อยของสังขาร ในที่สุดใจก็ค่อยๆสงบลงทีละน้อย แล้วรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เห็นเป็นดวงใสบริสุทธิ์ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ใจชุ่มชื่นเบิกบานอย่างบอกไม่ถูก เย็นวันนั้น หลังจากได้ฟังพระปาฏิโมกข์พร้อมกับเพื่อนสหธรรมิกแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้รีบทำภารกิจส่วนตัว สรงน้ำให้ร่างกายสดชื่นดีแล้ว จึงเข้าไปในพระอุโบสถแต่เพียงรูปเดียว เมื่อกราบพระประธานแล้วก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ขอให้พระพุทธองค์ทรงพระเมตตา โปรดประทานธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิดก็ยินดี ถ้าหากการบรรลุธรรมของข้าพระองค์ฯ จักเกิดโทษแก่พระศาสนาก็ขออย่าได้ทรงประทานเลย แต่ถ้าจะเป็นคุณแก่พระศาสนาแล้ว ขอได้โปรดประทานแก่ข้าพระองค์ฯ ด้วยเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับเป็นทนายพระศาสนาต่อไปจนตลอดชีวิต”

          เมื่อได้ตั้งสัตยาธิษฐานแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯก็เริ่มนั่งหลับตา ขณะนั้นมดที่อยู่ในช่องแผ่นหินที่ท่านนั่ง กำลังไต่ขึ้นมารบกวน ท่านจึงหยิบขวดน้ำมันก๊าดขึ้นมา เพื่อจะทารอบบริเวณที่ท่านนั่งเพื่อกันมด แต่แล้วก็คิดได้ว่า “ชีวิตของเรา เราได้สละแล้วเพื่อการบำเพ็ญเพียร แต่เหตุไฉนจึงยังกลัวมดอยู่อีก” จึงวางขวดน้ำมันก๊าดลงแล้วเจริญกัมมัฏฐานต่อไป จนถึงยามดึกจึงได้เริ่มเห็นดวงปฐมมรรค หรือดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เมื่อได้รู้เห็นธรรมะแล้วท่านจึงได้เข้าใจว่า “พระธรรมนี้เป็นของลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่มนุษย์จะเข้าถึง การจะเข้าถึงได้นั้น จำ, เห็น, คิด, รู้ ต้องหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิด ถ้าไม่ดับก็ไม่เกิด นี่เป็นของจริง ของจริงต้องอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนนี้เป็นไม่เห็นเด็ดขาด” เมื่อมองเรื่อยไปก็เห็นดวงใหม่ผุดซ้อนขึ้นมาแทนที่ดวงเก่า แต่ใสสว่างมากยิ่งขึ้น จนในที่สุดก็เห็นกายต่างๆไปตามลำดับจนกระทั่งถึง “ธรรมกาย”
 

๔. สถานที่เผยแผ่วิชชาธรรมกาย (ครั้งแรกหลังจากบรรลุธรรม) : วัดบางปลา

          วัดบางปลา ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดเก่าแก่ ไม่สามารถค้นหาหลักฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากสภาพความเก่าแก่ของวิหาร และจากคำบอกเล่าที่บอกสืบต่อกันมา พอจะสรุปความได้ว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ประมาณอายุของวัดจากวิหารเก่าแก่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับศิลปะในสมัยอยุธยาตอนปลายช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และจากเอกสารบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับอายุของวัด คือ นิราศของสุนทรภู่ ซึ่งได้กล่าวไว้ในตอนที่ล่องเรือผ่านมาทางปากคลองบางปลา) เนื่องจากพื้นที่ตั้งของวัดแห่งนี้อยู่ติดกับแม่น้ำนครชัยศรี และคลองบางปลา (ปากคลอง) ชาวบ้านจึงมักเรียกว่า “วัดบางปลา” จนติดปาก กลายเป็นชื่อของวัดมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเข้าถึงพระธรรมกายแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มุ่งมั่นในการเจริญภาวนาเพื่อไปให้ถึงที่สุด เมื่อยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งลึกซึ้ง จนกระทั่งออกพรรษาและรับกฐินแล้ว ท่านจึงได้ลาเจ้าอาวาสวัดโบสถ์บน บางคูเวียง ไปพักที่วัดบางปลาซึ่งท่านเห็นในสมาธิ (Meditation) ว่า ณ วัดแห่งนี้จะมีผู้บรรลุธรรมกายตามอย่างท่านได้ ท่านได้สอนภาวนาที่วัดบางปลา จนมีพระภิกษุสามารถเจริญรอยตามท่านได้ ๓ รูป และคฤหัสถ์ ๔ คน


๕. สถานที่ทำวิชชาปราบมาร (จนกระทั่งละสังขาร) : วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

          วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวราราม และกลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน เนื่องจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า “วัดปากน้ำ” ซึ่งชื่อนี้มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.๒๔๕๓ และ พ.ศ.๒๔๗๔ ว่า “วัดสมุทธาราม” แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกัน คงเรียกว่า “วัดปากน้ำ” มาโดยตลอด ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่ข้างวัดด้านทิศตะวันตก วัดจึงมีลำน้ำหลักล้อมอยู่ทั้ง ๓ ด้าน ส่วนด้านทิศใต้เป็นคลองเล็กแสดงอาณาเขตของวัดในสมัยนั้น

          วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นวัดโบราณ สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง (ระหว่าง พ.ศ.๒๐๓๑-พ.ศ.๒๑๗๒) สถาปนาโดยพระราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัด เป็นวัดประจำหัวเมืองธนบุรี ปรากฏในตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง (สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่อยู่คู่วัดมา ตัวอย่างเช่น หอพระไตรปิฎก, ตู้พระไตรปิฎกทรงบุษบก ล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้พระอุโบสถก็ใช้วิธีการก่อสร้างในสมัยนั้น) เมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯได้มารับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้กวดขันพระภิกษุ-สามเณร ให้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน, ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ด้วยการตั้งสำนักเรียน ทั้งนักธรรมและบาลี, สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ทำให้มีพระภิกษุ-สามเณรและสาธุชนเข้ามาขอศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี

          แม้ภารกิจด้านการบริหาร การปกครอง และการพัฒนาวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จะมีมากสักเพียงใดก็ตาม แต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯก็ไม่เคยละทิ้งการปฏิบัติธรรม รวมถึงการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย เพราะท่านถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง ในขณะที่ท่านศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายและสั่งสอนผู้อื่นให้บรรลุธรรมกายไปด้วยนั้น ท่านได้คัดเลือกผู้ที่มีผลการปฏิบัติดีเยี่ยม ทั้งที่เป็นพระภิกษุ, สามเณร, แม่ชี, อุบาสก และอุบาสิกา จำนวนหนึ่ง เพื่อรวมกลุ่มศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป เรียกว่า “การทำวิชชาปราบมาร”

         เพื่อให้การทำงานค้นคว้าวิชชาธรรมกาย เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในสถานที่ที่เป็นสัดเป็นส่วน เหมาะสมแก่การเจริญสมาธิภาวนา ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ขณะที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯอายุได้ ๔๗ ปี ท่านได้สร้างอาคารเพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายขึ้นภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในสมัยนั้นเรียกว่า “โรงงานทำวิชชา” ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างพระอุโบสถกับวิหาร ใกล้หอไตร เป็นเรือนไม้ ๒ ชั้น ภายในระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างมีท่อต่อถึงกันสำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯใช้ “สั่งวิชชา” ลงมาทางท่อนี้ ซึ่งผู้อยู่เวรก็จะได้ยินโดยทั่วกัน และจะเจริญวิชชาตามคำสั่งนั้นๆ มีผู้อยู่เวรทำวิชชากะละประมาณ ๑๐ คน ตัวเรือนโรงงานทำวิชชา มีขนาดไม่กว้างใหญ่นัก ชั้นล่างตั้งเตียงเป็น ๒ แถว ซ้ายและขวา ข้างละ ๖ เตียง ตรงกลางเว้นเป็นทางเดิน พอให้เดินได้สะดวก ชั้นล่างสำหรับฝ่ายแม่ชี และอุบาสิกา ใช้นั่งเจริญวิชชาและเป็นที่พักอาศัยด้วย มีผู้อยู่เวรที่ไม่พักในโรงงานทำวิชชาบ้างแต่ก็เพียงไม่กี่คน ระหว่างชั้นบนกับชั้นล่างไม่มีบันไดเชื่อมต่อกัน และทางเข้าออกก็แยกกันคนละทาง ชั้นบนมีทางเข้าต่างหาก ใช้เป็นที่เจริญวิชชาสำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ และพระภิกษุ, สามเณร ที่อยู่เวรทำวิชชา

          ต่อมาภายหลัง ได้มีโรงงานทำวิชชาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้างยาวพอสมควร ตรงกลางมีฝากั้น แบ่งเป็น ๒ ห้องแยกขาดจากกัน โดยมีประตูเข้าออกคนละทาง ส่วนหน้าเป็นที่สำหรับแม่ชีและอุบาสิกา ส่วนหลังเป็นที่สำหรับพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ พระภิกษุและสามเณร เวลา “สั่งวิชชา” พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯจะพูดผ่านฝากั้นห้องนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเพียงแต่ได้ยินเสียงซึ่งกันและกันเท่านั้น

 

๖. สถานที่สืบสานวิชชาธรรมกาย (เผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก) : วัดพระธรรมกาย

          ในบรรดาศิษย์ของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการศึกษาวิชชาธรรมกาย ชั้นสูง ท่านเคยได้รับคำชมจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯว่า “ลูกจันทร์นี้…หนึ่งไม่มีสอง” ภายหลังจากที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ฯมรณภาพแล้ว คุณยายอาจารย์ได้เผยแผ่วิชชาธรรมกายสืบต่อมาตามคำสั่งของท่าน จนกระทั่งมีนิสิตผู้ซึ่งรักการปฏิบัติธรรมอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจ มาฝากตัวเป็นศิษย์ของคุณยายอาจารย์ และมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม ต่อมา นิสิตผู้นั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ มีฉายาว่า “ธัมมชโย” นับแต่นั้นมา พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยได้อบรมสั่งสอนธรรมปฏิบัติแก่สาธุชนที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ในเขตวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมกับท่านอย่างมากมาย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ พระเดชพระคุณพระเทพญานมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และหมู่คณะ ได้ก่อตั้งวัดพระธรรมกายขึ้นที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อรองรับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก โดยมีปณิธานอันแน่วแน่ที่จะ “สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระแท้ และสร้างคนให้เป็นคนดี”

          เพื่อเป็นการแสดงความรัก ความเคารพ และความกตัญญูต่อพระคุณอันไม่มีประมาณของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) บรรดาศิษยานุศิษย์โดยการนำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย ได้พร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ ด้วยทองคำบริสุทธิ์ ประดิษฐานในมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ของวัดพระธรรมกาย และเปิดให้สาธุชนเข้าสักการะรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ตลอดระยะเวลากว่า ๔๐ ปีที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้สอนการฝึกสมาธิแนววิชชาธรรมกาย ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ค้นพบ จนผู้มีเข้าถึงความสุขภายในจากการทำใจหยุดใจนิ่งเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พระภิกษุ, สามเณร, อุบาสก, อุบาสิกา ไปจนถึงสาธุชนทั้งหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลายท่านมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าวิชชาธรรมกายที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นไป

          พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้อุทิศชีวิตสานต่อมโนปณิธานของพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลก เพื่อให้สันติสุขที่แท้จริงบังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ภาคที่ท่านสังกัด

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037075082461039 Mins